“เจ้าหน้าที่รัฐ-ตำรวจเรียกรับเงินจากทุนจีน 9.5 ล้านบาท แลกปล่อยตัว”
“ตำรวจเรียกรับเงินผู้ต้องหาคดีพนันออนไลน์ 140 ล้านบาท”
“แฉตำรวจรีดส่วยบ่อนพม่า”
พาดหัวข่าวเหล่านี้กำลังสะท้อนภาพตำรวจไทยอย่างไร?
แน่นอนว่า ธุรกิจข้ามชาติโดยเฉพาะธุรกิจจีนผิดกฎหมายหรือจีนเทา ธุรกิจสถานบันเทิง เว็บพนันออนไลน์ อาบอบนวด บ่อนการพนัน บ่อนวิ่ง โต๊ะบอล ฯลฯ เหล่านี้ล้วนผิดกฎหมาย และการสืบเสาะพฤติการณ์ละเมิดกฎหมาย การจับกุมผู้ทำผิดกฎหมาย ล้วนเป็นหน้าที่ของตำรวจในฐานะด่านหน้าของกระบวนการยุติธรรม
แต่คำถามคือ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ‘ตำรวจ’ ทำหน้าที่ตรงไปตรงมาหรือไม่ ‘ตำรวจ’ เป็นหลักพักพิงยามที่ราษฎรมีปัญหาทุกข์ร้อนได้หรือไม่ โดยเฉพาะในยามที่มีเรื่องร้อนแรงในวงการสีกากี
เป็นต้นว่าเบอร์ 1-2 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติล้วน ‘แฉ’ กันว่า ใครรับเงิน ‘เว็บพนัน’ ขณะที่ ‘ผู้การฯ’ จังหวัดหนึ่งถึงขั้นเคยเขียนเอกสารไปยังผู้ต้องหาคดีเว็บพนันออนไลน์ว่า ‘เป้รักผู้การเท่าไร เป้เขียนมา’ เพื่อรีดทรัพย์กันโต้งๆ
ขณะเดียวกัน ในพื้นที่กรุงเทพฯ สิ่งที่อยู่คู่กับแวดวงตำรวจมาเนิ่นนานคือ การจัดอันดับ ‘สถานีตำรวจ’ ยิ่งอยู่ในพื้นที่ Red Zone มากเท่าไร ยิ่งหมายถึงสถานีตำรวจนั้นเป็นสถานีตำรวจ ‘เกรดเอ’ ที่ใครก็อยากเข้ามา เพราะยิ่งมีผลประโยชน์เทาๆ ดำๆ เยอะ ยิ่งแปลว่าตำรวจเหล่านี้จะมี ‘รายได้พิเศษ’ มี Passive Income เสริมจากเงินเดือนผู้กำกับไปอีกขั้น
เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็ต้องมี ‘ราคา’ ในการเข้าสู่ตำแหน่ง วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และประธานกรรมการยุทธนโยบาย กทม.พรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์กับ The Momentum ว่า จุดสังเกตที่พอระบุว่า สถานีตำรวจแห่งใดเกรด A มีอยู่ 3 จุด
1. เป็นสถานีตำรวจที่ตั้งในพื้นที่ชุกสถานบันเทิง
2. เป็นจุดที่ตั้งของโรงแรมและคอนโดเทล (Condotel)
3. มีชาวต่างชาติอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น
ความเกี่ยวข้องระหว่างสถานีตำรวจกับสถานบันเทิง วิโรจน์อธิบายว่า ด้วย พ.ร.บ.ควบคุมสถานบันเทิงของไทยล้าสมัย เป็นช่องโหว่ให้ตำรวจใช้กฎหมายเล่นงานสถานบันเทิงอย่างไม่เป็นธรรม บีบคั้นให้ผู้ประกอบการ ‘จ่ายส่วย’
