ใช้เวลาเพียงไม่กี่วัน ทัศนียภาพรอบศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สถานที่จัดการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค (APEC 2022) ก็ดูดีขึ้นอย่างผิดหูผิดตา เสาไฟ-สายไฟฟ้า ถูกนำลงดิน ทางม้าลายทาสีให้แดงชัดไม่ต่างจากฟุตบาทและรั้วเหล็ก ขณะเดียวกัน ตลอดเส้นทางถนนรัชดาภิเษก ถนนสุขุมวิท ถนนเพลินจิต และถนนวิทยุ ที่ตั้งของโรงแรมห้าดาว ที่พัก และเส้นทางสัญจรของผู้นำระดับโลกไปยังที่ประชุม ยังประดับประดาด้วยดอกไม้และไฟประดับ พื้นที่ใจกลางกรุงเทพฯ ถูกเนรมิตเป็นเมืองสวรรค์ได้ทันตาเห็น
ทว่าทั้งหมดเป็นเพียงภาพลวงตาเท่านั้น เอาเข้าจริงโดยรอบศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เป็นศูนย์รวมของปัญหาใจกลางกรุงเทพฯ มากที่สุด ไม่ว่าจะเรื่อง ‘การจราจร’ (ที่แก้ด้วยการประกาศวันหยุดราชการ และการให้คนในละแวกนั้นห้ามผ่าน ห้ามเข้าบ้านตัวเอง เว้นแต่มีบัตรผ่าน) ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความยากจน ยาเสพติด หรือปัญหาน้ำเน่าเสีย และหากอยากดูปัญหาของเมืองใหญ่หรือปัญหาทั้งหมด ก็ล้วนมีให้ดูรอบศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์อย่างครบครันและครบถ้วน
พื้นที่เหล่านี้คือพื้นที่ที่ The Momentum รวบรวมให้เห็น ‘ความจริง’ ว่าบางทีก็อยู่เพียงปลายจมูก และต่อให้ปลูก ‘ผักชี’ กลบมากเพียงใด เพียงแค่ข้ามถนนไป ก็จะได้เห็นความจริงที่หน่วยงานรัฐไม่มีทางกลบได้มิด
1. ชุมชนคลองไผ่สิงโต
‘ชุมชนคลองไผ่สิงโต’ ตั้งอยู่ตรงข้ามกับศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์และตลาดคลองเตย เดิมชุมชนคลองไผ่สิงโตเคยกินอาณาบริเวณถึงศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ แต่เมื่อครั้งก่อสร้างศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์เพื่อรองรับการประชุมธนาคารโลกในปี 2534 รัฐบาลได้ย้ายชุมชนแออัดเดิมไปอยู่ในอาคารสูง 26 ชั้น ของการเคหะแห่งชาติ อย่างไรก็ตาม ยังมีชุมชนแออัดอยู่ล้อมรอบ ทั้งช่วงก่อนหน้าและหลังจากมีการย้ายประชาชนมาอยู่ในอาคารดังกล่าวแล้ว
สำหรับคลองไผ่สิงโตซึ่งอยู่ติดกับชุมชนเป็นคลองขุดใหม่ ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับชุมชนคลองเตย ทั้งนี้ นอกจากคลองเตยแล้ว คลองไผ่สิงโตก็ขึ้นชื่อในฐานะคลองที่มีปัญหาน้ำเน่าเสียมาโดยตลอด โดยจากการตรวจวัดคุณภาพน้ำ พบว่าคลองไผ่สิงโตเป็นคลองที่มีมลพิษอย่างรุนแรง ในปี 2562 คลองไผ่สิงโตเป็นคลองที่มีคุณภาพน้ำแย่ที่สุดในกรุงเทพฯ และในปี 2563 มีค่าวัดความเน่าเสียจากน้ำที่ใช้อุปโภคบริโภคที่ถูกทิ้งลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะหรือจากเศษใบไม้ (Biochemical Oxygen Demand: BOD) สูงถึง 53 มิลลิกรัม/ลิตร กระทั่งวันนี้ แม้จะมีหลายโครงการ ‘จิตอาสา’ หรือเปลี่ยนสภาพคูคลองไผ่สิงโตอยู่บ่อยครั้ง แต่ก็ยังแก้ปัญหาได้ไม่มากนัก น้ำยังส่งกลิ่นเน่าเหม็นมาถึงทุกวันนี้
