เบื้องหน้าของถนนแปลงนามยาวตลอดจนถึงถนนเยาวราช ที่มีนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติสัญจรขวักไขว่ไม่ซ้ำหน้า ตั้งแต่รุ่งเช้าจรดพลบค่ำ ท่ามกลางแสงสีเจิดจรัสสาดส่องกระทบตาจากป้ายโฆษณา สลับกับกลิ่นควันหอมฉุยจากร้านสตรีทฟู้ดลอยล่องมาเตะจมูก หากเดินต่อไปอีกไม่กี่เมตรจะพบกับย่านเมืองเก่าที่ถูกยกให้เป็นแหล่งอุดมสถาปัตยกรรมอันเก่าแก่นานนับร้อยปี ซึ่งมีชื่อเรียกว่า ‘ชุมชนเลื่อนฤทธื์’
ชุมชนดังกล่าว ถูกสร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ 5 บนเนื้อที่ 7 ไร่เศษ เดิมมีคุณหญิงเลื่อน ภรรยาของ หลวงฤทธิ์ นายเวร เป็นเจ้าของผืนดิน ก่อนที่คุณหญิงเลื่อนจะขายพื้นที่ให้แก่สำนักงานพระคลังข้างที่ เพื่อนำไปปรับปรุงเป็นตึกแถวพาณิชย์
ไม่ช้าชาวไทย พ่อค้าแขก และจีน ที่หอบข้าวหอบผ่อนโล้สำเภาข้ามทะเล ต่างตบเท้าเข้ามาประกอบอาชีพ ตั้งรกรากอยู่อาศัยกันเป็นกิจลักษณะ บ้างก็เปิดโรงน้ำชา บ้างก็ค้าส่งผ้าแพร ผ้าส่าหรี ตั้งโรงเตี๊ยม กลายเป็นแหล่งเศรษฐกิจสำคัญกลางกรุง ในฐานะแหล่งขยับขยายของตลาดสำเพ็ง
กาลเวลาค่อยๆ ล่วงเลย มรดกวัฒนธรรมของผู้อยู่อาศัยในชุมชนเลื่อนฤทธิ์ส่งต่อหลายชั่วอายุ กลายเป็นพหุวัฒนธรรมแสนล้ำค่ำ กระทั่งในปี 2544 จุดเปลี่ยนสำคัญได้เกิดขึ้น เมื่อสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้ส่งหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าแก่ผู้อยู่อาศัยกว่า 160 หลังคาเรือน จุดประสงค์บั้นปลายคือการแปรพื้นที่ไปเป็นศูนย์การค้า
หลังใช้เวลายืดเยื้อถึง 11 ปี ชาวชุมชนเลื่อนฤทธิ์ ได้รวมตัวเจรจากับสำนักงานทรัพย์สินฯ และร่วมกันจัดตั้ง บริษัท ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ จำกัด เพื่อทำหนังสือสัญญาเช่าพื้นที่ต่อ ภายใต้เงื่อนไขการบูรณะซ่อมแซมพื้นที่ และพัฒนาเป็นถนนคนเดิน แหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่พยายามคงคอนเซปต์ความงดงามแบบดั้งเดิมของสถาปัตยกรรมเอาไว้
ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ถือโอกาสชวนเรามาเดินสำรวจบ้านของพวกเขา ในวันที่หลายสิ่งภายในถูกปรับปรุงให้ทันสมัย โดยมีข้อสงสัยที่เราตั้งไว้ก่อนเดินทางไปถึงว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะส่งผลกระทบไปในทิศทางใด
เวลาราว 4 โมงเย็น แดดร่มกำลังดี เรามาถึงชุมชนเลื่อนฤทธิ์ ไม่ช้ามีหญิงสาว ในชุดเดรสสีดำปักลายลูกไม้สไตล์จีน เดินมาต้อนรับเราด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม ไม่กี่อึดใจเธอเอ่ยแนะนำตัวกับว่าเธอชื่อ เล็ก-สุวรรณา คงศักดิ์ไพศาล ดำรงตำแหน่งเป็นคณะกรรมการดูแลบริษัทชุมชนเลื่อนฤทธิ์
