“เวลาคนพูดถึงชุมชนคลองเตย ชุมชนสลัม มียาเสพติด คนจน สถุล ถ่อย อะไรที่เขาด่าในสื่อ เราเป็นคนที่นี่ มันไม่รู้สึกดี” ครูตั้ม-อดิศร ทองสุกใส ครูสอนมวยอายุ 43 ปี ใต้ชุมชนทางด่วนเฉลิมมหานคร
ประโยคที่ครูตั้มกล่าวกับเรา ช่วยสะท้อนภาพจำชุมชนสลัมคลองเตยได้เป็นอย่างดี และเขาก็รับรู้ว่าคนนอกชุมชนมองเข้ามาที่บ้านเขาอย่างไร
นั่นจึงเป็นไฟที่จุดประกายให้ครูตั้มตัดสินใจปลุกปั้นค่ายมวยเยาวชนขึ้น หวังเพียงว่าจะช่วยให้เยาวชนในบ้านของเขาห่างไกลกับยาเสพติด และทำให้คนนอกมองเข้ามาด้วยสายตาที่เป็นมิตรมากขึ้น โดยที่เขาไม่ได้ค่าตอบแทนแม้แต่สลึงหนึ่ง
“เราอยากจะทำให้คนลืมคำว่า สลัมมีแต่สิ่งไม่ดี” ครูตั้มบอกเล่าความตั้งใจอันแน่วแน่ของเขา
ค่ายมวยที่ว่านี้ตั้งอยู่ใต้ทางด่วนเฉลิมมหานคร ระหว่างทางมีขยะปลิวว่อนทั่วท้องถนน สายไฟระโยงระยางพันมั่วไปหมด ชวนหวาดเสียวเมื่อรถสิบล้อวิ่งผ่าน หากตัดภาพแคบมายังเวทีมวยที่ปรากฏอยู่ข้างหน้า สภาพสังเวียนทรุดโทรมเกินกว่าจะขึ้นชก และขณะนี้อยู่ในช่วงของการรื้อถอนเพื่อซ่อมแซมใหม่
ครูตั้มเริ่มบทสนทนา โดยเล่าถึงสภาพของชุมชนนั้นก็เป็นเฉกเช่นเดียวกับที่สังคมมองเข้ามา ไม่ว่าจะผู้คนมีฐานะยากจน หาเช้ากินค่ำ เด็กและเยาวชนบางคนไม่ได้รับการศึกษาที่ดี และมีปัญหายาเสพติด แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็มองว่า ไม่ว่าจะชุมชนไหนก็ล้วนแล้วแต่มีปัญหาเหมือนกันทั้งสิ้น
มุมมองของครูตั้มมองว่า หนึ่งในรากลึกของปัญหาในชุมชนนั้น เป็นผลจากการเลี้ยงดูของบุพการี
“พ่อแม่เป็นอย่างไร ลูกก็เป็นอย่างนั้น ถ้าพ่อแม่ไม่ได้ปลูกฝังลูก และเห็นพ่อแม่ขายยา พอลูกโตขึ้นมาหน่อย ก็ขายยากับพ่อแม่ เป็นวัฏจักรตกทอดกันมา หรือลูกไม่ได้เรียนหนังสือ พ่อแม่ก็ไม่ได้สนใจ
“แต่ถ้าจะไปเหมาทั้งหมดก็ไม่ใช่ เพราะบางครอบครัวเขาก็หาเช้ากินค่ำ ไม่ได้ไปสร้างความเดือดร้อนหรือติดยา แต่คนส่วนใหญ่ที่หลงผิดทำตัวไม่ดี มันก็จะทำต่อๆ กันมา เหมือนกลุ่มรุ่นพี่ทำ รุ่นน้องก็ทำ มันตกทอดกันมาแบบนั้น มันก็เป็นปัญหา”
