เรื่องของ สว.เดินหน้ามาอีกลำดับ เมื่อมีข่าวว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ทำหน้าที่ร่วมกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เตรียม ‘ฟัน’ สว.จำนวนกว่า 60 คน
ทั้งที่ก่อนหน้านี้ กกต.อยู่ในเกมเพิกเฉยเรื่องนี้มาโดยตลอด เพราะหากยอมรับว่า ขั้นตอน-กระบวนการทั้งหมดมีการ ‘ฮั้ว’ เกิดขึ้นจริง กกต.ในฐานะผู้จัดการเลือกตั้ง สว.เมื่อปี 2567 ที่ผ่านมา ก็จำต้องมีความผิดด้วย
อันที่จริงเรื่องการจัดการ สว.เพิ่งเริ่มต้นไม่นาน ภายหลังความขัดแย้งในหลากหลายประเด็นระหว่างพรรคภูมิใจไทยกับพรรคเพื่อไทยเริ่มวิกฤตหนัก
นับตั้งแต่การที่กระทรวงคมนาคมลุยจัดการเรื่องที่ดิน ‘เขากะโดง’ จังหวัดบุรีรัมย์ และกระทรวงมหาดไทยจัดการเรื่องที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ของตระกูลชินวัตร ลามมาด้วยการยื่นเรื่องตรวจสอบที่ดินสนามกอล์ฟ แรนโช ชาญวีร์ ของ อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ว่าออกโฉนดทับที่ นส.3 ก. หรือไม่ เรื่อยไปจนถึงสมรภูมิใหญ่อย่างเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ และ Entertainment Complex ซึ่งภูมิใจไทย ‘ขวาง’ ทุกเรื่อง
ด้วยสถานะดังกล่าว พรรคเพื่อไทยอยู่ในสถานะ ‘เข้าตาจน’ หากไม่มีหมัดสวนพรรคภูมิใจไทยจะออกแรงขวางหนักขึ้น อาจขวางได้ทั้งในเกมสภาล่างผ่าน สส.ของพรรค หรือปล่อยให้ผ่านสภาผู้แทนราษฎรแล้วไปตีกลับในชั้นวุฒิสภา เหมือนกับร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ที่วุฒิสภาตีตก นั่นเท่ากับว่า พรรคเพื่อไทยจะแพ้ในสนามนิติบัญญัติทุกเรื่อง ไม่สามารถเคลื่อนนโยบายใดให้เป็นจริงได้
ฉะนั้นเรื่องฮั้ว สว.จึงเป็นวาระใหญ่ในการ ‘แก้เกม’ กรณีนี้รัฐบาลเลือกใช้บริการกรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยมีอดีตตำรวจมือปราบชั้นเซียนอย่าง พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นหัวหน้าทีมในการเดินเรื่องนี้อย่างเคร่งครัด
กระนั้นเองฟากสีน้ำเงินก็สู้กลับ สมรภูมิที่จังหวัดอำนาจเจริญเป็นการต่อสู้ผ่าน ‘กระทรวงมหาดไทย’ เรื่องการใช้อำนาจโดยมิชอบของดีเอสไอในการสอบสวนและข่มขู่พยาน ขณะที่ สว.ก็ยื่นสอบดีเอสไอที่ใช้อำนาจยื่นสอบตัวเอง
คำถามที่ยังแวดล้อมก็คือ เรื่องนี้จะนำไปสู่อะไร เป็นการบีบเพื่อต่อรองให้พรรคภูมิใจไทยอยู่ในรูปในรอยมากขึ้น เลือกเก็บ สว.บางคนไว้ให้แปรพักตร์ หรือล้มทั้งกระดานเพื่อเริ่มกระบวนการสรรหา สว.ใหม่ และนี่คือความเป็นไปได้ของเรื่องนี้
ฉากทัศน์ที่ 1 : บีบเพื่อต่อรอง ให้อยู่ในรูปในรอย
จนถึงขณะนี้หลายคนเชื่อตรงกันว่า การต่อสู้ระหว่าง ‘สีน้ำเงิน’ กับ ‘สีแดง’ เป็นเกมการบีบให้พรรคภูมิใจไทยเลิก ‘ขวาง’ นโยบายหลักของพรรคเพื่อไทย ให้อยู่รอดต่อไปอีกจนครบอายุรัฐบาล โดยมีหมุดหมายอยู่ที่ 3-4 กฎหมายสำคัญ คือ 1. การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ 2. การผลักดันร่างพระราชบัญญัติ Entertainment Complex 3. ร่างพระราชบัญญัติแลนด์บริดจ์ 4. ร่างพระราชบัญญัติตั๋วร่วม และ 5. ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ (THACCA) ซึ่งทั้งหมดหากไม่ผ่านเลยสักเรื่อง ก็เท่ากับพรรคเพื่อไทยจะไม่มีจุดขายใดๆ ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ขณะเดียวกันพรรคภูมิใจไทยก็มีหมุดหมายของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายพนันออนไลน์ หรือร่างพระราชบัญญัติบ้านเกิดเมืองนอน ที่ให้ทุกคนเลือกได้ว่า 30% ของภาษีที่เสียจะนำไปลงท้องถิ่นใด
แต่แน่นอนว่า การบีบด้วยคดีเพื่อต่อรองนั้น ‘ง่าย’ เกินไป ไม่จูงใจมากพอ และไม่มีอะไรเป็นหลักประกันว่า สุดท้ายดีเอสไอจะหยุดสอบสวนต่อ เมื่อเป็นเช่นนั้นเกมถัดไปจึงเริ่มขึ้น
ฉากทัศน์ที่ 2 : สลายขั้ว-แยกข้าง สว.