“สถานบันเทิงบางแห่งอาจพัวพันธุรกิจสีเทา ทั้งยาเสพติด การค้าประเวณี หรือกิจกรรมอื่นๆ ที่ผิดกฎหมาย เหล่านี้ล้วนหล่อเลี้ยงตำรวจ เขาสามารถเรียกรับผลประโยชน์ได้ และผู้ประกอบการในพื้นที่ก็พร้อมจ่ายเงินให้ตำรวจในเครือข่ายตัวเอง”
ด้านโรงแรมและคอนโดเทล โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ บางแห่งเปิดบริการแบบผิด พ.ร.บ.โรงแรม เช่น กลุ่มบูทีคโฮเทล โรงแรมขนาดเล็กที่ดัดแปลงจากคอนโดมิเนียม และตำรวจมักใช้ช่องโหว่นี้รีดไถเงินผู้ประกอบการ
ที่สำคัญ พื้นที่นิยมของชาวต่างชาติ เช่น กลุ่มแรงงานข้ามชาติ อาจเป็นพื้นที่ที่มีการค้ามนุษย์ และลักลอบเข้าเมืองแบบผิดกฎหมาย โดยมากจะผ่านนายทุนจ่ายส่วยป้องกันการจับกุม หากพื้นที่ใดมีแรงงานข้ามชาติจำนวนมากอาจมีความเสี่ยง วิโรจน์ยกตัวอย่าง สถานีตำรวจนครบาลห้วยขวางที่เข้าหลักเกณฑ์ทั้ง 3 หลักเกณฑ์ ตั้งแต่สถานบันเทิง โรงแรม และแหล่งชาวต่างชาติ
มีการซื้อขายตำแหน่งใน สน.เกรด A จริงหรือ?
วิโรจน์ระบุว่า ตำรวจภายใน สน.เกรด A มักมาจากการซื้อขายตำแหน่ง เนื่องจากผู้กำกับบางส่วนมาจากระบบอุปถัมภ์ ลำพังรับเงินเดือนข้าราชการปกติอาจไม่เพียงพอต่อการดำเนินชีวิต การเก็บส่วยจากสิ่งผิดกฎหมายในพื้นที่จึงเป็นอีกวิธีหนึ่ง
วิโรจน์เปรียบเปรยว่า พฤติการณ์เก็บส่วยกลุ่มธุรกิจสีเทาเท่ากับตำรวจขายวิญญาณ ทำสัญญากับซาตาน เพราะรับเงินกับผู้มีอิทธิพลหรือมาเฟีย ใช้เงินซื้อตำแหน่ง เมื่อขึ้นสู่ตำแหน่งแล้วจึงกลับมาเป็นสมุนรับใช้มาเฟียข้ามชาติอีกทอด
“เพราะผู้มีอิทธิพลเขาก็อยากมีมือเป็นตำรวจ หรือเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง
“ในพื้นที่แต่ละ สน.มีตำรวจที่เรียกว่า ‘แม่บ้าน’ เหมือนเป็นตำรวจชั้นประทวน หรือนายดาบที่รู้ว่าแหล่งธุรกิจผิดกฎหมายอยู่ตรงไหน บ่อน แรงงานข้ามชาติ สถานบันเทิงอยู่ตรอกซอก ซอยไหน แล้วแม่บ้านเหล่านี้จะคอยขี่มอเตอร์ไซค์ไปรีดไถเรียกรับผลประโยชน์ รายใดไม่ยินยอมให้ประโยชน์ พูดง่ายๆ คือไม่ยอมจ่าย เช่น โรงแรม จะถูกบังคับใช้กฎหมาย สถานบันเทิงไหนไม่จ่ายก็จะมาวนเวียนและหาข้อหาให้ จับผิดว่าเปิดเกินเวลาไหม” วิโรจน์ให้สัมภาษณ์
ส่วนตำรวจ สน.เกรดอื่นๆ เช่น B C D มักเป็นโซนบ้านพักอาศัย ซึ่งไม่มีแหล่งเรียกรับผลประโยชน์ อาจรู้สึกว่าตนไม่ได้รับการสนับสนุน ค่าใช้จ่ายบางส่วน เช่น น้ำหมึก เครื่องพรินเตอร์ แม้กระดาษ A4 ต้องควักกระเป๋าจ่ายกันเอง กระทั่งบางคนค่าน้ำมันรถสำหรับตรวจตราพื้นที่ยังเบิกได้ไม่ครบ เป็นสาเหตุให้ตำรวจชั้นผู้น้อยไม่พึงใจที่อยู่ในสถานีตำรวจระดับดังกล่าว สุดท้ายต้องวิ่งเต้นมาอยู่ใน สน.เกรด A
