องค์ประกอบโดยรวมของเกมกีฬาฟุตบอลมีมากมาย ไม่ว่าจะเป็น นักกีฬา โค้ช ทีมงาน กองเชียร์ และสนามแข่ง 

แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ ‘ชุดแข่ง’ ที่เปรียบเสมือนชุดออกรบ เพื่อบ่งบอกว่าทีมที่กำลังลงชิงชัยบนผืนหญ้าอยู่นั้นเป็นใคร มีอัตลักษณ์และรากเหง้ามาจากไหน ซึ่งจะมีแบรนด์อุปกรณ์กีฬาชั้นนำเป็นพาร์ตเนอร์เป็นผู้ออกแบบ ผ่านวิวัฒนาการในแง่ดีไซน์และเทคโนโลยีแต่ละยุคสมัย จากเสื้อคอกลมแขนยาว เป็นเสื้อรัดรูปขนาดพอดีตัว จนมีเทคโนโลยีระบายความร้อนและเหงื่อให้ผู้ใส่กระฉับกระเฉง 

และหากมองในมุมของกองเชียร์ ‘เสื้อฟุตบอล’ (Football Jersey) ถือเป็นสิ่งสำคัญอันดับหนึ่ง ที่จะแสดงออกถึงความจงรักภักดี และความคลั่งไคล้ที่มีต่อทีมรัก ให้สมคำนิยามว่า ‘กองเชียร์คือผู้เล่นคนที่ 12’

อย่างไรก็ดี มีผู้คนบางกลุ่มที่ยอมจ่ายเงินซื้อเสื้อฟุตบอลนอกเหนือจากทีมที่เชียร์ ด้วยเหตุผลที่ว่า พวกเขาหลงใหลใน ‘แฟชั่น’ สุดคลาสสิกแห่งเกมกีฬาลูกหนัง ที่ยิ่งเก่า ก็ยิ่งน่าไล่ล่าหามาเก็บสะสมเป็นคอลเลกชัน  

เนื่องในโอกาสที่ฟุตบอลโลก 2022 กำลังจะเปิดฉากในอีกไม่กี่เดือน The Momentum ขอพาผู้อ่านไปสำรวจร้านขายเสื้อฟุตบอลสไตล์วินเทจ ย่านจตุจักร สวรรค์ของคอบอล ที่มี ‘นักสะสมเสื้อบอลตัวจริง’ เป็นเจ้าของ

เพียงเดินเข้ามาในร้าน เราก็ถูกเสื้อฟุตบอลจำนวนมากที่แขวนใส่ถุงพลาสติกกันฝุ่นเป็นอย่างดีโอบล้อม ด้านหลังเสื้อแต่ละตัวสกรีนเบอร์และชื่อนักเตะระดับตำนานตั้งแต่ยุค 90s – 2000s เช่น กาเบรียล บาติสตูต้า (Gabriel Batistuta), อังเดร เชฟเชนโก้ (Andriy Shevchenko), ฟรานเชสโก้ ต็อตติ (Francesco Totti), สตีเว่น เจอร์ราร์ด (Steven Gerrard), แมทธิว เลอ ทิสซิเอร์ (Matt Le Tissier) ฯลฯ บ้างก็เป็นเสื้อทีมแปลกหายาก ทั้งจากทวีปยุโรป แอฟริกา และเอเชีย โดยปักป้ายแสดงราคาไว้ตั้งแต่หลักร้อยจนถึงหลักพันบาท

ศุภวิทย์ชวนเล่าย้อนความทรงจำในฐานะนักสะสมเสื้อฟุตบอลวินเทจ ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงวัยเด็กที่เขาได้มีโอกาสดูทีมนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด (Newcastle United) เดินทางมาแข่งกับทีมชาติไทยในปี 1996 จากนั้นเขาและพ่อมีโอกาสได้ไปเดินเล่นที่ร้านสตาร์ ซ็อคเกอร์ ณ ห้างแห่งหนึ่ง และสะดุดเข้ากับเสื้อแข่งของทีมนิวคาสเซิล แต่ด้วยความที่เป็นเสื้อแท้ราคาหลายพันบาท จึงไม่อาจซื้อมาครอบครองได้ ทว่าความผิดหวังกลับกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เขาเริ่มเข้าวงการสะสมเสื้อบอลเต็มตัว 

