‘มาดขรึม ยืนอย่างสง่าผ่าเผย แต่ก็พร้อมจู่โจมเมื่อได้รับคำสั่งจากเจ้าของ’
เหล่านี้คือภาพจำของสุนัขตำรวจในปัจจุบัน ที่แม้สปีชีส์ของพวกมันจะพัฒนากลายเป็นเพื่อนซี้ ขี้เล่น ของมนุษย์ แต่สุนัขตำรวจที่ผ่านการอบรมเหล่านี้กลับมีภาพลักษณ์ที่ต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง จนน่าสนใจว่าเบื้องหลังบุคลิกอันสุขุมเช่นนี้ พวกมันต้องผ่านการฝึกแบบไหนมาบ้าง
The Momentum มีโอกาสเข้าเยี่ยมชม กองกำกับการสุนัขตำรวจ กองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ ที่ภายในมีการฝึกสอนสุนัขตำรวจหรือหน่วย ‘K-9’ ซึ่งกว่าสุนัขตัวหนึ่งจะออกปฏิบัติงานได้ ต้องผ่านเรื่องราวมากมาย ทั้งรัก ทั้งโหด ระหว่างสุนัขกับครูฝึก ที่เกิดขึ้นในสถานที่แห่งนี้
1
“พูดกันตลกๆ คือเราอยากให้สุนัขตกงานนะ เพราะถ้าเขาต้องปฏิบัติงาน แสดงว่ากำลังมีเหตุร้ายเกิดขึ้น แต่ในความเป็นจริงเราไม่สามารถเลี่ยงเหตุร้ายได้ ดังนั้น เราจึงต้องมีสุนัขที่เตรียมพร้อมในการดูแลประชาชนอยู่เสมอ”
พันตำรวจตรี สุเทพ บรรหาร สารวัตรฝึกอบรม ศูนย์ฝึกกองกำกับการสุนัขตำรวจ เล่าให้ฟังถึงจุดประสงค์หลักของกองกำกับการสุนัขตำรวจ ที่มีหน้าที่ในการสร้างความปลอดภัย สร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับประชาชน ซึ่งสุนัขที่ผ่านการฝึกฝนทั้งหลายในศูนย์นี้ จะเป็นส่วนหนึ่งในการปฏิบัติงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในภารกิจบางอย่างที่สุนัขสามารถทำได้ดีกว่า เช่น การตามกลิ่น สะกดรอย หรือการจู่โจมได้บางกรณี จึงเป็นเหตุให้กองกำกับการสุนัขตำรวจแห่งนี้มีผู้บังคับสุนัขหรือครูฝึกสุนัข และเหล่านักเรียนสุนัขฝึกหัดเป็นจำนวนมาก ที่กำลังเรียนรู้คำสั่งต่างๆ เพื่อปฏิบัติหน้าที่ในอนาคต
ปัจจุบัน ศูนย์ฝึกกองกำกับการสุนัขตำรวจ มีสุนัขฝึกหัดทั้งหมด 80 ตัว แบ่งออกเป็น 5 ประเภท คือ สุนัขค้นหาวัตถุระเบิด, สุนัขค้นหายาเสพติด, สุนัขติดตามหรือสะกดรอย, สุนัขอารักขาหรือจู่โจม และสุนัขแยกพิสูจน์กลิ่นของกลาง โดยส่วนใหญ่จะเป็นสุนัขประเภทหาวัตถุระเบิด เนื่องจากลักษณะงานส่วนใหญ่ของหน่วยคือความมั่นคง ซึ่งจะเป็นการรักษาความปลอดภัยในกิจกรรมต่างๆ อย่างเช่นในการแข่งขันฟุตบอล THE MATCH Bangkok Century Cup 2022 ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
2
สุนัขในกองกำกับการสุนัขตำรวจมาจากการประมูลสุนัข ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นพันธ์ุเยอรมันเชพเพิร์ด, ลาบราดอร์, ดัตช์เชพเพิร์ด และเบลเยียมมาลีนอยส์ ที่ปัจจุบันได้รับการยอมรับว่าเป็นสุนัขที่เหมาะแก่การปฏิบัติงานมากที่สุด เนื่องจากข้อสะโพกแข็งแรง สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้นานกว่าพันธ์ุอื่นๆ