หากจำกันได้เรื่องนี้มีโมเดลคล้ายกับการ ‘ทุบ’ พรรคพลังประชารัฐให้แตก แยกเป็นข้าง พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ และข้าง ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า จนในที่สุดเสียงข้างมากก็เลือกอยู่ข้างพรรคกล้าธรรมของร้อยเอกธรรมนัส ขณะเดียวกันยังมีโมเดลเดียวกันในการพยายามทุบพรรคร่วมรัฐบาลข้างๆ อย่างพรรครวมไทยสร้างชาติเช่นกัน โดยการแยกสาย พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ออกจากสายอื่นๆ ในพรรค ตีพรรคให้แตกเป็นสองขั้ว
แน่นอนว่า ‘ผู้มีอำนาจ’ ย่อมเห็นว่า เมื่อ สว.มาด้วยวิธีแปลกๆ บางคนมาด้วยบุญคุณ บางคนมาด้วยเงิน หากจะใช้คดีเป็นตัวบีบให้แปรพักตร์ก็อาจบีบได้ด้วยข้อตกลงปีศาจ ให้ สว.อยู่ต่อแล้วพ่วงด้วยคดีหรือเลือกย้ายข้างแล้วยุติคดี
ด้วยวิธีนี้เท่ากับว่า ‘ผู้มีอำนาจ’ ฝั่งสีแดงจะมี สว.ในมือ เรื่องต่างๆ ที่ต้องอาศัยเสียง สว.ให้ผ่านก็ยังสามารถผ่านได้ ที่สำคัญยังมีอำนาจเหนือองค์กรอิสระที่ สว.มีอำนาจเห็นชอบได้อีก
ทว่าที่ผ่านมา การเคลื่อนไหวด้วยวิธีนี้มา 1-2 เดือนแล้วยังคงเงียบงัน ฉะนั้นความพยายามจาก ‘ผู้มีอำนาจ’ จึงยังไม่สำเร็จ จำต้องเดินเกมใหม่ต่อไป
ฉากทัศน์ที่ 3 : ล้มทั้งยวง
เอาเข้าจริง หากตัวเลข สว.สีน้ำเงินอยู่ที่ 168 คนเป็นจริง สิ่งที่เป็นประโยชน์ที่สุดกับระบอบประชาธิปไตยไทยก็คือการ ‘ล้ม’ กระบวนการสรรหาทั้งหมด เปิดให้มีการสรรหาใหม่ เพราะนับจากนี้ จะไม่มีใครเชื่อถืออีกต่อไปว่า สว.ทำหน้าที่โดยอิสระ ไม่มีใครอยู่เบื้องหลังจริงๆ และย่อมดีกว่า หากได้บุคคลที่มีคุณวุฒิ วัยวุฒิ เข้ามาทำหน้าที่ ‘สภาสูง’ คัดกรองกฎหมาย หรือทำหน้าที่รับรองบุคคลในองค์กรอิสระที่มีอำนาจทรงพลัง ชี้ขาดความเป็นไปของประเทศนี้
ด้วยเหตุนี้หากหลักฐานที่ปล่อยออกมาทั้งหมดเป็นเรื่องจริงและมีอยู่จริง ไม่ว่าจะเป็นคลิปเสียง ‘หัวหน้าพรรคการเมืองใหญ่’ อยู่เบื้องหลังการคัดเลือกคนมาเลือก สว. ‘เลขาธิการพรรคการเมืองใหญ่’ มีเส้นทางการเงินเชื่อมโยงกับการสรรหา สว. ย่อมนำไปสู่การล้ม สว.ชุดนี้ได้ทั้งชุด
แต่การเดินหน้าดังกล่าวย่อมทำให้ภาพของรัฐบาลสั่นคลอนด้วยเช่นกัน เพราะพรรคภูมิใจไทยมีเสียง สส.มากกว่า 69 เสียง และหากพรรคภูมิใจไทยซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลสำคัญ ตัดสินใจ ‘แยกทาง’ กับพรรคเพื่อไทยเมื่อไร ย่อมหมายความว่า รัฐบาล แพทองธาร ชินวัตร มีความเสี่ยงที่จะล่มสลายเข้าสู่เกมการยุบสภาฯ เลือกตั้งใหม่ได้ทันทีเช่นกัน