“พอเรียนจบ และเริ่มทำงาน เสาร์-อาทิตย์ เรามีโอกาสได้ไปเดินตลาดนัดจตุจักร แล้วบังเอิญเจอร้านขายเสื้อกีฬาวินเทจมือสอง ซึ่งในร้านมีเสื้อบอลขายด้วย เราก็เริ่มซื้อเก็บตัวสองตัว ส่วนใหญ่เป็นเสื้อทีมจากพรีเมียร์ลีก เช่น เอฟเวอร์ตัน (Everton) หรือแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด (Manchester United) ยุคที่สปอนเซอร์กลางหน้าอกเป็นแบรนด์ชาร์ป (Sharp) มีบางตัวที่เราซื้อมาแต่ใส่ไม่ได้ ซื้อเพราะอยากได้ล้วนๆ (หัวเราะ)”

เวลาต่อมา ศุภวิทย์เริ่มผันตัวจากนักสะสมกลายเป็นพ่อค้าขายเสื้อบอลบนโลกออนไลน์แบบพาร์ตไทม์ ควบคู่กับอาชีพเภสัชกรที่เป็นงานประจำ โดยเริ่มขายผ่านทางเว็บบอร์ดที่เป็นแหล่งรวมตัวของคอบอลอย่าง thailandsusu.com (ไทยแลนด์สู้ๆ) ก่อนจะมาเปิดขายบนเพจเฟซบุ๊ก ทดเจ็บฟุตบอลช็อป (TJ Football Shop) และมีหน้าร้านในปี 2018 ที่ตลาดนัดรถไฟ ศรีนครินทร์ ก่อนย้ายมาสู่ตึกแดง จตุจักรในปัจจุบัน

“สมัยก่อนวงการคนเล่นเสื้อฟุตบอลยังไม่เยอะเท่าทุกวันนี้ คนที่จะซื้อขายกันต้องระวังตัวพอสมควร ต้องมีการส่งหลักฐานเป็นหน้าบัตรประชาชนไว้ค้ำความปลอดภัย จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เราอยากเปิดหน้าร้านของตัวเอง คนที่เข้ามาซื้อก็จะได้มีเวลาเลือกดูเนื้อผ้า ดูตำหนิ ตามใจเขา”

หน้าร้านทดเจ็บฟุตบอลช็อป นอกจากเสื้อฟุตบอลวินเทจที่มีให้เลือกซื้อละลานตา ภายในตู้กระจกยังมีจำหน่ายชิ้นส่วนอะไหล่ติดบนแขนเสื้อหรือที่ภาษาคนเก็บสะสมเสื้อบอลชอบเรียกสั้นๆ ว่า ‘สลีฟแพตช์’ (Sleeve Patch) เพื่อเพิ่มรายละเอียดให้เหมือนกับเสื้อที่นักฟุตบอลใส่แข่งขันจริง โดยมีทั้ง พรีเมียร์ลีก อังกฤษ (English Premier League), ยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก (UEFA Champions League), ยูฟ่า คัพ (Uefa Cup), ยูฟ่า ยูโรป้า ลีก (Uefa Europa League) และยูโร (UEFA European Championship)

“อะไหล่พวกนี้หาได้ง่ายกว่าเมื่อก่อน อย่างที่ร้านเราวางขายก็สั่งซื้อมาจากช็อปต่างประเทศ วงการซื้อขายอะไหล่เสื้อฟุตบอลยังถือว่าแคบอยู่ คนที่เขามาซื้อส่วนใหญ่เป็นเซียนสะสม ซื้อมาแล้วเขาก็ไปหาช่างที่ฝีมือดีติดให้ เพราะถ้าติดผิดเสื้อจะเสียหายทันที”

ไม่ใช่แค่เบดจ์อาร์มและเสื้อฟุตบอล ศุภวิทย์ยังตามหาสินค้าที่ระลึกสุดหายากจากโลกลูกหนังมาวางขายอีกมากมาย อาทิ นิตยสารบอกรายละเอียดโปรแกรมการแข่งขัน, ผ้าพันคอ, รองเท้าสตั๊ด, รองเท้าร้อยปุ่ม และโมเดลนักฟุตบอลหัวตัว (SD Model) ที่นิยมเก็บสะสมในช่วงทศวรรษ 90s

