“มีการประมาณว่าช่วงปี 2050 กรุงเทพฯ จะจมน้ำมองไม่เห็นเมือง แต่ผมไม่เห็นคนกรุงเทพฯ เดือดร้อนเลย พูดอย่างนี้อาจจะเวอร์ แต่มันมีปัญหาอื่นในประเทศที่ทำให้เราไม่สนใจเรื่องที่ใกล้ตัว เราสนใจเรื่องการเมือง รัฐบาลจับประชาชนเข้าคุก ปัญหาปากท้อง เศรษฐกิจไม่ดีแก้ปัญหาอะไรไมได้ เพราะเป็นปัญหาใกล้ตัวที่ทำให้เราไม่เห็นปัญหาใกล้ตัวอีกอันที่ใกล้มาก เช่น บ้านคุณกำลังจะจมผมเป็นคนมองโลกในแง่ร้ายและสิ่งร้ายๆ ทั้งหลายกำลังจะเกิดขึ้นแต่เราไม่สนใจเลย” ศ.ดร.นิติ ภวัครพันธุ์ กล่าว
หลายคนคงคุ้นเคยกับคำว่า ‘Climate Change’ หรือการแปรเปลี่ยนของภูมิอากาศเป็นอย่างดี ซึ่งช่วงที่ผ่านมามีการนำแนวคิดมนุษยสมัย (Anthropocene) เข้ามาใช้อธิบายการแปรเปลี่ยนของภูมิอากาศ โดยแนวคิดนี้หมายถึงช่วงเวลาหรือยุคสมัยที่โลกเกิดการเปลี่ยนแปลงจากฝีมือมนุษย์ หากพูดในแง่ลบ Anthropocene เป็นแนวคิดที่มนุษย์เริ่มทำลายสิ่งแวดล้อมและสภาพอากาศของตัวเอง
ภายหลังแนวคิด Anthropocene ถูกนำมาใช้ในการปลูกจิตสำนึกรักษ์โลก และกระตุ้นให้ทุกคนหันมาสนใจปัญหาภาวะโลกร้อน จนกลายเป็นวาทกรรมรักษ์โลกมากมายที่ต้องรับผิดชอบร่วมกันเพราะทุกคนล้วนทำลายโลก
คำถามคือทุกคนมีส่วนทำลายโลกเท่ากันหรือไม่?
ยกตัวอย่าง ภาคพลังงานเป็นอุตสาหกรรมที่มีปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงถึง 70-80 เปอร์เซ็นต์ และมีบริษัทเพียงหยิบมือเท่านั้นที่ผูกขาดเรื่องพลังงานทั้งในระดับโลกและในระดับประเทศ หรือกลุ่มคนรายได้น้อยที่เมื่ออากาศร้อนต้องเปิดพัดลมนอน แต่คนรวยสามารถเปิดเครื่องปรับอากาศได้ทั้งวัน คนสองกลุ่มนี้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เท่ากันไหม?
คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) เปิดเผยว่ากลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ภาวะโลกร้อนมากที่สุดคือคนจน เนื่องจากมีความสามารถในการรับมือผลกระทบน้อยที่สุด จนนักวิชาการหลายท่านเรียกความไม่เท่าเทียมนี้ว่า Climate wars หรือสงครามระหว่างคนยากคนจนกับกลุ่มอภิมหาทุนขนาดใหญ่ ดังนั้น ควรมีมาตรการอะไรที่สามารถสร้างสมดุลให้กับความเหลื่อมล้ำเหล่านี้ได้บ้าง และควรชดเชยกลุ่มเปราะบางอย่างไร หรือกลุ่มทุนใหญ่ควรเสียภาษีเพิ่มหรือไม่?
