หากใครเคยได้ยินตำนาน ‘ทับทิมสยาม’ (Siamese Ruby) ก็คงจะพอนึกออก ว่า จังหวัดจันทบุรี หรือที่คนนอกตั้งฉายา ‘เมืองแห่งอัญมณี’ ในอดีตนั้นรุ่งเรืองและมั่งคั่งเพียงใด
ย้อนกลับไปราวปี 2446 อุตสาหกรรมการทำเหมืองพลอยในเมืองจันท์เริ่มต้นขึ้น จากผืนดินอำเภอท่าใหม่ อำเภอขลุง ไล่เลียงไปจนถึงอำเภอโป่งน้ำร้อน พลอยดิบเม็ดแล้วเม็ดเล่าถูกขุดขึ้นมาไม่ขาดสาย ส่งตรงถึงมือช่างเจียระไนมือฉมังช่วยขัดเกลาจนได้เนื้อกะรัตดี ก่อนนำไปเผาปรับสีสันเพื่อเพิ่มมูลค่า เป็นเช่นนั้นซ้ำไปซ้ำมา กระทั่งกลายเป็นอาชีพหลักเลี้ยงปากท้องของคนในจังหวัด ดีไม่แพ้อาชีพฝั่งภาคการเกษตร
ตัดภาพกลับมายุคปัจจุบัน แม้สามารถพูดได้เต็มปากว่า จังหวัดจันทบุรีคือส่วนหนึ่งของโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC +1) ซึ่งถูกวางให้เป็นเขตการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงขนส่งโลจิสติกส์ แต่น้องเล็กแห่งโครงการพิเศษนี้ยังยืนหยัดแน่วแน่ด้วยแนวธุรกิจภาคการเกษตรและอัญมณี
สำหรับรายได้จากภาคการเกษตรคงไม่ต้องสาธยายมากนัก ทว่าในมุมอุตสาหกรรมการผลิตอัญมณีที่หลายคนหลงลืม กลับสามารถสร้างรายได้มหาศาล วัดจากปี 2566 พลอยเมืองจันท์มีแนวโน้มการค้าเติบโตมูลค่าราว 2 หมื่นล้านบาท ขณะที่ก่อนหน้านั้นสามารถทำรายได้ปีละไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาทต่อปี ตามข้อมูลของหอการค้าไทย
อธิบายให้เข้าใจง่าย อุตสาหกรรมการผลิตอัญมณีสามารถสร้างรายได้ให้ประเทศไทยอยู่ในอันดับสาม เป็นรองแค่อุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น
อย่างไรก็ดี จากการลงสำรวจจังหวัดจันทบุรี The Momentum ค้นพบความจริงจากปากคำของคนในภาคอุตสาหกรรมดังกล่าวว่า เมืองแห่งอัญมณีแท้จริงกำลังเผชิญสารพันปัญหา ถูกกัดกร่อนจากภายใน ไม่ว่าจะเรื่องทรัพยากร เงินทุน ภาวะสมองไหล หรือแม้แต่การถูกรุกรานจากกลุ่มนายทุน
ความจริงจากปากทายาทเมืองจันท์และสมญานามของเมืองแห่งอัญมณี
หลังค่ำคืนแรกของการสัมผัสวิถีชีวิตของชาวจันทบุรี เราตื่นแต่เช้าเพื่อเตรียมออกเดินทางจากที่พัก ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับแลนด์มาร์กสำคัญประจำจังหวัดและของอำเภอเมืองจันทบุรี อย่างอาสนวิหารพระนางมารีอาปฏิสนธินิรมล โบสถ์ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก สถาปัตยกรรมแนวโกธิก ตั้งตระหง่านแสดงความวิจิตรตระการตา หากเดินข้ามสะพานไม้เล็กๆ จะพบกับตลาด 100 ปี เลื่องชื่อ ท่ามกลางวิถีชีวิตชาวบ้านแบบดั้งเดิม เช่น ค้าขายอาหาร ผลไม้ นานาสิ่งทอ รวมไปถึงร้านค้าอัญมณีหลากสีสัน