ในภาพคือชุดแข่งขันของทีม ‘นักบุญ’ เซาท์แธมป์ตัน (Southampton) ฤดูกาล 1991-1993 ที่นักสะสมหลายรายแทบต้องพลิกแผ่นดินหา ซึ่งศุภวิทย์เล่าว่า การจะได้ชุดเหล่านี้มาต้องขึ้นอยู่กับ ‘การคัด’ และ ‘ดวง’

“เสื้อฟุตบอลวินเทจส่วนใหญ่จะถูกส่งมาเป็นกระสอบจากต่างประเทศรวมกับพวกเสื้อผ้ากีฬาประเภทอื่นๆ เราต้องไปคัดซื้อต่อจากร้านที่เขานำเข้ามา ถ้าโชคดีก็จะได้ตัวที่หายาก อีกวิธีคือสั่งซื้อจากช็อปของแบรนด์เสื้อผ้าโดยตรง ในช่วงท้ายฤดูกาลแข่งขันที่เขาจะโละเสื้อปีเก่าออก ราคาจะถูกลงกว่าตอนที่วางขายใหม่ๆ ส่วนใหญ่ที่เลือกนำมาขายจะเป็นพวกทีมแปลกๆ หายาก และไม่ค่อยมีวางขายในบ้านเรา

“อย่างเสื้อเซาท์แธมป์ตัน ผมไม่ขายนะ เอามาโชว์เฉยๆ (หัวเราะ) ตัวนี้ผมเก็บสะสมไว้เพราะเป็นเสื้อปีที่ อลัน เชียเรอร์ นักเตะที่เรารักใส่แข่ง

พอได้เสื้อมาก็ต้องทำความสะอาด ใส่ถุงคลุมกันฝุ่น เก็บในอุณหภูมิที่ไม่ร้อนจนเกินไป ไม่ให้เฟล็กซ์ (Flex) หรือโฟมที่สกรีนไว้บนเสื้อละลาย บางคนที่ผมรู้จักในวงการ เขาลงทุนเปิดแอร์รักษาอุณหภูมิห้องเก็บเสื้อตลอด 24 ชั่วโมงเลย”

เสื้อฟุตบอลสะสมที่ศุภวิทย์นำมาให้ชม คือเสื้อเยือนของทีมปีศาจแดง แมนฯ ยูไนเต็ด ฤดูกาล 1970 สีขาวคาดแดงและดำ ผลิตโดยแบรนด์แอดมิรัล (Admiral) ราคาในตลาดอยู่ที่หลักหมื่นเป็นต้นไป

“ตอนนี้เสื้อฟุตบอลวินเทจยุค 70s-80s หายากมาก หากสังเกตดีๆ จะเห็นว่ารายละเอียดเสื้อแข่ง (Player Version) จะไม่ค่อยต่างกับเวอร์ชันแฟนบอล (Replicas Version) มากนัก เพราะเพิ่งจะเริ่มแบ่งแยกเวอร์ชันชัดเจนช่วง 10 ปีหลังมานี้”

เสื้อตัวถัดมา สาวกวงดนตรีโอเอซิส (Oasis) คงคุ้นหูคุ้นตาเป็นอย่างดี เพราะเป็นเสื้อเยือนทีมแมนเชสเตอร์ ซิตี้ (Manchester City) ฤดูกาล 1993-1994 ที่ เลียม กัลลาเกอร์ (Liam Gallagher) ฟรอนต์แมนตัวแสบสวมใส่ประกาศตนเป็นสาวกของเรือใบสีฟ้า ร่วมกับพี่ชาย โนล กัลลาเกอร์ (Noel Gallagher) 

นอกเสียจากตัวลายผ้าที่แบรนด์อัมโบร (Umbro) ออกแบบได้คลาสสิกร่วมสมัย สปอนเซอร์คาดกลางอกอย่างบราเธอร์ (Brother) ยังชวนสื่อความหมายถึงตัวพี่น้องกัลลาเกอร์แบบบังเอิญพอดิบพอดี ทำให้ราคาในตลาดของเสื้อตัวนี้มีราคาไม่ต่ำกว่า 15,000 บาท

