ผืนดินอุดมสมบูรณ์ ภูเขาสูงชัน แมกไม้เขียวขจีสุดลูกหูลูกตา ผนวกพื้นที่ติดทะเลสีคราม ด้วยสภาพทางภูมิศาสตร์เหล่านี้ทำให้ ‘จังหวัดจันทบุรี’ เหมาะเป็นจิ๊กซอว์ตัวสุดท้ายของโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC+1) ที่มีค่าดุจเพชรเม็ดงาม โดดเด่น ต่างจากอีกสามจังหวัดที่ถูกวางให้เป็นฐานอุตสาหกรรมผลิตยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์

คำกล่าวอ้างข้างต้นไม่ใช่เรื่องเกินจริง เพราะนอกจากจุดเด่นเรื่องธุรกิจค้าอัญมณีอันเลื่องชื่อ จันทบุรียังโดดเด่นในเรื่องอุตสาหกรรมภาคการเกษตร โดยเฉพาะธุรกิจส่งออกและแปรรูปผลไม้ ทั้งกล้วย มังคุด ลำไย ทุเรียน ฯลฯ สร้างรายได้ให้ประเทศปีละไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท จึงไม่แปลกใจหากคนท้องถิ่นจังหวัดดังกล่าวมีไร่ มีสวนเป็น ‘มรดก’ ตกทอดสืบกันมารุ่นสู่รุ่น 

อย่างไรก็ดี ศักยภาพของจังหวัดที่ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองแห่งผลไม้ มีศักยภาพมากกว่าแค่ปลูกและรอเก็บเกี่ยวผลผลิตตามฤดูกาล หรือมากกว่าแค่แปรรูปแช่แข็งส่งออก นั่นจึงเป็นเป้าหมายให้ ต็อก-นิสิต อารีวุฒิ อดีตพลเมือง กทม. ที่ปัจจุบันแปรสถานะเป็น 

‘เขยเมืองจันท์’ ตัดสินใจหยิบผลผลิตล้ำค่าในจังหวัดนี้ มาใช้เป็นวัตถุดิบชั้นเลิศในการผลิต ‘คราฟต์โซดา’ รสชาติล้ำลึก

บางสระเก้า จักรวาล กาลเวลา การเปลี่ยนแปลง โกโก้ซีโร่ ฯลฯ

ข้างต้นคือชื่อของคราฟต์โซดา ที่แบรนด์ ‘The Craft: บางสระเก้า’ ของนิสิตผลิตขึ้น ไม่ใช่แค่ชื่อที่น่าสนใจ แต่รสชาติก็แปลกใหม่ล้ำลึก แถมมากคุณภาพ ต่างจากน้ำอัดลมทั่วไปที่วางขายโดยผู้ผลิตรายใหญ่

เกริ่นนำกันพอสังเขป เราขอพาไปทำความรู้จักกับผู้ผลิตคราฟต์โซดารายนี้ ที่ทำให้จังหวัดจันทบุรีมีสีสันต่างไปอีกเฉด และพิสูจน์ว่าจังหวัดแห่งนี้มีมูลค่าเหลือล้นเพียงใด

จากมนุษย์เงินเดือนกรุงเทพฯ สู่เขยเมืองจันท์ และความหลงใหลที่มีต่อน้ำอัดลม

เราใช้เวลาสองชั่วโมงเศษฝ่าการจราจรสุดแออัดช่วงเช้าในเมืองกรุง ทันทีที่เข้าสู่อาณาเขตตำบลบางสระเก้า อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี ทัศนียภาพสองข้างทางจากป่าคอนกรีต แปรเปลี่ยนเป็นไร่สวนเกษตรกรรมสุดลูกหูลูกตา แหงนหน้าพบท้องฟ้าใสสีคราม ฟังเสียงนกเจื้อยแจ้ว พลางรับลมเย็นพัดมาเอื่อยๆ ก่อนหยุดจอดเช็กแผนที่ให้แน่ใจว่ามาถึงสถานที่ที่นัดหมาย 

