ผลวิจัยล่าสุดจากสวีเดนเปิดเผยว่า แม้แต่คนที่มีหัวใจรักธรรมชาติอย่างแรงกล้า บ่อยครั้งก็ต้องปรับเปลี่ยนแนวทางในการใช้ชีวิตเมื่อต้องเผชิญหน้ากับความจริงของการเป็นพ่อคนแม่คน โดยนักวิจัยได้ทำการเปรียบเทียบคู่สมรสที่มีลูก และ ไม่มีลูก ในประเทศสวีเดน และพบว่า ครอบครัวที่มีลูกมีแนวโน้มที่จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการขนส่ง อาหาร การใช้พลังงานความร้อน และการใช้ไฟฟ้าที่มากขึ้น

นักวิจัย ได้แก่โจนาส นอร์ดสตรอม เจสัน เอฟ โชเกรน และลินดา ทุนสตรอม ยังพบว่า ในครอบครัวที่มีครบทั้งพ่อ แม่ ลูก  ยังปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าครอบครัวที่มีเพียงสามีภรรยา และไม่มีลูก ถึงร้อยละ 25 โดยนักวิจัยระบุว่า การมีบุตรอาจจะเพิ่มการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งด้านการเพิ่มจำนวนประชากร และการตัดสินใจในด้านอื่นๆ 

โดยการเพิ่มจำนวนมนุษย์บนโลกในขณะนี้จะเพิ่มการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะในประเทศที่ร่ำรวย ขณะที่ปริมาณการปล่อยก๊าซที่แน่ชัดนั้นยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ และ ปัจจุบัน มีพ่อแม่เพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ตัดสินใจไม่มีลูกด้วยเหตุผลด้านสิ่งแวดล้อม นั่นหมายความว่า มีพ่อแม่จำนวนมากที่คิดว่าตัวเองมีหัวใจสีเขียว และมองเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญลำดับต้นๆ แม้ว่าพฤติกรรมของพวกเขาจะไม่ได้เป็นไปอย่างนั้นก็ตาม

เจสัน เอฟ โชเกรน นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยไวโอมิง อธิบายว่าการเป็นพ่อคนแม่คนสามารถเปลี่ยนแปลงมนุษย์ได้ โดยจะทำให้เขาคิดถึงอนาคตมากขึ้น และ มีความวิตกเกี่ยวกับความเสี่ยงในอนาคตที่จะเกิดขึ้นกับลูกหลาน  แต่ว่า แม้การมีลูกอาจจะเป็นความเปลี่ยนแปลง ผลการศึกษาของเราก็พบว่า ความวิตกกังวลของพ่อแม่ที่มีต่อสภาวะโลกร้อน ไม่ได้ทำให้พวกเขาใช้ชีวิตอย่างเป็นมิตรต่อธรรมชาติมากกว่าพ่อแม่ที่ไม่มีลูก

ก่อนหน้านี้เคยมีงานวิจัยที่ใช้หลักฐานผสมผสานกันเพื่อค้นหาว่าการเป็นพ่อคนแม่คนสามารถเปลี่ยนแแปลงทัศนคติ ความพึงพอใจ และพฤติกรรมด้านสิ่งแวดล้อมอย่างไร แต่การวิจัยใหม่ล่าสุดประเมินประเด็นใหม่ด้วยข้อมูลที่มีความเฉพาะเจาะจงของครอบครัวชาวสวีเดน 4,000 ครอบครัว จากการสำรวจค่าใช้จ่ายในครัวเรือนส่วนใหญ่ พบว่า มีระยะห่างอย่างมีนัยสำคัญในการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ระหว่างครอบครัวที่มีลูก และไม่มีลูก โดยเฉพาะด้านการขนส่ง และอาหาร

นักวิจัยอธิบายว่า สินค้าที่ใช้ก๊าซคาร์บอนฯ มาก มักจะใช้งานสะดวก และมีราคาถูก ซึ่งจูงใจให้พ่อแม่ซื้อ เมื่อคนต้องจัดการกับความต้องการต่างๆ ในครอบครัว การขับรถยนต์ไปยังร้านค้าย่อมสะดวกกว่าการใช้บริการขนส่งสาธารณะ หรือ การปั่นจักรยาน ขณะที่อาหารที่ปรุงสำเร็จที่มีเนื้อแดงก็ทานได้สะดวก และในบางครั้งก็มีราคาถูกกว่า

ยังมีคำอธิบายอื่นนอกเหนือจากเรื่องของเวลา และความสะดวกสบายของพ่อแม่ ที่เพิ่มการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ นั่นก็คือ สิ่งที่เกิดขึ้นจากตัวของเด็กเอง โดยนักวิจัยระบุว่าการที่พ่อแม่ให้เด็กมีการบริโภคอย่างเต็มที่อาจส่งผลให้ตัวเด็กเองชื่นชอบการบริโภคที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ สูง เช่น การชอบรสชาติของเนื้อแดง การนั่งเครื่องบินไปรีสอร์ทที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และอื่นๆ

แม้ว่าการวิจัยนี้ทำในประเทศสวีเดนเพียงประเทศเดียว นักวิจัยก็คิดว่าข้อค้นพบนี้น่าจะสอดคล้องกับประเทศอื่นๆ บนโลกเช่นกัน

ถ้าผลการศึกษานี้เกิดขึ้นในสวีเดน ก็น่าจะปลอดภัยพอที่จะอนุมานว่าความแตกต่างของรอยเท้าคาร์บอน (carbon footprint) ระหว่างครอบครัวที่มีลูก และไม่มีลูก จะยิ่งสูงขึ้นในประเทศตะวันตกอื่นๆลินดา ทุนสตรอม นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยไวโอมิง กล่าว

ที่มา

https://www.sciencealert.com/becoming-parents-makes-us-25-percent-less-environmentally-friendly-says-new-report?fbclid=IwAR1bpamXUkH_J3M3W30uzVnJLckAi7sXtAkk5dMdX-dplzGuGhwYj64i-5E

https://journals.plos.org/plosone/article?id=10.1371/journal.pone.0231105 

ภาพ : Patrick Sinkel / AFP

Tags: , , ,