แต่การเดินทางครั้งนี้มีหมุดหมายสำคัญเพื่อพบกับ เฮียอ๊อ-ฐณภัทร ท่าม่วง เลขาธิการและนายทะเบียนประจำสมาคมผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับจันทบุรี ชายไทยเชื้อสายจีนผู้เติบโตมาท่ามกลางธุรกิจค้าขายพลอยของครอบครัว เพื่อไขข้อสงสัยที่มีต่ออาณาจักรอัญมณีแห่งนี้
“เกิดมาพี่ก็เห็นคนจันทบุรีค้าขายพลอยแล้ว เท่าที่ปู่ย่าตายายเล่าให้ฟัง รุ่นเขาก็มีตลาดพลอยแล้ว ถ้าให้คาดเดาก็น่าจะทำกันมาเกือบร้อยปี ในครอบครัว
“จังหวัดจันทบุรีเป็นแหล่งอุตสาหกรรมผลิตอัญมณีที่สำคัญอันดับต้นๆ ของโลก ที่นี่ผลิตอัญมณีตั้งแต่ต้นน้ำจรดปลายน้ำ ทั้งยังมีตลาดค้าพลอยรองรับสินค้า” ฐณภัทรเริ่มบทสนทนาด้วยการย้อนความทรงจำสมัยวัยเยาว์ พลางชวนนึกจินตนาการถึงความรุ่มรวยของอุตสาหกรรมค้าพลอยภายในเมืองจันท์ ที่เขานิยามว่าเป็น ‘ยุคตื่นพลอย’
“ยุคตื่นพลอยของเมืองจันท์น่าจะเป็นช่วงปี 2530-2556 ในยุคนั้นชาวต่างชาติจากทั่วทุกมุมโลก ทั้งจีน ยุโรป อาหรับ จะเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาซื้อพลอยเกรดดีที่ถนนอัญมณี (ตลาดพลอย) เป็นประจำทุกวันศุกร์และเสาร์ ถามว่าเยอะขนาดไหน ก็พลุกพล่านจนต้องเดินเบียดเสียดกันไปมา
“จันทบุรีมีพลอยทุกเกรด ตั้งแต่เกรดล่างยันเกรดสูง ลูกค้าอยากได้เกรดไหนมีหมด และถ้าถามว่าเหตุใดจันทบุรีจึงได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งอัญมณี เหตุผลหลัก คือ ที่นี่เป็นแหล่งแปรรูปสำคัญ เรามีช่างฝีมือดีที่ทำได้ทั้งการเจียระไนและการเผา ซึ่งกรรมวิธีที่ว่าสำคัญต่อการแบ่งเกรดพลอยหรือที่เรียกว่า ‘4C’ นั่นคือ
“1. Clearity ต้องมีความสะอาด
“2. Color สีของพลอย ซึ่งต้องมีสีที่เสมอกันตลอดทั้งเม็ด ไม่มีตรงไหนเข้มเกินหรืออ่อนเกิน
“3. Carat ก็คือน้ำหนักของพลอย ถ้าน้ำหนักเยอะก็ได้ราคาดี
“4. Cutting การตัดแต่งเจียระไน ที่ต้องไม่ทำให้เม็ดพลอยสูงหรือแบนจนเกินไป
“ถ้าพลอยเม็ดนั้นมีคุณสมบัติครบทั้ง 4C จะถูกจำแนกให้เป็นเกรดเอ แต่ถ้าขาดคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง จะถูกลดระดับลดหลั่นลงไป มีคนเคยชมว่า ช่างทำพลอยเมืองจันท์มีฝืมือดีที่สุดในโลก การเจียระไนประณีต นำไปเผาก็ควบคุมกำลังไฟได้เหมาะ สำหรับการเผา สมัยนี้ก็มีทั้งเตาแก๊ส เตาน้ำมัน เตาไฟฟ้า ขึ้นอยู่กับดุลพินิจคนเผา เสร็จสิ้นกรรมวิธี ถ้านำพลอยไปส่องกับแสงแดดก็จะเห็นความใสและลายเส้นที่ชัดเจน” ฐณภัทรอธิบาย
