คุณเคยขึ้นขึ้นโป๊ะข้ามฟากในกรุงเทพฯ ไหม

สำหรับบางคนคงมีคำตอบว่า ไม่เคย และไม่เคยรู้ว่า นอกจากการข้ามฟากแม่น้ำเจ้าพระยา ในกรุงเทพฯ ยังสัญจรกันโดยใช้โป๊ะข้ามฟากอยู่ แต่สำหรับคนที่อาศัยอยู่ริมคลองแสนแสบ ก็คงตอบว่า ใช้งานเป็นประจำ 

เพราะตลอดเส้นคลองแสนแสบ นอกจากเรือและสะพานในบางจุดแล้ว ก็ยังมีโป๊ะเรือที่ชุมชนริมน้ำยังคงใช้เดินทางไปมา รวมถึงมัสยิดริดวานุ้นที่ตั้งอยู่ในซอยลาดพร้าว 132 ก็เป็นอีกหนึ่งจุดที่มีโป๊ะเรือตั้งอยู่ 

ทว่าเมื่อเข้าไปสำรวจถึงชีวิตผู้คนรอบมัสยิดนั้น ในความเป็นจริงแล้วพวกเขาไม่ได้อยากจะเดินทางโดยโป๊ะข้ามฟากเท่าไรนัก เพราะหากมีสะพานให้ข้ามก็คงจะดี ปลอดภัยมากกว่า อีกทั้งยังไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการขึ้นโป๊ะข้ามฟากในราคา 3 บาทต่อเที่ยว แบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

แม้จะเห็นพ้องต้องกัน แต่ในความเป็นจริงการจะสร้างสะพานสักแห่งหนึ่งนั้นไม่ง่าย โดยเฉพาะพื้นที่ตรงนี้ที่ใกล้กับสะพานนิยมยินดี ซึ่งตั้งอยู่ซอยลาดพร้าว 130 ถัดไปไม่กี่ซอย จึงเป็นปัญหาว่าอาจเป็นการสร้างสะพานซ้ำซ้อนหรือไม่

The Momentum พูดคุยกับ สุกิจ เหล็งศิริ กรรมการเลขานุการมัสยิดริดวานุ้น ถึงเรื่องความเป็นมาของโป๊ะเรือข้ามฟาก การเดินทางของคนในชุมชน และสิ่งที่อยากได้ เพื่อทำให้การสัญจรในพื้นที่ริมคลองแสนแสบสะดวกและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

ทำไมคลองแสนแสบจึงมีโป๊ะข้ามฟาก 

สุกิจเล่าว่า เดิมทีการเดินทางข้ามฟากของชุมชนริมคลองแสนแสบ จะใช้บริการเรือข้ามฟาก โดยจะเสียค่าเดินทางเพียง 1 สลึงต่อเที่ยว จนช่วงปี 2526 ที่มีช่างก่อสร้างรายหนึ่ง เกิดความคิดทำโป๊ะเรือข้ามฟาก จึงนำเหล็กมาสร้างเป็นโป๊ะและขึงสลิง ใช้วิธีการปั่นให้โป๊ะเดินทางไปกลับได้สะดวก รวดเร็ว และบรรทุกผู้คนได้มากยิ่งขึ้น 

ดังนั้นโป๊ะข้ามเรือที่ตั้งอยู่ตามจุดชุมชนต่างๆ จึงเกิดขึ้นตามมา โดยบางจุดก็เป็นของวัดที่อยู่ละแวกนั้น บางจุดก็เป็นของเอกชนที่ทำขึ้นมาเอง แต่ไม่มีจุดใดเลยที่เป็นของภาครัฐ

กระทั่งการเข้ามาของสะพานข้ามฟากบริเวณซอย 81 ใกล้กับมัสยิดริดวานุ้น

สุกิจเล่าว่า แม้จะมีการตัดสะพานเพื่อให้รถยนต์สามารถสัญจรได้สะดวกขึ้น รวมถึงให้ประชาชนสามารถเดินทางข้ามฟากได้โดยไม่ต้องเสียค่าบริการ (ปัจจุบันค่าเดินทางข้ามฟากโดยโป๊ะ มีราคา 3 บาทต่อเที่ยว) 

ทว่าการเดินขึ้นสะพานก็ยังเป็นอุปสรรคกับคนในชุมชน ทั้งในเรื่องของระยะทางที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการเดินขึ้นลงบันไดที่เป็นอุปสรรคกับคนที่สุขภาพไม่ได้แข็งแรงนัก 

นอกจากเรื่องระยะทาง ความปลอดภัยก็เป็นอีกสิ่งที่ชุมชนเป็นกังวล เพราะการขึ้นโป๊ะข้ามฟากต้องระมัดระวังในการขึ้น โดยเฉพาะช่วงที่น้ำลดลง หรือมีเรือสัญจรผ่านไป เพราะจะทำให้ระดับของโป๊ะและตลิ่งไม่เสมอกัน เป็นอุปสรรคในการขึ้น 

ยังไม่รวมถึงเรื่องที่ต้องระวังเรือที่วิ่งเลียบคลอง ซึ่งต้องคอยหยุดและหลบให้กันอยู่เสมอ และหากสื่อสารกันไม่ดีก็อาจทำให้เกิดเหตุการณ์เรือชนโป๊ะได้ สุกิจเล่าว่า ที่ผ่านมาเคยมีเหตุการณ์เช่นนี้ จนมีผู้เสียชีวิตมาแล้ว

เหตุใดจึงไม่ติดตั้งสะพานแทนโป๊ะข้ามฟาก สุกิจเล่าว่า หากจะให้เอกชนไปจัดการเองก็ต้องติดต่อกับภาครัฐหลายส่วน เช่น สำนักระบายน้ำ กรมชลประทาน ซึ่งมีขั้นตอนซับซ้อน และหากจะให้ภาครัฐมาจัดการสร้างสะพานให้ก็จะมีปัญหาตรงที่อยู่ใกล้กับสะพานข้ามฟากซอย 81 ทำให้สะพานที่เกิดขึ้น อาจจะซ้ำซ้อน ไม่ถูกใช้งานได้อย่างเต็มที่

แม้จะไม่ได้มองว่าเป็นปัญหา แต่หากมีสะพานที่ใกล้กว่านี้ก็จะดีกว่า สุดท้ายแล้วสุกิจฝากถึงภาครัฐ ให้พิจาณาถึงความเหมาะสมในการสร้างสะพานในพื้นที่ชุมชน ซึ่งหากทำได้ก็จะทำให้การเดินทางของผู้คนริมคลองแสนแสบสะดวกและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น 





Tags: , , , , ,