วาเลรี หนูแกมเบียเพศเมียวัย 4 ปี ท่าทางขี้สงสัย สับขาไปมาด้วยความเร็วกึ่งเดินกึ่งวิ่งสลับกับหยุด และใช้จมูกดมพื้นฟุดฟิด ส่วนบริเวณหน้าอกและหลังของวาเลรีมีการติดตั้งสายจูงระหว่างเจ้าหน้าที่ 2 คนที่เดินประกบคู่อยู่ไม่ห่าง ไม่นานเจ้าหนูขนปุกปุยก็มาหยุดที่โลหะทรงกลมขนาดเล็กพร้อมกับวนไปมารอบวัตถุดังกล่าว คล้ายกับส่งสัญญาณว่า บริเวณนี้มีวัตถุระเบิดติดตั้งอยู่ ก่อนที่เจ้าหน้าที่จากศูนย์อะโปโป (APOPO) สำนักงานเก็บกู้ทุ่นระเบิดของกัมพูชา จะเฉลยว่า วัตถุดังกล่าวมี TNT ที่เป็นสารประกอบของวัตถุระเบิดปะปนอยู่ประมาณ 2 กรัม และวาเลรีได้รับรางวัลเป็นกล้วยสุกสีเหลืองนวลไปในที่สุด

“ปกติแล้ว หนูมักจะขี้สงสัย และชอบค้นหาอะไรใหม่ๆ เสมอ นั่นคือกุญแจสำคัญในการฝึกหนูให้ตรวจหาระเบิด” หนึ่งในเจ้าหน้าที่ศูนย์อะโปโปประจำศูนย์ถนนกุมัย จังหวัดเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชากล่าว

อะโปโปเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรด้านมนุษยธรรม มีสำนักงานใหญ่ในประเทศเบลเยียม ทำงานในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลกที่เคยผ่านสถานการณ์สงครามและมีวัตถุระเบิดตกค้าง ส่วนในกัมพูชา อะโปโปเริ่มเก็บกู้วัตถุระเบิดร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดกัมพูชา (Cambodian Mine Action Center: CMAC) ตั้งแต่ปี 2014 โดยมีสมาชิกที่เป็นมนุษย์กว่า 100 คนที่ร่วมฝึกอบรมเก็บกู้ระเบิดในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ส่วนสมาชิกสัตว์ 4 ขานั้น พวกเขาเลือกใช้สุนัขดมกลิ่นและหนูพันธุ์แกมเบียเป็นผู้ช่วยเหลือ ซึ่งหนูชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดจากประเทศแทนซาเนีย และผ่านการฝึกอบรมให้สามารถจดจำกลิ่นวัตถุระเบิดประเภทต่างๆ ได้อย่างชำนาญ

โดยปกติแล้ว ทุ่นระเบิดสังหารบุคคลจะทำงานเมื่อมีน้ำหนักมากกว่า 3 กิโลกรัมกดลงไปบนแท่นด้านบน แต่ด้วยน้ำหนักตัวของหนูแกมเบียที่ในขนาดโตเต็มวัยจะมีน้ำหนักประมาณ 1.5 กิโลกรัม ซึ่งจะไม่ทำให้ทุ่นระเบิดทำงาน และข้อได้เปรียบที่เหนือกว่ามนุษย์ของหนูเหล่านี้คือ นอกจากจมูกที่ไวต่อกลิ่นต่างๆ เช่นอาหาร รวมถึงสารประกอบของวัตถุระเบิด หนูแกมเบียยังมีขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่ และมีความคล่องตัวสูง ซึ่งทำให้การทำงานในพื้นที่แคบเป็นไปอย่างง่ายดายกว่ามนุษย์หลายเท่า

ในศูนย์อะโปโปประจำ จังหวัดเสียมเรียบ มีสมาชิกทีมหนูกู้ระเบิดอยู่ 11 ตัว ซึ่งทุกตัวสามารถใช้จมูกตรวจจับกลิ่นของสารประกอบวัตถุระเบิด เช่น TNT ส่วนเศษชิ้นส่วนโลหะธรรมดาที่ไม่มีสารประกอบวัตถุระเบิด หนูจะไม่สนใจ ด้วยความสามารถพิเศษนี้ทำให้ทีมเก็บกู้ระเบิดตรวจสอบพื้นที่ขนาดเทียบเท่ากับสนามเทนนิสได้ในเวลา 30 นาที แต่หากใช้การเก็บกู้ทุ่นระเบิดด้วยเครื่องมือตรวจจับโลหะตามปกติ อาจใช้เวลาถึง 4 วัน

“ระหว่างที่ค้นหาวัตถุระเบิด หนูจะหยุดในระยะ 1 เมตรต่อ 1 เมตร และระหว่างที่หยุด หนูจะสามารถรับกลิ่นของระเบิดที่อยู่ใต้ดินลึกลงไปได้ถึง 1 เมตร” เจ้าหน้าที่ศูนย์อะโปโปเสริมระหว่างสาธิตการตรวจหาวัตถุระเบิด

