ทำไมฉันถึงไม่รู้จักเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519?

ทำไมหนังสือเรียนประวัติศาสตร์ถึงไม่มีเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516?

ทำไมเหตุการณ์เดือนตุลาถึงไม่น่า ‘จดจำ’

เมื่อตำราประวัติศาสตร์ของไทย มีการเลือก ‘จำ’ และเลือก ‘ลืม’ ความทรงจำใดที่เป็นปฏิปักษ์กับโครงสร้างทางอำนาจ ย่อมถูกคัดออกหรือเก็บซ่อน ขณะเดียวกันความทรงจำที่ช่วยส่งเสริมโครงสร้างทางอำนาจกลับถูกจดจำ และถูกเลือกให้กลายเป็นความทรงจำร่วมในสังคม

จากการตั้งคำถามนำไปสู่การหาคำตอบของคนหนุ่มสาว ที่ต้องการมองเหรียญอีกด้านหนึ่ง สอดรับกับเหตุการณ์รัฐประหารในปี 2557 ที่ประชาชนถูกปิดหูปิดตา ถูกปิดกั้นเสรีภาพ  ถูกจับกุมดำเนินคดี เรื่อยมาจนถึงการชุมนุมเคลื่อนไหวบนท้องถนนของม็อบคนรุ่นใหม่ในวันนี้ ส่งผลให้หนังสือแนวประวัติศาสตร์การเมือง วิพากษ์สังคม และโดยเฉพาะสถาบันพระมหากษัตริย์ กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งอย่างมีนัยสำคัญ

หนึ่งในสำนักพิมพ์ที่ถูกพูดถึงมากที่สุดยามนี้ หนีไม่พ้น สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ด้วยผลงานหนังสือมากมายหลายเล่มเกี่ยวกับ ‘ประวัติศาสตร์นอกตำรา’ ที่ได้รับการยอมรับว่า ลึก แรง และเชื่อถือได้ แต่ขณะเดียวกัน หนังสือหลายเล่มกลับถูกมองว่ามีเนื้อหา ‘เป็นภัยต่อความมั่นคง’ ในสายตาผู้มีอำนาจ 

ถึงขั้นถูกตำรวจบุกค้นและยึดหนังสือบางส่วนไปตรวจสอบ 3 เล่ม ประกอบด้วย 1. ประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่เหนือการเมือง: ว่าด้วยประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่ เขียนโดย ธงชัย วินิจจะกูล 2. ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ : ความเคลื่อนไหวของขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม 2475-2500 และ 3. ขุนศักดิ์ ศักดินาและพญาอินทรี : การเมืองไทยภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา 2491-2500 เขียนโดย ณัฐพล ใจจริง ทั้งสามเล่มถูกระบุว่า “มีเนื้อหาเข้าข่ายผิดกฎหมาย” “ยุยงปลุกปั่นให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกเกลียดชังสถาบันกษัตริย์” และ “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อองค์พระมหากษัตริย์และสถาบันกษัตริย์ของไทย”

The Momentum คุยกับ ธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ถึงกระแสความนิยมของหนังสือประวัติศาสตร์ไทย ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่กำลังร้อนระอุ

 

เริ่มทำสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันตั้งแต่เมื่อไหร่

เริ่มทำสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ปี 2545 แต่ออกเล่มแรก ปี 2546 ก็มีทั้งวารสารฟ้าเดียวกัน ช่วงแรกออกเป็นเล่มรายสามเดือน สี่เดือน ตอนหลังเหลือปีละสองเล่ม แล้วก็พิมพ์หนังสือพ็อกเกตบุ๊กแนวสังคม การเมือง เศรษฐกิจ ประวัติศาสตร์ มาเรื่อยๆ

ส่วนชื่อ ‘ฟ้าเดียวกัน’  เราเชื่อเรื่องประชาธิปไตย ความเท่าเทียม ก็พยายามหาชื่อภาษาไทยที่มันเข้ากับเนื้อหา แล้วอาจารย์ ส. ศิวรักษ์ แกมีหนังสือเล่มหนึ่ง ‘เจ้า-ข้าฟ้าเดียวกัน’ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากโคลงกลอนของศรีปราชญ์เห็นคำมันก็กระชับดี เลยเอามาเป็นชื่อสำนักพิมพ์  

