วันที่ 12 มิถุนายน 2567 ก่อนเที่ยงคืน คือกรอบเวลาสุดท้ายที่ประชาชนทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นว่าเห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับประชาชนหรือไม่ ซึ่งผลล่าสุดออกมาแล้วว่า จากผู้แสดงความคิดเห็นทั้งหมด 89,393 คน มีประชาชน 34.89% ‘เห็นด้วย’ ส่วนประชาชน 65.11% มีจุดยืน ‘ไม่เห็นด้วย’

นั่นไม่ได้หมายความว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้จะไปต่อไม่ได้ เนื่องจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรยังสามารถนำร่างกฎหมายฉบับนี้เข้าสู่สภาฯ และมีอำนาจเต็มในการพิจารณาให้ร่างฯ ฉบับนี้ผ่านหรือไม่ต่อไป 

The Momentum ชวนสำรวจความคิดเห็นของคนรุ่นใหม่ 4 คน ที่ต่อไปนี้เราจะเรียกว่า ‘ประชาชน 35%’ ว่าพวกเขาเลือกเป็นประชาชน 35% เพราะอะไร และกฎหมายนิรโทษกรรมที่จริงใจในสายตาของพวกเขาเป็นอย่างไร

กฎหมายนิรโทษกรรมต้องไม่ ‘เหมาเข่ง-ไร้ขอบเขต’ และไม่นิรโทษกรรมเจ้าหน้าที่รัฐผู้ใช้อำนาจเกินกว่าเหตุ 

ประชาชน 35% ทั้ง 4 คนเห็นด้วยกับหลักการของ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับประชาชน ที่ไม่นิรโทษกรรมเจ้าหน้าที่รัฐผู้ก่อความรุนแรงต่อประชาชน และผู้ใช้อำนาจกับประชาชนเกินกว่าเหตุ รวมถึง อรอริสา ทรัพย์สมปอง ที่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับหลักการนี้ 

“เป้าหมายในการนิรโทษกรรมครั้งนี้ เราไม่อยากดำเนินคดีกับประชาชนเพียงเพราะมีความเห็นต่างทางการเมือง แต่การใช้อำนาจรัฐที่เกินขอบเขต เช่น การสลายการชุมนุมอย่างรุนแรง มันเป็นการลิดรอนเสรีภาพประชาชน ถ้ามีการใช้อำนาจเกินขอบเขต เราว่าไม่ใช่ ควรถูกดำเนินคดีทางกฎหมาย” 

อรอริสา ทรัพย์สมปอง

เช่นเดียวกับ ภาสกร ญี่นาง ประชาชน 35% อีกคนหนึ่ง ยืนยันว่า ตามหลักสากลและกฎหมายระหว่างประเทศ จะไม่ยอมรับการนิรโทษกรรมในลักษณะเหมาเข่งหรือไร้ขอบเขต 

“หากเรานิรโทษกรรมเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้ความรุนแรง จะกลายเป็นการนำกฎหมายมาทำลายกฎหมายเสียเอง ถ้ามีการชุมนุมแล้วเจ้าหน้าที่สลายการชุมนุมตามหลักสากล เป็นไปตามขั้นตอนและสัดส่วน เจ้าหน้าที่ไม่มีความผิดอยู่แล้ว รัฐยกเว้นความผิดทางกฎหมายอยู่แล้ว 

“แต่ถ้ากระทำการเกินกว่าเหตุ เช่น วางแนวกระสุนยิงขึ้นในระดับที่ไม่ใช่ตามหลักสากล เหมือนกรณีผู้ชุมนุมถูกยิงตาบอด หรือการใช้กระสุนจริง อาวุธจริง ทำให้ประชาชนที่ชุมนุมสูญเสียชีวิต แม้กระทั่งการสลายการชุมนุมโดยไม่แจ้งเตือน หรือเข้าไปควบคุมผู้ชุมนุมเกินกว่าเหตุ ใช้ความรุนแรง กระทืบ ตี ต่อย เอาไม้ฟาดหัวรุนแรง ไม่เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน เจ้าหน้าที่ควรรับผิดชอบในการกระทำของตนเอง”

ปรับสัดส่วนของคณะกรรมการการพิจารณาการนิรโทษกรรมให้มีตัวแทนประชาชนมากขึ้น และกรอบเวลาพิจารณาไม่ควร ‘นานเกินไป

