“การจดทะเบียนสมรสครั้งนี้จะเป็นโอกาสที่เราได้ช่วยเหลือเขา”
อัชฌาชัจจ์ ศรีประเสริฐ หญิงข้ามเพศ กล่าวประโยคนี้ด้วยน้ำเสียงที่หนักแน่น เมื่อถามถึงความสำคัญของการจดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2567 หรือกฎหมายสมรสเท่าเทียม ที่จะเปิดให้คู่รักไม่จำกัดเฉพาะเพศชาย-หญิง จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมายในวันที่ 23 มกราคม 2568 เป็นวันแรก
การเป็นคู่สมรสกันตามกฎหมาย นับเป็นจุดเริ่มต้นของการมีสถานะสามี-ภรรยา และเป็นประตูบานแรกที่จะนำไปสู่สิทธิต่างๆ จากการเป็นคู่สมรส ทั้งการจัดการทรัพย์สิน ได้รับประโยชน์สวัสดิการของรัฐในฐานะคู่สมรส และการได้ตัดสินใจร่วมกันในการทำธุรกรรมต่างๆ แต่สำหรับคู่รักเจ้าของร้านอาหารไทย-อิตาเลียนในจังหวัดเชียงใหม่และน่านอย่างอัชฌาชัจจ์ การจดทะเบียนสมรสครั้งนี้เป็นการเปิดโอกาสให้เธอสามารถช่วยเหลือสามีให้หายจากอาการป่วยได้
“สามีของเราป่วยเป็นโรคไต เขาลงทะเบียนเป็นผู้ป่วยที่รอรับการบริจาคไตไว้แล้ว แต่เรากลับไม่สามารถบริจาคไตของเราให้เขาได้ เพราะกฎหมายกำหนดให้ผู้บริจาคเป็นคนที่มีสายเลือดเดียวกันกับผู้ป่วยหรือเป็นคู่สมรส แต่สถานะของเราในกฎหมายตอนนี้เป็นได้แค่เพื่อนของเขาเท่านั้น”
The Momentum นำเสนอเรื่องราวความรักอันยิ่งใหญ่ของ อัชฌาชัจจ์และอรรถวัตน์ ทองชัยประสิทธิ์ คู่รักที่รอคอยการจดทะเบียนสมรสเท่าเทียม เพื่อเข้าสู่กระบวนการบริจาคไต ในฐานะคู่สมรส เพื่อให้อรรถวัตน์ได้เข้าสู่กระบวนการรักษาและกลับมามีสุขภาพแข็งแรงอีกครั้ง
ประมาณ 10 กว่าปีก่อนในช่วงที่ประเทศไทยยังไม่มีสิ่งที่เรียกว่า ‘สมรสเท่าเทียม’ เป็นช่วงเวลาที่อัชฌาชัจจ์จะต้องเดินทางไปทำงานยังประเทศจีน และได้รู้จักกับอรรถวัตน์ผ่านบุคลากรในที่ทำงานของตน
“เราไปทำงานอยู่ในเมืองซานย่า ประเทศจีน ตอนนั้นสามีของเราเดินทางมาเที่ยวกับผู้จัดการของทีมงานเรา เราไม่ค่อยรู้จักกับเขาเท่าไรหรอก และก็ไม่ได้คิดว่าอยากจะเป็นแฟนของเขาด้วยในตอนนั้น”
อัชณาชัจจ์เล่าต่อว่า คนรักของเธอนั้นเหมือนกับผู้ชายทั่วไปที่มีภรรยาเป็นผู้หญิง จนกระทั่งฝ่ายชายเลิกรากับภรรยา ทั้งคู่จึงมีโอกาสได้พูดคุยกันมากยิ่งขึ้น แต่ก็เป็นการพูดคุยแบบทางไกล เนื่องจากอรรถวัตน์ทำงานอยู่ที่ดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ขณะที่เธอทำงานอยู่ที่ประเทศจีน