เราเป็นคนอ่านหนังสือมาระดับหนึ่ง ย้อนกลับไปตอนที่เริ่มคิดจะทำประมาณปี 2543 มันเป็นช่วงขาลงของสิ่งพิมพ์ทุกแขนง หนังสือวิชาการนี่ยิ่งแล้วใหญ่ ตอนนั้นก็สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยก็แทบไม่มี พอมันไม่มีหนังสือให้อ่าน เราก็ เฮ้ย ลองมาทำเองดีไหม ฉะนั้นมันคงเป็นความกระหายใคร่รู้ของเราด้วย

 

อะไรคือหลักเกณฑ์คัดเลือกหนังสือที่จะมาพิมพ์

ดีที่สุดเลยคือ ข้อค้นพบใหม่ ในแง่การมีเอกสารหลักฐานใหม่ มีวิธีวิทยาในการมองแบบใหม่ในระดับดี ที่จะสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ  หนังสือที่เราไม่ทำแน่ๆ คือ เรื่องที่คนรู้กันอยู่แล้ว อะไรที่เป็นประวัติศาสตร์กระแสหลัก เช่น ประเทศไทยเป็นเอกราชมาเนิ่นนาน ไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใคร อะไรแบบนี้ เราไม่พิมพ์แน่ๆ  คือมันมีทั่วไปอยู่แล้ว เราคงไม่จำเป็นที่จะพิมพ์ และคนเขียนประเภทนั้นก็คงไม่มาร่วมงานกับเรา (หัวเราะ) 

มันไม่ใช่เรื่องจุดยืนอย่างเดียว มันคือความถูกต้องแม่นยำด้วย เจตนาของเราคือต้องการคุณภาพ เราต้องการสนทนากับคนในสังคม เราต้องการสนทนากับรอยัลลิสต์ด้วย ถ้ามันไม่น่าเชื่อถือในแง่ของหลักฐานข้อเท็จจริง คุณยากที่จะสนทนากับเขา

 

ที่ผ่านมายอดขายหนังสือของสำนักพิมพ์เป็นอย่างไร

ยอดหนังสือไม่ได้ขี้เหร่ ถ้าตลาดเดียวกัน เราก็ถือยอดขายดี ที่ผ่านมาระดับความเติบโต 5 – 10 % แต่ช่วงนี้เพิ่มมา 100 % บางเล่มต้องพิมพ์ซ้ำ ถ้าถามว่าช่วงไหนขายดีที่สุด ก็คงเป็นช่วงนี้แหละครับ แต่ที่น่าสนใจคือ กลุ่มผู้อ่านอายุน้อยลง เป็นคนรุ่นใหม่ๆ 

ขุนศักดิ์ ศักดินาและพญาอินทรี : การเมืองไทยภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา 2491-2500 เขียนโดย ณัฐพล ใจจริง หนังสือแนวประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่มาแรงที่สุดในชั่วโมงนี้

 

ทำไมช่วงนี้คนถึงหันมาสนใจหนังสือประวัติศาสตร์กันมากขึ้น

คนที่สนใจประวัติศาสตร์ ส่วนหนึ่งมันมาพร้อมกับความตื่นตัวทางการเมือง

หากมองย้อนกลับไป หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 พอประชาชนชนะ เกิดความตื่นตัวทางการเมืองสูงมาก ทั้งการค้นคว้า งานเขียน ข้อเขียนทางประวัติศาสตร์ต่าง ๆ ก็ถูกนำกลับมาตีพิมพ์ซ้ำ บางเล่มเคยพิมพ์ไปก่อนหน้า  10 – 20 ปีแล้วเงียบหายไป พอหลัง 14 ตุลา ก็มีการรื้อฟื้นงานของนักเขียนเก่าๆ เช่นงานเขียนของคุณจิตร ภูมิศักดิ์

