หากกล่าวถึงจักรวาลภาพยนตร์สงครามอวกาศอย่าง Star Wars คำว่า ‘ประชาธิปไตย’ ดูจะเลือนลางในสายตาของชาวบ้านระดับรากหญ้า อย่าว่าแต่จะพูดถึงได้มีกฎหมายที่เอื้อต่อชีวิตความเป็นอยู่ ทว่าใครเถลิงอำนาจขึ้นนั่งบัลลังก์ผู้นำ ประชาชนก็ต้องเออออยินยอมกันไป 

ตัดภาพมาที่ชีวิตจริง ประชาชนชาวไทยอย่างเราๆ ดูจะโชคดี (ในระดับหนึ่ง) ที่กำลังได้มีโอกาสเลือกผู้แทนและผู้นำเป็นของตัวเอง เพื่อมารับใช้และแก้ไขปัญหาต่อจากนี้ไปอีก 4 ปี

อย่างไรก็ดี การจะได้ทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทั้งแบบบัญชีรายชื่อและแบบแบ่งเขต จำเป็นต้องมีกระบวนการ ‘เลือกตั้ง’ คัดเลือกนักการเมืองน้ำดีเข้าสู่รัฐสภา และสัญญาณแจ้งเตือนสำคัญของการเลือกตั้งทุกครั้งก็คือ ‘ป้ายหาเสียง’ ที่ติดตามเสาไฟตั้งแต่ต้นซอยยันท้ายซอย สองฟากถนน จนถึงทางเดินฟุตบาทให้ชินตา เฉกเช่นเดียวกับเลือกตั้งใหญ่ปี 66 ที่กำลังอุบัติ

คำถามสำคัญก็คือ ‘ป้ายหาเสียง’ เหล่านี้มาจากไหน ใครเป็นผู้ผลิต ออกแบบกันอย่างไร เพราะเหตุใดจึงมีป้ายที่ ‘น่าเบื่อ’ และป้ายแบบใหม่อยู่เคียงข้างกัน ทำไมบางป้ายถึงดูเชย ราวกับถอดแบบมาจากป้ายเมื่อ 30 ปีก่อน และทำไมบางป้ายถึงได้ดูทันสมัย โดดเด่นออกมาจากป้ายอื่นๆ

ในความคุ้นชินกลับบันดาลความสงสัยว่า บรรดาป้ายหาเสียงเหล่านี้มาจากไหน ใครเป็นผู้ผลิต เขาออกแบบกันอย่างไรให้มีความน่าสนใจ บางป้ายภาพลักษณ์ผู้สมัครช่างดูเท่น่าเชื่อถือ แต่บางป้ายช่างดูแสนเชยราวกับย้อนไปเมื่อหลายสิบปี ขณะเดียวกันบางป้ายยังถูกลดสัดส่วนให้มีขนาดเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมแสนคับแคบ

เราชวน Hero Print ร้านรับทำป้ายหาเสียงครบวงจรด้วยความไวระดับ ‘ฮีโร่’ ที่เคยรับผลิตป้ายหาเสียงให้แก่พรรคการเมืองระดับแนวหน้า ไม่ว่าจะเป็นเพื่อไทย ประชาธิปัตย์ รวมไทยสร้างชาติ พลังประชารัฐ เสรีรวมไทย ฯลฯ มาเป็นผู้ไขความกระจ่าง พร้อมสาธิตวิธีการผลิตป้ายหาเสียงให้ดูแบบถึงลูกถึงคน 

ช่วงสายวันหนึ่งของเดือนมีนาคม เราเดินทางมาถึงด้านในซอยบางแวก 66 ย่านบางแค พลันพบกับร้าน Hero Print ที่ดูผิวเผินเหมือนอาคารสำนักงานธุรกิจเอกชนทั่วไป ไม่ช้าเราพบกับ เก๋-นพมาศ ธรรมรักษ์ หญิงสาวที่เธอเรียกตัวเองว่า เป็น ‘ซูเปอร์เมเนเจอร์’ รับหน้าที่จัดการตั้งแต่รับบรีฟลูกค้า ดูแลต้นทุนการผลิต แจกแจงงานสู่แผนกต่างๆ จนถึงส่งมอบป้ายหาเสียงแก่ลูกค้าเพื่อนำไปติดตั้ง

