เนื่องในงานสัปดาห์หนังสือ 2566 The Momentum ชวนบรรณาธิการ 4 สำนักพิมพ์ มาป้ายยาหนังสือที่ยิ่งปิดคนยิ่งอ่าน เพราะคนจะอ่าน ห้ามไม่ได้
สัปดาห์หนังสือ 2566 เริ่มตั้งแต่ 30 มีนาคม – 9 เมษายน 2566 ที่ฮอลล์ 5-7 ชั้น LG ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน
1. ฟ้าเดียวกัน: การเมืองภาคประชาชน ฝ่ายค้านนอกสภาที่จงรักภักดี
2. ฟ้าเดียวกัน: สถาบันกษัตริย์กับสังคมไทย
3. รัฐประหาร 19 กันยา
4. ฟ้าเดียวกัน: ตุลาการในพระปรมาภิไธย ทหารไทยตามพระราชนิยม
ธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ได้เขียนรีวิววารสาร 4 ฉบับนี้ว่า หลังจากเริ่มต้นทำสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันในเดือนตุลาคม 2545 ผ่านไป 6 เดือนวารสารฟ้าเดียวกันฉบับแรก ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มีนาคม 2546) ก็ตีพิมพ์ในเดือนมีนาคม 2546 ในชื่อการเมืองภาคประชาชน ฝ่ายค้านนอกสภาที่จงรักภักดี ในบทบรรณาธิการได้พูดถึงที่มาของความจำเป็นในการทำวารสารฉบับนี้ว่า
“การเคลื่อนไหวทางสังคมของประชาชนซึ่งพยายามจะเสนอ ‘ทางเลือก/ทางออก ให้สังคม และความคิดความเห็นที่แตกต่างสวนทางกับความคิดความเชื่อกระแสหลัก ก็พอจะมีที่ทางอยู่บ้างในพื้นที่สาธารณะ กระทั่งคำศัพท์อย่างการเมืองภาคประชาชน, การเมืองทางเลือก, การพัฒนาที่ยั่งยืน, ภูมิปัญญาชาวบ้าน, การมีส่วนร่วมของประชาชน, ขบวนการรากหญ้า ฯลฯ ก็มิใช่สำเนียงแปลกหูสำหรับคนร่วมสมัยในยุคนี้อีกต่อไป แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าการเคลื่อนไหวที่ต่อต้านท้าทายสภาวะสังคมแบบที่เป็นอยู่เดิมจะสามารถลงรากปักฐานได้อย่างมั่นคง ซ้ำยังมีแนวโน้มที่จะถูกตอบโต้ทำลายหรือไม่ก็ถูกผนวกกลืนเข้าเป็นลูกไล่อยู่ในโครงสร้างสังคมเดิม
“แน่นอนว่า ‘โครงสร้างสังคมเดิม’ ที่เราหมายถึงคือการไปอิงแอบกับสถาบันกษัตริย์ในการต่อสู้ ต่อรองกับอำนาจรัฐ ในเล่มจึงมีบทสัมภาษณ์ เกษียร เตชะพีระ ในหัวข้อการเมืองภาคประชาชน: ผ้าซับน้ำตาโลกาภิวัตน์ภายใต้พระบรมโพธิสมภาร
แม้ผ่านมา 2 ทศวรรษแล้ว หากย้อนกลับไปอ่านจะพบว่า นี่เป็นบทสัมภาษณ์ที่ยัง ‘ร่วมสมัย’ ในการวิเคราะห์ปัญหาการเมืองไทยที่เกิดขึ้นมาจนถึงปัจจุบัน ขณะเดียวกันก็ ‘ล้าสมัย’ ไปพร้อมกันเมื่อเปลี่ยนรัชสมัย
นับจากนั้นวารสารฟ้าเดียวกันได้พยายามที่จะทำความเข้าใจปรากฏการณ์ทางสังคมการเมืองร่วมสมัย ผ่านการเผยแพร่ตีพิมพ์บทความทางวิชาการที่ให้แง่คิดมุมมองเชิงวิพากษ์อย่างหลากหลาย
เมื่อมาถึงครึ่งหลังของทศวรรษ 2540 ซึ่งเป็นห้วงเวลาที่รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร หมดช่วงฮันนีมูนกับบรรดา NGO และชาวบ้านในนาม ‘การเมืองภาคประชาชน’ น้ำผึ้งที่เคยหวานกลับขม เพราะเริ่มมีหลายข้อเรียกร้องที่ไม่ได้รับการตอบสนอง หลายเรื่องคือปัญหาต่อเนื่องมาตั้งแต่รัฐบาล ชาติชาย ชุณหะวัณ หรือก่อนหน้านั้น
หลายเรื่องเกิดขึ้นจากนโยบายของรัฐบาลทักษิณ โดยเฉพาะเรื่องการแย่งชิงทรัพยากรและการใช้ความรุนแรงทางการเมืองกับบรรดาผู้นำชุมชนและเอ็นจีโอ ซึ่งขยายผลไปถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนขนานใหญ่ นั่นคือสงครามปราบปรามยาเสพติด รวมถึงปัญหาไฟใต้รอบใหม่ที่อุบัติขึ้นตั้งแต่การ ‘ปล้นปืน’ เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 จนปัจจุบันผ่านมาร่วม 2 ทศวรรษ ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงแต่อย่างใด
