โดยปกติ มนุษย์เราอาบน้ำวันละกี่ครั้ง

อาจจะครั้งเดียวสำหรับประเทศที่มีสภาพอากาศเย็นเฉียบ หรืออาจจะแค่ 2 ครั้งในประเทศที่มีอากาศร้อนชื้น 

แต่สำหรับช้างที่ถูกเลี้ยงภายในปางไว้สำหรับนักท่องเที่ยว บางตัวอาจต้องอาบน้ำมากถึง 6 ครั้ง ขึ้นอยู่กับจำนวนรอบของนักท่องเที่ยว ที่ซื้อตั๋วเดินทางเข้ามาอาบน้ำกับช้างภายในปาง 

แตกต่างกับ Following Giants ปางช้างเชิงอนุรักษ์ ในอำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ ที่ปล่อยให้ช้างอาบน้ำเองในแอ่งน้ำของปาง ซึ่งส่วนใหญ่ช้างจะอาบน้ำเพียง 1-2 ครั้งต่อวันเท่านั้น ขณะที่ปางช้างหลายแห่งใช้การอาบน้ำ การแสดง เพื่อสร้างผลกำไรทางธุรกิจ 

ไม่เพียงแต่ธุรกิจท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ยังรวมถึงธุรกิจที่ต้องใช้พละกำลังสูง เช่น การค้าไม้ที่ต้องใช้ช้างลากท่อนซุงตามคำสั่งของนายหน้า 

เหล่านี้กลั่นกรองเป็นความตั้งใจของ ชเร สังข์ขาว ให้มุ่งมั่นเปิดปางช้างแห่งใหม่ภายใต้ชื่อ Following Giants ด้วยเล็งเห็นความสำคัญด้านสวัสดิภาพของช้างที่เผชิญกับความรุนแรงจากกระแสการทำธุรกิจของคน ให้ช้างมีโอกาสได้กินอิ่มหลับสบาย และมีอิสระอย่างที่ควรจะได้รับ

นอกจากนโยบายการรับช้างที่ตกอยู่ในความรุนแรงจากปางช้างต่างๆ มาเลี้ยงไว้ ชเรยังเปิดโอกาสรับ ‘ควาญช้าง’ ที่มีประวัติทำผิดกฎหมายให้ได้มีงานทำภายในปาง 

นอกเหนือจากการให้โอกาสสิ่งมีชีวิตทั้งสัตว์และคน Following Giants ยังเป็นการลบความทุกข์ใจในอดีตของชเร หลังจากช้างของครอบครัวตายไปจากการถูกใช้งานอย่างหนักต่อหน้าต่อตาเขา 

เมื่อช้างทุกตัวต่างมีภูมิหลังของความเจ็บปวด The Momentum จึงชวนสำรวจภูมิหลังชีวิตของช้างแต่ละตัวภายในปางช้าง Following Giants ว่า พวกเขาพบเจอความรุนแรงอย่างไร และอะไรคือ ‘โอกาส’ ที่เกิดขึ้นทั้งกับคนและช้างในปางแห่งนี้

01

ความเจ็บปวด

7 พฤษภาคม 2567 นับเป็นวันแรกที่ช้างเพศเมีย วัย 45 ปี เดินทางถึงปางช้างของชเรที่จังหวัดกระบี่ พร้อมกับสภาพใบหูที่ฉีกขาดจากการทำพิธีกรรมทางความเชื่อเกี่ยวกับช้าง หลังโค้งเว้าจากการยุบตัวของกระดูกสันหลังอย่างถาวร จากการรับน้ำหนักของนักท่องเที่ยวในแต่ละวันนานถึง 8 ชั่วโมงโดยไม่ได้หยุดพัก ประกอบกับผิวมันเลื่อมมันบริเวณหลังของช้าง จากความบอบบางลงของผิวหนังซึ่งเกิดจากการวางกระสอบ หรือที่นั่งบนหลังของช้างเพื่อให้คนได้นั่งสบาย

เมื่อเดินทางถึง Following Giants ช้างเชือกนี้ถูกตั้งชื่อให้ทันทีว่า วันใหม่ หลังจากเดินทางถึงปางช้างแห่งใหม่ เพื่อไม่ให้ควาญช้างที่จะอยู่กับเธอหลังจากนี้ เรียกชื่อเดิมที่เคยถูกควาญช้างคนเก่าเรียกมาตลอด ในช่วงที่เจอกับสถานการณ์อันเลวร้ายภายในปางแห่งเก่า 

วันใหม่แสดงอาการขัดขืนจากการเจ็บปวด ด้วยการทำร้ายควาญช้างจนได้รับบาดเจ็บสาหัสถึง 2 ราย หลังจากนั้นเธอจึงมักถูกล้อมโดยควาญช้างเชือกอื่นและใช้เครื่องมือ เช่น ตะขอหรือหอก เพื่อบังคับด้วยวิธีการที่ทารุณอยู่บ่อยครั้ง

