ความฝันอันสูงสุดของคุณคืออะไร?
คุณจะพยายามขนาดไหน ยอมเสียสละเท่าไรเพื่อให้ความฝันนั้นเป็นจริง?
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความฝันอันสูงสุดของเด็กไทยหลายคนคือ การเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยอันดับต้นของโลก เช่น มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University), มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University), มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด (Oxford University) หรือมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (Cambridge University) กระทั่งต้องยอมเสียสละเวลาหลายปี ลงทั้งแรงกายและแรงใจอย่างมหาศาลเพื่อเดินตามความฝัน แต่ความเก่ง ความเสียสละ และความพยายามอาจไม่เพียงพอที่จะทำให้เด็กคนหนึ่งติด 3% ของผู้ถูกเลือกเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกได้
เหล่านี้จึงเป็นเหตุผลที่นักเรียนจำนวนมากยอมเสียเงินกว่าล้านบาทเพื่อจ้างโค้ชสำหรับการสมัครเข้ามหาวิทยาลัย (Admissions Coach) หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ที่ปรึกษาเรื่องการเรียนต่อ (Education Consultant) เพื่อเพิ่มความมั่นใจว่า พวกเขาจะสามารถเข้าศึกษาเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยในฝันได้
เพราะแค่เรียนเก่งไม่สามารถการันตีได้ อาชีพ ‘โค้ช’ จึงเป็นทางออก
โค้ชแตกต่างจากเอเยนต์ทั่วไปที่มีหน้าที่ช่วยเรื่องเอกสาร เพื่อสมัครเข้ามหาวิทยาลัยต่างประเทศ แต่ ‘โค้ช’ เป็นมากกว่านั้น เพราะทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษามืออาชีพโดยใช้ประสบการณ์ส่วนตัว และเคล็ดลับสุดพิเศษ จัดเตรียมสูตรสำเร็จให้ลูกค้าแต่ละคน เพื่อรับรองว่าพวกเขาจะติดมหาวิทยาลัยระดับท็อปที่ต้องการ
เพราะการเข้ามหาวิทยาลัยชื่อดัง เช่น เครือไอวีลีก (Ivy League) ของสหรัฐฯ หรืออ็อกซ์บริดจ์ (Oxbridge) ของประเทศอังกฤษ เป็นกระบวนการที่ซับซ้อน เข้าใจยาก และไม่คุ้นเคยอย่างยิ่ง เนื่องจากการติดมหาวิทยาลัยชั้นนำ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการทำคะแนนสอบเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการประเมินโปรไฟล์ ประสบการณ์ชีวิต ผลงาน และแม้แต่นิสัยกับบุคลิกภาพของนักเรียนแต่ละคนด้วย
กระบวนการการสมัครเข้ามหาวิทยาลัยที่ประเทศอังกฤษ คือการเขียนบทความ Personal Statement ยาวเพียง 4,000 ตัวอักษรส่งไปให้มหาวิทยาลัยพิจารณา สำหรับมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดและเคมบริดจ์ นักเรียนที่ผ่านเข้ารอบต่อไปจะถูกประเมินจากการสอบสัมภาษณ์ ซึ่งนักเรียนที่สามารถเข้ามหาวิทยาลัยอันดับต้นของอังกฤษได้ จะต้องมีตัวตนที่ชัดเจน มีแพสชัน มีความรู้รอบตัว และมีความพิเศษมากกว่าเด็กทั่วไป โดยนักเรียนต้องสื่อสารคุณสมบัติเหล่านี้ผ่านประสบการณ์ การฝึกงาน (Work Experience) ผลงานวิจัย วิชาเรียน รวมไปถึงกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสาขาที่สมัครเรียนอีกด้วย
ส่วนการสมัครเข้ามหาวิทยาลัยที่สหรัฐฯ จะเป็นการเขียนบทความและเขียนอธิบายผ่าน 10 ผลงาน และ 5 รางวัลจากโปรไฟล์ของตนเอง โดยมหาวิทยาลัยท็อปของสหรัฐฯ มักให้ความสำคัญกับบุคลิกเฉพาะตัว ภาวะผู้นำ ความเป็นพลเมืองตื่นรู้ (Active Citizen) ที่พยายามสร้างความเปลี่ยนแปลงในโลก เพราะฉะนั้นนักเรียนที่ประสบความสำเร็จในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยมักทำกิจกรรมที่หลากหลาย เป็นประธานชมรมมากมาย ทำงานอาสาสมัคร และที่สำคัญที่สุด คือการเป็นเจ้าของโครงการใหญ่โตโด่งดัง และสร้างผลกระทบเชิงบวกให้สังคม ที่จะเพิ่มโอกาสในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำมากขึ้น
ดังนั้นการเข้ามหาวิทยาลัยอันดับท็อป ไม่ว่าจะเป็นที่อังกฤษหรือสหรัฐฯ จึงต้องการมากกว่าเด็กเก่ง และต้องการเด็กที่เป็น One Of A Kind (พิเศษจนมีแค่คนเดียวในโลก) อย่างที่ ‘มาร์ค’ นักศึกษามหาวิทยาลัยไอวีลีก ที่ The Momentum สัมภาษณ์กล่าวว่า “การเรียนเก่งหรือได้คะแนนสอบที่ดี ไม่สามารถการันตีอะไรได้เลย”
เพราะฉะนั้น เด็กนักเรียนมัธยมปลายธรรมดาคนหนึ่ง จะสามารถทำตนเองให้โดดเด่นที่สุดในกลุ่มผู้สมัคร 5 หมื่นคนได้อย่างไร?