คำถามเหล่านี้นำมาสู่ข้อถกเถียงในประเด็น Climate Justice หรือการศึกษาความไม่เท่าเทียม ความไม่เป็นธรรม และการเอารัดเอาเปรียบระหว่างประเทศมหาอำนาจกับประเทศยากจน จนเกิดช่องว่างทางเศรษฐกิจและการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ต่างกัน เป็นผลพวงจากการใช้ทรัพยากรของประเทศที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจ และกระบวนการผลิตสินค้าที่สร้างกำไรให้กับบริษัทข้ามชาติ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการผลิตในระบบอุตสาหกรรมที่ทำให้ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปรวดเร็วในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 ในขณะที่กลุ่มประเทศยากจนไม่ได้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจแต่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ โรคระบาด ความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ และมลพิษหลากหลายรูปแบบ สิ่งเหล่านี้คือความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับทิศทางการพัฒนาระบบทุนนิยมและลัทธิจักรวรรดินิยม
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์กรมหาชน) จัดงานประชุมวิชาการมานุษยวิทยา 65 เนื่องในโอกาส 30 ปีก้าวสู่ทศวรรษที่ 4 ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ในหัวข้อ ‘วิธีวิทยาทะลุกรอบ: Emerging Methodologies’ ซึ่ง The Momentum ได้สรุปเสวนาบางส่วนจากหัวข้อ ‘Anthropocene and Climate Justice: มนุษยสมัยกับความเป็นธรรมทางนิเวศ’ ไว้ดังนี้
Anthropocene and Climate Justice คืออะไร?
ดร.ตรงใจ หุตางกูร เริ่มต้นการเสวนาด้วยคำนิยาม Anthropocene and Climate Justice ว่าเป็นการเรียกร้องความเท่าเทียมของผู้เสียโอกาสที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ หรือความเท่าเทียมทางอากาศ พร้อมกับตั้งคำถามว่าทำไมถึงต้องเรียกร้อง และเกิดความไม่เท่าเทียมอย่างไร ผ่านการนำเสนอใน 5 หัวข้อคือ 1. การแปรเปลี่ยนของภูมิอากาศ ทำไมต้องกังวลถึงการเปลี่ยนแปลงของโลก 2. Anthropocene ยุคที่มนุษย์เริ่มทำลายสิ่งแวดล้อมและทำให้โลกร้อนขึ้น 3. สภาพอากาศแบบ Anthropocene เป็นอย่างไร แตกต่างจากภูมิอากาศทั่วไปหรือไม่ 4. ผู้ลี้ภัยภูมิอากาศ (Climate refugees) และ 5. ความเท่าเทียมในการรับมือภัยภูมิอากาศ
ดร.ตรงใจกล่าวว่า ยุค Anthropocene ที่เห็นได้ชัดคือช่วงเวลาของการปฏิวัติอุตสาหกรรมเพราะมีปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์พุ่งสูงและมีแนวโน้มพุ่งทะยานสูงขึ้นเรื่อยๆ โดย พอล เจ. ครัตเซน (Paul J. Crutzen) เป็นผู้สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ และได้เสนอแนวคิดว่าทั่วโลกได้เข้าสู่ยุค Anthropocence
“ยุค Anthropocence คือยุคสมัยที่มนุษย์เริ่มมีบทบาทการครอบครองโลก หากพูดในแง่ลบคือมนุษย์เริ่มทำลายสิ่งแวดล้อม ทำลายบรรยากาศ และสภาพแวดล้อมของตัวเอง”
แต่ข้อเสนอดังกล่าวยังเป็นที่ถกเถียงเพราะทางธรณีวิทยายังไม่ยอมรับแนวคิดนี้ เนื่องจากมีระยะเวลาที่สั้นเกินไปและไม่มีนัยสำคัญที่จะเปลี่ยนยุคสมัยทางธรณีวิทยา เพราะปกติแล้วทางธรณีวิทยาจะพิจารณายุคสมัยที่กว้างๆ เช่นการสูญพันธุ์ของสัตว์