ใช่แล้ว บ้านหลังใหญ่บรรยากาศร่มรื่น รอบๆ มีต้นไม้นานาพันธุ์ปลูกล้อมรอบดุจรั้วจากธรรมชาติ ชั่วอึดใจ นิสิตเดินออกมาต้อนรับเราพร้อมภรรยาและลูกชายตัวน้อยวัยกำลังซน ก่อนชวนเราไปนั่งเพิงพักบริเวณหน้าบ้าน ที่ภายในหน้าตาคล้ายกับบาร์ขนาดย่อม

“ความจริงแล้วผมเป็นคนกรุงเทพฯ เป็นพนักงานบริษัทธรรมดา กระทั่งแต่งงานกับภรรยาที่เป็นคนตำบลบางสระเก้า จึงมีโอกาสได้สัมผัสกับบรรยากาศที่นี่บรรยากาศเงียบสงบ ได้อยู่กับธรรมชาติ อยู่กับตัวเอง ต่างจากตอนอยู่ กทม. ที่ผมรู้สึกว่าแทบไม่ได้ใช้ชีวิต เพราะทุกอย่างดูเร่งรีบเสียหมด ใครจะว่า กทม.ดีก็ดีเถอะ แต่ผมตัดสินใจขอเลือกย้ายมาอยู่ที่นี่”

นิสิตย้อนความให้เราฟังถึงเหตุผลที่ย้ายถิ่นฐานจากเมืองหลวงสู่จังหวัดจันทบุรี หลักๆ นอกจากจะหาความสบายใจให้กับตัวเอง อีกเหตุหนึ่งก็เพื่อที่จะมีเวลาให้กับครอบครัว และด้วยเวลาที่มากเหลือจากงานประจำ ซึ่งเนื้องานไม่จำเป็นต้องนั่งหลังขดแข็งในออฟฟิศ นิสิตจึงตัดสินใจปัดฝุ่นตำราอาหารของแม่เพื่อเปิดร้านสุกี้เล็กๆ อย่างไรก็ดี ด้วยความหลงใหลในรสชาติซาบซ่านของน้ำอัดลม เขาจึงตัดสินใจลงเรียนวิชาผลิตคราฟต์โซดา หวังวางขายในร้านและดื่มเองที่บ้าน

“ส่วนตัวผมชอบดื่มน้ำอัดลมอยู่แล้ว เลยบอกกับตัวเองว่า งั้นก็ไปเรียนการทำดีกว่า ถ้าสำเร็จก็ทำขายในร้าน หรือถ้าทำดื่มเองในบ้านก็คงจะเฟี้ยวน่าดู พอเรียนจบเหมือนทุกอย่างมันระเบิดจากข้างใน เหมือนรู้ว่าต่อจากนี้เราจะทำอะไร”

“กรรมวิธีผลิตน้ำอัดลมที่ผมเรียนเป็นการใช้เชื้อจุลินทรีย์โพรไบโอติก (Probiotics) หมักเพื่อให้ได้ก๊าซ CO2 ที่ให้ความซ่า และกรดแลคติก (Lactic acid) ที่ดีต่อสุขภาพ ซึ่งต่างจากน้ำอัดลมทั่วไปที่ใช้กรรมวิธี Force Carbonation คืออัดก๊าซจากลงไปในถังเพื่อให้ความซ่า 

“พอให้ชาวบ้านแถวนี้ได้ลองชิมเขาก็งงๆ ว่านี่คือน้ำอะไร อะไรคือรูตเบียร์ อะไรคือจินเจอร์เอล (Ginger Ale) ทำไมน้ำขิงมันถึงซ่าๆ แต่นั่นคือความสุข ความสนุก มีท็อปปิกให้เราคุยกับภรรยาตลอดว่า เราลองทำน้ำอัดลมรสชาติอะไรดี” เขยเมืองจันทบุรีเล่าพลางยิ้มกรุ้มกริ่ม

ก่อร่างสร้าง ‘The Craft: บางสระเก้า’ แบรนด์คราฟต์โซดา ที่อาศัยวัตถุดิบจากความรุ่มรวยทางผลผลิตในจังหวัดจันทบุรี

“หลังขายคราฟต์โซดาคู่กับสุกี้ได้หนึ่งเดือน ผมนึกถามภรรยาว่าจะตั้งชื่อยี่ห้อคราฟต์โซดาว่าอะไรดี ภรรยาผมก็แนะนำว่าตั้งชื่อ The Craft ไปเลย เราก็โอเคก็ตรงตัวดี งั้นตกลงเป็นชื่อนี้

