“แม่น้ำของไม่ได้หมายถึงใครเป็นเจ้าของก็ได้ แม่น้ำของเลี้ยงชีวิตผู้คนนับล้าน หากวันหนึ่งแม่ผู้ให้ไม่อยู่แล้วลูกหลานจะทำมาหากินอย่างไร” เสียง ครูตี๋-นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวขึ้นท่ามกลางสายน้ำโขงที่กำลังไหลอย่างเชี่ยวกรากบริเวณแก่งผาได จังหวัดเชียงราย

ต้องยอมรับว่าสำหรับผมที่อยู่อาศัยในเมืองหลวง และคิดมาตลอดว่าเรื่องของแม่น้ำโขงหรือน้ำของ เป็นเรื่องที่ไกลตัวผู้คนในเมืองเหลือเกิน การเดินทางมาถึงอำเภอเชียงของครั้งนี้ย่อมไม่ต่างจากการทำความรู้จักแม่น้ำโขงอีกครั้ง แต่การเดินทางครั้งนี้ ทำให้ผมได้รู้จักแม่น้ำโขงมากกว่าเดิม ผ่านสายตาและคำบอกเล่าจากผู้คนที่ยังคงมีวิถีชีวิตริมฝั่งโขง รวมถึงรับฟังปัญหาที่น้ำโขงกำลังประสบพบเจอ

ใครจะรู้ว่าแม่น้ำโขงที่หลายคนคุ้นเคย ใต้สายน้ำที่ไหลจากต้นน้ำถึงปลายน้ำกลับซ่อนปมปัญหา ที่ส่งผลกระทบตั้งแต่คนริมน้ำถึงคนในเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

น้ำของมหานทีที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ

เวลาสาย พระอาทิตย์กำลังทำงานแข่งขันกับเวลา ผมเดินทางมาอยู่ที่โฮงเฮียนแม่น้ำของ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย พรมแดนระหว่างประเทศไทยกับลาว ที่มีสายน้ำของเป็นเส้นพรมแดนทางธรรมชาติ

ภาพของวิถีชีวิต 2 ฟากฝั่ง เรือติดธงลาว-ไทย กำลังเร่งกุลีกุจอขนของขึ้นเรือเพื่อไปส่งยังท่าตามเวลานัดหมาย และภาพของสายน้ำของที่ไหลไกลจนสุดสายตา 

แม่น้ำโขงมหานทีที่ไหลผ่าน 6 ประเทศ มีต้นกำเนิดสายน้ำจากประเทศจีนตอนใต้ในแถบทิเบต ผ่านเมียนมา ลาว ไทย กัมพูชา แล้วจึงไหลออกทะเลจีนใต้ที่ประเทศเวียดนาม แม่น้ำมีความยาวรวมกันมากกว่า 4.8 พันกิโลเมตร หล่อเลี้ยงผู้คนนับล้านชีวิตมาตลอดหลายพันปี 

ในเรื่องเล่าปรัมปรา บ้างก็ว่าแม่น้ำโขงหรือแม่น้ำของคือสายน้ำที่เกิดจาก ‘นาค’ ขยับตัวเลื้อยเคี้ยวคดไปมา บันดาลปลาและความอุดมสมบูรณ์ให้แก่อาณาบริเวณที่ผ่าน คงเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอีกนานในเรื่องความเชื่อดังกล่าว แต่หากนาคจะขยับตัวในช่วงทศวรรษนี้ เชื่อว่าคงไม่สามารถเดินทางจากต้นน้ำจนถึงปลายน้ำเป็นแน่ อาจต้องม้วนติดอยู่กับโครงการอภิมหาโปรเจกต์ที่ขวางกั้นในลำน้ำโขง แค่ในแม่น้ำสายหลัก มีเขื่อนขนาดใหญ่ที่ก่อสร้างแล้วมากกว่า 13 เขื่อน และในอนาคตมีการวางโครงการที่จะสร้างเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 9 เขื่อน

นิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือที่หลายคนเรียกว่า ‘ครูตี๋’ ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ และครูใหญ่ของบ้านโฮงเฮียนน้ำของเล่าให้ฟังว่า ในช่วงปี 2535 ประเทศจีนได้สร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงเป็นแห่งแรก ในขณะนั้น นิวัฒน์เพิ่งออกจากการเป็นครูประจำโรงเรียนแห่งหนึ่งในพื้นที่ห่างไกลบริเวณพรมแดนไทย-ลาว ได้เพียงปีเดียว เนื่องจากเขาเห็นการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขง เช่น ระดับการขึ้นและลงของน้ำที่ไม่เป็นปกติ จึงรู้สึกว่าจำเป็นต้องมีการดูแลและอนุรักษ์แม่น้ำโขง 

“ตอนนั้นยังไม่รู้หรอกว่าทางตอนบนเขาสร้างเขื่อน แต่เราก็ติดตามและตั้งคำถาม ถึงเริ่มรู้ว่ามีการก่อสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงตอนบน ซึ่งเป็นเขื่อนของประเทศจีน หลังจากนั้น พอมีการสร้างเขื่อนที่สอง ในปี 2546 เห็นชัดเลยว่าน้ำโขงขึ้นลงไม่ปกติแล้ว เพราะการไหลของน้ำควบคุมด้วยเขื่อนสองตัว”

สิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปของน้ำโขง คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้นิวัฒน์ผันตัวมาเป็นประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ และทำงานเพื่ออนุรักษ์และปกป้องแม่น้ำโขงอย่างแข็งขัน ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้เพื่อยกเลิกโครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงเพื่อสร้างทางเดินเรือพาณิชย์ ไปจนถึงคัดค้านการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรี และล่าสุดคือการเรียกร้องให้ยกเลิกโครงการก่อสร้างเขื่อนปากแบง ตั้งอยู่ในประเทศลาว ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงก่อสร้างในขณะนี้

“ที่เราคัดค้านเขื่อน ต้องเข้าใจก่อนว่าไม่ได้คัดค้านการพัฒนา ความเป็นสมัยใหม่ หรืออะไรต่างๆ แต่การมีอยู่ของเขื่อนไม่ใช่พลังงานสะอาดอีกต่อไปในยุคนี้ มันแลกมาด้วยสิ่งแวดล้อมที่ต้องสูญเสียไป สายน้ำที่ไหลไม่ปกติ ชาวบ้านต้องสูญเสียอาชีพ ปัจจุบันเห็นชัดอยู่แล้วว่าเกิดอะไรขึ้น ถ้ายังให้มีการสร้างเขื่อนอยู่อาจจะต้องถามกลับไปว่าใครได้ประโยชน์

“แม่น้ำของไม่ได้หมายถึงใครเป็นเจ้าของก็ได้ แม่น้ำของเลี้ยงชีวิตผู้คนนับล้าน หากวันหนึ่งแม่ผู้ให้ไม่อยู่แล้วลูกหลานจะทำมาหากินอย่างไร ความอุดมสมบูรณ์ที่แม่มอบให้พวกเรามาตลอด ทั้งอาหาร วิถีชีวิต ประเพณีวัฒนธรรม”

ความป่วยของสายน้ำ = ความเปลี่ยนแปลงที่ไม่ปกติ 

แม่น้ำโขงเป็นสายน้ำที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก เอกสารจากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) และคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ชี้ว่า ในแม่น้ำโขงมีพันธุ์ปลาน้ำจืดมากกว่า 1,100 ชนิดที่ค้นพบแล้ว ส่งผลให้เป็นน้ำโขงกลายเป็นแหล่งประมงน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่ มีปริมาณการจับปลาได้มากกว่า 2.6 ล้านตันต่อปี ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 25 ของปริมาณการจับปลาน้ำจืดทั่วโลก โดยเฉพาะน้ำโขงตอนล่าง (Lower Mekong Basin) ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ใน 4 ประเทศ คือ ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม จะพบว่าแม่น้ำโขงเป็นทั้งแหล่งน้ำ แหล่งโปรตีน แหล่งพันธุ์ปลา พันธุ์พืช และสัตว์น้ำหลากหลายสายพันธุ์ ซึ่งหล่อเลี้ยงผู้คนมากกว่า 60 ล้านคน มีมูลค่าการทำประมงต่อปีอยู่ที่ 2.3 แสนล้านบาทต่อปี

