ฉับพลันที่พรรคก้าวไกลประกาศจุดยืนแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ก็ตามมาด้วยปฏิกิริยาจากหลากหลายพรรคการเมืองในสนามเลือกตั้งใน ‘จุดยืน’ ของพรรคตัวเอง ต่อมาตรา 112 ที่มีเนื้อหาสั้นๆ ว่า
“ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี”
มาตรา 112 ถูกแก้ไขและเพิ่มโทษให้รุนแรงขึ้นหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และดำรงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน แน่นอนว่าในวันที่มีกระแสเรียกร้อง ‘ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์’ โดยคนรุ่นใหม่เป็นวงกว้าง มาตรา 112 ถูกใช้อย่างกว้างขวางขึ้น และมีประชาชนถูกดำเนินคดีกันถ้วนหน้า ไม่ว่าจะจากการอภิปรายในที่สาธารณะ การแต่งตัวเลียนแบบ หรือแม้กระทั่งการทำโพล
“ถ้าเรานิ่งเฉยแล้วเงียบ เราจะเป็น ส.ส. ไปทำไม หรือจะมีพรรคนี้ไปทำไม นี่คือจุดเริ่มต้นในการนำเสนอเรื่องนี้ ตั้งแต่ต้นปี 2564 เรารู้เลยว่าถ้าเสนอออกไปต้องเสียคะแนนนิยมแน่ เช่นเดียวกับการประกาศเป็นนโยบายการเมืองของพรรคในครั้งนี้” ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบีบีซีไทย
ทว่าหลังจากประกาศนโยบายออกไป สิ่งที่ตามมาคือการแถลง ‘จุดยืน’ ของแต่ละพรรคการเมืองต่อมาตรา 112 ไม่ว่าจะเป็น เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย จะคัดค้านให้ถึงที่สุด ไม่ร่วมจัดตั้งรัฐบาล หรือการแสดงท่าทีไม่ชัดเจน ผ่านหลากหลายเหตุผล ไม่ว่าจะเป็นมาตรา 112 ไม่ใช่ปัญหา เป็นกฎหมายปกติที่ประเทศอื่นก็มี คนทำผิดเท่านั้นถึงกลัว และพรรคการเมืองเป็นพรรคที่เทิดทูนสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์
The Momentum รวบรวมจุดยืนและท่าทีของพรรคการเมืองต่อกฎหมายอาญามาตรา 112 ไว้ดังนี้
พรรคเพื่อไทย – จุดยืนไม่ชัดเจน เน้นปากท้องเศรษฐกิจเป็นหลัก
สุทิน คลังแสง รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้ตอบคำถามถึงจุดยืนของพรรคต่อ มาตรา 112 ว่า เรื่องนี้เป็นจุดยืนของแต่ละพรรค ไม่ขอวิพากษ์วิจารณ์ อยู่ที่ประชาชนจะพิจารณา พรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญกับเรื่องเศรษฐกิจปากท้องและการสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริงให้เกิดกับสังคมเป็นหลัก
ส่วน แพทองธาร ชินวัตร ประธานที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์เรื่องนี้กับประชาชาติธุรกิจว่า ทุกเรื่องต้องผ่านกระบวนการสภาฯ ต้องมาลองคุยกันว่าบทกฎหมายมีปัญหาหรือเปล่าเพื่อตกลงกันว่าจะเอาอย่างไร
พรรคประชาธิปัตย์ – ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่ขัดใจผู้คิดไม่ดี
ราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้แถลงจุดยืนของพรรคว่ามาตรา 112 ไม่ได้ขัดหรือแย้งต่อหลักนิติธรรมหรือรัฐธรรมนูญ แต่อาจจะขัดใจผู้ที่คิดไม่ดีต่อบ้านเมือง หากพรรคการเมืองใดยื่นแก้ไขก็ขอให้กลับไปอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ดี เพราะเคยวินิจฉัยอธิบายความสำคัญของมาตรา 112 ไว้แล้ว นอกจากนี้ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค กล่าวว่าไม่มีประเทศไหนไม่มีบทคุ้มครองประมุขของประเทศ
