ปาเข้าไป 16 วันแล้ว กับการปักหลักต่อสู้ของ ‘ม็อบชาวนา’ ที่เราถือว่าเป็นม็อบ ‘ราคาสูง’ นั่นหมายถึงราคาของหนี้สินและดอกเบี้ยที่เพิ่มพูน

ม็อบที่หากนำอายุคนเข้าร่วมมาบวกรวมกันคงปาไปร่วมแสน แต่ทำไม ‘ผู้สูงวัย’ ตามเกณฑ์การเรียกในประเทศไทย ที่หมายถึงบุคคลซึ่งมีอายุเกิน 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ต้องมาปูเสื่อ กางเต็นท์ กางมุ้ง กินข้าวข้างทาง ทนแดดทนฝนกันอยู่แบบนี้?

วันนี้ (8 กุมภาพันธ์ 2565) The Momentum เดินทางไปยังหน้ากระทรวงการคลัง ถนนพระรามที่ 6 สถานที่ที่เครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย (คนท.) ตั้งม็อบชาวนาค้างคืนกันตั้งแต่วันที่ 24 มกราคมที่ผ่านมา ประจวบกับวันนี้มีการเคลื่อนขบวนม็อบจากหน้ากระทรวงการคลัง ไปยังสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ชาวนาจากทั่วประเทศหลากหลายพันต่างเดินทางมาเข้าร่วม มาปักหลักต่อสู้เพื่อข้อเรียกร้องกันอยู่ในที่แห่งนี้

แล้วทำไมคนอายุ 60 70 80 ปี ที่เดินเหินไม่สะดวก ลุกนั่งไม่คล่องตัว ถึงต้องเคี่ยวเข็นร่างกายออกมาต่อสู้ ออกมาเรียกร้อง บางคนออกมาเข้าร่วมไม่ไหวก็ยังส่งลูกหลานมาแทน
.
เราจึงถือโอกาสนี้เดินพูดคุยกับกลุ่มที่ปูเสื่อปักหลักต่อสู้อยู่ข้างทาง เพื่อถามสารทุกข์สุขดิบและไถ่ถามปัญหา พร้อมกับย้อนทวนวลีที่ว่า อาชีพชาวนายิ่งทำยิ่งจนจริงไหม? และอาชีพที่ถูกยกย่องให้เป็นกระดูกสันหลังของชาติ แต่ ณ ขณะนี้กลับกลายเป็นกระดูกที่ผุกร่อน ถูกละเลยไม่ได้รับการบำรุงดูแล เช่นนี้แล้ว ประเทศไทยที่ว่าจะยังก้าวต่อไปได้อีกหรือ ?

“ตั้งแต่ทำนาจนตอนนี้อายุปาเข้าไป 75 ปีแล้ว ปีไหนราคาข้าวดีที่สุด” เราเอ่ยถาม

“มันก็ไม่เคยดีสักปี” นี่คือหนึ่งในคำตอบของชาวนาจากพระนครศรีอยุธยา วัย 75 ปี

“มีหวังกับรัฐบาลไหม มีข่าวว่าใกล้เลือกตั้งใหม่ด้วย” เราถามมวลชนต่อ

“ไม่มี ตอนหาเสียงใครก็ว่าราคาข้าวจะดีหมด แต่พอชนะเลือกตั้งเท่านั้นแหละ ก็อย่างที่เราเห็น พวกเขาไม่ตายหรอก พวกเรานี่จะตาย”

1

“เราไม่มีเงินมาม็อบ แต่ก็มาเสียค่ารถ 250 บาท นี่ถือว่าเยอะนะ เพราะเราไม่มีตังค์ กลับบ้านไปก็ต้องกลับไปถางหญ้าหาปลากว่าจะได้เงินแต่ละบาท มาม็อบนี่ก็เสียเงินซื้อข้าวกินเอง” สำเนา ยงยุทธ์ ชาวนาอยุธยา อายุ 64 ปี บอกเล่าการเดินทางความยากลากบำบากแก่เรา
โดยอุปกรณ์ที่เขานำติดตัวมาปักหลักครั้งนี้ด้วยมีเพียงเสื่อ 1 ผืน และกระเป๋าเสื้อผ้า ไม่มีมุ้ง ไม่มีเต็นท์ และไม่มีหมอนแม้สักใบ

