หากพูดถึงคลองในกรุงเทพฯ คุณนึกถึงอะไรเป็นสิ่งแรก?
น้ำดำ น้ำเน่า ขยะ สกปรก ส่งกลิ่นเหม็นคละคลุ้งไปทั่วบริเวณ
จนบางครั้งมีคำพูดติดตลกเวลาน้ำกระเด็นขณะนั่งเรือโดยสารว่า “ระวังตาบอด”
ทั้งที่ครั้งหนึ่งกรุงเทพฯ เคยถูกขนานนามว่าเป็น ‘เวนิสตะวันออก’ เพราะมีคูคลองที่สวยงามและมีคลองมากถึง 1,980 สาย รวมความยาวกว่า 2,700 กิโลเมตร แต่ทำไมภาพของเวนิสตะวันออกถึงเลือนหาย แทนที่ด้วยขยะและความเหม็นเน่าเช่นนี้
กทม. มีความพยายามในการแก้ปัญหาเรื่องคลองน้ำเน่าเสียมาโดยตลอด ซึ่งปรากฏเห็นได้ชัดตั้งแต่สมัยผู้ว่าฯ อรรถ วิสูตรโยธาภิบาล (ปี 2516–2517) ที่อนุมัติงบประมาณกว่า 250 ล้านบาท เพื่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสียที่ปลายคลองช่องนนทรี และสร้างแล้วเสร็จในสมัยของผู้ว่าฯ จำลอง ศรีเมือง ซึ่งกินเวลาการสร้างมากกว่า 20 ปี แต่สุดท้ายการบำบัดน้ำเสียจากชุมชนในกรุงเทพฯ ก็ยังไม่เพียงพอ
ข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษเปิดเผยว่า คนกรุงเทพฯ ใช้น้ำประปาวันละ 2,637,009 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน และกลายเป็นน้ำเสียประมาณ 2,109,607 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน หรือคิดเป็น 80 เปอร์เซ็นต์ แต่โรงควบคุมคุณภาพน้ำสามารถบำบัดน้ำเสียได้จริงวันละ 881,003 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน หรือคิดเป็น 41.76 เปอร์เซ็นต์ของน้ำเสียในแต่ละวันเท่านั้น
แม้ปัจจุบันกรุงเทพฯ จะมีคลองสวยอย่างคลองโอ่งอ่าง หรือคลองช่องนนทรีที่ใช้งบประมาณในการก่อสร้างปรับปรุงภูมิทัศน์คลองถึง 980 ล้านบาท นอกจากนี้ กทม. ยังมีหนังสือไปยังอธิบดีกรมธนารักษ์ ลงวันที่ 12 ตุลาคม 2564 เพื่อของบอุดหนุนจากรัฐบาล ทำให้งบประมาณในการปรับปรุงคลองช่องนนทรีเพิ่มเป็น 1,556 ล้านบาท
แล้วคลองอื่นๆ ในกรุงเทพฯ จะสามารถสวย มีน้ำใส อย่างคลองโอ่งอ่างและคลองช่องนนทรีได้หรือไม่ ทำไมกรุงเทพฯ ถึงแก้ปัญหาคลองไม่ได้สักที และคำถามที่แท้จริง คือประชาชนต้องการเพียงคลองสวยสำหรับถ่ายรูป หรือคลองที่มีระบบการระบายน้ำจัดการน้ำเสียอย่างมีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพกันแน่?
