อาวุธและกองทัพนับเป็น 2 สิ่งที่มาคู่กัน หากกองทัพที่ปราศจากอาวุธก็อาจเปรียบได้กับเสือที่ไม่มีเขี้ยวหรือแมวที่ไม่มีเล็บ อย่างไรก็ตาม ในประเทศที่ว่ากันว่าปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย การที่แต่ละหน่วยงานรวมทั้งกองทัพซึ่งอยู่ภายใต้กระทรวงกลาโหม จะนำงบประมาณของประเทศไปใช้ในสิ่งใด พวกเขาก็ควรจะต้องสามารถอธิบายเหตุผลให้ประชาชนได้รับรู้อย่างโปร่งใส และชี้ให้เห็นว่าการซื้อของแต่ละอย่างนั้นเหมาะหรือไม่อย่างไร
ทว่าที่ผ่านมาก็มีหลายครั้งที่กระทรวงกลาโหมจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ในลักษณะที่หลายฝ่ายมองว่า ‘ไม่คุ้มค่า’ และ ‘ไม่ชอบมาพากล’ แต่ในเวลาเดียวกัน เรื่องที่น่าสนใจก็คือ แต่ละปี การจัดอันดับประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA) ที่จัดอันดับโดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มักจะบอกว่ากระทรวงกลาโหมนั้นโปร่งใสที่สุด
ขณะเดียวกัน ตลอดเวลาที่ผ่านมาแทบไม่เคยมีการตรวจสอบพบการ ‘คอร์รัปชัน’ ในกระทรวงกลาโหมเลย แม้จะมีการตัดสินใจแปลกๆ จัดซื้อยุทโธปกรณ์ประหลาดๆ ออกมาเป็นข่าวโดยตลอด
วันนี้ (15 กันยายน 2565) เนื่องในโอกาสที่ครบรอบ 1 เดือน อันเป็น ‘เดดไลน์’ ในการที่กองทัพเรือ หนึ่งในองคาพยพของกระทรวงกลาโหมต้องตัดสินใจซื้อ ‘เรือดำน้ำ’ จีน ด้วยออปชั่นเสริมเครื่องยนต์จีน แทนที่จะเป็นเครื่องยนต์จากเยอรมนี
The Momentum ชวนย้อนดู 5 สิ่งที่กองทัพเคยซื้อและเข้าเกณฑ์ ‘ไม่คุ้มค่า’ และ ‘ไม่ชอบมาพากล’ ขององค์กรสุดโปร่งใสแห่งนี้ ว่าเงินภาษีของประชาชนถูกใช้ไปกับยุทโธปกรณ์อะไรบ้าง
1. เครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด GT200
งบประมาณในการจัดซื้อ: 1,134 ล้านบาท
GT200 เริ่มเข้ามาในประเทศไทยเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2548 โดย พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบกในเวลานั้น เห็นประสิทธิภาพของเครื่องมือดังกล่าวในการตรวจจับวัตถุผิดกฎหมาย ตรวจได้ทุกอย่างตั้งแต่วัตถุระเบิดจนถึงยาเสพติด
กระนั้นเอง การจัดซื้อล็อตใหญ่ที่สุดเกิดขึ้นในช่วงปี 2551-2552 โดย พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบกในเวลานั้น ได้สั่งซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด GT200 เข้ามาจากบริษัทในประเทศอังกฤษ อย่างไรก็ตาม กลับตามมาด้วยเหตุการณ์ระเบิดในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพ เพราะบางครั้ง แม้เครื่อง GT200 จะไม่พบวัตถุระเบิด แต่กลับเกิดระเบิดขึ้นตามมา โดยในขณะนั้นประชาชนหลายฝ่ายรวมทั้งนักวิชาการล้วนตั้งคำถามเกี่ยวกับประสิทธิภาพของเครื่อง GT200 อย่างกว้างขวาง เป็นที่มาให้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ต้องสั่งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องตรวจสอบประสิทธิภาพและการทำงานของเครื่องดังกล่าว