“อีกสิ่งที่มาคู่กับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์คือก๊าซมีเทน และตัวผลิตก๊าซมีเทนชั้นดีคือการทำปศุสัตว์ การเลี้ยงสัตว์ต่างๆ แน่นอนว่าการเกษตรตั้งแต่โบราณเริ่มรู้จักการเลี้ยงสัตว์แล้ว จึงมีการผลิตมีเทนแบบอ่อนๆ แต่ปัจจุบันเรามีอุตสาหกรรมปศุสัตว์ ที่แต่ละโรงงานปล่อยก๊าซมีเทนกันมากมาย แม้ว่ามนุษย์จะมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ผ่านการหายใจเข้าออกเป็นเรื่องปกติ แต่มันเริ่มไม่ปกติเมื่อมนุษย์เริ่มรู้จักการทำอุตสาหกรรม การเผาไหม้เครื่องจักรต่างๆ ผ่านโรงงานอุตสาหกรรม พวกนี้ใช้พลังงานมากและก่อให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์สูง”
นอกจากนี้ ยังไม่รวมการผลิตนิวเคลียร์ที่ถูกพิสูจน์แล้วว่าทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น หรือการเพิ่มวัสดุคอนกรีตและทิ้งไว้ตามพื้นดิน และการสร้างพลาสติกช่วงเวลาที่ผ่านมามีการพูดถึงไมโครพลาสติกอย่างกว้างขวางที่ตรวจพบในเลือดคนและสัตว์น้ำ เหล่านี้ถือเป็นเรื่องน่ากลัวเป็นอย่างมาก และนี่คือผลพวงของ Anthropocene
ปัจจุบันมีการพูดถึงทฤษฎี Anthropocene หลากหลายทฤษฎีว่าเริ่มจากช่วงไหน เช่นทฤษฎีที่เสนอว่า Anthropocene เริ่มต้นตั้งแต่การเพิ่มขึ้นของทุกอย่างจากน้ำมือมนุษย์ เช่น เริ่มพัฒนาเมือง ทำให้เกิดการบริโภคเพิ่มขึ้น ความต้องการสร้างผลผลิตมากขึ้น มีการใช้ทรัพยากรมากขึ้น เกิดมลภาวะมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรม การทดลองอาวุธนิวเคลียร์ หรือแม้แต่สารเคมีตกค้างที่ธรรมชาติไม่สามารถสร้างได้ ดังนั้นการตกค้างของสารเคมีจึงเป็นข้อบ่งชี้ถึงยุค Anthropocene หรือทฤษฎีที่กล่าวว่าการเข้าสู่ยุค Anthropocene เริ่มตรงจุดที่โลกเก่าและโลกใหม่มาเจอกันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระดับโลก เกิดการสูญพันธุ์หลายอย่าง และมีประชากรมนุษย์ตายไปกว่า 50 ล้านคน
“มีคนเขียนไว้ว่าช่วงที่คนยุโรปเข้าไปตั้งถิ่นฐานในทวีปอเมริกาและไปรุกรานคนท้องถิ่นจนเสียชีวิตไปกว่า 50 ล้านคน การที่มนุษย์สูญสิ้นไปในระยะเวลาหนึ่งทำให้ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ นั่นหมายความว่าเป็นไปได้ว่าประชากรที่ตายไปแล้ว ไม่มีการทำเกษตรเพิ่มมีการลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ลง แต่เมื่อทุกอย่างกลับมาสู่ปกติปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ก็เพิ่มขึ้นสูงเหมือนเดิม”
แนวคิด Anthropocene จึงกลายเป็นที่สนใจของนักสังคมมานุษยวิทยา และมานุษยวิทยาเป็นอย่างมาก จนถูกนำมาใช้ในเชิงปลุกจิตสำนึกการรักษ์โลก ให้รักดูแลรักษาโลกผ่านการกระตุ้นให้ทุกคนหันมาสนใจภาวะโลกร้อนที่ส่งผลกระทบต่อทุกคนบนโลก ดังนั้น Anthropocene จึงเป็นเครื่องมือทะลุกรอบ ที่นำวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์มาเชื่อมกันโดยมีจุดมุ่งหมายเดียวคือเรื่องการธำรงรักษาโลกให้อยู่ต่อไป และให้มนุษย์สามารถมีชีวิตอยู่ได้แม้ว่าจะมีสภาพแวดล้อมที่เริ่มเปลี่ยน หรือสามารถทำให้การเปลี่ยนแปลงเกิดช้าลง หรือสามารถบรรเทาฟื้นฟูสภาพแวดล้อมได้หรือไม่ ประเด็นเหล่านี้นำไปสู่สิทธิของผู้ลี้ภัย และความเท่าเทียม
เพราะการประสบภัยภูมิอากาศนั้นเกิดขึ้นจริงและส่งผลกระทบเป็นอย่างมาก บางพื้นที่ประชาชนไม่สามารถอยู่ในพื้นที่เหล่านี้ได้อีกต่อไป จนนำไปสู่การลี้ภัยไปต่างประเทศหรือความเท่าเทียม แต่หากย้ายไปอยู่ในประเทศที่ไม่มีกฎหมายอะไรสนับสนุน แล้วความเท่าเทียมและความยุติธรรมจะอยู่ตรงไหน?
