ใครสักคนเคยเปรียบการซ้อมทรมานของเจ้าหน้าที่รัฐไว้ว่า การซ้อมทรมานก็เหมือน ‘ผี’ รู้ว่ามีจริงแต่ไม่เคยเห็น ส่วนคนที่เคยประสบพบเจอก็ยิ่งต้องพบกับความ ‘เฮี้ยน’ ของผีที่คอยว่ายหลอกหลอนในความทรงจำทุกค่ำคืน

การซ้อมทรมานไม่ใช่เรื่องใหม่ใน สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ นับตั้งแต่ปี 2547 ที่มีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้น จนพื้นที่ใต้สุดของประเทศไทยประกาศเป็นพื้นที่สีแดง (Red Zone) มาเป็นเวลา 18 ปีแล้ว

ภาพของดินแดน ‘ปาตานี’ ที่ ภาษามลายู หมายถึงพื้นที่ครอบคลุม จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลาบางส่วน ถูกแทนที่ด้วยภาพ ‘ไฟใต้’ ที่มีความรุนแรง และความไม่สงบ ลุกไหม้ไปทั่วบริเวณพื้นที่แห่งนี้ จนรัฐบาลไทยมีนโยบายปราบปรามความไม่สงบผ่าน ‘กฎหมายพิเศษ’ และใช้งบประมาณแผ่นดินในการแก้ไขสถานการณ์ไปมากกว่า 3 แสนล้านบาท

กฎหมายพิเศษที่ดูจะมอบอำนาจ ‘พิเศษ’ ให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ ผ่านกฎหมายความมั่นคง 3 ฉบับคือ 

1. กฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 

2. พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) 

และ 3. พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551

กฎหมาย 2 ฉบับแรกให้อำนาจ ‘พิเศษ’ กับเจ้าหน้าที่รัฐในการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยเป็นเวลาไม่เกิน 37 วัน แบบไม่ต้องมีหมายจับ โดยมีเป้าหมายเพื่อซักถามเกี่ยวกับเหตุการณ์ความรุนแรงต่างๆ ในพื้นที่ แม้ว่าไม่มีกฎข้อห้ามไม่ให้บุคคลอื่น เช่น ญาติ หรือทนายเข้าเยี่ยม แต่ในความเป็นจริงแล้วคำขอเยี่ยมมักถูกปฏิเสธอยู่เสมอ หรือได้เยี่ยมเพียง 2 – 5 นาทีพร้อมกับเจ้าหน้าที่ที่ยืนไม่ห่างกาย

หลายคนติดคุก ‘ฟรี’ เพราะถูกกุมขังก่อนการตัดสิน ส่วนผลกระทบที่ตามมาทั้งร่างกาย จิตใจ รวมไปถึงรายได้ตลอดระยะเวลาที่ถูกกักขังไม่เคยได้รับการชดเชย นอกจากนี้ตลอดระยะเวลากว่า 18 ปี กลับมีรายงานผู้ที่ถูกดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรมอยู่หลายครั้ง รวมไปถึงการซ้อมทรมาน ซึ่งเมื่อควบคุมตัวไปค่ายทหาร พวกเขาถูกนำไปทั้งร่างกายและวิญญาณ แต่มีจำนวนหนึ่งกลับเดินทางออกจากค่ายทหารเพียงร่างที่ไร้วิญญาณเท่านั้น 

[1]

ผีที่มาในรูปแบบการซ้อมทรมาน

ณ มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม (Muslim attorney centre foundation) ประจำจังหวัดยะลา 

ราฟา (นามสมมติ) อายุ 38 ปี ต่อสู้คดีภัยความมั่นคงของรัฐมามากกว่า 3 ปี ท้ายที่สุดแล้ว เขาชนะคดีและกลายเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่ช่วงชีวิตที่ถูกซ้อมทรมาน และสิ่งที่เขาต้องสูญเสียมาตลอด 3 ปี ใครเล่าจะเยียวยา