ภายหลังจึงพบว่า GT200 สามารถตรวจหาวัตถุต้องสงสัยอย่างระเบิดและยาเสพติดได้ในอัตราที่น้อยมาก อีกทั้งองค์ประกอบภายในของเครื่องนี้ก็ไม่ทนทานและไม่ซับซ้อน โดยทั้งเซนเซอร์ การ์ด และอุปกรณ์อื่นๆ ก็เป็นเพียงพลาสติกธรรมดา ว่ากันว่าต้นทุนในการผลิตเครื่อง GT200 นี้มีมูลค่าเพียง 700 บาท ทว่าทางการไทยกลับซื้อมาในราคา 175,000 บาท
ท้ายที่สุด ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2564 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ออกมาระบุว่า การจัดซื้อจัดจ้างเครื่องตรวจวัตถุระเบิดและสารเสพติด GT200 และ Alpha6 ซึ่งเป็นอุปกรณ์ในลักษณะเดียวกัน มีความไม่ชอบมาพากล และชี้ว่ามีผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อดังกล่าวประมาณ 100 คนมีความผิดทางอาญาและความผิดทางวินัย
ประชาชนจำนวนหนึ่งมองว่าภายใน 100 คนนั้น ส่วนใหญ่เป็นเพียงคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างและคณะกรรมการตรวจรับงานจ้างเท่านั้น และแม้เวลาจะผ่านมาหลายปี แต่ปัจจุบันยังไม่มีนายทหารหรือข้าราชการระดับสูงออกมารับผิดและถูกดำเนินคดีในศาลแต่อย่างใด
ที่น่าสังเกตคือ เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2565 จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล ออกมาเปิดเผยว่ากระทรวงกลาโหมใช้งบประมาณกว่า 7.57 ล้านบาท ในการตรวจสอบประสิทธิภาพเครื่อง GT200 แม้กองทัพจะทราบอยู่แล้วว่า เครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดดังกล่าวไม่สามารถใช้งานได้เลย จนสุดท้าย กระทรวงกลาโหมก็ต้องตัดงบประมาณในส่วนดังกล่าวออกไป
สถานะปัจจุบัน: ใช้งานไม่ได้
2. เรือเหาะ จำนวน 1 ลำ
งบประมาณในการจัดซื้อ: 350 ล้านบาท
เรือเหาะลำนี้เริ่มจัดซื้อในปี 2552 ในช่วงที่ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็นผู้บัญชาการทหารบก โดยมีจุดประสงค์เพื่อใช้ในกิจการของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรักษาความสงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ทางกองทัพระบุในตอนต้นว่า เรือเหาะลำนี้สามารถบินพ้นรัศมีของปืน M16 ได้ อย่างไรก็ตาม พอนำเรือเหาะดังกล่าวมาใช้งานจริง กลับเกิดปัญหามากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาจากกล้องที่ติดตั้งประจำเรือ ตัวบอลลูนที่ใช้บิน และที่สำคัญคือไม่สามารถบินได้สูงอย่างที่กองทัพอ้าง กล่าวคือเรือเหาะบินได้เพียง 1 ใน 3 ของระยะที่กล่าวมา ซึ่งนั่นหมายความว่าเรือเหาะจะไม่สามารถบินพ้นระยะยิงได้เลย
หลังจากพลเอกอนุพงษ์เกษียณอายุราชการ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกแทน ในขณะนั้น พลเอกประยุทธ์ตั้งใจว่าจะใช้เรือเหาะลำนี้เพื่อตรวจสอบสถานการณ์น้ำท่วมในปี 2554 อย่างไรก็ตาม ไม่นานหลังจากการประกาศความตั้งใจ เรือเหาะกลับประสบอุบัติเหตุ เนื่องจากเกิดลมพัดแรง ทัศนวิสัยไม่อำนวย ท้ายที่สุดนักบินต้องนำเครื่องลงจอดฉุกเฉินกลางทุ่งนา ในจังหวัดปัตตานี และหลังจากผ่านการใช้งานมาอย่างยาวนานรวม 8 ปี (ซึ่งพังบ้างดีบ้าง) ในเดือนกันยายนปี 2560 เรือเหาะลำนี้ถูกปลดประจำการและไม่มีแผนจัดซื้อเพิ่มเติมอีกในอนาคต
สถานะปัจจุบัน: ปลดประจำการ