สิ่งที่แตกต่างระหว่างรัฐบาลทักษิณกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก่อนหน้านั้นก็คือ เสถียรภาพและการได้รับความนิยมจากประชาชน ไม่ว่าจะเป็นผลคะแนนเลือกตั้ง หรือผลงานอันเป็นที่ประจักษ์ จึงไม่น่าแปลกใจที่ทักษิณหมิ่นหยาม ‘การเมืองภาคประชาชน’ ว่าเป็น ‘นายหน้าค้าความจน’
ขณะเดียวกัน การเมืองภาคประชาชนเองก็ไม่สามารถต่อติดกับชนชั้นกลางในเมือง ซึ่งตอนนั้นกลายเป็นฐานคะแนนหลักสำคัญของทักษิณในฐานะอัศวินที่มากอบกู้วิกฤตเศรษฐกิจ ไม่แปลกที่ ‘การเมืองภาคประชาชน’ จะกลับลำหันไปหาอำนาจนำของในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงเป็นทางออกแทบจะอัตโนมัติ ดังที่เกษียรได้วิเคราะห์ไว้ก่อนหน้า
สิ่งที่ต้องบันทึกไว้ด้วยก็คือ ในเวลานั้น หนึ่งในกระบอกเสียงสำคัญที่ค้ำชูรัฐบาลทักษิณคือ สื่อในเครือผู้จัดการของ สนธิ ลิ้มทองกุล ที่มีส่วนในการล้มรัฐบาลชวน หลีกภัย มาจนถึงการเลือกตั้ง 2544 รวมทั้งการกลับเข้าสู่วิถีทางธุรกิจหลังจากประสบภาวะล้มละลาย ถ้าใครยังนึกไม่ออกว่าสนธิหลงใหลได้ปลื้มทักษิณอย่างไร ให้ลองไปเสิร์ชข้อความที่ว่า ‘ทักษิณ ชินวัตรคือนายกรัฐมนตรีที่ดีที่สุดที่ประเทศไทยเคยมีมา’ ก็จะพบคลิปสนธิปรากฏในรายการเมืองไทยรายสัปดาห์
การที่การเมืองภาคประชาชนเอาหลังพิงวังหลังจากผิดหวังจากรัฐบาลทักษิณนั้น ในช่วงแรกกระแสดังกล่าวยังจุดไม่ติด แต่ลึกๆ แล้วมีความตึงเครียดระหว่างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง (11 ล้านเสียง/ 19 ล้านเสียง) กับสถาบันกษัตริย์ (ที่อ้างความจงรักภักดีของประชาชนทุกหมู่เหล่า) ซึ่งเริ่มก่อตัวขึ้นมาตั้งแต่ปีแรกๆ ของรัฐบาลทักษิณแล้ว ดังปรากฏให้เห็นในเอกสารวิกิลีกส์ที่เผยแพร่ออกมาภายหลัง และแปลลงวารสารฟ้าเดียวกันในต่างกรรมต่างวาระพร้อมบทวิเคราะห์
เมื่อรัฐบาลทักษิณอยู่จนครบวาระ 4 ปี (พร้อมกับบาดแผลต่างๆ เช่น สงครามปราบปรามยาเสพติด ปัญหาไฟใต้ ฯลฯ) และมีการเลือกตั้ง 2548 ณ เวลานั้น รัฐบาลทักษิณเริ่มประกาศตนว่า เป็นศัตรูกับทุกองคาพยพในสังคมที่ไม่สยบยอม ทักษิณวางกลไกในเครือข่ายองค์กรอิสระต่างๆ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าจะไม่เกิดการถอดถอนนายกรัฐมนตรีเหมือนเมื่อครั้งเกิดกับตนในเดือนสิงหาคม 2544 ที่ทักษิณเกือบต้องหลุดจากตำแหน่ง เดชะบุญศาลรัฐธรรมนูญให้ทักษิณรอดอย่างฉิวเฉียด 8 ต่อ 7 ในคดีซุกหุ้น แต่ชัยชนะอย่างถล่มทลายของทักษิณ 377 เสียงในสภาผู้แทนราษฎร และ 19 ล้านเสียงที่เลือกทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ได้กลายเป็นดาบสองคมที่ทำให้ศัตรูของทักษิณเลือกใช้ทุกวิถีทางเพื่อจะล้มรัฐบาลทักษิณให้ได้ และอาวุธที่สำคัญที่สุดก็คือ ‘พระราชอำนาจ’
จึงไม่แปลกที่เห็นสนธิจากเดิมเป็นพันธมิตร กลายมาเป็นคู่ขัดแย้งหลักของทักษิณ สนธิเลือกหยิบวิธีการเดียวกันกับการเมืองภาคประชาชนในการเอาหลังพิงวัง เรียกร้องการถวายคืนพระราชอำนาจเพื่อมาต่อกรกับทักษิณ พลานุภาพของสนธินั้นรุนแรงและหนักหน่วงกว่าการเดินขบวนของชาวบ้านชนบท เพราะสนธิมีสื่อในมือและพูดจาภาษาเดียวกับพวกเขา
ในเวลานั้น วารสารฟ้าเดียวกันก็ได้เป็นประจักษ์พยาน โดยการอุทิศวารสารปีที่ 3 ฉบับที่ 4 ว่าด้วยสถาบันกษัตริย์กับสังคมไทย (ซึ่งกลายเป็นหนังสือต้องห้ามในเวลาต่อมา)
ฟ้าเดียวกัน: สถาบันกษัตริย์กับสังคมไทย
การเกิดขึ้นของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่สนธิ ลิ้มทองกุล นอกจากไปผนึกรวมกับ ‘ผู้นำจิตวิญญาณ’ อย่างจำลอง ศรีเมือง ทั้งยังกวาดเอาบรรดาการเมืองภาคประชาชนมาอยู่ใต้ร่มเงาของตนเองนั้น (เช่น พิภพ ธงไชย, สมศักดิ์ โกศัยสุข, สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ และสุริยะใส กตะศิลา) จึงไม่ใช่เรื่องเกินความคาดหมาย พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมีประสิทธิภาพมากพอ จนนำไปสู่การออกบัตรเชิญให้มีการรัฐประหาร 2549