The Momentum ล่องเรือสำรวจคลองลาดพร้าว คลองใจกลางเมืองที่มีความยาวกว่า 24 กิโลเมตร ไหลตัดผ่านบ้านเรือนมากกว่า 7,000 หลัง และแน่นอนว่าคลองนี้ประสบปัญหาชุมชนแออัดตามการขยายตัวของเมืองใหญ่ รวมถึงปัญหาน้ำเน่าเสียอย่างไม่น้อยหน้าคลองอื่น
“ตอนนี้คลองลาดพร้าวดีขึ้นมากครับ เพราะตั้งแต่มีสื่อมวลชนมาลงพื้นที่ถ่ายทอดปัญหา โครงการและหน่วยงานต่างๆ ก็ลงมาแก้ปัญหามากขึ้น การทำงานเข้มขึ้น ขยะก็ลดน้อยลง แต่พวกคลองเส้นเล็กยังมีปัญหาอยู่เพราะมันอยู่ในซอกหลืบ
“ถ้าให้ผมพูดตรงๆ คือไม่มีหน่วยงานไหนอยากมาทำ เพราะไม่มีคนเห็น – สร้างภาพไม่ได้ ” จำรัส กลิ่นอุบล อายุ 51 ปี ประธานชุมชนลาดพร้าว 45 กล่าว
คลองลาดพร้าวที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้า สะอาดกว่าคลองลาดพร้าวที่เคยเห็นเมื่อนานมาแล้ว และใสมากกว่าภาพที่จินตนาการไว้ จำรัสกล่าวต่อว่า เมื่อไม่กี่ปีมานี้คลองลาดพร้าวถูกพูดถึงและมีสื่อมวลชนลงมาทำข่าวเรื่องปัญหาน้ำเน่าเสียอยู่บ่อยๆ ทำให้หน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือภาคเอกชนต่างแห่แหนมาช่วยจัดการปัญหา ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องดี แต่จะดีขึ้นไปอีกหากคลองเล็กเข้าถึงการจัดเก็บขยะได้เหมือนคลองใหญ่อย่างคลองลาดพร้าว
“มันผิดตั้งแต่การวางระบบน้ำเสียแต่ต้นแล้ว มันต้องแก้ไขไปพร้อมๆ กัน เพราะเมื่อก่อนคนริมคลองเขาใช้น้ำคลอง แต่พอรัฐบาลมีการวางระบบคลองให้เป็นที่ทิ้งน้ำเสีย ทำให้ชาวบ้านไม่ได้ใช้น้ำและไม่คิดจะอนุรักษ์ เพราะคิดว่าก็น้ำมันเสียไปแล้ว จะทิ้งขยะอะไรลงไปก็ได้”
ในปี 2564 คลองลาดพร้าวมีค่าเฉลี่ยความต้องการออกซิเจนทางชีวเคมี (Biological Oxygen Demand: BOD) ซึ่งใช้วัดความเน่าเสียของน้ำอยู่ที่ 20 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งกรุงเทพฯ กำหนดค่า BOD ของทุกคลองไว้ไม่เกิน 15 มิลลิกรัมต่อลิตร
นอกจากปัญหาเรื่องการบำบัดน้ำเสียไม่เพียงพอแล้ว ปัญหาที่จำรัสมองว่าสำคัญมาก คือ ‘ท่อน้ำรวม’ เพราะจุดกำเนิดของน้ำเน่าเสียยังมีองค์ประกอบอีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นท่อน้ำเสียที่มาจากที่พักใกล้คลอง เช่น คอนโดมิเนียม ชุมชนริมคลอง ตลาด โรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยน้ำที่ไม่ได้รับการบำบัดลงแหล่งน้ำธรรมชาติ หรือการปล่อยสิ่งปฏิกูลต่างๆ ลงน้ำก็ตาม เหล่านี้ถือเป็นปัญหาทั้งสิ้น
“โครงการที่รัฐบาลเขาคิดเอาบ้านที่รุกล้ำคลองขึ้นบกและทำบ้านใหม่มันก็ดี แต่ปัญหาคือชาวบ้านเขาต้องทำบ้านใหม่และต้องเป็นหนี้เป็นสิน มันเลยมีการคัดค้านกันพอสมควร” จำรัสกล่าว
ในปี 2565 กทม. ได้เดินหน้าทำแผนงานฟื้นฟูและพัฒนาคลอง โดยมีคลองลาดพร้าว คลองเปรมประชากรและคลองแสนแสบ ซึ่งมีระยะความยาวของคลองประมาณ 2,700 กิโลเมตร และมีสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำประมาณ 23,500 หลัง
