มีสำนวนจีนที่ว่า ‘แผนการชีวิตในหนึ่งวันเริ่มต้นขึ้นตอนเช้า แต่ทั้งปีจะเกิดขึ้นในช่วงตรุษจีน’ ตรุษจีนจึงกลายเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดของคนจีน เพราะครอบครัวจะได้ใช้เวลาอยู่ร่วมกัน และส่งต่อความปรารถนาดีให้กันผ่านตัวอักษร

ชุนเหลียน (春聯) หรือ ตุ้ยเหลียน คือบทกลอนคู่จีนรูปแบบหนึ่ง โดยคำว่า ชุน (春) หมายถึง วสันตฤดู หรือ ฤดูใบไม้ผลิ แต่งขึ้นเพื่อเฉลิมฉลอง อวยพร และส่งความปรารถนาดีในช่วงตรุษจีน โดยมักเขียนบนกระดาษและแขวนไว้บริเวณที่เห็นได้อย่างชัดเจน เช่น เสาบ้าน หน้าบ้าน

หลายคนอาจยังไม่ทราบว่า การเขียนชุนเหลียนถือเป็นศิลปะแขนงหนึ่ง ที่ต้องอาศัยฝีมือ เทคนิค และประสบการณ์ ในการตวัดพู่กันให้ได้ตัวอักษรที่งดงาม ถือเป็นเสน่ห์ของ ‘น้ำหนักมือและลายมือ’ สำหรับผู้ที่ประกอบอาชีพเขียนชุนเหลียน ที่ต้องฝึกปรืออยู่ตลอด

ปัจจุบันผู้ประกอบอาชีพเขียนชุนเหลียนในประเทศไทยนับว่ามีน้อยมาก เนื่องจากกาลเวลาที่เปลี่ยนไป เทคโนโลยีใหม่ๆ ก็เข้ามาเสริมการพิมพ์ชุนเหลียนให้ง่าย รวดเร็ว และสะดวกขึ้น แต่แม้เป็นเช่นนั้น ก็ยังมีผู้ที่เลือกประกอบอาชีพชุนเหลียนด้วยการ ‘เขียนมือ’ อยู่

เช่นเดียวกับ ‘นิธิวุฒิ ศรีบุญชัยชูสกุล’ ศิลปินลายสือศิลป์พู่กันจีน อาจารย์พิเศษภาควิชาภาษาจีน คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ หนึ่งในสามสิบศิลปินอักษรพู่กันจีนระดับนานาชาติ ผู้ที่ยังคงยึดวิถีดั้งเดิมในการถ่ายทอดตัวอักษรจีนผ่านจิตวิญญาณบนมือ

ในช่วงตรุษจีนปีนี้ The Momentum มีโอกาสพูดคุยกับ นิธิวุฒิ ศรีบุญชัยชูสกุล ถึงที่มาและการดำรงอยู่ของศิลปะแขนงนี้ในประเทศไทย รวมถึงขั้นตอนวิธีการเปลี่ยน ‘คำ’ ให้กลายเป็นความปรารถนาดีของชุนเหลียน ก่อนจะถูกส่งต่อให้กับครอบครัวลูกหลานเชื้อสายจีนสำหรับเทศกาลแห่งการเฉลิมฉลองนี้

“ผมเริ่มจากการฝึกเขียนตัวอักษรจีนกับบรมครู ‘ตั่งกิ๋มซ้ง’ เป็นเวลา 2 ปี และด้วยความที่ผมเป็นครอบครัวคนจีน จึงซึมซับวัฒนธรรมคนจีนและตั้งใจอยากทำอะไรสักอย่าง จึงฝึกฝีมือการเขียนมาเรื่อยๆ เกือบ 20 ปี กว่าจะเริ่มมั่นใจและไปลงประกวดเขียนชุนเหลียนได้” อาจารย์นิธิวุฒิเล่าถึงจุดเริ่มต้นที่หันมาเขียนอักษรด้วยพู่กันจีน

“เคยมีคำกล่าวว่าผู้หญิงใช้ลิปสติกทั้งชีวิตเหมือนกินลิปสติกไปแล้วแท่งหรือสองแท่ง แต่สำหรับผมคงเปลี่ยนเป็นกินหมึกไปขวดหรือสองขวดแล้ว”

“องค์ประกอบของการเขียนชุนเหลียงเรียกว่า ‘รัตนะทั้ง 4’ หรือ เหวินฝางซื่อป่าว ( 文房四宝)