‘เงินเทา’ เข้ากระเป๋าใคร
วิโรจน์ระบุว่า แม้เงินเดือนของตำรวจเทียบเท่ากันในทุก สน. ทว่าเมื่อมีการเรียกรับผลประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย เงินที่ได้จะกลายเป็นรายรับของตำรวจใน สน.บวกกับเงินเดือนที่มีอยู่แล้ว วิโรจน์มองว่า เป็นปัญหาใหญ่ บางคนเขาถามว่า ทำไมไม่ขึ้นเงินเดือนให้ตำรวจอยู่ได้ ถ้าดูเงินเดือนระดับผู้กำกับการตำรวจ หลักประมาณสัก 4-5 หมื่นบาท หากเป็น สน.เกรด A ผู้กำกับการตำรวจอาจได้เงินระดับล้าน
“จะขึ้นอย่างไร” วิโรจน์ถาม
สำนักงานตำรวจรู้แต่เงียบเพราะได้ประโยชน์?
วิโรจน์ระบุว่า สน.เกรด A เป็นปัญหาที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติรับรู้อยู่แล้ว แต่กลับนิ่งเฉยไร้การดำเนินการ สะท้อนว่าระดับตัวใหญ่ในส่วนกลางอาจได้รับผลประโยชน์ด้วย
อดีต สน.เกรด A ไม่ใช่แหล่งเงินเทา
พลตำรวจตรี วิชัย สังข์ประไพ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ให้ข้อมูลว่า ในอดีต คำว่า สน.เกรด A ไม่ได้มีความหมายถึงโรงพักที่มีแนวโน้มเรียกรับผลประโยชน์ จากกลุ่มธุรกิจสีเทาหรือสิ่งผิดกฎหมายในพื้นที่ แต่หมายถึงโรงพักที่เหมาะกับการสร้างผลงานแก่ตำรวจทุกตำแหน่ง สร้างตำรวจที่ดีและมีผลงานสู่สังคม ตำรวจที่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในโรงพักดังกล่าวมีโอกาสเติบโตในหน้าการงาน
แต่ในปัจจุบัน ตำรวจไม่ได้มีความคิดถึงความก้าวหน้า เนื่องจากมีระบบการซื้อตำแหน่ง ส่วนหนึ่งจึงมองว่า เขาสามารถอยู่ตรงไหนก็ได้ที่มีผลประโยชน์ สุดท้าย ตำรวจจึงไม่ได้เอาหัวใจของประชาชนมาทำงาน
“ตำรวจบางคนข้างบนเขาส่งลงมา แต่ทำอะไรไม่เป็น ทำอะไรไม่ถูก บางทีก็มาเพื่อผลประโยชน์อย่างเดียว ต้องไปดูแลนาย นายก็ให้อยู่ในที่ดีๆ
“สมัยผมเป็นผู้การ หลายคนเวลามีคดีสำคัญ ฝ่ายสืบสวนเวลามีเหตุฆ่ากันตาย เขาทำอะไรไม่ถูก เพราะตัวเองไม่เคยมา มาเพราะได้รับการแต่งตั้งให้มา มาเพราะวิ่งเต้นเข้ามา ยังไม่รู้เลยว่า จะรักษาสถานที่เกิดเหตุอย่างไร เก็บพยานหลักฐานในที่เกิดเหตุอย่างไร ยังทำไม่เป็นเลย เราเป็นผู้การ เรายังต้องไปทำเสียเอง” พลตำรวจตรีวิชัยเล่า
The Momentum เปิดรายชื่อ สน.เกรด A ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยรวบรวมจากคำบอกเล่าของสื่อมวลชน นักการเมือง และผู้คนที่อยู่ในแวดวงสีกากีว่าบรรดา สน.เกรด A เหล่านี้ ตั้งอยู่ในพื้นที่ใดบ้าง
สน.ทองหล่อ