เลขาธิการและนายทะเบียนประจำสมาคมผู้ค้าอัญมณีฯ ย้อนความต่อว่า แม้อาชีพคนทำพลอยในจันทบุรีกำเนิดจากคนท้องถิ่นที่นี่ แต่เมื่ออุปสงค์มีเยอะสวนทางกับจำนวนช่างที่มีอยู่ในจังหวัด กรรมสิทธิ์อาชีพจึงตกไปถึงชาวอีสาน ซึ่งอพยพมาหางานเลี้ยงชีพ ก่อนแรงงานเหล่านั้นจะพัฒนาฝีมือจนช่ำชองและเป็นกำลังสำคัญในอุตสาหกรรมผลิตพลอย และเมื่อกำลังซื้อมูลค่ามหาศาลจากชาวต่างชาติสะพัดไม่ขาดสาย จึงส่งผลดีต่อการพัฒนาจังหวัด เห็นได้จากโครงสร้างตึกแถวภายในตัวเมือง หากไม่บอกว่าคือที่ไหนอาจหลงนึกว่า คือที่ไหนสักแห่งในกรุงเทพฯ
“มีคนเคยประเมินว่า ณ เวลานั้นในจังหวัดจันทบุรี มีเงินสะพัดเข้ามาไม่ต่ำกว่าวันละ 500 ล้านบาท เพราะชาวต่างชาติที่เข้ามาซื้อพลอย เขาไม่ได้เข้ามาซื้อพลอยเฉยๆ เขาเดินทางมาแต่ละทีก็ต้องจ่ายเงินหาที่พัก ซื้อของกิน ซื้อของต่างๆ นานา
“นั่นจึงทำให้แทบทุกบ้านในจังหวัดจันทบุรี ยึดอาชีพคนทำพลอยเป็นหลัก แม้แต่บ้านผมที่ว่าบ้านนอก อยู่ติดตะเข็บชายแดนยังมีโรงงานผลิตขนาดเล็กไม่ต่ำกว่า 30-40 แห่ง หากนับทั้งจังหวัดคงมีไม่ต่ำกว่า 300-400 แห่ง รวยกันตั้งแต่คนทำเหมือง คนเจียระไนพลอย จนถึงคนเดินขายพลอย อย่างลูกน้องที่บ้านผม วิธีคิดค่าจ้างคือ 1 กะรัต เท่ากับเงิน 15 บาท ถ้าเขาขยันๆ และมีฝีมือ เขาจะได้เงินจากการเจียระไนพลอยสัปดาห์ละไม่ต่ำกว่าหมื่นบาท
“พลอยที่ได้รับความนิยมสุดคือ ‘พลอยสีแดง’ ที่มีแหล่งขุดหลักอยู่บริเวณอำเภอบ่อไร่ จนถึงตำบลตกพรมและตำบลบ่อเวฬุ อำเภอขลุง กระทั่งมีการพบอัญมณีสีหลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะพลอยไพลินสีน้ำเงินหรือพลอยบุษราคัม บางกะจะ แต่ละโรงงานก็แยกรับผลิตพลอยชนิดนั้นไปเลย”
สูงสุดสู่ต่ำสุด การดิ้นรนของอาชีพคนทำพลอยในจังหวัดจันทบุรี
จากคำบอกเล่าถึงจุดสูงสุดของอาณาจักรอัญมณีเมืองจันท์ของฐณภัทร หากสืบค้นลงไปให้ลึกลงไป อาณาจักรอัญมณีนี้มีตำนานความมั่งคั่งอีกหลายเรื่องราว เช่น จากบันทึกของชาวไทใหญ่หรือ ‘ชาวกุลา’ ที่อพยพมาในสมัยรัชกาลที่ 5 จะพบว่า พื้นที่จังหวัดจันทบุรีเป็นแหล่งสายแร่สำคัญในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งชาวบ้านท้องถิ่นยังมีการฝึกลูกหลานให้รู้จักการขุดหาและเจียระไนพลอย
กระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่สองมีการยกระดับกรรมวิธีการเจียระไน ด้วยการลองนำพลอยสีน้ำตาลมาเจียระไนแบบหลังเบี้ย (Cabochon) จนพื้นหน้าพลอยเกิดลักษณะดาวหกแฉก ต่อมามีการตั้งชื่อพลอยลักษณะดังกล่าวว่า ‘พลอยสาแหรก’ หรือที่นิยมเรียกว่า ‘พลอยสตาร์’