ราฟา เล่าว่า หลังเหตุการณ์การระเบิดครั้งใหญ่ที่จังหวัดยะลา เขาทำงานรับจ้างปกติทั่วไปเฉกเช่นทุกวัน แต่จู่ๆ วันหนึ่งกลับมีเจ้าหน้าที่มาเยี่ยม และนำตัวเขาไปที่ ค่ายวังพญา อำเภอรามัน จังหวัดยะลา เพื่อเข้าสู่กระบวนการสอบสวนคดีตามสิทธิ์ของ ‘กฎหมายพิเศษ’ ที่ภาครัฐมอบให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้

“วันแรกๆ ที่เข้ามาอยู่ค่าย เขายังไม่ซ้อม เขาเริ่มซ้อมประมาณวันที่ 3 วันที่ 4 วันแรกๆ ก็พยายามพูดให้เรารับสารภาพ พอเราไม่รับสารภาพสักที เขาก็เรียกมาตอนกลางคืนประมาณ 2 ทุ่ม ผมก็โดนซ้อมมาตลอดจนเขาหยุดซ้อมประมาณ 5 ทุ่ม – เที่ยงคืน ก็ปล่อยกลับที่พัก ช่วงตอนกลางวันเขาจะไม่ซ้อม จะซ้อมแค่ตอนกลางคืนเท่านั้น”

ราฟา อธิบายต่อว่า ในช่วงตอนกลางวันจะมีการสอบสวนคดีแบบปกติ แต่ในพื้นที่ค่ายวังพญา ณ ช่วงเวลาที่เขาถูกคุมตัวนั้น ไม่มีกล้องวงจรปิด และเมื่อใดก็ตามที่การสอบสวน ‘พิเศษ’ ยามดึกเกิดขึ้น เขาก็จะถูกลากตัวออกไปนอกห้องขัง และเดินทางเข้าไปในป่าด้านหลังกองร้อย พร้อมกับทหารจำนวน 3 – 4 นาย

เขาถูกควบคุมตัวไป โดยไม่รู้เลยว่าทำไมถึงกลายเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีความมั่นคง “มาด้วยกันแปบเดียว เดี๋ยวก็ได้กลับบ้านแล้ว” นี่คือคำกล่าวของเจ้าหน้าที่ที่บอกกับเขาในวันควบคุมตัว เขาถูกคุมขังในค่ายวังพญาประมาณ 7 วัน และถูกส่งไปคุมขังต่อที่ ค่ายทหารอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี รวมทั้งหมดแล้วเขาถูกคุมขังอยู่ 3 ปีกว่า

“โดนซ้อมหนักที่สุดคือวันที่ 6 ในค่ายวังพญา เขาลากเราเข้าไปในป่า โดยให้เราถอดเสื้อผ้าออกมาทั้งหมด และตอนนั้นเจ้าหน้าที่มีเหล้ามาด้วย 1 ขวด และไข่ต้มในมือ เขาบอกกับเราว่า คืนนี้กูจะเล่นมึงให้หนักเลย หลังจากเจ้าหน้าที่กินเหล้าอะไรเรียบร้อย เขาก็เริ่มทุบตี เหยียบเรา สั่งให้เราเปลือยกาย และมัดมือไพล่หลัง ซ้อมเราเรื่อยมาจนถึงช่วงเวลาประมาณตี 4 เจ้าหน้าที่ก็เริ่มไม่ไหวแล้วเพราะใกล้สว่างแล้ว

“เขาเลยพลิกตัวให้ผมนอนหงาย สั่งให้อ้าปาก และเขาก็เอาสายยางฉีดน้ำยัดปากพร้อมกับเปิดน้ำกรอกปากจนสำลักและสลบไป”

หลังจากโดนซ้อมที่ค่ายวังพญาเขาถูกส่งตัวไปขังต่อที่ค่ายอิงคยุทธฯ และโดนซ้อมทรมานมาอยู่เรื่อยๆ โดยเจ้าหน้าที่บอกกับเขาว่า “ถ้าไม่ยอมรับสารภาพก็ต้องอยู่กับสภาพนี้ต่อไปเรื่อยๆ แต่หากยอมเป็นสายให้เจ้าหน้าที่ จะปล่อยให้กลับบ้าน”

