ในฐานะที่คุณนิยามตนเองว่าเป็น ‘นักอ่าน’ คนหนึ่ง หากต้องทดสอบคลังศัพท์ของตนเอง ด้วยการระบุความหมายของศัพท์ทั้ง 7 คำด้านล่างนี้ คุณจะสามารถบอกความหมายได้ถูกต้องทั้งหมดกี่คำ?
1. กอปร
2. ทว่า
3. แก้มตอบ
4. สลายโต๋
5. กัน (สรรพนาม)
6. นำร่อง
7. ฝนห่าใหญ่
มั่นใจว่าคงไม่ใช่ทุกคนที่จะรู้จักคำสแลงยุค 90s อย่าง ‘สลายโต๋’ หรือ ‘กัน’ สรรพนามเอกพจน์บุรุษที่หนึ่งที่นิยมใช้ในสมัยรัชกาลที่ 6 แต่ช่วงหลังมานี้ เราเริ่มเห็นปฏิกิริยาเชิงลบของนักอ่านรุ่นใหม่ที่มีต่อศัพท์ที่ตนไม่คุ้นเคยบ่อยขึ้น หนักหน่อยก็ลามมาถึงคำสันธานเชื่อมประโยคระดับพื้นฐานอย่างคำว่า ‘ทว่า’ หรือคำศัพท์ธรรมดาทั่วไปอย่าง ‘นำร่อง’
ทั้งนี้ นี่ไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงแค่กับคนรุ่นใหม่ในประเทศไทยเท่านั้น เพราะเมื่อช่วงปลายปี 2023 ที่ผ่านมา ผู้ใช้ TikTok ฝั่งอเมริกันก็พูดคุยถึงสถานการณ์คล้ายกัน
“Kids can’t read” (เด็กๆ อ่านหนังสือไม่ออก)
หลายคนยืนยันเช่นนั้น และไม่ใช่แค่เด็กอายุ 6 ขวบ ซึ่งเป็นวัยที่ยังอ่านหนังสือไม่คล่องเท่านั้น เพราะที่น่ากลัวตอนนี้ คือแม้แต่เด็กอายุ 10 ขวบ 12 ขวบ จนถึงเยาวชนอายุ 15 ปีที่เหลือเวลาเพียงไม่กี่ปี ก็จะต้องข้ามผ่านสู่วัยผู้ใหญ่ก็ยังอ่านหนังสือช้า สะกดคำไม่คล่อง และไม่รู้จักแม้กระทั่งคำศัพท์ระดับกลางๆ ที่พบได้ทั่วไปตามบทความข่าว หรือในตัวบทวรรณกรรม
เช่นเดียวกับชาวอเมริกันที่ออกมาตั้งข้อสังเกตเหล่านี้ นักอ่านและนักเขียนชาวไทยบนโลกโซเชียลฯ ที่รับรู้สถานการณ์ ต่างพากันตั้งคำถามถึงสาเหตุที่ทำให้พฤติกรรมการอ่านของคนรุ่นใหม่เปลี่ยนแปลงไป
หลักสูตรสอนภาษาแบบ ‘เน้นจำ ไม่เน้นเข้าใจ’
‘รอ เอีย นอ เรียน’
‘งอ เอาะ เงาะ’
‘ทอ อำ ทำ’
สำหรับคนรุ่นก่อน นี่อาจเป็นวิธีการสะกดคำที่ถูกต้องวิธีการเดียวที่มีอยู่ เพราะเป็นวิธีการที่แสดงให้เห็นว่า ผู้ที่กำลังสะกดคำรู้จักและเข้าใจการมีอยู่ของสระประสมอย่างสระ ‘เ-ีย’ ‘เ-าะ’ และ ‘-ำ’ แต่เด็กรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งกลับไม่ได้สะกดด้วยวิธีแบบเดียวกัน
‘เอ รอ อี ยอ นอ เรียน’
‘เอ งอ อา อะ เงาะ’
‘ทอ อำ อา ทำ’
เด็กๆ ที่จบจากโรงเรียนเครือสารสาสน์ยืนยัน ด้วยสีหน้าสับสนว่าทำไมคนอื่นจึงสะกดด้วยสระที่ตนเองไม่รู้จักอย่าง ‘เ-ีย’ ‘เ-าะ’ และ ‘-ำ’ ได้