“ทำไมถึงชื่อว่าร้าน Hero Print” เราชิงถามด้วยความสงสัยเพราะปกติร้านรับทำป้ายหาเสียง หรือร้านพรินต์ไวนิลทั่วไปมักตั้งชื่อที่จำได้ง่าย เช่น ชื่อคน โดยนพมาศเผยว่า ชื่อร้านมีแรงบันดาลใจมาจากลักษณะการทำงานที่คล่องแคล่ว รวดเร็ว ต่อให้เป็นงานด่วนสั่งทำคืนนี้ เย็นวันถัดไปต้องจบงานก็สามารถเนรมิตให้ได้ คล้ายกับซูเปอร์ฮีโร่ที่แค่พลิกฝ่ามือก็เปลี่ยนเรื่องยากให้กลายเป็นเรื่องง่ายเพียงพริบตา

นพมาศถือโอกาสเล่าต่อว่าร้านก่อตั้งโดย นราพงษ์ วสิฏฐิตานนท์ ซีอีโอหนุ่ม ที่ฉุกคิดไอเดียลงมือเริ่มกิจการตั้งแต่ครั้งเลือกตั้งใหญ่ปี 2562 ทว่าแรกเริ่มเดิมที Hero Print ไม่ได้เกิดจากความตั้งใจ 100% ทีเดียว

“ความจริงก่อนหน้าเรารับจ้างผลิตไวนิล ป้ายแบ็กดร็อปให้แก่หน่วยงานราชการอยู่แล้วในนามบริษัท Far Forward กระทั่งช่วงเลือกตั้งใหญ่ปี 2562 มีพรรคการเมืองติดต่อถามเราเข้ามาว่า ร้านคุณรับทำป้ายหาเสียงได้ไหม ตอนแรกเราก็ตอบปฎิเสธไปว่าไม่ได้รับทำ แต่นานวันเข้าถูกถามคำถามเดิมเรื่อยๆ ผู้ก่อตั้งจึงตัดสินใจลองทำดูสักตั้ง โดยที่วางแผนให้ร้าน Hero Print ไม่ใช่แค่ร้านรับทำป้ายหาเสียงทั่วไป แต่สามารถทำได้ครบวงจร ตีโจทย์ลูกค้า และออกแบบได้ตามสั่ง

“พอทำไปได้สักพักเรารู้แล้วว่าธุรกิจแนวนี้ประสบความสำเร็จ จึงได้ตัดสินใจทำต่อจนถึงคราวเลือกตั้งผู้ว่า กทม. อย่างตอนนี้ที่วนกลับมาเลือกตั้งใหญ่ ก็เริ่มมีลูกค้าเขามาสั่งทำเป็นระยะ เช่น พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย ฯลฯ แต่คาดว่าเมื่อประกาศเบอร์ผู้สมัครน่าจะมาขึ้นกว่านี้เท่าตัว โดยส่วนใหญ่ลูกค้าที่มาเขาก็จะแนะนำกันปากต่อปาก บางรายก็เจอเราตามช่องทางโซเชียลมีเดีย”

ในหัวของผู้เขียนตอนนั้นจินตนาการว่า ร้านรับทำป้ายหาเสียงแห่งนี้คงจะแบ่งสัดส่วนแผนกหลายฝ่าย มีพนักงานฝีมือดีคอยดูแลตามขั้นตอน ทว่าพอได้รับรู้ความจริงแล้วแทบจะสวนทางไปจากสิ่งที่คิดไว้ ทันทีที่นพมาศอธิบายว่า Hero Print มีพนักงานราว 10 คนเท่านั้น

