ชาวบ้านจากชุมชนกำปงพลก (Kampong Phluk) ทอดแหในบริเวณแม่น้ำโลเลย (Rolous) ซึ่งเป็นแม่น้ำสาขาของโตนเลสาบ หรือที่รู้จักกันในภาษาไทยว่า ‘ทะเลสาบเขมร” ตั้งอยู่บริเวณกึ่งกลางของประเทศกัมพูชา
หลังจากเปลี่ยนพื้นที่ทอดแหไปเรื่อยๆ กุโงก นามสมมติระบุว่า ต้องพบกับความผิดหวัง เนื่องจากปลาที่ทอดแหได้มีเพียงปลาขนาดเล็ก ซึ่งไม่เพียงพอสำหรับเลี้ยงดูปากท้องทั้งตัวเขาและภรรยา ที่ขี่รถมอเตอร์ไซค์มาด้วยกัน หลังจากพยายามอยู่หลายต่อหลายครั้ง เขาก็ถอดใจและเดินทางกลับบ้านในที่สุด
โตนเลสาบเป็นทะเลสาบที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นเส้นทางสัญจรหลักในการเชื่อมต่อกับทะเลสาบเพื่อออกเรือไปจับปลา รวมถึงใช้เป็นเส้นทางสัญจรในการเข้าถึงพื้นที่บดิน ซึ่งเป็นที่ตั้งของตลาดรับซื้อปลา โรงเรียน และสาธารณูปโภคอื่นๆ
ทั้งนี้ โตนเลสาบยังเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง (Lower Mekong Basin) โดยลุ่มน้ำแห่งนี้มีระบบนิเวศที่มีลักษณะเฉพาะ อันเกิดจากอิทธิพลของน้ำท่วมหลากตามฤดูกาล โดยในฤดูกาลปกติมีพื้นที่ของโตนเลสาบครอบคลุมเนื้อที่ประมาณ 7,500 ตารางกิโลเมตร แต่เมื่อถึงยามฤดูน้ำหลากในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ปริมาณน้ำที่สะสมจากแม่น้ำโขงทางตอนเหนือ ไหลลงมาปะทะกับอิทธิพลน้ำขึ้นจากดวงจันทร์ ทำให้ปริมาณน้ำถูกผลักดันเข้ามาสู่พื้นที่โตนเลสาบ และแผ่ขยายอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ กำปงธม กำปงชนัง โพธิสัตว์ พระตะบอง และเสียมราฐ หรือประมาณ 16,000 ตารางกิโลเมตร ในขณะที่เมื่อถึงฤดูแล้งปริมาณน้ำจะลดลงครอบคลุมพื้นที่เพียง 2,700 ตารางกิโลเมตร
เมื่อพื้นที่มีการเปลี่ยนแปลงในแต่ละรอบปีจากพื้นที่แห้งสู่ทะเลสาบ ทำให้โตนเลสาบในฤดูน้ำหลากแปรสภาพเป็นแหล่งที่มีปลาน้ำจืดชุกชุม มีสัตว์น้ำและสัตว์ป่ากว่า 3,000 สายพันธุ์มาอยู่อาศัย ขณะช่วงน้ำลดพื้นที่แห่งนี้จะเต็มไปด้วยผืนดินอันอุดมสมบูรณ์ จนสามารถปลูกข้าวได้
อย่างไรก็ตาม นักอนุรักษ์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประกาศเตือนว่า โตนเลสาบซึ่ง UNESCO ประกาศให้เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑล กำลังเผชิญกับภัยคุกคามจากการตัดไม้ทำลายป่า และสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรม กำลังสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างร้ายแรงต่อชาวกัมพูชาเกือบหนึ่งล้านคนที่อาศัยอยู่รอบทะเลสาบ และอีกหลายล้านคนที่พึ่งพาปลาจากทะเลสาบ ซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนหลักของประเทศกัมพูชา
สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ระบบนิเวศของโตนเลสาปผันผวน อาทิ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสร้างเขื่อนที่เปลี่ยนแปลงระบบนิเวศของแม่น้ำโขง การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ชุ่มน้ำ และการประมงเกินขนาด กำลังคุกคามแหล่งอาหารและการดำรงชีวิตของผู้คนหลายล้านคน ที่ต้องพึ่งพาทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้
“บางครั้งมีฝนตกในเดือนที่ไม่ควรตก หรือบางทีก็ร้อนมากจนฉันไม่สามารถออกไปจับปลาได้” เสียม ฮวด ชายชาวประมงวัย 45 ปีเปิดเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ส
ทั้งนี้ การทำประมงเกินขนาดยังทำให้จำนวนปลาในโตนเลสาบลดลงไปอย่างมาก แต่ไม่สามารถระบุแน่ชัดว่าจำนวนปลาลดลงไปเพียงใด เนื่องจากรัฐบาลกัมพูชาไม่สามารถเปิดเผยจำนวนที่มีการยืนยันโดยหน่วยงานที่สามารถเชื่อถือได้ อีกทั้งในปี 2019 ตามข้อมูลจากสถานีบันทึกเพียงแห่งเดียวที่คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงได้ตรวจสอบระดับน้ำทั่วลุ่มน้ำโขงตอนล่างได้ลดลงสู่ระดับต่ำสุดในประวัติศาสตร์ อันเป็นผลมาจากภัยแล้งและการกักเก็บน้ำโดยเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำที่จีนสร้างขึ้นทางต้นน้ำ ซึ่งระดับน้ำในแต่ละปีมีความผันผวนมากยิ่งขึ้น
อ้างอิง
Tags: กัมพูชา, ประมง, ทะเลสาบ, ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง, โตนเลสาบ