สถานีตำรวจนครบาลทองหล่อ ตั้งอยู่ริมถนนทองหล่อ แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ (โซนกรุงเทพใต้) ทองหล่อจัดเป็นพื้นที่พักอาศัยและย่านธุรกิจ อาคารห้างร้านทั้งโรงแรม ห้างสรรพสินค้า สถานบริการอาบอบนวด รวมถึงบาร์จำนวนมากตั้งอยู่ในพื้นที่ ขณะเดียวกันก็มีบ้านหรูของบรรดา ‘ชนชั้นนำ’ และ ‘อีลิต’ ตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก
หากจำกันได้ พื้นที่ สน.ทองหล่อ คือพื้นที่เกิดเหตุรถ ‘เฟอร์รารี’ ของลูกนักธุรกิจคนดังขับรถชนตำรวจเสียชีวิตและลากไปอีกไกล เรื่องดังกล่าวตามมาด้วยความพยายาม ‘เปลี่ยนตัว’ คนขับรถ เปลี่ยนเลขความเร็วรถ และพยายามรื้อฟื้นคดีใหม่ ให้ลูกนักธุรกิจดังหลุดคดี
สน.ลุมพินี
สถานีตำรวจนครบาลลุมพินี ตั้งอยู่ติดถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน นับเป็นทำเลทองสำหรับย่านนี้ เนื่องจากอยู่ติดกับย่านธุรกิจและแหล่งท่องเที่ยว ทั้งบริเวณถนนสีลม และบริเวณถนนสุขุมวิท ไปจนกระทั่งย่านเพลินจิต ผับ บาร์ อาบอบนวด โรงแรม ที่ให้บริการชาวต่างชาติ จึงกระจุกอยู่ในเขตลุมพินีจำนวนมาก ส่งผลให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ตำรวจหลายนายจับจ้องที่จะเข้ามาเป็นเบอร์หนึ่ง
สน.บางรัก
สถานีตำรวจนครบาลบางรัก ตั้งอยู่ตรงกลางระหว่างถนนสี่พระยาและถนนสุรวงศ์ โดยพื้นที่ดังกล่าวอยู่ใกล้กับแหล่งการค้าสำคัญหลายแห่ง ธุรกิจโดยรอบมีทั้งโรงแรม ร้านนวด และบาร์ รวมทั้งยังมีบ่อนการพนันอีกหลายแห่ง โดยเป็นข่าวครึกโครมไม่นานมานี้ ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาปรากฏเป็นข่าวและคลิปอยู่ที่บริเวณซอยมเหสักข์ 3
อย่างไรก็ตาม ตำรวจ สน.บางรักยืนยันว่า ไม่เจอบ่อนการพนันใดๆ และบางรัก มีแต่ ‘ความรัก’ เท่านั้น
สน.ห้วยขวาง
เป็นที่ทราบกันดีว่า พื้นที่ห้วยขวางเป็นแหล่งธุรกิจของชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวจีนที่เข้ามาจับจองพื้นที่ริมสองฝั่งถนน นอกจากกลุ่มธุรกิจของชาวจีนในพื้นที่ ห้วยขวางยังเต็มไปด้วยแหล่งผับ บาร์ อาบอบนวด บ่อนการพนัน รวมถึงโรงแรมกระจายอยู่ภายในเขต
ในปี 2560 สำนักข่าวไทยพีบีเอสเปิดผลสำรวจโรงพักที่ตำรวจอยากทำงานมากที่สุด 50 อันดับ โดยอันดับที่ 3 คือ สน.ห้วยขวาง ตามมาด้วย สน.วังทองหลาง และ สน.บางรัก
Tags: ทองหล่อ, ลุมพินี, กฎหมาย, ผิดกฎหมาย, ตำรวจ, ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์, บางรัก, คนข้ามชาติ, สถานีตำรวจ, ค้ามนุษย์, กรุงเทพ, ห้วยขวาง, สน.เกรด A, Feature, ธุรกิจจีนสีเทา