“เผอิญช่วงปลายปี 2020 โรคโควิด-19 ระบาด ด้วยข้อจำกัดของกระทรวงสาธารณสุขทำให้ไม่สามารถเปิดหน้าร้านรองรับลูกค้าได้ จนสุดท้าย หน้าร้านก็ต้องปิดตัวลง แล้วหันมาขายส่งแบบบรรจุลงขวดแก้วแทน” นิสิตเล่าต่อถึงจุดเริ่มต้นของแบรนด์ The Craft  ที่เริ่มด้วยความตะกุกตะกัก แต่ในม่านหมอกปัญหากลับแฝงโอกาสสำคัญ เพราะเมื่อไม่ต้องลงแรงกับหน้าร้านจึงมีเวลาผลิตคราฟต์โซดาอย่างจริงจัง ทว่าในโอกาสก็คงแฝงไว้ด้วยอุปสรรคให้เรียนรู้ทุกก้าวอยู่ดี

“ด้วยความที่ต้องผลิตครั้งละจำนวนมาก เลนต้องหันมาผลิตด้วยการอัดก๊าซแทนการหมัก แต่ทุกขวดของ The Craft ปราศจากการใส่สารกันบูด โดยสามารถเก็บในอุณหภูมิห้องนาน 1 ปี

“แต่ใช่ว่าจะไม่มีปัญหาเลยนะ เพราะพอเปลี่ยนจากวิธีการหมักเป็นวิธีอัดก๊าซจากถัง ผมก็ต้องไปศึกษาวิธีการใช้อุปกรณ์ต่างๆ เพิ่มเติม ทำให้การผลิตแต่ละครั้งทำได้ราว 50 ขวด ซึ่งถือว่าเยอะแล้วนะสำหรับผม ไหนจะเรื่องวิธีการพาสเจอร์ไรซ์เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค เพราะเมื่อจุลินทรีย์ในอากาศตกลงไปในขวดเชื้อจะกินน้ำตาลและขยายตัวจนปล่อยก๊าซ CO2 พร้อมเพิ่มแรงดันในขวดขึ้นเรื่อยๆ ทำให้มีโอกาสที่ขวดจะระเบิดระหว่างขนส่ง

“อีกสิ่งที่ยากที่สุด คือการบาลานซ์ระหว่างความซ่า อุณหภูมิ และเวลา เพราะเมื่อไรที่สามสิ่งนี้ไม่สัมพันธ์กัน ตอนทำการพาสเจอไรซ์ในหม้อต้มก็อาจเกิดปฏิกิริยา ‘Over Carbonation’ ระเบิดใส่หน้าผม ซึ่งเหตุการณ์นั้นเคยเกิดขึ้นมาแล้วในที่แห่งนี้ หากสังเกตดีๆ จะเห็นว่า มีคราบเกรอะกรังเต็มข้างฝาและบนเพดาน คราบเหล่านั้นแหละคือร่องรอยจากน้ำเดือดที่กระเซ็นทั่วทิศ เพราะการระเบิด

“มีคนเคยถามว่า ทำไมผมไม่ใส่สารกันบูด จะได้ไม่ต้องมาเสี่ยงอะไรแบบนี้ แต่ผมยืนกรานว่านี่เป็นวิธีที่โอเคแล้ว ผมอยู่กับมันจนคุ้นชินและเรียนรู้ที่จะป้องกันข้อผิดพลาด  และผมยอมเพื่อให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพ คิดง่ายๆ ว่า ถ้าหากลูกผม ภรรยาผม พ่อแม่ผมมาเปิดดื่ม เขาจะต้องดื่มสิ่งที่มีคุณภาพดีที่สุด” นิสิตเล่าถึงอุปสรรคของ The Craft ในช่วงตั้งไข่ ที่ผ่านการลองผิดลองถูกขั้นตอนการผลิตอย่างโชกโชน