ราฟายืนยันในความบริสุทธิ์ของตัวเองอย่างหนักแน่น พร้อมกับปฏิเสธข้อเสนอของเจ้าหน้าที่ในการเป็นสายลับเพราะเขาเป็นประชาชนทั่วไป ไม่เคยรู้เรื่องขบวนการเคลื่อนไหวอะไรทั้งนั้นไม่สามารถเป็นสายลับให้ใครได้

เช้าวันหนึ่งที่ค่ายอิงคยุทธฯ แฟนสาวของเขาสามารถเข้าเยี่ยมได้ และได้เห็นสภาพร่างกายของคนรักตัวเองเต็มไปด้วยบาดแผล จึงทราบว่าเขาถูกซ้อมที่ค่ายทหารเพื่อให้ยอมรับผิด หลังจากทราบว่าคนรักถูกทำร้ายร่างกาย เธอจึงนำเรื่องไปร้องเรียนต่อศาลว่าเกิดการซ้อมทรมานที่ค่ายทหารขึ้น

“หลังจากคนที่ค่ายรู้ว่าแฟนผมไปร้องเรียนมา ก็ทำดีกับผมมาตลอด มาเกลี้ยกล่อมว่าอย่าไปขึ้นศาลนะ อย่าบอกศาลนะ จะเอาอะไรบอกมาเลย” นับตั้งแต่วันที่ขึ้นศาลก็ไม่มีการซ้อมทรมานเกิดขึ้นอีกเลย มิหนำซ้ำเจ้าหน้าที่ยังเปิดโทรทัศน์ให้เขาดูในยามว่างอีกด้วย

แม้คดีสิ้นสุดแล้ว แต่ความกลัวไม่เคยสุดสิ้น

หลังจากที่ราฟาสู้คดีจนท้ายที่สุดศาลตัดสินยกฟ้อง แต่ชีวิตเขากลับต้องอยู่ในความกลัว และผลกระทบที่ตามมาจากการถูกจับกุม ‘ฟรีๆ’ แบบไม่จบสิ้น ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบต่อครอบครัว หน้าที่การงาน แฟนสาวต้องกินยาคลายเครียดและยานอนหลับตลอดระยะเวลาที่เขาอยู่ในเรือนจำ และแฟนต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเพียงลำพัง ไม่ว่าจะเป็นค่าบ้าน ค่าผ่อนรถ ทั้งที่ก่อนหน้านี้แบ่งเบาภาระกันมาตลอด

“เราถูกจับมาหลายปี เสียเวลาชีวิตมามาก แม้ว่าเราจะชนะคดีก็ตาม แต่ความรู้สึกที่ไม่เป็นธรรมยังคงอยู่ การสูญเสียทั้งเวลาและรายได้ ช่วงที่อยู่ในเรือนจำภรรยาก็ขอหย่า จนตอนนี้เราแยกกันอยู่แล้ว จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมันทำให้ผมต้องระวังตัวตลอด และรู้สึกหวาดระแวงไปหมด ต้องเปลี่ยนอาชีพ สภาพครอบครัวก็แตกแยก ยังโชคดีที่คนในชุมชนไม่ได้รังเกียจ” 

ถูกขังมา 3 ปี และอัยการปฏิเสธการประกันตัวทุกครั้ง พร้อมกันนั้น เงินในการสู้คดีก็ใช้เงินทองส่วนตัวทั้งหมด ส่วนหนึ่งกู้ยืมมาเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเอง แม้ว่าทุกคนจะมีสิทธิ์ยื่นเรื่องเพื่อรับการช่วยเหลือเยียวยาตาม พระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559 แต่ราฟาบอกกับเราว่า เขาได้เข้าสู่กระบวนการเรียบร้อยแล้ว แต่ผ่านมา 1 ปี กระบวนการยังคงเงียบหาย