เวลาใครสักคนบอกว่า มีความสนใจทางประวัติศาสตร์ มันไม่ได้หมายความว่า เขาสนใจแค่เรื่องในอดีตที่เกิดขึ้นและจบไปแล้ว ความสนใจทางประวัติศาสตร์ไม่ใช่เรื่องของช่วงเวลา ยกตัวอย่าง คนที่สนใจเหตุการณ์ 14 ตุลา และ 6 ตุลา คนอ่านเหล่านี้ไม่ได้สนใจแค่เรื่องในวันนั้น แต่กลับมองว่ามันต่อเนื่องเชื่อมโยงกับปัจจุบันอย่างไร

ผมคิดว่า การที่มีมิติทางประวัติศาสตร์จะทำให้มองได้ไกล มองได้กว้าง มองได้เต็มกระดาน เหมือนคุณเล่นหมากรุก ถ้าเห็นทั้งกระดานก็จะรู้ว่าต้องเดินเกมแบบไหน เรื่องการเมือง คุณก็ต้องมองเต็มกระดาน อย่างรัฐประหาร ไม่ใช่อยู่ ๆ ทหารไม่พอใจก็ลากรถถังออกมาอย่างเดียว  แต่มันมีมิติอื่น มีกระบวนการที่สร้างความชอบธรรมให้กับรัฐประหาร ตั้งแต่ก่อนรัฐประหารจนถึงการสืบทอดอำนาจ หรือการที่เราบอกว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นหนึ่งในสมการของการทำรัฐประหาร 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการลงนามรับรองคณะรัฐประหาร ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยทางการเมือง เวลาเกิดรัฐประหารก็ลงนามทุกครั้งไม่ใช่หรือ แต่ในประวัติศาสตร์ก็มีหลายครั้งที่ไม่ลงนาม ถ้าคุณมีมิติทางประวัติศาสตร์ คุณก็จะเห็นภาพอีกภาพหนึ่ง      

 

สถานการณ์การเมืองในขณะนี้มีส่วนมากน้อยแค่ไหน

ไม่รู้ว่าเกี่ยวข้องกันแค่ไหน แต่กรณีการยุบพรรคอนาคตใหม่ มันก็เหมือนเป็นการปลุกให้คนรุ่นใหม่ขึ้นมา หรือความแย่ของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์เอง คุณอยู่มา 6 – 7 ปี มันรวมเอาความเลวร้าย ทั้งการที่คุณเล่นการเมืองแบบที่หน้าไม่อาย แต่งตั้งพวกพ้อง ไม่สามารถเอาผิดได้ และชัดเจนกับเพลง ‘ประเทศกูมี’ ที่โดนใจคนรุ่นใหม่ ก็เพราะเนื้อเพลงได้รวบรวมประเด็นที่มันเน่าเฟะของรัฐบาลชุดนี้ และรอการระเบิดออกมา 

จะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ คนรุ่นใหม่เขาได้ส่งกระแสความตื่นตัวทางการเมืองต่อกันไปเป็นทอด ๆ

ภาพเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ตำรวจนำหมายศาลจังหวัดนนทบุรี เข้ายึดหนังสือ 3 เล่มที่เข้าข่าย “มีเนื้อหาเข้าข่ายผิดกฎหมาย” ที่สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2563 / ที่มาภาพ : ฟ้าเดียวกัน

 

รู้สึกอย่างไรที่ตำรวจบุกค้นและตรวจยึดหนังสือของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน

เป็นปกติของฝ่ายขวา หรือทุกฝ่าย เวลาคุณมีอำนาจ คุณจะไม่ลงไปสนทนา แต่คุณจะใช้อำนาจ การใช้กฎหมายก็คืออำนาจชนิดหนึ่ง

หากเรามองผ่านมิติทางประวัติศาสตร์ที่ยาวนานหน่อย ช่วงการปฏิวัติสยาม 2475 หลังการปฏิวัติ ฝ่ายอนุรักษนิยมไม่มีอำนาจ พอไม่มีอำนาจ ก็ต้องมีความฉลาดมากขึ้น เพื่อผลิตผลงานต่าง ๆ ทั้งหนังสือ งานวิชาการ ออกมาต่อสู้กับคณะราษฎร ตอนหลังพอฝ่ายอนุรักษนิยมกลับมามีอำนาจ ก็เลยใช้อำนาจ คุ้นเคยกับการใช้อำนาจอย่างเดียว ก็เลยออกมาแบบนี้ ถ้าไม่จับกุมก็เซ็นเซอร์ 