 ช่วงบ่ายคล้อยเย็น ผมเดินทางมาบริเวณผาได อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นบริเวณพื้นที่แรกและสุดท้าย ที่แม่น้ำโขงไหลผ่านมายังบรรจบกับประเทศไทยก่อนจะไหลเข้าประเทศลาวและวกกลับเข้ามาประเทศไทยอีกครั้งในแถบภาคอีสาน

ทอดสายตาเห็นแม่น้ำโขงสีน้ำตาลเข้ม ไหลแรงและกลบผืนดินบริเวณ ‘ผาได’ ทั้งหมด เดินลงไปบริเวณตลิ่งเลียบลำน้ำโขง เพื่อจะหาว่าสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อแห่งนี้ในครั้นอดีตเป็นเช่นไร

“ถ้ามาในช่วงปกติ ผาไดตรงนี้จะสวยมาก แต่ช่วงนี้น้ำแรงและเท้อเข้ามาในบริเวณนี้ทั้งหมด มองไม่เห็นผืนดิน”

น้ำเท้อ (Backwater Effect) คือน้ำที่ยกตัวสูงขึ้นกว่าระดับผิวน้ำปกติย้อนขึ้นไปทางด้านเหนือน้ำ เนื่องจากมีสิ่งกีดขวางลำน้ำ เช่น เขื่อน ฝาย หรือสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่

ความเปลี่ยนแปลงของสายน้ำของคือสิ่งที่นิวัฒน์เห็นและต่อสู้มาโดยตลอด และการเปลี่ยนที่สร้างความกังวลให้กับคนในพื้นที่ คือระดับในแม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลงไม่เป็นไปตามฤดูกาล ซึ่งส่งผลต่อระบบนิเวศทางธรรมชาติและวิถีชีวิตของคนริมฝั่งโขง

“มีผลกระทบที่เห็นได้ชัดเจนหลายอย่าง เพราะการสร้างเขื่อนทำให้น้ำในแม่น้ำโขงขึ้นลงไม่เป็นไปตามธรรมชาติ ฤดูน้ำหลากน้ำก็ไม่หลาก ฤดูแล้งก็ปล่อยน้ำมา การจัดการน้ำไม่เป็นตามฤดูกาล เป็นปัญหาส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ หากน้ำท่วมก็จะกระทบต่อพืชพรรณต่างๆ ที่ต้องจมอยู่ใต้น้ำ หรือในช่วงฤดูน้ำหลาก ปลาบางชนิดจะว่ายขึ้นไปวางไข่แต่ไม่สามารถไปได้เนื่องจากระดับน้ำต่ำ นอกจากนี้ การที่เกิดน้ำเท้อยังส่งผลทำให้ ‘ไก’ สาหร่ายสีเทาในน้ำโขงมีปริมาณมากเกินไปจนทำให้บางจุดเกิดน้ำเน่าเสียตามมา หรือถ้าน้ำแล้งมากๆ ไกที่เกาะอยู่ตามแก่งหินก็จะตายเพราะโดนแดดเผา ชาวบ้านที่เก็บไกขายก็ไม่สามารถทำอาชีพได้” ครูตี๋อธิบายตัวอย่างผลกระทบที่เกิดขึ้นจากระดับน้ำที่แปรเปลี่ยน

แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดดูเหมือนจะเป็นสีของน้ำโขงที่ใสขึ้นในทุกปี เนื่องจากตะกอนไม่สามารถไหลมาพร้อมกับสายน้ำ แต่ติดอยู่ระหว่างสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ขวางกั้นลำน้ำโขง 

ตะกอนในแม่น้ำมีส่วนสำคัญที่ทำให้แม่น้ำอุดมสมบูรณ์ ทำให้เกิดสิ่งมีชีวิต ภายในตะกอนเต็มไปด้วยแร่ธาตุ ซึ่งเป็นปุ๋ยชั้นดีให้กับพืชน้ำและกลายเป็นอาหารให้ปลาต่อไป นอกจากนี้เมื่อแม่น้ำไม่มีตะกอน จะเกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เรียกกันว่า ‘แม่น้ำหิวตะกอน’ ส่งผลต่อการกัดเซาะตลิ่งอย่างรุนแรงที่ด้านท้ายน้ำ ซึ่งอาจส่งผลกระทบยาวตลอดริมฝั่งโขงในบริเวณท้ายน้ำไปไกลกว่า 100 กิโลเมตร ซึ่งการหายไปของตะกอนในแม่น้ำเกิดจากตะกอนไม่สามารถไหลมาตามสายน้ำ แต่ถูกกักเก็บอยู่กับเขื่อน 11 ตอนบน