คำตอบคือ การจ้างโค้ชอย่างที่ ‘ปิ่น’ นักศึกษามหาวิทยาลัยอันดับท็อป 5 ของโลกกล่าวว่า
“โค้ชเปรียบเสมือนไฟนำทางในอุโมงค์ที่จะพาเราไปสู่จุดหมายที่เราต้องการ”
วางแผนการศึกษาตั้งแต่ในครรภ์ ไปจนถึงทุกระดับชั้นเรียน
Krutoo Homeschool เป็นองค์กรผู้ช่วยวางแผนการศึกษา (Education Planner) ที่ขึ้นชื่อด้านการเข้ามหาวิทยาลัยที่อังกฤษและเชี่ยวชาญเรื่องการเตรียมหลักสูตรการเรียน การสร้างผลงาน และการฝึกทักษะแบบเข้มข้นสำหรับลูกค้าแต่ละคน โดยมีองค์กรอื่นๆ ในเครือเช่น Krutoo Home Education, APSThai และ APSWorld เพื่อดูแลเรื่องการสอนพิเศษและการเขียนใบสมัคร
20 ปีที่ผ่านมา ลูกค้าของ Krutoo ไม่เคยพลาดมหาวิทยาลัยท็อป 20 ของโลกในสาขาที่เลือกเรียน ครูต่ายและครูจ๋อมแจ๋มจาก Krutoo อธิบายว่า บทบาทของพวกเขาคือ การช่วยให้นักเรียนแต่ละคนรู้เส้นทางของตนเองอย่างชัดเจน และช่วยเติมในสิ่งที่พวกเขาขาดในโปรไฟล์ที่ยื่นให้มหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นวิชาที่เรียน คะแนนสอบ ประสบการณ์ หรือผลงานก็ตาม Krutoo พร้อมสนับสนุนในทุกด้าน
“ไม่ว่าน้องหรือผู้ปกครองจะมาในระดับไหน น้องยังอยู่ในท้อง น้องอายุ 3 ขวบ น้องเรียนอยู่ ม.4 หรือน้องเรียนอยู่ ม.6 จุดเริ่มต้นคือ ทุกคนต้องเข้ามาเจอกับทีมที่ปรึกษาของเราก่อน มาดูว่าตอนนี้เขาอยู่จุดไหน อะไรที่ยังขาดหายไป อะไรคือปัญหาของเขา หรืออะไรที่เขาต้องพัฒนาต่อ เราช่วยแนะนำได้หมดด้วยไทม์ไลน์และแผนงานที่ชัดเจน” ครูจ๋อมแจ๋มเล่า
บริการของ Krutoo มีตั้งแต่ Career Test (การสำรวจทักษะ ความสนใจ และบุคลิกของนักเรียน เพื่อแนะนำสาขาการเรียนและอาชีพในอนาคต) โรงเรียนสอนพิเศษ ติวสอบ และ Full-Time Homeschooling อีกทั้งยังสามารถส่งนักเรียนไปเก็บประสบการณ์ที่ Summer School โปรแกรมแลกเปลี่ยน หรือบริษัทชื่อดังเช่น AIS และ Jim Thompson
ส่วนการสมัครเข้ามหาวิทยาลัยโดยเฉพาะ ทีม Krutoo พร้อมช่วยเรื่องการเขียน Personal Statement ให้ตรงความต้องการของมหาวิทยาลัยด้วยข้อมูลภายใน (Insider Information) จากคณะกรรมการของมหาวิทยาลัยท็อปของอังกฤษ เช่น อ็อกซ์ฟอร์ด, เคมบริดจ์, วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์ ลอนดอน (The London School of Economics and Political Science: LSE), มหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน (University College London: UCL), วิทยาลัยอิมพิเรียลลอนดอน (Imperial College London) และคิงส์คอลเลจลอนดอน (King’s College London: KCL)