“หลักๆ ที่ร้านจะแบ่งวิธีการทำงานอยู่ 5 แผนก คือ 1. ตัวเก๋เองที่เป็นผู้จัดการคอยรับลูกค้า (หัวเราะ) 2. กราฟิกดีไซน์ 3. แผนกเครื่องพิมพ์ 4. แผนกขึ้นโครง และ 5. แผนกจัดส่ง รวมๆ แล้วถ้าไม่นับแผนกจัดส่งก็มีพนักงานอยู่กันประมาณ 5 – 10 คน

“ขั้นแรกเราที่เป็นด่านหน้าจะต้องคุยรับบรีฟจากลูกค้า เพราะบางรายเขาไม่มีแบบมาให้ เราก็ต้องถามว่าผู้สมัครชื่ออะไร นโยบายคืออะไร และพรรคมี CI (Corporate Identity) แบบไหน ส่วนใหญ่ลูกค้าเขาจะไม่ซีเรียสเรื่องแบบเท่าไร โดยจะซีเรียสเรื่องการสะกดชื่อกับฟอนต์ตัวอักษรเสียมากกว่า อย่างเมื่อเช้าทีมกราฟิกก็เพิ่งจะออกแบบป้ายให้พรรคคลองไทยเสร็จ ซึ่งพรรคเขาก็จะเน้นมาเลยว่าพื้นหลังต้องมีภาพทะเล ภาพเรือ เพื่อสื่อถึงนโยบายพรรคเขาที่ผลักดันเรื่องการสร้างเส้นทางเดินเรือพาณิชย์ 

“หลังจากนั้นก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการพิมพ์สี ตามด้วยขึ้นโครงไม้ และนำขึ้นรถบรรทุกไปจัดส่งถึงมือลูกค้า มีแค่บางกรณีที่เป็นอีเวนต์หาเสียงใหญ่ เราถึงจะมีบริการติดตั้ง เพราะถ้ารับติดตั้งด้วยทั้งหมดเรามีกำลังคนไม่พอ ฉะนั้น ที่เห็นว่าทำเร็ว-ส่งเร็ว จึงต้องวางแผนรัดกุม ลูกค้าต้องแจ้งเราชัดเจนว่าต้องการจำนวนเท่าไร ขนาดประมาณไหน พอรู้เราจะขึ้นโครงไม้รอไว้ก่อน พอป้ายไวนิลพรินต์เสร็จ ตัดวัดขนาดเรียบร้อย ก็พร้อมประกอบร่างทันที”

หลักเกณฑ์ล่าสุดจากคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ในการเลือกตั้งปี 2566 ระบุไว้ชัดเจนว่า การดำเนินติดแผ่นป้ายที่เกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส. ถูกแบ่งออกเป็น 3 ขนาด คือ 

1. ลักษณะแนวตั้งขนาดความกว้างไม่เกิน 30 เซนติเมตร ยาว 42 เซนติเมตร

2. ลักษณะแนวตั้งขนาดความกว้างไม่เกิน 130 เซนติเมตร ยาว 245 เซนติเมตร

3. ลักษณะแนวตั้งขนาดความกว้างไม่เกิน 400 เซนติเมตร ยาว 750 เซนติเมตร (อนุญาตติดตั้งแค่บริเวณหน้าที่ทำการพรรค)

โดยทั้ง 3 ขนาด ต้องระบุชื่อ-นามสกุลที่อยู่ของผู้ว่าจ้างและผู้ผลิต รวมไปถึงจำนวนและวันเดือนปีที่ผลิตที่บริเวณของแผ่นป้ายชัดเจน 

ถึงกระนั้น ช่วงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ที่ผ่านมา เทรนด์ป้ายหาเสียงได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างมาก ยกตัวอย่างกรณีป้ายหาเสียงของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่ปรับความกว้างให้มีขนาดเทียบเท่าเสาไฟ มิหนำซ้ำยังสามารถนำไวนิลไปรีไซเคิลเป็นกระเป๋าผ้าสุดเก๋ (แม้ข้อหลังจะถูกร้องเรียนว่าผิดกฎการเลือกตั้ง) เราจึงอยากรู้ว่าในการเลือกตั้ง 66 เทรนด์จะไปในทิศทางใด