ครูตี๋ย้ำว่าสิ่งที่ต้องตระหนักคือเมื่อตะกอนหายไป แม่น้ำก็จะตาย ตายในที่นี้อาจจะไม่ใช่สายน้ำแห้ง แต่หมายถึงแม่น้ำของจะไม่หลงเหลือความอุดมสมบูรณ์อีก ดังนั้น ตะกอนคือเครื่องหมายที่สายน้ำกำลังบอกบอกพวกเราว่า ‘กำลังป่วย’ 

“ครูคิดว่าเป็นเรื่องของทั้งโลก ถ้าถามว่าแม่น้ำโขงมีวันหายไปไหม ถ้าสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ยังไม่ได้รับการแก้ไข สักวันหนึ่งแม่น้ำคงต้องเปลี่ยนไป สิ่งที่มีสัญญาณที่ทำให้เห็น คือธรรมชาติทุกส่วนที่เปลี่ยนแปลงไปเพราะ Climate Change หากแม่น้ำถูกทำลายไปสู่จุดจุดหนึ่ง แม่น้ำโขงจะแห้ง ซึ่งเราไม่อาจคาดคะเนได้ แต่สิ่งที่เรารู้คือแม่น้ำโขงกำลังจะป่วยตาย ปู ปลา กุ้ง ไม่มีแล้ว

“สิ่งที่น่ากลัวคือในขณะที่แม่น้ำโขงกำลังป่วยและเข้าสู่ความตายกลับไม่มีใครมาร่วมช่วยกันดูแล คิดแต่เพียงว่าทำอย่างไรถึงจะหาประโยชน์จากสายน้ำเพื่อตัวเอง เพื่อเม็ดเงินเท่านั้น”

เขื่อน – ค่าไฟ – อธิปไตยของชาติ

นับตั้งแต่ช่วงปี 2500 เป็นต้นมา รัฐบาล 4 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง ร่วมกันผลักดันและเสนอแผนสร้างเขื่อนและโครงการไฟฟ้าพลังน้ำอย่างน้อย 60 โครงการ บนแม่น้ำโขงสายหลักและแม่น้ำสายสาขาทั่วแม่น้ำโขง ในแผนดังกล่าว เขื่อนที่ตั้งอยู่ในแม่น้ำโขงสายหลักมี 11 แห่ง ผลิตไฟฟ้ารวมประมาณ 1.3 หมื่นเมกะวัตต์ (MW) แต่ที่มากที่สุดคือสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ที่นำเสนอนโยบายว่าจะกลายเป็น ‘แบตเตอรีของเอเชีย’ โดยมีโครงการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงในแม่น้ำสายหลัก 9 แห่ง ซึ่ง 7 เขื่อนจากทั้งหมดมีผู้พัฒนาโครงการเป็นบริษัทเอกชนของไทยและจีนร่วมด้วย ในปัจจุบันมี 2 เขื่อนที่ก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ได้แก่ เขื่อนไซยะบุรี เริ่มผลิตไฟฟ้าและขายให้ไทยในวันที่ 29 ตุลาคม 2562 และเขื่อนดอนสะโฮง ส่งไฟฟ้าขายให้กับกัมพูชา ส่วนเขื่อนที่กำลังอยู่ในการก่อสร้างและมีประเด็นข้อถกเถียงคือ เขื่อนปากแบง ห่างจากไทยเพียง 90 กิโลเมตร เขื่อนปากลายและเขื่อนหลวงพระบาง ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากเมืองมรดกโลก ทางด้าน UNESCO ได้ส่งหนังสืออย่างเป็นทางการให้ชะลอสัญญาการซื้อขายไฟฟ้า เนื่องจากเกรงว่าหากมีการก่อสร้างจะกระทบกับเมืองมรดกโลก

เพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการรณรงค์องค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า โครงการเขื่อนปากแบง เป็นเขื่อนที่มีความตั้งใจในการผลิตไฟฟ้าที่ส่งขายให้กับ กฟผ. ประเทศไทย ซึ่งการเกิดขึ้นของเขื่อนดังกล่าวจะสร้างปริมาณไฟฟ้าสำรองของประเทศที่ล้นระบบ และผู้ที่ได้รับผลกระทบคือคนไทยทุกคนที่จะต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพงขึ้น

