กรณี ‘กำนันนก’ สั่นสะเทือนวงการตำรวจไทย เพราะนอกจากกรณีนี้จะส่งให้ตำรวจ 2 นาย เสียชีวิตแล้ว ยังส่งผลไปถึงปัญหา ‘โครงสร้าง’ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

1 สัปดาห์ให้หลัง เรื่องของ ‘กำนันนก’ ถูกขยายผลไปยังเรื่องต่างๆ อีกมาก แต่ทุกอย่างยังคงจบลงด้วยเครื่องหมายคำถาม ไม่มีคำตอบ และไม่น่าจะมีคำตอบง่ายๆ อันเป็นสูตรสำเร็จ หลายครั้งคนที่ถูกจับกุมไม่ใช่ ‘ตัวการ’ และสุดท้ายคนที่เสียชีวิตก็อาจไม่ได้รับความยุติธรรม

แล้วคำถามว่าด้วยเรื่องนี้มีอะไรบ้าง… The Momentum รวบรวมมาให้เข้าใจได้ง่ายๆ

1. เกิดอะไรในคืนวันที่ 6 กันยายน?

เรื่องแรกที่สาธารณชนได้รับทราบก็คือ พันตำรวจตรี ศิวกร สายบัว สารวัตรทางหลวง ถูกยิงถึง 7 นัด เสียชีวิตในบ้านพักของ กำนันนก-ประวีณ จันทร์คล้าย ที่จังหวัดนครปฐม ท่ามกลางงานเลี้ยงที่มีตำรวจนั่งอยู่เป็นจำนวนมาก

ข้อมูลแรกก็คือ เป็นความขัดแย้งที่เกิดจากกรณีกำนันนกขอฝาก ‘หลาน’ ให้ทำหน้าที่ในหน่วยงานที่สารวัตรศิวกรทำงานอยู่ แต่ได้รับการปฏิเสธ จากนั้นจึงมีการเขม่นกันระหว่างสองฝ่าย ก่อนตามมาด้วย ‘หน่อง ท่าผา’ ธนัญชัย หมั่นมาก รัวกระสุน 7 นัดเข้าใส่สารวัตรศิวกรจนเสียชีวิตและมีตำรวจบาดเจ็บอีกหนึ่งคน 

ในวันรุ่งขึ้น กำนันนกเข้ามอบตัวกับตำรวจพร้อมปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง และอีกวันหนึ่ง หน่อง ท่าผาก็ถูกวิสามัญฆาตกรรมที่จังหวัดกาญจนบุรี

เรื่องควรจะจบแค่นั้นหากทุกฝ่าย ‘เคลียร์’ กันลงตัว แต่ทั้งหมดยังมีความขัดแย้งที่เกินกว่าฉากหน้า เป็นความขัดแย้งที่อาจโยงถึง ‘ตำรวจ’ ด้วยกัน สั่นสะเทือนทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

 

2. กำนันนกคือใคร?

ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ ประวีณ จันทร์คล้าย มีอายุเพียง 35 ปี ร่ำรวยจากการสืบทอดกิจการรับเหมาก่อสร้างของครอบครัว กระทั่งในที่สุดก็กลายเป็น ‘ผู้มีอิทธิพล’ ในจังหวัดนครปฐม

ความร่ำรวยสะท้อนผ่านโครงการรัฐขนาดใหญ่ที่สืบไปมา รายได้ย้อนหลัง 5 ปีในธุรกิจที่เกี่ยวข้องพุ่งไปเกือบ 3,000 ล้านบาท และส่วนใหญ่เป็นกิจการรับเหมาก่อสร้างในโครงการรัฐที่ต้อง ‘ประกวดราคา’

คลิปวันเกิดกำนันนกสะท้อนให้เห็นว่า ‘บ้านใหญ่’ ของนครปฐมอย่าง จิรวัฒน์ สะสมทรัพย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครปฐม ก็เดินทางมาอวยพรด้วยตัวเอง พร้อมด้วยผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด และกำนันผู้ใหญ่บ้าน แขกเหรื่อวีไอพีเต็มไปหมด

บทสะท้อนภาพผู้มีอิทธิพลอีกอย่างก็คือ ในคืนเกิดเหตุยังมีตำรวจอีกกว่า 28 นาย นั่งอยู่ในงาน และไม่ได้มีเพียงตำรวจในท้องที่ หากแต่ตำรวจส่วนกลาง ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลพญาไท ก็นั่งอยู่ในงาน