ปฏิเสธไม่ได้ว่าวิธีการสะกดแบบสารสาสน์คือวิธีการที่เห็นผลเร็วที่สุดเมื่อทดสอบด้วยการเขียน เพราะเด็กๆ เหล่านี้จะเรียงลำดับสระและตัวอักษรตามวิธีที่ตัวเองสะกดได้ทันที ทำให้เขียนหนังสือเป็นเร็วกว่า
แต่ข้อเสียคือแทนที่จะสามารถประสมพยัญชนะกับสระต่างๆ เพื่อเชื่อมหน่วยเสียงเข้าด้วยกันตามหลักโฟนิกส์ (Phonics) เหมือนเด็กคนอื่นๆ เด็กเหล่านี้จะจดจำคำต่างๆ เป็นภาพ เหมือนที่เด็กจีนใช้จำว่าตัวอักษรจีนตัวไหนอ่านว่าอะไร
ปรากฏการณ์ที่คล้ายกับ ‘วิธีการสะกดแบบสารสาสน์’ นี้ เกิดขึ้นกับหลักสูตรภาษาอังกฤษในสหรัฐฯ มาสักพักหนึ่ง โดย มอลลี วูดเวิร์ธ (Molly Woodworth) คุณแม่ชาวอเมริกันรายหนึ่งแบ่งปันประสบการณ์ส่วนตัว ว่าด้วยการเรียนภาษาอังกฤษของตนเองเมื่อยุค 90s เทียบกับการเรียนของลูกสาว
มอลลีเล่าว่า ตอนที่เธอยังเด็กไม่มีใครสอนให้เธออ่านหนังสืออย่างถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นครูหรือพ่อแม่ ตัวเธอในวัยประถมจึงจำเป็นที่จะต้องหากลยุทธ์การอ่านอะไรบางอย่างที่จะทำให้เธอเดาคำศัพท์ต่างๆ ที่ปรากฏในบทเรียนและเรียนหนังสือไปพร้อมกับเพื่อนๆ ได้
และกลยุทธ์ที่ว่านั้นคือการจำนั่นเอง
“สำหรับฉัน คำก็เหมือนกับรูปภาพ แล้วฉันก็มีความจำที่ดีมากน่ะ” มอลลีกล่าว เธอทุ่มเทเวลาไปกับการจดจำคำให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ หากเจอคำไหนที่ไม่เคยเห็น มอลลีจะเดาจากพยัญชนะตัวแรก และถ้าเดาไม่ถูกเธอก็จะข้ามคำนั้นไปก่อน แต่วิธีการอ่านแบบนี้กลับทำให้เธอเป็นนักอ่านที่ไม่ดีเอาเสียเลย เมื่อเทียบกับเพื่อนคนอื่น
“ฉันเลยเกลียดการอ่าน เพราะมันต้องใช้พลังกายพลังใจเยอะมาก อ่านจบแค่บทเดียวหัวฉันก็ปวดไปหมดแล้ว ฉันไม่เคยรู้สึกตื่นเต้นที่จะเรียนรู้เลย”
และนั่นทำให้มอลลีตระหนักว่า วิธีการอ่านของเธอนั้นผิดมาตั้งแต่ต้น ทว่าหลังจากนั้นอีกหลายปีต่อมา เธอกลับต้องเผชิญกับสถานการณ์ช็อกสุดขีด เมื่อได้เห็นเทคนิคการอ่านแบบผิดๆ ที่เธอใช้เองคนเดียวมาตลอด ถูกนำมาสอนให้ลูกสาวของเธอโดยครูที่โรงเรียน
คุณครูคนนั้นพูดว่า “ถ้าหนูอ่านไม่ออก ก็แค่เดาจากภาพหมีกับจิ้งจอกตรงนี้แล้วดูที่พยัญชนะตัวแรก เห็นไหมว่านี่คือพยัญชนะ ‘B’ ถ้าอย่างนั้นมันควรเป็น หมี (Bear) หรือเป็นจิ้งจอก (Fox) ล่ะ?”