สุวรรณาเริ่มพาเราเดินสำรวจชุมชมแห่งนี้ พร้อมกับย้อนเล่าถึงที่มาที่ไป ก่อนจะเริ่มปรับภาพลักษณ์ชุมชนให้เราฟังพอสังเขป โดยในปี 2555 หลังจัดตั้งบริษัทและได้สัญญาเช่าพื้นต่อ จึงประกาศขอความร่วมมือจากผู้อยู่อาศัยให้ย้ายออกจากพื้นที่ กว่าจะย้ายออกครบทุกครอบครัวเบ็ดเสร็จกินเวลาไป 2 ปี ก่อนจะเริ่มติดต่อไปหายังคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในการสำรวจความสมบูรณ์ของตัวอาคาร ด้วยการนำแผนที่เก่ามาซ้อนทับกับแผนที่ปัจจุบัน เพื่อศึกษาองค์ประกอบของโครงสร้าง และตัดสินใจว่าควรซ่อมแซมหรือปรับเปลี่ยนจุดใดบ้าง
แน่นอนการย้ายออกต้องมีชาวชุมชนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ด้วยความสงสัยเราจึงถามสุวรรณาว่า มีวิธีจัดการอย่างไรกับปัญหาดังกล่าว คำตอบที่ได้คือชุมชนเลื่อนฤทธิ์ มีการระดมแผนคิดปรับปรุง เสนอกฎระเบียบ และนำไปเสนอโดยยึดหลักตามเสียงเห็นชอบส่วนใหญ่ของผู้มีสิทธิอยู่อาศัย
“คนของเราเยอะมาก ตอนแรกที่เราเสนอเข้าที่ประชุมว่าจะทำถนนคนเดิน มีกฎกติกาการใช้พื้นที่ต่างๆ เช่น ห้ามจอดรถในพื้นที่ ห้ามทิ้งขยะเรี่ยราด ไม่เอาหาบเร่แผงลอยตั้งขายริมถนน ฯลฯ แน่นอนต้องมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่เราใช้หลักประชาธิปไตยฟังเสียงส่วนใหญ่ กรรมการไม่เคยหักคอตีเข่าบังคับลูกบ้าน เราเปิดให้ทุกคนร่วมแสดงความคิดเห็น ร่วมโหวตว่าแบบไหนที่คุณรับได้
“ถ้าคุณอยากจะอยู่อาศัยต่อ ก็ต้องจ่ายค่าหุ้นเต็มจำนวนในระยะเวลาที่กำหนด คุณถึงจะเป็นผู้เช่าอันดับแรกได้ เป็นสิทธิแบบเดียวกับที่สำนักงานทรัพย์สินฯ ใช้ คุณไม่สามารถปล่อยเช่าได้ แต่จะไปร่วมทุนกับใคร เปิดเป็นร้านขายอะไรตามสะดวก จะทำเป็นบ้านอยู่อาศัยก็ได้ หรือใครที่อยากขายสิทธิถือหุ้นก็ได้ตามสะดวก บริษัทเรามีหน้าที่ดำเนินเรื่องให้”
เนื่องจากชุมชนเลื่อนฤทธิ์ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ตามพระราชบัญญัติโบราณสถานฯ พ.ศ. 2504 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ‘กรมศิลปากร’ จึงจำเป็นต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนบูรณะ โดยเฉพาะในส่วนของสถาปัตยกรรมที่มีมูลค่าทางประวัติศาสตร์มหาศาล
สุวรรณาระบุว่า กรมศิลปากรได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาควบคุม มีผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีมาแนะนำ ตลอดการสำรวจขุดค้นพบวัตถุมีค่าชิ้นใดบ้าง แบบไหนควรเก็บ ไม่ควรเก็บ
ระหว่างการขุดลึกลงไปราว 50 เซนติเมตร ได้พบโบราณวัตถุมากกว่า 3,000 ชิ้น อาทิ ชุดเครื่องถ้วย ชามแบบจีนสมัยปลายราชวงศ์ชิง ภาชนะเครื่องปั้นดินเผา หม้อตาล หม้อทะนน คนโท ขวดเหล้าไวน์ที่ยังมีน้ำอยู่ ขวดน้ำหมึก ปี้ดินเผา (เหรียญสำหรับใช้แทนเงินพนัน คล้ายชิปในสมัยปัจจุบัน) จนถึงเนื้อสัตว์ เกือกม้า เศษเปลือกหอยแครง จึงสันนิษฐานได้ว่า สิ่งของเหล่านี้ส่วนใหญ่มาจากชาวจีน ที่เป็นชาวจีนแคะและจีนฮกเกี้ยนที่อพยพมาพำนัก และในสมัยนั้นเริ่มมีการนำสินค้าหลากประเภทเข้ามาค้าขายในเมืองหลวง