ในเวลานั้น วารสารฟ้าเดียวกันฉบับพิเศษ ‘รัฐประหาร 19 กันยายน รัฐประหารเพื่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข’ ก็ได้ร่วมเป็นประจักษ์พยานด้วย รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ถือว่าเป็นการเปิดเฟสใหม่ในการต่อสู้ทางนักการเมือง เพราะองคาพยพต่างๆ ที่อยู่หลังม่านค่อยๆ เปิดเผยตัวตนออกมา
จากนั้นวารสารฟ้าเดียวกันหลายฉบับก็ได้ร่วมเป็นประจักษ์พยานบันทึกวิเคราะห์และรายงานสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่เพียงแต่การรัฐประหาร 2549 เท่านั้น ขบวนการขวาจัดของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่ไปปลุกเขาพระวิหารมาเป็นเครื่องมือล้มรัฐบาล กรณีเสด็จงานศพน้องโบว์ซึ่งส่งผลให้เกิดการตาสว่างครั้งใหญ่ในสังคมไทย ตามมาด้วยกำเนิดคนเสื้อแดงที่ต่อมาถูกปราบปรามอย่างนองเลือดในเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 2553
ถึงแม้ว่าจะมีการเลือกตั้ง 2554 แต่รัฐประหาร 2557 ก็ยังตามมาหลอกหลอน สังคมไทยต้องเผชิญกับรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นรัฐบาลที่ถวายคืนทั้งพระราชอำนาจและพระราชทรัพย์กลับสู่สถาบันพระมหากษัตริย์อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ขณะเดียวกัน นับตั้งแต่การรัฐประหาร ปี 2549 บทบาทของทหารที่กลับกรมกองไปตั้งแต่เหตุการณ์พฤษภา 2535 ก็กลับมาใหม่ในรูปแบบของ ‘ทหารพระราชา’
บทบาทของตุลาการที่เคยเป็นเพียงองค์กรตั้งรับ ก็กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของผู้เล่นทางการเมืองที่สำคัญหลังพระราชดำรัสของรัชกาลที่ 9 ในวันที่ 25 เมษายน 2549 แน่นอนว่า วารสารฟ้าเดียวกันหลายฉบับได้บันทึกวิเคราะห์เกี่ยวกับบทบาทของทหารและตุลาการ ทั้งมิติทางประวัติศาสตร์จนถึงผู้เล่นในปัจจุบัน จนมาถึงวารสารฟ้าเดียวกันฉบับสุดท้าย ‘ตุลาการในพระปรมาภิไธย ทหารไทยตามพระราชนิยม’
ฟ้าเดียวกัน: ตุลาการในพระปรมาภิไธย ทหารไทยตามพระราชนิยม
อย่างไรก็ตาม ภารกิจการต่อสู้เพื่อสถาปนาระบอบใหม่นั้นยังอีกยาวไกล ดังอมตะวาจาของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี เมื่อ 15 สิงหาคม 2483 หรือ 83 ปีที่แล้วว่า “ผมขอยืนยันว่า ในชั่วชีวิตเรา บางทีลูกเราด้วย จะต้องรบกันไปอีก และแย่งกันในระบอบเก่ากับระบอบใหม่นี้”
อ่าน ๑๐๑ สำนักพิมพ์
1. นักบินรบ (Pilote de guerre)
อ็องตวน เดอ แซ็งเต็กซูเปรี (Antoine de Saint-Exupéry) ประพันธ์
วัลยา วิวัฒน์ศร แปลจากภาษาฝรั่งเศส
นวนิยายจากประสบการณ์จริงสุดระทึกในสงครามโลกครั้งที่ 2 ภารกิจบินลาดตระเวนเหนือเมืองอาร์ราส เพื่อถ่ายภาพแสนยานุภาพรถถังเยอรมนีเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 1940 เมืองที่ถูกยึดครองกำลังถูกเผาลุกเป็นไฟ ในขณะที่พวกเขาต้องบินระดับต่ำฝ่าเข้าไปในดงกระสุนของศัตรู นับเป็นภารกิจอุทิศชีวิตที่ทุกคนตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า “ครับ ท่านผู้บัญชาการ” แม้ว่ากองบินนี้จะมีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 17 ทีม จาก 23 ทีม