“เรื่องเยียวยา ถ้าได้ถือว่าคือโชค เพราะส่วนใหญ่ไม่มีใครได้ ผมไม่ได้ตั้งความหวังไว้สูงเท่าไหร่ แต่พอมันมีช่องทาง มีกลไกก็ไปยื่น เพราะรู้อยู่แล้วถ้าเป็นคดีเกี่ยวกับภัยความมั่นคงเปอร์เซ็นต์น้อยมากที่จะได้อนุมัติ ผมก็แค่ไปใช้สิทธิ์ที่ตัวเองมีเฉยๆ”

ส่วนกรณีของการซ้อมทรมาน เขาบอกกับเราว่า สามารถส่งคำร้องและฟ้องได้ เพราะมีกลไกในเรื่องนี้อยู่ แต่ส่วนตัวเขาไม่อยากไปข้องแวะ และเกี่ยวข้องกับหน่วยงานของรัฐอีกต่อไป เพราะแค่นี้ก็หนักหนามากมายพอแล้วสำหรับชีวิตมนุษย์คนหนึ่ง พอแล้ว ไม่อยากขึ้นโรงขึ้นศาล และสุดท้ายก็ไม่รู้ด้วยว่าผลที่ออกมาจะเป็นอย่างไร

[2]

ปล่อยตัวปุ๊บ อายัดตัวต่อปั๊บ

“ผมโดนจับขังคดีภัยความมั่นคงอยู่เรือนจำ จนการต่อสู้ในชั้นศาลจบลงด้วยการยกฟ้อง ได้อิสรภาพรอเวลากลับบ้าน พอถึงเวลาปล่อยตัว เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เดินมาถามว่า ผมชื่ออะไร ผมก็แจ้งเขาไป พอบอกเสร็จเขาบอกว่าผมมีอีกคดี พอผมถามว่าหมายจับอะไร เขาบอกไม่รู้เหมือนกัน มาตามคำสั่ง และหลังจากนั้นเขาก็ใส่กุญแจมือผม และพาผมไปที่สถานีตำรวจภูธรเมืองยะลา”

ตาดี (นามสมมติ) อายุ 35 ปี ถูกอายัดตัวต่อประมาณ 3 – 4 ชั่วโมงหลังถูกปล่อยตัว จนทนายของทางมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมเดินทางไปช่วยตรวจสอบ ภายหลังที่เจ้าหน้าที่ถูกถามไถ่ว่า หมายที่อายัดตัวต่อคืออะไร และเป็นหมายจับจากทางสถานีตำรวจไหน แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถตอบคำถามได้

 สิ่งที่น่าตั้งคำถามและน่าสังเกตในคดีนี้ คือตำรวจสามารถใส่กุญแจมือ และอายัดตัวประชาชนใส่ห้องขัง โดยที่ไม่ต้องแจ้งข้อหาได้หรือ? หรือเพราะที่นี่คือ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

เมื่อผ่านการตรวจสอบเรื่องคดี ท้ายที่สุดแล้ว เขาไม่มีหมายจับอีกแล้ว เป็นเพียงคดีที่ยกฟ้องไปเรียบร้อยแล้ว การ ‘อายัด’ ตัวในคดีของ ตาดี ไม่ใช่คดีแรก แต่ที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีกรณีแบบนี้เกิดขึ้นเสมอ สิ่งที่น่าตั้งคำถามในคดีเหล่านี้คือ อย่างคดีของ ตาดี เขาถูกคุมขังในคดีภัยความมั่นคงจนติดคุกมาร่วมปี จนท้ายที่สุดศาลยกฟ้อง แต่ในระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ไม่เคยมีการรื้อฟื้นคดีและสอบสวนไปพร้อมๆ กับที่เขาถูกคุมขัง แต่เมื่อคดีของเขาสิ้นสุดกลับนำคดีอื่นมาทำต่อ ทั้งๆ ที่มันสามารถสอบสวนไต่สวนไปพร้อมๆ กันได้