อีกตำนานคือ ‘ลุงสามเมืองแก้วแหวน’ ที่ฐณภัทรและคนในจังหวัดจันทบุรีพูดกันปากต่อปากว่า เป็นผู้ค้นพบวิธีเผาพลอยเพิ่มมูลค่า โดยตำนานที่ว่าเกิดขึ้นจากชายชรารายหนึ่งซึ่งโชคร้ายบ้านถูกเพลิงไหม้ ทว่าภายใต้ซากตอตะโกเขาค้นพบว่า พลอยที่เก็บสะสมไว้ในกระป๋องอลูมิเนียมไม่ไหม้ตาม มิหนำซ้ำ พลอยที่ถูกความร้อนกลับมีสีสันสว่างสดใสกว่าเดิม ภายหลังชายชราคนดังกล่าวจึงต่อยอดคิดค้นวิธีการเผาพลอยเพิ่มมูลค่า ตำนานดังกล่าวยังมีการเชื่อมโยงกับเหตุการณ์เพลิงไหม้ตลาดจันทบุรีในปี 2511 จึงอาจสันนิษฐานถึงการมีตัวตนอยู่จริงของลุงสามเมืองแก้วแหวนได้
ย้อนกลับมาที่คำถามสำคัญ คือเหตุใดอุตสาหกรรมค้าพลอยในจังหวัดจันทบุรีจึงซบเซา สวนทางกับตัวเลขมูลค่าการส่งออกในปัจจุบัน ฐณภัทรระบุว่า สาเหตุหลักมีอยู่หลายปัจจัย ตั้งแต่การเปลี่ยนมือไปมาของรัฐบาล จนถึงการเข้ามากอบโกยรายได้ของชาวต่างชาติ
“รัฐบาลไทยมีการเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอยู่เรื่อย ยิ่งช่วงที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์เข้ามาเป็นรัฐบาลเมื่อปี 2556 รายได้ในอุตสาหกรรมค้าอัญมณีบ้านเราก็เริ่มทรงๆ จนโควิด-19 มาถึง พ่อค้าแม่ค้าที่นี่ก็คว่ำกันระเนระนาด เมื่อมีการล็อกดาวน์ ลูกค้าขาจรก็หายไปเพราะเปิดตลาดไม่ได้ ส่วนใหญ่ที่ยังอยู่คือลูกค้าขาประจำที่ไว้ใจกัน ธรรมชาติของการซื้อพลอย ลูกค้าต้องเลือกด้วยตาตัวเอง ซื้อขายออนไลน์หรือถ่ายรูปส่งให้ดูกันไม่ได้ เพราะหากสีเพี้ยนนิดเดียวราคาต่างกันลิบเลย
“ต้องเข้าใจว่า ความนิยมในการซื้อขายอัญมณีขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจ คนจะซื้อก็ต่อเมื่อมีเงินมากพอ เพราะเขามองว่าเป็นของฟุ่มเฟือย ยิ่งเศรษฐกิจฝืดเคืองความนิยมก็ลดน้อยลง ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย แต่หมายถึงประเทศทั่วโลก
“ส่วนที่เห็นว่ามีชาวต่างชาติอย่างชาวแอฟริกา มาเดินเตร็ดเตร่ขายพลอยในจังหวัด ตามกฎหมายชาวต่างชาติจะสามารถค้าขายได้แค่พลอยดิบ โดยไม่สามารถขายพลอยสำเร็จหรือทำการเผาและเจียระไนได้ เพราะนี่คืออาชีพที่สงวนไว้เฉพาะแก่คนไทย แต่สุดท้ายก็มีชาวต่างชาติบางกลุ่มที่เมินกฎหมาย นำพลอยสำเร็จรูปจากประเทศคู่แข่ง เช่น จีน อินเดีย หรือศรีลังกา มาแอบเร่ขาย ผมก็ต้องขอความช่วยเหลือจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ช่วยผลักดันชาวต่างชาติเหล่านี้กลับประเทศไป อีกจำพวกที่หัวใสหาวิธีเลี่ยงกฎหมายด้วยการแต่งงานกับหญิงไทยเพื่อให้ได้สัญชาติ เพื่อจะสามารถค้าขายแข่งตัดราคาหรือทำอาชีพอยู่ที่นี่ได้ นัยหนึ่งก็คือการเข้ามาแย่งอาชีพ ใครๆ ก็อยากมาที่จันทบุรี เพราะที่นี่คือแหล่งค้าขายอัญมณีเบอร์ต้นๆ ของโลก” ฐณภัทรกล่าวถึงปัญหาที่เกิดขึ้น