“ปริมาณไฟฟ้าสำรองของประเทศไทยล้นระบบ การลงนามสัญญาซื้อไฟฟ้าเพิ่มอีกจากโครงการเขื่อนปากแบง จะกลายเป็นการผลักภาระของผู้บริโภคชาวไทยทุกคนที่จะต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพง ซึ่งหากอ้างอิงตามข้อเสนอของคณะกรรมการเขื่อนโลก หลักการหนึ่งที่สำคัญ คือการพิจารณาทางเลือกเพื่อสนองความต้องการไฟฟ้า (Comprehensive Options Assessment) ซึ่งต้องมีการพิจารณาทางเลือกต่างๆ ที่ดีที่สุด 

โดยเขื่อนเป็นเพียงทางเลือกหนึ่งในทางเลือกพลังงานที่มีจำนวนมาก แต่การผลักดันโครงการเขื่อนปากแบงกลับไม่ได้เป็นการขับเคลื่อนด้วยความต้องการไฟฟ้าของประเทศไทยแต่อย่างใด ในขณะที่ผู้ใช้ไฟฟ้าชาวไทยกำลังจะต้องเป็นผู้จ่ายราคานี้”

“เรื่องของค่าไฟที่แพงขึ้น แน่นอนว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้ เช่น ราคาผันผวน สงคราม แต่สิ่งที่เราคำนึงได้ คือความคุ้มค่าต่อสิ่งที่ทุกคนต้องจ่ายไป คุ้มค่าหรือไม่กับการจ่ายที่แพงขึ้น คุ้มค่าหรือไม่กับสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิต”

ต้องยอมรับว่ามาถึงตรงนี้ ในสมองของผมตีกันอยู่เนืองๆ เพราะเมื่อก่อนผมมักได้ยินคำกล่าวที่ว่า ‘มีเหลือดีกว่าขาด’ ไม่ว่าอะไรเอาไว้ก่อน ถ้าไม่ใช้ก็ไม่เป็นไร แน่นอนว่าคำกล่าวในลักษณะนี้ในเชิงพลังงานหลายคนก็เคยได้ยินเช่นกัน อาทิ ความมั่นคงทางพลังงานที่ต้องเตรียมรับมือกับความพร้อมกับการใช้ไฟฟ้าที่มากขึ้นทุกปี

แต่มาถึงตรงนี้ คำว่า ‘เหลือเผื่อขาด’ อาจใช้ไม่ได้เสมอไปในเรื่องของพลังงาน

เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้เปิดเผยเอกสาร ‘เหตุผลของความไม่จำเป็นของการซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลัก (2565)’ สรุปได้ดังนี้

เริ่มจากการวางแผนด้านพลังงานและการคาดการณ์ความต้องการไฟฟ้าสำรองของประเทศที่สูงเกินกว่า 15% หรือประมาณ 4.5 พันเมกะวัตต์ ซึ่งไฟฟ้าสำรองที่ล้นเกินนั้นอาจจะสูงถึง 40% ถือว่าเกินกว่าที่สำรองไปเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่การทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) 2010 เป็นต้นมา โดยเฉพาะในช่วงของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีการคาดการณ์พลังงานสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งอาจไม่ตรงกับความเป็นจริง การคาดการณ์ดังกล่าวนำมาสู่การเตรียมความพร้อมทางพลังงาน มีการจัดตั้งโรงไฟฟ้าใหม่ การรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศและเขื่อนขนาดใหญ่โดยไม่จำเป็น และไม่สอดคล้องกับความต้องการพลังงานที่แท้จริง

ต่อมาคือสัญญาการซื้อขายพลังงานแบบ ‘ไม่ใช้ก็ต้องจ่าย’ (Take or Pay) ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค ซึ่งการทำสัญญาแบบไม่ใช้ก็ต้องจ่ายนั้น เป็นการประกันผลตอบแทนให้กับผู้ลงทุนและผู้พัฒนาโครงการ ผ่านสัญญาระยะยาว 25-31 ปี แน่นอนว่าเมื่อเทียบสัดส่วนการใช้ไฟฟ้าของประเทศไทยในช่วงที่สูงที่สุด เช่น ในสถานการณ์โควิด-19 ที่หลายคนต่างอยู่บ้าน ทำให้มีการใช้ไฟฟ้ามากที่สุด เมื่อรวมแล้วพบว่า ปริมาณการใช้ไฟฟ้ายังไม่ถึงปริมาณที่จำเป็นต้องสำรองจ่าย