ทั้งนี้ โบราณวัตถุได้นำไปเก็บรักษาไว้ในหีบโลหะ บุด้วยพลาสติกกันกระแทก เพื่อนำไปฝังไว้เป็นไทม์แคปซูล ที่คนรุ่นหลังสามารถขุดขึ้นมาศึกษาต่อได้ในอนาคต
กลับมาที่เรื่องของสถาปัตยกรรม กรมศิลปากรลงความเห็นว่า ตัวโครงสร้างยังมีความสมบูรณ์มากกว่า 70% ดังนั้นจึงไม่ถึงกับต้องรื้อถอนโครงสร้างเดิมเสียหมด แต่ใช้วิธีปรับปรุงเพื่ออนุรักษ์โครงสร้างเดิม อาทิ ฐานกำแพงที่ใช้ไม้เป็นวัสดุหลัก ได้ใช้เครื่องมือเจาะรูข้างใต้เพื่อฉีดโฟมเคมีชิดพิเศษสำหรับป้องกันความชื้นจากดิน ส่วนชั้นผนังที่เป็นอิฐแดงได้ฉาบปูนหมักชนิดพิเศษปกปิดรอยสึกกร่อน
และเพื่อป้องกันโครงสร้างเดิมพังทลาย จึงได้ตอกเสาเข็มช่วยพยุงจำนวน 8 ต้น โดยที่ใต้พื้นดินติดตั้งระบบไว้สำหรับกำจัดปลวก รวมถึงสายไฟต่างๆ
สิ่งที่น่าสนใจต่อมา คือการพยายามคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์สถาปัตยกรรมแบบเก่า ทั้งประตูบานเฟี้ยมไม้ ช่องลมฉลุลวดลายอ่อนช้อย ช่องโพรงทางเดิน สันกันไฟ และการนำวัสดุหลังคาที่มีหน้าตาคล้ายกระเบื้องว่าวแบบเดิมมาทดแทน เมื่อเดินเข้าชวนให้ความรู้สึกเหมือนหลุดไปในหนังแนวพีเรียด
“ตึกเราแต่ละห้องมีสัดส่วนความแตกต่าง อย่างพื้นที่สูงต่ำไม่เท่ากัน ช่องลมฉลุที่ต้องแกะด้วยมือ กระเบื้องว่าวใหม่ที่มีราคาต้นทุนสูง ทำให้ต้องเลือกช่างฝีมือดีเข้ามาทำ ไม่ใช่วางแบบแล้วก็อปวางได้เลย
“ฝั่งหลังของชุมชนหากมองจากภาพถ่ายด้านบนจะเห็นว่า มีโครงสร้างเลื้อยไปมา ที่เป็นเช่นนั้นเพราะอดีตถูกสร้างให้อิงไปตามสภาพแนวคลอง (คลองถมในปัจจุบัน) แต่ถึงด้านหน้าชุมชนจะติดกับแยกถนนมหาจักร แต่ผู้คนส่วนใหญ่เลือกที่จะไปค้าขายบริเวณด้านหลังชุมชน หรือก็คือย่านตลาดสำเพ็งกลางคืน”
เราใช้เวลาเดินไปทั่วชุมชนเลื่อนฤทธิ์ นอกเสียจากงานสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจ เรื่องของโปรเจกต์การพัฒนาเป็นถนนคนเดินก็ยังน่าสนใจ ทันทีที่การก่อสร้างเสร็จสิ้นในปี 2564 ผู้เช่ารายเก่าและใหม่ได้ทยอยเข้ามาจับจองพื้นที่เปิดเป็นร้านอาหาร บาร์ ร้านขายสินค้าที่น่าสนใจอย่างกาชาปองพระพุทธรูป ฯลฯ และบางร้านยังเป็นกิจการที่ทายาทรับช่วงต่อมาจากบรรพบุรุษ
ขณะเดียวกันยังมีการจัดงานที่น่าสนใจเป็นครั้งคราว เช่น เทศกาล Bangkok Design Week ที่เพิ่งผ่านพ้นไป ดนตรีเปิดหมวก งานสตรีทอาร์ต จากนักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ รถฟู้ดทรัก และอาจมีอีเวนต์ที่น่าสนใจอื่นตามมาอีกในอนาคต