คลองลาดพร้าว ณ ปัจจุบันจึงมีทั้งบ้านที่สร้างขึ้นใหม่ตามโครงการของภาครัฐ บ้านที่กำลังก่อสร้าง บ้านที่กำลังรื้อถอน และบ้านที่ไม่มีเงินในการรื้อถอนและสร้างใหม่
จำรัสเสนอว่า อีกวิธีที่จะทำให้คลองน้ำใสสะอาดขึ้น ต้องเริ่มจากการปลูกจิตสำนึกให้คนในชุมชนได้ช่วยกันอนุรักษ์ และฟื้นคืนความสำคัญของน้ำให้หวนกลับสู่ชุมชน แม้จะมีคนเก็บขยะมากเพียงใด แต่ถ้าคนทิ้งไม่หยุด ปัญหาขยะก็จะไม่จบเสียที
ในขณะที่เรือกำลังแล่นไปในคลองที่มีความยาวประมาณ 45 กิโลเมตรนั้น ก็จะพบกับวิถีชีวิตคนริมคลองอย่างไม่ขาดสาย ทั้งการเล่นน้ำของเด็กๆ การตกเบ็ดหาปลา หรือการนั่งเล่นริมคลองก็ตาม อีกอาชีพที่ได้รับความนิยมในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจและทำให้คลองลาดพร้าวใสสะอาดขึ้น นั่นคือการเก็บขยะริมน้ำและนำไปขาย
“ที่ภาครัฐเก็บขยะอยู่ทุกวันนี้ไม่เพียงพอ เก็บวันละครั้งมันไม่เพียงพอต่อขยะที่เกิดขึ้น เขาเก็บแต่เขาไม่จัดการ ไม่มาแยกเหมือนกับพวกเรา เก็บขยะไปก็ฝังกลบอย่างเดียว เก็บตามจุดที่เขาตั้งไว้แต่ไม่ละเอียด ถ้าชาวบ้านทิ้งไม่ลงถังก็ไม่เก็บ ” สำเนียง บุญลือ วัย 66 ปี เจ้าหน้าที่มูลนิธิเทอร์ราไซเคิล ไทย
คลองในกรุงเทพฯ แบ่งความรับผิดชอบออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1. กทม. ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ 1. สำนักงานระบายน้ำ 2. สำนักงานเขต (จะดูแลเกี่ยวกับชุมชน) และกรมชลประทาน ส่วนมูลนิธิเทอร์ราไซเคิล ไทย ที่สำเนียงทำงานอยู่ เป็นการทำงานของภาคเอกชน ซึ่งปกติแล้วหน่วยงานของภาครัฐจะมาเก็บขยะในทุกเช้า โดย กทม. จะเก็บขยะตามถังขยะที่ตั้งไว้ ส่วนในทางน้ำจะมีเรือมาเก็บตามจุดดักขยะในทุกเช้าเช่นกัน
ส่วนมูลนิธิเทอร์ราไซเคิล ไทยมีจุดเก็บขยะอยู่ 3 จุด ซึ่งเป็นการดักขยะผ่านตะแกรงใต้น้ำ ขยะที่เก็บได้จึงเป็นขยะที่หมักหมม มองตามผิวน้ำจะไม่เห็น การดักขยะดังกล่าวจะแตกต่างจากจุดดักขยะของภาครัฐที่ใช้เพียงไม้ไผ่ดักขยะที่ลอยมาเท่านั้น เขาเล่าต่อว่า หากคิดเป็นค่าเฉลี่ยต่อวันแล้ว มูลนิธิฯ สามารถเก็บขยะได้ประมาณวันละ 1 ตัน หลังจากเก็บแล้วก็จะนำมาตากแห้งและทำการคัดแยกขยะออกเป็น 7 ส่วน ส่งไปทำพลังงานไฟฟ้าต่อ ไม่มีการฝังกลบเหมือนกับหน่วยงานของภาครัฐ
จากประสบการณ์ส่วนตัวของเขาที่เกิดกับคลอง กินอยู่กับคลอง ทำงานกับคลอง เขาชี้ให้เห็นว่า ปัญหาขยะในคลองที่แก้ไม่ได้สักทีมาจากการที่ภาครัฐเก็บขยะอย่างเดียว แต่ไม่ให้ความรู้กับประชาชน
“การทำงานระหว่าง กทม. กับเขตไม่เชื่อมกัน กทม. เก็บแค่ในน้ำ เขตเก็บแค่บนบก บางทีเขตโมโหก็เทขยะลงคลองแม่งเลย” จำรัสเสริม
“แบบนี้ก็มีด้วย?” เราถาม
“มีสิ อย่างขยะที่ห้อยๆ ตามรั้วราวแบบนี้เขตต้องเก็บ แต่เขตเก็บไม่ครบ เขาทำงานตามเวลาของเขา ออกมาหนึ่งรอบถ้าขยะเต็มก็กลับ ไม่มีการวิ่งเก็บเพิ่มรอบ และกลับมาเก็บวันหลัง แบบวันนี้เก็บจุดนี้ พรุ่งนี้ก็ไปเก็บจุดอื่น แต่หากทำงานร่วมกันมันจะเอื้อต่อกัน สมมติในคลองไม่มีขยะ กทม. ก็จะได้ช่วยเก็บขยะบนบกให้ด้วย” จำรัสอธิบายต่อ
“ที่บอกเทขยะลงน้ำนี่คืออย่างไร?”
