ดินแดนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย ที่เต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์แบบมลายูที่มีเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ ซึ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยือนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะโบราณสถานต่างๆ ที่บรรจุไว้ซึ่งความเชื่อ ความศรัทธา และชีวิต ของผู้คนในดินแดนที่เคร่งครัดเรื่องศาสนาแห่งนี้

หากพูดถึงศาสนสถานของชาวมุสลิม ก็ต้องนึกถึง ‘มัสยิด’ อันเป็นสถานที่ปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา ทั้งการละหมดหรือนมาซ การวิงวอน การปลีกตนเพื่อบำเพ็ญตบะ หรือหาความสันโดษ นอกจากนี้ มัสยิดยังเป็นโรงเรียนสำหรับสอนอัลกุรอานและศาสนา เป็นพื้นที่ที่ผู้คนจะมารวมตัวเพื่อชุมนุม ประชุม พบปะ ไปจนถึงเฉลิมฉลอง อาจกล่าวได้ว่า มัสยิดคือศูนย์กลางของผู้ศรัทธาศาสนาอิสลามอย่างแท้จริง

สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีมัสยิดเก่าแก่หลายแห่ง นอกจากการใช้เป็นสถานที่ประกอบกิจต่างๆ ทางศาสนาแล้ว เรื่องราวความเป็นมาและความสวยงามของสถาปัตยกรรมของมัสยิดเหล่านี้ก็ล้วนมีความน่าสนใจ

The Momentum มีโอกาสไปเยือนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วงที่ผ่านมา พร้อมทั้งแวะเวียนไปเยี่ยมชมมัสยิดเก่าแก่ของสามแห่ง ได้แก่ มัสยิด 300 ปี (มัสยิดวาดีอัลฮูเซ็น) มัสยิดกลางปัตตานี และมัสยิดกรือเซะ ซึ่งแต่ละแห่งล้วนมีความงดงามที่ต่างกันไป

นอกจากภาพมัสยิดชิ้นนี้ สามารถติดตามซีรีส์ Living in the Red Zone ชีวิต ความฝัน และผู้คนชายแดนใต้ กับเรื่องราวของพื้นที่ สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จากผู้คนหลากหลายบทบาทและอาชีพ เพื่อทำความเข้าใจหนึ่งในดินแดนที่ ‘พิเศษ’ และมีเสน่ห์ที่สุดของประเทศไทยแห่งนี้ได้ตลอดเดือนกุมภาพันธ์นี้

1. มัสยิดวาดีอัลฮูเซ็น หรือ มัสยิดตะโละมาเนาะ (มัสยิด 300 ปี)

มัสยิดแห่งนี้ตั้งตามชื่อของ วันฮูเซ็น อัซซานาวี นักการศาสนาอิสลาม ผู้อพยพมาจากบ้านสะนอยาน ปัตตานี และเป็นผู้สร้างมัสยิดแห่งนี้เมื่อปี พ.ศ. 2167 ส่วนชื่อมัสยิดตะโละมาเนาะ มาจากคำมลายูว่า ‘ตะโละ’ (teluk) ที่แปลว่า อ่าว กับคำว่า ‘มาเนาะ’ (manok) ซึ่งเป็นชื่อพันธ์ุไม้ท้องถิ่นชนิดหนึ่ง มีมากริมลำธารใกล้มัสยิด จึงมีความหมายว่า ‘บริเวณที่มีต้นมาเนาะ’

มัสยิดแห่งนี้สร้างด้วยไม้ตะเคียนที่มีอยู่มากในป่าบูโด ตัวอาคารแบ่งเป็นสองหลังติดกัน มีเสาไม้ 26 ต้น เสามีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมขนาด 10×10 นิ้ว พื้นหนา 2 นิ้ว สร้างด้วยศิลปะมลายู ไทย และจีน อาคารมัสยิดหลังแรก มีหลังคาทั้งหมดสามชั้น เสาแกะสลักลายดอกพิกุล หลังคาชั้นที่สามเป็นโดมรูปเก๋งจีนแท้อยู่บนหลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผา ส่วนอาคารมัสยิดหลังที่สอง มีหลังคาสองชั้น หลังคาชั้นที่สองมีจั่วบนหลังคา ชั้นแรกมีฐานดอกพิกุลหงายรองรับจั่วหลังคาอีกชั้นหนึ่ง

