ในทุกปี มีคนไทยเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมอง หรือสโตรก (Stroke) กว่า 3.4 หมื่นคน ตัวเลขของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ควมท้าทายของโรคหลอดเลือดสมองก็คืออาจเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้ ตอนไหนก็ได้ และเป็นโรคที่มี ‘นาทีทอง’ 270 นาที หากรักษาล่าช้า อาการก็ทรุดมากขึ้นเรื่อยๆ อาการอัมพฤกษ์ อัมพาต มักจะเกิดขึ้นในทุกนาทีที่คนไข้เข้าไม่ถึงการรักษา หรืออยู่ในพื้นที่ที่การรักษานั้นไม่เพียบพร้อม
จะดีแค่ไหน หากมีวิธีการรักษาที่เข้าถึงคนไข้ง่ายขึ้น จะดีแค่ไหน หากโรคนี้ถูกรักษา ถูกที่ ถูกเวลา และจะดีแค่ไหน หากสโตรกสามารถป้องกันได้ ไม่ต้องคอย ‘ลุ้น’ ว่าจะป่วยตอนไหน วินาทีไหน
ศูนย์โรคหลอดเลือดสมอง โรงพยาบาลศิริราช มีนวัตกรรมที่เรียกว่า Mobile Stroke Unit หรือรถโมบายสำหรับรักษาโรคหลอดเลือดสมองที่มีอุปกรณ์เพียบพร้อม ลดอาการป่วยหนัก
กล่าวคือหากป่วยที่ไหนก็สามารถรักษาที่ Mobile Stroke Unit ได้ ก่อนที่จะเข้าโรงพยาบาล พร้อมด้วยเครื่องมือเพียบพร้อม และไม่ได้อยู่ในกรุงเทพฯ อย่างเดียว หากแต่อยู่ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ
The Momentum คุยกับ รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ยงชัย นิละนนท์ ผู้อำนวยการศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราช เพื่อเล่าให้ฟังถึงความสำคัญของ Mobile Stroke Unit และการรณรงค์เพื่อ ‘ป้องกัน’ ก่อนที่จะป่วยโรคหลอดเลือดสมอง
อยากให้ช่วยอธิบายคำขวัญของศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราชว่าอะไรคือ ‘ชีวิตที่ปราศจากสโตรก’
‘ชีวิตที่ปราศจากโรคหลอดเลือดสมอง’ มีสองความหมาย ความหมายหนึ่งคือ คนที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองแล้ว ถึงมันจะดูพิการ จำอะไรไม่ได้ ดูสมองเสียหาย แต่ก็มีข้อดีอยู่สองอย่างคือ รักษาได้ และมีองค์ความรู้เพียงพอว่าควรทำหรือไม่ควรทำอะไร
และสอง ข้อดีของโรคนี้คือสามารถป้องกันได้ โดยส่วนใหญ่ถึง 90% สามารถป้องกันด้วยองค์ความรู้ที่มีอยู่ เพียงแค่มันยังไม่ถูกออกไปทำ
อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อจำกัดและอุปสรรคต่างๆ ไม่ว่าจะด้วยความไม่รู้ของประชาชน ระบบที่ยังไม่ค่อยพัฒนา ค่าใช่จ่าย การมาโรงพยาบาลล่าช้า หรือระบบโรงพยาบาลที่ไม่เอื้ออำนวย เลยยังเกิดปัญหาขึ้น
