เป็นเวลากว่า 5 วันแล้ว หลังจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) เปิดให้บริการรถไฟฟ้ามหานครสายสีชมพู นับจากวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 หลังจากใช้เวลาก่อสร้างนาน 6 ปีเต็ม นับตั้งแต่ปี 2561
รถไฟฟ้าสายสีชมพูมีระยะทางกว่า 33 กิโลเมตร เชื่อมจังหวัดนนทบุรี กรุงเทพฯ ด้านเหนือ และกรุงเทพฯ ด้านตะวันออก เข้าด้วยกัน โดยออกแบบในลักษณะ ‘ฟีดเดอร์’ เพื่อป้อนคนเข้าสู่รถไฟฟ้าสายหลักอย่างสายสีเขียวและสายสีแดงเข้าสู่ใจกลางเมือง โดยหลังจากเปิดให้บริการสร้างความคึกคักให้กับชาวแคราย ปากเกร็ด แจ้งวัฒนะ รามอินทรา และมีนบุรี ที่รอคอยการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายนี้มาอย่างยาวนาน จนทำให้รถไฟฟ้าโมโนเรลคลาคล่ำไปด้วยผู้คน
ทีมงาน The Momentum มีโอกาสสำรวจบรรยากาศการใช้งานรถไฟฟ้าสายสีชมพู ที่สถานีหลักสี่ (PK 14) ซึ่งเชื่อมต่อกับรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต จนถึงสถานีวัชรพล (PK 21) ผลปรากฏว่า มีประชาชนทยอยเดินมาใช้งานตั้งแต่ช่วงสาย แม้จะต้องปรับตัวกับสภาพแวดล้อมใหม่ โดยเฉพาะตัวเพดานชานชาลาที่ดูเหมือนจะต่ำไปสักเล็กน้อย จนอาจเป็นปัญหากับผู้ที่มีขนาดส่วนสูงพิเศษ ขณะเดียวกัน อัตราการเดินรถที่ต้องรอ 10 นาที ต่อรถ 1 คัน ก็ทำให้ผู้คนในสถานีต่างๆ โดยเฉพาะสถานีใหญ่อย่างสถานีวัดพระศรีมหาธาตุหนาแน่นเป็นพิเศษ
ขณะเดียวกัน เส้นทางเดินขบวนรถก็ดูแปลกตาเนื่องจากมี ‘สิ่งกีดขวาง’ ตลอดเส้นทาง ไม่ว่าจะเป็นสะพานลอย สะพานข้ามแยก ที่มีอยู่เดิมตลอดถนนรามอินทราและถนนแจ้งวัฒนะ รวมถึงต้องใช้เทคนิคการก่อสร้างซับซ้อน โดยเฉพาะจุดตัดบริเวณวงเวียนบางเขนซึ่งมีทั้งสะพานข้ามแยก อุโมงค์ลอดแยก และรถไฟฟ้าสายสีเขียวอยู่แล้ว รวมถึงบริเวณจุดตัดถนนวิภาวดีรังสิต มีทั้งสะพานข้ามแยก และดอนเมืองโทลล์เวย์ ขณะเดียวกัน จุดตัดบริเวณสะพานลอยคนข้ามบางจุดยังไม่เรียบร้อยนัก อย่างไรก็ดี การเปิดบริการรูปแบบของทดลองของรถไฟฟ้าสายสีชมพู ก็มีส่วนช่วยให้สภาพการจราจรตั้งแต่ฝั่งมีนบุรีคล่องตัวมากขึ้นระดับหนึ่ง
บริษัทนอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล ผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูแจ้งว่า ยังคงมีบางสถานีที่กำลังปิดปรับปรุงเพื่อเร่งซ่อมแซมทางเดินขึ้น-ลง เช่น สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) ทางเชื่อมสายสีม่วง, สถานีแจ้งวัฒนะ 14 (PK11) ทางออกประตู 3 และ 4, สถานีโทรคมนาคมแห่งชาติ (PK13) ทางออกประตู 3 กับ 4 และสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ (PK 16) ทางออกเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเขียว
เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ กล่าวในวันเปิดใช้งานรถไฟฟ้าสายสีชมพูว่า การสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพูถือเป็นหนึ่งในการลงทุนโครงสร้างระบบขนส่งพื้นฐานที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน และสามารถอำนวยความสะดวกต่อชาวต่างชาติที่จะเข้ามาท่องเที่ยว ซึ่งแต่ละสถานีเชื่อมกับแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ เช่น อิมแพ็คเมืองทองธานี
เศรษฐายังระบุเพิ่มเติมว่า แม้ในช่วงทดลองวิ่ง รถไฟฟ้าสายสีชมพูจะยังเปิดให้บริการฟรีตลอดสาย แต่หลังจากนี้ จะขอคุยกับบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เพื่อให้มีการคิดคำนวณค่าบริการอย่างเหมาะสม โดยค่าบริการที่จะเริ่มเก็บในวันที่ 18 ธันวาคมนี้ คาดว่าจะอยู่ที่อัตราเริ่มต้น 15 บาท และสูงสุดที่ 45 บาท
สำหรับรถไฟฟ้าสายสีชมพูจะเปิดให้ประชาชนทดลองขึ้นฟรีตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 17 ธันวาคม 2566 แบ่งเป็นตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 3 ธันวาคม เปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 06.00-20.00 น. โดยให้บริการขบวนละ 10 นาที จากนั้น ในวันที่ 4-17 ธันวาคม 2566 อาจมีการปรับขยายเวลาเดินรถเพิ่มขึ้น แต่ต้องรอทาง รฟท.ประกาศเวลาที่แน่ชัดอีกครั้ง
Tags: MRT, รถไฟฟ้าสายสีชมพู, รถไฟฟ้ามหานคร, Feature