หลังจากได้สุนัขพันธ์ุที่ต้องการแล้ว ก็ต้องมีการทดสอบด้วยท่าพื้นฐานต่างๆ ในการฝึก เช่น การสั่งให้นั่ง, ใส่ปลอกคอ, เดินเข้ากรง, ให้อาหารจากมือ และเรียกกลับมาหาผู้บังคับสุนัข หากสุนัขผ่านบททดสอบเหล่านี้ได้ ก็จะนำไปสู่การฝึกฝนในแต่ละหน้าที่ซึ่งแตกต่างกันออกไป
สำหรับการฝึกเพื่อปฏิบัติหน้าที่จะมีรูปแบบการฝึกที่แตกต่างกัน เช่น สุนัขค้นหาวัตถุระเบิดจะฝึกการดมกลิ่นและการตะกุยดินให้คล่องแคล่ว, สุนัขจู่โจมจะฝึกความคล่องตัว การพุ่งเข้ากัดตามคำสั่งให้แม่นยำ หรือสุนัขอารักขาก็จะฝึกการอยู่นิ่งๆ และการสะกดรอยตามผู้คนหรือกลิ่นต่างๆ ในระยะทางที่ไกลได้
3
ในการฝึกสุนัขช่วงแรก เจ้าหน้าที่จะใช้ ‘คลิกเกอร์’ (Clicker) สำหรับฝึกฝน วิธีการคือจะฝึกให้สุนัขเรียนรู้ว่าทุกการคลิก พวกมันต้องทำอะไร และจะได้อะไรเป็นการตอบแทน ซึ่งเมื่อสุนัขฝึกด้วยคลิกเกอร์เป็นระยะเวลาหนึ่งจนชำนาญ ก็จะเปลี่ยนมาสั่งการด้วยเสียงหรือสัญลักษณ์มือแทน
4
ในแต่ละวันเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลสุนัขจะต้องพาสุนัขออกมาฝึกซ้อมในรูปแบบของแต่ละตัวที่ได้รับมอบหมาย โดยในการฝึกแต่ละครั้งจะใช้เวลาเพียงชั่วอึดใจ เพราะสุนัขจะเชื่อฟังคำสั่งโดยมีเงื่อนไขคือจะได้รับอาหารหรือของเล่นที่โปรดปราน
ดังนั้น ครูฝึกจึงมีหน้าที่ต้องหล่อเลี้ยงความกระตือรือร้นของสุนัข เพื่อใช้ฝึกคำสั่งต่างๆ ตลอดทั้งวัน เพราะหากฝึกนานเกินไปและได้กินอาหารจนอิ่ม หลังจากนั้นสุนัขก็จะไม่เชื่อฟัง หรือหากไม่ได้รับการฝึกที่สม่ำเสมอเพียงพอ ก็จะไม่เกิดการเรียนรู้และพัฒนาได้
5
ในเรื่องสุขอนามัย สุนัขทุกตัวในศูนย์ฝึกกองกำกับการสุนัขตำรวจจะต้องได้รับการตรวจร่างกายโดยสัตวแพทย์ทุกเช้า หากตัวใดมีอาการเจ็บป่วยก็จะได้รับการรักษา หรือฉีดวัคซีนป้องกันโรคอยู่ตลอด ดังนั้น สุนัขทุกตัวในหน่วยนี้จึงมีสุขภาพแข็งแรงเป็นอย่างมาก
6
ร้อยตำรวจโท มานพ พิระขัมม์ ครูฝึกสุนัขที่กองกำกับการสุนัขตำรวจมานานหลายสิบปี และผ่านการฝึกสุนัขมาแล้ว 8 ตัว เล่าให้ฟังถึงเหตุการณ์ประทับใจที่สุนัขในศูนย์ฝึกได้ปฏิบัติงานจนประสบผลสำเร็จ ซึ่งเป็นคดีไล่จับคนร้ายที่ ส.ภ.ปากเกร็ด โดยคนร้ายมีอาวุธปืนและยิงเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ ทางผู้บังคับบัญชาจึงได้ติดต่อมาให้นำสุนัขไปช่วยเหลือการจับกุมผู้ต้องหา ซึ่งหลบหนีเข้าในป่ากกที่เหม็นเน่า ซึ่งสุนัขของในหน่วยก็เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยติดตามค้นหา จนสามารถตามเจอคนร้ายในที่สุด ถือเป็นเหตุการณ์ประทับใจที่สุนัขของกองกำกับการสุนัขตำรวจได้ลงพื้นที่และเผชิญสถานการณ์ที่กดดัน