Admissions Office (AO) เป็นธุรกิจโค้ชอันดับต้นของประเทศไทย โดยมี คุณไซ-สุสิทธิ์ ธนะรัชต์ เป็นเจ้าของและเป็นโค้ชชื่อดังในวงนักเรียนอินเตอร์ ห้องรับแขกของ AO นั้นเต็มไปด้วยโปสเตอร์จากมหาวิทยาลัย เช่น ฮาร์วาร์ด, สแตนฟอร์ด, พรินซ์ตัน (Princeton University), เยล (Yale University) และโคลัมเบีย (Columbia University) พร้อมกับจดหมายขอบคุณจากอดีตลูกค้าที่ ณ ตอนนี้ได้กลายเป็นเจ้าของธุรกิจ มหาเศรษฐี และนักการเมืองชื่อดัง
นอกจากมีทีมช่วยรีวิวและปรับ Application Essay ให้เข้ากับความต้องการของแต่ละมหาวิทยาลัย AO ยังช่วยในสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการเข้ามหาวิทยาลัยที่สหรัฐฯ คือการสร้างผลงานอันน่าประทับใจเพื่อประดับโปรไฟล์ ปั้นให้เด็กอายุ 17-18 ปีเป็นหัวหน้าองค์กรระดับประเทศหรือแม้แต่ระดับโลก และที่สำคัญที่สุดคือ การช่วยให้ลูกค้าเป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติครบทุกข้อตามที่มหาวิทยาลัยระดับท็อปต้องการ
คุณไซเล่าต่อว่า การสร้างโครงการให้ลูกค้า เริ่มจากการพูดคุยว่า ลูกค้ามีความสนใจอะไรบ้าง หลังจากนั้น เขาและทีมโค้ชของ AO จะทำการค้นคว้า หาข้อมูล และนำเสนอไอเดียของโครงการให้กับลูกค้า พร้อมกับช่วยหาวัตถุดิบ Supplier หรือหาผู้เชี่ยวชาญที่สามารถช่วยได้ นอกจากนี้ลูกค้าสามารถขอความช่วยเหลือจากทีมโค้ชได้ทุกเรื่องทุกเวลา
เขายกตัวอย่างต่อว่า ตั้งแต่เทคโนโลยีทางเกษตรกรรม โครงการการช่วยเหลือเด็กพิการ ชมรมส่งเสริมวิศวกรหญิงทั่วไทย หรือแม้กระทั่งองค์กรผลิตผ้าอนามัยให้สตรียากจน ล้วนเริ่มต้นจาก AO ทั้งหมด ส่วนนักเรียนที่เป็นหัวหน้าโครงการเหล่านี้ ปัจจุบันเรียนอยู่มหาวิทยาลัยไอวีลีก หรือมหาวิทยาลัยอันดับท็อป 20 ของโลกทุกคน
“ผมยกตัวอย่างองค์กรผลิตผ้าอนามัย จุดเริ่มต้นคือ ลูกค้าคนนี้สนใจประเด็นสิทธิสตรี แต่ทาง AO เป็นคนคิดไอเดียว่า เขาควรผลิตผ้าอนามัย Reusable เพื่อนำไปบริจาคให้สตรียากจน และเราเป็นคนช่วยหา Supplier วัตถุดิบให้อีกด้วย เพราะฉะนั้นทุกโครงการเริ่มต้นด้วยลูกค้า แต่เราเป็นผู้ช่วยคิดไอเดีย ช่วยค้นคว้าเรื่องปัญหาที่มีอยู่ในโลก และช่วยคิดค้นวิธีแก้ไขปัญหานั้นๆ
“เราเป็นเหมือนพาร์ตเนอร์หรือหุ้นส่วนของนักเรียน เราช่วยให้คำปรึกษา ช่วยให้ไอเดีย ช่วยสร้างเครือข่ายให้ เพื่อทำให้พวกเขาสำเร็จในการเข้ามหาวิทยาลัยฯ ระดับท็อปได้” คุณไซกล่าว
ช่วยเข้ามหาวิทยาลัย หรือช่วยสร้าง ‘ประวัติ’ ให้เกินจริง?
