“ถ้ามีการคำนวณระดับน้ำไว้ล่วงหน้า มีข้อความแจ้งเตือนตั้งแต่กลางดึกว่าพรุ่งนี้ให้ทุกโรงเรียนหยุด จะไม่เกิดเหตุการณ์ที่คนติดอยู่กลางถนนที่น้ำหลากท่วม เพราะผู้ปกครองพอมาส่งลูกตอนเช้าปุ๊บ สักพักน้ำขึ้นสูงโรงเรียนประกาศหยุดเรียน ผู้ปกครองต้องกลับไปรับเด็กกลับบ้าน สะพานก็ทยอยปิดทีละแห่งเพราะน้ำกกไหลมาจมสะพาน” เพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ องค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers)
หลังจากพายุนางิที่ลดระดับจากซูเปอร์ไต้ฝุ่นเป็นดีเปรสชัน ครอบคลุมพื้นที่ทางตอนเหนือของประเทศไทย เมื่อวันที่ 8-10 กันยายนที่ผ่านมา ส่งผลให้หลายอำเภอในจังหวัดเชียงรายมีฝนตกหนัก เช่น อำเภอแม่สาย อำเภอเมืองเชียงราย และอำเภอเชียงของ
ตลอดช่วง 4-5 วันที่ผ่านมา ประชาชนในจังหวัดเชียงรายต้องกลายเป็นผู้ประสบภัย หลายพื้นที่ถูกตัดน้ำ-ไฟ หลายคนยังติดอยู่ในบ้าน ไร้น้ำ อาหาร รอการช่วยเหลือ รวมไปถึงสัตว์ทุกชีวิตก็ตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกัน
จนคำว่า ‘อุทกภัย’ อาจไม่เพียงพอ เพราะดูเหมือนครั้งนี้จะส่งผลกระทบลุกลาม เป็นวงกว้าง จนเรียกได้ว่ากลายเป็น ‘มหาอุทกภัย’ ไปแล้ว
The Momentum ชวนถอดบทเรียน ตั้งแต่การเตือนภัย การอพยพ ตรวจสอบงบประมาณน้ำท่วม รวมไปถึงเสียงผู้ประสบภัยจากจังหวัดที่สูงที่สุดใน ‘แดนสยาม’
‘เชียงราย’ ประเทศไทยกับการเตือนภัยล่วงหน้า
“เราเป็นคนเชียงรายโดยกำเนิด เหตุการณ์น้ำท่วม 3-4 วันที่ผ่านมา มันให้ความรู้สึกว่า ฉันยังมีรัฐบาลอยู่ไหม คือเราต้องขี่รถไปดูน้ำท่วมเอง เปิดดูในเฟซบุ๊กกลุ่มนู้นกลุ่มนี้ว่า น้ำถึงระดับไหน ต้องตัดสินใจเอง มันไม่มีผู้ที่จะมาบอกคุณว่า ถนนสายนี้น้ำจะขึ้นเท่านี้ คุณควรจะทำอะไร”
เพียรพรบอกว่า สิ่งที่เจอคือมี ‘เสียงตามสาย’ ในช่วงเวลาเกือบเที่ยงคืนของวันที่ 11 กันยายน ที่บอกว่าน้ำกำลังจะมา และบอกให้ย้ายรถ-ย้ายสิ่งของเตรียมตัวหนีจากบ้านของเธอในเขตเมืองเชียงราย ทว่าเมื่อถามว่าจะไปไหนต่อ ผู้ใหญ่บ้านกลับบอกว่าได้ข้อมูลมาเพียงเท่านี้
“เราก็เข้าใจ แต่เฮ้ย ประเทศไทยงบประมาณขนาดนี้ ทำไมเราถึงไม่มีกลไกแจ้งเตือนประชาชนที่ดีกว่านี้ ที่สามารถทำให้ประชาชนปลอดภัยได้
ด้วยเหตุนี้ ภาพของลุงที่ติดอยู่กับเต็นท์นานสิบกว่าชั่วโมงที่อำเภอแม่สาย หรือ ณ วันเกิดเหตุ ภาพของประชาชนจำนวนมากยังใช้ชีวิตตามปกติ ยังคงเดินตลาดกันอยู่ ในสายตาเพียรพรจึงสะท้อนว่า ภาพของการเตือนภัยโดยรัฐนั้น ‘ล้มเหลว’ โดยแท้จริง
“สิ่งที่เราเห็นคือ การเตือนภัยที่ไม่มีประสิทธิภาพจริงๆ เรื่องน้ำที่เพิ่มระดับมันควรคาดการณ์ได้ เพราะน้ำจากแม่น้ำกกผ่านอำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ มันใช้เวลาประมาณ 6-7 ชั่วโมง จะถึงจังหวัดเชียงราย แต่กลับไม่มีการเตือนภัยเลย” เพียรพรอธิบาย