“เรื่องที่เรามาคบกันได้ก็ถือว่าเป็นเรื่องเกินความคาดหมาย ตอนที่เราได้เริ่มคุยกันเขายังอยู่ที่ดูไบ หลังเลิกกับแฟนเขาอยากมีเพื่อนคุย คุยกันมากเข้าก็ถูกคอ แล้วเราสองคนก็ชอบอะไรเหมือนๆ กัน เขาเลยบินตรงจากดูไบมาที่จีนเพื่อมาเจอเรา” อัชฌาชัจจ์เล่าถึงช่วงเวลาที่ทั้ง 2 คนได้เจอกันมากยิ่งขึ้น จากนั้นจึงตกลงคบหากันช่วงปี 2557
เหมือนกับคู่รักปกติทั่วไป ความสัมพันธ์ระหว่างอัชฌาชัจจ์กับอรรถวัตน์ หลังจากคบกันช่วงแรกยังคงอยู่ในช่วงปรับตัวและเรียนรู้ ต้องใช้เวลาสักพักกว่าจะลงตัว แต่ก็ไม่ได้เป็นปัญหามากเท่ากับการที่ต้องเดินทางไปพบกันในประเทศที่ไม่เปิดรับความหลากหลายทางเพศ หลังจากที่อัชฌาชัจจ์เดินทางกลับมายังประเทศไทย เธอจำเป็นต้องเดินทางไปพบคู่รักโดยมีจุดนัดหมายคือประเทศจีน ซึ่งทำให้เธอเผชิญกับการถูกเลือกปฏิบัติ
“การไปหาอรรถวัตน์ที่จีนเราจะต้องขอวีซ่าเข้าประเทศเขา แต่เวลา LGBTQIA+ หรืออย่างเราที่เป็นหญิงข้ามเพศจะเข้าประเทศจีนโดยใช้วีซ่า เขาจะให้เราแค่ 1 สัปดาห์ แต่คนอื่นๆ เขาให้อยู่จีนได้ 1 เดือนเต็มๆ ก็ไม่ค่อยคุ้มเพราะเราซื้อตั๋วเดินทางข้ามประเทศ แต่กลับอยู่ได้แค่สัปดาห์เดียวก็ต้องเดินทางกลับมาที่ไทยแล้ว
“จริงๆ เรามารู้ทีหลังว่านี่เป็นการเลือกปฏิบัติกับคนข้ามเพศ เพราะรูปในพาสปอร์ตไม่ตรงกับตัวตนของเรา หรืออย่างในพาสปอร์ตระบุเป็นนาย แต่ร่างกายเป็นผู้หญิงผมยาว พอเป็นแบบนั้นเจ้าหน้าที่ก็อนุญาตให้เราอยู่ในประเทศเขาแค่ 7 วัน มันทำให้การจะไปหาคนรักของตัวเองในจีนกลายเป็นเรื่องที่บีบคั้นสำหรับเรามากๆ”
กลับกันหากอัชฌาชัจจ์และอรรถวัตน์เลือกจะเจอกันที่ดูไบ ซึ่งเป็นที่ทำงานของฝ่ายชาย ก็อาจทำให้ทั้งคู่เจอกับปัญหาที่ใหญ่กว่า เพราะกิจกรรมของคู่รักเพศเดียวกันเป็นสิ่งผิดกฎหมายและมีโทษรุนแรง ซึ่งปัจจุบันมีโทษถึงขั้นประหารชีวิต จึงเป็นอันตรายต่ออัชฌาชัจจ์ที่ยังไม่ได้รับการรับรองเพศตามอัตลักษณ์ที่เป็นหญิง
“เราก็อยากจะติดตามเขาไปในที่ที่มีเขาอยู่ จริงๆ ถ้าเราเป็นคู่สมรสกันตามกฎหมาย เราจะสามารถติดตามคู่สมรสของเราไปยังประเทศที่เขาทำงานได้ แต่เมื่อไม่ใช่คู่สมรสกัน เราจึงมีสถานะแค่เป็นเพื่อนเขา”