สมมติว่าเกิดโรคนี้แล้ว คำว่าปราศจากโรคหลอดเลือดสมอง ก็คือการก้าวข้ามความพิการ ก้าวข้ามรอยแผลต่างๆ ที่เกิดจากโรคหลอดเลือดสมอง ไม่ใช่ไปนั่งซุกอยู่มุมห้องซึมเศร้าว่าเราเป็นโรคหลอดเลือดสมอง อาย ต้องใช้ไม้เท้า ต้องสูญเสียความยิ่งใหญ่เกรียงไกรในอดีต แล้วก็ซึมเศร้าแล้วก็อยู่ในห้องอย่างเดียว
ส่วนสำคัญเลย คือศูนย์หลอดเลือดสมอง โรงพยาบาลศิริราช เรามีโครงการอย่าง Mobile Stroke Unit และ Stroke One Stop สแกน-รักษา-ส่งต่อ จบในที่เดียว คือนำเครื่องสแกนสมองไปติดไว้บนรถ แล้วทำเครื่องมือ-ทำอุปกรณ์ต่างๆ ให้เหมือนไอซียู แล้วยังมีการทำระบบ Telemedicine เปรียบเสมือนเป็นโรงพยาบาลเคลื่อนที่ เพราะจุดเด่นของโรคหลอดเลือดสมองคือต้องเร็ว เกิดแล้วต้องเร็วที่สุด คือแม้จะมีเวลา 270 นาที แต่ถ้าให้ยาทันที่ 30 นาที โอกาสหายเป็นปกติ ก็จะง่ายขึ้น 3 เท่า เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับยา เพราะฉะนั้น โอกาสมันลดลงเมื่อเวลาผ่านไป
เป้าหมายเราจึงคือยิ่งเร็วยิ่งดี แล้วไม่ใช่แค่รักษาภายใน 270 นาที แต่ 0-270 นาที เป็นช่วงที่เราสามารถรักษาสโตรกได้ สามารถลดเวลาลงได้ทุกอย่าง จากสถิติเวลาเฉลี่ยของศิริราชนับจากที่คนไข้ถึงโรงพยาบาลจนเวลาที่เราฉีดยา เพื่อเปิดหลอดเลือด ของโรงพยาบาลศิริราชอยู่ที่ 30 นาที ปฏิบัติการด้วยรถคันนี้อยู่ที่ 18 นาที แล้ว 18 นาทีนี้ ไปได้ทั่วถึงด้วยนะ
Mobile Stroke Unit ของเราเข้าถึงได้ทุกที่ เรามีจอดอยู่ที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเชียงของ จังหวัดเชียงราย เรามีจอดที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชจอมบึง จังหวัดราชบุรี เรามีจอดที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชธาตุพนม จังหวัดนครพนม ที่คีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่คลองท่อม จังหวัดกระบี่ เรามีจอดอยู่ที่มหาวิทยาลัยบูรพาที่ชลบุรี ขณะที่ของเราเอง ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาบวกธนบุรี ก็มีไว้
เราต้องการไปที่ห่างไกลและขาดแคลน เราเลือกช่วยฝึกฝนโรงพยาบาลและดึงทรัพยากรที่นอกเหนือจากระบบไปช่วย รถคันนี้เปรียบเสมือนลูกดอกที่มันจับต้องได้ ชาวบ้านเขาก็เห็นกันหมดว่ารถคันนี้มาช่วยชีวิตเขา มาช่วยดูแลครอบครัว ดูแลพื้นที่ให้ เพราะฉะนั้น จึงได้รับความสนับสนุนอื่นๆ จากองค์กรนอกกระทรวงสาธารณสุข เช่น โรงเรียน วัด ครู ทหาร ตำรวจ เข้ามาช่วยหมดเลยนะ แล้วดึงเอาศักยภาพท้องถิ่นออกมาช่วย
