เชื่อว่าหลายคนคงคิดถึง โมอาน่า หรือ Moana (2016) ภาพยนตร์แอนิเมชันจาก วอลต์ดิสนีย์ แอนิเมชัน สตูดิโอส์ (Walt Disney Animation Studios) กับเรื่องราวการผจญภัยไปกับตำนานหมู่เกาะทะเลใต้ เพื่อค้นหาตัวตนของโมอาน่า ได้สร้างความประทับใจให้ใครหลายคนในปี 2559 และแน่นอนว่า แฟนๆ ของโมอาน่าคงรอคอยที่จะได้ดูภาค 2 มาตลอดหลายปี ซึ่งในวันที่ 4 ธันวาคมนี้ คนไทยทุกคนจะได้ชม โมอาน่า 2 หรือ Moana 2 (2024) ในโรงภาพยนตร์กันแล้ว กับเรื่องราวการผจญภัยครั้งใหม่ของโมอาน่าที่เข้มข้นมากยิ่งกว่าเดิม
ความพิเศษของโมอาน่า 2 สำหรับคนไทย ไม่เพียงแค่การเล่าเรื่องภายใต้บรรยากาศของทะเลแปซิฟิก แต่ยังรวมถึงการที่มีทีมงานคนไทยเป็นส่วนร่วมสำคัญกับการสร้างแอนิเมชันอย่าง ธิดา-ถิรดา กังวานเกียรติชัย ในทีม Layout Artist ซึ่งเกี่ยวกับการกำหนดการเคลื่อนไหวของกล้อง
วันนี้ The Momentum ได้มีโอกาสพูดคุยถิรดา ถึงอาชีพ Layout Artist ว่า ลักษณะงานเป็นแบบไหน ความท้าทายในการทำงานในภาพยนตร์แอนิเมชันโมอาน่า 2 อย่างไร รวมถึงเส้นทางของถิรดาในฐานะคนไทยที่ได้เข้าไปทำงานในวอลต์ดิสนีย์ แอนิเมชัน สตูดิโอส์ ว่าต้องผ่านอะไรบ้าง
เมื่อไล่เรียงประวัติของถิรดาแล้ว เธอจบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมการจัดการและโลจิสติกส์ จากมหาวิทยาลัยศิลปากร แต่ด้วยความชอบในเรื่องวาดภาพ และแอนิเมชัน จึงได้ศึกษาต่อด้านแอนิเมชัน 3 มิติ และวิชวลเอฟเฟกต์ (3D Animation & Visual Effects) ที่แวนคูเวอร์ ฟิล์ม สคูล (Vancouver Film School) ประเทศแคนาดา
“เราเคยเรียนวิศวะฯ ศิลปากร แต่ว่าค่อนข้างมีแพสชันในด้านศิลปะ ชอบวาดรูป แล้วพอเรียนจบก็ย้ายมาอยู่ที่แวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา ซึ่งที่นี่ขึ้นชื่อว่ามีบริษัททำซีจีไอ (Computer Generated Imagery: CGI) เยอะ เราเลยไปเรียนคอร์สแอนิเมชัน 3 มิติ ของที่นี่ ในช่วงระหว่างเรียนจะมีคลาสที่เรียกว่า ‘3D Visualize’ เป็นเรื่องการวางมุมกล้องในแอนิเมชัน 3 มิติ ด้วยความที่เราชอบถ่ายรูปแนวสตรีต (Street Photography) อยู่แล้ว เลยมีความรู้สึกชอบเป็นพิเศษ เพราะมันเป็นเรื่องมุมกล้อง ไม่ใช่แค่หุ่นเชิดเฉยๆ” ถิรดาเล่าถึงแพสชันของเธอ