เพื่อจบสิ้นความยากลำบากที่จะได้อยู่ด้วยกันฉันสามี-ภรรยา ทั้งคู่ตัดสินใจเดินทางกลับประเทศ ลงหลักปักฐานในจังหวัดน่านด้วยการเปิดร้านอาหารไทย-อิตาเลียน ซึ่งเป็นความฝันร่วมกัน จนสามารถขยายสาขามาที่จังหวัดเชียงใหม่อีกสาขา เพื่อใช้เป็นต้นทุนสร้างความมั่นคงในการใช้ชีวิตคู่ อย่างไรก็ตามอัชฌาชัจจ์ยังไม่คิดถึงการแต่งงาน เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีการยอมรับความหลากหลายทางเพศในกฎหมาย
“เราไม่คิดไปถึงการแต่งงานเลย เพราะเราเติบโตมาในสังคมที่คู่รักต่างเพศเท่านั้นถึงจะแต่งงานกันได้ แต่คู่รักเพศเดียวกันทำแบบนั้นไม่ได้ ถึงแม้ตอนนั้นประเทศไทยจะมีขบวนการเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศแล้ว แต่เรายังคงชินกับสังคมแบบเก่าที่เราโตมา” อัชฌาชัจจ์อธิบาย
“ตอนที่เราเริ่มคิดถึงการยอมรับความสัมพันธ์ระหว่างเรากับคู่รักในกฎหมายคือ ตอนที่แฟนของเราป่วยเป็นโรคไต ต้องมีการฟอกและปลูกถ่ายไต เลยมีการขึ้นทะเบียนเป็นคนไข้ที่ขอรับการบริจาคอวัยวะแล้ว ตอนนั้นเราอยากเอาไตของเราให้เขา เลยไปเช็กกรุ๊ปเลือด ตรวจร่างกายผลออกมาว่า สามารถบริจาคให้เขาได้ แต่มันดันติดที่กฎหมายของไทย”
ตามข้อบังคับของแพทยสภา คุณสมบัติของผู้บริจาคไตที่มีชีวิตจะต้องเป็นญาติโดยสายเลือดหรือคู่สมรสตามกฎหมาย ในขณะที่อัชฌาชัจจ์และคู่รักไม่ใช่คู่สมรสกันในทางกฎหมาย เธอจึงทำได้เพียงนั่งดูคนรักโดยไม่สามารถช่วยเหลือใดๆ ได้เลย
“เราทำได้แค่นั่งจับมือเขา ลุ้น และร้องไห้ ไม่มีอะไรที่เราสามารถทำให้เขาได้มากกว่านี้แล้ว เราไม่ว่าอะไรถ้าตัวเองจะเหลือไตอยู่ข้างเดียวเพื่อช่วยเขา แต่ตอนนั้นเราทำอะไรไม่ได้เลยจริงๆ ทั้งๆ ที่เราเป็นคนเดียวในตอนนั้นที่อยู่ข้างกายเขา ที่สำคัญหากเกิดอะไรขึ้นเราก็ทำอะไรไม่ได้ จะเซ็นยินยอมการรักษาให้เขาก็ทำไม่ได้ เพราะเราไม่ใช่ญาติ”
หญิงข้ามเพศที่ใช้ชีวิตกับคู่รักมาร่วม 10 ปี ระบุว่า การมองเห็นคนรักเจ็บป่วยขณะที่เธอไม่สามารถทำอะไรได้ เป็นแรงผลักดันให้เธอลุกขึ้นผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียม แต่ละครั้งที่มีการล่ารายชื่อเพื่อสนับสนุนกฎหมายดังกล่าว เธอจะเข้าไปร่วมลงชื่อด้วยความหวังว่า เมื่อกฎหมายผ่านจะทำให้เธอกลายเป็นคู่สมรสตามกฎหมาย เปิดโอกาสให้เธอได้บริจาคไตแก่คู่รัก ชุบชีวิตที่เคยปกติของทั้ง 2 คนให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง
กระทั่งเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567 ราชกิจจานุเบกษาประกาศให้ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือกฎหมายสมรสเท่าเทียม กำหนดให้มีการบังคับใช้หลังจาก 120 วัน นับตั้งแต่วันที่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยกำหนดให้รับรองการจดทะเบียนสมรสทุกเพศไม่เฉพาะชาย-หญิง วันนั้นจึงเป็นช่วงเวลาที่ทำให้อัชฌาชัจจ์มีความหวังที่จะได้มอบส่วนหนึ่งของร่างกายช่วยคนรักของเธอ
“เรารอทุกวัน นับวันรอกฎหมาย วันแรกที่ประกาศ ตีระฆังผ่านวาระ 3 เราน้ำตาไหลเลย มันอีกแค่ 120 วัน เราก็นับวันรอเลย เพราะนับจากวันที่เราคบกันกับเขาที่จีน มันก็ครบรอบ 10 ปีพอดี”
ในวันพรุ่งนี้ถือเป็นจุดสิ้นสุดการรอคอย ซึ่งอัชฌาชัจจ์และอรรถวัตน์จะเดินทางไปยังที่ว่าการอำเภอในจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อจดทะเบียนสมรสอย่างถูกกฎหมาย เธอบอกเล่าภาพในหัวถึงการไปจดทะเบียนในวันพรุ่งนี้ว่า ไม่ได้มีพิธีการหรือการเฉลิมฉลองอะไรใหญ่โต เป็นแค่การขับรถไปกับคู่ชีวิตของเธอแบบเรียบง่าย จดทะเบียน และกลับมาใช้ชีวิตอย่างคู่รักทั่วไป
“เราจะไปจดทะเบียนกันและกลับมาทำงาน การฉลองใหญ่ๆ เรามาว่ากันช่วงกลางๆ ปี ส่วนตัวเราอยากสวมชุดเจ้าสาว
“หลังจากนั้นเราจะต้องรอไปอีก 3 ปี หลังจากจดทะเบียนตามกฎหมายถึงจะบริจาคไตได้ พอครบแล้วเราจะขอใช้สิทธิในการบริจาคไต เป็นเหตุผลว่าทำไมต้องรีบมาจดทะเบียนกันตั้งแต่วันแรก เพราะเราไม่อยากให้การช่วยชีวิตเขาเสียเสียเวลาไปแม้แต่วินาทีเดียว ในตอนนี้แค่หวังว่าร้านอาหารที่เป็นกิจการของเราทั้ง 2 คนจะมั่นคง เพราะหลังจากการปลูกถ่าย จะต้องให้สามีพักฟื้นไปอีก 1 ปี”
การเดินทางของคู่สมรสตามกฎหมายของทั้งคู่กำลังจะเริ่มต้นขึ้นในวันพรุ่งนี้ ขณะเดียวกันวันพรุ่งนี้ยังเป็นจุดเริ่มต้น ที่อัชฌาชัจจ์จะได้ทำในสิ่งที่เธอรอคอยมาอย่างยาวนาน นั่นคือ การรักษาสามี
“ไม่ว่าคุณจะรออะไรอยู่ อย่าหยุดที่จะรอนะ จงมีความหวังว่าสิ่งที่เรารอมันจะเกิดขึ้นได้จริงๆ ความใฝ่ฝันเรามีได้โดยไม่ต้องใช้เงินซื้อ อย่าละทิ้งสิ่งที่ฝัน” อัชฌาชัจจ์ทิ้งท้าย
Fact Box
- ปัจจุบัน อัชฌาชัจจ์และอรรถวัตน์ดำเนินกิจการร้านอาหารไทย-อิตาเลียนในจังหวัดน่านและเชียงใหม่ ชื่อ Gin Restaurant
- สำหรับคู่รักที่ต้องการจดทะเบียนสมรสในวันที่ 23 มกราคม 2568 สามารถเดินทางไปจดทะเบียนสมรสได้ที่สำนักทะเบียนอำเภอ สำนักทะเบียนเขต และสถานทูตหรือกงสุลไทยในต่างประเทศทุกแห่ง