ขณะเดียวกัน เราก็ทำการรักษา ยกระดับให้มากขึ้น โดยมีช่องทางด่วนให้คนไข้ที่มีอาการเข้าข่ายอัมพาตมาถึงโรงพยาบาลโดยไม่ต้องเข้าคิว ตรงออกมา แซงทุกอย่าง เปรียบเสมือนโดมิโน มีคนกดปุ่ม ทุกอย่างก็ไปต่อ ลดเวลาจาก 90 นาที ตอนนี้เหลือแค่ 30 นาที ไม่ต้องกดโทรหาคนนู้นคนนี้ กดปุ่ม ก็พรวดเลย
เรื่องพวกนี้ เราตั้งใจมุ่งหน้าไปสู่ A life without a stroke ให้ได้ เหมือนตอนเราเป็นเด็กเราบอกว่าตัวเองว่าต้องเป็นที่หนึ่งให้ได้ คำถามคือเป็นที่หนึ่งแล้วยังไงต่อ มันก็ได้แค่นั้น แต่ถ้าตั้งเป้าไว้ว่าเราจะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ให้ชีวิตมนุษย์ปราศจากสโตรก ทั้งหมดอาจจะไม่ได้เป็นที่หนึ่ง แต่เราช่วยเหลือคนได้มากกว่า
แล้วสำหรับ Mobile Stroke Unit ริเริ่มได้อย่างไร แล้วสำคัญอย่างไรบ้าง
จริงๆ เรื่องนี้ เราไม่ใช่ประเทศแรกที่ทำ ประเทศแรกที่ทำคือเยอรมนี เขาเห็นช่องว่างของการดีเลย์ในขั้นตอนการรักษาพยาบาล คนคิดคนแรกเขาต้องการจะทำแบบ One Stop Service คือเอาเครื่องไปตั้ง เพราะเทคโนโลยีมันพร้อมแล้ว แต่ในอดีตนั้น Telehealth ไม่ได้แพร่หลาย ก็ทำกันตามมีตามเกิด เอาเครื่องไปตั้ง ระบบ Telehealth ที่พอมีก็เอาไปตั้ง ก็พบว่า ลดเวลาการให้บริการได้ ลดอัตราความพิการได้ ปัญหาคือสุดท้าย เราจะทำเองหรือซื้อเขามา เพราะราคาหนึ่งคัน มันก็ราว 35 ล้านบาท (1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ)
แล้วเขาก็ไม่มีตัวแทนฝ่ายขายในฝั่งเอเชียหรือสำนักงาน เราก็คิดว่าถ้าซื้อมาแล้วจะทำยังไง ต้องติดต่อไปถึงยุโรปเหรอ เขาคงไม่บินมาแก้ให้เรา เพราะฉะนั้น เอามาทำเองเลยดีกว่า นั่งประชุมกันแล้วคิดข้อดีข้อเสีย ประชุม 10 คน มีคนเห็นด้วยอยู่ 2 คน หนึ่งในนั้นคือผม ก็คิดๆ แล้วได้งบประมาณออกมา แล้วก็ได้รับความช่วยเหลือจากมูลนิธิไทยคม ภายใต้คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร ก็มาทำเป็นโมเดลคันแรกแล้วลองให้บริการดู กลายเป็นเรื่องเข้าท่า
แต่ก่อนเรามีคันเดียว แต่ตอนนี้เราได้พาร์ตเนอร์เป็นมูลนิธิร่วมกตัญญู ป่อเต๊กตึ๊ง หรือ 1669 มาช่วยบริการ ตอนนี้การทำงานก็เริ่มลงตัว เริ่มดีพอสมควร และสามารถทำให้ผู้เล่นจ่ายเงินลงมาได้ส่วนหนึ่ง แล้วเราก็ไปให้บริการ ซึ่งหลายคนก็พอใจ ทั้งในส่วนของการเข้าถึง และส่วนของขั้นตอนการให้บริการ ซึ่งเราสามารถให้บริการไปได้สัก 1,400 คน ในระยะเวลา 5 ปี ที่ผ่านมา
มีตัวอย่างที่ชัดไหมว่า Mobile Stroke Unit ช่วยคนไข้ได้อย่างไรบ้าง