3. รถเบนซ์ S-Class ควบคุมสั่งการ กว่า 30 คัน
งบประมาณในการจัดซื้อ: 554 ล้านบาท
เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2565 ซึ่งเป็นวันประชุมเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ประชาชนจำนวนหนึ่งตั้งคำถามเกี่ยวกับสัดส่วนของงบประมาณกระทรวงกลาโหม ที่ถูกแบ่งเงินถึง 554 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อรถเมอร์เซเดส-เบนซ์ เอส-คลาส S400 และ S500 จำนวนกว่า 30 คัน เพื่อนำมาเป็นรถประจำตำแหน่ง ที่ภายหลังทางกองทัพออกมาชี้แจงว่าเป็น ‘รถควบคุมสั่งการ’
กองทัพอธิบายว่ารถดังกล่าวมีไว้เพื่อปฏิบัติงานด้านยุทธการ ทำหน้าที่เป็นศูนย์ประสานงาน และเสริมการปฏิบัติงานให้กับศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงกลาโหม ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพไทย และศูนย์ปฏิบัติการของเหล่าทัพ อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายยังตั้งคำถามต่อกระทรวงกลาโหมว่า ผู้ที่มีสิทธิได้ใช้ ‘รถประจำตำแหน่ง’ กับ ‘รถหรูควบคุมสั่งการ’ เป็นคนเดียวกันหรือไม่ และรายชื่อนายทหารที่มีสิทธิได้ใช้รถทั้ง 2 แบบ มีมากขนาดไหน แต่จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่มีคำตอบใดๆ จากกระทรวงกลาโหม
โดย สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และผู้ที่ติดตามเรื่องนี้มาตั้งแต่แรก ออกมาระบุว่ามีความเป็นไปได้ที่ข้าราชการกระทรวงกลาโหมอาจมีสิทธิได้ใช้รถ ‘ประจำตำแหน่ง’ ในอัตราที่มากกว่าข้าราชการกระทรวงอื่นๆ ที่มีเพียงปลัดกระทรวงเท่านั้นที่ได้รับสิทธิ
สถานะปัจจุบัน: พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ผ่านวาระ 3 เรียบร้อย ด้วยคะแนน 258 ต่อ 180 เสียง แต่ก็ยังไม่มีคำชี้แจงใดๆ จากกระทรวงกลาโหมเรื่องจำนวนข้าราชการที่มีสิทธิได้ใช้รถทั้ง 2 แบบ
4. รถถังหุ้มเกราะยูเครน จำนวน 96 คัน
งบประมาณในการจัดซื้อ: 3,898 ล้านบาท
จากโครงการจัดซื้อ ‘รถถังหุ้มเกราะยูเครน’ เป็นจำนวนเงินเกือบ 4,000 ล้านบาท ซึ่งอนุมัติโดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2550 นำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อกองทัพ ไม่เพียงในประเด็นเรื่อง ‘ความโปร่งใสในการจัดซื้อ’ แต่ยังรวมถึงประเด็นเรื่อง ‘สมรรถนะ’ ของรถถังดังกล่าวด้วย
ในประเด็นแรก ประชาชนจำนวนหนึ่งมองว่า ในช่วงต้นที่กองทัพเปิดให้แต่ละบริษัทลงชื่อเพื่อเข้าร่วมโครงการคัดเลือกหาบริษัทรถถังที่กองทัพต้องการ ในตอนนั้นบริษัท เอนจีวี เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (NGV Enterprise) ของยูเครน ผู้ผลิตรถหุ้มเกราะรุ่น BTR-3E 1 หรือ ‘รถถังหุ้มเกราะยูเครน’ ไม่ได้เป็นหนึ่งในรายชื่อที่ลงทะเบียน ทว่าบริษัทดังกล่าวกลับได้ทำสัญญาซื้อขายกับกองทัพในที่สุด
