ถ้าคุยเรื่องประกันชีวิตกันแบบจริงๆ จังๆ เราต้องยอมรับเลยว่าประกันชีวิตเป็นสินค้าการเงินเพียงตัวเดียวในปัจจุบันที่ช่วยบริหารความเสี่ยงได้ ความเสี่ยงที่พูดถึงนี้ไม่ใช่ความเสี่ยงจากการลงทุนที่เรานำเงินไปลงทุนแล้วมีโอกาสขาดทุน แต่เป็นความเสี่ยงภัยที่มีโอกาสเกิดขึ้นกับชีวิตเรา

ถ้ามองในมุมผลตอบแทน เป็นที่รู้กันว่าประกันชีวิตเป็นสินค้าการเงินที่ยังไม่เข้าตาสักเท่าไร เพราะโครงสร้างพอร์ตการลงทุนของบริษัทประกันชีวิตมีข้อจำกัดอยู่ประมาณหนึ่ง สิ่งแรกที่ต้องทำความเข้าใจ คือเวลาที่เราจ่าย ‘เบี้ยประกันชีวิต’ บริษัทประกันจะแบ่งเบี้ยประกันเราออกเป็น 2 ส่วนหลัก

ส่วนแรก จะถูกนำไปเป็น ‘ค่าใช้จ่ายในการประกันชีวิต’ บวกกับค่าการดำเนินการ ค่าการตลาดต่างๆ นั่นหมายความว่า ถ้าเราต้องการความคุ้มครองสูงๆ ค่าใช้จ่ายในส่วนแรกนี้ก็ยิ่งเพิ่มขึ้นนั่นเอง

ส่วนที่สอง จะถูกนำไป ‘ลงทุน’ โดยทั่วไป บริษัทประกันจะนำเงินเราไปลงทุนตามพอร์ตของบริษัทประกันชีวิต แต่ด้วยเงื่อนไขของ คปภ. (สำนักงานคณะกรรมการการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย) จึงทำให้พอร์ตลงทุนของบริษัทประกันชีวิตไม่สามารถลงทุนแบบเสี่ยงสูงมากได้

เหตุที่ คปภ. ต้องควบคุม เพราะธุรกิจประกันชีวิตเป็นธุรกิจที่ต้องการความมั่นคงมากกว่าธุรกิจการเงินอื่นๆ จึงทำให้ผลตอบแทนจากกรมธรรม์ประกันชีวิตจะไม่ได้สูงมาก หลักๆ ก็จะเป็นการลงทุนในตราสารหนี้ประเภทต่างๆ เช่น เงินฝาก ตราสารหนี้อย่างตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล รวมไปถึงหุ้นกู้ต่างๆของบริษัทเอกชน อาจจะมีหุ้นได้แต่ในสัดส่วนที่ไม่สูงมากนักจึงทำให้พอร์ตการลงทุนของบริษัทประกันชีวิตโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 3-4% และผลตอบแทนของกรมธรรม์แบบทั่วๆ ไปจะอยู่แถวๆ 2-3% เท่านั้น

ซึ่งแน่นอนว่าบริษัทประกันก็เข้าใจปัญหาและการไม่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่อยากได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น บริษัทประกันจึงได้ออกประกันชีวิตรูปแบบใหม่ที่เรียกว่าประกันชีวิตควบการลงทุน หรือแบบที่เราคุ้นหูกันว่า ‘ยูนิต ลิงก์ (Unit Linked)’ ขึ้นมา