ข้อเรียกร้องของม็อบชาวนาครั้งนี้ประกอบไปด้วย 3 ข้อ คือ

1. ขอให้สถาบันการเงินเจ้าหนี้ ชะลอการฟ้องบังคับคดี ยึดทรัพย์ ขายทอดตลาด ทรัพย์สินของสมาชิก เร่งดำเนินการโอนหนี้สิน เข้าสู่กระบวนการการจัดการหนี้สินของสมาชิก เร่งดำเนินการโอนหนี้สิน เข้าสู่กระบวนการการจัดการหนี้สินของสำนักกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) พร้อมกับขยายเพดานวงเงินการซื้อหนี้ NPA จาก 2.5 ล้านบาท ขยายเป็น 5 ล้านบาท และเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ให้ออกเป็นมติคณะรัฐมนตรี

2. ขอให้ลดหนี้ ปลดหนี้ให้กับเกษตรกรที่เป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร กรณีที่ตาย พิการ ทุพพลภาพ ชราภาพ เจ็บป่วยเป็นโรค ให้เหลือไม่เกิน 25% ตามพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2563 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร

3. ขอให้ตรวจสอบปัญหาทุจริต คอร์รัปชัน พร้อมกับปฏิรูปการบริหารงานของสำนักกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) ให้มีการขึ้นราคาพืชผลการเกษตรที่ในปัจจุบันถูกลง สวนทางกับราคาปุ๋ยและน้ำมันที่แพงขึ้นเรื่อยๆ

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกของสำเนาที่เดินทางมาม็อบชาวนา เขาเดินทางมาเรียกร้องตั้งแต่ปี 2546 และการเรียกร้องต่อสู้ก็ยังยืดยาวมาถึงตอนนี้

“เรามาม็อบไม่รู้ตั้งเท่าไรแล้ว ถามว่ามีความหวังบ้างไหมถึงมาม็อบ ก็เพราะมันมีไงเลยมา ถ้าไม่ไหวก็ไม่มา ตอนนี้เราไม่มีอะไรจะสู้แล้วนอกจากร่างกาย ก็ทนอยู่ข้างทางกันไปแบบนี้ ถ้าไม่ทนจะสู้อย่างไร ออกมาสู้ครั้งนี้ก็สู้เพื่อลูกเมียด้วย เพราะอนาคตลูกหลานอาจจะไม่มีที่อยู่ ไม่มีใครช่วยเราเลย มีแต่พวกเราช่วยกันเอง นับวันชาวนาก็จนลงจนลง ไม่มีอะไรดีขึ้นมีแต่หนี้ที่เพิ่มขึ้น จะตายกันหมดแล้ว” สารพัดความทุกข์ยากได้ถูกบอกเล่าจากชายที่เรียกว่าสู้ชีวิตมาตลอดอายุ 64 ปีของเขา

“ข้าวแพง หมูแพง น้ำมันแพง แต่ค่าแรงถูก ทุกวันนี้ก็อาศัยทำงานเพื่อได้เงินมากินข้าวแต่ละวันก็เหนื่อยแทบตาย” สุรพล ม้าเจิด อายุ 74 ปี พูดเสริมขึ้น พร้อมกับย้อนความว่าตัวเขาเองก็มาม็อบตั้งแต่หนุ่มๆ ด้วยหนี้สินที่เยอะ ทำนาก็ราคาไม่ดี มีแต่หนี้ที่พอกพูนขึ้น แต่ที่น่าช้ำใจกว่าคือ ไม่ว่าเขาจะมาม็อบสักกี่ครั้ง อนาคตของชาวนาก็ไม่เคยถูกเปลี่ยนแปลงอะไรเลย