อย่างไรก็ตาม การออกแบบสัญญาเช่นนี้จึงทำให้ทุกคนที่ใช้ไฟฟ้าต้องร่วมกันจ่ายในราคาที่สูงกว่าเดิมนั่นเอง นอกจากนี้ เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ตั้งคำถามต่อโครงการดังกล่าวว่า สัญญาซื้อขายไฟฟ้าพลังงานจากเขื่อนลาว เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนทางพลังงานหรือไม่ เนื่องจากไม่ปรากฏว่ามีกระบวนการในการเสนอราคาเพื่อการแข่งขันลงทุนแต่อย่างใด

สุดท้ายคือเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ (Hydro Power) ขนาดใหญ่ เป็นพลังงานสะอาดจริงหรือไม่ ในเมื่อการก่อสร้างเขื่อน นอกจากผู้ลงทุนที่ต้องจ่ายยังมีต้นทุนแฝงหรือทุนที่มองไม่เห็น (Hidden Cost) อยู่ด้วย ต้นทุนดังกล่าวคือการสูญเสียทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในแม่น้ำโขงที่มีความหลากหลายด้านระบบนิเวศอาจจะสูญเสียไปอย่างไม่มีวันกลับมา นอกจากนี้ จากข้อมูลการสร้างเขื่อน 1 เขื่อนในประเทศเพื่อนบ้าน ต้องอพยพโยกย้ายผู้คนมากกว่า 6,900 ครอบครัว ต้องทิ้งถิ่นที่อยู่อาศัย ย้ายที่ทำกิน แน่อนว่านี่คือต้นทุนแฝงที่จำต้องสูญเสียไป

“แนวความคิดที่ว่าการไหลของน้ำสามารถให้พลังงานโดยใช้เขื่อนคงหมดไปแล้ว เรื่องพลังงานสามารถเปลี่ยนไปได้ เพราะมีพลังงานทางเลือกอื่นๆ อีกมากมาย เขื่อนไม่ใช่พลังงานที่บริสุทธิ์ที่สุด เนื่องจากได้ทำลายหลายสิ่ง เราคงต้องเปลี่ยนวิธีคิดรวมถึงการใช้พลังงานและการจัดการพลังงานที่ดีขึ้น

“ไม่เพียงแต่เรื่องค่าไฟที่แพงขึ้น ความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงยังนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงร่องน้ำและการไหลของสายน้ำ ทำให้เกิดปัญหาเรื่องเส้นเขตแดนขึ้นมาในบริเวณพรมแดนระหว่างประเทศ” ครูตี๋พาเดินไปชมแก่งผาได ซึ่งครั้งหนึ่งเป็นเกาะแก่งที่มีความสวยงาม แต่ปัจจุบันได้รับอิทธิพลจากน้ำที่สูงขึ้นจากการมีเขื่อน ทำให้จมหายไปทั้งหมด แน่นอนว่าการเปลี่ยนของสายน้ำทำให้ร่องน้ำลึกซึ่งเป็นเส้นแบ่งเขตพรมแดนไทย-ลาว เริ่มพร่ามัวลง ซึ่งจุดที่เห็นชัดที่สุดที่ครูตี๋บอกกับเรา คือบริเวณบ้านสบกก อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว

ในเช้าวันต่อมา ผมเดินทางมาถึงเกาะช้างตาย บริเวณปากแม่น้ำกก ซึ่งได้รับผลกระทบจากเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศและสายน้ำ โดยในอดีตเกาะแห่งนี้เป็นเขตแดนของประเทศไทยที่มีทางเดินที่เชื่อมถึงกัน เมื่อน้ำลด ชาวบ้านจะเดินข้ามไปยังเกาะเพื่อทำเกษตรปลูกใบยาสูบ หรือบางจุดสามารถเป็นที่ทำกิจกรรมสำหรับชุมนุม จนกระทั่งมีการเปลี่ยนของกระแสน้ำและน้ำเท้อทำให้เกาะช้างตายไม่ได้เชื่อมต่อกับแผ่นดินไทย และทำให้เกิดข้อพิพาทขึ้นในพื้นที่ว่า เกาะกลายเป็นของใคร ซึ่งไทยใช้เส้นแบ่งปันเขตแดนจากร่องน้ำธรรมชาติ ส่วนลาวอ้างว่าเกาะทุกแห่งที่เกิดขึ้นในแม่น้ำโขงเป็นของลาวตามสนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส ในยุคล่าอาณานิคม