02

บาดแผล

ทองเอก ช้างเพศผู้ในวัย 46 ปี เป็นหนึ่งในจำนวนช้างหลายร้อยตัวที่ถูกใช้งานในอุตสาหกรรมค้าไม้ เขาสูญเสียดวงตาหนึ่งข้างระหว่างการลากไม้ซุง ขณะหนังฝ่าเท้าบอบบาง เร็วต่อความร้อน เป็นอุปสรรคต่อการเดินบนพื้นที่เป็นปูนซีเมนต์ 

เช่นเดียวกับ ชบา ช้างเพศเมียจากจังหวัดสุรินทร์ ที่ถูกบังคับให้เธอลากไม้จากควาญช้างแห่งเดิมตั้งแต่มีอายุได้เพียง 9 ปีเท่านั้น และต้องทำงานเป็นช้างลากไม้ภายในอุตสาหกรรมค้าไม้ภายในจังหวัดนานกว่า 32 ปี 

เมื่อหมดฤดูกาลค้าไม้ ทั้งชบาและทองเอกต้องกลายเป็นช้างเร่ขายอาหาร และรับ-ส่งนักท่องเที่ยวไปตามจุดต่างๆ ภายในปางช้าง ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมาในภายหลัง เช่น ทองเอกกลายเป็นช้างหลังหักถาวร จากการรับน้ำหนักของคนที่มากเกินตัวจะรับไหว ส่วนชบาเผชิญกับภาวะได้รับอาหารไม่เพียงพอต่อความต้องการของช้างทั่วไป และมีปัญหาด้านการกินจากฟันที่ไม่แข็งแรง เนื่องจากเคี้ยวอาหารที่เป็นของแข็งเป็นระยะเวลานาน 

นอกจากสภาพทางด้านร่างกายแล้ว ชบายังมีความเจ็บป่วยทางจิตใจ เธอมักแสดงท่าทีที่ดุร้ายเมื่อเผชิญหน้ากับผู้คน พฤติกรรมนี้ได้รับการอธิบายจากเจ้าของปางช้างอย่างชเรว่า เป็นผลมาจากการบังคับช้างอย่างทารุณและใช้งานจนทำให้ช้างมีอาการบาดเจ็บ 

03

ช้างไร้วัยเด็ก

เมื่ออายุได้เพียง 2 ปี มงคล ช้างเพศผู้วัยเยาว์ต้องถูกจับแยกจากแม่ช้างเพื่อเข้ารับการฝึกฝนเป็นช้างสำหรับแสดงภายในปาง ล่วงเลยมากว่า 5 ปี วันนี้มงคลยังไม่เคยได้พบแม่ของเขานับตั้งแต่พรากจากกันมา 

แม้จะเป็นช้างที่มีนิสัยร่าเริงและขี้เล่น แต่มงคลกลับถูกฝึกฝนด้วยวิธีการที่โหดร้าย เช่น คำสั่งให้ช้างยกขาหน้าทั้ง 2 ข้าง ฝึกโดยการใช้ตะปูหรือตะขอตอกไปบริเวณขาของช้าง เพื่อสร้างความเจ็บปวดและให้ช้างทำตาม 

นี่เป็นสาเหตุว่า ทำไมช้างเด็กเชือกนี้จึงมีร่องรอยบาดแผลที่ขาหน้าทั้งสอง ขณะนำเข้ามาที่ Following Giants 

อย่างไรก็ดี หลังจากมงคลเดินทางถึงปางช้างแห่งใหม่เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2567 เจ้าหน้าที่ของปางช้างนำมงคลเข้าสู่กระบวนการรักษาบาดแผลจนสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ และได้รับความเอ็นดูจากช้างที่อยู่อาศัยภายในปางมาแล้วก่อนหน้า ซึ่งชเรเล่าให้ฟังว่า ช้างตัวนี้ดูแลมงคลเสมือนเป็นลูกของตนเอง

04

ซึมเศร้า

ใบหน้าที่เหี่ยวย่นคล้อยผิวหนังของช้างเพศเมียอย่าง บุญยัง บ่งบอกกายภาพของช้างวัยชรา ทว่าความเป็นจริง บุญยังมีอายุเพียง 35 ปีเท่านั้น ซึ่งหากดูภายนอกก็นับว่า มีความชราเกินวัย โดยชเรระบุว่า เป็นสาเหตุจากความเครียดสะสมของช้าง จากการทำงานไม่ได้ตามคาดหวังของควาญช้างผู้ดูแล 