นับเป็นความโชคดีที่เจ้าของพื้นที่เดิมของค่ายมวย ให้ความอนุเคราะห์ในการใช้พื้นที่ค่ายมวยแห่งนี้ เพื่อให้เด็กและเยาวชนในชุมชนขึ้นโชว์ฝีไม้ลายมือ ชกมวย เพื่อเป็นกิจกรรมยามว่าง
“ผมอยากให้เด็กมีโอกาสมาซ้อมมวย หนึ่งเลยเพื่อให้เด็กๆ หนีไกลยาเสพติด สองพวกเขาจะได้มีวิชาไว้ป้องกันตัว และสามคือถ้าไม่มีงานทำ ก็เอาสกิลไปทำอาชีพนักมวยได้ เพราะอาชีพชกมวยก็เริ่มบูมมากขึ้น”
นอกจากนั้นแล้วครูสอนมวยยังพูดเชิงติดตลกแต่ฟังดูแล้วสมเหตุสมผลว่า เขาต้องการให้สังเวียนแห่งนี้เป็นที่ยุติความขัดแย้ง หากเยาวชนทะเลาะเบาะแว้ง ก็ให้มาสวมนวมและเคลียร์ใจซึ่งกันและกัน
ด้วยความสงสัยเราจึงถามกลับไปว่า “การชกมวยเลี้ยงชีพได้มากแค่ไหน” ครูตั้มบอกว่า ขึ้นอยู่กับตัวนักมวยเอง หากชกเวทีเด็กๆ อาจได้ค่าตอบแทนการชกราวๆ 400 บาท แต่หากเป็นเวทีมาตรฐานเริ่มต้นที่ 2,000 บาทขึ้นไปต่อการชก โดยค่าตัวจะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ พร้อมยกตัวอย่าง ลูกชายของเขาที่ตอนนี้เป็นนักมวยมืออาชีพเรียบร้อยแล้ว
“ตอนนี้มีลูกศิษย์กี่คนแล้ว” เราถาม
“ในค่ายตอนนี้มีเด็กรวมแล้วประมาณยี่สิบคน มีตั้งแต่อายุหกขวบขึ้นไป แต่เราก็เปิดมาได้ไม่นานเท่าไรนัก”
ทั้งนี้ครูสอนมวยยังเอ่ยชื่อของ ‘น้องเกิ้ล’ และ ‘น้องต้า’ นักเรียนในสังกัดที่เขามองว่ามี ‘แวว’ ฉายทักษะมวยที่โดดเด่นออกมา
เมื่อครูเอ่ยชื่อศิษย์มาแล้วเราไม่รีรอที่จะเข้าไปพูดคุยกับน้องเกิ้ล ว่าทำไมถึงชื่นชอบการ ‘ชกมวย’ น้องเกิ้ลตอบกลับด้วยความเป็นพี่ชายคนโตของครอบครัวว่า หากใครมารังแกน้องก็จะช่วยปกป้องได้ อีกทั้งตัวเองจะได้มีทักษะเอาตัวรอดเมื่อโตขึ้น
ขณะที่น้องต้าเล่าให้ฟังว่า เขาชื่นชอบการต่อยมวย และมองว่าสามารถหาเลี้ยงชีพได้ ซึ่งครั้งหนึ่งมีโอกาสไปชกที่จังหวัดบุรีรัมย์ กวาดเงินรางวัลมากว่า 1 หมื่นบาทกลับมาให้ครอบครัว แม้ว่าเขาจะมีอายุเพียง 13 ปีเท่านั้น
“การเป็นนักมวยคือความฝันของพ่อ ผมอยากทำให้ฝันนั้นสำเร็จ” เราถามต่อว่า กว่าที่จะไปถึงจุดนั้นต้องทุ่มแรงกายแรงใจในการซ้อม เราพร้อมหรือไม่
น้องต้าตอบด้วยความมั่นใจและแน่วแน่ว่า เขาพร้อมที่จะทำมันอย่างแน่นอน