ยังเชื่อในกระบวนการของกฎหมายไทยไหม? เราถาม

“ไม่เชื่อในกระบวนการกฎหมายเลย โดยเฉพาะกฎหมายพิเศษใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะว่ากฎหมายนี้เป็นกฎหมายที่เอื้ออำนวยให้กับเจ้าหน้าที่รัฐโดยตรง คือประชาชนอย่างเราไม่มีสิทธิ์ไปก้าวก่ายอะไรเลย เช่นถ้าเขามาล้อมในพื้นที่ และบอกว่าใช้กฎหมายพิเศษ กฎหมายอัยการศึก ปุ๊บ แม้แต่ผู้ใหญ่บ้านก็ไม่สามารถไปยุ่งเกี่ยวอะไรได้ ต้องทำตามเขาตลอด และทุกครั้งที่เขาจะจับประชาชน เขาก็จะใช้กฎหมายพิเศษตัวนี้แหละเป็นตัวสนับสนุนเขาอีกทีเพื่อไม่ให้ฝ่ายอื่นมามีส่วนร่วมในการจับกุมตัว”

ภายหลังจากตรวจสอบแล้วว่า ‘หมายจับ’ ที่หวังอายัดตัวเขาต่อนั้นเป็นเพียงหมายเดิมที่คดีจบสิ้นแล้ว เขาจึงถูกปล่อยตัวกลับบ้าน แต่การทำงานของเจ้าหน้าที่ไม่เคยสิ้นสุดตามรูปคดี ตาดียังถูกเยี่ยมบ้านอยู่เสมอ เขาเล่าว่ามักมีทหารมาเยี่ยมบ้าน มาพูดคุยกับแม่ของเขา และบอกว่ามีอะไรจะคอยช่วยเหลือตลอด ส่วนเรื่องขอเงินชดเชยเยียวยา เขาบอกเหมือนกับราฟาว่า “ไม่ได้หวังอะไรมาก ยื่นมาเกือบปีแล้ว แต่กระบวนการร้องเรียนยังคงเงียบกริบ”

สิ่งที่เกิดขึ้นจริงก็คือ การขาดพ่อ และขาดสามี ไปในช่วงเวลา 1 ปี ย่อมส่งผลต่อครอบครัวเป็นอย่างมาก ทั้งเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่แฟนสาวต้องหามาเลี้ยงดูลูกแทนเขาตอนที่ติดคุกอยู่เรือนจำ

“ทุกครั้งที่แฟนผมเข้ามาเยี่ยมที่เรือนจำ เขาก็จะร้องไห้ ผมก็จะน้ำตาไหลตาม เขาบอกว่าเขารับกับเหตุการณ์ และสภาพความเป็นอยู่ที่เกิดขึ้นตอนนี้ไม่ได้ โดยเฉพาะแม่ แม่ผมแก่แล้ว พี่สาวก็ป่วยติดเตียง พอรู้ว่าผมติดคุกเขาก็นอนร้องไห้ตลอดเวลา” ผลกระทบที่ตาดีได้รับไม่ได้ส่งผลแค่ในครอบครัว แต่กลับส่งผลไปยังสังคม ชุมชนที่เขาอยู่ เขาเล่าว่าเมื่อออกมาจากห้องขัง และได้รับการพิพากษาว่าเป็นผู้บริสุทธิ์แล้วนั้น แต่สังคมกลับตราหน้าว่าเขาเป็น ‘โจร’ บางทีก็โดนแซวด้วยถ้อยคำถากถาง หรือแม้แต่บ้านใกล้เรือนเคียง เพื่อนบ้านที่เคยสนิทชิดเชื้อ พอกลับมาก็ไม่อยากจะสนิทสนม เว้นระยะห่างจนเขาถูกตราหน้าว่าเป็นตัวอันตรายของสังคม