ถึงกระนั้น รสชาติน้ำอัดลมในหัวของนิสิตกลับต่างจากภาพจำของใครหลายคน เขาเฉยเมยปัดตกสูตรตำราเครื่องดื่มอัดก๊าซทั่วไป ที่ใช้วัตถุดิบจากผลไม้ยืนพื้น เช่น ส้ม สตรอว์เบอร์รี หรือองุ่น และหันมาใช้ ‘สมุนไพร’ และ ‘เครื่องเทศ’ ที่หาได้ในจังหวัดจันทบุรี 

อีกนัยหนึ่ง นอกจากจะทำให้ ‘The Craft’ แตกต่างจากแบรนด์น้ำอัดลมทั่วไป ขณะเดียวกัน สิ่งที่นิสิตทำยังเป็นการเพิ่มมูลค่าเกือบเท่าตัวให้กับผลผลิตในจังหวัดดังกล่าว ด้วยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทอื่น

“ผมเคยบอกกับภรรยาว่า ถ้าเราเริ่มต้นจากการทำโคล่า ทำรูตเบียร์ สุดท้ายก็หนีไม่พ้นที่จะโดนเปรียบเทียบกับผู้ผลิตรายใหญ่ ทั้งรสชาติ ราคาวัตถุดิบต่างๆ แค่นี้ผมก็แพ้เขาแล้ว ฉะนั้น เราต้องสร้างมาตรฐานในแบบของเราเอง ทำให้ผู้บริโภคเขาเข้าใจว่า ทำไมเขาต้องซื้อสินค้าจากเรา เพราะเราไม่ได้ขายแค่รสชาติ แต่ยังขายเรื่องราว ขายที่มาที่ไป

“และในเมื่อจันทบุรีเป็นจังหวัดที่ร่ำรวยทรัพยากร เราก็ต้องใช้ความได้เปรียบนี้ให้เป็นประโยชน์ ผมจึงคิดค้นรสชาติคราฟต์โซดาของ ‘The Craft’ โดยยืนพื้นจากเครื่องเทศที่หาได้จากที่นี่ เช่น เร่วหอมหรือกระวาน

“ผมมองว่าการทำคราฟต์โซดาเป็นเรื่องของจินตนาการนะ อย่างตอนที่เราคิดจะใช้เร่วหอมเป็นส่วนผสม นั่นก็มาจากตอนที่ผมไปกินก๋วยเตี๋ยวเนื้อเลียง ที่อำเภอขลุง และบนป้ายเมนูเขาเขียนไว้ว่า น้ำซุปมีส่วนผสมของเร่วหอม ซึ่งเป็นเครื่องเทศที่หาได้เฉพาะในจังหวัดจันทบุรี พอกลับมาผมก็รีบให้ภรรยาไปซื้อเร่วหอม แล้วลองมาต้ม ก่อนจะลองผสมกับผลไม้ท้องถิ่นอย่าง ‘มะปี๊ด’ หรือที่คนรู้จักในชื่อส้มจี๊ด

“เพราะถ้าเราใช้แค่เร่วหอมหรือมะปี๊ดอย่างเดียว มันก็จะเป็นแค่น้ำเร่วหอมอัดก๊าซ น้ำมะปี๊ดอัดก๊าซธรรมดาไม่ได้พิเศษอะไร ผมเลยตัดสินใจหยิบวัตถุดิบทั้งสองมาผสม จนเกิดรสชาติแปลกใหม่ไม่เคยมีมาก่อน

“หรืออย่างคราฟต์โซดาที่ชื่อ ‘จักรวาล’ ก็มาจากตอนที่ผมมีโอกาสไปเดินตลาดสี่มุมเมรุ (ชื่อตลาดแห่งหนึ่งในอำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี) ผมก็ไปเจอกับ ‘กระวาน’ สมุนไพรที่ใช้ในอาหารคาวเสียส่วนใหญ่ เช่น เมนูไก่กระวาน เราก็ตั้งคำถามว่า กระวานไม่จำเป็นต้องอยู่แค่ในอาหารก็ได้นี่ แต่ถ้าใช้แค่กระวานกลิ่นและรสชาติคงจะแรงไป ถ้าอย่างนั้นเราเอามะปี๊ดกับมินต์มาผสมให้ได้รสสัมผัสสดชื่น เปรี้ยวอมหวานดีกว่า” นิสิตกล่าวด้วยน้ำเสียงหนักแน่นและแววตาที่เปี่ยมด้วยความมั่นใจเต็มร้อย