สภาวะเช่นนี้จึงเป็นสภาวะ ‘ลักลั่น’ คือหากปล่อยให้เรื่องเดินไปแบบครึ่งๆ กลางๆ สอบสวนพอเป็นพิธี ทุกอย่างก็จะเป็นไปในแบบเดิม แต่หากสู้กันจนหมดหน้าตัก สุดท้ายน่าจะอยู่ในสภาพที่ดูไม่จืดทั้งฝั่งแดงและฝั่งน้ำเงิน
ฉากทัศน์ที่ 4 : สีน้ำเงิน ‘ขวาใหม่’ อันทรงพลัง
ต้องไม่ลืมว่า ผลงานในวุฒิสภาในห้วงเวลาเกือบ 1 ปีที่ผ่านมาของ สว.ชุดนี้ คือการปกป้องรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 และปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างสุดหัวใจ ผู้มีอำนาจฝั่ง ‘สีน้ำเงิน’ บางคนให้เหตุผลว่า การที่ต้องขนกันเข้ามา Hack กระบวนการ ก็ด้วยเพราะก่อนหน้านี้ฝั่ง ‘สีส้ม’ ต่างก็มีความพยายาม Hack ระบบนี้ สีน้ำเงินจึงต้อง Hack ในรูปแบบเดียวกัน (สำทับด้วยเงินหลักพันล้าน) เพื่อขวาง สว.สีส้มไม่ให้เข้ามานั่งในวุฒิสภา ปกป้องรัฐธรรมนูญและปกป้องสถาบันฯ ได้สำเร็จในที่สุด
น่าสนใจว่า ฟากพรรคภูมิใจไทยก็เล่นบทเดียวกันนี้ และคอยทำหน้าที่ ‘คานอำนาจ’ ฝั่งรัฐบาลสีแดงได้ดีกว่า ‘พรรคลุง’ อย่างพรรครวมไทยสร้างชาติเสียอีก การประกาศบนเวทีสภาผู้แทนราษฎรของ ไชยชนก ชิดชอบ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย อย่างเสียงดังฟังชัดว่า ‘ไม่เอาคาสิโน’ ยิ่งทำให้ได้ใจฝั่งอนุรักษนิยมบางส่วน จนทำให้ Positioning เดิมของพรรคภูมิใจไทยที่เป็น ‘ปลาไหล’ อยู่ได้ทุกขั้วที่เป็นรัฐบาล เริ่มหนักแน่นขึ้นในการเป็นพรรค ‘ขวาใหม่’ ที่มีจุดยืนชัดเจน และเป็นพรรคอนุรักษนิยมอย่างเต็มกำลัง
เพราะการมี 69 เสียงรวมด้วยเสียง สว.ย่อมหมายความว่า ในที่ประชุมร่วมรัฐสภา กลุ่มนี้จะมีเสียงมากที่สุด หนักแน่นที่สุด มากกว่าพรรคลุง มากกว่าพรรคเพื่อไทย และมากกว่าพรรคส้ม แน่นอนว่า หากเลือกข้างนี้ย่อมมี ‘สปอนเซอร์’ เสริมเข้ามา
และต้องไม่ลืมว่า โจทย์ของการเอา ‘ทักษิณ ชินวัตร’ กลับไทยนั้น มีทฤษฎีสมคบคิดว่า เอามาสู้กับ ‘สีส้ม’ หากทักษิณไม่สามารถสู้ได้และ ‘คุมไม่ได้’ ฝั่งสีน้ำเงินก็พร้อมทำหน้าที่นั้นแทน
เมื่อขวาใหม่ทรงพลัง เป็นระเบียบเรียบร้อยกว่า ซ้ำยังมี ‘ผู้ใหญ่’ หนุนหลัง สามารถจับมือกับบรรดา ‘ข้าราชการ’ ได้อย่างราบรื่น ประเทศนี้ก็จะเป็นของสีน้ำเงินอย่างสมบูรณ์
และเมื่อนั้น คดีฮั้ว สว.ก็จะไม่สามารถทำอะไรได้อีกต่อไป นี่คือความฝันของผู้มีอำนาจฝั่งสีน้ำเงิน