“วันเพ็ญเดือนสิบสอง น้ำนองเต็มตลิ่ง เราทั้งหลายชายหญิง สนุกกันจริง วันลอยกระทง”

ตั้งแต่เล็กๆ เชื่อว่าคนไทยหลายคนเติบโตมากับชุดความรู้ที่ว่า ‘วันลอยกระทงเท่ากับวันขอขมาพระแม่คงคา’ ในปีหนึ่งเราทิ้งขยะลงน้ำ เราใช้น้ำในการอุปโภคบริโภคมากมาย ซึ่งอาจทำให้เจ้าแม่รู้สึกเสียใจหรือถูกทำร้ายในทางใดทางหนึ่ง ฉะนั้น วันนี้ของทุกปีเราจึงนำกระทงปักธูปจุดเทียนลอยไปในแม่น้ำเพื่อขอบคุณและขอขมาท่าน

แต่นั่นคือความหมายจริงๆ ของการลอยกระทงอย่างนั้นหรือ? เราอยู่ตั้งไกลจากแม่น้ำคงคา ทำไมเราถึงยังคิดถึงแม่น้ำที่เป็นหัวใจของอินเดียกันนะ

‘คงคา’ แม่แห่งสายน้ำทั้งหลาย

‘คงคา’ ชื่อที่คุ้นหูคนทั้งโลกในฐานะมหานทีแห่งชีวิตและศรัทธาของชาวอินเดีย และผู้ที่นับถือศาสนาฮินดูทั่วทุกมุมโลก แม่น้ำคงคาเป็นแม่น้ำสายหลักในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่เรียกว่า ที่ราบลุ่มอินโด-คงคา (Indo-Gangetic Plain) กินเนื้อที่ตั้งแต่ตะวันออกของประเทศปากีสถานปัจจุบัน เรื่อยไปถึงประเทศบังคลาเทศและตอนใต้ของประเทศเนปาล ในทางโบราณคดีมีการขุดค้นพบการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในพื้นที่แห่งนี้ตั้งแต่เมื่อราว 6 แสนปีมาแล้ว ในบริเวณแม่น้ำนรรมทา รัฐมัธยประเทศ ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของที่ราบลุ่มอินโด-คงคา 

การตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในพื้นที่แถบนี้ยังคงดำเนินต่อมาเรื่อยๆ ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ จนเข้าสู่ยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ แม่น้ำคงคาก็ยังคงเป็นหัวใจของอาณาจักร จักรวรรดิ แว่นแคว้นต่างๆ มาโดยตลอด เช่น ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชผู้ยิ่งใหญ่ได้ตั้งเมืองหลวงของทางเลาะไปตามชายตลิ่งของแม่น้ำสายนี้ กระโดดข้ามมาในยุคปัจจุบัน แม่น้ำคงคายังคงหล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนทั่วทั้งเอเชียใต้กว่าร้อยล้านชีวิตในทุกวัน จึงไม่น่าแปลกใจที่แม่น้ำคงคาจะมีอีกสถานะที่สูงส่งในฐานะ ‘เทวี’

นทีสตุติสุคตะ (Nadistuti Sukta) ในคัมภีร์ฤคเวทกล่าวถึงแม่น้ำสำคัญต่างๆ ในเขตวัฒนธรรมพระเวท ซึ่งแม่น้ำคงคาถูกระบุว่า ไหลจากตะวันตกไปตะวันออก ต่อมาในมหากาพย์รามายณะและมหาภารตะก็กล่าวถึงมหานทีคงคาว่า เป็นมหานทีที่ไหลมาจากหิมาลัย นอกจากนั้น ในรามายณะยังปรากฏร่องรอยบุคลาธิษฐานของแม่น้ำคงคา ให้กลายเป็นน้องสาวของพระแม่อุมา เช่นเดียวกันในมหาภารตะระบุว่า พระนางปรากฏพระองค์ในร่างกายมนุษย์เพื่อรับสถานะแม่ของภีษมะ ปู่ของเหล่าเการพและปาณฑพ 