“ก็พอถังขยะมันเต็มมันก็ล้น เก็บขยะก็ไม่ทัน ไม่รู้จะทำอย่างไรก็ต้องเท” จำรัสตอบ
ส่วนสาเหตุที่ กทม. ไม่ทำที่ดักจับขยะโดยมีตะแกรงใต้น้ำเหมือนเอกชนทำนั้น สำเนียงตอบคำถามนี้ว่า หากทำเช่นนั้นจะเป็นการเพิ่มภาระงาน หากเป็นที่ดักขยะแบบไม้ไผ่ ทาง กทม. ก็จะล่องเรือมาตักขยะที่ลอยและเก็บไปทิ้งได้เลย แต่หากเป็นการดักขยะใต้น้ำ ขยะก็จะหนักขึ้น และมีกระบวนการหลายอย่างไม่สามารถนำไปทิ้งได้ทันทีแบบที่ผ่านมาได้
“คุณเห็นบ้านชุมชนที่สร้างมาใหม่ไหม อีกไม่นานก็คงจะกลายเป็นสลัม เพราะหน่วยงานรัฐไม่มาดูแล ไม่เข้มงวด มันควรจะมีเจ้าหน้าที่รัฐมาเข็นขยะในแต่ละวัน เพื่อนำขยะในชุมชนออกไปสู่จุดใหญ่ แต่นี่ไม่มีเลย พอชาวบ้านเขาทิ้งขยะ มันก็ล้นเหม็นหน้าบ้าน แล้วทำอย่างไรต่อ มันเหม็นหน้าบ้านกูแล้วโว้ย กูก็โยนทิ้งในคลองดีกว่า การเก็บขยะมันยังไม่ทั่วถึง เพราะฉะนั้นต้องมีหน่วยชักลากจากชุมชนเข้ามา มันถึงจะดี” สำเนียงทิ้งท้าย
ปัญหาคลองเน่าน้ำเสียมีสาเหตุอีกมากมาย ทั้งจำนวนประชากรที่แออัด ผังเมืองที่แย่ และแน่นอนว่า กทม. คงไม่สามารถจัดการปัญหาได้เพียงผู้เดียว เพราะต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาล และการร่วมมืออีกหลายภาคส่วน
แต่ที่ผ่านมา กทม. กลับมีการอนุมัติงบพัฒนาคลองจำนวนหลายล้านบาท เช่น คลองโอ่งอ่าง ที่ใช้งบประมาณในการปรับภูมิทัศน์ไม่น้อยไปกว่า 400 ล้านบาท, คลองผดุงกรุงเกษม ที่ใช้งบประมาณเฉพาะในส่วนของการปรับภูมิทัศน์ไปกว่าร้อยล้านบาท, โครงการปรับภูมิทัศน์คลองหลอดวัดราชนัดดาฯ และคลองหลอดวัดราชบพิธฯ อีก 64 ล้านบาท และโครงการปรับภูมิทัศน์คลองคูเมืองเดิมอีก 200 ล้านบาท
กรุงเทพฯ ยังคงมีคลองอีกจำนวนมากที่ประสบปัญหาน้ำเน่าเสียอย่างหนักและรอการพัฒนา และอีกคำถามที่สำคัญ คือชาวกรุงเทพฯ ต้องการเพียงแค่คลองสวยน้ำใส ไว้ถ่ายรูปแค่ช่วงระยะเวลาสั้นๆ หรือชาวกรุงเทพฯ ต้องการคลองสวยน้ำใสได้มาตรฐาน และประชาชนสามารถดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันได้เฉกเช่นในอดีต ที่คลองถือเป็นสายเลือด เป็นสายน้ำแห่งวิถีชีวิตกันแน่
Tags: คลองลาดพร้าว, น้ำเน่า, คลอง, กรุงเทพ, Bangkok Upside Down