ในยามที่ชีวิตลอยล่องอยู่กลางอากาศ เหนือพื้นดินถึงหมื่นเมตร พลาดเพียงนิดชีวิตก็จะหาไม่ แซ็งเต็กซูเปรีได้หวนคะนึงถึงชีวิตวัยเด็ก น้องชายผู้ตายจาก พี่เลี้ยงผู้เป็นดั่งเกราะคุ้มภัย ทั้งยังครุ่นคิดและตั้งคำถามเกี่ยวกับอารยธรรม ศาสนา และความเป็นมนุษย์ในภาวะสงคราม ซึ่งมองอีกแง่หนึ่ง ผู้แพ้ก็เหมือนต้นไม้ แม้มันจะถูกโค่น แต่เมล็ดพันธุ์ยังฝังอยู่ในแผ่นดิน ย่อมจะงอกงามขึ้นใหม่ได้อีกครั้ง
สื่อสิ่งพิมพ์อเมริกันกล่าวถึง นักบินรบ ไว้ว่า “…หนังสือยิ่งใหญ่ว่าด้วยสงครามครั้งนี้ได้เกิดขึ้นแล้ว และเป็นงานชิ้นโบแดงอันไม่อาจมีผู้ใดโต้แย้งได้…”
2. ประตูแคบ (La Porte étroite)
อ็องเดร ฌีด (André Gide) ประพันธ์
พิริยะดิศ มานิตย์ แปลจากภาษาฝรั่งเศส
ความรักระหว่างเฌโรมกับพี่น้องสองสาว อาลิซา และฌูลิแยต นั้นยากจะนิยาม ด้วยว่าทั้งสามเป็นลูกพี่ลูกน้องที่สนิทสนมกันมาตั้งแต่เด็ก บาดแผลในครอบครัวทำให้บิดาทุกข์ระทม อาลิซาจึงคิดจะสละความสุขทางโลกเพื่ออุทิศตนรับใช้พระเจ้า และเฝ้าปรนนิบัติดูแลบิดาไปพร้อมกัน โดยหวังจะให้เฌโรมสมรักกับน้องสาวของตนแทน แต่ใครเล่าจะเฝ้าบงการความรักได้ดังใจตน ถึงอย่างไรเฌโรมก็ยังเฝ้ารักเฝ้ารออยู่หน้า ‘ประตูแคบ’ หวังจะได้เปิดเข้าไปสักวัน
ประตูแคบของ อ็องเดร ฌีด เป็นนวนิยายที่แฝงทั้งชีวประวัติของผู้เขียน ทัศนะเชิงวิพากษ์ของผู้เขียนอันมีต่อศาสนา และที่สำคัญเป็นงานวรรณศิลป์ซึ่งเปี่ยมล้นด้วยสัญลักษณ์ เป็นงานชั้นยอดเพราะมิได้มีความหมายหนึ่งเดียว จะอ่านเพื่อให้รู้จักผู้ประพันธ์ก็ได้ จะอ่านในฐานะงานเขียนวิพากษ์ศาสนาก็ได้ เหนืออื่นใด วรรณกรรมชิ้นนี้คืองานศิลปะซึ่งใช้ภาษาสัญลักษณ์ต่างสีและเล่นแสงเงาราวจิตรกรรมชิ้นเอก (บางส่วนจากบทวิเคราะห์ของผู้แปล)
ในห้วงเวลาตั้งแต่ปี 1901-1909 นวนิยายมโนธรรมกลับด้าน และประตูแคบ ก่อกำเนิดอยู่ในใจอ็องเดร ฌีดพร้อมกันดั่งอุ้มท้องลูกแฝด แต่เมื่อทำคลอดออกมาจึงรู้ว่าเป็นแฝดคนละฝา เป็นด้านกลับของกันและกัน ตัวเอกในเรื่องหนึ่งใช้ชีวิตนอกกรอบสังคมเพื่อเสวยสุขอย่างสุดโต่ง ส่วนอีกเรื่องก็เคร่งครัดอุทิศตนเพื่อศรัทธาสูงส่งจนละความสุขทางโลก
ผลงานของนักประพันธ์รางวัลโนเบลปี 1947 อันเป็นส่วนหนึ่งในพันธกิจที่จะเปิดโปงและวิพากษ์วิจารณ์การกดขี่จากครอบครัวและคำสอนศาสนา เป็นดอกผลจากการเดินทางท่องเที่ยวประเทศในแถบแอฟริกาเหนือร่วมกับ ออสการ์ ไวลด์ และผองเพื่อน ซึ่งทำให้อ็องเดร ฌีดเป็นอิสระจากแม่ผู้เคร่งศีลธรรมและห่างไกลจากคำสอนในคัมภีร์ จึงได้ปลดปล่อยศักยภาพของตนเองออกมา
3. ตัวละครเอกแห่งยุคของเรา A Hero of Our Time
มิคฮาอิล เลียรมอนตอฟ (Mikhail Lermontov) ประพันธ์
อติภพ ภัทรเดชไพศาล แปลจากภาษารัสเซีย
บนเทือกเขาสูงชันและอันตราย มีเรื่องเล่ารอบกองไฟคลายหนาวก่อนออกเดินทางต่อ เป็นเรื่องราวของ ‘เปโชริน’ นายทหารหนุ่มรูปงามผู้มีความเบื่อหน่ายเป็นเจ้าเรือน เขาถูกเนรเทศจากเมืองหลวงของรัสเซียมาประจำการยังเขตชายแดน มาอยู่ท่ามกลางคนเถื่อนและชนเผ่าต่างๆ แล้วก็มีเหตุให้เข้าไปข้องเกี่ยวกับการลักพาตัว ‘แบล่า’ โฉมงามลูกสาวหัวหน้าเผ่า
จากเรื่องเล่าผ่านปากคนเคยใกล้ชิด ถูกสานต่อด้วยข้อความในสมุดบันทึกของเปโชรินเองที่ตกไปอยู่ในครอบครองของคนแปลกหน้าผู้ถือวิสาสะตีพิมพ์เผยแพร่ ทำให้เรื่องราวแต่หนหลังของเปโชรินเปิดเผยออกมาอีก ทั้งภารกิจสอดแนมพวกโจรค้าของเถื่อนที่มีนางพรายเป็นนกต่อ และมีเด็กตาบอดที่เดินเลาะขอบผาได้คล่องกว่าคนตาดีเป็นสมุน เรื่องรักครั้งก่อนกับ ‘เจ้าหญิงแมรี่’ รวมถึงรักฝังใจในอดีตกับ ‘เวียร่า’ ที่หวนกลับมาเหลื่อมซ้อนกันอยู่ในห้วงเวลาหนึ่ง
นี่คือเรื่องราวของชายหนุ่มที่นิยามตัวเองว่าเป็น ‘ผู้พิการทางศีลธรรม’ ซึ่งมีภารกิจหนึ่งเดียวคือการทำลายความหวังของคนอื่น!
