อากาศร้อนแต่ไม่อบอ้าว พร้อมกับลมอมฝุ่นในช่วงปลายเดือนมกราคม ทำให้ย่านคนไทยเชื้อสายจีนบนถนนพลับพลาไชย หนึ่งในแหล่งขายกระดาษไหว้เจ้าแห่งนี้ ดูไม่เหมาะกับการเดินซื้อของสักเท่าไร ถึงอย่างนั้นก็พอสังเกตเห็นเหล่าคนไทยเชื้อสายจีน เริ่มออกมาซื้อของสำหรับเทศกาลตรุษจีนกันแล้ว

เมื่อเดินไปตามถนนพลับพลาไชยราว 200 เมตร จากสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินวัดมังกร จะพบกับตึกแถวสีเขียวที่ดูผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายสิบปี มีป้ายสีแดงติดไว้เหนือประตูบานเฟี้ยม ตัวอักษรสีเหลืองระบุชื่อร้าน ‘จิบฮั้ว’ ตามด้วยตัวอักษรจีน หากคุณเดินผ่านคงเดาได้ไม่ยากว่าร้านนี้จำหน่ายสินค้าใด เพราะจะเห็น ‘ตี่จู่เอี๊ย’ หรือศาลเจ้าที่ประจำบ้านแบบจีนตั้งเรียงรายหลายหลัง และมีคนงานกำลังบรรจงลงสีเก็บรายละเอียดศาลอยู่หน้าร้าน 

ตี่จู่เอี๊ยเป็นศาลเจ้าที่ประจำบ้านของคนไทยเชื้อสายจีน ส่วนใหญ่มักเป็นศาลสีแดงที่ตกแต่งลวดลายและตัวอักษรด้วยสีทอง และหากใครเป็นคนไทยเชื้อสายจีนก็คงเห็นตี่จู่เอี๊ยในบ้านมาตั้งแต่จำความได้ หรือหากไม่ใช่ก็อาจเคยเห็นกันบ้างตามร้านอาหารหรือร้านค้า

ในช่วงเทศกาลตรุษจีนเช่นนี้ เป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้คุยและทำความรู้จักตี่จู่เอี๊ย ไปกับ วิภารัตน์ สุพัตราการไชย ผู้ร่วมดูแลกิจการร้านจิบฮั้วเป็นรุ่นที่ 3 

ตรุษจีนทั้งที ตี่จู่เอี๊ยต้องสวยเหมือนใหม่

ถ้าเป็นเทศกาลปีใหม่ไทย เจ้าของบ้านก็มักจะออกมาทำความสะอาดศาลพระภูมิเจ้าที่และศาลตายาย เทศกาลปีใหม่จีนก็ไม่ต่างกัน ช่วง 1 สัปดาห์ก่อนวันตรุษจีน เจ้าของบ้านก็จะเริ่มทำความสะอาดตี่จู่เอี๊ย หรือหากมีส่วนที่ชำรุดก็จะซื้ออุปกรณ์ไปเปลี่ยนใหม่

“ช่วงนี้ทุกคนต้องทำความสะอาดศาลเจ้า อุปกรณ์ไหนชำรุดหรือหักก็ต้องเปลี่ยนใหม่ ตี่จู่เอี๊ยก็เหมือนกับบ้าน ช่วงตรุษจีนหรือปีใหม่ก็ต้องทำตี่จู่เอี๊ยให้สวยงามดูเหมือนใหม่” วิภารัตน์อธิบายให้ฟัง

รวมถึงหากบ้านไหนอยากเปลี่ยนตี่จู่เอี๊ยก็สามารถเปลี่ยนในช่วงนี้ได้ เนื่องจากจะมี ‘วันซิ้งเจี่ยที’ หรือวันส่งเทพเจ้าซึ่งคอยดูแลปกปักรักษาบ้านเรือนกลับขึ้นไปบนสวรรค์ เจ้าของบ้านจึงมักใช้ช่วงเวลานี้ปรับปรุงและเปลี่ยนตี่จู่เอี๊ยให้ดีขึ้น 

“ตี่จู่เอี๊ยจะตั้งกันยาวๆ ไม่ต้องเปลี่ยนใหม่บ่อยนัก เว้นแต่ว่าชำรุด ไม่สวย หรือเก่าแล้ว ตี่จู่เอี๊ยของบางบ้านอาจอยู่มาตั้งแต่สมัยเหล่ากงเหล่าม่า (รุ่นทวด) ราว 40-50 ปีแล้ว และชำรุดไปตามเวลา ให้ความรู้สึกเหมือนบ้านชำรุด เราก็อยากเปลี่ยนใหม่”