‘ข้าวต้มราคา 10 บาท ข้าวราดแกง 20 บาท’ ป้ายร้านอาหารที่ขายอยู่ในม็อบชาวนา ช่วยขยายภาพที่ทั้งสองคนอธิบายให้เราได้อย่างดีเยี่ยม ทั้งสองคนเล่าต่อด้วยว่า จะข้าวต้มหรือข้าวอะไรพวกเขากินได้ทุกอย่างขอเพียงแค่มีราคาถูก ก็สามารถกินประทังชีวิตได้ ทนได้ เพราะไม่มีเงินซื้อของที่แพงกว่านี้

“ตอนพวกเราอยู่บ้านก็นู้น หาหอยกาบ หอยเชอรี่กิน กินจนตอนนี้หอยเชอรี่จะไม่เหลือให้กินแล้ว กินอะไรก็ได้ที่มันไม่เสียเงิน เพราะไม่มีเงินให้เสีย” สุรพลพูดต่ออีกว่า ปุ๋ยกระสอบละพันกว่าบาท แต่ราคาข้าวกับราคา 5 บาทต่อกิโลกรัม เขาตั้งคำถามต่อว่าสินค้าทุกอย่างกำหนดราคาขั้นต่ำได้ แต่ทำไมราคาข้าวชาวนาไม่เคยมีส่วนร่วมในเรื่องนี้เลย

“ตั้งแต่ทำนามาจนอายุ 74 ปี ปีไหนราคาข้าวดีที่สุด?” เราเอ่ยถาม สุรพล

“มันไม่เคยดีสักปี ทำนามานานแล้ว แต่ในช่วงทักษิณ ชินวัตร ก็ยังดีหน่อย แต่ตอนนี้แย่กว่าเดิมอะไรก็ตกต่ำไปหมด ”

“มีหวังกับรัฐบาลไหม มีข่าวว่าใกล้เลือกตั้งใหม่ด้วย” เราถาม

“ไม่มี ตอนหาเสียงใครก็ว่าราคาจะดีหมด แต่พอชนะเลือกตั้งเท่านั้นแหละ ก็อย่างที่เราเห็น พวกเขาไม่ตายหรอก พวกเราเนี่ยจะตาย” ชาวนาวัย 64 ปี ทิ้งท้าย

2

“มาม็อบครั้งนี้ก็กู้หนี้ยืมสินมานะ แม่กู้มาร้อยละ 10 ถ้าไม่มาต่อสู้ก็ไม่เห็นอนาคตเลย” 1 ใน แกงค์สาววัย 60+ จากอยุธยาบอกแก่เรา ชาวนาอยุธยาเดินทางมาร่วมม็อบที่กรุงเทพฯ ด้วยการเหมารถและหารค่ารถกัน

“ทำนามาตั้งแต่สาวๆ ไม่เคยมีเงินเก็บเลย สิ่งที่เหลือจากการทำนาคือกระซังและหนี้สิน” ชาวนาวัย 68 บอกต่อว่า ที่ออกมาต่อสู้ตอนนี้เพราะนากำลังจะถูกยึด จึงอยากให้รัฐบาลช่วยเรื่องหนี้สิน ตามข้อเรียกร้องที่ยื่นไป เธอกล่าวต่อว่า ถ้าเป็นสมัยสาวๆ ตอนนี้เธอเดินนำหน้าขบวนพร้อมตะโกนข้อเรียกร้องไปเรียบร้อยแล้ว แต่ตอนนี้สุขภาพของเธอไม่ค่อยจะดีนัก

“บางคนมาตั้งแต่สาวยันแก่ จนบางคนตายไปแล้ว ข้อเรียกร้องที่เสนอก็ยังไม่ได้รับการอนุมัติ” หญิงวัย 72 พูดเสริมว่า ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา อยุธยาเจอกับภัยพิบัติน้ำท่วม ที่นาของเธอได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติที่ซ้ำเติมชีวิตเธอซ้ำแล้วซ้ำเล่า “ตอนนั้นลงทุนกับนาไปแล้ว 7 หมื่นบาท แต่เกิดน้ำท่วมรัฐบาลชดใช้ค่าเสียหายให้ไร่ละ 1,000 บาท ก็ได้เงินจากรัฐบาลกลับมาประมาณ 1-2 หมื่นบาท แต่เราลงทุนไปแล้ว 7 หมื่นบาท และยังไม่รวมราคาข้าวที่เสียไปอีก”