“คนที่สนิท เขาก็กลัวโดนลูกหลงไปด้วย สิ่งที่กระทบกับจิตใจผมมากที่สุด คือลูกของผมถูกล้อที่โรงเรียน เวลาลูกคนโตมาเจอหน้า ก็จะร้องไห้ตลอดเวลา และคอยถามผมว่าเมื่อไหร่พ่อจะกลับบ้าน ใจผมคือหดหู่มาก และตอนผมออกจากคุกมา ลูกอีกคนจำหน้าผมไม่ได้ ไม่รู้จักว่าผมเป็นใคร ตอนกลับบ้านวันแรกลูกก็วิ่งหนีผมเลย เพราะเขาไม่รู้จักพ่อ”

ถ้าทำงานกับเราจะถูกลบคดี แต่ถ้าไม่ทำก็เข้าคุกเข้าตะราง

นี่เป็นข้อเสนอจากเจ้าหน้าที่รัฐที่บอกกับตาดีว่า ถ้ายอมเป็นสายให้คดีที่เขาได้รับ หมายจะถูกลบในทันที ทำไมถึงไม่ทำงานให้เขา ทำไมถึงเลือกเข้าเรือนจำต่อ… หนึ่งในผู้ร่วมห้องสนทนาของเราเอ่ยถาม

“ผมไม่ไว้ใจพวกเขา กลัวว่าสักวัน ถ้าเราไปทำอะไรให้เขาไม่พอใจ เช่น สมมติผมเป็นสายข่าวให้เขา ถ้าวันหนึ่ง เกิดว่าผมหาข่าวให้ไม่ได้ เขาก็อาจจะมาเก็บผม และส่วนตัวไม่อยากไปยุ่งเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ทหารอีกต่อไปแล้ว อยากเป็นประชาชนทั่วไปเหมือนคนอื่น โดยที่ไม่ต้องมาคอยหวาดระแวง และหวาดกลัวการเยี่ยมของทหาร”

 7 คันรถ นี่คือจำนวนรถทหารที่มาควบคุมตัวตาดีไปดำเนินคดีในครั้งแรก โดยสถิติของคนในพื้นที่บอกกับเราว่า รถเจ้าหน้าที่เคยเดินทางมาควบคุมตัวมากสุดถึง 30 คัน

เหตุการณ์ต่างๆ ยังคงหลอกหลอนเขาและครอบครัวซ้ำแล้วซ้ำเล่า เขารู้สึกหวาดระแวงทุกครั้งหลังเวลาเที่ยงคืนเมื่อได้ยินเสียงรถ หรือเสียงอะไรเดินทางมา ใจจะไม่อยู่กับเนื้อกับตัว กลัวว่าทหารจะมาล้อมจับอีกครั้ง เพราะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เจ้าหน้าที่ทหารมักปฏิบัติงานจับกุมชาวบ้านในช่วงเวลาประมาณ ตี 2 ถึง ตี 3

[3]

จดจำและจดจารกระบวนกฎหมายไทย

อาลัน (นามสมมติ) อายุ 38 ปี เขาถูกจับกุมในยามดึกขณะพักผ่อนหลังทำงาน เจ้าหน้าที่โชว์รูปถ่ายของเขาพร้อมกับถามว่า “นี่คือมึงใช่ไหม” พอเขาตอบรับเท่านั้น มือซ้ายขวาของเจ้าหน้าที่ได้ตบลงมาที่บ้องหูของเขา พร้อมกับสั่งให้นั่งลง เข้าตรวจค้นห้องและยึดมือถือของเขา ก่อนนำหมวกไอ้โม่งสีดำคลุมหน้าแต่ใส่กลับด้านเพื่อไม่ให้เขามองเห็นได้ หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่นำตัวอาลันขึ้นรถกระบะ และนำตัวเขาออกจากที่พัก 

ระหว่างการเดินทางจากที่พักไปยังปลายทางที่เขาเองก็ยังไม่รู้ว่าจะถูกนำไปที่ไหน เขาถูกซ้อม ถูกกระทืบมาตลอดทาง จนเมื่อถึงเวลาประมาณตี 4 จึงเดินทางมาถึงโรงพัก และถูกนำตัวส่งต่อไปยังค่ายวังพญา