ในด้านศิลปกรรมเราพบว่า พระนางมีรูปแบบทางประติมานวิทยาชัดเจนในช่วงสมัยคุปตะ (พุทธศตวรรษที่ 9) ซึ่งตรงกับการแตกตัวอย่างมากของเทวตำนานอินเดียในกลุ่มคัมภีร์ปุราณะ พระนางได้รับการอธิบายว่า ทรงเป็นพี่สาวของพระเทวียมุนา มีสี่กร ทรงหม้อน้ำในพระหัตถ์ มีมกร (สัตว์ผสมชนิดหนึ่งมีหัวเป็นช้างตัวเป็นจระเข้) เป็นพาหนะ พระนางลงมายังโลกมนุษย์ด้วยคำวิงวอนของภคีรถ เพื่อชำระล้างและรับดวงวิญญาณบรรพชนของตนขึ้นสู่สรวงสวรรค์ การลงมายังโลกมนุษย์ในครั้งนั้นพระนางได้ไหลผ่านมวยผมของพระศิวะ

ด้วยเหตุนี้คนอินเดียโดยทั่วไปจึงเชื่อว่าแม่น้ำคงคงล้างบาปได้ และพระนางจะนำพาดวงวิญญาณของผู้ศรัทธาให้หลุดพ้นไปจากบ่วงกรรมทั้งหลาย ในขณะเดียวกัน ชาวอินเดียยังเล่ากันต่อไปอีกว่า การที่พระนางไหลผ่านมวยผมของพระศิวะ ทำให้พระนางมีสถานะเป็นชายาของพระศิวะด้วยเช่นกัน

ความยิ่งใหญ่ของแม่น้ำคงคายังขยายตัวออกไปเป็นวงกว้าง ในภาคใต้ของอินเดีย เช่น จารึกถ้ำลลิตังกุระ รัฐทมิฬนาฑู อายุราวพุทธศตวรรษที่ 11-12 ระบุถึงการยกย่องแม่น้ำกาเวรีในฐานะ ‘ทักษณคังคา’ หรือคงคาแห่งภาคใต้ แต่ต้องระวังในจุดนี้ด้วย เนื่องจากคนอินเดียไม่ได้มองว่า การเปรียบแม่น้ำใดๆ เป็นคงคาของภูมิภาคนั้นๆ จะเป็นการเปลี่ยนสถานะของแม่น้ำสายเดิม แม่น้ำกาเวรีก็ยังคงเป็นแม่น้ำกาเวรี คงคาก็ยังเป็นคงคา ไม่ได้แทนที่กันและกัน เป็นเพียงการผูกพื้นที่ของตนเข้ากับเทวตำนานหลัก และสร้างความชอบธรรมทางภูมิศาสตร์ให้กับแม่น้ำต่างๆ ในแต่ละภูมิภาค

ลอยกระทงแบบไทย ‘ไม่เท่ากับ’ การบูชาแม่น้ำคงคา  

การบูชาพระนางคงคาในอินเดียเป็นกิจวัตรหนึ่งของศาสนิกฮินดูผู้อยู่ใกล้ หรือสะดวกในการไปยังแม่น้ำคงคา (แม่น้ำอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน) การบูชาพระนางทำกันได้ทุกวัน ตลอดทั้งวัน ตั้งแต่เช้าจรดเย็นด้วยการลอยประทีปเล็กๆ ลงในแม่น้ำ เพื่อบูชาพระนางโดยตรง ขอให้พระเทวีนำพาดวงชะตาของพวกเขาไปในทิศทางอันเหมาะสม เสมือนแม่ชี้นำลูกๆ หรือแม้แต่ฝากพระนางนำคำวิงวอนของเราไปให้ถึงยังเทวโลก แต่จะมีพิธีเป็นรูปแบบครบถ้วนในตอนเช้าตรู่กับเย็นค่ำเรียกว่า ‘คงคาอารตี’ (Ganga Arti) คือการนำตะเกียงไฟ ตะเกียงกำยานมาแกว่งไกวไปยังแม่น้ำ เพื่อเป็นการถวายความสำราญแก่พระเทวี เฉกเช่นเดียวกับที่ปฏิบัติกับรูปเคารพของเทพเจ้าทุกพระองค์ โดยสถานที่ซึ่งมีชื่อเสียงมากที่สุดที่ผู้คนทั้งคนอินเดียและนักท่องเที่ยวต่างชาตินิยมไปดูพิธีกรรมดังกล่าว คือ ‘ทศศาวเมธฆาต’ (Dasaswamedh Ghat) เมืองพาราณสี 