วิภารัตน์อธิบายต่อว่า ตี่จู่เอี๊ยอยู่คู่กับคนไทยเชื้อสายจีนมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษอพยพมายังประเทศไทย บางบ้านตั้งตามประเพณี หรือบางบ้านเป็นร้านค้าก็ตั้งเพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการค้าขายให้ร่ำรวย 

“ทำให้เราเจริญเผ่งอัง เผ่งอัง” หรือหมายถึงให้ชีวิตเจริญราบรื่น ปลอดภัย และโชคดีนั่นเอง

อยู่ที่ต่ำ ผิดจากภาพจำสิ่งศักดิ์สิทธิ์

สิ่งหนึ่งที่ทำให้ตี่จู่เอี๊ยต่างไปจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ คือศาลเจ้าที่จีนนี้จะตั้งอยู่ติดกับพื้นและต่ำกว่าระดับสายตา ต่างไปจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ส่วนใหญ่ที่มักอยู่ที่สูง หรือไม่ก็มีเสาตั้งให้อยู่เหนือระดับสายตา อย่างศาลพระภูมิหรือศาลเพียงตาของไทย 

การที่ตี่จู่เอี๊ยต้องตั้งอยู่ติดกับพื้นบ้านมีเหตุผลและแฝงความหมายอยู่ ตามที่ ถาวร สิกขโกศล ผู้ช่วยศาสตราจารย์และอาจารย์ด้านจีนศึกษา อธิบายไว้ในบทความเรื่องตี่จู้ เทพผู้คุ้มครองบ้านคนจีนโพ้นทะเล ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนเมษายน 2562 ว่า ‘ตี่จู้’ เป็นเทพเจ้าแห่งที่ดินซึ่งคุ้มครองบ้านเรือนของคนจีน เมื่อคนจีนโพ้นทะเลเดินทางมาตั้งถิ่นฐานที่ไทยซึ่งไม่ใช่แผ่นดินบ้านเกิด จึงตั้งตี่จู่เอี๊ยไว้ในบ้านเพื่อแสดงความเคารพต่อแผ่นดินที่ตนมาอยู่อาศัย

วิภารัตน์เล่าว่า ตี่จู่เอี๊ยเป็นศาลเจ้าที่ที่วางกับพื้น ทำหน้าที่ดูแลบ้านแต่ละหลัง ลูกค้าบางคนมีบ้านแบ่งเป็น 2 ห้อง แม้จะเป็นเจ้าของเดียวกัน แต่ก็ตั้งตี่จู่เอี๊ยไว้ห้องละหลัง เพราะถือว่ามีเจ้าที่อยู่ทั้ง 2 ห้อง

ขณะกำลังสัมภาษณ์ ผู้เขียนก็อดสังเกตไม่ได้ว่า ตึกแถว 2 ห้องของร้านจิบฮั้วแห่งนี้ก็ตั้งตี่จู่เอี๊ยสีแดงประดับไฟสว่างไว้ห้องละหลังเช่นกัน

ศาสตร์และศิลป์ในการทำตี่จู่เอี๊ยของร้านจิบฮั้ว

ส่วนใหญ่แล้วตี่จู่เอี๊ยที่เราเห็นมักจะเป็นสีแดงและสีทอง หากให้พูดกันตามตรงก็เป็นสไตล์ที่ไม่ค่อยเรียบหรูนัก จึงมักจะดูขัดๆ หากบ้านใครเป็นสไตล์โมเดิร์นหรือมินิมอล แต่ในความเป็นจริง ตี่จู่เอี๊ยไม่จำเป็นต้องเป็นสีแดงเสมอไป วิภารัตน์ในเสื้อกี่เพ้าสีแดงบอกว่า สีแดงนั้นเป็น ‘สีเฮง’ ของคนจีน เรียกง่ายๆ ว่าเป็นสีมงคล อย่างเช่นเทศกาลตรุษจีนก็คู่กับสีแดง 

ถึงอย่างนั้นตี่จู่เอี๊ยจะเปลี่ยนเป็นสีอื่นก็ได้ เช่น สีขาว สีไม้ สีม่วง หรือแม้กระทั่งสีเขียว ลูกค้าบางคนอยากคุมโทนบ้านก็มักจะสั่งทำตี่จู่เอี๊ยสีขาวหรือสีไม้ หรือบางคนสั่งทำพิเศษเพื่อจุดประสงค์ส่วนตัวก็สามารถเลือกสีสันได้ตามต้องการ