หลังจากที่เรียนจบถิรดาก็ได้ทำงานในหน้าที่เลย์เอาต์อาร์ตติสอยู่ก่อนแล้ว เป็นระยะเวลาประมาณ 6-7 ปี จนกระทั่งได้มาเป็นเลย์เอาต์อาร์ตติสให้กับภาพยนตร์แอนิเมชันโมอาน่า 2 ในบริษัทวอลต์ดิสนีย์
“ตอนช่วงปีที่แล้วดิสนีย์ ธิดาก็ลองสมัครงานบริษัทดิสนีย์ดูเล่นๆ สนุกๆ เผื่อว่าจะได้ เพราะว่ามีคนที่เขามีความสามารถแล้วก็อยากจะทำงานกับดิสนีย์เยอะ แล้วก็กลายเป็นว่าเราได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของดิสนีย์ แล้วช่วงนั้นเขาวางแผนที่จะทำโมอาน่า 2 เราก็รู้สึกว่ามันสุดยอดมาก แล้วเราก็ตกกระไดพลอยโจนได้เข้ามาอยู่ในจุดนี้” ถิรดาเล่าด้วยความสนุก
ถึงจุดนี้หลายคนคงสงสัยว่า อาชีพเลย์เอาต์อาร์ตติสมีหน้าที่อะไรบ้าง และมีความสำคัญต่อภาพยนตร์แอนิเมชันอย่างไร ถิรดาได้ขยายความว่า ในการทำภาพยนตร์แอนิเมชันสักเรื่องหนึ่ง จะมีการทำสตอรีบอร์ด (Storyboard) เป็นภาพวาด 2 มิติทั่วไป เพื่อวางเค้าโครงของเรื่องราวทั้งหมด ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของตำแหน่งสตอรีบอร์ดอาร์ตติส (Storyboard Artist) จากนั้นจึงส่งต่อให้ตำแหน่งเลย์เอาต์อาร์ตติส อย่างถิรดา มาเรนเดอร์ (Render) เป็น 3 มิติ แล้วนำฉากหรือแบ็กกราวนด์ สภาพแวดล้อมมาใส่ และจับเอาคาแรกเตอร์มาวาง จัดวางมุมกล้อง เนื่องจากบางครั้งสตอรีบอร์ด ศิลปินอาจไม่ได้วาดฉากที่มีรายละเอียดอย่างชัดเจนในขั้นตอนเขียนสตอรีบอร์ดเท่าไรนัก
ดังนั้นเลย์เอาต์อาร์ตติสจึงต้องทำหาที่เหมือนเป็นแมวมองที่คอยค้นหาว่า แต่ละซีนต้องทำฉากอย่างไรให้สมบูรณ์ เมื่อเปรียบเทียบกับทีมงานในกองถ่ายภาพยนตร์ไลฟ์แอ็กชัน (Live Action) แบบคนแสดง ก็จะมีหน้าที่ต้องลงไปดูโลเคชัน หรือสถานที่จริง เพื่อพิจารณาว่าตัวละครต้องอยู่มุมใด ฉากและมุมกล้องจึงจะออกมาสวย รวมไปถึงเรื่องการจัดแสงในการถ่ายทำ ซึ่งสำหรับเลย์เอาต์อาร์ตติสคือ การรับบทบาทนี้ในการสร้างภาพยนตร์แอนิเมชัน
“การวางมุมกล้อง บางทีมันก็ขึ้นอยู่กับรสนิยมของผู้กำกับ แต่อย่างแอนิเมชัน เราจะวางมุมกล้องตรงไหนก็ได้ มันไม่ได้มีขีดจำกัดเช่นว่ามันติดกำแพง หรือว่ามุมกล้องมันต้องทะลวงไปใต้พื้นดิน เพราะฉะนั้นการวางมุมกล้องแอนิเมชันมันมีขอบเขตกว้างกว่า เราจะสามารถค้นหามุมกล้องต่างๆ ได้มากกว่า” ถิรดาขยายถึงความแตกต่างของการวางมุมกล้องของภาพยนตร์คนแสดงกับภาพยนตร์แอนิเมชัน
