แฟนคลับศิลปินฟังทางนี้ นี่คือป้ายโฆษณาเคลื่อนที่ จากพละกำลังของคนไร้บ้านที่ต้องการชีวิตที่ดีกลับคืนมา

นี่คือข้อความเปิดตัวโครงการ ‘หนึ่ง-ก้าว’ ที่เข้ามาเป็นตัวแทนดูแลจัดจ้างคนไร้บ้านสูงอายุ ให้เข้ามาทำงานในตำแหน่งพนักงานถือป้ายโฆษณาเคลื่อนที่ โดยเจาะเป้าหมายกลุ่มแฟนคลับที่สนใจซื้อป้าย ‘โปรเจกต์’ สื่อสารกับทั้งสมาชิกแฟนด้อมและคนทั่วไปในวาระพิเศษต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวันเกิดศิลปิน วันเดบิวต์ วันคัมแบ็ก หรือเนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองยอดเข้าชมผลงานทะลุเป้า

ในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โมเดลการจัดจ้างที่แปลกใหม่ของ หนึ่ง-ก้าว ทำให้ตัวโครงการได้รับความสนใจจากผู้ใช้โซเชียลฯ จำนวนมาก โดยมีทั้งเสียงชื่นชมในความตั้งใจอันดีที่จะมอบโอกาสสร้างรายได้ให้กับคนไร้บ้าน และเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าภาพที่ถ่ายออกมานั้นดู ‘ดิสโทเปียน’ (Dystopian) เหลือเกิน จนทำให้คนที่มองเห็นรู้สึกกระอักกระอ่วนและสะเทือนใจ

The Momentum มีโอกาสติดตาม ‘ชัย’ และ ‘สิงห์’ สองพนักงานถือป้ายโฆษณาเคลื่อนที่ สมาชิกทีมหลักของ หนึ่ง-ก้าว เพื่อหาคำตอบว่าในวันธรรมดาๆ วันหนึ่งในฐานะ ‘ป้ายโฆษณามนุษย์’ ของพวกเขานั้นมีหน้าตาเป็นอย่างไร

หนึ่งวันกับ ‘หนึ่ง-ก้าว’

วันทำงานของชัยและสิงห์เริ่มต้นขึ้นในเวลา 13.30 น. ณ ทางเท้าหน้าศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอรี หน้าที่ของพวกเขาคือสะพายป้ายโปรเจกต์ประจำวันที่ได้รับมอบหมายขึ้นหลัง เดินมุ่งหน้าไปยังปลายทางในย่านอโศก ก่อนจะเดินวนกลับมายังสยามอีกครั้งในตอนเย็น เป็นระยะทางไป-กลับรวม 8 กิโลเมตร

ไม่มีกรอบเวลาการเดินที่ถูกกำหนดไว้อย่างเคร่งครัดจนเกินไป หากพวกเขาคนใดคนหนึ่งเดินเร็วหน่อย ก็อาจเดินกลับไปถึงสยามสแควร์ตั้งแต่ 16.00 น. ในขณะที่อีกคนหนึ่งอาจกลับไปถึงช้ากว่านั้น เพราะมีช่วงที่นั่งพักเหนื่อยกลางทาง ก็ไม่ได้ถือว่าผิดกฎการทำงานแต่อย่างใด อันที่จริงทั้งคู่ยืนยันว่าทีมงาน หนึ่ง-ก้าว คือฝ่ายที่คอยกำชับพวกเขาด้วยซ้ำว่า สามารถนั่งพักได้ทันทีที่รู้สึกเหนื่อย

เมื่องานเสร็จสิ้นในช่วงเวลาประมาณ 18.30 น. ทั้งชัยและสิงห์จะได้รับค่าจ้างรายวัน ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่สูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำพอประมาณ

“ได้มีโอกาสมาทำงานนี้ผ่านคนที่เอาข้าวเข้ามาแจกเป็นประจำ พอได้ลองทำก็พบว่าเป็นงานที่ไม่ได้ยากเหลือบ่ากว่าแรง การเดินเป็นเรื่องที่เราถนัดอยู่แล้ว นายจ้างคอยดูแลอย่างดี ส่วนแฟนคลับก็ปฏิบัติกับผมอย่างสุภาพ” สิงห์เล่า

ส่วนชัยที่รู้ดีว่าอาจมีหลายคนที่มองเข้ามาด้วยสายตาตัดสิน กล่าวถึงมุมมองของเขาเกี่ยวกับอาชีพนี้ว่า “ก่อนหน้านี้ ผมหลุดออกจากภาวะที่สามารถใช้ ‘ชีวิตปกติ’ เพราะไม่มีงานทำ ไม่มีที่อยู่ ทำให้ต้องคอยอาศัยอาหารและของใช้ที่มีคนเข้ามาแจกประทังชีวิตไปวันๆ สำหรับผม ชีวิตแบบนั้นไม่สามารถเรียกได้ว่าชีวิตปกติ

“พอได้ทำงานนี้ ผมถึงกลับมารู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าอีกครั้ง มันอาจจะเป็นอาชีพที่ไม่ต้องอาศัยความสามารถอะไรมากมาย แต่มันเป็นอาชีพสุจริตที่ทำให้ผมกลับมาหวังที่จะเก็บเงินเช่าห้องอยู่ได้และเข้าใกล้คำว่า ‘ชีวิต’ ปกติมากขึ้น”

อาชีพ ‘ป้ายโฆษณามนุษย์’ กับ ‘คุณค่าความเป็นมนุษย์’

หากย้อนไปมองตั้งแต่จุดเริ่มต้นของธุรกิจป้ายโปรเจกต์ในไทย จะพบว่าลักษณะป้ายที่เป็นที่นิยมมากที่สุด ได้แก่ จอ LED หน้าห้างสรรพสินค้า ป้ายโฆษณาในสถานีรถไฟฟ้า รวมไปถึงสติ๊กเกอร์โฆษณาบนตัวขบวนรถไฟฟ้า

ทว่าจุดเปลี่ยนของความนิยมดังกล่าวได้เดินทางมาถึงในปี 2563 ท่ามกลางกระแสการชุมนุมทางการเมืองที่กำลังร้อนระอุ ในเวลาเพียงชั่วข้ามคืน ความชื่นชอบดารานักร้องที่ถูกมองเป็น ‘เรื่องไร้สาระ’ มาอย่างยาวนาน ได้ถูกแปรเปลี่ยนให้กลายเป็นพลังในการขับเคลื่อนสังคม เมื่อกลุ่มแฟนคลับศิลปินเกาหลีจำนวนมาก พร้อมใจกันยกเลิกเช่าพื้นที่ป้ายโฆษณาตามสถานีรถไฟฟ้า เพื่อแสดงความไม่พอใจที่ผู้ประกอบการขนส่งมวลชนปฏิเสธที่จะอำนวยความสะดวกแก่ผู้ชุมนุม โดยการจงใจปิดระบบบริการบางส่วนในช่วงที่มีการชุมนุม

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา คนไทยก็เริ่มเห็นป้ายโปรเจกต์ไปโผล่ตามพื้นที่โฆษณาทางเลือกที่เราไม่คาดคิดมากขึ้น เช่น รถตุ๊กตุ๊ก สองแถว เรือ หรือแม้แต่รถเข็นขายอาหารข้างทาง ซึ่งหนึ่งในทางเลือกใหม่ล่าสุดที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน หนีไม่พ้นโปรเจกต์ที่มาในรูปแบบของ ‘ป้ายโฆษณามนุษย์’ นั่นเอง

แม้จะดูเหมือนเป็นของใหม่ แต่แท้จริงแล้ว ป้ายโฆษณามนุษย์ หรือ Human Billboard เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับสังคมโลกมาสักพักหนึ่งแล้ว และใช่ว่าจะไม่เคยถูกตั้งคำถามเรื่องคุณค่าและการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มาก่อน