เราเก็บข้อมูลของคนไข้ในช่วงเวลาเดียวกันเปรียบเทียบ โดยเปรียบเทียบคนไข้ที่มาเองกับมาโดยรถ Mobile Stroke Unit สมมติว่าเราไม่สบาย เราก็อาจจะนั่งแท็กซี่ ขับรถมาเอง หรือเรียก 1669
อันแรกคือรถ Mobile Stroke Unit อันที่สองคือเข้ามาเอง อันที่สามคือ 1669 ในช่วงเวลาเดียวกัน ในโรงพยาบาลเดียวกัน คือเอาที่โรงพยาบาลศิริราช เอาเฉพาะสโตรกที่มาใน 270 นาทีแรก เราเจอ 3 อย่าง
อย่างแรกคือกลุ่มที่มาด้วยโมบายยูนิต ใช้เวลาฉีดยาสั้นมาก สั้นกว่าอีกสองกลุ่มอย่างชัดเจน สั้นกว่ากันประมาณ 2 เท่า อย่างที่สอง โอกาสได้รับการเปิดหลอดเลือดโดยการใช้สายสวนหรือใช้ยา กลุ่มที่มาด้วย Mobile Stroke Unit มีโอกาสจะได้รับการรักษาแบบนี้มากกว่าอีกสองกลุ่มเกือบ 3 เท่า และอย่างที่สามคือ โอกาสในการหาย กลุ่มที่มาด้วย Mobile Stroke Unit หายมากกว่าอีก 2 กลุ่มมากถึง 3 เท่า
เพราะฉะนั้น องค์ความรู้มันจบแล้วสำหรับเรา คือเรื่องนี้ดี แต่ทำอย่างไรให้คุ้มและใช้ทั่วไปได้ ซึ่งการศึกษาที่ยุโรปและสหรัฐอเมริกานั้นชัดเจน และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
ฉะนั้น เรื่ององค์ความรู้จบแล้ว แต่ว่าคันหนึ่งยังแพง คือประมาณ 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ไม่รวมค่าบำรุงรักษา และเมื่อแพง ก็แปลว่าเข้าถึงเฉพาะคนรวย หน้าที่ของโรงพยาบาลศิริราชคือต้องทำให้เห็นว่ากระบวนทัศน์นั้นเปลี่ยน ให้ผู้ดำเนินนโยบาย ในที่นี้คือกระทรวงสาธารณสุข หรือใครก็ตามที่มองเห็นประโยชน์ และเอาไปใช้ต่อได้
ศิริราชไม่ใช่ประเทศไทย มีคนถามผมว่าจะทำกี่คัน ผมบอกว่าทุกวันนี้มี 6 คัน จากนี้เราจะมี 7 คัน แล้วเราจะหยุดเท่านี้ก่อน เพราะศิริราชไม่ใช่ประเทศไทย คือกระทรวงสาธารณสุขจะต้องมองแล้วเอาไปใช้ในฐานะที่เป็นคนดูภาพรวมทั้งประเทศ เรามีหน้าที่เสนอว่าโมเดลนี้โอเคและใช้ได้
ถ้าพูดถึงภาพรวมสถานการณ์ Stroke บ้านเราเป็นอย่างไรบ้าง
การเปลี่ยนแปลงของประชากรและสังคมทำให้คนอายุยืนขึ้น และสโตรกก็สัมพันธ์กับอายุ ถ้าอายุมากขึ้นก็มีโอกาสเกิดโรคมากขึ้น นอกจากนั้น ไลฟ์สไตล์คนเปลี่ยนไป คนไม่รู้จักกิน กินฟาสต์ฟูด กินโน่นกินนี่ แล้วก็ถ่ายรูปแชร์ ตามไปกิน ไม่รู้จักวิธีป้องกันโรค ก็มัวหลงใหลกับรูปรสกลิ่นเสียง ออกกำลังกายก็ไม่ออก ทำให้เกิดโรคมากขึ้น