เช่นเดียวกับราฟา ในวันแรกอาลันไม่ได้ถูกซ้อมทรมานอย่างทันที เขาถูกไต่สวน และสอบสวนให้รับผิดจนเข้าสู่วันที่ 2 ของการคุมขัง เขาเริ่มถูกซ้อมทรมานอยู่ที่ค่ายทหารแห่งนี้เกือบ 3 อาทิตย์ โดยอาทิตย์แรกโดนซ้อมหนักที่สุด เพราะเวลาต่อมาเขาเริ่มตั้งสติได้ และบอกกล่าวกับแฟนว่าถูกซ้อมทรมานให้แฟนช่วยร้องเรียนและส่งข่าว หลังจากนั้นการซ้อมทรมานจึงถูกกระทำน้อยลง

สิ่งที่อาลันต้องเจอระหว่างการควบคุมตัวครั้งนี้คือ เขามักถูกจับมือไพล่หลังและมัดติดกับเก้าอี้ หลังจากนั้นก็จะถูกนำถุงพลาสติกมาคลุมหัว ช่วงเวลาที่ถูกซ้อม มักจะเป็นในช่วงเวลาเช้ามืดโดยเขาถูกนำตัวออกจากที่พักเดิม เมื่อใดก็ตามที่เจ้าหน้าที่อยากจะเปลี่ยนจุดในการซ้อมก็จะนำ ‘ไอ้โม่ง’ มาคลุมหัวโดยใส่กลับด้านเช่นเดิม และพาขึ้นรถกระบะจนไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นที่แห่งไหน

สิ่งที่น่าสังเกตในคดีของอาลันคือ เหมือนว่าเจ้าหน้าที่พยามสร้าง ‘บาดแผล’ ทางร่างกายให้น้อยที่สุด

“ความบอบช้ำทางร่างกายไม่ค่อยเห็น เพราะถ้าจะทุบ เขาใช้ไม้ที่พันด้วยผ้าอีกทีในการทุบ ส่วนการทรมานก็จะเปลี่ยนเป็นให้ผมยืนตลอดไม่ยอมให้นั่ง บางทีสั่งให้ยืนตั้งแต่ 1 ทุ่ม และลากยาวไปถึงตี 2 ตี 3 โดยห้ามนั่งและจะถูกซ้อมหนักในช่วงเกือบรุ่งสาง”

ถ้าเซ็นเอกสารจะได้กลับบ้าน 

เจ้าหน้าที่ยื่นข้อเสนอให้อาลันดังนี้ พร้อมกับบอกว่า “ไม่ต้องดูเอกสารอะไรมากหรอก รีบๆ เซ็น จะได้รีบกลับบ้าน”

“ผมก็เปิดอ่านในช่วงแรกมันเป็นเอกสารปฏิเสธคำให้การ เราก็เข้าใจว่าน่าจะเป็นเอกสารปฏิเสธทุกหน้าเลยไม่ได้พลิกอ่านทั้งหมด เพราะเอกสารมีเยอะมาก แต่มันดันไปพลิกล็อกในชั้นศาล เพราะมันกลายเป็นเอกสารที่รับสารภาพทั้งหมด กลายเป็นว่าพอหลังเซ็นเอกสารเสร็จก็ไม่ได้กลับบ้านตามที่เขาบอก แต่กลายเป็นถูกควบคุมต่อที่ค่ายวังพญา”

1 ปี กับอิสรภาพที่สูญหาย

“เรื่องกฎหมาย ผมก็เพิ่งมารู้หลังจากโดนกับตัวเอง โดนขังมาปีกว่า ขอยื่นประกันตัวก็ติด 3 ฝ่ายไม่ให้อนุญาต ประกอบด้วย ฝ่ายทหาร ฝ่ายตำรวจ และฝ่ายปกครอง โดยศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวเพราะกลัวหลบหนี และยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน เพราะคดีความมั่นคงมีเงินประกันตัวสูงมาก”