สำหรับภาพยนตร์แอนิเมชันโมอาน่า 2 มีเอกลักษณ์สำคัญที่สุดคือ ฉากในทะเล มหาสมุทร หมู่เกาะ ท้องฟ้า ไปจนถึงภูเขา ล้วนแต่เป็นฉากในธรรมชาติ นอกจากการจัดวางมุมกล้อง และตำแหน่งของคาแรกเตอร์แล้ว ถิรดายังเสริมว่า มูฟเมนต์หรือการเคลื่อนไหวของกล้องก็มีส่วนสำคัญในการถ่ายทำเช่นกัน เพราะแม้จะเป็นภาพยนตร์แอนิเมชัน ก็ต้องทำให้คนดูรู้สึกอินไปกับแต่ละอารมณ์ของตัวละคร ไม่ต่างจากภาพยนตร์คนแสดง
“ความแตกต่างระหว่างแอนิเมชันเรื่องนี้ในภาคแรกกับภาคสอง คือเราจะได้เห็นความท้าทาย และการผจญภัยมากขึ้นกว่าเดิม มีฉากที่มากกว่าทะเล ท้องฟ้า อาจจะเจออะไรที่มันยิ่งใหญ่กว่าเดิม อย่างพายุขนาดมหึมา มรสุมครั้งใหญ่ เป็นฉากที่มีความท้าทายมาก อีกทั้งภาคนี้ยังมี ซิเมอา (SIMEA) น้องสาวของโมอาน่า บางทีก็จะมีส่วนที่วางมุมกล้องเล็กๆ ให้เป็นอายไลน์ (Eye Line) ของน้อง เพื่อถ่ายทอดน้องสาวกับพี่สาวคุยกัน แล้วก็มีคาแรกเตอร์ต่างๆ มากขึ้น ที่ช่วยขับเคลื่อนเรื่องราวของโมอาน่า 2” ถิรดากล่าว
เมื่อถามว่าการเข้ามาทำภาพยนตร์แอนิเมชันในภาคต่อ ซึ่งภาคแรกได้ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม ว่า มีความท้าทายต่อถิรดาอย่างไร เธอตอบว่า ความท้าทายคือในภาคนี้มีการผจญภัยที่ยิ่งใหญ่อันน่าตื่นเต้นมากขึ้น
“ด้วยความที่เราเป็นเลย์เอาต์อาร์ตติส เราอยากจะให้ผู้ชมได้ดูอะไรที่ไม่ได้ติดตามาจากภาคแรก อยากให้ภาค 2 มีความโดดเด่นของเขา ดังนั้นเราก็ต้องพยายามวางมุมกล้อง วางมูดและโทนให้มันมีความเฉพาะตัวด้วยเช่นกัน”
ถิรดาพูดต่อว่า สำหรับตัวเธอเองมีความตื่นเต้นและดีใจที่เป็นคนไทยคนหนึ่ง ผู้ซึ่งได้ร่วมงานในบริษัทวอลต์ดิสนีย์ และคิดว่าน่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กๆ ชาวไทยที่มีความชื่นชอบในแอนิเมชัน หรือสายอาชีพที่เกี่ยวข้องได้
“มันเป็นประสบการณ์ แล้วก็น่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้น้องๆ ที่ได้เห็นว่าคนไทยก็ทำได้ เราไม่ได้แพ้ชาติใดในโลก คำแนะนำให้น้องๆ คืออยากให้สู้ คิดไว้ว่าความฝันสามารถเป็นจริงได้ แต่ว่าเราก็ต้องมีความพยายาม แล้วก็ต้องขยันเช่นกัน แล้วก็มองหาโอกาส โอกาสไม่ได้มาหาเรา เราต้องไปหามัน” ถิรดากล่าวทิ้งท้าย
Tags: Moana 2, โมอาน่า 2, Disney’s Moana 2, Layout Artist, Feature, Visual, animation, ธิดา ถิรดา, Disney, ถิรดา กังวานเกียรติชัย, ดิสนีย์, แอนิเมชัน, Entertainment