 

ในฐานะที่ทำหนังสือเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ วิธีไหนที่จะช่วยรักษาสถาบันได้

ต้องปรับตัว ทุกสถาบันไม่ว่าจะกษัตริย์ ทหาร ราชการ ไม่มีองค์กรไหน วัฒนธรรมไหนที่อยู่ได้ โดยไม่ปรับตัว

โลกมันเปลี่ยน คนเกิดใหม่ทุกปี เทคโนโลยีมาใหม่ทุกปี ยังไม่รวมวิกฤตต่าง ๆ ที่เข้ามา ถ้าทุกองค์กรทุกสถาบันไม่ปรับตัว ไม่ฟังเสียง มันจะนำไปสู่ความเสื่อม การอยู่ไปนานๆ ไม่ใช่ข้ออ้างให้คุณไม่ต้องปรับอะไรเลย การอยู่มานานต่างหากที่ยิ่งทำให้คุณต้องปรับ ร.5 ยังต้องปรับเลย ทำไม ร. 10 ไม่ปรับ ข้อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ คือการเรียกร้องให้ ‘ปรับตัว’ ไม่มีใครเรียกร้องให้ ‘ปฏิวัติ’ 

 

หลายคนกลัวว่า ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยเช่น เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519

  ประวัติศาสตร์ไม่เคยซ้ำรอยอยู่แล้ว ถ้าเรามองผ่านมิติทางประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์มันมีพลวัต เราจะเห็นความเหมือนความต่างของเหตุการณ์ ซึ่งการศึกษาประวัติศาสตร์มันทำให้เราเข้าใจอะไรมากยิ่งขึ้น เช่น เหตุการณ์ 6 ตุลา สิ่งที่ผมมั่นใจคือความรุนแรงแบบเดิมไม่น่าจะมีแล้ว เมื่อคุณมองผ่านมิติทางประวัติศาสตร์คุณก็จะสามารถเห็นได้ว่า ปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา แล้วปัจจัยเหล่านี้ยังมีอยู่หรือเปล่า และสามารถกลับมาเป็นแบบเดิมได้อีกไหม

โดยส่วนตัว ผมมองว่าหลาย ๆ อย่างตอนนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว รัชสมัยเราเปลี่ยน กรอบเดิมที่เคยใช้ได้ก็อาจจะใช้ไม่ได้แล้ว ดังนั้นวิธีการแบบเดิมก็อาจจะไม่ได้ผลแล้ว แต่ถึงอย่างนั้นคนจำนวนหนึ่งก็ยังคงใช้วิธีการที่เหมือนเดิม

 

เป้าหมายของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันคืออะไร

ในอนาคต ถ้าในวันไหนฟ้าเดียวกันสามารถเป็นหนึ่งในแบบเรียนได้ ก็ถือว่าประสบผลสำเร็จระดับหนึ่งแล้ว 

สาเหตุที่เราตัดสินใจมาทำหนังสือ คือเราไม่พอใจกับสิ่งที่เป็นอยู่ ไม่พอใจกับประวัติศาสตร์แบบเดิม เราพยายามหาคำอธิบายในประวัติศาสตร์แบบใหม่ การได้เป็นแบบเรียนในหลักสูตรการเรียนการสอนของภาครัฐ ก็เรียกว่าได้รับการยอมรับระดับหนึ่ง ถ้าเรามีพื้นที่ตรงนั้นได้ก็จะดี จะสำเร็จหรือสำเร็จไม่รู้ แต่อย่างน้อยถ้ามีคนอ่านมากขึ้นก็สำเร็จในระดับหนึ่งแล้ว และวันหนึ่งอาจจะมีคนเอาข้อมูลจากหนังสือฟ้าเดียวกันไปทำละครก็ได้มั้ง (หัวเราะ)

Tags: , , ,