อย่างไรก็ดี ด้วยความที่เติบโตและคลุกคลีกับอาชีพคนทำพลอยจนผูกพัน ฐณภัทรและผู้ค้าพลอยรายอื่นๆ จึงรวมกลุ่มกันก่อตั้งศูนย์ส่งเสริมอัญมณีและเครื่องประดับจังหวัดจันทบุรี เพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนอาชีพคนทำพลอยในจังหวัดจันทบุรี โดยการเป็นตัวกลางระหว่างภาครัฐกับเอกชน ทั้งการรับเรื่องร้องเรียน ให้ความรู้ หรือเปิดพื้นที่ค้าขาย ซึ่งที่ศูนย์ฯ ก็มีร้านค้าอัญมณีจำนวนหนึ่งเข้าร่วม
จากการที่ทีมงานเดินสังเกตภายในศูนย์ฯ พบว่า มีอัญมณีหลากสีสันถูกแปรสภาพเล็กสุดตั้งแต่ประเภทต่างหู สร้อยข้อมือ สร้อยคอ ไปจนถึงขนาดใหญ่ที่เป็นเครื่องประดับตั้งโต๊ะตกแต่งภายในบ้าน โดยได้รับการช่วยเหลือจากคณะอัญมณีมหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี ในการตรวจสอบคุณภาพสินค้าแต่ละชิ้น
“ผมทำงานกับศูนย์ฯ ตั้งแต่ช่วงก่อตั้งเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เรามีหน้าที่สนับสนุนและรับเรื่องร้องทุกข์ของคนทำพลอยในจังหวัดจันทบุรี กับอีกส่วนหนึ่งคือการยกระดับผู้ค้าพลอยในจังหวัดจันทบุรี ด้วยการเปิดพื้นที่ค้าขาย ซึ่งมีการตรวจสอบมาตรฐานสินค้า มีการออกใบเซอร์ฯ (Certificate) และร้านค้าที่เข้าร่วมจะต้องมีใบประกอบการค้าที่ออกโดยสำนักงานพาณิชย์ประจำจังหวัด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ซื้อที่ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ
“หลังยุคโควิด-19 ผ่านพ้น สถานการณ์ของอุตสาหกรรมอัญมณีทั้งในจังหวัดจันทบุรีและบ้านเราเหมือนต้องมาเริ่มต้นกันใหม่ อาชีพคนค้าพลอยหรือช่างทำพลอยในบางบ้านเริ่มไม่มีการส่งต่อถึงรุ่นลูก รุ่นหลาน เพราะเด็กรุ่นใหม่เขาเห็นแล้วว่า พ่อแม่เขายิ่งทำยิ่งแย่ สู้เข้าเมืองหลวงไปทำงานเป็นลูกจ้างบริษัท ทำอาชีพเกษตรกร หรือเปิดคาเฟ่ดีกว่า ขณะเดียวกัน ช่างเจียระไนฝีมือดีก็ถูกต่างชาติซื้อตัวไป เพราะขืนอยู่ที่นี่ก็ไม่มีรายได้เลี้ยงปากท้อง ฉะนั้น ภูมิปัญญาวิชาชีพที่ควรจะสงวนไว้เป็นของเราก็ตกไปถึงชาวต่างชาติ
“แม้แต่ผู้ประกอบการเหมืองพลอยก็เห็นว่า กำไรที่ได้ไม่คุ้มต่อการลงทุน เพราะวันวันหนึ่งเขาต้องเสียทั้งค่าแรงงาน ค่าเครื่องขุด ค่าเครื่องร่อน ฯลฯ อย่างพลอยแดงที่นิยมเมื่อหลายสิบปีก่อน ก็ถูกขุดขึ้นมาหมดจนไม่เหลือให้ขุดอีก
“ผมว่าผู้ประกอบการหรือคนในจังหวัดเราทำอย่างเต็มที่แล้ว เพียงแต่ทุกวันนี้รัฐยังมองข้ามจังหวัดจันทบุรี และให้ค่าจังหวัดอื่นในโครงการ EEC เพราะเขามองว่า จังหวัดเหล่านั้นคือเมืองอุตสาหกรรม ทั้งที่ความจริงเราก็มีศักยภาพไม่แพ้กัน แม้แต่หน่วยงานราชการในจังหวัดก็ยังไม่กระตือรือร้นช่วยเหลือ เขาคงจะคิดว่าผู้ประกอบการพลอยมีเงิน ทั้งที่ทุกวันนี้ คนทำพลอยส่วนใหญ่ต้องกู้หนี้ยืมสินไปซื้อพลอยจากต่างประเทศซึ่งมีราคาถูกกว่าเพื่อมาผลิตขาย
