หนึ่งในวัฒนธรรมที่น่าสนใจและโดดเด่นของประเทศญี่ปุ่น ย่อมมีการ ‘คอสเพลย์’ (Cosplay) รวมอยู่ด้วยแน่นอน จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่มีผู้ชื่นชอบแต่งกายเลียนแบบตัวละครแอนิเมชันหรือคาแรกเตอร์ในเกมออนไลน์ ขยับขยายเผยแพร่ไปต่างแดน กลมกลืนเข้ากับอัตลักษณ์ของชาตินั้นๆ กระทั่งเป็นที่นิยมไม่ต่างจากแฟชั่นวีกระดับโลก 

เช่นเดียวกับในประเทศไทย เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน-2 กรกฎาคม 2566 บริษัท โชว์ไร้ขีด จำกัด จัดงาน ‘Cosplay Art Festival 2023’ (CAF 2023) งานมหกรรมคอสเพลย์ครั้งยิ่งใหญ่ ณ หอศิลป์แห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ที่รวมเหล่าบรรดาคอสเพลเยอร์ (Cosplayer) หลากสไตล์มาอวดโฉม ไม่ว่าจะมาสก์ไรเดอร์ ขบวนการเซนไตห้าสี เซเลอร์มูน สไปเดอร์แมน วันพีซ ฯลฯ 

แน่นอนว่าเครื่องแต่งกายหัวจรดเท้าของคอสเพลเยอร์ส่วนใหญ่เลือกที่จะตัดเย็บด้วยมือตนเอง เพื่อให้ได้รายละเอียดความเหมือนคาแรกเตอร์ที่สวมบทบาททุกกระเบียดนิ้ว ดังนั้น ความสำคัญของการคอสเพลย์จึงไม่ใช่แค่การแต่งกายเอาเท่ เนี้ยบ แปลกแหวกแนว หรืออลังการเสียทีเดียว แต่อีกนัยหนึ่งคือการฝึกความอดทน ทั้งในแง่ของทุนทรัพย์หรือระยะเวลารังสรรค์ชุดที่มีจำกัด รวมถึงสิ่งสำคัญที่สุดที่คอสเพลเยอร์ทุกคนต้องมีคือ ‘ใจรัก’ นับว่ามีคุณค่าไม่ต่างจากงานศิลปะชิ้นหนึ่ง 

ไฮไลต์ภายในงาน CAF 2023 อยู่ที่บริเวณ Main Stage ซึ่งมีการจัดประกวดทั้งสิ้น 11 รางวัล มูลค่าสูงสุด 1 หมื่นบาท และที่น่าสนใจคือสาขา Thai Mix & Match ที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมนำวัสดุผ้าไทยมาประยุกต์เข้ากับชุด โดยกรรมการมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ผู้คอสเพลย์เป็น Adiris The Plague ฆาตกรสุดโหดจากเกม Dead by Daylight ชนะเลิศอันดับหนึ่ง สำหรับเกณฑ์การให้คะแนน คือความเหมือนของชุด 40% ลีลาการแสดง 30% คุณภาพของชุด 20% และเทคนิคการนำเสนอ 10% 

อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจ คือการที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (Department of Cultural Promotion) ร่วมลงนามกับบริษัท โชว์ไร้ขีด จำกัด เพื่อบันทึกความเข้าใจในแง่ของมิติอุตสาหกรรมเกมและคอสเพลย์ ที่มีอัตราการเติบโตตลอด 15 ปีที่ผ่านมา 

พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท โชว์ไร้ขีด จำกัด กล่าวถึงจุดประสงค์ของการจัดงาน CAF 2023 ว่า คอสเพลย์คืองานฝีมือ (Craftsmanship) ของบรรดาผู้มีใจรักและหลงใหลภาพยนตร์ การ์ตูน แอนิเมชัน และเกม นี่จึงเป็นเหตุผลให้เราตั้งชื่องาน Cosplay Art Festival หรือชื่อย่อ CAF (คาฟ) เพื่อให้สอดคล้องกับจุดประสงค์ที่ว่ามา

“งานนี้ถือเป็นการ Cross Culture ให้เยาวชนได้เรียนรู้วัฒนธรรมโลกผ่านการคอสเพลย์ ขณะเดียวกัน หากมองเป็นเรื่องของธุรกิจ เด็กๆ เหล่านี้ ก็จะโตกลายมาเป็นผู้ใหญ่ที่สามารถพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ให้กลายเป็นอาชีพที่สร้างรายได้อย่างแท้จริง” 

นอกจากนี้ งานคอสเพลย์ดังกล่าวยังเปิดพื้นที่ให้มีการขายสินค้าคราฟต์ทำมือ ทั้งหมวก โฟโต้การ์ด วอลเปเปอร์ ชุดคอสเพลย์ หน้ากาก หมวกไหมพรม และนานาของจิปาถะ รวมไปถึงกิจกรรมบอร์ดเกมเชื่อมสัมพันธไมตรี

น่าสนใจว่า อุตสาหกรรมคอสเพลย์ในบ้านเราจะไปได้ไกลถึงจุดไหน ทั้งในแง่ของการสร้างอัตลักษณ์เป็นของตนเอง การแยกตัวเปนเอกเทศจากวงการเกม รวมไปถึงการทลายภาพจำว่า คอสเพลย์เป็นเครื่องมือยั่วยวนเพศ ต้องยึดหลัก Beauty Standard หรือแม้แต่จำกัดเพศสภาพ

อย่างไรก็ดี สิ่งที่พิสูจน์ให้เป็นที่ประจักษ์ในวันนี้ คือมีเหล่าคนรุ่นใหม่ที่จริงจังกับการคอสเพลย์อยู่มากมาย และมีความฝันว่า สิ่งที่พวกเขารักสักวันจะแปรเปลี่ยนจาก ‘งานอดิเรก’ สู่ ‘อาชีพ’ ที่สามารถเลี้ยงปากท้องได้สง่าผ่าเผย ขณะเดียวกัน ประเทศไทยจะกลายเป็นจุดศูนย์กลางของนักคอสเพลย์ ทั้งในระดับอาเซียนและระดับโลกได้อย่างไม่เคอะเขิน 

 

Tags: , , , ,