พรรคเสรีรวมไทย – ต้องแยก ‘ดูหมิ่น หมิ่นประมาท’ ออกจากอาฆาตมาดร้าย
พลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรค ได้แสดงจุดยืนว่า พรรคมีแนวทางแบบกลางๆ โดยเห็นว่าไม่ควรยกเลิก แต่ต้องปรับแก้รายละเอียด เช่น ไม่ใช่ใครก็ไปแจ้งความก็ได้ ควรให้ตัวแทนสำนักพระราชวังดำเนินการ ลดจำนวนปีในการรับโทษจำคุก และแยกดูหมิ่น หมิ่นประมาทออกจากอาฆาตมาดร้าย
พรรคภูมิใจไทย – คนไทยส่วนใหญ่ไม่มีปัญหากับมาตรานี้
อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค กล่าวว่า อุดมการณ์แรกเริ่มของการก่อตั้งพรรคมาจากความต้องการปกป้องสถาบันสำคัญแห่งชาติ พรรคจึงไม่มีนโยบายแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 พร้อมเดินหน้าคัดค้านขัดขวางให้ถึงที่สุด และขอไม่ร่วมงานกับพรรคการเมือง นักการเมือง หรือกลุ่มการเมืองใดที่เสนอแก้กฎหมายมาตรา 112
“ถ้าเราไม่คิดทำผิดกฎหมาย ทำไมต้องกลัวรับโทษทางกฎหมาย ผมเชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่ไม่รู้สึกว่ากฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นปัญหาอุปสรรคในการดำเนินชีวิต ใช้ชีวิตประจำวัน จะมีก็แต่กลุ่มคนที่คิดจะท้าทาย คิดจะทำผิดกฎหมาย แต่ก็กลัวโทษตามกฎหมาย จึงมาเรียกร้องให้แก้กฎหมาย เพื่อสิ่งที่ตนจะทำเป็นสิ่งไม่ผิดกฎหมายไม่ต้องรับโทษ” อนุทินกล่าว
พรรคพลังประชารัฐ – เทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ โฆษกพรรคพลังประชารัฐ ได้แสดงจุดยืนต่อการแก้ไขมาตรา 112 ว่า ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งในการแก้ไข เพราะพรรคพลังประชารัฐชัดเจนต่อจุดยืนการเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมาตลอดโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง
พรรคไทยภักดี – การมีกฎหมายมาตรานี้เป็นเรื่องปกติ
สุขสันต์ แสงศรี โฆษกพรรคไทยภักดี กล่าวว่า มาตรา 112 เป็นกฎหมายคุ้มครองประมุข-พระมหากษัตริย์ที่ใช้กันทั่วโลก การมีกฎหมายนี้เป็นเรื่องปกติ และการเสนอให้สำนักพระราชวังเป็นโจทก์แจ้งความเองเป็นการดึงหน่วยงานที่เกี่ยวของกับสถาบันฯ มาเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชนโดยตรง นอกจากนี้ พรรคไทยภักดียังส่งตัวแทนเข้ายื่นหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เมื่อวันที่ 21 ตุลาคมที่ผ่านมา ให้ตรวจสอบกรณีพรรคก้าวไกลเสนอนโยบายแก้ไขมาตรา 112 ว่าผิดบัญญัติรัฐธรรมนูญหรือไม่
พรรคชาติไทยพัฒนา – รอให้ดินกลบหน้า ไม่ยอมแก้มาตรา 112
วราวุธ ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึง มาตรา 112 ว่าไม่ใช่มาตราที่หาเรื่องใคร แต่ใช้เพื่อปกป้องสถาบันฯ อันเป็นที่รัก หากมีใครอุตริไปหาเรื่อง เราต้องมีอุปกรณ์หรือกฎหมายปกป้องสถาบันฯ