“จริงๆ แล้วการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศคือต้นตอของปัญหาทุกด้านของสังคมมนุษย์เช่น ระยะทางอาหาร (Foods miles) ก็เป็นอีกหนึ่งความคิดที่สร้างมลพิษหรือสภาวะทางอากาศเพราะเกี่ยวข้องกับการขนส่งทางอาหาร ดังนั้นการขนส่งแต่ละครั้งย่อมสร้างมลพิษ ดังนั้นจึงเป็นประเด็นว่าเราจะมีมาตรการอะไรบ้างที่สร้างความสมดุลบางอย่างให้กับสิ่งที่สูญเสียไปแล้ว หรือผลักดันให้เกิดการเยียวยา นี่จึงเป็นเรื่องความเท่าเทียมในการรับมือภัยพิบัติภูมิอากาศ”
ดร.ตรงใจชี้ให้เห็นความสำคัญ 2 หลักที่อยากเน้นย้ำคือ 1. ผลกระทบทางอากาศ และ 2. ความเท่าเทียมทางสังคม ซึ่งความเท่าเทียมสามารถเป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อมได้
“ตัวอย่างความไม่เป็นธรรมอย่างหนึ่งในหน้าร้อนคือ คนมีรายได้น้อยเปิดพัดลมนอน นอนก็ไม่ค่อยหลับเพราะเงินน้อย คนรวยเปิดแอร์นอน ถ้ามองคร่าวๆ หลายคนคงมองเป็นเรื่องรายได้ไม่เกี่ยวอะไรกับภูมิอากาศ แต่นี่คือเรื่องตรงๆ เพราะโลกเราร้อนขึ้นมันเลยเกิดความเหลื่อมล้ำเหล่านี้ ดังนั้นเราควรจะชดเชยอย่างไร คนเปิดแอร์นอนควรเสียภาษีมากกว่าไหม เพื่อเยียวยาเรื่องการใช้คาร์บอนมากขึ้น นี่คือความพยายามที่จะสร้างอะไรบางอย่างที่เป็นกรอบความยุติธรรมให้กับความเหลื่อมล้ำเหล่านี้”
ประเทศไทยมีปัญหามากมาย จนทำให้เรื่องสิ่งแวดล้อมอยู่ไกลตัว
“มีการประมาณว่าช่วงปี 2050 กรุงเทพฯ จะจมน้ำมองไม่เห็นเมือง แต่ผมไม่เห็นคนกรุงเทพฯ เดือดร้อนเลย พูดอย่างนี้อาจจะเวอร์ แต่มันมีปัญหาอื่นในประเทศที่ทำให้เราไม่สนใจเรื่องที่ใกล้ตัว เราสนใจเรื่องการเมือง รัฐบาลจับประชาชนเข้าคุก การประท้วง ปัญหาปากท้อง เศรษฐกิจไม่ดีแก้ปัญหาอะไรไมได้ เพราะฉะนั้นมันเป็นปัญหาใกล้ตัวที่ทำให้เราไม่เห็นปัญหาใกล้ตัวอีกอันที่ใกล้มาก บ้านคุณทุกคนกำลังจะจม ผมคงอยู่ไม่ถึงตายก่อนโชคดีไป พวกท่านยังสาวๆ เจอแน่ ประเด็นที่ผมจะพูดคือ ผมเป็นคนมองโลกแง่ร้ายและสิ่งร้ายๆ ทั้งหลายกำลังจะเกิดขึ้นแต่เราไม่สนใจเลย
อย่างที่บอกคนไทยเจอปัญหาเยอะเกินเป็นปัญหาที่ใหญ่มากและกระทบทุกคนและนี่เป็นปัญหาระดับโลกที่ไม่ใช่แค่กรุงเทพฯ ทุกอยางมันเชื่อมกันหมดเลย Antropocene มันฉิบหายมากไม่ใช่ว่าเกิดน้ำท่วมที่บังกลาเทศแล้วจะไม่กระทบเรา สิ่งที่เรียกว่า climate change ไม่ได้ส่งผลกระทบแค่เชิงกายภาพ มันส่งผลถึงการมีชีวิตของเรา ไม่ว่าจะเป็นการกินอาหาร ระบบต่างๆ ในสังคมจะเปลี่ยนไป เช่นคุณทำงานหนักมากขึ้นแต่ได้เงินน้อยลง คุณภาพชีวิตแย่ลง และสารพัดปัญหาอีกเยอะมาก” ศ.ดร.นิติกล่าว