บริษัทประกันก็ยิ้มออก

ความแตกต่างของประกันชีวิตแบบทั่วๆ ไปและ ยูนิต ลิงก์ อยู่ที่เงินลงทุนในส่วนที่สองหรือส่วนที่นำเงินไปลงทุนเป็นหลัก ยูนิต ลิงก์ จะเปิดโอกาสให้เราสามารถนำเงินส่วนนี้ไปลงทุนผ่านกองทุนรวมตามรายชื่อที่บริษัทคัดเลือกมาให้ เราสามารถเลือกตามระดับความเสี่ยงที่ต้องการได้ ใครที่ชอบความเสี่ยงก็อาจจะเลือกลงทุนในกองทุนรวมหุ้นในสัดส่วนที่สูงหน่อย ใครไม่ชอบความเสี่ยงก็อาจเน้นไปที่กองทุนรวมตราสารหนี้เป็นหลักก็ได้เช่นกัน ซึ่งแน่นอนว่าผลตอบแทนจากการลงทุนก็จะเป็นไปตามเป็นผลประกอบการของกองทุนรวมที่เราเลือกลงทุนไว้นั่นเอง 

เมื่อประกันชีวิตเป็นเรื่องของการวางเงินในระยะยาวอยู่แล้ว นำมาผสานกับการลงทุนในหุ้นที่อาจได้ผลตอบแทนสูงในระยะยาว การนำแนวคิดเรื่องการลงทุนมาควบกับการทำประกันชีวิตจึงเป็นอะไรที่น่าสนใจและเข้ากันได้ดี

ประโยชน์ของยูนิต ลิงก์ นอกจากจะทำให้ผู้บริโภคแบบเรามีโอกาสได้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นในระยะยาว ก็ยังเป็นประโยชน์กับตัวบริษัทประกันชีวิตเองไม่น้อย เพราะประกันชีวิตแบบทั่วๆ ไป บริษัทประกันชีวิตจะเป็นผู้การันตีผลตอบแทนของกรมธรรม์ตามสัญญาที่เซ็นไว้ตั้งแต่วันแรก หมายความว่าถ้าบริษัทประกันชีวิตไม่สามารถบริหารพอร์ตให้เป็นไปตามที่การันตีไว้ ผู้ที่รับการขาดทุนก็จะเป็นบริษัทประกันชีวิตเอง 

แต่กับยูนิต ลิงก์ บริษัทประกันชีวิตจะเปลี่ยนมาเก็บรายได้หลักจากค่าธรรมเนียมเท่านั้น ไม่มีการการันตีผลตอบแทนใดๆ ให้กับลูกค้า นั่นแปลว่าพอร์ตโดยรวมของบริษัทประกันชีวิตก็จะมีความเสี่ยงน้อยลงด้วย 

ของแถม(ที่ไม่อยากได้) คือค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า

โลกนี้ไม่มีอะไรที่มีแต่ข้อดี ข้อเสียหรือข้อจำกัดของยูนิต ลิงก์ หลักๆ เลยก็คือ เรื่องค่าใช้จ่ายของกรมธรรม์ที่ค่อนข้างสูง หรือที่เราคุ้นเคยกันกับคำว่าค่าธรรมเนียม

เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับการลงทุนในกองทุนรวมตรงๆ ปกติ โดยไม่ผ่านยูนิต ลิงก์ การลงทุนผ่าน ยูนิต ลิงก์ จะทำให้เสียเงินลงทุนไปกับส่วนของค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการประกันชีวิตค่อนข้างเยอะ ดังนั้น ถ้าใครไม่ได้มีความต้องการจะทำประกันหรือความต้องการเรื่องทุนประกันชีวิตแล้ว การเอาเงินทั้งหมดไปลงทุนเอง ดูจะได้ผลตอบแทนเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากกว่า 

สุดท้ายนี้ก่อนซื้อสินค้าการเงินหรือการลงทุนใดๆ ก็ตาม เราควรศึกษาทั้งประโยชน์ข้อดีต่างๆ รวมถึงข้อเสียและข้อจำกัดของสินค้าการเงินชนิดนั้นๆ เพราะโลกเราไม่มีอะไรที่ดีที่สุด ไม่มีอะไรที่เป็นยาผีบอกที่สามารถทำได้ทุกอย่างในสินค้าการเงินเดียว คงต้องกลับไปดูเป้าหมายการเงินของเรา แล้วค่อยหาสินค้าการเงินที่ตอบโจทย์ได้ ถึงจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องที่สุดนั่นเอง

Tags: , , , , ,