7
ในการลงพื้นที่ครั้งนี้ กองกำกับการสุนัขตำรวจได้สาธิตการปฏิบัติหน้าที่ของสุนัขจู่โจม โดยในรูปคือสุนัขพันธ์ุดัตช์เชพเพิร์ด มีชื่อว่า ‘โบดี้’ ซึ่งเป็นของ พลตำรวจโท สำราญ นวลมา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล
โดยในการสาธิต เจ้าโบดี้พุ่งเข้ากัดเจ้าหน้าที่ซึ่งปลอมตัวเป็นคนร้ายอย่างรวดเร็ว รุนแรง สมกับที่ได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี แต่น่าสนใจว่า ทันทีที่ครูฝึกของโบดี้ออกคำสั่งให้เลิกจู่โจม มันก็กลับกลายเป็นสุนัขฝึกทั่วไปที่เชื่อฟัง เรียบร้อย ราวกับเป็นสุนัขคนละตัวทันที
8
ภายในตึกพักของสุนัขหน่วย K-9 จะแบ่งเป็นคอกส่วนตัวของสุนัขแต่ละตัว ภายในอาคารมีการดันหลังคาและติดพัดลมให้อากาศโปร่ง ถ่ายเท อีกทั้งยังมีการทำความสะอาดอยู่เป็นประจำเพื่อสุขอนามัยที่ดี
นอกจากตึกพักของสุนัขหน่วย K-9 ยังมีสุนัขของประชาชนที่พามาให้เจ้าหน้าที่ทำการฝึกให้สามารถรับฟังคำสั่งต่างๆ ได้เช่นกัน โดยสุนัขที่ประชาชนนำมาฝากจะต้องอยู่อีกตึกพักหนึ่ง และอยู่ในศูนย์ฝึกอย่างน้อย 2-3 เดือน เพื่อให้สุนัขเกิดการเรียนรู้และจดจำได้
9
“สุนัขเป็นเพื่อนร่วมงานที่ไม่บ่น ไม่เถียง เชื่อฟังคำสั่งตลอด เราเองอยู่กับเขานานๆ ก็สบายใจ ดังนั้น ตำรวจหน่วยนี้ ถ้าไม่รักสุนัขจริงอยู่ไม่ได้หรอก” เมื่อถามถึงเคล็ดลับของเจ้าหน้าที่ในหน่วยในการฝึกสุนัขให้ได้มีประสิทธิภาพ พันตำรวจตรีสุเทพมองว่าความรักที่มีต่อสุนัขถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะการเป็นครูฝึกต้องอาศัยความอดทน ความใจเย็น และความเมตตา เพื่อพัฒนาให้ลูกศิษย์สี่ขาในหน่วยนั้น กลายเป็นสุนัขตำรวจที่มีประสิทธิภาพ
“สุนัขเองก็ไม่แพ้กัน บางตัวฝึกเสร็จไปแล้ว 3-4 ปี ไม่ได้เจอครูฝึกเลย วันหนึ่งมีเรื่องต้องกลับมาเจอกันอีกครั้ง มันวิ่งหางกระดิกมาทันทีเลย เรื่องนี้ทำให้ผมเชื่ออย่างหนึ่งว่า จะผ่านไปกี่ปี สุนัขไม่เคยลืมคนที่อ่อนโยนกับมัน”
10
ปัจจุบันสุนัขที่ผ่านการฝึกฝนจากกองกำกับการสุนัขตำรวจ จะออกปฏิบัติภารกิจในปฏิบัติการพิเศษ เช่น สุนัขตรวจค้นหาวัตถุระเบิด ตามงานเฉพาะกิจต่างๆ หรือตามสถานีรถไฟฟ้าที่ประชาชนทั่วไปเห็นในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีภารกิจอื่นๆ หากได้รับการติดต่อขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานอื่นๆ เช่น การปฏิบัติหน้าที่ของสุนัขค้นหายาเสพติด ค้นหาผู้สูญหาย และสุนัขจู่โจม
Tags: Feature, สุนัข, k-9, ฝึกสุนัข, กองกำกับการสุนัขตำรวจ