ขณะที่ อนัญญา ศรีอ่อน ผู้ประสบภัยน้ำท่วม อำเภอเมืองเชียงราย และทินประภา หมอป่า ผู้ประสบภัยน้ำท่วมอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ได้รับการแจ้งเตือนน้ำท่วม ผ่านเสียงประกาศตามสายของหมู่บ้านเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
“เวลาประมาณ 5 ทุ่ม เพิ่งอาบน้ำเสร็จ ได้ยินเสียงไซเรน พร้อมกับเสียงตามสายของผู้ใหญ่บ้านประกาศให้ขนของขึ้นที่สูง ย้ายรถยนต์ออกจากบ้าน แต่ไม่ถึงครึ่งชั่วโมงหลังจากนั้น ซอยข้างบ้านก็มีน้ำทะลักเข้าตัวบ้านแล้ว ประมาณเที่ยงคืนครึ่งน้ำเริ่มซึมเข้าตัวบ้าน เลยใช้พวกกระสอบทราย อุปกรณ์ต่างๆ มากั้นไม่ให้น้ำไหลเข้าบ้าน แต่ก็ไม่ช่วย เพราะน้ำไหลมาไวมาก ประมาณตี 3 ระดับน้ำขึ้นมาถึงหัวเข่าตอนนั้นเลยตัดสินใจอพยพ” อนัญญาเล่า
ปัจจุบันประเทศไทยมีระบบการเตือนภัยล่วงหน้า ‘Early Warning’ ที่กรมทรัพยากรดำเนินการร่วมกับห้องปฏิบัติการเฝ้าระวังและเตือนภัยน้ำหลาก-ดินถล่ม สำนักทรัพยากรน้ำภาค 1-11 และห้องปฏิบัติการเฝ้าระวังเตือนภัยน้ำหลาก-ดินถล่ม ที่กรมทรัพยากรน้ำ กรุงเทพฯ ตั้งแต่ปี 2548 โดยมีวัตถุประสงค์ทำระบบเตือนภัยให้ครอบคลุมหมู่บ้านเสี่ยงที่อยู่ใน 25 จังหวัดลุ่มแม่น้ำทั่วประเทศไทย ผ่านเว็บไซต์ https://ews.dwr.go.th/ews/index.php และกำลังพัฒนาเป็นแอปพลิเคชันในระบบ iOS และ Android
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีสถานีเตือนภัยล่วงหน้า 63 จังหวัดทั่วประเทศ มีทั้งหมด 2,159 สถานี ครอบคลุม 5,954 หมู่บ้าน ขณะที่ประเทศไทยมีทั้งหมด 75,142 หมู่บ้าน แต่ไม่พบสถานีเตือนภัยล่วงหน้าในจังหวัดนครปฐม ชัยนาท นนทบุรี บึงกาฬ ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ร้อยเอ็ด พิจิตร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ สมุทรสาคร สิงห์บุรี อำนาจเจริญ และอ่างทอง
หลังเกิดเหตุไม่นาน อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ระบุว่ามีการแจ้งเตือนล่วงหน้าแล้ว แต่ชาวบ้านไม่ยอมอพยพ ขณะที่ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ก็ระบุสอดคล้องกันว่า ได้รับรายงานว่ามีประชาชนจำนวนหนึ่งไม่ได้อพยพเพราะเป็นห่วงทรัพย์สิน
อย่างไรก็ตาม ในสายตาของเพียรพร หนึ่งในผู้ที่ต้องได้รับการแจ้งเตือนให้อพยพกลับเห็นต่าง
“เราไม่ได้เห็นกลไก เช่น แจ้งเตือนรับเรื่อง แจ้งความเดือดร้อนได้อย่างทันท่วงที ทันประสิทธิภาพเพียงพอ เราพูดถึงคนทั้งเมืองนะ แม่สายมีคนเป็นแสนคน เมืองเชียงรายอีกกี่คน มันน่าจะมีการดูแลรองรับที่ดีกว่านี้ เราไม่ใช่ประเทศยากจน แต่การเตือนมันอยู่ตรงไหนเหรอ แล้วคนที่ลำบากที่สุดคือคนที่จนที่สุด คนติดเตียง คนอยู่ในบ้านหลังเล็กๆ พวกนี้เขาได้รับการเตือน ได้รับการดูแลไหม เราพูดถึงคนที่ลำบากที่สุดเขาอยู่ตรงไหน รัฐโอบอุ้มเขาอย่างเพียงพอหรือเปล่า แต่เท่าที่เห็นมันยังไม่เพียงพอ
“แล้วคนที่เข้าไปกู้ภัยคือใคร ระบบช่วยเหลือต่างๆ ในประเทศไทยมันพึ่งพามูลนิธิต่างๆ มากไป กลไกรัฐที่ดูแลปกป้องชีวิตประชาชนมันอยู่ตรงไหน ถ้าหน่วยงานรัฐบอกว่า เขาทำก็คงทำล่ะมั้ง แต่เราไม่ได้เห็นเลย”