“ถ้าฝนตกตอนนี้อยู่กันอย่างไร?” เราถาม

“ก็หลบอยู่ใต้สะพาน และเอาที่ปูพื้นพลาสติกรองก้นเพื่อไม่ให้ตูดเปียก และเราก็นอนกันอยู่แบบนี้”

3

รถเคลื่อนตัวเวลาตี 5 แต่ต้องตื่นกันตั้งแต่ตี 3 ตี 4 คำบอกเล่าของชาวนาจากอยุธยาที่อธิบายกับเราว่า การเดินทางจากม็อบไปกลับทำอย่างไร พร้อมกับเสียค่าเดินทางวันละ 250 บาท การไปกลับบ้านตลอดระยะเวลาร่วม 16 วัน นับเป็นค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง

“เราตื่นแต่เช้าเพื่อมาหุงข้าวและทำอาหารมากินที่ม็อบ เพราะม็อบนี้ต้องซื้อข้าวซื้อน้ำกินเองทุกอย่าง เห็นไหม ที่กินกันก็มีปลาเค็ม อย่างแกนนำก็กินปลาร้าทุกวัน เพราะมันไม่มีอะไรจะกินแล้ว เรียกว่าตอนนี้กัดก้อนดิน ก้อนเกลือมันยังแพงไป มันยังมีราคา” ชาวนาอยุธยาวัย 70 พูดเสริมต่อว่า อยากให้ทุกคนรับรู้ถึงความลำบากของชาวนา รัฐบาลไม่เคยมาดูดำดูดี อยากให้ทุกคนช่วยทำข่าวม็อบชาวนาเยอะๆ

“เรามาเรียกร้องดีๆ ไม่มีอะไรเลย เหมือนกับเด็กๆ ที่ถูกจับ เราก็สงสารพวกเขานะ พวกเขาแค่ออกมาใช้สิทธิ์เรียกร้องแต่กลับถูกจับ ตอนนี้ก็ไม่รู้ว่าได้ออกจากคุกมาหรือยัง พวกเขานิสัยดีกันนะ น่ารัก มาช่วยม็อบแม่ๆ ตลอด แต่รัฐบาลก็ดันไปจับเขา

“ตั้งแต่มีม็อบชาวนามายังไม่เคยมีใครมาหา มาพูดคุยเรื่องข้อเสนอเลย ก็ปล่อยเรากินนอนปูเสื่ออยู่แบบนี้ อย่างตอนนี้เราทำนาไม่ไหวแล้ว ทำมาตั้งแต่รุ่นแม่ แต่ไม่เคยรวย มีแต่จนลง เหมือนกับเหยียบให้เราจมดินอยู่ตลอด แม้ว่าตอนนี้ลำบากมากแต่ก็จะยังมาม็อบ

“ส่วนเรื่องที่พวกเขาบอกว่าช่วยเหลือเรื่อง ‘คนละครึ่ง’ และ ‘บัตรคนจน’ มาดูเถอะ หยิบให้ดูเลยก็ได้ว่าตอนนี้ใช้โทรศัพท์อะไร เครื่องละ 500 บาท มันจะใช้คนละครึ่งได้ไหม หรือหากมีโทรศัพท์ที่ใช้ได้ ก็คงจะใช้ไม่เป็น มันเหมือนกับว่าพวกเขาแจกเงินให้คนรวยใช้กันเองมากกว่า ส่วนบัตรคนจนแจกเดือนละ 200 บาท ซื้อน้ำมันพืช 3 ขวดเงินก็หมดแล้ว