ตัวละครเอกแห่งยุคของเรา นับเป็นก้าวแรกๆ ของนิยายว่าด้วยการสำรวจตัวตนและจิตใจตัวละคร ซึ่งส่งอิทธิพลไปถึงงานสร้างสรรค์ของนักเขียนคนสำคัญอื่นๆ ในเวลาต่อมาอย่าง Fyodor Dostoyevsky, Leo Tolstoy, Ivan Turgenev และเป็นเรื่องแต่งที่ราวกับทำนายอนาคตตัวเองของผู้ประพันธ์ ด้วยว่าฉากดวลปืนในนิยายปรากฏจริงในชีวิตของเขาเอง เพียงแต่ผลของฝ่ายผู้รอดชีวิตนั้นต่างกับในนิยาย
หลังจากตีพิมพ์เผยแพร่ในปี 1840 ตัวละครเอกแห่งยุคของเรา ก็ได้รับเสียงชื่นชมจากนักวิจารณ์เป็นอย่างมาก ขณะเดียวกันก็ถูกผู้อ่านตำหนิติเตียนเรื่องความไร้ศีลธรรมของตัวละคร แต่ถึงกระนั้นนิยายเรื่องนี้ก็จัดเป็นผลงานสำคัญของยุคสมัยอย่างไม่ต้องสงสัย Vladimir Nabokov แปลเป็นภาษาอังกฤษในชื่อ A Hero of Our Time ตีพิมพ์ในปี 1958 ต่อมาได้รับการสร้างเป็นภาพยนตร์ในปี 1966 และสร้างเป็นทีวีซีรีส์ในปี 2006
4. โทษประหาร โคล้ด เกอ (Claude Gueux)
วิกตอร์ อูโก (Victor Hugo) ประพันธ์
พิชญา จิระวรรธนะ แปลจากภาษาฝรั่งเศส
ความหิวโหยของสามชีวิตบีบคั้นให้ โคล้ด เกอ กรรมกรยากไร้แห่งกรุงปารีส ต้องกลายเป็นขโมยและถูกจับขังคุก แล้วชีวิตในกรงขังก็กระหน่ำซ้ำเติมเขาอีกรอบ จนตกเป็นนักโทษประหาร! เรื่องราวของโคล้ด เกอ ได้รับการสร้างเป็นทีวีซีรี่ส์ในปี 2009
นวนิยายขนาดสั้นแต่สั่นสะเทือนสังคมฝรั่งเศสมาแล้ว เกิดปรากฏการณ์ที่มีนายวาณิชผู้หนึ่ง ควักทุนทรัพย์ส่วนตัวเพื่อจัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้ไปมอบให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกคนในขณะนั้น และส่งผลให้โทษประหารถูกยกเลิกในเวลาต่อมา
อีกหนึ่งผลงานเรื่องสำคัญของผู้สร้างสรรค์ เหยื่ออธรรม (Les Misérables) อันลือลั่น วิกตอร์ อูโก เป็นนักประพันธ์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในศตวรรษที่ 19 เขามีปณิธานอันแรงกล้าที่จะเป็นปากเป็นเสียงให้แก่ประชาชนผู้ทุกข์ยาก และถ่ายทอดเรื่องราวในยุคสมัยของเขาให้ครบถ้วนที่สุด นอกจากงานประพันธ์แล้ว อูโกยังได้รับเลือกเป็นราชบัณฑิตแห่งฝรั่งเศส และเป็นสมาชิกวุฒิสภาอีกด้วย
สำนักพิมพ์ Illuminations Editions
1. บทปริทัศน์ “เคียร์เคอการ์ด ฉบับกระชับ”
Patrick Gardiner (แพทริก การ์ดิเนอร์) ประพันธ์
พุทธิพงศ์ อึงคนึงเวช, ภาคิน นิมมานนรวงศ์ แปล
‘เคียร์เคอการ์ด’ เป็นหนึ่งในผู้ที่ท้าทายความศักดิ์สิทธิ์และต่อต้านแนวคิดกระแสหลัก ในศตวรรษที่ 19 ที่โดดเด่นคนหนึ่ง เป็นนักเขียนผู้จงใจผลิตงานโจมตีสมมติฐาน และรูปแบบทางความคิดที่ครอบงำยุคสมัยของตน และผู้ซึ่งข้อถกเถียงสำคัญได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ก็เมื่อตายจากโลกนี้ไปแล้ว แนวคิดที่ทรงอิทธิพลของเคียร์เคอการ์ดเกี่ยวกับการวิเคราะห์ลักษณะของมนุษย์และให้ความสำคัญกับการเลือกของปัจเจก โดยเฉพาะส่วนที่นำไปขยายต่อยอด เป็นแนวคิดปรัชญาอัตถิภาวนิยม ก่อให้เกิดการโต้เถียงว่า อาจเป็นแนวคิดทางปรัชญาที่สุดยอดที่สุดของเขา ส่วนแนวคิดทางศาสนาก็น่าสนใจแต่มีความขัดแย้งในตัวเอง และยังเป็นที่ถกเถียงอย่างกว้างขวาง
หนังสือเคียร์เคอการ์ดฉบับกระชับ เล่มนี้ได้สรุปเนื้อหาเบื้องต้นอย่างเข้าใจง่าย และทำให้เห็นว่า ‘เคียร์เคอการ์ด’ มีพัฒนาการทางความคิดที่ตรงข้ามกับความคิดกระแสหลักในยุคของเขาอย่างไร โดยจะอธิบายท่าทีที่เคียร์เคอการ์ดมีต่อแนวคิดจริยศาสตร์และแนวคิดเกี่ยวกับศาสนาของคานท์และเฮเกล นอกจากนั้นหนังสือเล่มนี้ยังแสดงให้เห็นความแตกต่างระหว่างจุดยืนทางความคิดของเคียร์เคอการ์ด และแนวคิดอื่นๆ ที่ได้รับการพัฒนาต่อมา โดยนักคิดอย่างฟอยเออร์บาคและมาร์กซ์อีกด้วย
อ่านรีวิวเพิ่มเติมโดย เจษฎากร บุญครองธรรมที่ https://www.illuminationseditions.com/article/84/บทปริทัศน์-เคียร์เคอการ์ด-ฉบับกระชับ