คำถามก็คือ แล้วตำรวจไปนั่งอยู่ทำไมในงานนั้น แล้วเพราะเหตุใดตำรวจถึงต้องไปผูกสัมพันธ์กับผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ เป็นคำถามที่ยังคลุมเครือ

 

3. มหาดไทยยุค ‘อนุทิน-ชาดา’ รับลูก ขึ้นทะเบียนผู้มีอิทธิพล

เมื่อ ‘กำนัน’ ของกระทรวงมหาดไทยเข้าไปเกี่ยวกับคดีอาชญากรรม อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจึงเข้าไปเกี่ยวข้องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ประกาศิตแรกของอนุทินคือสั่งการให้ ‘ขึ้นทะเบียน’ ผู้มีอิทธิพลทั่วประเทศ พร้อมกับมอบหมายให้ ชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย หนึ่งในผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็น ‘ผู้มีอิทธิพล’ ในจังหวัดอุทัยธานี เป็นผู้ดูแลและจัดระเบียบ 

แน่นอนว่าเรื่องดังกล่าวถูกโยงไปถึง ‘การเมือง’ ว่าเป็นการบีบให้บรรดาผู้มีอิทธิพลนั้นสนับสนุนพรรคภูมิใจไทย หรือกวาดต้อนผู้มีอิทธิพลเข้าพรรคให้ได้ แต่ทั้งหมดก็เป็นเพียงข้อสังเกต ส่วนข้อสั่งการจากกระทรวงมหาดไทยก็ยังเดินหน้ารวบรวมต่อไป พร้อมกับเสียงจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้จัดการ ‘คนพาล’ ให้เด็ดขาด

และเสียงตั้งคำถามต่อกระทรวงมหาดไทยก็คือ แล้วยังมี ‘กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน’ ทั่วประเทศอีกไหม ที่เป็นผู้มีอิทธิพล ที่อาจเข้าไปเกี่ยวข้องกับวงการ ‘ฮั้วประมูล’ หรือ ‘รับเหมาก่อสร้าง’ แบบกำนันนก

คำตอบก็คือยังมีอีกเพียบและมีแทบทุกจังหวัด และแทบทุกพื้นที่เกือบจะแนบเนียน กลมกลืนไปกับองคาพยพของรัฐอื่นๆ

ในความเป็นจริง การขึ้นทะเบียน-จัดระเบียบผู้มีอิทธิพล จึงเป็นเรื่องน่าขำ และเป็นเรื่องที่ทุกคนต่างรู้ว่าเป็นจริงได้ยาก

4. เรื่องวุ่นวายในแวดวงสีกากี

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจว่ามี 3 นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่จากหลายขั้วอำนาจ วนเวียน-แวดล้อมอยู่ในกรณีกำนันนก

1. พลตำรวจเอก สุรเชษฐ์ หักพาล – รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หัวหน้าทีมสอบสวนเรื่องนี้

2. พลตำรวจเอก ต่อศักดิ์ สุขวิมล – รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

3. พลตำรวจโท จิรภพ ภูริเดช – ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง

เรื่องราวทั้งหมดเกิดในห้วงเวลาการเปลี่ยนรัฐบาล และการแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่ ในช่วงเวลาการแต่งตั้ง-โยกย้ายภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติพอดิบพอดี

เรื่องบังเอิญก็คือว่า สารวัตรศิวกร ผู้เสียชีวิตคนแรกที่บ้านกำนันนก เป็นลูกน้องคนสนิทของพลตำรวจโทจิรภพ ส่วน พันตำรวจเอก วชิรา ยาวไทยสงค์ ผู้กำกับ 2 กองบังคับการตำรวจทางหลวง ที่เป็นผู้ชวนสารวัตรศิวกรไปยังบ้านกำนันนกในคืนนั้น เป็นลูกน้องคนสนิทของพลตำรวจเอกต่อศักดิ์

ในเวลาต่อมา 12 กันยายน 2566 พันตำรวจเอกวชิราเสียชีวิตจากการยิงตัวตายในบ้านพัก ด้วยเหตุที่พลตำรวจเอกต่อศักดิ์ระบุว่า มาจาก ‘ความเครียด’ และแรงกดดันรอบทิศทาง