งบประมาณน้ำท่วมสูงลิบแต่ใช้สร้างเขื่อนป้องกันน้ำ 89%
ในรอบ 8 ปีที่ผ่านมา ‘งบกลาง’ ของสำนักนายกรัฐมนตรีที่เกี่ยวกับการจัดการอุทกภัยของปีงบประมาณ 2566 สูงเป็นลำดับที่ 3 จากในบรรดางบกลางทั้งหมด
ข้อมูลจาก Rocket Media Lab เปิดเผยว่า จากงบประมาณปี 2566 ทั้งหมด 3.185 ล้านล้านบาท ที่ประกาศใช้เมื่อ 1 ตุลาคม 2565 ในรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา งบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกว่า 5.3 หมื่นล้านบาท หากพิจารณาโครงการที่เกี่ยวกับน้ำท่วมโดยแบ่งออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่ 1. การก่อสร้าง 2. การบำรุงรักษา 3. การวางแผน 4. การเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูล และ 5. การบริหารจัดการ
สำหรับสัดส่วนงบประมาณที่สูงที่สุดคือ ‘งบก่อสร้าง’ คิดเป็น 76.99% หรือเกิน 3 ใน 4 ของงบประมาณทั้งหมด
ทั้งนี้กระทรวงมหาดไทยกลับมีงบประมาณเกี่ยวกับน้ำท่วมมากที่สุด 2.3 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 43.41% เป็นงบก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งมากที่สุดรวม 1.7 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 76.44% อีกส่วนหนึ่งเป็นงบที่ระบุว่า เกี่ยวกับระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนรวม 4,751 ล้านบาท คิดเป็น 20.51% ในจำนวนนี้ โครงการที่มีสัดส่วนงบประมาณมากที่สุดคือ โครงการป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชน 4,569 ล้านบาท ซึ่งกระจายอยู่ใน 45 จังหวัด
อีกสิ่งที่น่าสนใจคือ กระทรวงกลาโหมกลับมีงบประมาณเกี่ยวกับน้ำท่วม สูงกว่ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
“งบประมาณน้ำท่วมสูงมาก แต่พอเกิดเหตุซ้ำก็ยังสาหัส หากมาดูสัดส่วนงบประมาณจะเห็นว่าเป็นการสร้างเสียส่วนใหญ่ มันทำให้เห็นว่า ประเทศไทยเน้นการทำโครงการก่อสร้าง แต่เราไม่เน้นการใช้ข้อมูล การดึงข้อมูลมาพัฒนาคน พัฒนาระบบการเตือนภัย หากประเทศไทยเลิกสร้างสัก 5 ปี น่าจะดี” เพียรพรระบุ
ในความเห็นของคนในแวดวงการจัดการน้ำอย่างเธอ ตลอดหลายสิบปีของราชการไทยกลายเป็นพิธีเปิดงานถ่ายรูปลงข่าว แต่กระบวนการแก้ไขปัญหาจริงๆ ยังไม่เกิดขึ้น
“สิ่งที่ขาดคือ กระบวนการดึงข้อมูลมาวิเคราะห์หรือพัฒนาแอปพลิเคชัน พัฒนาอะไรที่ไม่ถึงประชาชน ไม่ต้องสะดวกสบายก็ได้ แต่ทำให้ประชาชนปลอดภัย เวลาเราไปเมืองนอก มันจะมีข้อความเข้ามือถือเราเลย เข้าทุกเครื่อง แค่เพียงเปิดหน้าจอโทรศัพท์ก็เห็น” เพียรพรเสริม
ส่วนสิ่งที่หลายคนถามหาอย่างการ ‘แจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน’ ผ่านโทรศัพท์มือถือนั้น เหตุการณ์ที่จังหวัดเชียงราย ทั้งที่อำเภอแม่สาย ที่น้ำทะลักเข้ามาอย่างรุนแรง ที่อำเภอแม่อาย มีเหตุการณ์ดินสไลด์ และที่อำเภอเมืองเชียงรายยังไม่ปรากฏให้เห็น