อย่างไรก็ดีไม่ใช่ว่าตี่จู่เอี๊ยจะทำได้ตามต้องการทั้งหมดเสียทีเดียว เพราะแต่ละร้านก็จะมีศาสตร์และสูตรในการทำต่างกันไป ร้านจิบฮั้วก็เช่นกัน การกำหนดขนาดกว้าง ยาว สูงของตี่จู่เอี๊ยต้องอาศัยเครื่องมือที่เรียกว่า ‘ตลับเมตรฮวงจุ้ย’ เพื่อให้ได้ตัวเลขที่ลงความหมายดีตามหลักการ การสั่งทำตี่จู่เอี๊ยจึงเป็นการมาเจอกันตรงกลาง ระหว่างความต้องการของลูกค้ากับหลักฮวงจุ้ยของร้าน

สำหรับร้านจิบฮั้ว ตี่จู่เอี๊ยจะมีความหมายดีกว่าหากทำด้วยไม้ และไม่แนะนำให้ลูกค้าสั่งทำตี่จู่เอี๊ยด้วยหิน 

“ถ้าตามศาสตร์ (ของร้าน) แล้ว ไม้ก็คือต้นไม้ สื่อถึงการเจริญเติบโต เจริญงอกงาม กิจการและการงานก็จะเติบโตก้าวหน้าไปเรื่อยๆ แต่ถ้าเป็นหิน ส่วนใหญ่จะใช้ทำสุสาน ไม่ค่อยเหมาะหากนำมาทำศาลเจ้าที่เท่าไร และในทางความหมาย หินมันอยู่อย่างไรก็อยู่อย่างนั้น ไม่มีการเติบโตก้าวหน้า” 

ยุคสมัยเปลี่ยน แต่ตี่จู่เอี๊ยยังคงอยู่คู่บ้านคนไทยเชื้อสายจีน

กิจการตี่จู่เอี๊ยของร้านจิบฮั้วผ่านร้อนผ่านหนาวมากว่า 80 ปีนับตั้งแต่ยังไม่มีหน้าร้าน คนไทยเชื้อสายจีนสืบทอดสายเลือดจากรุ่นเหล่ากงเหล่าม่ามาจนถึงรุ่นหลานๆ ที่มีความเชื่อต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์น้อยลง แต่ในสายตาของวิภารัตน์มองว่า ตี่จู่เอี๊ยยังคงเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ต้องมีไว้ประจำบ้าน เช่นว่า หากบ้านป๊าม้ามี บ้านลูกๆ ก็ต้องมี หรือแต่งงานออกเรือนไปก็ต้องตั้งตี่จู่เอี๊ยประจำบ้านไว้ รวมไปถึงลูกค้าบางคนเห็นว่ากิจการของป๊าม้าราบรื่นร่ำรวย ก็อยากตั้งตี่จู่เอี๊ยเพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการค้าขายของตนเองบ้าง

แม้ว่าความคิดของคนสมัยใหม่จะเปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่ยอดขายร้านจิบฮั้วก็ไม่ได้น้อยลง ด้วยเหตุผลที่ว่า หนึ่ง ลูกค้าตามมาซื้อจากการแนะนำแบบปากต่อปาก, สอง ร้านจิบฮั้วปรับการออกแบบให้ตรงใจลูกค้าได้ สามารถทำตี่จู่เอี๊ยที่โมเดิร์นขึ้นเข้ากับบ้านสไตล์เรียบๆ แต่ยังคงอยู่บนศาสตร์ศิลป์และหลักการของร้าน และสาม ตี่จู่เอี๊ยต้องเปลี่ยนใหม่เสมอหากชำรุดหรือเสียหายนั่นเอง 

ในช่วงเทศกาลปีใหม่จีนนี้ หากบ้านใครมีตี่จู่เอี๊ยก็อย่าลืมดูแลและปรับปรุงตี่จู่เอี๊ยให้สะอาดสวยงาม เหมือนกับดูแลบ้านของตัวเองกันนะ

ซินเหนียนไคว่เล่อ สวัสดีปีใหม่คุณผู้อ่านทุกท่าน 🙂

ข้อมูลอ้างอิง

https://www.silpa-mag.com/culture/article_62822

Tags: , , , , , , ,