ภูริณัฐ ชัยบุญลือ เป็นอีกหนึ่งในประชาชน 35% ผู้เห็นด้วยกับองค์ประกอบของคณะกรรมการพิจารณาการนิรโทษกรรมที่จะมาทำหน้าที่กลั่นกรองว่า คดีไหนหรือการกระทำไหนควรได้รับการนิรโทษกรรมของร่างฯ ฉบับนี้ ซึ่งมีตัวแทนจากทั้ง ส.ส. ประชาชนผู้ถูกดำเนินคดีและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย องค์กรที่ทำหน้าที่ค้นหาความจริง ฯลฯ แต่มีบางส่วนที่ภูริณัฐอยากเห็นการปรับเปลี่ยนด้วยเช่นกัน 

ภูริณัฐ ชัยบุญลือ

“ผมคิดว่าควรปรับสัดส่วนคณะกรรมการ เพราะในร่างฯ เสนอตัวแทนประชาชนไว้ 4 คน ตัวแทน ส.ส.จากแต่ละพรรครวม 10 คน ซึ่งเป็นสัดส่วนมากที่สุด ส่วนสัดส่วนตัวแทนองค์กรที่มีหน้าที่ค้นหาความจริงมีแค่ 2 คน ซึ่งผมคิดว่าควรเพิ่มตัวแทนของประชาชนและตัวแทนองค์กร ที่ทำหน้าที่ค้นหาความจริง หรือแสวงหาความยุติธรรมในช่วงเปลี่ยนผ่านมากกว่านี้ และลดระยะเวลาการทำงานของคณะกรรมการลง 

“ในร่างฯ ฉบับนี้ เสนอว่า คณะกรรมการต้องทำหน้าที่พิจารณาว่า ใครควรได้รับการนิรโทษกรรมให้เสร็จสิ้นภายใน 2 ปี และกรณีเกิดเหตุจำเป็น รัฐสภาต่อเวลาไปได้อีก 1 ปี เท่ากับกรอบเวลาพิจารณายาวนานถึง 3 ปี ผมคิดว่าการที่เราปล่อยเวลาให้ผ่านไปแม้จะแค่หลักเดือน มันก็เป็นผลเสียผลร้ายต่อประชาชนแล้วทั้งที่อยู่ข้างนอกและข้างใน ต่อผู้ถูกดำเนินคดีและต่อคนใกล้ชิด ครอบครัว เพื่อนฝูง” 

ลบประวัติอาชญากรรม ให้นักโทษการเมืองได้เริ่มต้นชีวิตใหม่

หนึ่งในประเด็นที่ระบุไว้ในร่างนิรโทษกรรมประชาชนคือ การลบอาชญากรรมผู้ได้รับการนิรโทษกรรม ซึ่งสิ่งนี้ควรได้รับการบรรจุไว้ในร่างฯ ฉบับอื่นด้วยเช่นกัน 

อรอริสาแสดงความเห็นด้วยกับเรื่องนี้ว่า “อยากให้ลบไปเลย เพราะประวัติอาชญากรรมอาจติดตัวผู้ต้องคดี ทำให้ลำบากในการหางานหรือใช้ชีวิตประจำวันในอนาคต ถ้าเรามองว่าการใช้เสรีภาพทางความเห็นไม่ใช่ความผิดตั้งแต่ต้น คนเหล่านี้ก็ไม่ควรมีประวัติอาชญากรรม” 

สอดคล้องกับ โยสิตา สายบัว ประชาชน 35% อีกคนหนึ่งที่กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “ถ้าล้างคดีพวกนี้ออกไปจะทำให้คนที่มีคดีทางการเมือง ได้กลับมาใช้ชีวิตปกติ ไม่ถูกตีตราจากคดีเดิมเดิมหรือประวัติอาชญากรรม และทำให้เราหันหน้ามาพูดคุยกันมากขึ้น”

การให้บุคคลซึ่งไม่ใช่องค์กรหรือหน่วยงานรัฐ ยังคงมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่ง จากการกระทำของผู้ที่ได้รับการนิรโทษกรรมได้

มีหลายกรณีที่การชุมนุมของประชาชนก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถานที่หรือทรัพย์สินของเอกชน ซึ่งในกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับประชาชน ระบุให้ประชาชนมีส่วนรับผิดหากเอกชนฟ้องร้องค่าเสียหาย ภาสกรกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ถึงแม้ประชาชนจะได้รับการนิรโทษกรรมไปแล้ว แต่ยังต้องรับผิดชอบในการกระทำของตนเอง และในแง่การดำเนินการชดใช้ควรมีกระบวนการที่ละเอียดอ่อน 