เรื่องราวของเด็กทั้งสองสะท้อนเบื้องหลังภาพในชีวิตในชุมชนแห่งนี้เป็นอย่างดี ว่าพวกเขาต้องดิ้นรนเอาตัวรอด รวมไปถึงแบกรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ทั้งๆ ที่แท้จริงแล้วเด็กวัยนี้ควรจะวิ่งเล่นสนุกกับเพื่อน หรือหากชกมวยก็ควรเป็นเหตุผลเพื่อความสนุก หรือการออกกำลังกายเพียงเท่านั้น
“มาทำค่ายมวยแบบนี้ แล้วเราได้อะไร” เรากลับมาถามครูสอนมวยด้วยความสงสัยอีกครั้ง ครูตั้มให้เหตุผลแค่ว่า มาทำด้วยใจรักเพียงอย่างเดียว แม้แต่ทุนบางส่วนเขายังต้องจ่ายเอง อย่างไรก็ตามก็ได้รับการสนับสนุนจากเอกชนรายย่อยที่เข้ามาบริจาคอุปกรณ์และอาสาซ่อมสังเวียนให้บ้าง
“ผมอยากจะทำมันตลอดไป ผมชอบอยู่แล้ว” ครูตั้มเอ่ย
ครูตั้มยังกล่าวในฐานะแม่พิมพ์ด้วยความภาคภูมิใจอีกว่า วันใดที่เด็กในสังกัดของเขาโตขึ้นไปเป็นนักมวยที่ประสบความสำเร็จ ก็อาจช่วยล้างภาพจำของใครหลายๆ คน ที่มีต่อชุมชนคลองเตยแห่งนี้ในทางที่ไม่ดีได้
“เราก็อยากจะทำให้คนลืมคำว่า สลัมมีแต่สิ่งไม่ดี เวลาด่ากัน ‘ไอ้สลัม’ มันเป็นความรู้สึกที่บอกไม่ถูก ยังมีอีกหลายมุมที่คนนอกไม่ได้รู้เกี่ยวกับชุมชนของเรา” ครูตั้มกล่าวเป็นประโยคสุดท้ายของการพูดคุย
ภายหลังการพูดคุยเสร็จสรรพ เราปล่อยให้ครูตั้มทำหน้าที่ของอาจารย์ผู้สอน จากการสังเกตของผู้เขียนพบว่า น้องๆ ทุกคนตั้งใจและสนุกกับการเรียกชกในคลาสเย็นวันนั้น บางส่วนแยกตัวกันไปจับคู่ฝึก บางส่วนแยกตัวไปสอนเทคนิคการชก และตามภาษาเด็กๆ ก็ต้องมีบ้างที่ติดเล่นจนล่วงเลยการซ้อมไปเสีย
แม้ว่าผู้เขียนจะกึ่งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับวลีที่ว่า ‘เด็กเปรียบเสมือนผ้าขาว’ ที่ต้องดูแลเพราะหากไร้การดูแลรักษา ผ้าผืนนั้นอาจเปลี่ยนสีได้ เช่นเดียวกันกับเด็กในชุมชนแห่งนี้ เพียงเข้าไปมอบประสบการณ์ ขัดเกลา เด็กเหล่านั้นก็จะกลายเป็นเด็กที่มีคุณภาพ มาพัฒนาบ้านของตนให้ดีขึ้น
และสุดท้ายนี้ก็อาจจะเป็นอย่างที่ครูตั้มกล่าวไว้ก็เป็นได้ ว่าใครจะไปรู้ว่าชุมชนแออัดแห่งนี้ที่หลายคนมองด้วยสายตาลบๆ อาจกำลังเจียระไนเพชรเม็ดงามและส่งมอบแก่วงการมวยไทยอยู่ก็เป็นได้
Tags: ค่ายมวยเยาวชน, คลองเตยสตรีท, Feature, สังคม, ชุมชนคลองเตย, คลองเตย