บุญยังผ่านการเคลื่อนย้ายไปยังปางช้างอื่นๆ มาแล้วถึง 10 ปาง เนื่องจากไม่สามารถทำงานรับนักท่องเที่ยวตามความคาดหวังของเจ้าของปางช้าง เพราะบุญยังเป็นช้างแคระ ไม่สามารถรับน้ำหนักของนักท่องเที่ยวได้มากเท่ากับช้างตัวอื่นๆ ที่มีลักษณะทางกายภาพสมบูรณ์มากกว่า 

ที่สำคัญเมื่อไม่สามารถทำงานได้ตามความคาดหวังของควาญช้างและเจ้าของปางช้าง บุญยังจึงถูกลงโทษบ่อยครั้งด้วยวิธีที่รุนแรงเช่นเดียวกับช้างแต่ละตัวภายในปางช้างของชเร แต่การตอบโต้ของเธอกลับไม่ใช่การแสดงความดุร้าย เป็นเพียงการแสดงสีหน้าเศร้าสร้อยกลับไปเท่านั้น 

ปัจจุบันบุญยังอยู่ระหว่างการใช้ชีวิตอยู่ภายใน Following Giants ของชเร ซึ่งควาญช้างของเธอเล่าว่า นี่จะเป็นช่วงเวลาที่ทำให้เธอได้พักหายใจมากกว่าครั้งก่อน และจะเป็นจังหวะที่ดีที่ช้างตัวนี้จะหาแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตต่อไป 

05

โอกาสของช้าง

และคน

ภายใน Following Giants ไม่เพียงแต่ช้างเท่านั้นที่ได้รับโอกาสในการใช้ชีวิตใหม่อย่างมีสวัสดิภาพ แต่กับควาญช้างของที่นี่หลายคนก็ได้รับโอกาสในการประกอบอาชีพอย่างสุจริตเป็นครั้งที่ 2 ภายหลังกระทำผิดทางกฎหมาย 

เพราะเงื่อนไขการเป็นปางช้างที่แห่งนี้มีเพียงหลักเกณฑ์ด้านอายุ เงื่อนไขนอกเหนือจากนี้ ขอเพียงมีความรักและดูแลสัตว์ใหญ่อย่างช้างได้ รวมทั้งไม่มีการปิดกั้นบุคคลที่เคยต้องโทษทางกฎหมาย นั่นจึงเป็นโอกาสของบุคคลที่เพิ่งพ้นผิดให้ได้มีงาน มีเงิน และมีความมั่นคงในชีวิต ไม่กลับไปกระสิ่งผิดกฎหมายอีก

“เมื่อก่อนเราเคยเดินทางผิด และติดคุกมา แล้วได้โอกาสจากคุณชเรเจ้าของปางช้างให้มาเป็นควาญช้าง” รุฒน์ ควาญช้างของ Following Giants รับหน้าที่ดูแลช้างเพศเมียอย่างวันใหม่มาแล้ว 5 เดือน 

รุฒน์เกิดที่เกาะลันตา และเคยประกอบอาชีพเป็นควาญช้างมาก่อน แต่ด้วยสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 กระทบกับการเงินของเขา ทำให้เขาต้องหาเงินด้วยวิธีที่ผิดกฎหมาย ก่อนจะถูกแจ้งความและจำคุกนานนับปี 

ในวันนี้รุฒน์ได้รับโอกาสอีกครั้ง

“เราจำได้ ตอนเจ้าของปางช้างที่นี่เขาชวนเรามาเป็นควาญช้าง เขาบอกกับเราว่า ออกจากคุกมาแล้วจะชวนมาทำงานด้วยนะ ตอนนั้นเราก็รู้แล้วว่า เขาพยายามจะช่วยเหลือเรา

“ชีวิตของเรามั่นคงขึ้นนะ เงินของเราไม่ได้ขาด การเป็นอยู่ของเราก็ดีขึ้น”

เช่นเดียวกับคนอื่นๆ ภายในปางช้างแห่งนี้ที่เรายังไม่ได้เจอ ชเรบอกว่า มีหลายคนผ่านการหลงผิดติดเรือนจำมาหลายราย ก่อนจะมาทำงานเป็นควาญช้างของที่นี่ 

เจ้าของปางช้างทิ้งท้ายไว้เพียงสั้นๆ ว่า เมื่อช้างของเขาได้รับโอกาส มีหรือที่คนซึ่งมีชีวิตจิตใจไม่แตกต่างเหมือนกับช้างแต่ละตัวจะไม่ได้รับโอกาสเสมอกัน 

เราเห็นด้วยทุกประการที่ชเรพูดมา และเห็นได้ชัดแล้วว่า การได้รับโอกาสไม่ว่าจะกี่ครั้งนั้น มันเกิดผลดีอย่างไรบ้างภายในปางช้าง

ขณะที่เจ้าของปางช้างอย่างชเรเอง 

ก็คงได้ลบความทุกข์ใจจากการสูญเสียช้างในอดีตเช่นเดียวกัน 

Tags: , , ,