หลังคาทรงจั่ว ปลายปั้นลมเป็นแบบมลายูตรังกานู มีผนังฝาลูกฟัก และยกใต้ถุนสูง ใช้การสลักไม้แทนตะปู รูปทรงของอาคารเป็นแบบไทยพื้นเมืองประยุกต์เข้ากับศิลปะจีน และมลายู แต่เดิมหลังคามุงด้วยจาก แต่ต่อมาได้เปลี่ยนไปมุงหลังคาด้วยกระเบื้องซึ่งทำจากอิฐสงขลา

ภายในมัสยิดที่เป็นโครงสร้างไม้ มีชั้นหนังสือ ป้ายบอกตารางเวลาละหมาด โคมไฟ และมีป้ายดิจิทัลบอกเวลา

2. มัสยิดกลาง

มัสยิดกลางตั้งอยู่ที่ตำบลอาเนาะรู อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี ถือเป็นศาสนสถานศูนย์รวมจิตใจของผู้นับถือศาสนาอิสลามในภาคใต้ที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่ง สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2497 โดยใช้พื้นที่บริเวณริมถนนหลวงสายปัตตานี-ยะลา ย่านตำบลอาเนาะรู ตามแนวคิดของรัฐบาลในสมัยนั้นที่ต้องการให้เกิดสันติสุขขึ้นในพื้นที่ห่างไกล ใช้เวลาก่อสร้างนาน 9 ปี และมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2506

มัสยิดแห่งนี้ออกแบบโดย นายประสิทธิผล ม่วงเขียว สถาปนิกกรมศาสนา ด้วยสถาปัตยกรรมที่สวยงามโดดเด่น ภายในโปร่งโล่ง โถงกลางโดดเด่นด้วยช่องกลมด้านบนที่เปิดรับแสงสว่างจากภายนอกได้ ส่วนพื้นปูด้วยหินอ่อนอย่างงดงาม

รูปทรงภายนอกของมัสยิดกลางมีต้นแบบมาจากทัชมาฮาล มียอดโดมสีเขียวขนาดใหญ่กลางอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กสองชั้น และโดมขนาดเล็กลงล้อมรอบ 4 ด้าน ด้านข้างมีหออะซาน 2 หอ เคยมีการบูรณะซ่อมแซมและต่อเติมเมื่อคราวใช้ต้อนรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระราชชนนีพันปีหลวง เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2536

สระน้ำบริเวณมัสยิด อีกเอกลักษณ์หนึ่งที่สวยงามยามแสงสว่างตกกระทบ ปัจจุบันตัวอาคารของมัสยิดขยายออกไปทั้ง 2 ด้าน มีหออะซานเพิ่มเป็น 4 หอ จึงทำให้มีการขยายสระน้ำให้กว้างขึ้นตาม

3. มัสยิดกรือเซะ (มัสยิดปิตูกรือบัน)

มัสยิดเก่าแก่อายุกว่า 200 ปี ห่างจากตัวเมืองประมาณ 6 กิโลเมตร สันนิษฐานว่าเป็นศาสนสถานที่สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 22 โดยชื่อเรียกของมัสยิดเรียกตามรูปทรงของประตูมัสยิด ซึ่งมีลักษณะเป็นวงโค้งแหลมแบบกอทิกของยุโรป และแบบสถาปัตยกรรมของตะวันออกกลาง มัสยิดกรือเซะถือได้ว่าเป็นมัสยิดที่สำคัญและมีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์มากมาย

ภายในของมัสยิดที่ดูจะต่างจากภายนอกที่ก่อด้วยอิฐ โดยภายในนี้มีระเบียงล้อมรอบห้องประกอบพิธีทางศาสนา ประตูและหน้าต่างเป็นทรงโค้งแหลมและโค้งมน รองรับน้ำหนักเครื่องบนด้วยเสากลมขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นรูปแบบศิลปกรรมที่นิยมสร้างในราวพุทธศตวรรษที่ 22-23

มัสยิดกรือเซะได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานโดยกรมศิลปากร และปัจจุบันยังคงเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของเมืองปัตตานีที่มีพี่น้องชาวมุสลิมเข้ามาใช้พื้นที่ของมัสยิดในการปฏิบัติศาสนกิจเป็นประจำ

รูปทรงของประตูมัสยิดที่มีเอกลักษณ์ ลักษณะเป็นวงโค้งแหลมแบบโกธิคของยุโรป และแบบสถาปัตยกรรมของตะวันออกกลาง รูปลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน อิฐที่ใช้ก่อมีรูปลักษณะเป็นอิฐสมัยอยุธยา และตรงส่วนฐานมัสยิดมีอิฐรูปแบบคล้ายอิฐสมัยทวารวดีปะปนอยู่บางส่วน

Tags: , , , , , , ,