ความคิดริเริ่มในการ ‘สืบค้น’ ข้อมูลที่ไม่ถูกจุดประกาย
‘ความไม่รู้’ ไม่เคยเท่ากับ ‘ความโง่เขลา’ ดังนั้น การที่คลังคำศัพท์ของเยาวชนไม่กว้างไกลเท่าผู้ใหญ่ที่ใช้ชีวิตมานานกว่าย่อมไม่ใช่เรื่องผิดปกติ แต่ความเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมในการอ่านประการหนึ่งที่น่าเป็นห่วง คือการที่เยาวชนยุคนี้ไม่ได้ถูกปลูกฝังให้รู้จักสืบค้นความหมายต่างๆ ของคำ เพื่อตรวจสอบความเข้าใจของตนเองด้วยเครื่องมืออย่างพจนานุกรมเลย
แม้พจนานุกรมจะไม่ใช่สิ่งจำเป็นอีกต่อไป เพราะการมาถึงของอินเทอร์เน็ตมีส่วนทำให้กระบวนการสืบค้นความหมายของคำศัพท์เกิดขึ้นได้แค่ปลายนิ้ว ขอเพียงแค่มีสมาร์ตโฟนสักเครื่อง
ทว่าเมื่อเจอคำที่ไม่รู้จัก ปฏิกิริยาแรกของนักอ่านรุ่นใหม่กลับมิใช่การนำคำที่ไม่คุ้นเคยนี้ไปเสิร์ชหาความหมาย แต่เป็นการทึกทักเอาว่าตนเองเข้าใจถูก แล้วตำหนิผู้เขียนข้อความว่าใช้คำที่ไม่ถูกต้องเสียอย่างนั้น
มีการตั้งสมมติฐานมากมายว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น
เพราะหลักสูตรแย่อย่างเดียวหรือ?
หรือเพราะหนังสือแพงจนเอื้อมไม่ถึงด้วยหรือเปล่า?
การล็อกดาวน์ที่ยาวนานในช่วงโควิด-19 เกี่ยวข้องไหม?
หรือเป็นเพราะเด็กเข้าถึงเทคโนโลยีมากเกินไป?
ไม่ว่าเหตุที่แท้จริงจะเป็นเพราะอะไร ผู้เขียนเชื่อเหลือเกินว่าปัจจัยสำคัญที่อยู่ ณ ใจกลางของปัญหา คือ ‘พฤติกรรม’ ของผู้คนที่ห้อมล้อมรอบตัวของเยาวชนเหล่านี้ในวัยที่พวกเขากำลังเรียนรู้
กระบวนการเรียนรู้โดยการเลียนแบบ (Imitative Learning) ถือเป็นขั้นตอนหนึ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อพัฒนาการด้านการรับรู้และปฏิสัมพันธ์ทางสังคม เด็กทุกคนจึงเปรียบเสมือน ‘ภาพปะติด’ (Collage) ที่ดึงเอาวัสดุต่างๆ มาจากผู้คนและสิ่งแวดล้อมรอบตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ใหญ่ที่เลี้ยงดูพวกเขามา
ยิ่งบังเอิญเมื่อผู้ใหญ่ที่ว่านั้น ดันเป็นผู้ใหญ่อย่างเราๆ ที่แม้จะโตแค่ไหนก็ยังได้รับผลกระทบจากสมาธิที่สั้นลงเพราะติดสมาร์ตโฟน หรือความอดทนลดต่ำลงเพราะเทคโนโลยีอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่เข้ามาช่วยทุ่นเวลาและแรงในการใช้ชีวิต
หากลองสังเกตพฤติกรรมต่างๆ ของเด็กที่เรากังวลกัน ล้วนแล้วแต่เป็นพฤติกรรมที่ผู้ใหญ่ทำให้เห็นก่อน พวกเขาใช้ชีวิตกับหน้าจอแท็บเล็ต ไม่ใช่เพียงเพราะเสพติด แต่เพราะเห็นว่าพ่อแม่ก็ใช้ชีวิตอยู่ใกล้ชิดหน้าจอมือถือตลอดทั้งวันไม่ต่างกัน
ดังนั้น หากเราต้องการเปลี่ยนแปลงเด็กๆ ซึ่งเปรียบเสมือนภาพเงาสะท้อนบนกระจกของตัวเรา เป็นไปได้ไหมว่าวิธีที่ตรงจุดที่สุด คือเปลี่ยนวิธีการที่เราจัดวางตนเองตรงหน้ากระจก เพื่อเป็นต้นแบบที่ดีแก่พวกเขา
อ้างอิง
https://1234kyle5678.substack.com/p/kids-cant-read-and-its-your-fault
https://www.apmreports.org/episode/2019/08/22/whats-wrong-how-schools-teach-reading
Tags: เวลาหน้าจอ, เจนซี, คลังศัพท์, Gen Alpha, Parenting, Screen Time, Literacy, การเลี้ยงดูลูก, วัฒนธรรมการอ่าน, Gen Z, การอ่านออกเขียนได้, Feature, เจนอัลฟา