“กลับกันพ่อค้าต่างชาติที่เห็นจุดอ่อนตรงนี้ก็อาศัยจังหวะมาขายตัดราคา ผมเคยคิดจะแก้ปัญหาด้วยการเปิดธนาคารรับจำนำพลอย ให้ผู้ประกอบการที่ค้าพลอยไม่ได้หมุนเงินไปใช้ก่อน แต่ติดปัญหาตรงที่จะวัดมาตรฐานการตีราคาพลอยจากปัจจัยใด เพราะพลอยหนึ่งเม็ดมีความละเอียดอ่อนมาก อย่างพลอยชนิดเดียวกัน สีเดียวกัน แต่มีที่มาต่างกันแค่นี้ก็ยากแล้ว
“ดังนั้น สิ่งที่รัฐควรช่วยเหลืออุตสาหกรรมค้าพลอยในจังหวัดจันทบุรี คือโปรโมตสตอรีที่น่าสนใจ ความเป็นมา มีข้อดีอย่างไร รวมถึงการลดกำแพงภาษีนำเข้าวัตถุดิบพลอยจากต่างประเทศ เพราะทุกวันนี้แค่แบกรับค่าครองชีพเราก็แย่แล้ว ถ้าสุดท้ายอาชีพคนทำพลอยจะต้องหายไปจากบ้านเราคงน่าเสียดาย” ฐณภัทรกล่าวทิ้งท้ายถึงปัญหา
มุ่งหน้าสู่ ‘บ่อพลอยเหล็กเพชร’ แหล่งอนุรักษ์วิชาชีพคนขุดพลอย
หากมาเมืองแห่งอัญมณีแล้วไม่ไปถึงสถานที่ขุดพลอยจริงคงจะเสียเที่ยว เราจึงเดินทางต่อไปยังตำบลสีพยา อำเภอท่าใหม่ ที่ตั้งของ ‘บ่อพลอยเหล็กเพชร’ แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ที่เปิดให้เรียนรู้วิถีขุดพลอยแบบโบราณของชาวบ้านท้องถิ่น
ออกเดินทางไม่ถึงครึ่งชั่วโมงก็ถึงหมุดหมายถัดไป ท่ามกลางสภาพแวดล้อมร่มรื่น แมกไม้นานาพันธุ์ รวมถึงสุนัขพันธุ์ชิบะอีกหนึ่งตัวของ กุ๊ก-สราวุธ พึ่งตระกูล ทายาทรุ่นที่ 4 ของบ่อพลอยแห่งนี้
สราวุธเริ่มเล่าให้เราฟังว่า วิธีการขุดพลอยแบบโบราณในจังหวัดจันทบุรี แท้จริงสืบทอดกันมานานเกินกว่าร้อยปี โดยชาวบ้านสมัยก่อนมักนิยมขุดพลอยบริเวณหัวไร่ปลายนาควบคู่กับการทำอาชีพประมงหรือการเกษตร
“ในอดีตเมื่อชาวบ้านขุดหา ‘พลอยก้อนดิบ’ เจอ ก็จะนำไปคัดสี คัดขนาด คัดน้ำหนัก เพื่อนำไปเข้ากระบวนการต่อไป นั่นคือการเจียระไน การเผา และการขึ้นตัวเรือน จึงจะเสร็จเป็นเครื่องประดับสักชิ้น ส่วนบริเวณนี้ (ลานแร่บางกะจะ) พลอยที่จะพบเจอได้มากคือพลอยนิลกับพลอยสตาร์ (Star Sapphire) สมัยก่อนทรัพยากรอุดมสมบูรณ์จนชาวบ้านหาเก็บได้จากตามพื้นดิน” สราวุธอธิบายถึงวิถีคนหาพลอยเมืองจันท์ให้เราฟัง
หลังจากการสนทนา สราวุธพาเราไปเปิดประสบการณ์ด้วยการลงมือขุดพลอยจริงๆ โดยมีทีมงานของกอง The Momentum รับหน้าที่หย่อนกายลงไปในบ่อพลอยพร้อมพนักงานบ่อพลอยอีกหนึ่งราย โดยมีอาวุธประจำกายเป็นจอบและเสียมคนละด้าม
ขั้นตอนวิธีการขุดพลอยแบบโบราณไม่มีอะไรซับซ้อน เริ่มจากการสูบน้ำจากบ่อเล็ก ที่มีขนาดความกว้างราวหนึ่งเมตรครึ่งและความลึกราว 4 เมตร เพื่อถ่ายไปยังบ่อใหญ่ที่ห่างไปไม่ไกล หลังใช้เวลาถ่ายน้ำออกจากบ่อราวหนึ่งชั่วโมง ก็ถึงเวลาขุดหาพลอยล้ำค่าที่ปะปนอยู่กับเศษดิน เศษก้อนกรวด