บางสระเก้า จักรวาล กาลเวลา การเปลี่ยนแปลง และโกโก้ซีโร่ 

มาถึงแหล่งผลิตทั้งทีถ้าไม่ลองชิมคงจะน่าเสียดาย แต่ไม่ต้องห่วง เพราะนิสิต

เตรียมคราฟต์โซดารสเลิศทั้ง 5 รส ที่เป็นตัวชูโรงของ ‘The Craft’ มาคอยท่าเราให้จิบกันเพลินๆ เคล้าบรรยากาศแดดร่มลมตก

1. บางสระเก้า (BANGSAKAO) – แน่นอนว่าแต่ละรสชาติย่อมาพร้อมกับเรื่องราวที่น่าสนใจ และเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่มีอยู่ในจังหวัดจันทบุรี นี่คือโปรดักต์คราฟต์โซดาตัวแรกที่นิสิตคิดค้นขึ้น โดยมีเรื่องราวตามที่เล่าในข้างต้นว่ามาจากการผสมผสานระหว่างเร่วหอมกับมะปี๊ด จนได้รสชาติเย็นสดชื่นสอดรับกับรสชาติเปรี้ยวอมหวานลงตัว ส่วนที่มาของชื่อนิสิตให้คำตอบสั้นๆ ว่า เป็นการเชิดชูผืนแผ่นดินตำบลบางสระเก้า ในฐานะจุดเริ่มต้นของแบรนด์ ‘The Craft’

2.จักรวาล (JAKKAWAN) – คราฟต์โซดาที่มีส่วนผสมหลักจากสมุนไพร ‘กระวาน’ ที่นิสิตอยากเปลี่ยนความเชื่อเดิมๆ ว่า สมุนไพรใส่ได้แค่ในอาหาร โดยนำมาผสมกับมะปี๊ดและมินต์ เพื่อดับกลิ่นฉุนของกระวานและช่วยให้มีรสชาติดื่มง่ายขึ้น ส่วนชื่อจักรวาลนิสิตตอบปนขำว่า แท้จริงเป็นการเล่นคำ ‘จากกระวาน’ เพี้ยนเป็น ‘จักรวาล’ ที่ออกเสียงคล้ายกันหากพูดเร็วๆ อย่างไรก็ดี หลังลองชิมรสชาติที่ให้ความรู้สึกแปลกประหลาด ซาบซ่านราวกับมีดวงดาวนับพันล่องลอยอยู่ในปากสมชื่อจักรวาล

3.กาลเวลา (KANWERA) – จุดเริ่มต้นของเครื่องดื่มชนิดนี้มาจากการที่นิสิตได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่รายหนึ่งของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ว่า จังหวัดจันทบุรีขึ้นชื่อในเรื่องการปลูกผลโกโก้ นิสิตไม่รอช้ารีบทำตามคำแนะนำ ก่อนจะพบว่า ‘เปลือก’ ที่เหลือทิ้งจากการ ‘คั่วเมล็ดโกโก้’ ล้ำค่ามากพอแก่การนำมาแปรรูปเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบ 

นิยามของกาลเวลา คือน้ำโซดาที่มีกลิ่นของโกโก้ชัดเจนทุกอณู ขณะที่รสชาติหวานกำลังดีไม่เหนียวแสบคอหรือเลี่ยนเกินไป ต่างจากภาพจำเดิมๆ ของเครื่องดื่มประเภทโกโก้ที่มีอยู่ดาษดื่น ส่วนชื่อกาลเวลามาจากคอนเซปต์คำว่า ‘เวลาในขวดแก้ว’ เนื่องจากนิสิตใช้เวลาในการปรับปรุงสูตร ผ่านการลองผิดลองถูกนานพอสมควร กว่าจะได้รสชาติโดนใจ 

ขณะเดียวกัน แนวคิดสร้างสรรค์ดังกล่าวยังเป็นการเพิ่มมูลค่าเปลือกเมล็ดโกโก้ ที่แต่เดิมเป็นของเหลือทิ้งให้มีมูลค่ามากขึ้น โดยปัจจุบัน เกษตรกรท้องถิ่นสามารถขายเปลือกเมล็ดโกโก้ได้ราว 250-400 บาท ทั้งช่วยลดปัญหาขยะอาหาร (Food Waste) ไปในตัว