มีความพยายามจากกระทรวงมหาดไทย และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ทุกครั้งในการบอกว่า จะเร่งพัฒนาระบบนี้หลังเกิดภัยพิบัติ แต่ ณ บัดนี้ปี 2567 ยังคงไม่มีความคืบหน้า
การช่วยเหลือและการเยียวยา
“ถ้าไม่มีสัญญาณตอบกลับจากเรา แปลว่าโดนตัดไฟแล้วนะ” ทินประภาเล่าให้เราฟัง หลังจากมีรายงานว่า ‘แม่สาย’ อาจเจอมวลน้ำก้อนใหญ่ข้ามมาอีกรอบ
สถานการณ์ในอำเภอแม่สายยังอึมครึม เพราะแม่น้ำสายที่รับน้ำเต็มๆ จากป่าต้นน้ำในเมียนมา ยังคงตกอยู่ในอันตรายตลอดเวลา
ฉะนั้น ชีวิตของทินประภาและคนแม่สาย จึงอยู่ในความหวาดระแวง
“อาหาร น้ำดื่ม ชุดชั้นในกระดาษ แพมเพิสผู้ใหญ่ ผ้าอนามัย ทิชชูเปียก ไฟฉาย ยากันยุง และเสื้อกันฝน แบตสำรอง เป็นสิ่งที่ต้องการอย่างสูงในช่วงน้ำท่วม ส่วนหลังจากน้ำลด นอกจากการเยียวยาค่าใช้จ่าย การปรับปรุงสถานที่ต่างๆ การทำความสะอาดและซ่อมแซมแล้ว อยากให้มีศูนย์ให้คำปรึกษาหรือดูแลสุขภาพจิต ของผู้ประสบภัยด้วยค่ะ จำเป็นมากตอนนี้เชื่อว่าทุกคนพยายามเข้มแข็งให้ผ่านสถานการณ์ไปได้ แต่สภาพจิตใจคงแตกสลายมากๆ แน่นอน” อนัญญากล่าว
“พูดจริงๆ อย่างน้ำท่วมอำเภอเทิง บ้านของบางคนถูกซัดไปทั้งบ้าน จริงๆ มันต้องมีกองทุนฟื้นฟูชีวิตเขาด้วยซ้ำคุณต้องมาดูว่า แต่ละครัวเรือนมันเสียหายอะไรบ้าง เราจะเริ่มชีวิตกันใหม่อย่างไร ไม่อย่างนั้นก็ไปกู้หนี้นอกระบบชีวิตวายป่วงกันไปใหญ่ สุดท้ายก็ชีวิตมันไม่มีทางไป” เพียรพรเสริม
ปัจจุบันบ้านของอนัญญาและเพียรพรในอำเภอเมืองเชียงราย สถานการณ์ดีขึ้นตามลำดับ แต่จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 2 วันนี้ ยังไม่ชัดเจนว่าจะมีเหตุการณ์ ‘ลูกหลง’ อะไรตามมาอีกหรือไม่
เพราะต้องไม่ลืมว่าในปีนี้ อำเภอแม่สายเกิดเหตุอุทกภัยมาแล้ว 8 ครั้ง ขณะที่ว่ากันถึงเชียงรายทั้งจังหวัด รอบนี้เป็นระลอกที่ 2 แล้ว
เหล่านี้คือความเห็นของผู้ประสบภัยน้ำท่วมจังหวัดเชียงราย เพราะนอกจากความต้องการความช่วยเหลือเฉพาะหน้าแล้ว การฟื้นฟูเยียวยาหลังผ่านเหตุการณ์ก็เป็นสิ่งสำคัญ
อีกสิ่งที่น่าจับตาและต้องระวังภัยหลังจากนี้คือ มวลน้ำที่ไหลลงแม่น้ำโขง ตามจุดเฝ้าระวังอย่าง อำเภอเชียงแสน-อำเภอเชียงของจังหวัดเชียงราย อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย จังหวัดหนองคาย จังหวัดบึงกาฬ จังหวัดนครพนม จังหวัดสกลนคร และจังหวัดอุบลราชธานี ที่อยู่ตามแนวแม่น้ำโขง
คำถามคือ ในฤดูน้ำหลาก ซึ่งจะเกิดขึ้นต่อเนื่องอีกอย่างน้อย 1 เดือน ภาครัฐจะเรียนรู้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตลอดหลายวันที่ผ่านมา พร้อมกับปรับตัวได้ทันหรือไม่
ไม่ว่าจะระบบเตือนภัย ระบบแจ้งเตือนเหตุล่วงหน้า หรือระบบการอพยพประชาชนออกจากพื้นที่เสี่ยง
เพราะด้วยภาวะโลกรวน สิ่งเหล่านี้จะเกิดต่อเนื่อง ถี่ขึ้น รุนแรงขึ้น
และหากทุกอย่างยังวนเวียนซ้ำเดิม ก็เท่ากับประชาชนจะต้อง ‘เสี่ยงชีวิต’ และพึ่งตัวเอง ลุ้นกับโชคชะตา ลมฟ้าอากาศ ต่อไปเรื่อยๆ
Tags: การเตือนภัยล่วงหน้า, พื้นที่เฝ้าระวัง, Feature, ภัยพิบัติ, น้ำท่วม, เชียงราย