“เราเห็นความเปลี่ยนแปลงเลยนะ พรรคการเมืองหลายพรรคจะไม่สั่งทำป้ายหาเสียงขนาดใหญ่เทอะทะ แต่จะสั่งทำขนาดความกว้าง 60 เซนติเมตร ยาว 120 เซนติเมตร ที่เป็นขนาดเดียวกับป้ายหาเสียงของผู้ว่าฯ ชัชชาติ ไม่ก็เล็กกว่านั้นไปเลย จะได้ติดตั้งตามตรอกซอกซอยได้ง่าย ไม่รบกวนทางสัญจรชาวบ้าน แต่ยังไม่ถึงขั้นเอาป้ายไปรีไซเคิลได้ ถือว่าตอนเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.เป็นจุดเปลี่ยนของเทรนด์ป้ายหาเสียง

“แต่ละพรรคเขาจะตระเวนหาว่าแต่ละร้านรับทำราคาเท่าไร อย่างเราก็จะมีราคาสูงขึ้นมาหน่อยตามต้นทุนการผลิต เพราะเราไม่ได้ซื้อวัสดุมารออยู่แล้ว เราจะซื้อทีละโปรเจกต์เสียมากกว่า อย่างไม้ที่ใช้ขึ้นโครงหรือสีที่ใช้พิมพ์ ก็จะสั่งซื้อยี่ห้อมีมาตรฐาน ส่วนใหญ่พรรคเขาจะมีงบประมาณ 1 แสนบาท เพื่อผลิตครั้งละ 200 ป้าย แต่ถ้าเป็นพรรคใหญ่อย่างเพื่อไทยกับประชาธิปัตย์ก็จะมีงบ 1 แสนขึ้นไป เขาก็จะผลิตครั้งละ 500 ป้ายขึ้นไป 

“ส่วนปลายทาง ถ้าไม่เสร็จคนขับรถซาเล้งก่อน เทศกิจเขาก็จะโทรกลับมาหาเราว่าจะรับป้ายกลับไปไหม เขาจะขายต่อให้ในราคาถูกเผื่อเราจะนำไปใช้ประโยชน์ แต่เราก็จะไม่ได้รับซื้อเพราะป้ายส่วนใหญ่ผ่านฝน ผ่านแดดจนขึ้นราหมด”

บทสนทนาดำเนินไปอย่างออกรสออกชาติ ก่อนที่เราจะย้อนถามถึงบรรยากาศการทำงานของร้าน Hero Print ในช่วงเลือกตั้งปี 2562 ว่าเหน็ดเหนื่อย หรือมีเรื่องราวน่าสนุกตื่นเต้นมากน้อยเพียงใด ในฐานะที่นพมาศเป็นบุคลากรคนสำคัญ ผู้เคียงคู่นับแต่ขวบปีแรกของร้าน

“ตอนนั้นเรายังไม่มีเว็บไซต์มีแค่เบอร์ติดต่อ เวียนหัวเหมือนกันนะ (หัวเราะ) เพราะเราต้องเป็นคนคิดค่าต้นทุนเพื่อแจ้งราคากลับไปหาลูกค้า ซึ่งแต่ละพรรคเขาก็ต้องการจำนวนกับขนาดป้ายต่างกันไป เหตุการณ์ที่จำได้แม่นสุด คือพรรคเสรีรวมไทยของป๋าเสรี (พลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส) ที่เขาสั่งเราผลิตให้ผู้สมัคร ส.ส. หลายเขต เราก็ต้องเร่งทำกันทั้งวันทั้งคืนให้ทัน จนสุดท้ายทำได้ตามเป้าเขาก็กลายมาเป็นลูกค้าประจำ