4.การเปลี่ยนแปลง (KANPLEANPANG) – ภาคต่อของกาลเวลาที่นิสิตพัฒนาเครื่องดื่มโกโก้อัดก๊าซของเขาให้มีรสสัมผัสแรกหวานอมเปรี้ยว ด้วยการผสมน้ำทับทิม องุ่น และแอปเปิลไซเดอร์ เวเนการ์ (Apple Cider Vinegar) แต่เมื่อกลืนลงคอก็ยังรับรู้ถึงความหอมของกลิ่นโกโก้ 

5.โกโก้ ซีโร่ (COCOA ZERO) – เครื่องดื่มที่นิยามว่าเป็นลูกหลานของกาลเวลาและการเปลี่ยนแปลง ที่เกิดจากจุดประสงค์ของนิสิต ซึ่งอยากให้คนมีโรคประจำตัว เช่น ความดันหรือเบาหวาน สามารถดื่มคราฟต์โซดาอย่างปลอดภัยต่อสุขภาพ 

ดังนั้น นิสิตจึงยอมใช้สารแทนความหวานที่เป็นมิตรต่อสุขภาพและได้ผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อย่าง ‘ซูคราโลส’ (Sucralose) เรียกว่าหน้าตาและรสชาติเหมือนกาลเวลาทุกประการ ต่างกันตรงที่คุณประโยชน์สารอาหารนั่นเอง

“ยากนะถ้าจะทำให้คนพื้นที่เขารู้สึกว้าวกับของที่เขาคุ้นเคย ผมเคยเอาน้ำกระวาน น้ำเร่วหอมไปให้ชาวบ้านแถวนี้ชิม เขาก็บอกแล้วไงล่ะ ก็กระวานไง ก็เร่วหอมไง ไม่ได้มีอะไรพิเศษ 

“นั่นทำให้ผมตระหนักว่า เราควรส่งออกสินค้าของเราไปขายในที่ที่เขาไม่รู้จักวัตถุดิบเหล่านี้เลย เช่น ในกรุงเทพฯ ในตัวเมืองจังหวัดอื่นๆ จนผู้บริโภคเกิดความสนใจและสุดท้ายเขาต้องกลับมาตามหาเรื่องราวที่จังหวัดจันทบุรี” นิสิตอธิบายถึงแนวคิดการกระจายสินค้าของเขาพลางรินโซดาให้เรา วิธีการดังกล่าวนอกจากจะเป็นการทำให้สินค้าของเขามีความน่าสนใจ ขณะเดียวกัน ยังสร้างสตอรีและมูลค่าให้แก่จังหวัดจันทบุรีไปในตัว 

มุมมองของผู้ผลิตน้ำอัดลมรายเล็ก และความหวังในฐานะพลเมือง EEC+1

หลังชิมคราฟต์โซดารสเลิศกันจนหนำใจ เราชวนนิสิตกลับมาพูดคุยต่อในประเด็นหนักๆ ถึงอุปสรรคของผู้ประกอบรายเล็ก ที่เขาอธิบายให้เราฟังว่า กำแพงอุปสรรคใหญ่ไม่ใช่แค่ต้นทุนหรือเครื่องมือ แต่ยังรวมถึง ‘ข้อกฎหมาย’ โดยเฉพาะเรื่องของ ‘ภาษี’ 

“ในแง่ของการจัดเก็บภาษีโซดา เราโดนแพงเกือบจะเท่าเพดานภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นั่นคือบวกเพิ่ม 14% เพราะกฎหมายมองว่า เมื่อไรที่เป็นโซดาคนมักจะนำไปผสมกับแอลกอฮอล์เสมอ 

“สมมติว่าผมขายคราฟต์โซดาหนึ่งขวดในราคา 100 บาท แต่ถ้าคนคนนั้นที่ผมขายให้นำไปขายต่อในราคา 150 บาท เท่ากับว่าผมต้องเสียภาษีให้กรมสรรพสามิต 150 นั่นหมายความว่าผมไม่ได้อะไรกลับมาเลยเสียด้วยซ้ำ เพราะตามกฎหมายกรมเขาระบุแค่ว่าปลายทางขายราคาเท่าไร  ก็มาเก็บภาษีกับผมเท่านั้น

“หรือตอนที่ผมจะผลิตคราฟต์โซดาที่มีส่วนผสมกับเร่วหอม แต่พอจะผลิตกลับทำไม่ได้ เพราะในบัญชีของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เขาไม่ได้ขึ้นบัญชีอนุญาตไว้ในระบบ เหตุผลเพราะเร่วหอมเป็นพืชพื้นถิ่นเฉพาะในจังหวัดจันทบุรี ทาง สธ.เขาก็แนะนำให้ผมไปติดต่อกับส่วนกลาง ขณะเดียวผมก็ห้องหาผลงานวิจัย หาผลแล็บความปลอดภัยให้ทางเขายอมรับ แล้วรู้ไหมครับ ว่าค่าผลแล็บครั้งหนึ่งต้องเสียเงินกว่า 9 หมื่นบาท นั่นความว่าถ้าเป็นชาวบ้านตาดำๆ ก็แทบจะปิดประตูโอกาสโดยปริยาย 

“โชคดีที่ผมได้รับความช่วยเหลือจากมหาวิทยาลัยบูรพา ที่เขาเคยวิจัยคุณค่าโภชนาการของเร่วหอมเอาไว้ แต่กว่าจะต่อสู้จนเร่วหอมได้รับการยอมรับผมต้องเสียเวลาอีกกว่า 6 เดือน และพอขึ้นบัญชีกลับไม่ใช่แค่ผมที่นำเร่วหอมไปใช้ได้ แต่หมายความว่า ผู้ประกอบการรายอื่นๆ ก็สามารถนำเร่วหอมไปใช้ได้เช่นกัน ในมุมผู้ประกอบการถ้าเจอแบบนี้ใครจะอยากมานั่งขอใบอนุญาตกัน มีผมนี่ล่ะที่ดันทุรัง (หัวเราะ)

“ว่ากันตามตรงภาครัฐไม่ต้องช่วยอะไรเรามากหรอกครับ แค่อำนวยความสะดวกคอยประคับประคองผู้ประกอบการรายเล็กอย่างเรา และอย่าซ้ำเติมกันให้ลำบากเพิ่มก็พอ” นิสิตอธิบาย แม้ดูเหมือนจะท้อใจกับอุปสรรคตรงหน้า แต่ผลลัพธ์ในวันนี้กลับพิสูจน์แล้วว่า The Craft ถูกสร้างมาด้วยความมุมานะ พ่วงแรงกายและแรงใจของเขยจันทบุรีคนนี้อย่างแท้จริง

“สำหรับคุณแล้วในฐานะที่ตอนนี้เป็นประชากรของจังหวัดจันทบุรี ซึ่งเป็นจังหวัดที่อยู่ในโครงการ EEC+1 คุณเห็นความเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด” ผมตามนิสิตต่อด้วยความใคร่สงสัย ก่อนที่ไม่ช้าจะได้คำตอบชวนขบคิดจากเขากลับมา

“สิ่งที่ผมเห็นคือโครงการอสังหาริมทรัพย์เกิดขึ้นเยอะมาก นั่นแปลว่ามีคนภายนอกที่ต้องการเข้ามาอาศัยในจังหวัดจันทบุรีมากขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อผู้ประกอบการภาคธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะการท่องเที่ยว คุณจะเห็นได้เลยว่ามีคาเฟ่ใหม่ๆ เกิดขึ้นเยอะมาก แต่สิ่งที่ขาดคือคนที่จะมาชูอัตลักษณ์ของจังหวัดให้คนภายนอกรับรู้

“ขณะเดียวกัน จังหวัดจันทบุรียังเป็นจังหวัดสีเขียวที่แทบไม่มีโรงงานอุตสาหกรรม แต่เมื่อไรที่ความเจริญเพิ่มมากขึ้น สิ่งที่ตามมาก็คือความเสื่อมโทรม  สำหรับตัวผมยังอยากให้ผืนดินแห่งนี้เป็นสีเขียวนะ แต่สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจว่าเขาให้ความใส่ใจเรื่องนี้แค่ไหน

“เคยคิดจะกลับไปใช้ชีวิตที่กรุงเทพฯ ไหม?” ผมถามนิสิตต่อ

“ผมอยู่ที่นี่มา 6 ปีแล้วนะ อย่างที่บอกว่าอยู่ที่นี่ผมได้ใช้ชีวิต วันไหนผมเบื่อๆ หรืออยากได้ไอเดียในการทำโซดา ผมก็ชวนเพื่อนที่เป็นเขยเมืองจันทบุรีเหมือนกันออกไปพายเรือ ผูกเรือกับต้นโกงกาง นั่งดื่มเบียร์พลางตกหอยนางรมกินแกล้ม วิถีชีวิตแบบนี้ที่กรุงเทพฯ ไม่สามารถให้ผมได้

“ตั้งแต่ผมมาอยู่ที่นี่ผมไม่อยากไปไหนเลย เสน่ห์ของจังหวัดจันทบุรีมีทั้งอาหาร ทะเล ภูเขา เรียกว่ามีทุกอย่างที่ผมต้องการ แม้แต่เสียงเพลงคลาสสิกตามสายวิทยุกระจายเสียงก็ตาม ผมกล้าพูดได้เต็มปากว่าที่นี่แหละคือบ้านของผม” นิสิตกล่าวทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม

ก่อนจะกลับนิสิตยังฝากคราฟต์โซดาให้เรากลับไปดื่มระหว่างทางอีกหนึ่งลังใหญ่ แม้ว่าวันนี้จะยังไม่สามารถเอ่ยได้เต็มปากว่า The Craft สามารถตีตลาดสู้กับบรรดาผู้ประกอบการน้ำอัดลมเจ้าใหญ่สำเร็จ แต่หากตัดเรื่องผลประกอบการออกไปแล้วล่ะก็ The Craft สามารถทำหน้าที่เป็นฟันเฟืองเล็กๆ ที่สามารถขับเคลื่อนจันทบุรีให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น ในฐานะดินแดนที่ร่ำรวยทรัพยากรแห่งภาคตะวันออก โดยแทบไม่จำเป็นต้องพึ่งกลไกใดๆ ของโครงการ EEC+1

และเหนือสิ่งอื่นใดคือ ‘ความสุข’ และ ‘มิตรภาพ’ ที่เราได้รับจากทั้งนิสิตและครอบครัวชาวจันทบุรี ที่เหลือล้นราวกับก๊าซที่อัดแน่นบรรจุลงในขวดโซดา พร้อมความหวังที่ว่า ถ้าสักวันได้กลับมาเยี่ยมเยียนกันอีกครั้งก็คงจะดี

Fact Box

  • นอกจากจะเป็นผู้ผลิตคราฟต์โซดา นิสิตยังเป็นคนแรกในจังหวัดจันทบุรี ที่ได้รับอนุญาตจากทางกรมสรรพสามิต ให้สามารถผลิตสุราที่มิใช่เพื่อการค้า โดยนิสิตหวังว่า ในอนาคตหากกฎหมายสุราทำการปลดล็อกให้เอื้อต่อคนตัวเล็ก เขาจะรวบรวมผู้คนที่สนใจการทำคราฟต์เบียร์หรือสุราชุมชนในจังหวัดจันทบุรี เพื่อเปิดเป็นคอมมูนิตี้เล็กๆ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และร่ำสุรากันอย่างมีความสุข
  • ขณะเดียวกัน ภรรยาของนิสิตยังมีความฝัน ที่จะใช้บาร์หน้าบ้านเปิดเป็นร้านช็อกโกแลตที่ใช้วัตถุดิบเมล็ดโกโก้ในจังหวัดจันทบุรี แต่ด้วยอุปสรรคด้านกำลังคนจึงยังเป็นเพียงโปรเจกต์ที่วางไว้ในอนาคตเท่านั้น
  • ใครที่สนใจอยากดื่มคราฟต์โซดารสชาติล้ำลึก ที่ใช้วัตถุดิบจากจังหวัดจันทบุรี สามารถติดตามและสั่งซื้อได้ที่เพจเฟซบุ๊ก The Craft: บางสระเก้า เว็บไซต์ thecrafthai.com และเบอร์โทรศัพท์ 098-665-0555
Tags: , , , , , , ,