เราพกคำถามสำคัญมาถามกับสุวรรณนา ในฐานะที่เธอเป็นคณะกรรมการที่นี่ ว่าในอนาคต ชุมชนแห่งนี้จะมีมาตรการป้องกันนายทุนชาวจีนไม่ให้เข้ามาลงทุนแย่งอาชีพชาวชุมชน และกลืนกินอัตลักษณ์ดั้งเดิมของที่นี่หรือไม่ เพราะปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ละแวกใกล้เคียงตามตรอกซอกซอยของถนนเยาวราชเต็มไปด้วยร้านรวงจากประเทศจีนเข้ามาทำกิน และเปลี่ยนหน้าตาตึกรามบ้านช่องหลายคูหาแทบไม่เหมือนเดิม
เมื่อได้ฟังสุวรรณาตอบกับเราว่า สิทธิที่จะเข้ามาเช่าชุมชนเลื่อนฤทธิ์ย่อมเป็นของชาวชุมชน การที่จะมีผู้ใช้รายใหม่ ยิ่งเป็นชาวต่างชาติ ยิ่งจำเป็นต้องมีมาตรการคัดกรอง
“เราเข้าใจถึงสิ่งที่คุณถามนะ เดิมสิทธิแรกของที่นี่ก็เป็นของผู้เช่าเดิม นั่นหมายความว่าอยู่ๆ คนจีนจะเดินเข้ามาซื้อที่เลยคงไม่ได้ ถ้าเขาคิดจะเข้ามาซื้อก็ต้องสอบถามบริษัทหรือสอบถามร่วมทุนกับผู้ถือหุ้นเดิม แต่ปฏิเสธไม่ได้หรอกว่าในอนาคตจะปฏิเสธเขาหมด แต่เราจะต้องมีมาตรการคัดเลือก เพราะคุณมาแล้วก็ไป แต่สิ่งที่คุณทำยังทิ้งไว้อยู่ สังเกตเห็นได้เลยว่าชุมชนเราค่อยๆ เติบโต ไม่ใช่ใครมาเงินถึงก็อนุญาต ไม่งั้นคงมีร้านเข้ามาเปิดเต็มไปหมดแล้ว
“สิ่งที่เราขาดตอนนี้ คือเรื่องของการประชาสัมพันธ์ บางคนอาจจะรู้จักที่นี่แล้ว บางคนก็ยังไม่รู้จัก ดังนั้นเราอยากเห็นคนมาท่องเที่ยวมากขึ้น อย่างเร็วๆ นี้ มีกรุ๊ปทัวร์ท่องเที่ยวมาจากสิงคโปร์กับฝรั่งเศส เขาตั้งใจมาเที่ยวที่นี่ นั่นยิ่งเป็นกำลังใจที่ดีให้ชาวชุมชนตั้งใจพัฒนาที่นี่ไปสู่แหล่งเศรษฐกิจ” สุวรรณกล่าวทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม
อย่างไรก็ดี ในมุมสวยงามย่อมมีการตั้งคำถามจากคนอีกกลุ่มหนึ่ง ทั้งชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยกับการเวนคืนเพื่อปรับปรุงใหม่ นักวิชาการด้านผังเมืองที่ไม่เห็นด้วยกับการรื้อถอนสถาปัตยกรรมของเก่า แทนที่จะคงอนุรักษ์ชุมชนแห่งนี้ไว้เป็นมรดก ทุกข้อขัดแย้งล้วนไม่ใช่เรื่องผิด
แต่จากการที่เห็น ชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนปัจจุบัน เดินทางมาเป็นสักขีพยาน และพร้อมผลักดันให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว ตามนโยบายเมืองเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ฉะนั้นเชื่อได้ว่า ชุมชนเลื่อนฤทธิ์จะมีส่วนช่วยแต่งแต้มสีสัน กระตุ้นเศรษฐกิจบ้านเราไม่มากก็น้อย
พร้อมเป็นกรณีศึกษาแก่ภาครัฐ หากคิดจะอนุมัติปรับเปลี่ยนสภาพชุมชนเดิมใด เพราะแต่ละที่ย่อมมีประวัติศาสตร์อันล้ำค่าแฝงอยู่ และจะทำอย่างไรให้คุณภาพชีวิตของประชาชนที่เคยอยู่อาศัย ไม่ย่ำแย่กว่าเดิม ดั่งภาษิตบัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่น
Tags: Feature, สถาปัตยกรรม, เยาวราช, เมืองเก่า, ชุมชนเลื่อนฤทธิ์, เลื่อนฤทธิ์