หากให้นึกภาพถึงชุดที่มีความเป็น จีน มลายู และยุโรป แต่กลับนิยมสวมใส่ในประเทศไทย คุณนึกภาพออกมาอย่างไร
บางทีคุณอาจจะไม่ต้องนั่งครุ่นคิดแล้วก็ได้ เพราะคุณอาจเคยเห็นผ่านตามาแล้ว หากติดตามงานแต่งระหว่าง ปอย-ตรีชฎา เพชรรัตน์ นักแสดงและนางแบบ กับบรรลุ หงษ์หยก ทายาทตระกูลหงษ์หยก ที่จัดขึ้นตามประเพณีการแต่งงานของชาวเพอรานากัน เมื่อปี 2566
การแต่งงานครั้งนั้นเป็นที่พูดถึงอย่างมาก ถึงความสวยงามและอลังการของชุดเจ้าสาวหรือ ‘ชุดบาบ๋า-ย่าหยา’ ของตรีชฎา ที่มีลักษณะเป็นชุดจีนคอตั้ง แขนจีบ คลุมด้วยผ้าลายปัก พร้อมเครื่องประดับสีทองทั่วทั้งตัว อีกทั้งยังมีมงกุฎขนาดใหญ่ ด้านบนประดับด้วยดอกไม้ไหวไปตามการเคลื่อนตัวของเจ้าสาวอยู่ตลอดเพื่อหาคำตอบถึงที่มาและรายละเอียด The Momentum พูดคุยกับ ภัทร สุวัณณาคาร ทายาทรุ่นที่ 4 ของตระกูลทวีสุวัณณ์ ร้านขายเครื่องประดับเก่าแก่ของภูเก็ต และกรรมการผู้จัดการพิพิธภัณฑ์เพอรานากัน จังหวัดภูเก็ต ถึงประวัติศาสตร์ชุดบาบ๋า-ย่าหยาว่า ความเป็นจีน มลายู และยุโรป ซ่อนอยู่ตรงไหน เหตุใดชุดบาบ๋า-ย่าหยาของภูเก็ต จึงมีความแตกต่างในบางจุดเมื่อเทียบกับท้องที่อื่นๆ ในคาบสมุทรมลายู รวมถึงความสำคัญของการกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง กับภารกิจต่อไปที่สำคัญ
หากจะพูดถึง ‘บาบ๋า-ย่าหยา’ ภัทรเล่าว่า ต้องเกริ่นถึงวัฒนธรรมเพอรานากันที่เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากฝั่งมลายูเสียก่อนว่า สิ่งสำคัญที่ซ่อนอยู่ในอาหาร อาคาร และอาภรณ์ (เสื้อผ้า) ของคนจีนฮกเกี้ยนผู้เป็นเจ้าของวัฒนธรรม คือการผสมผสานระหว่างจีน มลายู และยุโรป
สำหรับอาภรณ์ ชุดบาบ๋า-ย่าหยาคงอัตลักษณ์ของ 3 วัฒนธรรมอย่างชัดเจน โดยเสื้อบาบ๋าที่มีลักษณะคอตั้งแขนจีบก็ได้รับอิทธิพลมาจากจีน เสื้อย่าหยาที่เป็นเสื้อคลุมที่มีการปักลาย รวมถึงโสร่งผ้าปาเต๊ะก็อ้างอิงมาจากเสื้อผ้าของมลายู ส่วนผู้ชายก็มักจะสวมชุดสูทตามชาติยุโรป
ทำให้ในวันที่กลุ่มชาวจีนฮกเกี้ยนและวัฒนธรรมเพอรานากันเข้ามาในจังหวัดภูเก็ต ชุดบาบ๋า-ย่าหยาจึงนิยมในท้องที่นี้มากยิ่งขึ้น โดยได้รับการถ่ายทอดความรู้ด้านการทำชุดเครื่องแต่งกายผ่านหญิงสาว ซึ่งเมื่อเข้าสู่วัยรุ่นจะได้รับการถ่ายทอดความรู้ด้านงานฝีมือทั้งงานเย็บ ปักเสื้อผ้าและเครื่องใช้ต่างๆ เช่น หมอน ม่านหน้าต่าง เพื่อเตรียมตัวออกเรือน โดยผู้ถ่ายทอดคือญาติฝ่ายหญิงของตระกูล
