ใครที่ขึ้นลงรถไฟฟ้าใต้ดินสถานีเพชรบุรี หรือขับรถเทียวผ่านแยกอโศกไปมาอยู่บ่อยๆ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อาจจะสังเกตเห็นอาคารสร้างใหม่ขนาดใหญ่ตระการตา ตกแต่งด้วยสถาปัตยกรรมผสมผสานระหว่างไทยกับตะวันตก ดูงดงามแปลกตา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมันงอกเงยขึ้นมาท่ามกลางตึกระฟ้า ป้ายโฆษณา และอาคารพาณิชย์
‘ศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย
พระวิหารกรุงเทพ ประเทศไทย’
ข้อความบนป้ายด้านหน้าระบุไว้เช่นนั้น หลายคนจึงคาดเดาว่าสถานที่แห่งนี้คงเป็นโบสถ์แห่งใหม่ที่มีขนาดใหญ่โตกว่าปกติ แต่นั่นไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องเสียทีเดียว
สำหรับคริสเตียนนิกายโปรเตสแตนต์ อาจมีศาสนสถานทั้งที่เรียกว่า ‘Temple’ และ ‘Church’ แต่โดยรวมแล้วทั้งคู่ต่างมีฟังก์ชันคล้ายกันคือเป็นอาคารประชุมที่ศาสนิกชนมารวมตัวกันเพื่อสวดภาวนา ศึกษาคัมภีร์ และประกอบพิธีการต่างๆ
ทว่าหากยึดตามความเชื่อและวิถีปฏิบัติของวิสุทธิชนยุคสุดท้าย (Latter Day Saints: LDS) หรือมอรมอน (Mormon) ซึ่งไม่ใช่ทั้งโปรเตสแตนต์และคาธอลิก สถานที่ที่เรียกว่า ‘พระวิหาร’ (Temple) นั้น มีฟังก์ชันใช้งานที่แตกต่างจากโบสถ์ (Church หรือ Chapel) ทั่วไปอย่างสิ้นเชิง
พระวิหารคือนมัสการสถานอันศักดิสิทธิ์ ถือเป็นบ้านหรือ ‘พระนิเวศน์’ ของพระเจ้า จึงไม่ใช่พื้นที่ที่จะเปิดประตูรับใครเข้าไปก็ได้เหมือนอย่างโบสถ์ธรรมดาทั่วไป ที่อ้าแขนโอบรับคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกศาสนา ขอเพียงแค่เป็นผู้มีใจอยากศึกษาข้อคัมภีร์ก็เพียงพอ
ดังนั้น ต่อให้เป็นผู้ที่รับเชื่อ เข้าพิธีบัพติศมา (Baptism) และกลายเป็นสมาชิกของศาสนจักรอย่างเป็นทางการแล้ว ก็อาจไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในพระวิหาร จนกว่าจะได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการจากศาสนจักรว่า เป็นสมาชิกที่ซื่อสัตย์และคู่ควรกับพระวิหารอย่างแท้จริง
นอกจากพระวิหารกรุงเทพที่เพิ่งสร้างเสร็จหลังนี้ จะเป็นพระวิหารแห่งแรกในประเทศไทย ซึ่งนับว่าเป็นหมุดหมายสำคัญบนเส้นทางการเติบโตของศาสนจักรแล้ว ยังถูกสร้างขึ้นด้วยความหวังว่าต่อจากนี้ไป สมาชิกชาวไทยกว่า 2.3 หมื่นคนทั่วประเทศ จะมีจุดศูนย์กลางการเติบโตทางวิญญาณเป็นของตัวเอง ไม่ต้องเดินทางไปนมัสการพระวิหารไกลถึงฮ่องกง ไต้หวัน หรือฟิลิปปินส์อีกต่อไป
อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆ นี้ศาสนจักรประกาศข่าวดีสำหรับผู้ที่อาศัยในชุมชนใกล้เคียงและประชาชนทั่วไปที่มีความสนใจว่า ขณะนี้อาคารยังไม่ผ่านพิธีอุทิศพระวิหารแด่พระผู้เป็นเจ้าอย่างเป็นทางการ จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะจัดงาน Open House เปิดให้ทุกคนสามารถเข้าเยี่ยมชมพระวิหารฟรี โดยไม่จำกัดศาสนา ตั้งแต่วันที่ 1-16 กันยายน 2566 (ยกเว้นวันอาทิตย์)
ในทุกรอบการทัวร์ นอกจากจะได้ดื่มด่ำความงามของสถาปัตยกรรมและภาพเขียนที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเหตุการณ์ในพระคัมภีร์แล้ว ยังมีสมาชิกศาสนจักรคอยทำหน้าที่ไกด์ เดินนำทางไปสู่ห้องสำหรับประกอบพิธีต่างๆ พร้อมบรรยายถึงจุดประสงค์ที่ลึกซึ้งของแต่ละห้อง ตลอดจนบทบาทในอนาคตของวิหารแห่งนี้
ไฮไลต์ที่พลาดไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง คือความสวยงามละเอียดลออของ ‘โถงบัพติศมา’ (Baptistry) โดยเฉพาะอ่างล้างบาปรูปแปดเหลี่ยม ตั้งประทับอยู่บนรูปปั้นวัวตัวผู้สีนวลผ่องจำนวน 12 ตัว อันเป็นเครื่องหมายของวงศ์วานแห่งอิสราเอลทั้งหมด 12 ชนเผ่า ตามเรื่องราวที่ถูกบอกเล่าในพระคัมภีร์พันธสัญญาเดิม
หลังจากสิ้นสุดช่วง Open House แล้ว ในวันอาทิตย์ที่ 22 ตุลาคม 2566 ศาสนจักรจะทำพิธีอุทิศถวายพระวิหารไว้เพื่อใช้สำหรับงานของพระเจ้า ซึ่งหมายความว่าหลังจากนั้น พระวิหารจะถูกสงวนเอาไว้สำหรับสมาชิกที่ได้รับการรับรองเท่านั้น
งานเปิดบ้านในครั้งนี้จึงถือเป็นโอกาสครั้งหนึ่งในชีวิต ที่เราจะได้เข้าไปสัมผัสความงดงามและสงบเงียบของ ‘นิเวศน์แห่งพระผู้เป็นเจ้า’
Tags: พระเยซู, วิสุทธิชนยุคสุดท้าย, มอรมอน, พระวิหารกรุงเทพ, แยกอโศก, Feature, คริสต์ศาสนา