“หลายคนบอกว่าถ้าทำนามันยิ่งจนทำไมไม่เปลี่ยนไปทำอย่างอื่น รัฐบาลก็บอกให้พวกเราไปปลูกผัก แต่ถามหน่อยมีตลาดรองรับให้ไหม ทุกวันนี้ก็แย่กันไปหมด ที่เขาชอบพูดกันว่าชาวนาชอบโกง พวกคุณก็มาดูสิว่าเศรษฐกิจมันแย่กับเรามากแค่ไหน ก็ยอมรับว่าตอนนี้ไม่มีปัญญาใช้หนี้” ชาวนาหญิงจากอยุธยาวัย 70 ปี ทิ้งท้าย

4

“มาตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม ตอนนี้ยังไม่ได้กลับเลย เพราะไม่มีเงินค่ารถกลับบ้าน” ชาวนาอายุ 77 ปี จากจังหวัดพิจิตร พูดถึงวันแรกที่เดินทางมาเข้าร่วมม็อบ เธอกล่าวต่อว่า แม้จะกินนอนลำบาก ปวดหลัง ยุงกัด แต่สิ่งเหล่านี้อดทนได้ แต่น่าเสียดายที่วันนี้เดินไม่ไหว เธอเลยต้องปักหลักต่อสู้อยู่ที่ข้างกระทรวงการคลัง

“ป้ายืมเงินลูกสะใภ้มาม็อบชาวนาเหมือนกัน เพราะมันไม่ได้เสียแค่ค่ารถ มันคือค่าอยู่ค่ากินอีก จากเป็นหนี้อยู่แล้วก็ลำบากกว่าเดิม เพราะถ้าเราไม่มาปักหลักต่อสู้เขาก็จะไม่ช่วย ขนาดมาปักหลักตอนนี้เขายังไม่ช่วยอะไรเลย รัฐบาลไม่ยอมทำอะไรให้ ตอนนี้ก็คงจะอยู่กันไปเรื่อยๆ จนกว่าเขาจะรับข้อเสนอ” ชาวนาอายุ 68 ปี กล่าวเสริม

พวกเธอมีจุดประสงค์ตรงกันว่า อยากได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาล เพราะชีวิตตอนนี้ลำบากมาก และลำบากมาตลอด ทั้งที่ทำงานไม่เคยได้พัก ในบั้นปลายของชีวิตพวกเธอที่ออกมาต่อสู้นั้น ก็เพียงหวังว่าลูกหลานจะไม่ได้ใช้ชีวิตเช่นนี้อีกต่อไปแล้ว

5

“ผมเป็นหนี้ธนาคารสหกรณ์การเกษตร 8 แสนบาท เอานาไปจำนองเขาไว้ หนี้สินเหล่านี้ก็มาจากการทำนา เพราะกู้หนี้ยืมสินมาลงทุน แต่ไม่ได้ข้าว ขาดทุน ปุ๋ยราคาแพง น้ำมันราคาขึ้น เลยเป็นหนี้สะสมมาเรื่อยๆ ” ชาวนาพิจิตร อายุ 80 ปี เดินทางมาเข้าร่วมม็อบครั้งนี้ ด้วยเสื่อหนึ่งผืน หมอนศูนย์ใบ เขาบอกกับเราว่าถ้ายุงกัดก็ใช้ยาทาไปเพราะไม่มีมุ้ง และเขาจะคงปักหลักนอนเรื่อยๆ จนกว่าจะรัฐบาลจะรับเรื่อง

“หมดค่าเดินทางมากรุงเทพฯ 750 บาท ตอนนี้ไม่ได้ทำนาแล้ว เพราะไม่มีนาให้ทำ” แม้ในตอนนี้นาของเขายังไม่ถูกยึดไป แต่สหกรณ์ฯ ก็นำนาของเขาไปจำนองเรียบร้อยแล้ว เขาเล่าต่อว่าตลอดระยะเวลาการทำนา ที่นอกจากข้าวของที่ขึ้นราคาสวนทางกับราคาข้าวแล้ว อีกปัญหาที่เจอคือน้ำไม่เพียงพอสำหรับทำนา