นอกจากนั้นยังมีอีกปัญหาคือยา เป็นปัญหาในวัยรุ่น วัยทำงาน คือยาที่ทำให้สนุกสนานเบิกบานพักผ่อนอารมณ์ หรือ Recreational Drug Use ยาบ้า ยาขยัน ยาอี ยาไอซ์ ยาเลิฟ กระท่อม กัญชา ซึ่งทำให้โรคเยอะขึ้น ยาพวกนี้มันทำให้เส้นเลือดแตกก็ได้ตีบก็ได้ เพราะทำให้ความดันขึ้นได้ทันที พอขึ้นทันที ก็ทำให้หลอดเลือดสมองที่อาจจะเปราะอยู่แล้วก็แตกเหมือนท่อน้ำ แล้วคนที่ใช้พวกนี้ เขาไม่ได้ใช้ครั้งแรกหรอก ใช้มาอยู่แล้ว แล้วพอความดันมันพุ่ง มันก็ไม่ได้ปรับทันที ก็แตกเลย
อีกส่วนคือติดเชื้อ แบบการฉีดเฮโรอีนเข้าเส้น บางทีก็ใส่น้ำสกปรก ก็ติดเชื้อในลิ้นหัวใจก็เกิดลิ่มเลือด ก็แตกบ้างตีบบ้างก็ล้มตายบาดเจ็บกันไป
แนวโน้มของโรคเยอะขึ้น แล้วสถานการณ์การดูแลรักษาโรคตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง
ในอดีตเรารู้วิธีเดียวคือฉีดยา ตอนผมกลับมาใหม่ผมทำสำรวจหลายจังหวัดเลย ทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ตัวเลขการฉีดยาสลายลิ่มเลือดใน 270 นาทีอยู่ที่ 3% กว่าๆ อันนี้ในทางที่ดีนะ แต่จริงๆ อาจไม่ถึง 1% เท่านั้น ขณะเดียวกัน ตอนนี้ตัวเลขของกระทรวงสาธารณสุขสามารถฉีดยาสลายลิ่มเลือดใน 270 นาทีแรก อยู่ที่ประมาณ 10% เขตสุขภาพไหนดี ก็สามารถทำได้ถึง 15-17%
อีกส่วนคือกรณีใส่สายสวนกรณีหลอดเลือดใหญ่อุดตัน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างแพง ค่าใช้จ่ายในศิริราชประมาณ 3.5-4 แสนบาท ต่อการใส่สายสวน ไม่รวมค่าห้อง ค่ายา ค่าแอดมิตอีก เป็นโรคนี้อย่างไรก็ล่มจม ไม่นับด้วยว่าจะพิการต่อหรือไม่
ส่วนโรงพยาบาลเอกชน ต้องเตรียมเงินไว้ประมาณ 7 หลัก นี่คือระบบสุขภาพที่เป็นอยู่ แล้วการใส่สายสวน มันต้องการอุปกรณ์ที่เพียงพอและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางและหมอหลายแผนกต้องมาดูด้วยกัน เพราะฉะนั้น มันต้องโรงพยาบาลใหญ่ๆ หรือโรงเรียนแพทย์หรือโรงพยาบาลเอกชนใหญ่ๆ เท่านั้นที่ทำได้
เพราะฉะนั้น อย่าเป็นเลย ลำบาก เปลืองเงิน ทั้งที่โรคมันป้องกันได้ แต่คนไม่ยอมป้องกัน แล้วก็สร้างปัญหาให้กับคนไข้ ครอบครัวและประเทศชาติด้วย แทนที่คนอายุ 40-50 ปี จะมาเป็นกำลังสำคัญของชาติ กลับต้องพิการ เป็นภาระอีก
ในความเห็นคุณ จะป้องกันโรคนี้อย่างไร
สำหรับผม แบบมาตรฐานคือป้องกันได้ 90% ในวงเล็บว่าคุณอยู่ในเมือง ในสภาพแวดล้อมที่ดี แล้วไม่ได้อดนอน ไม่ได้ใช้ยา Recreational Drug Use หลักคือป้องกัน 4 โรค คือความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง หัวใจเต้นผิดจังหวะ และทำ 6 พฤติกรรมเพื่อป้องกันโรค
1. อย่าอ้วน น้ำหนักเกินคือบันไดขั้นแรกของการอ้วน