8 ล้านบาท คือเงินประกันตัวของเขาสำหรับจำเลยในคดีอาญาความมั่นคง ภายหลังคดีของเขาถูกตัดสินยกฟ้อง สิ่งที่น่าสนใจคือ กฎหมายในพื้นที่อื่นไม่มี ‘3 ฝ่าย’ หากพูดถึงคดีความมั่นคงต่อรัฐ จำเลยย่อมเป็นคู่กรณีของภาครัฐ แต่การได้รับประกันตัวหรือขอเงินเยียวยาต่างๆ กลับมาจากการอนุมัติของภาครัฐทั้งหมด น่าตั้งคำถามว่าสิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อการขอเงินเยียวยาด้วยหรือไม่ และหลังจากถูกปล่อยตัวเขาก็ยังถูกเยี่ยมเยือนโดยเจ้าหน้าที่รัฐอยู่เสมอ

“สิ่งที่เจอกับตัวเองมันตอบคำถามเราแล้วว่า ทำไมปัญหาของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มันไม่มีมีวันสิ้นสุด จากเหตุการณ์ต่างๆ ที่ผ่านมา ทั้งตากใบหรืออะไรก็ตามจนมาถึงตัวเรา พอเรารู้กระบวนการ รู้ความประพฤติของเจ้าหน้าที่ที่ทำต่อคนมลายู นี่คือคำตอบ ผมไม่เข้ารับการเยียวยาจากภาครัฐ ผมพอแล้วที่ครอบครัวหมดทุกอย่างไปวันนี้ เราจะได้จำกันไปนานๆ เราตั้งใจไม่ไปยื่นเพราะเรื่องที่เราต้องเจอ เราไม่อยากได้รับเงินชดใช้จากงบของรัฐบาล ถ้าเรายังอยู่กันแบบนี้ ผมก็ต้องทำตัวเป็นควายถึกเดินหน้าต่อไป อีกความรู้สึกหนึ่งมันก็บอกเราว่า ทำกันขนาดนี้ยังไม่พอใจอีกหรอ”

สิ่งที่น่าสังเกตและส่งผลต่อจำนวนคดีที่ยื่นขอรับเงินเยียวยา คือไม่ใช่ ‘ทุกคน’ ที่ได้รับเงินเยียวยา เพราะเงื่อนไข หลักเกณฑ์ และคำ ‘พิพากษา’ ก็เป็นหัวใจหลักของการได้รับเงินชดเชยเยียวยา โดยส่วนมากคดีความมั่นคง มักถูกพิพากษาอย่างคลุมเครือว่า ‘ยกผลประโยชน์ให้จำเลย’ ดังนั้นจึงเหมือนกับว่าไม่ได้ ‘บริสุทธิ์’ แต่เพียงหาหลักฐานมาเอาผิดไม่ได้ ในภาษากฎหมายเรียกกรณีแบบนี้ว่า ‘คดีสีเทา’ เมื่อเป็นคดีสีเทาจะไม่ได้รับสิทธิ์ แต่หากเป็นคดีสีขาวโอกาสที่ได้รับเงินชดเชยเยียวยาจะมีมากกว่า

จากประชาชนหาเช้ากินค่ำ หนึ่งในจำเลยคดีอาญา หรือ ‘แพะ’ บอกกับเราต่อว่า แต่เดิมช่วงชีวิตของเขาก็ติดลบมากพออยู่แล้ว แต่เมื่อถูกดำเนินคดีก็มีค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ทุกอย่างล้วนมีราคาเข้ามาทั้งสิ้น ทั้งการเดินทางมาเยี่ยม หรือการต่อสู้คดีในชั้นศาลก็ตาม สิ่งเหล่านี้พวกเขาต้องกู้ยืมเงินเพื่อมาซื้อความ ‘บริสุทธิ์’ ที่พวกเขาผุดผ่องมาตั้งแต่แรก แล้วทุกอย่างที่เขาสูญเสียไป ใครเล่าจะจ่ายคืน?

จ่ายด้วยเงินตรามันเพียงพอหรือ แล้วอย่างนั้นเราควรชดใช้ ‘แพะ’ เหล่านี้ด้วยอะไร

Tags: , , , ,