“มาตรา 112 มีมาตั้งแต่สมัยปู่ ย่า ตา ยาย ไม่เห็นใครมีปัญหา หัวเด็ดตีนขาดก็ต้องมีมาตรา 112 รอให้ดินกลบหน้า ผมไม่ยอมแก้มาตรา 112 แน่นอน”
พรรคไทยศรีวิไลย์ – ไม่แก้ไขมาตรา 112 เพราะอาจทำให้เกิดสงครามกลางเมือง
มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ หัวหน้าพรรค กล่าวว่า ไม่มีนโยบายแก้ไข มาตรา 112 จำเป็นต้องมีกฎหมายคุ้มครองประมุข ถ้าไม่มีกฎหมายคุ้มครองจะทำให้ประเทศเสื่อมลงจนเป็นช่องว่างให้คนบางกลุ่มรับข้อมูลด้านเดียว หากปล่อยให้มีการรณรงค์แก้ไข จะเกิดความสั่นคลอนในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ทำให้เกิดสงครามทางความคิด จนนำไปสู่สงครามกลางเมืองได้
พรรคก้าวไกล – แก้ให้โทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 1 ปี
พรรคก้าวไกลเสนอนโยบาย ‘เห็นต่างไม่ติดคุก’ แก้ไขมาตรา 112 โดยลดโทษเหลือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และในกรณีความผิดต่อพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แก้ไขโทษจำคุกเหลือไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนี้ ให้ย้ายมาตรา 112 ออกจากหมวดความมั่นคง ให้เป็นความผิดที่ยอมความได้ โดยมีสำนักพระราชวังเป็นผู้แจ้งความเท่านั้น รวมถึงเพิ่มบทบัญญัติคุ้มครองไม่ให้ใช้กฎหมายดังกล่าวแก่กรณีวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต ติชม และแสดงความเห็น เพื่อรักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขได้ และเพิ่มเหตุเว้นโทษกรณีพิสูจน์ได้ว่าข้อความนั้นเป็นความจริง แต่ห้ามไม่ให้พิสูจน์เรื่องความเป็นอยู่ส่วนพระองค์ และการพิสูจน์ไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน
คำถามต่อมาซึ่งต้องพิสูจน์ก็คือ แล้วมาตรา 112 ไม่มีปัญหาใดๆ จริงหรือไม่..
“ไม่มีประเทศไหนไม่มีบทคุ้มครองประมุข แต่ไม่มีประเทศไหนกำหนดอัตราโทษสูงเหมือนประเทศไทย และไม่มีประเทศไหนมีจำนวนการดำเนินคดี 200 คดีเท่าประเทศไทย” ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเปิดเผยสถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2563-17 ตุลาคม 2565 พบว่ามีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมืองในข้อหาตามมาตรา 112 แล้วอย่างน้อย 216 คน ใน 235 คดี
ในจำนวนคดีทั้งหมด แยกเป็นคดีที่มีประชาชนเป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษจำนวน 108 คดี คดีที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมร้องทุกข์กล่าวโทษจำนวน 11 คดี คดีที่กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีร้องทุกข์กล่าวโทษ 9 คดี คดีที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองร้องทุกข์กล่าวโทษ 1 คดี ส่วนที่เหลือเป็นคดีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้กล่าวหา
พฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหาแยกเป็นคดีที่เกี่ยวกับการปราศรัยในการชุมนุมจำนวน 46 คดี คดีการแสดงออกอื่นๆ ที่ไม่ใช่การปราศรัย เช่น การติดป้าย พิมพ์หนังสือ แปะสติ๊กเกอร์ จำนวน 58 คดี คดีที่เกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ จำนวน 123 คดี และไม่ทราบสาเหตุ 8 คดี
ผู้ถูกดำเนินคดีเป็นเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี จำนวน 17 ราย ในจำนวน 20 คดี ศาลมีการออกหมายจับ อย่างน้อย 84 หมายจับ (กรณี เดฟ ชยพล นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถูกศาลจังหวัดธัญบุรีออกหมายจับ แต่ต่อมาตำรวจไปขอยกเลิกหมายจับ และไม่ได้ดำเนินคดี) มีการจับตามหมายจับเก่าตั้งแต่ช่วงปี 2559 อย่างน้อย 2 หมายจับ คดีที่อยู่ในชั้นศาลแล้ว จำนวน 155 คดี ยังไม่มีแม้แต่ 1 คดีที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี
หากย้อนไทม์ไลน์ของกฎหมายมาตรา 112 จะพบว่าอัตราโทษ มาตรา 112 ถูกปรับเพิ่มในช่วงรัฐประหารปี 2519 โดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินให้เหตุผลว่า อัตราโทษในความผิดต่างๆ เหล่านี้ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน จึงสมควรแก้ไขอัตราโทษให้สูงขึ้น ซึ่งมาตรา 112 เดิมมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2499 ถูกปรับเพิ่มอัตราโทษขั้นต่ำเป็นจำคุก 3-15 ปี ซึ่งถือเป็นอัตราโทษหมิ่นประมาทที่สูงกว่าสมัยประเทศไทยปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
ปิยบุตรชี้ให้เห็นปัญหาของมาตรา 112 ไว้ว่า
1. มีอัตราโทษที่สูงเกินไป และกำหนดอัตราโทษขั้นต่ำไว้ที่จำคุก 3 ปี ซึ่งไม่ว่าศาลจะพิพากษาอย่างไรก็มีอัตราโทษขั้นต่ำรอรับไว้แล้ว หากเปรียบเทียบกับกฎหมายอาญาฐานความผิดต่างๆ ส่วนใหญ่จะไม่มีอัตราโทษขั้นต่ำเพื่อเปิดทางให้ศาลได้ใช้ดุลพินิจในการตัดสินโทษ เช่น จำคุก 1 วัน 3 เดือน หรือ 1 ปี
2. ไม่มีการแยกตัวบท ดูหมิ่น หมิ่นประมาทอาฆาตมาดร้าย ส่งผลให้เกิดการคลุมเครือใน 3 ความผิด นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถร้องทุกข์กล่าวโทษที่ไหนก็ได้ส่งผลให้คนที่ถูกฟ้องต้องเดินทางข้ามจังหวัด ซึ่งแตกต่างจากโทษหมิ่นประมาททั่วไป ที่เจ้าทุกข์ต้องประเมินเองว่าเสียหายหรือไม่ บางคนอาจประเมินแล้วไม่เสียหาย หรือเสียหายแต่ไม่อยากเอาความ
ไม่มีประเทศไหนไม่มีบทคุ้มครองประมุข
ในปี 2564 ประเทศไทยเป็น 1 ใน 13 ประเทศที่คณะทำงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนตามระยะ ครั้งที่ 3 (Universal Periodic Review: UPR) ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ โดยตัวแทนจากชาติประชาธิปไตยตะวันตกต่างๆ ได้แก่ เบลเยียม แคนาดา ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี นอร์เวย์ สวีเดน และสวิตเซอร์แลนด์ ได้เรียกร้องในที่ประชุมให้ดำเนินการแก้ไขหรือทบทวนประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยกล่าวว่ากฎหมายมาตรานี้เป็นเครื่องมือในการจำกัดสิทธิเสรีภาพการแสดงออก
กฎหมายหมิ่นประมาทประมุขแห่งรัฐ ของแต่ละประเทศเป็นอย่างไรบ้าง?
สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
1. ประเทศที่มีประมุขแต่ได้ยกเลิกการบังคับกฎหมาย
2. ประเทศที่มีกฎหมายหมิ่นประมาทประมุขแห่งรัฐ ยังไม่ได้ยกเลิก
ประเทศที่มีประมุขแต่ได้ยกเลิกการบังคับกฎหมายมาตรานี้
1. ประเทศอังกฤษ – ยกเลิกมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติความยุติธรรมทางอาญาและการออกใบอนุญาต (สกอตแลนด์) 2553 ยกเลิกกฎหมายอาญาทั่วไปเกี่ยวกับการปลุกระดมและความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือกล่าววิจารณ์พระมหากษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักร การฟ้องร้องครั้งสุดท้ายสำหรับความผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เมื่อ ค.ศ. 1715
ประเทศญี่ปุ่น – ในรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1947 ได้ยกเลิกกฎหมายการล่วงละเมิดจักรพรรดิเป็นอาชญากรรม เพราะญี่ปุ่นมีคดีการตัดสินการล่วงละเมิดจักรพรรดิครั้งล่าสุดเมื่อปี ค.ศ. 1946
ประเทศนอร์เวย์ – นอร์เวย์เคยกำหนดโทษของการหมิ่นประมุขไว้สูงสุด คือการประหารชีวิตด้วยการตัดหัว ซึ่งเป็นวิธีการในช่วงทศวรรษ 1600-1700 แต่เมื่อสังคมมนุษย์พัฒนา จึงมีการปรับเปลี่ยนแก้ไขกฎหมายใหม่เป็นปรับโทษไม่เกิน 5 ปี และต้องให้พระมหากษัตริย์เป็นผู้รับสั่งให้ดำเนินคดีเองถึงจะสามารถดำเนินคดีได้ ซึ่งแตกต่างจากประเทศไทยที่ทุกคนสามารถร้องทุกข์กล่าวโทษที่ไหนก็ได้
ประเทศที่ยังมีกฎหมายคุ้มครองประมุข
เนเธอร์แลนด์ – ปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยมีประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 111 ซึ่งมีมาตั้งแต่ ค.ศ. 1818 ระบุว่า ผู้ที่ดูหมิ่นกษัตริย์อาจถูกจำคุกได้สูงสุด 5 ปี ส่วนการดูหมิ่นพระราชินี รัชทายาท หรือคู่สมรสของรัชทายาท มีโทษจำคุกสูงสุด 4 ปี ตามมาตรา 112
เว็บไซต์ Overheid.nl ซึ่งรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานรัฐบาลต่าง ๆ ระบุว่า มาตรา 111 และ 112 สิ้นผลบังคับใช้ไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2020 นั่นหมายความว่าบุคคลที่ดูหมิ่นประมุขจะถูกตัดสินด้วยโทษเดียวกับประชาชนทั่วไป ย้อนกลับไปใน ค.ศ. 2016 ซึ่งเป็นการใช้กฎหมายครั้งล่าสุด และศาลตัดสินให้จำคุก 30 วัน
เดนมาร์ก – มาตรา 268 ของประมวลกฎหมายอาญา ระบุว่า บุคคลใดที่ว่าร้ายผู้อื่นโดยไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นความจริงอาจถูกจำคุกสูงสุด 2 ปี แต่หากเป็นการว่าร้ายกษัตริย์โทษจะเพิ่มเป็น 2 เท่า แต่หากเป็นการละเมิดไม่ร้ายแรงจะมีโทษจำคุก 4 เดือน
เบลเยียม – ใน ค.ศ. 1847 กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในเบลเยียม ได้กำหนดให้ผู้ทำผิดมีโทษจำคุก 3 ปี แต่เมื่อปลายปี 2021 ศาลรัฐธรรมนูญเบลเยียมตัดสินว่ากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของประเทศไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญเพราะไม่ให้ความเคารพต่อเสรีภาพในการแสดงออกและก็ยังขัดต่ออนุสัญญาสิทธิมนุษยชนยุโรป (The European Convention on Human Rights: ECHR)
มาเลเซีย – การกระทำการซึ่งก่อให้เกิดความเกลียดชัง ต่อรัฐบาล ศาล ประมุขแห่งรัฐ (สุลต่าน) มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 5,000 ริงกิต (ประมาณ 4 หมื่นบาท) นอกจากนี้ หนังสือพิมพ์เดอะสเตรทไทมส์ของสิงคโปร์ รายงานเมื่อปี 2019 ว่า เลียว วุย เคียง รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีของมาเลเซียในขณะนั้น ไม่มีแผนจะเดินตามรอยออกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแบบไทย แต่ในปีเดียวกันหน่วยงานที่วิเคราะห์เศรษฐกิจ ( Economist Intelligence Unit: EIU) ได้ให้คะแนนมาเลเซียเป็นประเทศที่มีประชาธิปไตยบกพร่อง
กัมพูชา – มีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 5 ปี สำหรับผู้หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ และปรับเป็นเงิน 2,500 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 77,500 บาท)
Tags: ม.112, ยกเลิก ม.112, ยกเลิก 112, Feature, 112, พรรคประชาธิปัตย์, พรรคเพื่อไทย, พรรคพลังประชารัฐ, พรรคภูมิใจไทย, พรรคก้าวไกล