ทำไมคนอินเดียถึงทำกันเช่นนี้? การอารตีเป็นการแสดงความเคารพแบบหนึ่งในวัฒนธรรมอินเดีย ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะรูปเคารพของเทพเจ้า สิ่งนี้สามารถกระทำกับคน ต้นไม้ หรือแม้แต่สัตว์ต่างๆ ได้ด้วย และในเมื่อคงคาเทวีทรงลงมายังโลกนี้ด้วย การบูชาพระนางในรูปลักษณ์ดั้งเดิม (สายน้ำ) จึงเปรียบได้กับการบูชาพระนางโดยตรงแบบไม่ต้องผ่านตัวกลาง (รูปเคารพ) ทั้งนี้ คนอินเดียยังถวายอารตีให้กับแม่น้ำสายอื่นๆ ด้วย เช่น ในอินเดียภาคใต้ ด้วยความที่พวกเขาอยู่ห่างไกลจากแม่น้ำคงคา พวกเขาถึงผูกพันกับแม่น้ำกาเวรีมากกว่า ฉะนั้น ชาวทมิฬก็นิยมถวายอารตีให้กับแม่น้ำสายนี้ เสมือนเป็นคงคาแห่งภาคใต้อย่างที่ได้กล่าวไป หรือที่วิศรัมฆาต เมืองมถุรา มีการบูชาแม่น้ำยมุนาในทุกเย็นด้วยวิธีการเดียวกับที่พาราณสี 

แต่ก็มิใช่ว่าคนอินเดียจะไม่มีเทศกาลของพระนางคงคา เพราะมีให้ถึงสองเทศกาล คือ 

  1. คงคาชยันตี (Ganga Jayanti) ระลึกถึงการเกิดใหม่ของพระนางบนโลกมนุษย์ หรือวันที่พระนางทรงตอบรับคำวิงวอนของฤาษีภคีรถ ที่เชื้อเชิญพระนางลงมายังโลกมนุษย์

  2. คงคาอัสตมี (Ganga Astami) หรือคงคาวตารัน (Gangavataran) ระลึกถึงครั้งเสด็จลงมายังโลกมนุษย์

เทศกาลทั้งสองนี้จัดขึ้นระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคมตามปฏิทินจัทรคติฮินดู ที่สำคัญไม่มีการลอยกระทงอย่างในประเทศไทย เพราะเขาลอยกันทุกวันอยู่แล้ว 

‘ลอยกระทงไทย’ ความหมายที่แตกต่าง 

ตามหลักฐานเท่าที่เราพบเห็น ร่องรอยการ ‘ลอยกระทง’ น่าจะมีมาตั้งแต่สมัยเขมรโบราณแล้ว โดยเราพบภาพสลักจากปราสาทบายน อายุราวพุทธศตวรรษที่ 18 แต่ไม่สามารถระบุแน่ชัดว่า ผู้คนในภาพบูชาสายน้ำเพื่อวัตถุประสงค์ใด ขณะที่ในจามเทวีวงศ์ ประวัติศาสตร์ของอาณาจักรหริภุญไชย ระบุว่า 

“ด้วยเหตุนั้นชนทั้งหลายซึ่งมาอยู่ในหริปุญชัยนครนี้แล้ว เมื่อระฦกถึงหมู่ญาติว่าตายายมารดาบิดาของเราอยู่ในหงษาวดีนครนั้น ดังนี้ ครั้นถึงอภิลักขิตสมัยตามปีตามเดือนแล้ว ชนทั้งหลายนั้นก็ลอยขาทนียโภชนียาหารตามน้ำลงไปข้างใต้ อุทิศไปให้แก่หมู่ญาติทั้งหลายเหล่านั้น เมื่อคนทั้งหลายเหล่านั้นระฦกถึงหมู่ญาติมีมารดาบิดาเป็นต้น ไม่อาจสงบระงับความโศกไว้ได้ ก็ร้องไห้คร่ำครวญมายังเรือนของตน” 