ตัวที่ 3 คือเสื้อเหย้ากระดุมคอปกสีแดงสลับดำของทีมเอซี มิลาน (AC Milan) จากลีกอิตาลี ที่อดิดาส (Adidas) ผลิตออกมาเฉลิมฉลองเนื่องในวาระครบรอบก่อตั้งสโมสรครบ 100 ปี สนนราคาในตลาดอยู่ที่ 8,000-10,000 บาท

สุดท้ายคือเสื้อคอลเลกชันของทัพสิงโตคำราม ทีมชาติอังกฤษ ที่ใส่ลุยทัวนาเมนต์ฟุตบอลโลกปี 1990 ประกอบด้วยเสื้อเหย้าสีขาว เสื้อเยือนสีแดง และเสื้อเยือนชุดที่ 2 สีฟ้าคราม ซึ่งนับว่าหายากในกลุ่มนักสะสม

เรามีโอกาสถามศุภวิทย์ ถึงประเด็นดราม่าเล็กๆ ที่ผู้คนบนโลกโซเชียลฯ มักมีการถกเถียงว่า สมควรหรือไม่ที่จะสวมเสื้อฟุตบอลเดินตามห้างสรรพสินค้า ซึ่งคำตอบของเขานับว่าน่าสนใจไม่น้อย

“ผมว่าแล้วแต่คนจะมอง (ยิ้ม) คนที่เขาเห็นว่าไม่เหมาะสม อาจเพราะเขาเจอคนใส่เสื้อฟุตบอลที่ย้วย ขาดเป็นรู หรือสกรีนลอก แต่เดี๋ยวนี้แบรนด์ที่ผลิตก็พยายามจะออกแบบให้มีคอนเซปต์สอดคล้องกับเทรนด์สตรีทแฟชั่น คนใส่ก็นำมาแมตช์กับกางเกง เครื่องแต่งกายอื่นๆ ได้ไม่เคอะเขิน ส่วนหนึ่งเพราะแบรนด์ผลิตและสโมสรก็พยายามจะหารายได้จากทางนี้

“ในแง่ของเสื้อฟุตบอลวินเทจ ผมถือว่าเป็นของสะสมที่มีคุณค่าต่อจิตใจและสะท้อนเหตุการณ์ช่วงเวลานั้นออกมา สมมติเสื้อทีมเรอัล มาดริด (Real Madrid) ตัวนี้ ผมเห็นจะนึกได้ทันทีว่าเป็นปีที่ เดวิด เบ็คแฮม (David Beckham) ย้ายมาร่วมทีม ผมเคยเจอลูกค้าบางรายมาตามหาเสื้อตัวนี้โดยเฉพาะ คือต่อให้เก่า ลวดลายไม่โดดเด่น เขาก็จะซื้อ เพราะทำให้เขานึกถึงช่วงเวลาดีๆ ที่ตัวเองเริ่มดูบอล ถ้าให้เปรียบเทียบก็เหมือนเราฟังเพลงเพลงหนึ่ง ที่ฟังแล้วได้นึกย้อนถึงเรื่องราวของตัวเองในเวลานั้น”

ท้ายที่สุด ศุภวิทย์ฝากคำแนะนำถึงผู้ที่สนใจอยากเข้าวงการเก็บสะสมเสื้อฟุตบอลวินเทจว่า หากมองเป็นงานอดิเรก ควรเก็บด้วยความสนุกและไม่ใช้จ่ายเกินตัว 

“ใครที่อยากเก็บเสื้อฟุตบอลไม่ต้องรีบร้อน ค่อยๆ หาแนวทางการเก็บเป็นของตัวเอง ไม่ต้องตามคนอื่นไปหมด ศึกษาแนวทางการเก็บรักษา ที่สำคัญ อย่าใช้เงินเกินตัวในยุคที่เศรษฐกิจย่ำแย่ แค่เท่าที่คุณไหวพอ เพราะสำหรับผม ของสะสมถ้าได้มาง่ายคงจะไม่สนุก”

หากใครสนใจอยากหาซื้อเสื้อฟุตบอลวินเทจ สามารถแวะเวียนมาเยี่ยมร้านทดเจ็บฟุตบอล ช็อป ได้ที่ตึกแดง จตุจักร ชั้น 4 โซน B เปิดทุกวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 15.00-20.00 น. หรือเลือกซื้อผ่านทางเพจเฟซบุ๊ก ทดเจ็บ ฟุตบอล ช็อป TJ Football Shop

Tags: , , , , ,