ในขณะที่เขียนบทความนี้ หลายคนอาจได้เห็นแล้วว่า ภาพยนตร์เรื่องวิมานหนาม ผลงานของ นฤเบศ กูโน ทำรายได้ทะลุ 100 ล้านบาทเป็นที่เรียบร้อย กลายเป็นความปลาบปลื้มของคอหนังชาวไทยที่มีหนังไทยน้ำดีปรากฏในวงการ จนทำให้คนแห่ตีตั๋วไปดูกันเป็นจำนวนมาก
ทว่าในขณะเดียวกันหลายคนคงทราบกันแล้วว่า จังหวัดแม่ฮ่องสอนอันเป็นต้นเรื่องนั้น กลับไม่มีโรงหนัง ท่ามกลางการพูดถึงความเหลื่อมล้ำของแม่ฮ่องสอนที่ไม่ทัดเทียมกับจังหวัดอื่นๆ ทำให้เกิดความสงสัยใคร่รู้ว่า เหตุผลที่แม่ฮ่องสอนไม่มีโรงหนังคืออะไรกันแน่
The Momentum ได้พูดคุยกับ เนย-บุศรินทร์ เขียวไพรี นักผังเมือง ผู้เคยศึกษาผังเมืองจังหวัดแม่ฮ่องสอน และปัจจุบันเป็นเจ้าของบริษัท เมืองมงคล จำกัด ถึงเหตุผลในเชิงผังเมือง อันเนื่องมาจากลักษณะภูมิประเทศ ประชากรศาสตร์ เศรษฐกิจ รวมถึงกฎหมาย และนโยบาย ในการกำหนดพื้นที่กิจกรรมของแม่ฮ่องสอน พร้อมฟังเสียงสะท้อนของ คลัง-พิชญุตม์ คำมาปัน หนึ่งในคนแม่ฮ่องสอนที่รักการดูหนัง แต่กลับเติบโตมาโดยปราศจากโรงภาพยนตร์ในบ้านเกิด
สำหรับเหตุผลแรกที่โรงหนังไม่ไปตั้งในแม่ฮ่องสอนนั้น คือเรื่องของอุปสงค์-อุปทาน (Demand-Supply) หรือความต้องการซื้อต้องสัมพันธ์กับความต้องการขาย ตามที่หลายคนคาดการณ์ แต่สิ่งที่น่าชวนคิดต่อคือ ทำไมแม่ฮ่องสอนมีอุปสงค์ต่ำ ไม่เหมือนกับจังหวัดอื่นๆ ในพื้นที่ข้างเคียง ซึ่งคำตอบอยู่ในลักษณะทางกายภาพของแม่ฮ่องสอน ที่มีภูมิประเทศเป็นทิวเขาสลับซับซ้อน และพื้นที่จังหวัดกว่า 85% เป็นพื้นที่ป่าไม้ (ข้อมูลปี 2563) ทำให้มีพื้นที่เมืองน้อย หากมองภาพรวมทั้งจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่าไม้และเขตป่าสงวน จึงมีพันธกิจต้องอนุรักษ์ผืนป่าเอาไว้
บุศรินทร์ให้ข้อมูลว่า กฎหมายผังเมืองสำหรับพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ไม่มีข้อห้ามการตั้งโรงมหรสพ หรือโรงภาพยนตร์ แต่การวางผังเมืองจะต้องสอดคล้องกับการใช้ประโยชน์ที่ดินในปัจจุบัน และต้องคำนึงถึงเรื่องประชากรศาสตร์ ความหนาแน่นของประชากร รวมถึงกรรมสิทธิ์ในการถือครองที่ดิน และด้วยลักษณะภูมิประเทศที่ไม่เอื้อให้เกิดการรวมกลุ่มคนเช่นนี้ จึงทำให้แม่ฮ่องสอนมีประชากรอยู่อาศัยน้อย อีกทั้งยังเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลายกลุ่ม ส่งผลให้เศรษฐกิจไม่ขยายตัว กำลังซื้อของคนในจังหวัดจึงต่ำกว่าจังหวัดอื่น
“สำหรับแม่ฮ่องสอนมีความหนาแน่นของประชากรเพียง 22 คนต่อตารางกิโลเมตร แต่ละอำเภอถูกแบ่งตามแนวภูเขา ตัวเมืองจริงๆ จึงกระจุกอยู่แค่ร่องเขาเท่านั้น” บุศรินทร์เล่า
หากคนแม่ฮ่องสอนต้องการเดินทางไปชมภาพยนตร์ โรงที่ใกล้ที่สุดอยู่ในอำเภอเมืองเชียงใหม่ และอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ และจากอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอนไปสู่อำเภอเมืองเชียงใหม่ต้องใช้เวลาเดินทางมากถึง 6 ชั่วโมง ซึ่งเหตุที่ต้องวัดเป็นระยะเวลาเพราะสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขา และระยะทางไม่ใช่ตัวกำหนดว่าคนจะเข้าถึงได้หรือไม่
บุศรินทร์กล่าวต่อว่า “โรงภาพยนตร์ไม่ใช่ปัจจัยพื้นฐานที่รัฐต้องมอบให้กับประชาชน ต่างจากสาธารณูปโภคอื่น เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล แต่โรงภาพยนตร์เป็นธุรกิจในภาคเอกชน ที่หากใช้หลักการเดียวกันในเลือกสถานที่ตั้งก็จะวิเคราะห์จากจุดที่มีประชากรกระจุกตัวอยู่ กับระยะในการเข้าถึง ซึ่งอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอนมีประชากรกระจุกตัวอยู่มากที่สุด แต่ห่างจากโรงภาพยนตร์ที่ใกล้ที่สุดคือในจังหวัดเชียงใหม่ถึง 6 ชั่วโมง ส่วนอำเภอปายห่างจากโรงภาพยนตร์ในเชียงใหม่ประมาณ 3 ชั่วโมง และอำเภอแม่สะเรียง ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของแม่ฮ่องสอน ห่างจากโรงภาพยนตร์ในอำเภอจอมทอง 3 ชั่วโมง
“อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอนจึงใช้ระยะเวลาเดินทางยาวนานที่สุดหากจะเดินทางไปดูหนัง แม้จะมีจำนวนการเกาะกลุ่มของประชากรมากกว่าอำเภออื่น ดังนั้นหากต้องเลือกอำเภอที่เหมาะสมกับการมีโรงหนังในอนาคต อาจเป็นอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน” บุศรินทร์กล่าว
แม้ทุกวันนี้โรงภาพยนตร์มีสำคัญน้อยลง เพราะคนมีอินเทอร์เน็ตหรือชมภาพยนตร์ผ่านสตรีมมิงได้ แต่สำหรับยุคของพิชญุตม์ คนแม่ฮ่องสอนผู้รักการดูหนังเล่าว่า ช่วงปี 2553-2558 หรือสัก 10 ปีที่แล้ว เป็นช่วงที่เขาเรียนมัธยม ต้องรอจนกว่าภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ จะออกจากโรงแล้วถูกจำหน่ายในรูปแบบแผ่นซีดี (CD) หรือ ดีวีดี (DVD) ถึงจะได้ดูภาพยนตร์เรื่องนั้น
“เท่าที่จำความได้ ตอนเราอายุประมาณ 4-5 ขวบ พ่อเคยพาไปดูหนังที่โรงหนังเล็กๆ ในอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน เป็นโรงหนังที่เปิดให้บริการในบ้าน แต่จำไม่ได้แล้วว่าปิดกิจการไปเพราะอะไร พอถึงช่วงมัธยม เป็นยุคที่พวกเนตฟลิกยังไม่บูม เราต้องรอจนกว่าหนังมันจะออกจากโรง จนมีซีดี แล้วเราจะไปร้านเช่าซีดี เช่ามาดูที่บ้านเพื่อน” พิชญุตม์เล่า