“ผมคิดว่าประชาชนควรเคารพสิทธิผู้อื่นด้วยเช่นกัน แต่ในรายละเอียดว่าจะหาหรือหยิบยืมเงินที่ไหนมาชดใช้ รัฐอาจต้องหาทางช่วยเหลือหรือมีมาตรการผ่อนปรนเยียวยาต่อไป ไม่ควรปล่อยให้ประชาชนรับภาระทั้งหมด มาตรการในการผ่อนปรนเยียวยาให้เป็นวิธีการพิจารณาขั้นต่อไปของพนักงานและของหน่วยงานรัฐด้วย”

กฎหมายนิรโทษกรรมต้องไม่นิรโทษกรรมผู้ก่อรัฐประหาร

อีกหนึ่งในสาระสำคัญที่กฎหมายนิรโทษกรรมฉบับประชาชนเสนอไว้ คือการไม่นิรโทษกรรมเจ้าหน้าที่ผู้กระทำผิดตาม มาตรา 113 ซึ่งรวมถึงผู้ใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่า จะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ 

ภูริณัฐสนับสนุนขอบเขตการไม่นิรโทษกรรมนี้ว่า “เจ้าหน้าที่รัฐผู้กระทำผิดตาม มาตรา 113 ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุด คือคณะรัฐประหารหลายต่อหลายชุด ซึ่งหลังรัฐประหารก็จะฉีกรัฐธรรมนูญเดิม ที่ผ่านมาคณะบุคคลทำรัฐประหาร หลังยึดอำนาจได้ก็เขียนกฎหมายนิรโทษกรรมความผิดให้ตนเองเสมอ กฎหมายนิรโทษกรรมฉบับใหม่จึงจำเป็นต้องให้คนเหล่านี้ได้รับผิดชอบในการกระทำของตนเอง” 

สามี ภริยา บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้อยู่กินกันฉันสามีภริยา แม้ไม่ได้จดทะเบียนสมรส ผู้อุปการะและผู้อยู่ในอุปการะ มีสิทธิยื่นคำร้องเสนอการนิรโทษกรรมแทนคนที่ตนรัก

กฎหมายอาญาของไทยไม่ได้เปิดโอกาสให้ผู้อื่นที่ไม่ใช่ผู้เสียหายหรือญาติสนิทเคลื่อนไหว มีส่วนร่วมกับกระบวนการยุติธรรม หรือกระทำการแทนผู้เสียหายได้มากนัก ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จึงเสนอขยายขอบเขตผู้มีสิทธิยื่นคำร้องให้กว้างขึ้น โดยคำนึงถึงนิยามของ ‘ครอบครัว’ ที่มีพลวัตในบริบทสังคมปัจจุบัน 

โยสิตาเห็นด้วยกับหลักการนี้ “พอเป็นเรื่องของคนที่เรารัก ครอบครัว หรือมีความสัมพันธ์ด้วยเราก็อยากช่วยให้เขาได้พ้นจากความผิด ถ้าไปยื่นเรื่องเสนอการนิรโทษกรรมให้เขาได้ ก็จะเป็นการเปิดทางให้เกิดการเยียวยามากขึ้น” 

ภาสกร ญี่นาง

เช่นเดียวกับภาสกรที่กล่าวว่า การนิยามว่าใครควรมีสิทธิยื่นคำร้องเสนอการนิรโทษกรรม ไม่ควรจำกัดแคบจนบั่นทอนสิทธิของผู้ควรได้รับการนิรโทษกรรม “กฎหมายนิรโทษกรรมต้องให้ประเด็นความเป็นธรรมและความยุติธรรมมาก่อน ทุกคนควรมีโอกาสได้รับการพิจารณาการนิรโทษกรรม แม้ตัวเขาไม่สะดวกดำเนินเรื่องเอง เช่น กรณีลี้ภัยอยู่ต่างประเทศ เจ็บป่วย ทุพพลภาพ รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล ติดต่อไม่ได้หรือถูกบังคับสูญหายไปแล้ว แต่ถ้าคนที่ห่วงใยพวกเขาต้องการสะสาง พิสูจน์ความบริสุทธิ์ควรได้รับสิทธินั้น ให้การจากไปของพวกเขาเป็นการจากไปโดยชอบธรรม จากไปแบบคนบริสุทธิ์ ไม่ใช่ตายหรือสูญหายด้วยสถานะผู้ต้องหาคดีการเมือง หรือผู้เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ”

นักโทษคดีมาตรา 112 ฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.ควรได้รับการนิรโทษกรรม 

หนึ่งในหลักการสำคัญและเป็นที่ถกเถียงของร่าง พ.ร.บ.ฉบับประชาชนคือ มาตรา 5 ซึ่งให้คดี 5 ประเภทได้รับการนิรโทษกรรม นั่นรวมถึงคดีมาตรา 112, คดีฝ่าฝืนความมั่นคงในสถานการณ์ฉุกเฉิน, คดีฝ่าฝืนคำสั่ง คสช., คดีเกี่ยวกับการทำประชามติรัฐธรรมนูญ ฯลฯ ซึ่งจะได้รับการนิรโทษกรรมทันทีโดยไม่ต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการ ภูริณัฐกล่าวถึงสาเหตุที่เราควรมีหลักการนี้ในกฎหมายนิรโทษกรรมว่า

“เราจะเห็นว่านอกจากคดีมาตรา 112 มีหลายคดีที่ควรนิรโทษกรรมทันที 100% เช่น คดีฝ่าฝืน พ.ร.บ.ฉุกเฉิน ตามสถิติจะเห็นว่าศาลยกฟ้องเยอะมาก เพราะคดีนี้มีมาเพื่อควบคุมการระบาดของโรค แต่รัฐบาล คสช.ใช้แต่กับฝั่งผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย ไม่ใช้กับคนที่รวมกลุ่มอื่นๆ อย่างสถานบันเทิงหรือคนที่รวมตัวกันในงานรื่นเริงต่างๆ คนทั่วไปไม่ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหานี้เลย โดนแต่ฝั่งผู้ชุมนุม รวมถึงคดีฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ซึ่งหลังยึดอำนาจเรียกประชาชนไปรายงานตัว ใครไม่ไปรายงานตัวถูกดำเนิน รวมถึงคดีทำประชามติรัฐธรรมนูญ ซึ่งสมควรได้รับการนิรโทษกรรมแน่นอน

“ส่วนคดีมาตรา 112 หลายคนถกเถียงกันว่าเป็นคดีการเมืองไหม ควรได้รับการนิรโทษกรรมดีไหม ในความคิดเห็นส่วนตัวของผม คดีมาตรา 112 เป็นคดีการเมืองแน่นอน เพราะถ้าไม่ใช่คดีการเมืองต้องเป็นกฎหมายที่บังคับใช้อย่างต่อเนื่อง ทุกเวลาโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติใช้ แต่มาตรา 112 เดี๋ยวหยุดใช้เดี๋ยวบังคับใช้ ช่วง 5 ปีแรกบังคับใช้น้อย ช่วง 5 ปีหลังใช้เยอะ”

พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่จริงใจจะขจัดความขัดแย้งได้

“คิดว่าระหว่างทางที่มีการนิรโทษกรรม จะทำให้เราหันหน้ามาพูดคุยกันมากขึ้น และอาจช่วยสร้างความเข้าใจให้คนหลายฝ่ายว่าคิดเห็นหรือต่างกันอย่างไร” โยสิตาตอบ เมื่อเราถามว่า คิดว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้จะช่วยแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยมายาวนานได้หรือไม่ 

เช่นเดียวกับอรอริสาที่เชื่อมั่นใน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชนว่า “การนิรโทษกรรมฉบับนี้จะแสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยพร้อมที่จะอยู่ในสังคมที่ยอมรับความแตกต่าง คนเห็นต่างทางการเมืองไม่ต้องกลัวว่าตัวเองจะถูกดำเนินคดี” 

โยสิตา สายบัว

ด้านภาสกรเห็นความหวังว่า “การนิรโทษกรรมโดยหลักการคือ การนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ที่ไม่ได้มีความผิดเชิงศีลธรรม แต่เป็นการนิรโทษกรรมความผิดให้กับผู้มีเหตุจูงใจทางการเมือง ผมคิดว่ากฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนจะมีส่วนสร้างบรรยากาศแห่งความยุติธรรมในสังคมมากขึ้น ยิ่งสมัยนี้ที่รัฐบาลประกาศตัวเองว่าเป็นประชาธิปไตย จะพูดได้อย่างภาคภูมิมากขึ้นว่าเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยจริงๆ”

น่าสนใจว่า ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชนยังจะได้รับการผลักดันต่อโดยรัฐสภาหรือไม่ หรือร่างกฎหมายนิรโทษกรรมในอนาคตจะมีหน้าตาอย่างไร จะคงสาระสำคัญเหล่านี้ที่ประชาชน 35% ต้องการไว้ได้หรือไม่?

Tags: , , ,