“ตอนนี้ขายข้าวได้เกวียนละ 6,000 บาท ขาดทุนมาก แต่ก็ไม่รู้จะทำอาชีพอะไรแทนทำนา ก็เลยต้องจำใจทำมาเรื่อยๆ หนี้สินก็เพิ่มมาเรื่อยๆ เงินเก็บไม่มี มาม็อบก็ต้องซื้อข้าวกินเองมื้อละ 30 บาท ยังดีที่ว่าค่าเดินทางไม่ได้ยืมใครมา เพราะขายปลาได้ เลยเอาเงินส่วนนี้เป็นค่าเดินทางมาเรียกร้อง

“ยังมีชาวนาอีกจำนวนมากที่อยากมาม็อบ แต่พวกเขาไม่มีเงินที่จะเดินทาง” เขาทิ้งท้าย

6

แก๊งหนุ่มๆ อายุ 60 ปลายๆ ไปจนถึง 70 ต้นๆ จากนครสวรรค์ เดินทางมาร่วมม็อบตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และยังไม่รู้วันกลับแน่ชัด อุปกรณ์ที่นำมาม็อบมีเพียงมุ้งกับเสื่อที่แบกมาจากนครสวรรค์ เพื่อมาสู้ร้อน หนาว สู้ฝนที่ข้างถนนกรุงเทพฯ จุดประสงค์ของพวกเขาคือ อยากให้ภาครัฐรับข้อเรียกร้อง ลดหย่อน พักหนี้ให้กับชาวนา

“ปัญหาตอนนี้คือนายทุนเขาจะยึดที่ เขาจะขายที่ทอดตลาด พวกนี้ก็ทำไร่ทำนากันทุกคนแต่ไม่มีใครสักคนที่มีเงินเก็บ ที่บอกว่าชาวนายิ่งทำยิ่งจนมันถูกต้อง เพราะจนลงทุกวัน แต่ต้นทุนมันกลับแพง

“ปุ๋ยของนายทุนมันแพง ของชาวบ้านชาวนาทำไมมันไม่แพงบ้างเช่นข้าวตอนนี้ราคากิโลกรัมละ 5-6 บาท มันถูกมาก ไม่ได้กำไรอะไรเลย แต่ปุ๋ยกลับลูกละ 1,550 บาท คิดดูว่าปีทีผ่านมาผมทำนา 30 ไร่ แต่หักลบต้นทุนแล้วเหลือเงินพันกว่าบาท นี่ยังไม่รวมค่าแรงนะ ถ้าคิดค่าแรงด้วยก็คงไม่เหลือสักบาท ”

“มานี่ก็จ่ายค่าใช้จ่ายเอง ซื้อกินเอง ข้าวอันนี้ผมก็ไปเอามาจากวัด ถ้าเราไม่ออกมาต่อสู้กันเขาก็ไม่รู้ว่าเราลำบาก นี่คือเหตุผลที่ลำบากแต่ก็ยังออกมาปักหลักอยู่ที่นี่ ถ้ารัฐบาลยังไม่ทำอะไรก็ยังจะอยู่แบบนี้ ชาวนาโดนหลอกลวงมาไม่รู้กี่เที่ยวแล้ว บอกจะซื้อทุกเข่ง แต่เข่งขาดทุกครั้ง ไม่ได้ยกขึ้นสักที มาดูงวดนี้เข่งก็น่าจะขาดอีก” เขาเล่าต่อว่าแม้ว่าตอนนี้จะเดินเคลื่อนขบวนไม่ไหวแล้ว และเกรงว่าตัวเองจะสิ้นลมก่อนเห็นรัฐบาลรับเรื่องแต่ก็จะยังคงยืนหยัดสู้ต่อไป

“สงสัยจะตายก่อนได้เห็นการรับเรื่อง เพื่อนเราก็ตายไปไม่รู้กี่รายแล้ว แต่ตายก็ดีเขายกเลิกหนี้ให้ ไม่ผูกพันลูกหลาน ก็อยากฝากทุกคน ฝากนักข่าวให้ช่วยพูดเรื่องของเราหน่อย จะเอาแค่กำลังกรรมกรอย่างเรามันคงยาก” ชาวนาพิจิตร อายุ 73 ทิ้งท้าย

Tags: , , , ,