ชาร์ลส์ ดิคเคนส์ (Charles Dickens) นักเขียนชาวอังกฤษคนดังแห่งยุควิกตอเรียนเขียนถึงกลุ่มคนที่รับจ้างห้อยป้ายโฆษณาไว้กับตัวตามจัตุรัสต่างๆ โดยเปรียบพวกเขาว่าถูกปฏิบัติราวกับ “เลือดเนื้อก้อนหนึ่งของมนุษย์ที่สอดไส้อยู่ระหว่างกระดาษแข็งสองแผ่น” จนกลายเป็นที่มาของชื่ออาชีพ ‘Sandwich Men’ นั่นเอง

อย่างไรก็ดี อาชีพป้ายโฆษณามนุษย์ยังคงได้รับความนิยมไม่เสื่อมคลาย โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาที่อาชีพ ‘นักควงป้าย’ ถูกคิดค้นขึ้น โดยพวกเขาจะสวมคอสตูมของแบรนด์หรือร้านค้า ยืนเต้นและควงป้ายอยู่ตามจุดต่างๆ เพื่อเรียกความสนใจให้คนหันมาอ่านป้าย

และแม้แต่ในไทยเอง เราอาจเคยพบเจอผู้คนที่ประกอบอาชีพนี้มาแล้วมากมายนับไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของพนักงานโบกธง ถือป้าย แจกใบปลิว แต่อาจเพราะมันเป็นภาพที่คุ้นชินตาอยู่แล้ว จึงไม่ได้ดูแปลกตาจนชวนให้รู้สึกถึงความดิสโทเปียนมากเท่ากับป้ายโฆษณาเคลื่อนที่ของ หนึ่ง-ก้าว

อาจกล่าวได้ว่า ‘เจตจำนงเสรี’ ของคนไร้บ้านในการเลือกประกอบอาชีพดังกล่าว เป็นสิ่งที่หลายคนตั้งคำถาม เนื่องจากนี่ไม่ใช่อาชีพที่เสริมสร้างทักษะหรือนำไปสู่โอกาสยิ่งใหญ่ในอนาคต เหมือนอย่างอาชีพอื่นๆ ที่คนมากมายใฝ่ฝันอยากทำ

แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีอาชีพอีกมากมายบนโลกใบนี้ที่ไม่ได้อาศัยทักษะเฉพาะทางวิชาชีพและถูกแปะป้ายให้เป็น ‘แรงงานไม่มีฝีมือ’ (Unskilled Workers) หรืออาชีพที่ไม่พึงปรารถนาเช่นกัน โดยเฉพาะอาชีพสายบริการและสาธารณสุข อย่างแคชเชียร์ พนักงานยกกระเป๋า พนักงานทำความสะอาด หรือพนักงานเก็บขยะ

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าแรงงานเหล่านี้เป็นแรงงานที่ไม่มีคุณค่า และคงไม่มีใครคิดว่าแต่ละอาชีพที่กล่าวมามีภาพการทำงานที่ดู ‘ดิสโทเปียน’ หากแรงงานทุกคนเลือกทำมันด้วยเจตจำนงที่แท้จริง

ในท้ายที่สุดแล้ว องค์ประกอบความดิสโทเปียนที่ใครหลายคนกล่าวถึง อาจไม่ได้เริ่มขึ้นในตอนที่ หนึ่ง-ก้าว หยิบยื่นงานถือป้ายโฆษณาให้คนไร้บ้าน หรือตอนที่ใครสักคนเลือกทำอาชีพใดอาชีพหนึ่งที่สังคมมองว่าไม่น่านับหน้าถือตา หากแต่เริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่โลกใบนี้ได้กลายเป็นโลกที่คนส่วนมากไม่มีทางมีโอกาสได้เลือกประกอบอาชีพตามเจตจำนงเสรีของตัวเองอย่างแท้จริง

 

Tags: , , , , ,