ขณะที่ ดร.กฤษฎา บุญชัย ได้ให้ความเห็นเรื่องนี้เพิ่มเติมว่า “มีคนจำนวนมหาศาลทั่วโลกกำลังเดือดร้อน แต่มีคนจำนวนไม่กี่กลุ่มที่บอกว่านี่คือปัญหาของทุกคน คุณรู้ไหมว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 70-80 เปอร์เซ็นต์ มาจากภาคพลังงาน ซึ่งภาคพลังงานถูกผูกขาดจากไม่กี่บริษัททั้งในระดับโลกและในระดับประเทศ หรือหากมองในอัตราส่วนหารเฉลี่ยต่อหัวจะพบว่าประชากรในสหรัฐอเมริกาปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เยอะที่สุด
“เช่นเดียวกันคนที่อาศัยอยู่ในเมืองและคนที่อยู่ชนบทมีบ้านริมน้ำทำเกษตรกรรม ถามว่าปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เท่ากันหรือไม่ แต่กลับมาบอกว่าทุกคนมีส่วนสร้างปัญหาให้โลกใบนี้ และเราต้องรับผิดชอบเท่ากัน ดังนั้นประเด็นเรื่อง justice เลยมีความหมายเพราะประเทศทุนนิยมที่เคยปล่อยก๊าซเรือนกระจกตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรม และปล่อยสะสมเป็นระยะเวลายาวนาน อยู่ๆ มาบอกว่าประเทศที่กำลังพัฒนาทั้งหลายคุณต้องทำแบบเราและเอาเทคโนโลยีเราไปใช้ นี่แหละคือความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นระหว่างประเทศ“
เขากล่าวต่อว่า ประเด็น Climate justice จึงเป็นประเด็นที่ใหญ่มากเพราะมีหลายแง่มุม แต่ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่าจะใช้เทคโนโลยีวิธีวัดแบบไหน ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์อย่างไร หรือบรรเทาอย่างไร แต่หากทั่วโลกไม่แตะประเด็นเรื่องความเป็นธรรมก็ไม่สามารถทำให้ประชาชนที่อยู่ในโครงสร้างความเหลื่อมล้ำเข้ามามีส่วนร่วมในการกอบกู้โลกด้วยกันได้
“นักวิชาการบางท่านเรียกสิ่งนี้ว่า Climate wars หรือนี่คือสงครามระหว่างคนยากจนกับกลุ่มอภิมหาทุนขนาดใหญ่ของโลก”
คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) เปิดเผยว่ากลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ภาวะโลกร้อนมากที่สุดคือคนจน เนื่องจากมีความสามารถในการรับมือผลกระทบน้อยที่สุด เขายกตัวอย่างต่อว่าโลกใบนี้มีประชากรทั้งหมดประมาณ 5,000 ล้านคน แต่เป็นคนจน 3,000 ล้านคนนับเป็นประชากรค่อนโลกที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และหนึ่งในประเทศที่ถูกจัดอันดับจาก Germanwatch ว่าเสี่ยงเป็นอันดับที่ 9 ของโลกโดยใช้เกณฑ์การประเมินหลายด้านตั้งแต่จำนวนภัยพิบัติ ไปจนถึงทรัพยากรในการรับมือผลกระทบของกลุ่มเปราะบาง
“ระบบทุนนิยมเคยถูกตั้งคำถามว่า หรือนี่คือจุดจบของทุนนิยม? แต่ตอนนี้ระบบทุนนิยมมีคำตอบในการเอาชีวิตรอดแล้วคือตลาดคาร์บอนเครดิต แต่สิ่งนี้ไม่ได้แก้ปัญหาโลกร้อนมันเพียงแต่ Survival จากความกดดันของระบบ และเราควรตั้งคำถามต่อว่า ถึงเวลาหรือยังที่การพัฒนาแบบยั่งยืนจะถึงเวลาต้องทบทวนเนื่องจากการพัฒนาแบบนี้ไม่ใช่คำตอบอีกต่อไป” ดร.กฤษฎาทิ้งท้าย
Tags: Climatejustice, ควมยุติธรรม, ความไม่เท่าเทียม, โลกร้อน, คนจน, StayCuriousBeOpen, ClimateChange, TheMomentum