2. ชาร์ลส์ โบดแลร์: กวีและนักวิจารณ์ศิลปะ
สดชื่น ชัยประสาธน์ ประพันธ์
หนังสือเล่มนี้จัดเป็นตำราเล่มแรกที่ช่วยให้ผู้อ่านชาวไทยได้รู้จักชีวิต ผลงาน และความคิดของอัจฉริยกวี-นักวิจารณ์ศิลปะหัวก้าวหน้าผู้นี้
หลังจากนั้นก็ไม่ได้มีการพิมพ์หนังสือเล่มนี้ใหม่อีกเลย สำนักพิมพ์ Illuminations Editions เห็นว่างานชิ้นนี้มีคุณค่าเป็นอย่างสูงสำหรับผู้สนใจศึกษางานของชาร์ลส์ โบดแลร์ จึงได้ขออนุญาตกับผู้เขียนเพื่อนำหนังสือเล่มนี้มาพิมพ์อีกครั้ง
แต่ผู้เขียนมีความประสงค์ที่จะรักษาเนื้อหาในการพิมพ์ใหม่นี้ ให้เหมือนกับการพิมพ์ครั้งแรกทุกประการ ในการพิมพ์ใหม่นี้ สำนักพิมพ์จึงไม่ได้ทำการเปลี่ยนแปลงใดๆ นอกจากเปลี่ยนปกและขนาดของหนังสือให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น
3. จิตรกรแห่งชีวิตสมัยใหม่
ชาร์ลส์ โบดแลร์ ประพันธ์
รติพร ชัยปิยะพร แปล
ชาร์ลส์ โบดแลร์ เป็นที่รู้จักกันในฐานะกวีชาวฝรั่งเศสช่วงศตวรรษที่ 19 และได้รับการขนานนามว่าเป็นผู้บุกเบิก ‘กวีนิพนธ์สมัยใหม่’ ในแวดวงวรรณกรรมตะวันตก โดยเฉพาะงานรวมเล่มกวีนิพนธ์ อย่าง Les Fleurs du Mal (ดอกไม้แห่งความชั่ว) และ Le Spleen de Paris (ทุกข์ระทมในปารีส) นอกจากนี้ โบดแลร์ยังได้เขียนบทวิจารณ์งานศิลปะไว้อีกมากมาย อาทิจิตรกรแห่งชีวิตสมัยใหม่ เล่มนี้เป็นบทความที่รวบรวมหลักคิดสำคัญต่างๆ ไว้
‘ความเป็นสมัยใหม่’ ในฐานะแก่นเรื่องของงานศิลปะที่โบดแลร์กล่าวถึง คือการให้ความสำคัญกับรายละเอียดของสิ่งต่างๆ รอบตัวในช่วงเวลาขณะนั้น ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่งดงามหรือสิ่งที่ประหลาด แม้ปรากฏการณ์นั้นจะวูบไหวชั่วแล่นไม่จีรัง แต่มันก็มีส่วนของแก่นสารที่ดำรงอยู่ชั่วนิรันดร์ ความพึงพอใจต่อภาพสะท้อนความร่วมสมัย ไม่เพียงแต่ชี้ให้เห็นความงามที่ฉาบเคลือบสังคมปัจจุบันอยู่เท่านั้น แต่ยังแสดงให้เห็นลักษณะเฉพาะตัวของปัจจุบันอีกด้วย
4. สยามเขตร: หลากหลายมิติเขตแดนสยาม
ฐนพงศ์ ลือขจรชัย ประพันธ์
การศึกษาเขตแดนในไทยคดีศึกษา ได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ผลงานชิ้นสำคัญอย่าง กำเนิดสยามจากแผนที: ประวัติศาสตร์ภูมิกายาของชาติ ของ ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล ได้รับการตีพิมพ์ในปี 1994 (ฉบับภาษาอังกฤษ)
งานชิ้นนี้ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนอย่างรุนแรงต่อรากฐานการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ชาติไทยจนอาจนับได้ว่าเกิด ‘รอยเลื่อน’ (Fault) ขนาดใหญ่ในไทยคดีศึกษาที่เปิดโอกาสให้นักวิชาการจำนวนมากเข้ามาตีความและพยายามอุดรอยเลื่อนนั้นในมิติที่หลากหลาย
หนังสือ สยามเขตร: หลากหลายมิติเขตแดนสยาม เป็นการรวบรวมบทความที่สำคัญในการศึกษาเขตแดน (Boundary) ชายแดน (Border) หรือพรมแดน (Frontier) ของไทย จากแง่มุมต่างๆ ที่พยายามตอบสนองต่อรอยเลื่อนดังกล่าวอย่างลุ่มลึกและถึงที่สุด ข้าพเจ้าหวังเป็นอย่างยิ่งว่าหนังสือเล่มนี้จะช่วยผลักดันและเปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ ในการทำความเข้าใจข้อถกเถียงเรื่องเขตแดนสยามในช่วงกว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา
สำนักพิมพ์บทจร
1. เรื่องตลก
2. รักชวนหัว
มิลาน คุนเดอรา ประพันธ์
ภัควดี วีระภาสพงษ์ แปล
ทางกองบรรณาธิการได้เขียนแนะนำหนังสือทั้ง 2 เล่มนี้ว่า เป็นผลงานยุคแรกๆ ของมิลาน คุนเดอรา ที่มีฉบับแปลภาษาไทยครั้งแรก (เรื่องตลก) และฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 (รักชวนหัว) นักอ่านไทยน่าจะคุ้นเคยผลงานของคุนเดอรากันไม่น้อย ในแง่มุมความเป็นวรรณกกรรมเสียดสีและแง่มุมทางการเมือง เพราะมีผลงานแปลของคุนเดอรามาตลอด 20 กว่าปีนี้