หลังขุดสิ่งที่หาได้ทั้งหมดใส่กระป๋อง เศษดิน เศษก้อนกรวดที่ได้จะถูกนำไปร่อนพลอยบนตะแกรงเหล็ก ถ้าโชคดีก็จะได้พลอยกลับบ้านไปฟรีๆ เป็นที่ระลึกคนละหนึ่งเม็ด เรียกว่า ‘ตาดีได้ตาร้ายเสีย’ ซึ่งทีมงานของเราก็โชคดีพอที่จะสามารถขุดพบ ‘พลอยสีนิล’ ขนาดเล็กเท่าปลายนิ้วก้อยขึ้นมายลโฉมสำเร็จ ก่อนจะไปล้างเนื้อล้างตัวชำระล้างโคลนให้กลับมาสะอาดตามเดิม
เมื่อความจริงกำลังบอกว่า เมืองอัญมณีอาจรอวันเหลือแค่ชื่อ
บทสนทนากับสราวุธยังไม่จบลง เราชวนเขาคุยต่อจนพบกับประเด็นที่น่าสนใจ คือผืนดินอันกว้างใหญ่ของเมืองจันท์ ณ เวลานี้ แทบไม่เหลือพลอยให้ขุดอีก ส่วนหนึ่งเพราะการขุดหาพลอยที่เปลี่ยนมือจากชาวบ้าน ที่ส่วนใหญ่ใช้จอบและเสียมหาในปริมาณพอเหมาะ มาสู่กลุ่มนายทุนที่หวังกอบโกยพลอยครั้งละมาก จนมีสภาพน่าเศร้าอย่างที่เห็น
“สมัยก่อนชาวบ้านขุดหาพลอยด้วยการใช้จอบ ใช้เสียม และการขุดหาพลอยก็เป็นเพียงอาชีพเสริมของครอบครัวเพื่อรอฤดูเก็บเกี่ยวผลไม้เท่านั้น จึงไม่จำเป็นต้องมีคนงานหรือลูกมือคอยช่วย แต่ในเมื่อความต้องการพลอยมากขึ้น จนถึงยุคที่พลอยจังหวัดจันทบุรีมีความต้องการสูง โดยเฉพาะทับทิมสยาม ก็เริ่มมีกลุ่มนายทุนไทย นายทุนต่างชาติ ที่นำคนงานจากฝั่งประเทศเมียนมาหรือกัมพูชาเข้ามา
“เริ่มแรกคนงานใช้วิธีการขุดเหมือนกันกับเรา แต่เมื่อมีความต้องการมากขึ้น เริ่มมีการใช้เครื่องทุนแรง ใช้รถแม็กโครเข้ามาขุดหน้าดินกว้านทรัพยากรของเรา จนเวลาแค่ 20-30 ปี ก็แทบไม่เหลือพลอยให้ขุด สาเหตุหลักเพราะสมัยนั้นยังไม่มีกฎหมายควบคุมใดๆ กว่าจะมีกฎหมายควบคุมทรัพยากรก็หมดไปเกือบ 90% ทั้งที่ความจริงหากใช้วิธีการดั้งเดิมก็จะเหลือทรัพยากรตกมาถึงมือรุ่นลูกรุ่นหลานของเรา
“ขณะเดียวกัน เมื่อสินค้าล้นตลาดราคาก็ย่อมตกลง ชาวต่างชาติที่เห็นโอกาสและมีกำลังก็ลงมือกว้านซื้อพลอยเหล่านั้น เพื่อไปเก็งกำไรรอวันราคาขึ้น พอเห็นว่า ทรัพยากรของเราเริ่มหมดเขาก็จะเริ่มปล่อยขาย
“ต้องบอกตามตรงว่า กว่าอัญมณีจำพวกพลอยหรือเพชรจะเกิดมาต้องใช้เวลาหลายพันล้านปี ประกอบกับอุณหภูมิความร้อนและแรงกดใต้พื้นดินที่เหมาะสม นั่นหมายความว่า แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดทรัพยากรเหล่านี้ขึ้นมาใหม่อีกครั้ง”
วิธีการขุดพลอยแบบโบราณในจังหวัดจันทบุรี