แม้คำว่า บาบ๋า-ย่าหยาหมายถึงชายและหญิงชาวจีน-มลายู แต่สำหรับเครื่องแต่งกายตามวัฒนธรรมเพอรานากัน 2 คำนี้หมายถึงองค์ประกอบของเครื่องแต่งกายหญิงหรือย่าหยาด้วยกันทั้งคู่
“เสื้อบาบ๋าคือเสื้อคอตั้ง แขนจีบ ทรงจีน ส่วนย่าหยาคือเสื้อปักลายที่คลุมอยู่ข้างนอก” ภัทรเล่า
“เดิมทีแล้ว ชุดบาบ๋า-ย่าหยาจะใส่เสื้อคอตั้ง แขนจีบ แล้วคลุมด้วยชุดครุยยาวมาถึงช่วงต้นขา แต่เมื่อชุดเริ่มแพร่หลายในภูเก็ตที่มีอากาศร้อน จึงเกิดการประยุกต์ให้ชุดครุยสั้นลง เหลือเพียงแค่ช่วงเอวเท่านั้น นำไปสู่ชุดเคบายา (Kebaya)
“ในยุคแรกเราเรียกว่า ชุดเคบายาลินดา (Kebaya Renda) ซึ่งมีการปักลายลูกไม้ไว้ที่เสื้อครุย โดยมีการสันนิษฐานว่า ได้รับอิทธิพลด้านการปักและผลิตผ้าลูกไม้ทำมือมาจากประเทศฮอนลันดาหรือเนเธอร์แลนด์ ก่อนที่จะพัฒนาเป็นเคบายา บีกู (Kebaya Biku) ที่เพิ่มการฉลุลายริมขอบเสื้อด้วยเทคโนโลยีและเครื่องจักร และพัฒนาสู่เคบายาซูแลม (Kebaya Sulam) ที่ใช้ลวดลายและการปักจากพื้นที่ท้องถิ่นในภูเก็ตมากยิ่งขึ้น”
ลักษณะชุดบาบ๋า-ย่าหยา (สีส้ม) ชุดเคบายาลินดา (สีขาว) ชุดเคบายาบีกู (สีเขียว) และชุดเคบายาซูแลม (สีแดง)
ส่วนใหญ่การแต่งกายแบบบาบ๋า-ย่าหยาจะมีโอกาสเห็นบ่อยที่สุดคือการแต่งงานของบ่าว-สาวเพอรานากัน ที่ฝ่ายหญิงสวมชุดบาบ๋า-ย่าหยาพร้อมเครื่องประดับทั้งตัว รวมถึงฝ่ายชายสวมชุดสูท รองเท้าหนัง มีเครื่องประดับคือปิ่นตั้ง (Bintang) และคอสาร์ทที่ทำมาจากขนกระต่าย เพื่อแสดงให้รู้ว่านี่คือเจ้าบ่าว
นอกจากชุดแต่งงานที่ปรากฏในภาพ ทางซ้ายมือยังมี ‘ชุดนายเหมือง’ ของผู้ชายสำหรับสวมใส่ไปดูแลกิจการเหมืองดีบุก ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากชุดทหารยุโรป
“แต่ความเป็นจริง ผมเคยคุยกับนายเหมืองสมัยก่อนมา เขาเล่าให้ฟังว่า ปกติแล้วเขาก็ไม่ได้ใส่ชุดนายเหมืองหรอก เพราะในการค้าขายกิจการกับต่างชาติ ก็ต้องแต่งตัวให้ดูเหมือนกับคนต่างชาติ ทำให้ส่วนใหญ่นายเหมืองมักใส่ชุดสูทกันเป็นส่วนใหญ่ ส่วนชุดนายเหมืองนั้นมีเอาไว้เหมือนให้รู้ว่า เป็นชุดสำหรับคนที่เป็นเจ้าของเหมือง มีหน้ามีตา มีฐานะเพียงเท่านั้น ไม่ได้ใส่กันเป็นกิจจะลักษณะ” ภัทรเล่า
‘เครื่องประดับ’ ถือเป็นสิ่งสำคัญในการแต่งกายตามวัฒนธรมเพอรานากัน เพราะเป็นการบ่งบอกถึงฐานะของผู้สวมใส่ ซึ่งโดยปกติแล้วจะมีเครื่องประดับ 2 ชิ้นสำคัญที่ต้องปรากฏอยู่ในชุดบาบ๋า-ย่าหยา คือปิ่นตั้งและกอรอสัง (Kerongsang)
สำหรับปิ่นตั้งเป็นเข็มกลัดรูปดาว 6 หรือ 8 แฉก ทรงกลมนูน ซึ่งส่วนใหญ่มักประดับด้วยเพชรเพื่อบ่งบอกยศถาบรรดาศักดิ์