อย่างไรก็ดี ถ้าเอาจากคำของคุนเดอราเอง เขาเคยพูดถึงเขาเองไว้ว่า “ถ้าให้ต้องนิยามตัวเอง คงบอกว่าผมคือพวกสุขนิยมที่ติดหล่มอยู่ในโลกที่หมกมุ่นเรื่องการเมืองระดับสุดโต่ง” และนวนิยาย ‘เรื่องตลก’ และรวมเรื่องสั้น ‘รักชวนหัว’ ก็ดูจะสะท้อนแง่มุมนี้ได้ดี
บทตอนสำคัญในงานทั้งสองนี้ คือการแสวงหาอารมณ์ขันในโลกที่ผู้คนครุ่นคิดจริงจัง และ ‘ไม่หัวเราะ’ จนนำไปสู่ความเดือดร้อนและปัญหาที่ไม่คาดฝันตามมามากมาย นั่นคือบริบทในยุโรปตะวันออก ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กับสงครามเย็น กับในยุคปัจจุบัน แม้โลกจะเปลี่ยนไปมากแล้ว แต่โลกที่จริงจังและไม่หัวเราะก็ยังคงอยู่ ในรูปลักษณ์ที่เปลี่ยนไป เช่น นักตื่นรู้ นักต่อสู้เพื่อความยุติธรรม และความถูกต้องทางการเมือง อารมณ์ขันในงานของเขา ในแง่หนึ่งจึงราวกับงานเสียดสี ที่มีบริบทฉากหลังคือการเมือง และนำไปสู่การตั้งคำถามทางปรัชญา
อย่างไรก็ดี ไม่อาจพูดได้ว่าคุนเดอราคือพวกต่อต้านความจริงจังหรือสนับสนุนการยั่วโมโห หรือช่างเสียดสีเอาสนุก เขาเคยพูดถึงงานของเขาเองไว้ว่า “ผมไม่รู้ว่าตัวละครตัวไหนเป็นฝ่ายถูก ผมแต่งเรื่อง จับเรื่องหนึ่งชนกับอีกเรื่องหนึ่ง และด้วยวิธีนี้ผมก็ตั้งคำถามขึ้นมา ความงี่เง่าของคนเราเกิดมาจากการมีคำตอบให้กับทุกเรื่อง ประทีปปัญญาแห่งนวนิยายเกิดมาจากการมีคำถามกับทุกสิ่งทุกอย่าง” และ “นักเขียนนวนิยายสอนคนอ่านให้มองโลกเป็นคำถาม มีทั้งปัญญาและขันติธรรมแฝงอยู่ในทัศนคติแบบนั้น ในโลกที่สร้างขึ้นมาบนความแน่นอนที่ล่วงละเมิดมิได้ นวนิยายจะตายสนิท โลกเผด็จการไม่ว่าจะวางรากฐานบนมาร์กซ์ อิสลาม หรืออะไรก็แล้วแต่ เป็นโลกของคำตอบมากกว่าคำถาม นวนิยายไม่มีที่ทางอยู่ในโลกแบบนั้น” เรื่องตลกชวนหัวของเขาที่คล้ายเสียดสีจึงเหมือนงานให้เราสะท้อนดูวิธีการมองโลกของเรา และโลกที่แวดล้อมเราไปในที
สำนักพิมพ์ Bookscape
1. ญี่ปุ่นป็อป: จากประดิษฐกรรมแห่งฝันสู่มหาอำนาจทางจินตนาการ
Matt Alt ประพันธ์
โมโตกิ ลักษมีวัฒนา แปล
“ญี่ปุ่นร่ำรวยขึ้นโดยการขายสิ่งที่จำเป็นสำหรับพวกเราแต่ญี่ปุ่นเป็นที่รักของทุกคนโดยการขายสิ่งที่พวกเรา อยากได้” แมตต์ ออลต์ ผู้เชี่ยวชาญสื่อญี่ปุ่น จะพาไปถอดรหัสวัฒนธรรมป็อปที่ครองใจคนทั่วโลก ผ่านประดิษฐกรรมญี่ปุ่นที่เราหลงรัก ไม่ว่าจะเป็น
– เฮลโลคิตตี้ ที่ผงาดขึ้นในโลกชายเป็นใหญ่ด้วยความคาวาอี้
– เครื่องคาราโอเกะ ที่ทำให้แม้แต่ซาลารี่แมนธรรมดาๆ ก็เป็นดาราได้
– เกมนินเทนโด ที่เป็นสนามเด็กเล่นของเด็กรุ่นใหม่ และหลุมหลบภัยจากพิษเศรษฐกิจของวัยทำงาน
– มังงะ ที่วิวัฒนาการจากสื่อบันเทิงสู่สัญลักษณ์ความขบถของวัยรุ่นรอบโลก
และอีกสารพัดสารพัน!
ไม่ว่าโลกจะเลวร้ายแค่ไหน ก็ดูเหมือนว่าญี่ปุ่นจะเตรียมจินตนาการใหม่ๆ ไว้ให้เราประหลาดใจอยู่เสมอ ร่วมหาคำตอบว่าญี่ปุ่นผงาดขึ้นจากประเทศแพ้สงครามสู่มหาอำนาจทางจินตนาการได้อย่างไร และประดิษฐกรรมแห่งฝันของญี่ปุ่นมีส่วนขับเคลื่อนประวัติศาสตร์ชาติ พลิกโฉมวัฒนธรรมโลก กระทั่งประกอบสร้างวิถีชีวิตยุคใหม่ที่เราคุ้นเคยอย่างไรบ้าง
แล้วคุณจะมองสารพัดข้าวของญี่ปุ่นรอบตัวไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เพราะในทุกความ ‘ป็อป’ คือจิตวิญญาณเปี่ยมสีสันฉบับเมดอินเจแปน
2. สัตว์สงคราม: ประวัติศาสตร์บาดหมางที่ก่อร่างสร้างโลก
Margaret MacMillan ประพันธ์
สุทธิมาน ลิมปนุสรณ์ แปล
สงครามคือความป่าเถื่อนที่มีระบบระเบียบ
สงครามสร้างวีรบุรุษและให้กำเนิดอสุรกาย
สงครามฉุดรั้งความก้าวหน้า
แต่โลกย่อมไม่อาจรุดหน้ามาถึงจุดนี้โดยไร้สงคราม