2. อย่าเครียด
3. กินผักผลไม้
4. ไม่กินเหล้า
5. ไม่สูบบุหรี่
6. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
กรณีความดันโลหิตสูงนั้น คนไข้สโตรก 10 คน เกิดจากความดันสูง 5 คน หมายความว่าถ้าเราดูแลความดันโลหิตสูงให้ดีทั้งประเทศ สโตรกจะหายไปครึ่งหนึ่ง สมมติคุณบอกว่าการเสียภาษีของเราขึ้นกับความดันคุณ ถ้าความดันดี ลดภาษีให้ 10% แปลว่าผมลดภาระของสโตรกได้ครึ่งหนึ่งเลย
นอกจากสโตรกแล้ว โรคอื่นๆ ที่เกิดจากความดันก็จะลดลงอีกมากมายเลย แทนที่จะบอกว่าซื้อไตเทียมแจกทุกจังหวัดทั่วประเทศ ซื้อเครื่องฟอกไตแจกทั่วประเทศ ถ้าคุณดูแลความดันให้ดี ดูแลไม่ให้อ้วน ลดภาษีให้ 10% ปีหนึ่ง สมมติเสียภาษี 2 หมื่น ลดภาษี 2,000 ทุกปี ใครก็เอา แล้วทั้งหมดก็เป็นความภูมิใจที่เราทำแล้วเราได้ เหมือนการซื้อประกัน พอได้ก็มีกำลังใจแรงจูงใจ
มาพูดถึงเบาหวาน หุ้นของขนมร้านหนึ่ง กระฉูดเลย กินเสร็จแล้วก็ถ่ายรูปแชร์กัน ไปถึงร้านก็ต่อคิวกันยาว ร้านโดนัทอีกร้าน คนก็ต่อคิวกันยาว ขนกันไปเป็นกล้องเบ้อเร่อ ซึ่งไม่ถูกตามหลักสุขภาพ กินโดนัทหวานๆ นี่ชิ้นหนึ่ง ต้องวิ่งเลยนะ 5 กิโลเมตร
ฉะนั้น เป็นสิ่งที่เราต้องสร้างความเข้าใจให้คนของเรา เพราะเบาหวานนี่คือการท้าทาย ท้าทายความสามารถของอินซูลิน การหลั่งอินซูลิน พอเราไปเร่งให้หลั่งๆๆ ถึงจุดหนึ่งก็ไม่ไหว ก็กลายเป็นเบาหวานเลย แต่สำหรับโรคนี้ ใครน้ำหนักเกิน พอลดน้ำหนักได้ เบาหวานจะดีขึ้น 1,000% ไม่จำเป็นต้องใช้ยาเบาหวานด้วยซ้ำไป สิ่งสำคัญจริงๆ คือเรื่อง Mindset เพราะฉะนั้น เราต้องสร้างโมเมนตัมให้ประชาชนและเยาวชนไทยปฏิบัติอย่างถูกต้องมากขึ้น
เวลาคนเดินสวนทางมา ใครที่จะไปกินโดนัท ขนมหวาน ใครที่จะนอนดึก สูบบุหรี่ ก็จะรู้สึกว่าไม่ปกติ เพราะเห็นโมเมนตัมของคนกินดีใช้ชีวิตถูกหลักสุขภาพ
ตอนนี้ สังคมไทยเป็นสังคมการกิน ความเชื่อเกี่ยวกับการกิน มันเละเทะไปหมดเลย ตอนนี้มันเละเทะไปหมดเลย ไขมันในเลือดสูงนี่ก็เหมือนกัน และก็หัวใจเต้นผิด ความท้าทายคือจะทำอย่างไรให้คนทำตาม ทำอย่างไรให้เกิดโมเมนตัมในสังคมไทย
เป็นส่วนหนึ่งของการที่คุณทำโครงการวิ่ง ‘แสงนำใจไทยทั้งชาติ เดินวิ่งปั่น ป้องกันอัมพาต ครั้งที่ 9’ ใช่ไหม
ในอดีต เรื่องการรณรงค์ให้คนออกกำลังกายนั้น เรามีอยู่แล้ว แต่มันเป็นการทำไป 1-2 ครั้ง ไม่ได้สามัคคีกัน แต่ถ้าทำพร้อมกันทั้งประเทศ แล้วใช้สัญลักษณ์เดียวกัน ช่วยกันบอก ช่วยกันป่าวประกาศให้คนทั้งโลก ทั้งประเทศรู้ เสียงก็จะดัง คนก็จะตื่นขึ้นมาว่า เฮ้ย! โรคนี้อันตรายนะ ต้องลุกขึ้นมาป้องกัน และการป้องกันนั้น ก็เป็นหน้าที่ของคุณ ไม่ใช่หน้าที่ของแพทย์ที่ต้องมารักษาคุณ