เมื่อหนูกู้ระเบิดตรวจจับวัตถุระเบิดได้ หน่วยเก็บกู้จากศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดกัมพูชาที่เป็นมนุษย์จะตามเข้ามายังตำแหน่งที่ทำเครื่องหมายไว้ และช่วยยืนยันหากตรวจพบทุ่นระเบิดจริง หลังจากนั้น หากวัตถุระเบิดเหล่านั้นสามารถเก็บกู้และเคลื่อนย้ายได้อย่างปลอดภัย ก็จะมีการขนย้ายไปทำลายในสถานที่ที่กำหนดไว้ แต่หากไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ ก็จะมีการทำลายวัตถุระเบิดดังกล่าวในจุดที่ถูกตรวจพบ

ช่วงปี 2023-2024 อะโปโปช่วยเก็บกู้พื้นที่ปนเปื้อนวัตถุระเบิดไปได้แล้วกว่า 21 ล้านตารางเมตร เก็บกวาดทุ่นระเบิดสังหารบุคคล 706 ทุ่น วัตถุระเบิดตกค้างจากสงคราม 550 ทุ่น และทุ่นระเบิดต่อต้านรถถัง 3 ทุ่น ทำให้ได้พื้นที่กลับคืนมาให้ประชาชนใช้ประโยชน์โดยตรง 17,582 ตารางเมตร

ทั้งนี้หนูที่อยู่ภายใต้การดูแลของศูนย์อะโปโปจะได้รับการรับรองสวัสดิภาพสัตว์ โดยหนูจะถูกฝึกในระยะเวลา 15 นาทีต่อวัน ส่วนในวันทำงานหนูจะทำงานเพียงช่วงเวลา 06.00-09.00 น. เพื่อป้องกันอันตรายจากความร้อน หลังจากทำงานเสร็จหนูจะกลับมาอยู่ในที่พัก ซึ่งเป็นโพรงจำลองร่วมกับหนูตัวอื่นที่มีเพศเดียวกัน ซึ่งโพรงดังกล่าวจะกลายเป็นที่พักพิงตลอดชีวิต แม้จะเกษียณอายุการทำงานแล้วก็ตาม และนอกเหนือจากอาหารที่เป็นผักและผลไม้ หนูเหล่านี้จะได้รับเวลาพักผ่อนเพื่อเล่นสนุกในสนามเด็กเล่น ซึ่งสร้างมาให้คล้ายคลึงกับการฝึกกู้ระเบิด แต่จะไม่มีเชือกจูง และหนูจะมีอิสระในการเล่นตามลำพัง

นอกเหนือจากการเก็บกู้ระเบิด หนูแกมเบียยังถูกฝึกให้ค้นหาผู้ประสบภัยในสถานการณ์ภัยพิบัติอีกด้วย โดยในประเทศแทนซาเนีย หนูแกมเบียจะต้องฝึกหาคนให้เจอในห้องจำลองสถานการณ์ภัยพิบัติ แล้วไปกดสวิตช์เพื่อให้สัญญาณเตือนทำงาน แล้วกลับมายังจุดปล่อยตัว ซึ่งหนูจะได้รางวัลเป็นอาหาร เช่นเดียวกับวาเลรีหรือหนูตัวอื่นๆ ที่จะได้รางวัลเป็นผลไม้สด หรือถั่วแอลมอนด์หลังจากตรวจพบวัตถุระเบิด

โครงการ Landmine Monitor รายงานว่า กัมพูชาเป็นหนึ่งในประเทศที่มีกับระเบิดตกค้างมากที่สุดในโลก และมีพื้นที่กว่า 1,000 ตารางกิโลเมตรที่ปนเปื้อนทุ่นระเบิด มีการประมาณการว่า ยังมีทุ่นระเบิดมากกว่า 1 แสนทุ่น และวัตถุระเบิดชนิดอื่นๆ ที่ยังไม่ถูกเก็บกู้

นอกเหนือจากสถานการณ์สิทธิมนุษยชน รวมถึงความท้าทายด้านเศรษฐกิจและสังคมที่กัมพูชาต้องเผชิญอยู่ กัมพูชายังมีผู้พิการจากทุ่นระเบิดกว่า 4 หมื่นคน ซึ่งหากเทียบกับจำนวนประชากรแล้วถือว่ามีอัตราส่วนผู้พิการจากทุ่นระเบิดมากที่สุดในโลก

ทั้งนี้ตามสถิติที่ APOPO บันทึกไว้ ปัจจุบันยังไม่มีหนูกู้ระเบิดตัวใดเสียชีวิตจากการเก็บกู้วัตถุระเบิดเหล่านี้

อ้างอิง: https://apopo.org/

Tags: , ,