แม้เป็นความจริงอันน่าเศร้าที่ทรัพยากรจำพวกอัญมณีบนผืนดินจันทบุรีใกล้ถึงวันหมดสิ้นไม่ช้าก็เร็ว แต่ยังมีสิ่งที่สราวุธและครอบครัวของเขาทำได้ คือการเปลี่ยนบ่อพลอยของตน ให้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญเพื่อส่งต่อภูมิปัญญาการหาพลอยแบบโบราณ โดยภูมิปัญญาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในการชะลอปริมาณทรัพยากรอัญมณี ให้ถูกใช้ไปช้าๆ ตามที่ควรจะเป็นมากกว่าการเร่งกอบโกยตามแบบวงจรอุตสาหกรรม จึงเป็นที่มาของการกำเนิดบ่อพลอยเหล็กเพชร โดยคำว่า ‘เหล็กเพชร’ ตั้งตามนามสกุลของ สุคล เหล็กเพชร ซึ่งเป็นแม่สราวุธ
นอกจากกิจกรรมการขุดบ่อพลอยนี้ แขกที่มาเยี่ยมเยือนบ่อพลอยเหล็กเพชรจะได้ชิมผลไม้สดๆ จากไร่ เช่น มังคุด ทุเรียน ลองกอง ฯลฯ นอนพักโฮมสเตย์ท่ามกลางธรรมชาติ นั่งดื่มกาแฟสดจากคาเฟ่ ทำผ้ามัดย้อมจากโคลนบ่อพลอย ล่องเรือดูแพหาหอย และที่น่าสนใจคือกิจกรรมส่อง ‘เหยี่ยวแดง’ ตัวเป็นๆ
ทั้งหมดนี้เป็นกิจกรรมที่เหมาะสำหรับครอบครัว โดยเฉพาะครอบครัวที่อยากปลูกฝังให้เยาวชนรู้จักคุณค่าของธรรมชาติ
สิ้นภารกิจที่จังหวัดจันทบุรีตลอดทั้งสองวัน โดยวันแรกเรารู้จักกับนักทำโซดาคราฟต์ที่ใช้วัตถุดิบจากผลไม้และสมุนไพรนานาชนิด (อ่านบทความ ‘The Craft: บางสระเก้า’ แบรนด์คราฟต์โซดารสชาติล้ำลึก จากวัตถุดิบบนผืนดินเมืองจันทบุรี) ขณะที่อีกวันได้เรียนรู้ความเป็นไปของอาณาจักรอัญมณีนี้จากคำบอกเล่าของคนพื้นที่ จึงทำให้เกิดคำถามที่น่าสนใจตามมา
เหตุใดจันทบุรีจึงมีคนเก่งจำนวนมาก
เหตุใดในฐานะหนึ่งในจังหวัดของโครงการ EEC +1 จันทบุรีกลับไม่ได้รับการสนับสนุนหรือโปรโมทเท่าที่ควร
และเหตุใดแม้จะมีทรัพยากรมากมาย แต่ลึกๆ คนในจังหวัดกลับมองเห็นความไม่แน่นอนที่คอยท่ามากกว่าความมั่นคง
นี่ไม่ใช่สิ่งที่สามารถหาคำตอบได้ในวันสองวัน แต่ต้องติดตามในระยะยาว เช่นเดียวกับอนาคตของโครงการ EEC ที่จนถึงตอนนี้ก็ยังหาความเอาแน่เอานอนไม่ได้
Fact Box
- ศูนย์ส่งเสริมอัญมณีและเครื่องประดับจังหวัดจันทบุรี ตั้งอยู่ที่ตำบลตลาด อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี เปิดทุกวันจันทร์-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 09.00 -16.30 น. ติดต่อสอบถามได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 096-094-3964 และเพจเฟซบุ๊ก ศูนย์ส่งเสริมอัญมณีและเครื่องประดับจังหวัดจันทบุรี นอกจากมีโซนค้าขายอัญมณี ยังมีพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์อุตสหากรรมค้าพลอยให้ชมฟรี
- บ่อพลอยเหล็กเพชร ตั้งอยู่ที่ตำบลสีพยา อำเภอท่าใหม่ เปิดทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง ผู้ที่สนใจอยากจะร่วมกิจกรรมขุดพลอยเชิงอนุรักษ์ รวมถึงสำรองที่พักโฮมสเตย์และใช้ชีวิตตามวิถีชาวจันทบุรี สามารถติดต่อได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 086-157-6665 และเพจเฟซบุ๊ก บ่อพลอยเหล็กเพชร