อย่างไรก็ตาม เส้นเขตแดนอาจเป็นเพียงเส้นที่มองไม่เห็น แต่ส่งผลกระทบถึงชาวบ้านในพื้นที่ กำนันเรวัตร ชินะค่าย กล่าวว่า ตนได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านในพื้นที่ว่ามีคนจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อขับไล่เกษตรกรที่เคยปลูกใบยาสูบไว้บนเกาะแห่งนั้น ทั้งที่ยังไม่รู้ว่าเกาะช้างตายแบ่งอย่างไร จึงตั้งคำถามไปถึงหน่วยงานผู้รับผิดชอบ นอกจากนี้ปัญหาตะกอนใสของแม่น้ำทำให้เกิดการพังทลายของตลิ่งบริณโดยรอบ

ในขณะที่กำลังอยู่บนเกาะช้างตาย มีชาวบ้านจากประเทศเพื่อนบ้านกำลังนำหญ้าเซเปียมาส่งให้กับเกษรตกรชาวลาวผู้เลี้ยงสัตว์ในบริเวณเกาะช้างตาย บทสนทนาสั้นๆ ที่ผมพอจับได้ใจความคือ

“ผมมาส่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ได้ไม่นาน เห็นเขาขึ้นมาบนเกาะนี้ผมก็มาด้วย และสร้างกระท่อมหลบแดดฝนไว้เลี้ยงวัวกับแพะหลายตัว” เกษตรกรชาวลาวกล่าวพร้อมยกหญ้าเซเปียนออกจากเรือไปไว้บนพื้นแห้ง

ระหว่างเดินทางด้วยสายการบินกลับมายังเมืองหลวงประเทศไทย การค่อยมองๆ ทุกสิ่งจากบนฟ้าทำให้เห็นว่ามนุษย์และทุกสิ่งช่างเล็กนิดเดียวเมื่อเทียบกับสายน้ำโขงที่ทอดตัวยาวสุดไกล ทำให้ผมนึกถึงคำพูดของครูตี๋ที่ว่า

“แม่น้ำไม่ได้ไหลไปเฉยๆ การไหลไปของแม่น้ำแม้ศอกหนึ่งคืบหนึ่ง ให้ประโยชน์กับเราทั้งหมด น้ำที่ไหลมาช่วยรักษาระบบนิเวศและความชุ่มชื่น เรามีโลกใบเดียว เราไม่อยากให้บอกว่านี่ทรัพยากรของฉัน ของเธอ แต่ทั้งหมดเป็นของโลกและเป็นของผู้คนทั้งโลก ทุกคนต้องช่วยกัน เช่นกันกับแม่น้ำโขงที่เป็นของทุกคนทุกฝ่าย”

ดูเหมือนว่าเรื่องแม่น้ำของจะไม่ใช่ปัญหาไกลตัวอีกต่อไป เมื่อผู้บริโภคทุกคนคือคนที่ร่วมกันจ่ายค่าไฟที่สูงขึ้น ไม่เพียงแต่ชาวบ้านในพื้นที่ที่เป็นผู้รับเคราะห์ แต่คือประชากรไทยทุกคน

แม่น้ำของที่ผมรู้จักจากการเดินทางในครั้งนี้ คงไม่ได้เป็นแค่เพื่อนใหม่ที่ผมเคยนิยาม แต่สำหรับคนในพื้นที่ แม่น้ำของเป็นทั้งแม่ผู้ให้ทุกสิ่ง เป็นอาชีพ เป็นทุกอย่างของวิถีชีวิต การที่ผมได้รู้จักแม่น้ำของมากขึ้น ทำให้เข้าใจว่า แม่น้ำสายนี้เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ และไม่เคยเป็นของใคร….

Tags: , , , , ,