ในปัจจุบัน บางส่วนของคลองไผ่สิงโต อยู่ติดกับทางเชื่อมระหว่างสวนสาธารณะเบญจกิติ กับสวนลุมพินีหรือสะพานเขียว ซึ่งกลิ่นเน่าเหม็นดังกล่าวส่งผลกระทบกับผู้ใช้ทางเดิน-ทางวิ่งดังกล่าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะที่ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) คนปัจจุบัน ก็ยอมรับว่าคลองไผ่สิงโตยังเป็นจุดที่มีน้ำเน่าเสีย และเป็นคลองที่ต้องเร่งฟื้นฟู
2. สลัมคลองเตย
ครั้งหนึ่ง ‘สลัมคลองเตย’ หรือชุมชนแออัดคลองเตย ได้ชื่อว่าเป็นสลัมที่ใหญ่อันดับต้นๆ ของโลก และมีชื่อเสียงระดับโลก เรื่องทั้งหมดเริ่มมาจากการก่อสร้าง ‘ท่าเรือกรุงเทพ’ บริเวณคลองเตย ซึ่งเป็นโครงการมหึมา ต้องใช้แรงงานจำนวนมากระหว่างปี 2481-2490 ทำให้มีการปลูกบ้านอย่างง่ายๆ โดยรอบโครงการเพื่อใช้เป็นที่พักคนงาน หลังจากโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ มีคนงานจำนวนหนึ่งเลือกลงหลักปักฐานในบริเวณดังกล่าว ที่พักถูกขยายออกจนเต็มพื้นที่ ทั้งยังมีการเปลี่ยนมือ-เปลี่ยนกรรมสิทธิ์ และสุดท้ายก็ขยายออกไปเรื่อยๆ ยาวตั้งแต่บริเวณหลังตลาดคลองเตยจรดไปถึงแยกกล้วยน้ำไท
แม้ตลอดเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลพยายามจะแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยการนำผู้ที่อยู่ในชุมชนแออัดไปอยู่ใน ‘แฟลต’ หรือที่อยู่อาศัยที่รัฐจัดหาให้ ปัจจุบัน ชุมชนแออัดคลองเตยก็ยังเป็นชุมชนแออัดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และกลายเป็นพื้นที่ที่ถูกโรคโควิด-19 โจมตีอย่างหนักหน่วงในช่วงการระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตา เมื่อปี 2564
การอยู่อาศัยอย่างแออัดภายในชุมชนแออัดคลองเตย ส่งผลกระทบให้คลองเตยซึ่งติดกับชุมชนประสบปัญหาน้ำเน่าเสียไปด้วย อีกทั้งยังมีปัญหาเรื่องยาเสพติดแพร่หลาย
สำหรับพื้นที่ชุมชนแออัดคลองเตยอยู่ห่างจากที่ประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคเพียงแค่ข้ามฝั่งถนน ในระยะห่างไม่เกิน 1 กิโลเมตร ติดต่อกับพื้นที่ข้างเคียงคือ ‘ตลาดคลองเตย’ โดยในการประชุมเอเปคครั้งนี้ ไม่ปรากฏว่ามีความพยายามทำให้ทัศนียภาพของสลัมคลองเตยดีขึ้น และให้ผู้นำระดับโลกใช้เส้นทางผ่านถนนสุขุมวิทและถนนรัชดาภิเษกไปยังศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยไม่ผ่านสลัมคลองเตย
3. ตลาดคลองเตย