มาร์กาเร็ต แมคมิลลาน ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด จะนำเราสำรวจสงครามในฐานะกระจกสะท้อนโฉมหน้าของมนุษย์ ทั้งความเสียสละและความละโมบ ความเปรื่องปราดและความโง่เขลา ผ่านเรื่องราวการยุทธ์ทั้งในหน้าประวัติศาสตร์และจินตนาการ ตั้งแต่สงครามม้าไม้อันลือลั่น สงครามครูเสดของเหล่าอัศวิน สงครามกลางเมืองที่แบ่งแยกชาวอเมริกัน อุตสาหกรรมสงครามยุคใหม่ ไปจนถึงศึกหุ่นยนต์สังหารแห่งอนาคต
ร่วมหาคำตอบว่าเหตุใดมนุษย์จึงไม่เคยเข็ดหลาบจากสงคราม ความรุนแรงเป็นทางเลือกหรือสัญชาตญาณที่ไม่อาจยับยั้ง ความพยายามควบคุมสงครามขับเคลื่อนสังคมอย่างไร รวมถึงคำถามสำคัญที่ว่า หากความก้าวหน้าทางการเมือง สังคม เทคโนโลยี หรือกระทั่งสันติภาพ อาจได้มาด้วยการกำจัดศัตรูให้สิ้นซาก เช่นนั้นแล้วมนุษยชาติจะหลุดพ้นจากสงครามได้หรือไม่ และมีทางเลือกอื่นใดให้เราสงบศึกกันได้อย่างแท้จริง
ในยุคสมัยที่ความบาดหมางยังขยายแนวรบต่อเนื่องทั้งในโลกจริงและโลกเสมือน ไม่มีเวลาใดจะเหมาะแก่การศึกษาประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ทั้งในฐานะสัตว์สังคมและ สัตว์สงคราม มากไปกว่าห้วงเวลานี้แล้ว
3. ฟังด้วยหู-ใจ: เปลี่ยนวิธีฟังเพียงนิด พิชิตทุกความสัมพันธ์
Michael S. Sorensen ประพันธ์
นรา สุภัคโรจน์ แปล
“สิ่งสำคัญที่สุดในการสนทนาคือการได้ยินสิ่งที่ไม่ได้พูด” – ปีเตอร์ ดรักเกอร์
‘ผู้ฟังที่ดี’ คือรากฐานของความสัมพันธ์ที่แข็งแรง คือคู่สนทนาที่เปี่ยมเสน่ห์ ช่วยคลายกังวลให้คนรอบข้าง และเปิดใจคนเห็นต่างให้รับฟังข้อโต้แย้ง ทั้งหมดนี้ไม่ต้องอาศัยวาทศิลป์ดีเยี่ยม ไม่ต้องเห็นด้วยกับทุกสิ่งที่ได้ยิน ไม่ต้องรู้วิธีแก้ปัญหา เพียงฝึกฝนทักษะที่เรียบง่ายและทรงพลังอย่างไม่น่าเชื่อ นั่นคือการรับรองความรู้สึก (validation)
ไมเคิล เอส. ซอเรนเซน กลั่นประสบการณ์การโค้ชกว่า 4 ปี บทสนทนากับผู้เชี่ยวชาญกว่า 500 ชั่วโมง และการพิสูจน์ในชีวิตจริงเป็นพันๆ ครั้ง ออกมาเป็นหนังสือสั้น กระชับ เข้าใจง่าย ที่จะทำให้ไม่ว่าใครก็เป็นผู้ฟังและคู่สนทนาที่ดีได้ด้วยสี่ขั้นตอนการรับรองความรู้สึก พร้อมกลเม็ดที่ปฏิบัติได้จริง เช่น สังเกตภาษากาย อย่าพยายามแก้ปัญหา ใช้คำว่า ‘และ’ แทนคำว่า ‘แต่’ ฯลฯ
นี่คือคุณสมบัติอันทรงพลังในยุคที่เราฟังกันและกันน้อยเกินไป อย่าเพียงฟังด้วย หู แต่ให้รับรู้ด้วย ใจ ฟังให้ ได้ยิน ความรู้สึกของคู่สนทนา และยอมรับว่าเขามีสิทธิ์เต็มร้อยที่จะรู้สึกเช่นนั้น แล้วคุณจะเป็นยอดนักฟังที่เข้าไปนั่งในใจคน
4. My Hygge Home: จัดบ้านน่าอยู่ด้วยปรัชญาความสุขฉบับฮุกกะ
Meik Wiking ประพันธ์
ศิริกมล ตาน้อย แปล
‘บ้านแสนสุข’ คือยอดปรารถนาของมนุษย์ทุกคน เราใช้บ้านเป็นพื้นที่สานสัมพันธ์กับคนรัก เรากลับบ้านเพื่อเติมพลังก่อนออกไปผจญโลกกว้าง เราอยากมีบ้านที่รู้สึกปลอดภัยและสบายใจ และสำหรับชาวเดนมาร์กที่มีความสุขที่สุดในโลก หัวใจของบ้านแสนสุขซ่อนอยู่ในปรัชญา ‘ฮุกกะ’
ไมก์ วิกิง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยความสุข ผสมผสานปรัชญาความสุขฉบับเดนมาร์กเข้ากับงานวิจัยจากทั่วทุกมุมโลก กลั่นกรองเป็นเคล็ดลับการออกแบบบ้านสร้างสุขที่เชื่อมโยงกับชีวิตรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นการจัดสรรพื้นที่ให้กว้างขึ้นด้วยหลักการ ‘เตรียมรก’ เทคนิคจัดแสงตามรอยเท้าเจ้าเหมียว การเลือกรูปทรงโต๊ะอาหารเพื่อบทสนทนาที่ลึกซึ้ง การสร้างพื้นที่ Work From Home ที่เอื้อต่องานและดีต่อใจ ไปจนถึงการออกแบบตามหลัก ‘พีระมิดความต้องการ’ เพื่อค้นพบตัวตนผ่านบ้านที่เติมเต็ม
เพราะบ้านไม่ใช่เพียงที่อาศัย แต่เป็นที่พักใจในทุกโมงยามของชีวิต ไม่ว่าบ้านของคุณจะเล็กหรือใหญ่ มีงบมากน้อยเพียงใด ปรัชญาฮุกกะจะช่วยเปลี่ยนที่อยู่อาศัยให้กลายเป็นบ้าน และเปลี่ยนบ้านให้เป็นศูนย์บัญชาการแห่งความ ‘อยู่ดี-มีสุข-ฮุกกะ’ ในแบบของคุณเอง
Tags: ฟ้าเดียวกัน, อ่าน ๑๐๑ สำนักพิมพ์, Illuminations Editions, หนังสือ, Feature, บทจร, bookscape, งานหนังสือ