ในเวลาเดียวกัน มีกระแสข่าวว่าตำรวจบางกลุ่มอยากให้เรื่องนี้เงียบ ไม่อยากให้สาวไปถึง ‘ตอ’ ใหญ่ ขณะที่การสอบสวนยังคงดำเนินต่อไป และมีหลักฐานสำคัญคือ ‘ฮาร์ดดิสก์’ กล้องวงจรปิดที่เพิ่งกู้คืนได้ หลังมีความพยายามทำลายหลักฐานกลางค่ำคืนนั้น

ประเด็นสำคัญก็คือ แล้วชุดสอบสวนจะปะติดปะต่อเรื่องได้หรือไม่ว่า ทั้งหมดเกิดจากความขัดแย้งเรื่องใด มีเรื่อง ‘ผลประโยชน์’ จากส่วยทางหลวงจริงหรือไม่ แล้วเพราะเหตุใดถึงต้องปะทุเป็นเหตุสังหารโหด ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเสียชีวิตทั้งหมดถึง 3 คน 

จนถึงวันนี้ ยังไม่มีใครให้คำตอบได้

 

5. ความล้มเหลวของการ ‘ปฏิรูปตำรวจ’

ประเด็นใหญ่ของเรื่องนี้ย่อมโยงกลับไปหา ‘โครงสร้าง’ เป็นที่รู้กันว่า วงการตำรวจเกี่ยวข้องกับการ ‘คอร์รัปชัน’ เป็นลำดับต้นๆ ไม่ว่าจะเป็นการคอร์รัปชันกับประชาชนผ่านการเรียกรับเงินใต้โต๊ะ การเรียกรับส่วย หรือการคอร์รัปชันภายในหน่วยงานอย่างการซื้อขายตำแหน่ง

ผ่านมา 9 ปี หลังการรัฐประหารคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่มีวาระใหญ่อย่างหนึ่งคือ ‘ปฏิรูปตำรวจ’ ผลก็คือวงการตำรวจยังคงมืดมนเหมือนเดิม การซื้อขายตำแหน่งยังเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงทั่วไป เรื่อง ‘ส่วยทางหลวง’ เพิ่งแดงขึ้นมาไม่กี่เดือนก่อนว่า มีการเคลียร์พื้นที่ด้วยการแปะสติกเกอร์ไว้ที่รถบรรทุกน้ำหนักเกิน เพื่อรับรองว่า ‘จ่ายแล้ว’ กระนั้นเองก็ไม่มีใครยืนยันได้ว่า ส่วยทางหลวงยังคงมีอยู่ตามปกติหรือไม่ กระทั่งเกิดเหตุสังหารโหดสารวัตรศิวกร ที่ตำรวจจำนวนมากภายในบ้านพักกำนันนกเป็นตำรวจทางหลวง

ขณะเดียวกัน เมื่อเกิดเหตุอุกฉกรรจ์ขึ้น ตำรวจจำนวนไม่น้อยยังทำหน้าที่ ‘คุ้มกัน’ กำนันนกออกจากพื้นที่ ณ วันนี้ มีตำรวจถูกออกหมายจับในการพาผู้ต้องหาหลบหนี หรืออาจช่วยกันเคลียร์พื้นที่ ทำลายหลักฐานมากถึง 6 คน

คำถามที่ยังแวดล้อมก็คือ เพราะเหตุใดตำรวจถึงได้ ‘จงรักภักดี’ กับผู้มีอิทธิพล แทนที่จะทำหน้าที่พิทักษ์สันติราษฎร์ อยู่ข้างความถูกต้อง ไม่แม้กระทั่งจะอยู่ข้างตำรวจด้วยกัน

และเพราะเหตุใด ‘กำนันนก’ ถึงเลี้ยงตำรวจมากมายขนาดนั้น มีอิทธิพลเหนือตำรวจทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่มากขนาดนั้น

หากเรื่องนี้ไม่ได้ถูกตัดตอน เรื่องย่อมลากเส้นโยงได้ถึงตำรวจใหญ่ นักการเมือง และผู้มีอิทธิพลทุกระดับ

แต่หากเหมือนทุกเรื่องในอดีต เรื่องนี้จะจบลงแบบงงๆ มีคนผิดเพียงคนเดียว ส่วนคนอื่นๆ ก็โดนโยกย้ายและรับโทษคนละนิดละหน่อย

แล้ววงการตำรวจก็จะดำเนินต่อไปแบบเดิม ราวกับว่าไม่เคยเกิดอะไรขึ้น…

Tags: , ,