ก่อนหน้านี้เคยมีคำกล่าวว่า “หากจัดระเบียบตลาดคลองเตยได้ จะสามารถจัดระเบียบกรุงเทพฯ ได้อย่างไม่ยากเย็น” โดยตลาดคลองเตย เป็นตลาดขนาดใหญ่ ขายทั้งอาหารสด อาหารแห้ง และเครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆ สันนิษฐานว่าเกิดขึ้นในเวลาใกล้เคียงกับชุมชนแออัดซึ่งอยู่ด้านหลัง ว่ากันว่าตลาดแห่งนี้เป็นศูนย์รวมแห่งความไร้ระเบียบ ไม่ว่าจะในเชิงการจัดการขยะ การจัดการน้ำเสีย ซึ่งเชื่อมต่อกับชุมชนแออัดคลองเตยเป็นตลาดขนาดใหญ่ เป็นศูนย์รวมของความ ‘ไร้ระเบียบ’ ไม่ว่าจะเป็นการจอดรถกันเกิน 3 ช่องจราจร สร้างปัญหาจราจรให้ทั้งบริเวณโดยรอบถนนรัชดาภิเษก ถนนพระราม 4 และถนน ณ ระนอง ขณะเดียวกัน ยังมีปัญหาเรื่องสุขอนามัย ว่ากันว่าหากอยากเห็น ‘หนู’ ตัวใหญ่เท่า ‘แมว’ ไม่ต้องไปไหนไกล หาได้ที่ตลาดคลองเตยแห่งนี้ ขณะเดียวกันยังมีปัญหาเรื่อง ‘มาเฟีย’ คอยคุมการเช่าช่วง เช่าแผง ต่อกันเป็นทอดๆ ว่ากันว่าผลประโยชน์ในการคุมตลาดคลองเตยนั้นมีมูลค่าหลายร้อยล้านบาท
สำหรับตลาดคลองเตยมี บริษัท ตลาดคลองเตย (2551) จำกัด หรือเดิมชื่อ บริษัท ลิเกิ้ล โปรเฟสชันแนล จำกัด ชนะการประมูลในโครงการบริหารจัดการตลาดคลองเตยจากการท่าเรือแห่งประเทศไทย โดยบริษัทนี้มี ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นผู้ก่อตั้ง โดยก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2551 เคยมีประเด็นที่กลุ่มชายฉกรรจ์เข้าไปรื้อทำลายแผงเช่าของผู้ค้าบางรายเสียหาย หลังจากมีการเปลี่ยนมือผู้บริหารจัดการจากบริษัทเดิม เป็นบริษัทของร้อยเอกธรรมนัสไม่นาน อีกทั้งยังมีเหตุอาชญากรรม เป็นต้นว่าทะเลาะวิวาท ทำร้ายร่างกาย ไปจนถึงเหตุฆาตกรรมเกิดขึ้นบ่อยครั้ง โดยครั้งล่าสุดเพิ่งมีเหตุฆาตกรรมผู้ดูแลตลาดคลองเตยเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2565
4. ซอยคาวบอย
‘ซอยคาวบอย’ ได้ชื่อว่าเป็นย่านสถานบันเทิงยามค่ำคืน ที่มีการ ‘ค้าประเวณี’ มากที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ โดยส่วนใหญ่เป็นลักษณะบาร์ และบาร์อะโกโก้กว่า 40 แห่ง มุ่งเน้นไปยังนักท่องเที่ยวต่างชาติ และเป็นที่รู้กันในระดับโลกว่าที่แห่งนี้มีโชว์พิสดารที่เกี่ยวข้องกับอวัยวะเพศหญิง หรือ Sex Show ไม่ว่าจะเป็น Pussy Ping Pong หรือ Pussy Blowing Candle ขณะเดียวกันยังเกี่ยวข้องกับการค้าประเวณีด้วย
ในเชิงประวัติศาสตร์ ซอยคาวบอยตั้งชื่อตามทหารอเมริกันคนหนึ่ง คือ ที. จี. เอ็ดเวิร์ด ซึ่งมีฉายาว่า ‘คาวบอย’ ผู้บุกเบิกกิจการบาร์บนถนนสายนี้ เอ็ดเวิร์ดได้เปิดบาร์ชื่อว่า ‘คาวบอย’ เป็นบาร์แห่งแรกบนถนนสายนี้ และจากนั้นทุกคนก็เรียกถนนความยาว 150 เมตรสายนี้ติดปากว่าซอยคาวบอย นับตั้งแต่ปี 2520 เป็นต้นมา