จดหมายเหตุของลาลูแบร์ (Du Royaume de Siam) ราชทูตซึ่งเข้ามาในสมัยอยุธยาตอนปลาย ระบุว่า 

“อนึ่ง ชาวสยามมีมหรสพเนื่องในการพระศาสนาด้วย ฤดูน้ำเริ่มลด ประชาชนพลเมืองสักการะแม่น้ำเป็นหลายคืนด้วยการจุดประทีป มิชั่วแต่แม่น้ำลดราถอยไปเท่านั้น ยังอำนวยให้พื้นดินที่จะทำการเพาะปลูกอุดมดีด้วย เราจะได้เห็นทั้งลำแม่น้ำเต็มไปด้วยดวงประทีปลอยน้ำ (กระทง) ไปตามกระแสธาร มีขนาดใหญ่ย่อมต่างกันตามประสาทะของแต่ละคน และมีกระดาษสีต่างๆ ซึ่งประดิษฐ์คิดทำกันขึ้นประดับประดาเครื่องรอบประทีปนั้น เพิ่มให้แสงสีงดงามขึ้นอีก โดยนัยเดียวกัน เพื่อแสดงความยินดีที่แผ่นดินอนุเคราะห์ให้เก็บเกี่ยวพืชพรรณธัญญาหารได้อย่างอุดมสมบูรณ์ในวันต้นๆ ของปีใหม่ ชาวสยามก็จะตามประทีปโคมไฟขึ้นอย่างมโหฬารอีกครั้งหนึ่ง…”

ข้อความข้างต้นชี้ชัดว่า การลอยกระทงในสมัยอยุธยามีหลายวัน แต่มีวัตถุประสงค์สำคัญอยู่ที่การบูชาธรรมชาติ แผ่นดิน และแผ่นน้ำ ซึ่งสะท้อนความเชื่อร่วมของสังคมมนุษย์ที่ให้ความสำคัญกับภาพรวมของการเพาะปลูกและความอุดมสมบูรณ์

ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ระบุไว้แตกต่างออกไปว่า ลอยกระทงกระทำไปเพื่อ “…สักการบูชาพระพุทธบาทนัมมทานทีตราบเท่ากัลปาวสาน….” สะท้อนว่า อิทธิพลพุทธศาสนาเข้ามาเป็นหัวใจหลักหนึ่งของประเพณีนี้แล้ว

เช่นเดียวกับในพระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ระบุถึง ‘ประเพณีพิธีจองเปรียง ลดชุดลอยโคม พระราชพิธีลอยพระประทีป’ รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยว่า เดิมพิธีกรรมนี้สืบมาแต่สมัยอยุธยา (พบสืบหลักฐานตั้งแต่กฎมณเฑียรบาลครั้งกรุงเก่า) มีลักษณะเป็นการลอยโคมโดยยึดไว้บนเสาสูง (ระทา) แรกเริ่มมีเพื่อบูชาเทพเจ้าทั้งสามในศาสนาพราหมณ์ เมื่อพระเจ้าแผ่นดินนับถือพระพุทธศาสนาจึงเปลี่ยนมาเป็นเพื่อการบูชาพระจุฬามณีเจดีย์บนสวรรค์ และบูชาพระพุทธบาท

นอกจากนี้ ทรงอธิบายอีกว่า ‘ลดชุด’ คือลดโคมลงจากเสา แล้วลอยลงน้ำเป็นการสะเดาะเคราะห์ตามแบบพราหมณ์ ซึ่งตรงนี้ ไมเคิล ไรท์ และสุจิตต์ วงษ์เทศ กล่าวสอดคล้องกันว่า หมายถึงลดเอาโคมเก่าไปลอยเสีย 