แม้พิชญุตม์จะเคยเดินทางไกลถึง 6 ชั่วโมง ไปยังจังหวัดเชียงใหม่ แต่ครั้งแรกจริงๆ ที่เขาได้ชมภาพยนตร์คือโรงในกรุงเทพฯ ด้วยความรู้สึกตื่นเต้น
“ตอนนั้นอยู่ ม.4 เป็นช่วงปิดเทอม เรามากรุงเทพฯ แล้วมีพี่สาวทำงานในห้าง เราก็ใช้เวลาระหว่างรอพี่สาวทำงานไปดูหนังในโรง จำชื่อเรื่องไม่ได้แล้ว แต่จำได้ว่าตื่นเต้นมาก หาที่นั่งไม่เจอ เพราะเราไม่เคยเข้าโรงหนัง ก็เลยไปถามคนในโรง บอกเขาว่าช่วยดูให้หน่อย เราสายตาสั้น เขาก็ช่วย” พิชญุตม์กล่าว
อีกวัฒนธรรมหนึ่งของวัยรุ่นแม่ฮ่องสอนคือการไปเรียนกวดวิชาที่เชียงใหม่ช่วงปิดเทอม เพราะแม่ฮ่องสอนไม่มีสถาบันกวดวิชาใหญ่ๆ
“เราจะอยากไปเรียนกวดวิชามาก เพราะเหมือนได้ไปใช้ชีวิตจริงๆ ในที่ที่มันเจริญ เวลาโรงเรียนพาไปแข่งขันวิชาการต่างจังหวัด กิจกรรมแรกที่เด็กแม่ฮ่องสอนจะทำก็คือไปดูหนังกัน แต่ในช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์ เราจะไปเรียนพิเศษกับครูในโรงเรียน ครูจะเปิดบ้านเป็นสถานที่สอนพิเศษ พอเรียนเสร็จเราก็จะไปนั่งร้านนมปั่น ซึ่งมีให้เลือกหลายร้านมาก ส่วนความบันเทิงหาได้จากการเช่าซีดีไปดูบ้านเพื่อน คือวิธีสังสรรค์ของวัยรุ่นในแม่ฮ่องสอน” พิชญุตม์กล่าว
ชีวิตวัยรุ่นในจังหวัดอาจใช้เวลาไปกับการดูหนัง หรือเดินห้าง แต่สำหรับเด็กแม่ฮ่องสอนมีห้างสรรพสินค้าที่ใหญ่ที่สุด ชื่อว่า กาดคำพลาซ่า แต่ก็ยังเป็นห้างขนาดเล็กหากเทียบกับจังหวัดอื่น
อีกประเด็นที่น่าสนใจคือการมีข้อถกเถียงกันเสมอบนโลกอินเทอร์เน็ตว่า ‘จังหวัดไหนมีห้าง หมายถึงจังหวัดนั้นเจริญ’ คำกล่าวนี้เป็นเรื่องจริงหรือไม่ หากคิดในมุมมองนักผังเมือง บุศรินทร์ตอบว่าไม่ได้เชื่อเช่นนั้น
“คำกล่าวนี้มันก็ถูก แต่เราไม่ได้เชื่อว่ามีห้างแล้วจังหวัดนั้นจะเจริญขึ้น เพราะจังหวัดที่มีห้างไปลงหมายความว่าจังหวัดนั้นมีทุนทางเศรษฐกิจอยู่แล้ว ทั้งในแง่โครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคม และจำนวนประชากร ห้างเป็นเหมือนเหรียญทองมาคล้องเฉยๆ ว่าจังหวัดนั้นมีความเจริญ หรือมีทุนรอนมาแต่เดิมอยู่แล้ว นักลงทุนจึงเข้าไปลงทุนสร้างห้างในพื้นที่” บุศรินทร์กล่าว
ในขณะที่พิชญุตม์เองให้ความเห็นว่า หากมีโรงหนังในแม่ฮ่องสอน อาจเป็นสิ่งที่คนแม่ฮ่องสอนเข้าไม่ถึงอยู่ดี เพราะเรื่องรายได้ เช่นเดียวกับกรณีร้านฟาสต์ฟู้ดที่เคยมาเปิดในแม่ฮ่องสอน แล้วต้องปิดตัวลงในที่สุด
“คิดว่าอาจจะเป็นสิ่งที่คนแม่ฮ่องสอนเอื้อมถึงยากเหมือนกันนะ ถ้าพูดตามตรง เพราะถ้าสมมติมันมีโรงหนังจริงๆ มันอาจจะอยู่ได้ไม่นาน ด้วยกำลังซื้อของคนแม่ฮ่องสอนที่อาจยังไม่พร้อมในการใช้จ่ายกับเรื่องแบบนี้ หรือด้วยเรื่องค่าแรง มันอาจจะอยู่ไม่ได้ แล้วก็จะปิดไปเอง” พิชญุตม์กล่าว