ต่อมา พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้นออกมาชี้แจงเหตุผลว่า ในช่วงแรกที่เปิดให้ลงทะเบียนไม่ใช่ช่วงประกาศเชิญชวนเสนอราคา และยังไม่ได้เริ่มกระบวนการจัดหา แต่เป็นเพียง ‘การลงชื่อทั่วๆ ไป’ เท่านั้น และขณะนั้นเอง บริษัทของยูเครนก็ส่งจดหมายร้องเรียนมาถึงกองทัพพอดีว่าพวกเขาไม่ทราบเรื่องประกาศเชิญชวนให้เข้ามาลงทะเบียนเลย ดังนั้น หลังจากได้รับจดหมาย ทางกองทัพจึงเพิ่มชื่อบริษัท เอนจีวี เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด เข้าไปในรายชื่อ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันก็ยังไม่พบเอกสารร้องเรียนของบริษัทยูเครนที่กองทัพอ้างถึงเลย
นอกจากปัญหาข้างต้นแล้ว รถถังหุ้มเกราะยูเครนชุดนี้เป็นรุ่นปรับปรุงเพิ่มเติมจาก ‘รถถังหุ้มเกราะล้อยาง’ รุ่น BTR-70 ของประเทศรัสเซีย ซึ่งยุติการขายไปหลายปีแล้วเนื่องจากเกิดปัญหาเรื่องความปลอดภัยขณะทำการรบในแถบตะวันออกกลาง
สำหรับรถถังหุ้มเกราะรุ่นปรับปรุงนี้ก็มีปัญหาเช่นเดียวกัน คือยางของรถไม่สามารถทนต่อตะปูเรือใบและกระสุนปืนขนาด 7.62 มิลลิเมตรได้ ซึ่งในตอนต้น กองทัพระบุว่าจะนำรถถังหุ้มเกราะยูเครนจำนวนหนึ่งไปใช้ในปฏิบัติการในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประชาชนจำนวนหนึ่งจึงตั้งคำถามว่า หากอีกฝ่ายหนึ่งวางตะปูเรือใบเพื่อสกัดการโจมตีของเจ้าหน้าที่ แล้วเจ้าหน้าที่จะทำอย่างไรต่อไป
ประกอบกับผู้เชี่ยวชาญจำนวนหนึ่งยังระบุว่า รถถังรุ่นนี้เป็นรุ่นที่ผลิตมานานแล้ว และเกราะที่หุ้มก็บางกว่ารุ่นอื่นๆ ทำให้ความทนทานในการนำไปใช้ในสนามรบน้อย และจากสถิติพบว่า เจ้าหน้าที่เสียชีวิตจากการถูกโจมตีขณะอยู่ในรถถังหุ้มเกราะยูเครนนี้ค่อนข้างมาก
สถานะปัจจุบัน: ยังมีการใช้งานอยู่
5. เรือดำน้ำไม่มีเครื่องยนต์
งบประมาณในการจัดซื้อ: 1.35 หมื่นล้านบาท
กองทัพเรือจ่ายเงินเพื่อซื้อเรือดำน้ำลำแรกจากจีนเป็นเงิน 1.35 หมื่นล้านบาท ผ่านการผ่อนจ่ายรายปี และมีกำหนดการรับเรือดำน้ำนี้ในปี 2566 โดยในสัญญาระบุว่า ทางการจีนต้องนำเครื่องยนต์ MTU 396 ของเยอรมนีมาใส่ให้ อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ทางการจีนเปิดเผยว่าไม่สามารถนำเครื่องยนต์ของเยอรมนีมาใส่ให้ได้ เนื่องจากสนธิสัญญาการค้าระหว่างประเทศของสหภาพยุโรปห้ามส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์ไปให้จีน อันเป็นผลมาจากปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน
ต่อมา กองทัพเรือระบุว่าไม่ทราบเงื่อนไขที่ทางการจีนระบุมาก่อนเลย แม้กองทัพจะเคยได้รับงบประมาณกว่า 200 ล้านบาท เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดซื้อมาก่อนแล้ว ในตอนนี้หลายฝ่ายมองว่าอาจมีความเป็นไปได้ที่กองทัพเรือจะยอมใช้เครื่องยนต์ CHD 620 รุ่นปรับปรุงใหม่ของทางการจีนแทน MTU 396 ของเยอรมนี และหากเป็นเช่นนั้น ไทยจะเป็นประเทศแรกที่ใช้เครื่องยนต์ CHD 620 ของจีนเพื่อต่อเข้ากับเรือดำน้ำรุ่น Yuan Class S26T ที่แม้แต่ประเทศต้นทางการผลิตอย่างจีนก็ยังไม่เคยทำมาก่อน
สถานะปัจจุบัน: กำลังทดสอบประสิทธิภาพเครื่องยนต์ CHD 620 รุ่นปรับปรุงกับเรือดำน้ำรุ่น Yuan Class S26T
Tags: กองทัพไทย, เรือดำน้ำไม่มีเครื่อง, รถถังหุ้มเกราะยูเครน, เรือเหาะ, รถประจำตำแหน่ง, รถควบคุมสั่งการ, Feature, กระทรวงกลาโหม, GT200