“สิ่งที่จำเป็นในการเขียนลายสือศิลป์ หรือ ซูฝ่า (书法) ประกอบไปด้วย พู่กัน กระดาษสีแดง ฝนหมึกและหมึก แต่ปัจจุบันไม่ต้องมีการฝนหมึกแล้ว เพราะมีน้ำหมึกสำเร็จรูป แต่การใช้น้ำหมึกสีทอง จะยิ่งเร่งทำให้พู่กันพังเร็วขึ้น เพราะต้องนำพู่กันไปล้างด้วยทินเนอร์ ทำให้เขียนได้สักระยะหนึ่งก็พัง

“ถ้านำราคาพู่กันที่ผมเคยใช้ทั้งหมดมารวมกัน คงสามารถซื้อรถจักรยานยนต์บอนเนวิลล์บอบเบอร์ (Bonneville Bobber) ได้คันหนึ่ง” อาจารย์นิธิวุฒิ กล่าวติดตลก

คนไทยมักคิดว่าการใช้ตัวอักษรสีดำเป็นเรื่องอัปมงคล และต้องใช้สีทองเท่านั้น แต่อาจารย์นิธิวุฒิอธิบายว่า สีดำเป็นสีแห่งความมั่นคง อำนาจ และเป็นสีแห่งความกตัญญู จะเห็นว่าในงานพิธีสำคัญของจีน ผู้นำประเทศจีนจะใส่ชุดสีดำ รถประจำตำแหน่งตรวจการณ์ก็ใช้สีดำ ส่วนตำรวจที่มีอำนาจบังคับก็ใส่ชุดเครื่องแบบสีดำ ดังนั้น ในความเป็นจริง การเขียนชุนเหลียนจะใช้หมึกสีดำกระดาษสีแดง แต่ไทยเพิ่งรับความเชื่อว่าสีทองเป็นสีมงคลมาจากอินเดียเมื่อ 70 ปีก่อน ส่วนสีที่มีความเชื่อว่าอัปมงคลคือ สีขาว อย่างเช่นศพก็เรียกว่า งานขาว (白事)

หลายคนอาจเคยเห็นตัวอักษรไทย-จีน และอังกฤษ บนป้ายในวัดเล่งเน่ยยี่ 2 ซึ่งเป็นการออกแบบของอาจารย์นิธิวุฒิ โดยท่านอธิบายเสริมว่า ชุนเหลียนหรือตุ้ยเหลียน ยังแสดงถึงวิสัยทัศน์และเป้าหมายของวัด โดยจะติดในพื้นที่ที่มองเห็นได้อย่างชัดเจน

อาจารย์นิธิวุฒิเล่าว่า ปัจจุบันคนที่สนใจในมาเรียนเขียนชุนเหลียนกับท่านยังพอมีอยู่ แต่ก็ถือว่าน้อย “ค่าสอนเขียนพู่กันจีนของผมไม่ได้แพงอะไรหากเทียบกับค่าเรียนพิเศษต่างๆ แต่คนที่มาเรียนแล้วอาจไม่ได้วางแผนเพื่อศึกษาในด้านนี้ต่อก็บ่นว่าแพงบ้าง ไม่คุ้มค่าบ้าง เพราะยึดเป็นอาชีพอะไรไม่ได้ มันจึงไม่ค่อยได้รับความนิยม

“ถ้าในประเทศไทยให้การยอมรับคนเขียนตัวอักษรจีนมากกว่านี้คงเป็นเรื่องดี แต่สังคมเราไม่เข้าใจว่าอาชีพนี้คืออะไร พอถึงตรุษจีนก็เพียงไปซื้อป้ายมาแปะไว้ เพื่อให้ความรู้สึกว่าได้ประดับชุนเหลียนในวันตรุษจีนแล้ว สวยหรือไม่ ความหมายเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ คือไม่มีใครรู้ว่าชุนเหลียนมีความหมายอย่างไร”

“หากในอนาคตไม่มีใครสืบสานการเขียนชุนเหลียนก็ไม่เป็นไร ชีวิตของเราขึ้นอยู่กับความเปลี่ยนแปลง” อาจารย์นิธิวุฒิกล่าว “ถ้าถามลูกผมว่า เทศกาลจีนอะไรที่เขามีความสุขที่สุด ก็คงเป็นตรุษจีน เพราะได้อั่งเปา แต่ถ้าโตขึ้นแล้วเขาได้รู้ว่า นอกจากได้อั่งเปา เขาได้รู้ว่าความหมายของเทศกาลตรุษจีนจริงๆ คืออะไร เข้าใจถึงแก่นของชุนเหลียนว่าเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาล เป็นการส่งความปรารถนาดีให้แก่กัน ก็เป็นเรื่องดีแล้ว แม้จะเขียนไม่เป็นก็ไม่เป็นไร”

Tags: , , , ,