ขยายความเรื่องประเพณีพิธีจองเปรียง ลดชุดลอยโคมครั้งกรุงเก่าเล็กน้อย ข้อความในกฎมณเฑียรบาลอยุธยาระบุว่า พระเจ้าแผ่นดินจะเสด็จสมโภชวัดพุทไธศวรรย์ด้วย ซึ่งเป็นหอพระเทพบิดร (หอบรรพชน) ของกษัตริย์อยุธยา ฉะนั้น ความหมายดั้งเดิมที่สุดของประเพณีนี้น่าจะหมายถึง ‘การบูชาบรรพชน’ ในจุดนี้ผมเห็นว่า ข้อพระราชวินิจฉัยของรัชกาลที่ 5 ชัดเจนในสองประเด็น

หนึ่ง พิธีเดิมน่าจะมีกลิ่นอายของศาสนาพราหมณ์อยู่ไม่น้อย และสอง คำอธิบายในทางพุทธศาสนามีทีหลัง กระนั้นก็ไม่ปรากฏข้อเชื่อมโยงพิธีการลอยดวงประทีปลงน้ำนี้กับ ‘คงคาบูชา’ อย่างที่เป็นในอินเดีย

สำหรับผมแล้ว คำอธิบายที่ว่า ‘ลอยกระทง’ คือเทศกาลของพระแม่คงคาในสังคมไทยจึงเป็นเรื่องน่าขบคิด”

ถึงตรงนี้หากสรุปกันอย่างสังเขป การลอยกระทงในวัฒนธรรมไทยแต่ดั้งแต่เดิมน่าจะไม่มีความเกี่ยวข้องใดเลยกับชุดคำอธิบายที่พวกเราได้ยินมาตั้งแต่ยังจำความได้ แต่การลอยกระทง คือการลดรูปพิธีกรรมแขกก่อนจับมาแต่งตัวใหม่ให้กลายเป็นแบบเรา โดยเปลี่ยนคำอธิบาย เช่น จากพิธีกรรมที่กระทำเป็นกิจวัตรประจำวันกลายเป็นพิธีกรรมที่มีวันเวลาเฉพาะ มีการให้ความหมายใหม่โดยผสานเข้ากับชุดความเชื่อที่เป็นแกนกลางของท้องถิ่น ศาสนาผีพุทธศาสนา และความเชื่อเรื่องธรรมชาติ ก่อนจะกลับไปอ้างความเป็นแขกซึ่งต่างไปแล้วอีกครั้ง เพื่อประกอบร่างรากวัฒนธรรมของตนให้มีที่มาเป็นหลักเป็นแหล่ง ทำให้การลอยกระทงวนหัวกลับหางมายัง ‘คงคามหานที’

ข้อมูลอ้างอิง

de la Loubère, Simon. (1691). Du Royaume de Siam. Amsterdam: Public Domain Mark.

Eck, Diana (1998), “Ganga: The Goddess Ganges in Hindu Sacred Geography”, in Hawley, John Stratton; Wulff, Donna Marie (eds.), Devi: Goddesses of India. Delhi: Motilal Banarsidass

Rao, T.A. Gopinatha. (1968). Elements of Hindu Iconography, 4 Volume, Delhi: Motilal Banarsidass. 

Srinivasan, K R (1964). Cave Temples of the Pallavas. New Delhi: Archaeological Survey of India.

กระทรวงวัฒนธรรม. (2563). ลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ สุโขทัยเมืองมรดกโลก. กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิพม์.

กรมศิลปากร. (2513). นางนพมาศหรือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์. พระนคร: ศิลปาบรรณาคาร.

__________. (2561). คำแปลจามเทวีวงศ์ พงศาวดารเมืองหริภุญไชย. พระนคร: กรมศิลปากร.

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. (2516). พระราชพิธีสิบสองเดือน. พระนคร: ศิลปาบรรณาคาร.

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ. (2563). “ทำไม? ไทยต้องอ้างว่า ‘นางนพมาศ’ เป็นคนประดิษฐ์ “กระทง”” ใน มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 23-29 ตุลาคม

__________. (2561). “เทศกาลลอยกระทง ในราชสำนักกรุงศรีอยุธยา ไม่ใช่พิธีขอขมาพระแม่คงคา แต่เป็นพิธีเลี้ยงผีบรรพชน” ใน มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 16-22 พฤศจิกายน

Tags: , , ,