“พอเป็นที่รู้จักก็มีลูกค้าเขาหา มีครั้งหนึ่งเรารับทำป้ายหาเสียงให้กับลูกค้าที่เป็นผู้สมัครเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ในจังหวัดหนึ่ง เขาให้โจทย์เรามาว่าจะนำป้ายไปติดตั้งบนเรือเพื่อใช้หาเสียงทางน้ำ เราก็ต้องหาวัสดุที่แข็งแรง สีที่โดนน้ำแล้วไม่ตก แล้วเขาต้องการแบบเร่งด่วนสั่งคืนนี้เวลา 2 ทุ่ม พรุ่งนี้เช้าจะเอารถมารอรับ พอเช้าเขาก็เอารถมารอกดดันเราจริง (หัวเราะ) ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ท้าทายดี”

จากภายในออฟฟิศ นพมาศชวนเราออกมาเดินสำรวจแผนกการพิมพ์ ทำให้ได้พบกับ สุรศักดิ์ กาญจนวงศามาศ กระบี่มือหนึ่ง ผู้ควบคุมแผนกการพิมพ์ ที่กำลังสาละวนกับการควบคุมเครื่องพรินต์ โดยโปรเจกต์ที่กำลังดำเนินการอยู่ คืองานผลิตป้ายหาเสียงของผู้สมัครพรรคเพื่อไทย เขตธนบุรี-คลองสาน

สุรศักดิ์อธิบายให้เราฟังว่า แบบการพิมพ์ของที่ร้านจะมีอยู่ 4 ประเภทคือ 

1. งานพิมพ์อิงค์เจ็ตอินดอร์ (Inkjet Indoor Printing) เหมาะสำหรับงานป้ายที่ใช้ติดตั้งตั้งภายในอาคาร โดยหลังพิมพ์เสร็จต้องมีการเคลือบเงาเพื่อยืดอายุการใช้งาน

2. งานพิมพ์อิงค์เจ็ตเอาต์ดอร์ (Inkjet Outdoor Printing) เหมาะสำหรับงานพิมพ์ที่ใช้ภายนอกอาคาร มีความละเอียดน้อยกว่าแบบอินดอร์ แต่ไม่จำเป็นต้องเคลือบเงาหลังการพิมพ์

3. งานพิมพ์อิงค์เจ็ต หมึกยูวี (Inkjet UV Printing) เหมาะสำหรับงานพิมพ์ทั้งแบบในอาคารและนอกอาคาร ทนน้ำทนฝน และมีอายุการใช้งานนานถึง 6 – 18 สัปดาห์

4. งานพิมพ์อิงค์เจ็ต บนผ้า (Inkjet Digital Textile Printing) เหมาะสำหรับงานพิมพ์ทั้งแบบในอาคารและนอกอาคารเช่นกัน ทว่าความทนทานขึ้นอยู่กับชนิดผ้าที่ใช้งาน และจำเป็นต้องเคลือบเคมีให้สีติดบนเนื้อผ้า

โดยแบบที่เรากำลังเห็นผลิตอยู่นั้น คือป้ายหาเสียงแบบงานพิมพ์อิงค์เจ็ต เอาต์ดอร์ ที่ผลิตบนสติ๊กเกอร์พีวีซีทึบแสง (PVC Sticker) ที่มีราคาปานกลาง และได้รับความนิยมในหมู่ผู้สมัครเลือกตั้งมากที่สุด 

ขั้นตอนถัดไปเมื่อได้ป้ายครบเบ็ดเสร็จตามจำนวน คือการเข้าเครื่องรีด ที่ต้องใช้แรงหมุนเพื่อทำให้ป้ายเรียบ สวยงามไม่ยับเป็นคลื่น จากนั้นจึงนำไปวางบนแผ่นตัดกระดาษ ก่อนใช้คัตเตอร์กรีดแยกแต่ละป้ายออกมาอย่างบรรจง โดยขั้นตอนการกรีดจำเป็นต้องมีคนทำงานอย่างน้อย 2 คน คือคนกรีดกับคนช่วยจับ เพราะถ้ามือไม่นิ่งเท่ากับป้ายจะเสียหายทันที