นอกจากนี้ ในเชิง Pop Culture ซอยคาวบอยยังอยู่ในภาพยนตร์ฮอลลีวูดเรื่อง The Hangover 2 รวมถึงยังอยู่ในเพลงดังเมื่อปี 2527 ของคณะ Murray Head ที่ชื่อว่าเพลง One Night in Bangkok อีกด้วย
5. ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สร้างขึ้นเมื่อปี 2532 ด้วยแนวคิดของ ประมวล สภาวสุ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในเวลานั้น เพื่อรองรับการจัดการประชุมธนาคารโลก หลังจากโรงแรมหรู 5 ดาวแห่งหนึ่งเกิดเล่นตัว คิดค่าเช่าห้องประชุมและแพ็กเกจจัดงานในราคาแพง รัฐบาลจึงได้สร้างศูนย์การประชุมขึ้นมาเองบนที่ดินของโรงงานยาสูบขนาด 53 ไร่ 15 ตารางวา และใช้เวลาก่อสร้างไม่ถึง 2 ปี ก็แล้วเสร็จในปี 2534 ทันเวลาการประชุมธนาคารโลก โดยอยู่ภายใต้การดูแลของ ‘กรมธนารักษ์’ และบริหารงานโดยกลุ่ม เอ็น.ซี.ซี แมนเนจเมนท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ เป็นกิจการภายใต้กลุ่มทีซีซี หรือกลุ่ม ‘ช้าง’ ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี
สำหรับอาคารปัจจุบันเพิ่งเปิดใช้งานช่วงกลางปี 2565 โดยได้รื้อถอนอาคารเดิมทั้งหมดและก่อสร้างอาคารหลังใหม่ขึ้น ใช้เวลาทั้งสิ้น 3 ปี โดยมีโถงประชุมและนิทรรศการทั้งสิ้น 8 ฮอลล์ ทั้งยังมีร้านอาหารและสิ่งอำนวยความสะดวกจำนวนมาก อีกทั้งยังเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้าสถานีศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์โดยตรง
นอกจากนี้ อาคารศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ยังเชื่อมต่อกับสวนเบญจกิติ สวนขนาดใหญ่ใจกลางเมือง ซึ่งเฟส 2 ของสวนดังกล่าวยังขยายอาณาบริเวณไปถึงพื้นที่โรงงานยาสูบเดิม กลายเป็นสวนป่าขนาดใหญ่ และยังมี ‘สกายวอล์ก’ สำหรับศึกษาธรรมชาติ รวมถึงยังสามารถเชื่อมไปยังสวนลุมพินีผ่าน ‘สะพานเขียว’ ได้อีกด้วย
ทั้งนี้ พื้นที่โดยรอบศูนย์การประชุมสิริกิติ์และแนวถนนพระราม 4 นั้น ถูกบริหารจัดการโดยกลุ่มเจ้าสัวเจริญอยู่หลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอาคาร One Bangkok ซึ่งอยู่ระหว่างก่อสร้างบนพื้นที่โรงเรียนเตรียมทหารเก่า โครงการ The PARQ ติดกับศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และอาคาร FYI Center ตรงข้ามกับศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมีรายงานว่าเจ้าสัวเจริญต้องการให้ย่านพระราม 4 เป็นย่านการค้าใหม่ และการมีสวนสาธารณะขนาดใหญ่ ‘บังเอิญ’ อยู่ติดกับพื้นที่ดังกล่าวถึง 2 สวน คือสวนลุมพินีและสวนเบญจกิติ ย่อมสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับที่ดินและอสังหาริมทรัพย์โดยรอบได้เป็นอย่างดี
Tags: Feature, ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์, การประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค