Jai Sri Ram – โอ้ ศรีรามจงเจริญ

รามชันมภูมิ (Ram Janmabhoomi) ผืนดินที่เชื่อว่าเป็นที่เกิดของศรีราม มหาราชาผู้ยิ่งใหญ่ในอุดมคติของชาวฮินดู ทว่าผืนดินแห่งนี้เคยเป็นที่ตั้งของมัสยิดที่ใช้ชื่อเดียวกับปฐมจักรพรรดิแห่งราชวงศ์มุฆัล-โมกุล ความขัดแย้งฝังลึกในรากความรู้สึกนานนับศตวรรษ นำไปสู่การต่อสู้เพื่อยื้อแย้งสิทธิในการถือครองดินแดนเล็กๆ นี้บนผืนดินที่ถูกเรียกว่า ‘อนุทวีป’ เพื่อจบและปิด (?) บาดแผลแห่งอดีต

สุดท้ายวิชา ‘โบราณคดี’ ศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ในอดีตจึงถูกหยิบมาใช้เป็นเครื่องมือในการตัดสินเรื่องราวในครั้งนี้

ปราณประติษฐะ

       เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา คำสรรเสริญพระราม เทพเจ้าผู้เป็นที่รักของชาวฮินดูดังกึกก้องไปทั่วดินแดนภารัต เหนือจรดใต้ ตะวันออกถึงฝั่งตะวันตก เพื่อเฉลิมฉลองพิธีปราณประติษฐะ (Pran Pratishtha) ขององค์เทวรูปนามว่า รามลัลลา (Ram Lalla) อันเป็นสัญลักษณ์ของการกลับคืนสู่ดินแดนอโยธยาอีกครั้งขององค์รามจันทรา

นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย ร่วมเป็นประธานในพิธีปราณประติษฐะ เทวรูปราม ลัลลา (ที่มา: Reuters)

หากพูดให้เข้าใจง่ายตามบริบทวัฒนธรรมความเชื่อของไทย ‘พิธีปราณประติษฐะ’ คงเปรียบได้กับ ‘พิธีเบิกเนตร’ คำว่า ‘ประติษฐะ’ เป็นภาษาสันสกฤต แปลความตรงกับภาษาไทยว่า ‘ประดิษฐาน’ ส่วนคำว่า ‘ปราณะ’ มีความหมายตรงกับคำว่า ‘ลมปราณ’ ในภาษาไทย พิธีกรรมนี้จึงเป็นการอัญเชิญพลังงานของเทพเจ้าองค์หนึ่ง ให้ลงมาสถิต ณ เทวรูปที่ถูกสร้างขึ้น ทำให้เทวรูปที่เป็นเพียงอิฐ หิน ปูน ทราย มีชีวิตขึ้น มีลมหายใจ

ด้วยเหตุนี้ หากใครเคยไปร่วมพิธีของพราหมณ์อินเดีย ทั้งที่วัดแขกสีลม หรือวัดเทพมณเฑียร อาจเคยเห็นว่า พราหมณ์กระทำการต่างๆ กับเทวรูปเฉกเช่นเดียวกับคน เพราะภายในเทวรูปมีพลังงานชีวิตของเทพเจ้าอยู่

รามราชยะ

ตามความเชื่อของคนฮินดู พระรามเป็นเทพเจ้าผู้เป็นแบบอย่างของความสมบูรณ์แบบ พระองค์ได้รับสมญาจากผู้ศรัทธาว่า มารยาทปุรุโษตตมะ (Maryada Purushottam – ผู้อุดมด้วยความเที่ยงธรรม) ตรงกันข้ามกับพระกฤษณะผู้ได้รับสมญาว่า ลีลา ปุรุโษตตมะ (Lila Purushottam – ผู้อุดมด้วยลีลา) อันมีที่มาจากอุปนิสัยรักสนุกของพระกฤษณะตามที่บรรยายไว้ในคัมภีร์ต่างๆ  

พระรามเป็นที่รักของชาวฮินดูทั่วทั้งอินเดียอย่างมาก พระองค์ทรงเป็นแบบอย่าง เรื่องราวของพระองค์ได้รับการถ่ายทอดอย่างต่อเนื่อง แม้ทุกวันนี้ รามลีลายังคงได้รับความนิยมในหมู่ชนไม่เสื่อมคลาย คนฮินดูเชื่อกันอีกว่า ‘รามราชยะ’ หรือดินแดนอันปกครองด้วยพระราม คือยูโทเปีย (Utopia) ของพวกเขา พระรามจะไม่ทรงทำให้พวกเขาตกอยู่ในสภาพแร้นแค้นเป็นแน่

มหาตมะ คานธี (Mahatma Gandhi) บิดาผู้ก่อตั้งอินเดียใหม่ เคยแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า

“เมื่อกลาวถึง รามราชยะ ข้าพเจ้ามิได้หมายเอาเพียงฮินดู ราช ข้าพเจ้าหมายถึง ราม ราช ดินแดนแห่งพระผู้เป็นเจ้า สำหรับข้าพเจ้าแล้ว ไม่ว่า ราม หรือราฮิม ทั้งสองล้วนเป็นหนึ่งเดียว ข้าพเจ้าไม่มีพระเจ้าอื่นใดของจากความจริง แลความเที่ยงธรรม”

หากเราเชื่อในวิสัยทัศน์ของชายผู้ถูกขนานนามว่า ‘ดวงวิญญาณอันยิ่งใหญ่’ ดินแดนแห่งนี้มิได้เป็นเพียงของชาวฮินดู แต่กลับเป็นดินแดนอันเปิดกว้างและโอบรับผู้คนจากต่างภูมิหลังเข้าไว้ด้วยกันภายใต้อุดมการณ์เดียวกัน และความเที่ยงธรรมเดียวกัน เมื่อพิจารณาคำพูดของคานธีอย่างรอบด้านแล้ว นั่นคืออินเดียที่คานธีอยากให้เป็น อินเดียที่ผู้คนมากหน้าตายืนอยู่ร่วมกันอย่างภาคภูมิภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งชาติ

       ผมไม่สามารถตอบได้ว่า หลัง 76 ปี แห่งเอกราช สิ่งที่คานธีฝันไว้มาถึงหรือยัง อย่างที่ทราบกันอยู่ว่า คนที่ลอบสังหารคานธีเมื่อกว่า 7 ทศวรรษก่อนเป็นชาวฮินดูฝ่ายขวา ผู้ไม่พอใจต่อแนวทางของคานธีที่เห็นใจคนกลุ่มน้อยมากกว่าคนส่วนมากที่เป็นชาวฮินดู ในเชิงหนึ่ง ความตายของคานธีจึงอาจเป็นคำตอบของคำถามสั้นๆ ที่ว่า ‘รามราชยะ มาถึงแล้วหรือยัง?’ แต่ในทางกลับกัน ลูกกระสุนทุกลูกที่ฝังเข้าไปในอกของคานธีก็เป็นคำตอบที่ชัดเจนถึงความขัดแย้งอันแสนยาวนาน และรอยร้าวภายในใจของกลุ่มคนฮินดู

‘แล้วทำไมพระรามถึงเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้?’

คนที่ตอบเรื่องนี้ได้ดี คงเป็นใครไม่ได้นอกจาก ผศ.คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง อาจารย์เขียนบทความหลายสำนวนเกี่ยวกับเรื่องนี้ คำตอบหนึ่งที่อาจารย์ค้นพบ คือแต่เดิมพระรามมีสองคุณลักษณะ ประหนึ่งเหรียญเงินที่มี 2 ด้าน คือ 1. ผู้เป็นสามี เพื่อน และพี่ กับ 2. ผู้เป็นราชา นักรบ เจ้านาย และพระเจ้า คุณลักษณะทั้งสองขับเคี่ยวตลอดเวลาทั้งในวรรณกรรมและสังคม

ผู้อ่านรามายณะที่เป็นชาวบ้านมักจะรับรู้ได้ถึงพระรามที่อบอุ่น ผู้เป็นพลังของผู้ไร้พลังหรือนิรพลเกพล (Nirbalakebala) แต่สำหรับชนชั้นปกครอง พระรามคือ ‘ราชา’ เป็นกษัตริย์นักรบผู้ปราบอสูรร้ายอันเป็นภัยต่ออาณาจักรของพระองค์ นั่นจึงเป็นคำตอบหนึ่งให้กับความต่างทางมุมมองที่คานธีมีต่อรามราชยะที่มีพระรามเป็นเพื่อน กับมุมมองของฝ่ายขวาที่เชื่อว่าดินแดนแห่งรามราชยะนั้นเป็นของชาวฮินดู (ฮินดูราช) เพื่อชาวฮินดู โดยพระรามเป็นผู้ปกครอง และเมื่อวันนั้นมาถึง ชาวฮินดูจะหวนคืนสู่ยุคทอง 

“ด้วยมโนคติดังกล่าว พระรามจึงเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองสมัยใหม่” อาจารย์คมกฤชกล่าว

เมื่อพระรามก็ดี รามราชยะก็ดี ถูกยื้อแย่งช่วงชิงการนิยามความหมายกันในหมู่คนทั้งฝ่ายซ้าย ฝ่ายขวา หรือฝ่ายกลาง ดินแดนของพระราม ดินแดนที่ ณ บริเวณนั้นพระรามประสูติบนโลกมนุษย์ จึงตกกระไดพลอยโจนเป็นหมุดหมายแห่งความขัดแย้งในที่สุด

เมื่อปี 1990 กลุ่มก้อนฝ่ายขวาทางการเมืองผู้เชื่อในคำนิยามว่า รามราชยะเป็นสิทธิอันชอบธรรมของชาวฮินดูอยู่แต่เดิม รวมตัวกันเพื่อจัดกิจกรรม ‘รามยาตรา’ เพื่อเดินไปยังดินแดนอโยธยา เกิดขึ้นจริงในปี 1992 กลุ่มผู้ร่วมกิจกรรมในครั้งนั้นมีทั้งเยาวชน นักบวชฮินดู และผู้คนจำนวนกว่า 1.5 แสนชีวิต เข้าบุกรุกและทำลายมัสยิดบาบรี (Babri Masjid) จนเกิดการจลาจลทั่วทั้งอินเดีย เกิดการปะทะกันระหว่างชุมชนมุสลิมกับชุมชนฮินดู ชาวอินเดียกว่า 2,000 คนต้องสังเวยชีวิตไปกับเหตุการณ์ในครั้งนั้น พื้นที่มัสยิดถูกยึดโดยอำนาจศาลระงับการเข้าออก ในจุดนี้ ที่งานโบราณคดีเข้ามามีส่วนร่วมในพื้นที่ทางการเมืองของอินเดียอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

กลุ่มผู้ชุมนุมเข้าทำลายมัสยิดบาบรี

ความจริงแล้ว โบราณคดีเคยถูกใช้เป็นเครื่องมือของพวกเจ้าอาณานิคมในการขุดค้น สำรวจเรื่องราวในอดีตของชาวอินเดียมาแล้วตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 มีการขุดค้นแหล่งโบราณคดีสำคัญหลายแห่งในอินเดีย แน่นอนว่ามีเบื้องลึกเบื้องหลังทางการเมืองเข้ามาเกี่ยว ผ่านชุดความคิดเรื่องอารยัน (Aryan Invasion) เพื่ออธิบายถึงอิทธิพลภายนอกของวัฒนธรรมแบบตะวันตกที่เข้ามาสร้างแรงกระเพื่อมในสังคมอินเดียโบราณ (หากใครสนใจลองหาบทความ Archaeologist and Architectural Scholars in 19th Century India ของ Professor Upinder Singh อ่านประกอบ)

แต่ในครั้งนี้แตกต่างออกไปจากครั้งก่อนหน้า เพราะศาลสูงอินเดียสั่งให้กรมโบราณคดีอินเดีย (Archaeological Survey of India: ASI) ขุดค้นในพื้นที่มัสยิดเพื่อตรวจสอบหาความจริงว่า มัสยิดแห่งนี้สร้างอยู่บนสิ่งใดกันแน่ การขุดค้นครั้งนั้นดำเนินโดยทีมนักโบราณคดีผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์นี้หลายคน นำโดย ศาสตราจารย์ บี. บี. ลาล (Professor B. B. Lal) ผู้ล่วงลับ สุดยอดนักโบราณคดีในตำนานของอินเดีย ผู้ขุดค้นแหล่งโบราณคดีสำคัญมากมาย เช่น เมืองโกสัมภี ทุ่งกุรุเกษตร หรือแม้แต่กรุงเดลี

การขุดค้นดำเนินไปใน 3 บริเวณหลัก ประกอบด้วยลานด้านหน้ามัสยิด ลานด้านหลังมัสยิด และภายในอาคารมัสยิด ผลเป็นรายงานขุดค้นยาวกว่า 800 หน้าและถูกพิมพ์ขึ้นเสนอต่อศาล ผลการขุดค้น (เสร็จสิ้นเมื่อปี 2003) พบร่องรอยของฐานอาคารอิฐก่อรับเสาหินสลักลวดลายแบบสถาปัตยกรรมฮินดู ศิลปะอินเดียเหนือ กำหนดอายุราวศตวรรษที่ 12 จำนวน 12 ต้น และตัวอาคารอิฐที่รองรับอยู่ก็กำหนดอายุย้อนกลับไปได้อีกเล็กน้อยคือ ราวศตวรรษที่ 11 พร้อมด้วยเทวรูป (?) ดินเผาขนาดเล็กอีกจำนวนหนึ่ง

 

หลุมขุดค้นทางโบราณคดี บริเวณมัสยิดบาบรี

 เสาหินสลักลวดลายแบบสถาปัตยกรรมฮินดู

ข้อความในรายงานการขุดค้นของ ASI ในครั้งนั้นสร้างแรงกระเพื่อมอย่างมากต่อวงวิชาการโบราณคดีและประวัติศาสตร์ มีการออกมาตั้งข้อสงสัยและสนับสนุนการขุดค้นในครั้งนั้นจำนวนมาก เนื่องจากศาสตราจารย์ลาลค่อนข้างหลีกเลี่ยงการยืนยันคำว่า ‘เทวสถาน’ ลงไปในรายงาน เพียงแต่ข้อสรุปสำคัญคือ เป็นพื้นที่ที่ถูกใช้งานต่อเนื่องมาก่อนหน้าการสร้างมัสยิดแล้ว กระนั้นในบทความฉบับหนึ่งของศาสตราจารย์ลาล ตีพิมพ์ในวารสาร Manthan ดำเนินการโดยกลุ่มฮินดูชาตินิยมราษตริยะ สวายัมเสวัก สังฆ์ (Rashtriya Swayamsevak Sangh: RSS) ระบุถึงร่องรอยของอาคารอิฐแบบเดียวกันกับที่พบในบริเวณมัสยิด ในพื้นที่อื่นๆ รอบอโยธยา ในบทความนั้นศาสตราจารย์ลาลเพิ่มความเห็นส่วนตัวเข้าไปว่า “เสาเหล่านี้คือร่องรอยของเทวสถานที่ถูกทำลาย”

สุดท้ายหลังการพิจารณาความยาวนานตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1990 ในเดือนพฤศจิกายน 2019 ศาลสูงสุดของอินเดียพิพากษาให้พื้นที่ขัดแย้งเป็นของฮินดู โดยสรุปว่า ให้รัฐบาลอินเดียจัดตั้งคณะกรรมการดำเนินการสร้างเทวสถานพระรามบนพื้นที่ขัดแย้งมัสยิดบาบรี โดยครอบครองพื้นที่ขนาด 2.77 เอเคอร์ และให้จัดสรรพื้นที่อื่นในเมืองอโยธยาสำหรับการสร้างมัสยิดของมุสลิมขนาด 5 เอเคอร์

คำพิพากษานี้จึงเปรียบเสมือนชัยชนะของกลุ่มฮินดูฝ่ายขวา นำโดยรัฐบาลของนายกฯ โมดี และพรรคภารตียชนตา (BJP) ที่ใช้พระรามเป็นธงนำพลวัตทางการเมืองของพวกเขามาอย่างยาวนานก่อนประกาศเอกราชเสียอีก ส่วนตัวแล้ว ผมไม่ทราบว่าการทุบทำลายมัสยิดที่เคยทุบทำลายเทวาลัย (?) เพื่อสร้างเทวาลัยขึ้นใหม่ เป็นสิ่งที่พระรามจะทรงทำในรามรัฐของท่านไหม แต่หินทุกก้อน อิฐทุกแผ่นในเชิงหนึ่งได้หนุนลมปีกขวาให้เติบใหญ่ และกดทับลมปีกซ้ายให้ต่ำลง

สถานีต่อไป ‘กาศี’

หลังการประดิษฐานลมปราณของพระผู้เป็นเจ้าเข้าไปยังเทวรูปของพระราม ณ กรุงอโยธยาได้เพียง 4 วัน วันที่ 26 มกราคม 2024 กรมโบราณคดีเผยแพร่เอกสารการขุดค้น ณ มัสยิดกยานวาปิ (Gyanvapi Masjid) เมืองพาราณาสี ซึ่งกลุ่มฮินดูฝ่ายขวาฟ้องต่อศาลเมื่อปี 1997 ว่า สร้างทับอยู่บนพื้นที่เทวาลัยเดิมและพวกเขาต้องการสิทธิที่จะเข้าไปประกอบพิธีการศาสนาแบบฮินดูในนั้น

มัสยิดแห่งนี้ก้าวเข้าสู่ความขัดแย้งก็ด้วยเหตุผลเดียวกับมัสยิดบาบรี คือมัสยิดที่สร้างมาตั้งแต่ปี 1678 หลังนี้อยู่ใกล้กับวัดของพระศิวะประจำเมืองพาราณสี (วัดกาศีวิศวนาถ) บางคนอาจมองว่าแค่ใกล้ก็ไม่ควรจะมีปัญหา แต่วัดกาศีวิศวนาถเคยถูกกองทัพมุสลิมทำลาย และมัสยิดแห่งนี้ก็เป็นตัวแทนของร่องรอยเลือดในครั้งนั้น

มัสยิดกยานวาปิ  (Gyanvapi Masjid) เมืองพาราณสี (ที่มา: AP)

เหมือนพระเจ้าเล่นตลก ผลการขุดค้นของ ASI ที่ศาลสั่งให้ดำเนินการเพื่อใช้ประกอบคำพิพากษามีหน้าตาแทบจะไม่ต่างทางรายงานการขุดค้นที่อโยธยา มีการค้นพบฐานโยนี ชิ้นส่วนประติมากรรมพระคเณศ เสาสถาปัตยกรรมแบบฮินดู ช่างเหมาะเจาะเสียนี่กระไร ทั้งหลักฐาน วันเวลา และสถานที่

เรื่องราวของมัสยิดบาบรี มัสยิดกยานวาปิ วัดพระราม จนถึงวัดกาศีวิศวนาถ จะจบลงอย่างไรในหน้าประวัติศาสตร์อินเดียที่กำลังถูกเขียน ไม่มีใครล่วงรู้ได้ พระรามหรือพระศิวะจะทรงพอใจกับการกระทำนี้ไหม? มีแต่เบื้องบนเท่านั้นที่รู้

แต่สิ่งหนึ่งคือการเขียนประวัติศาสตร์ขึ้นใหม่ มิอาจแก้ไขอดีตได้ ยิ่งเขียนขึ้นจากความเกลียดชังก็รังมีแต่จะถ่างแผลให้ใหญ่ขึ้น เพราะเกิดขึ้นไปแล้ว สิ่งที่จะอยู่บนดิน ใต้ดิน หรือใต้น้ำ ก็เป็นเพียงตัวแทนของช่วงเวลานั้นๆ การดึงเอาอดีตมาใช้ทำลายล้างผู้อื่นไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอดีตได้ แม้ชาวฮินดูจะมองมัสยิดทั้งสองเป็นตัวแทนของบาดแผลในอดีตเมื่อ 500 ปีก่อน แต่ในขณะเดียวกัน ก็เป็นตัวแทนของความรุ่มรวยทางประวัติศาสตร์เมื่อ 500 ก่อนเช่นกัน คุณค่าทางสถาปัตยกรรมและทางวัฒนธรรมที่ตอนนี้เอาคืนไม่ได้แล้ว 

สุดท้ายแล้ว ประวัติศาสตร์ โบราณคดี หรืออะไรก็แล้วแต่ เป็นเพียงประดิษฐกรรมทางความคิดของมนุษย์ที่ใช้ตอบสนองความต้องการของมนุษย์เท่านั้น แต่คำถามคือ ‘ใช้อย่างไร’ 

สร้างสรรค์ เฉียบคม หรืออันตราย

 

อ้างอิง

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง. (2564). ภาระตะ-สยาม ศาสนาต้อง [ไม่] ห้ามเรื่องการเมือง?, กรุงเทพ: มติชน.

__________. ผี พราหมณ์ พุทธ : เทพกับการเมือง : พระรามที่เปลี่ยนไป, ใน มติชนสุดสัปดาห์ 31 มีนาคม 2564.

Mahaprashasta, Ajoy Ashirwad. Ayodhya: Evidence From Excavation Does Not Support ASI’s Conclusion About Temple https://thewire.in/history/ayodhya-dispute-excavation-evidence-temple-asi

Mandal, Dhaneshwar (2003). Ayodhya, Archaeology After Demolition: A Critique of the “new” and “fresh” Discoveries, Delhi: Orient Blackswan.

Lal, B. B. (2008). Rama: His Historicity Mandir and Setu, Delhi: Aryan Books International.

Ahmed, Areeb Uddin (11 April 2021). “All you need to know about the Gyanvapi Mosque – Kashi Vishwanath Temple land dispute”. Bar & Bench.

Sarin, Jitendra (8 May 2017). “Allahabad HC to hear Vishwanath temple, Gyanvapi mosque dispute on May 10”. Hindustan Times.

Tags: , , ,