เหมือนคุณซื้อรถไป คุณก็รักษารถยิ่งชีพเลย เวลามีอะไรมาข่วนนิดหน่อยคุณก็ทุกข์ใจ แต่ทำไมตัวคุณเองถึงละเลยไม่สนใจดูแลตัวคุณเอง และตัวคุณเองคือตัวที่จะนำชีวิตคุณไปข้างหน้า ทำความฝันให้เป็นความจริง แต่คุณไม่ดูแลตัวเองเลย คุณเป็นคนสุดท้ายด้วยซ้ำที่จะได้รับการดูแลจากตัวเอง
เคยเป็นไหม เวลาเรายุ่งมาก ไม่ได้กินข้าว ไม่ได้นอน กว่าจะมีเวลาสำหรับตัวเราเองก็สุดท้ายเลย แล้วพอเวลาจะนอนก็มาคิดว่าวันนี้มันเหนื่อยจริงๆ เลย สุดท้ายวนไปวนมา เราก็เป็นคนสุดท้ายอีกแล้วที่จะได้รับความสงสารจากตัวเอง คือเราละเลยร่างกายตัวเอง ไม่ดูแลมัน
แล้วพฤติกรรมอย่างนี้เราทำไป เราอยู่ไป 70 กว่าปี มันจะไปปรากฏที่อายุ 40-70 ปี ที่อายุ 0-30 ปี มันยังไม่ค่อยปรากฏหรอก มันจะเริ่มที่ 40 ต้นๆ ในคนที่ดูแลไม่ดี คนที่ดูแลดีจะไปปรากฏที่ 60-70 ปี มันดีเลย์ไป 20 กว่าปีเลยนะ เพราะฉะนั้น อย่าละเลยตัวเอง ให้เวลากับตัวเองบ้าง ทั้งร่างกายและจิตใจ
สำหรับคนอ่าน The Momentum วัย 20-30 ปี มีอะไรแนะนำไหม
วัยขนาดนี้นะ ยังมองอะไรไม่ออก ยังมองออกแต่เรื่องความสนุกสนานและอนาคตอันรุ่งโรจน์ของชีวิต อยากเป็นนู่นนี่นั่น แต่คุณจะต้องบอกเขาว่า เพื่อจะไปถึงจุดที่ฝัน คุณต้องการ 2 อย่าง หนึ่งคือร่างกายที่สมบูรณ์ สองคือจิตใจที่สงบ ไม่อย่างนั้น คุณจะไปไม่ถึง ร่างกายที่สมบูรณ์ – คุณจะใช้มันตลอดชีวิตของคุณและคุณต้องอยู่กับมันตลอดไป ผมมีคนไข้ 2-3 คนนะ คนหนึ่งเป็นหมอเพิ่งจบไป เขาเกิดสโตรก แล้วสโตรกนั้น ทำให้เข้าพูดติดขัดและอ่อนแรงซีกขวา เขามีชื่อเสียงมากนะ
แต่คำถามคือเขาจะดำเนินตามเป้าหมายของเขาต่อไปได้หรือซึ่งทำได้ยากมาก แทบทำไม่ได้ เหมือนคุณขึ้นเครื่องบินแล้วปีกหักไปข้างหนึ่ง มันจะบินไปถึงฝั่งหรือเปล่า เพราะฉะนั้น ร่างกายคุณคือสิ่งที่มีความหมายมากที่สุด คุณต้องฝังตรงนี้ลงไป แล้วปลุกให้เขาคิดว่าคุณอยากไปถึงฝั่งฝันใช่ไหม คุณต้องดูแลร่างกายดีๆ อันนี้ฟังแล้วเหมือนง่ายนะ แต่คือของจริง กว่าคุณจะเข้าใจ คือคุณต้องอายุ 40 ขึ้นหรือมีโรคบ้างอย่างมาแล้วกระตุกคุณ หรืออาจมีบุญ ได้เรียนรู้จากคนรอบข้าง แล้วหันกลับมาดูตัวเอง คือคนหนึ่งจะเรียนรู้สิ่งที่สำคัญที่สุดเลยนะคือการเปิดต่อมรับรู้ ถ้าเปิดได้เมื่อไรนะ งานเราเสร็จไป 80% แต่ความท้าทายคือจะเปิดอย่างไร จะจี้อย่างไร