“เราเริ่มเดินเครื่องตอน 8 โมงเช้า จากนั้นก็ตั้งค่าเครื่องไว้เพื่อปล่อยพิมพ์ยาวๆ จนเสร็จ แล้วค่อยนำป้ายไปรีดให้เรียบ ด้านขั้นตอนการตัดก็ไม่ได้ยุ่งยากอะไร ใช้อุปกรณ์แค่ 2 อย่าง คือคัตเตอร์กับไม้บรรทัดเหล็ก แต่คนตัดมือต้องนิ่งไม่เช่นนั้นป้ายจะเบี้ยว” สุรศักดิ์กล่าวกับเรา

หลังกรีดแบ่งเรียบร้อยก็มาถึงขั้นตอนการรวมร่างกับโครงไม้บริเวณลานกลางแจ้ง โดยแผนกนี้รับหน้าที่ดูแลโดย แต๋ม เกตุแก้ว คุณลุงคารมดี ที่ใช้เครื่องยิงตะปูคู่ใจประกอบโครงไม้เสร็จเรียบร้อย พลางปาดเหงื่อที่หยดย้อยเต็มใบหน้า และเมื่อนำโครงกับป้ายที่ได้มารวมร่างกันก็เป็นอันเสร็จพิธี เหลือรถบรรทุกมาขนไปส่ง สรุปสถิติปัจจุบัน Hero Print สามารถผลิตป้ายหาเสียงได้ 500-1,000 ป้ายต่อวัน

นอกจากงานป้ายหาเสียงที่กล่าวมา ร้าน Hero Print ยังรับทำป้ายแบ็กดร็อป ธงประดับเสาไฟ หลอดไฟประดับงานเทศกาล จนถึงซุ้มพิธีการต่างๆ ทั้งแบบพ่นสีธรรมดา หรือฉลุลายไทยวิจิตรสวยงาม ในนามบริษัท Far Forward ยกตัวอย่างซุ้มเฉลิมพระเกียรติที่กระจายอยู่รอบสวนสาธารณะใน กทม. ก็เป็นฝีมือของบริษัท Far Forward เช่นกัน

“ในฐานะประชาชนคนหนึ่งคุณอยากได้นายกฯ แบบไหน” เราถามคำถามสุดท้ายกับนพมาศก่อนที่จะจากกัน ผิวเผินอาจดูเป็นคำถามธรรมดาสามัญ แต่ในก้นบึ้งจิตใจคนไทยต่างเฝ้ารอที่จะให้ประเทศเกิดการเปลี่ยนแปลง ผ่องถ่ายอำนาจการบริหารประเทศไปสู่ทิศทางที่ดีกว่า… เธอใช้เวลาคิดชั่วครู่ก่อนตอบกลับมาว่า

“ก็คงเหมือนประชาชนทุกๆ คนนะ เราอยากได้นายกฯ ที่ดีอยู่แล้ว แต่ในฐานะที่เราทำงานเกี่ยวกับทั้งหน่วยงานราชการ เอกชน และพรรคการเมือง เรามีหน้าที่ในการทำงานให้สำเร็จตามเป้าหมาย ส่วนใครจะได้เป็นนายกฯ เป็น ส.ส. สุดท้ายล้วนขึ้นอยู่กับกระบวนการประชาธิปไตย” นพมาศกล่าวกับเราด้วยรอยยิ้ม 

สำหรับใครที่สนใจอยากใช้บริการของร้าน Hero Print สามารถติดต่อได้ที่เบอร์ 061-918-6524 และที่ไลน์ @heroprintth หรือเรียนรู้เทคนิคการพิมพ์ประเภทต่างๆ ได้ทาง https://www.hero-print.com/ 

ไม่แน่ว่าป้ายหาเสียงที่คุณเห็นผ่านตาทุกเช้าเย็น อาจจะมาจากฝีมือของร้าน Hero Print ก็เป็นได้

Tags: , , , , ,