ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ข้อสอบโรงเรียนมัธยมวัดธาตุทอง กลายเป็นประเด็นที่ถกเถียงในสังคมมาก หลัง ครูบะหมี่-ก้าวกรณ์ สุขเสงี่ยมกุล ครูประจำโรงเรียนมัธยมวัดธาตุทองเผยแพร่ชุดข้อสอบแบบปากเปล่า (Oral Test) รายวิชาสาระร่วมสมัย ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ลงเพจเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2567 โดยมีคีย์เวิร์ดกว่า 50 คำที่เกี่ยวข้องกับประเด็นทางสังคมที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เพื่อให้นักเรียนแสดงความเห็นเกี่ยวกับคำที่สุ่มจับได้

โดยคำในชุดข้อสอบมีหลากหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็น ลี้ภัยทางการเมือง, นิติสงคราม, สถาบันพระมหากษัตริย์กับสังคมไทย, ขบวนเสด็จฯ, ไม่นับถือศาสนา, ค่าแรงขั้นต่ำ, Digital Wallet และประชาธิปไตยแบบไทยไทย 

ภายหลังที่ชุดข้อสอบเผยแพร่ออกไป ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์แบ่งออกเป็น 2 ขั้ว ด้านหนึ่งแสดงความชื่นชมถึงความก้าวหน้าของระบบการศึกษาไทย ส่วนอีกด้านแสดงความเห็นห่วงใยต่อสถาบันฯ และอนาคตของชาติ และวิพากษ์ไปถึงขั้นว่า ข้อสอบชุดนี้ ‘กระทบความมั่นคงของชาติ’ ส่งผลให้กลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบัน (ปภส.) เดินทางไปถึงโรงเรียนมัธยมวัดธาตุทองและวิจารณ์ว่า คีย์เวิร์ดที่ใช้ในการสอบไม่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นคำที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือประเด็นทางสังคมที่มีความรุนแรง และมองว่าอาจสร้างความเกลียดชังในสังคมให้เพิ่มมากขึ้น 

วันที่ 13 มีนาคมที่ผ่านมา ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ออกมายกเลิกข้อสอบอย่างเร่งด่วน พร้อมชี้แจงว่า กระทรวงศึกษาทราบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นแล้ว จึงมีคำสั่งให้ยกเลิกข้อสอบวิชาสาระร่วมสมัยอย่างเด็ดขาด อย่างไรก็ตาม ภายหลังการยกเลิกข้อสอบชุดดังกล่าว ก็ยังไม่มีคำอธิบายเพิ่มเติมถึงสาเหตุของการยกเลิกข้อสอบฉบับนี้ออกมาแต่อย่างใด 

หากย้อนกลับไปเมื่อช่วงปลายปี 2566 กระทรวงมหาดไทยภายใต้การนำของ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง 4 กระทรวงของพรรคภูมิใจไทย ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงแรงงาน และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อพัฒนาคนไทยให้มีความรักเทิดทูนสถาบันหลักและประวัติศาสตร์ไทย โดยประกาศว่า ให้สถานศึกษาจัดกิจกรรมหรือโครงการที่มุ่งเน้นในเรื่องการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ การตระหนักในหน้าที่พลเมือง ยกย่องบุคคลที่ทำความดีมีคุณธรรม ให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและลดความขัดแย้งของเยาวชน

The Momentum จึงน้อมนำปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงขอความร่วมมือ และลองออกแบบข้อสอบแบบพูดปากเปล่าวิชา ‘สำนึกความเป็นไทยและการรักชาติ’ ขึ้นมา เพื่อวัดระดับความเป็นไทย สำนึกรักชาติ และให้ทุกคนตระหนักในหน้าที่พลเมือง พร้อมกับตั้งคำถามไปพร้อมกันว่า ข้อสอบแบบไหนกันนะที่จะถูกใจ และไม่กระทบความมั่นคงของชาติ?

โดยข้อสอบฉบับนี้เป็นข้อสอบพูดปากเปล่าในรูปแบบ Keyword มีจำนวน 18 ข้อ นักเรียนจะเป็นผู้สุ่มเลือกข้อสอบเอง โดยวิธีการจับฉลาก ประกอบด้วย Keyword จำนวน 18 คำ เช่น ส้มเน่า, ประชาชนของพระราชา, คณะร่าน และ ‘คนดี’

ทั้งนี้ข้อสอบปากเปล่า วิชาสำนึกความเป็นไทยและการรักชาติ ที่ The Momentum ออกแบบมา มีเวลาทำทั้งหมด 9 นาที หากนักเรียนพร้อมแล้ว ขอเชิญหน้าชั้นเรียนเพื่อทำการทดสอบถัดไป 

แล้วมาดูกันว่า คุณมีสำนึกรักความเป็นไทยและชาติมากแค่ไหน?

Tags: , , , ,