อีกส่วนคือผับบาร์ วันนี้สถานบันเทิงเปิดเต็มไปหมด ซึ่งสร้างพฤติกรรมและสุขภาพไม่ดีให้สังคม
สำหรับประเทศนี้ มีสองเรื่องที่ไม่ควรมีใครเอาผลประโยชน์ คือเรื่องสุขภาพ กับเรื่องการศึกษา สมมติคุณมองประเทศเป็นครอบครัว คุณมีลูก คุณจะเอากำไรกับเขาไหมในเรื่องสุขภาพ และเรื่องการศึกษา ไม่มีทาง
สองข้อนี้สำคัญที่สุด แต่ว่าในสังคมเรา สุขภาพถูกทำกำไร โรงพยาบาลเอกชนหุ้นขึ้นก็ดีใจกัน แต่เงินมันมาจากกลุ่มคนไข้ ซึ่งเขาเปราะบาง เขาไม่สามารถเจรจาอะไรกับคุณได้เลย คุณบอกต้องเอากุญแจรถมาให้ก่อนรักษา คุณก็ต้องยอมให้เขา เขาขออะไรคุณก็ต้องยอม คุณไม่มีทางเจรจาเพราะชีวิตใคร ใครก็รัก
เช่นเดียวกัน การศึกษา-เด็กนักเรียนก็ไม่มีปากมีเสียง เป็นกลุ่มเปราะบาง ไม่สามารถเจรจากับระบบการศึกษา โรงเรียน หรือโรงเรียนกวดวิชาได้เลย ทั้งสองสาขานี้เอกชนจึงไม่ควรยุ่มย่าม แต่นี่คืออุดมคตินะ โชคร้ายที่ประเทศนี้มันไม่ใช่แบบนั้น
แต่ว่าความจริงมันทำได้นะ ผมเรียนมาจากแคนาดาที่ไม่มีโรงพยาบาลเอกชน มีแต่คลินิกเล็กๆ แต่ไม่มีโรงพยาบาลเอกชนเลย มีแต่โรงพยาบาลรัฐทั้งสิ้น แล้วทุกคนมีระบบประกันสุขภาพหมด ผู้อพยพเข้าไปก็ต้องซื้อประกัน ไม่มีการเข้ามาเป็นภาระให้รัฐบาล
อนาคตวางแผนไว้อย่างไร อยากได้รับการสนับสนุนจากประชาชนยังไงบ้าง
สำหรับผม อยากให้ชีวิตที่ปราศจากสโตรกเกิดขึ้นทั่วประเทศ และอยากได้รับการสนับสนุนจากประชาชนด้วยการที่คุณดูแลตัวเองให้ดี แล้วเป็นสิ่งที่คุณทำได้ทันที
ชีวิตเรามีทางเลือก เลือกให้ถูก เลือกให้ดี เหมือนหมากรุก ช่วงแรกมันมีทางเลือกเยอะว่าจะเดินอย่างไร แต่ถึงจุดหนึ่งมันแทบไม่มีทางเลือก เลือกให้ถูกตอนยังมีทางเลือก คุณเลือกได้จริงๆ ชีวิตเลือกได้ และชีวิตเป็นของคุณ
Fact Box
- กิจกรรม 'เดิน วิ่ง ปั่น ป้องกันอัมพาต (Walk Run Bike Fighting Stroke)' จะจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 29 ตุลาคม 2566 โดยตั้งใจให้ให้คนไทยเห็นถึงความสำคัญของการดูแลรักษาสุขภาพ สามารถติดตามรายละเอียดได้ที่ https://www.facebook.com/walkrunbikefighting
- รายได้จากการจัดกิจกรรมของโครงการฯ นำเข้ามูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ต้องการยกระดับการเข้าถึงการรักษาโรคหลอดเลือดสมองที่มีมาตรฐาน
- ปัจจุบัน Mobile Stroke Unit สามารถผลิตได้ในประเทศ และพยายามกระจายให้ทั่วถึงในพื้นที่ต่างจังหวัดให้ได้มากที่สุด