ขณะที่กอรอสังเป็นเครื่องประดับ 3 ชิ้น มีลักษณะคล้ายรูปหัวใจ ส่วนปลายของเครื่องประดับเอียงชี้ไปทางซ้ายเล็กน้อย โดยชิ้นบนมีขนาดใหญ่กว่า นิยมเรียกว่า กอรอสังตัวแม่ ส่วนชิ้นล่างเรียกว่า กอรอสังตัวลูก และจะใช้สำหรับกลัดเสื้อแทนกระดุม โดยคำว่ากอรอสัง ภัทรเชื่อว่า เป็นคำเรียกที่เพี้ยนเสียงมาจากรากศัพท์ภาษาโปรตุเกสว่า กูราซู (Coração) หรือโคราซอน ที่หมายถึงหัวใจ
“ส่วนเครื่อประดับชิ้นสำคัญที่ปรากฏให้เห็นเพียงแค่วันแต่งงานเท่านั้น คือฮั้วก๋วนหรือมงกุฎดอกไม้ไหว” ภัทรเกริ่นนำถึงมงกุฎอันเป็นสัญลักษณ์ของเครื่องแต่งกายหญิงสาวเพอรานากัน
เดิมทีฮั้วก๋วนเกิดขึ้นจากปิ่นปักผมทั้งหมด 144 ชิ้น ที่ได้มาจากญาติพี่น้องของเจ้าสาว ใช้ปักเกล้ามวยผมจนกลายเป็นรูปมงกุฎขึ้นมา ด้านบนประดับด้วยหงส์หรือนกฟินิกซ์ ซึ่งถือเป็นสัตว์ใหญ่ มีเสียงร้องกังวาน สื่อถึงเจ้าสาวเมื่ออยู่ภายในบ้านเจ้าบ่าวแล้วจะต้องมีวาจาอ่อนหวาน และดูแลสามีให้มีความสงบร่มเย็นได้
ต่อมาในประเทศไทยปรับให้เป็นมงกุฎที่สวมใส่สะดวกมากยิ่งขึ้น ด้านบนมีดอกไม้ที่สร้างขึ้นจากดิ้นทองไหวปลิวไปมา ซึ่งภัทรเล่าว่า หมายถึงหัวใจที่สั่นไหวของสตรีในวันแต่งงาน
ปัจจุบัน การแต่งชุดบาบ๋า-ย่าหยากลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง สำหรับเป็นเครื่องแต่งกายในพิธีแต่งงานแบบเพอรานากัน หลังจากช่วง 10 ปีก่อนหน้านี้ ชาวภูเก็ตเลือกสวมใส่ชุดแต่งงานแบบตะวันตก ทำให้ในช่วงหนึ่งการแต่งงานแบบบาบ๋า-ย่าหยาหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ของภูเก็ต
แต่ในวันนี้นอกจากในพิธีแต่งงานแล้ว ภัทรยังเล่าว่า ชุดบาบ๋า-ย่าหยาถูกประยุกต์มาใส่เพื่อให้เข้ากับแฟชั่นสมัยใหม่มากขึ้น อีกทั้งในปัจจุบัน องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) กำลังพิจารณาให้ผ้าเคบายาเป็นมรดกร่วมทางภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ของประเทศแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบด้วยมาเลเซีย บรูไน อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และไทย เนื่องจากเป็นเครื่องแต่งกายที่สะท้อนรากเหง้าทางประวัติศาสตร์
สุดท้ายภัทรกล่าวเพิ่มเติมว่า วัฒนธรรมเพอรานากันบางส่วนอาจจะหายและแปรเปลี่ยนไปตามเวลา แต่เชื่อว่าไม่ได้หายไปทั้งหมด ยังคงฝังอยู่ในรากเหง้าของคนภูเก็ต และแปรเปลี่ยนให้เข้ากับวัฒนธรรมปัจจุบันเท่านั้นเอง
Tags: Cityscape, Faces of the Pearl, บาบ๋า-ย่าหยา, เพอรานากัน, ชุดบาบ๋า-ย่าหยา, ชุดเคบาย่า, ภูเก็ต