แล้วจะทำอย่างไรให้เมืองเติบโต หรือเจริญมากขึ้น เพื่อให้คนแม่ฮ่องสอนไม่ต้องย้ายออกไป และมีคนเข้ามาลงทุนโดยไม่ต้องกลัวเจ๊ง บุศรินทร์ได้ตอบว่า ผังเมืองก็เป็นตัวชี้นำการพัฒนา แต่อีกแง่หนึ่งการวางผังเมืองต้องดูทิศทางการพัฒนา หรือนโยบายของภาครัฐเองต้องส่งเสริมการพัฒนาในพื้นที่
“เมืองจะเติบโตได้เริ่มมจากนโยบายของรัฐ พอมีนโยบาย ถัดมาจะเป็นการนำโครงสร้างขั้นพื้นฐานใส่ลงไปในพื้นฐาน อย่างเช่น สถาบันการศึกษา ศูนย์ราชการ เพื่อให้มีคนเข้ามาอยู่ในพื้นที่ เกิดการจับจ่ายหมุนเวียน เมืองมันจะโตเร็วขึ้น แต่ทั้งนี้มันต้องคุ้มค่าต่อการลงทุน และความเหมาะสมของการใช้พื้นที่ด้วย เพราะบางพื้นที่ก็มีความเสี่ยงสูง และมีข้อจำกัดทางการพัฒนา
“เรื่องโรงหนังเป็นเพียงปัจจัยเล็กๆ ไม่มีโรงหนังอาจไม่ได้กระทบต่อชีวิตมากนัก แต่เมื่อไรก็ตามที่ไม่มีทั้งโรงหนัง โรงแรม ไม่มีห้าง ย่านการค้า หรือกระทั่งตลาด มันจะกระทบในทุกมิติของชีวิต เพราะกิจกรรมเหล่านี้คือการแลกเปลี่ยนเงินตรา เมื่อไม่มีการหมุนเวียนของเงิน นั่นเท่ากับว่าจะไม่มีการจ้างงานด้วย” บุศรินทร์กล่าวต่อ
อย่างไรก็ตามวันนี้ภาพยนตร์วิมานหนาม ทำหน้าที่นำเสนอแม่ฮ่องสอน ในมุมอื่นๆ นอกเหนือจากการท่องเที่ยวธรรมชาติอันสวยงาม พิชญุตม์จึงหวังว่า การที่คนทั้งประเทศได้ดูหนังเรื่องนี้ จะทำให้พวกเขาหันมาสนใจและมองเห็นปัญหาของจังหวัดแห่งนี้บ้าง
“จังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดที่ไกล มันไม่ใช่ไกลความเจริญนะ แต่คือไกลความสนใจ เรื่องราวของวิมานหนามอยู่ในแม่ฮ่องสอน ถ่ายที่โรงพยาบาล ถ่ายที่ศาล ถ่ายที่อำเภอ ตัวเราเองในมุมของคนแม่ฮ่องสอนที่ได้ดูเรื่องนี้ เห็นแล้วก็รู้สึกดีใจ เพราะมันคือบ้านเรา เราเคยไปตรงนี้ เราคุ้นชินกับสถานที่เหล่านี้ แต่อีกแง่หนึ่งมันไม่มีฉายในจังหวัดแม่ฮ่องสอนเลย คนแม่ฮ่องสอนต้องนั่งรถ 6 ชั่วโมงเพื่อไปโรงหนังที่เชียงใหม่ มันก็เป็นอะไรที่ตลกร้ายเหมือนกัน” พิชยุตม์กล่าว
ในขณะที่นักผังเมืองมองว่า เรื่องแม่ฮ่องสอนไม่มีโรงหนังเป็นเพียงประเด็นเล็กๆ ที่ทำให้คนได้ย้อนกลับไปมองถึงโครงสร้างขั้นพื้นฐานอื่นๆ สะท้อนเรื่องการกระจายอำนาจที่ไม่สมดุล
“เรื่องนี้มันทำให้เราย้อนกลับมามองว่ามันไม่ใช่แค่เรื่องโรงหนัง แต่มันคือเรื่องของการกระจายการพัฒนา ที่คนยังเข้าไม่ถึงโครงสร้างพื้นฐาน” นักผังเมืองทิ้งท้าย
Tags: โรงหนัง, แม่ฮ่องสอน, วิมานหนาม, Feature, ผังเมือง