จากผลงานที่ทั้ง 3 คนได้เล่าให้ฟัง เห็นได้อย่างชัดเจนว่า โค้ชสามารถนำโปรไฟล์ของเด็ก มัธยมศึกษาตอนปลายคนหนึ่งปั้นให้กลายเป็นโปรไฟล์ของผู้นำ นักธุรกิจ นักวิจัย และอัจฉริยะที่แม้แต่มหาวิทยาลัยระดับโลกยังประทับใจ
เพราะฉะนั้นสิ่งที่ต้องตั้งคำถามต่อคือ
ใบสมัครที่ส่งไปให้มหาวิทยาลัยพิจารณา มีความ ‘เกินจริง’ มากน้อยขนาดไหน?
คนที่สแตนฟอร์ด, มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย (University of Pennsylvania: UPenn, มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส (University of California, Los Angeles: UCLA), วิทยาลัยดาร์ตมัท (Dartmouth College) หรืออ็อกซ์บริดจ์ ตัดสินใจเลือกเข้าไปนั้น เป็นเด็กที่ยอดเยี่ยมจริงๆ หรือเป็นตัวละครสมมติที่ถูกสร้างขึ้นมา เพื่อคณะกรรมการมหาวิทยาลัยเพียงเท่านั้น
มีเส้นแบ่งระหว่างการสร้างโปรไฟล์กับการหลอกลวงบ้างไหม
แล้วในที่สุด การจ้างโค้ชเป็นการโกงแบบหนึ่งหรือเปล่า และสิ่งนี้ยุติธรรมขนาดไหนกันเชียว?
ทั้ง 3 คนยอมรับว่า ในวงการนี้มีโค้ชบางรายที่สร้างโปรไฟล์ปลอมขึ้นมา หรือแม้กระทั่งเขียนบทความ Application Essay ให้ลูกค้าเอง แต่ทุกคนต่างยืนยันว่า ไม่สนับสนุนพฤติกรรมนี้เด็ดขาด ส่วนการจ้างโค้ชเพื่อให้คำปรึกษา ไม่ได้เป็นการโกง
“เราไม่ได้เปลี่ยนแปลงความเป็นตัวตนของเด็กหรือไปแก้ไขงานให้เขา แต่เราช่วยเรื่องการวางแผน การพัฒนา ให้ทางเดินสู่มหาวิทยาลัยได้ชัดเจนมากขึ้น” ครูต่ายอธิบาย ส่วนการทำโปรไฟล์ให้ยอดเยี่ยมนั้นขึ้นอยู่กับความตั้งใจและความขยันของนักเรียนเอง
คุณไซมีกฎกติกาชัดเจนว่า แม้ไอเดียอาจมาจากโค้ช แต่นักเรียนต้องเป็นคนลงมือทำเอง และนอกจากนั้น ทุกผลงานที่ระบุไว้ในโปรไฟล์ต้องมีหลักฐานในรูปแบบภาพถ่ายหรือใบรับรอง เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีการปลอมเกิดขึ้น คุณไซย้ำว่า โค้ชเปรียบเสมือนนักยุทธศาสตร์สงครามที่มีหน้าที่วางแผนและคิดกลยุทธ์ให้ ส่วนนักเรียนเป็นกองทัพทหารที่ต้องลงสนามรบเอง
“แต่ถ้าถามว่ายุติธรรมหรือไม่ ที่นักเรียนที่มีโค้ชได้เปรียบขนาดนี้ มันไม่ยุติธรรมหรอก แต่โลกนี้มันไม่มีความยุติธรรมหรือความเท่าเทียมอยู่แล้ว
“การมีโค้ชมันไม่ยุติธรรมต่อนักเรียนที่ไม่มีโค้ช แต่ในโลกนี้ยังมีเด็กยากจน เด็กกำพร้ามากมาย การที่เด็กบางคนมีปัญญาสมัครเรียนต่อต่างประเทศ มีปัญญาที่จะพร้อมจ่ายค่าเทอมและค่ากินอยู่กว่า 12 ล้านบาท มันก็ไม่ยุติธรรมกับเด็กทั้งหลายที่ไม่มีปัญญาเรียนแม้แต่หลักสูตรอนุบาลด้วยซ้ำ
“แต่สิ่งที่เราควรตั้งคำถามคือ ทำไมคนหลายคนถึงต้องการเรียนที่มหา’ลัยต่างประเทศขนาดนี้ ทำไมใบปริญญาจากมหา’ลัยชื่อดังจึงเป็นสิ่งที่สำคัญขนาดนี้”
ก็จริงอย่างที่คุณไซพูด เพราะที่ใดมีควันย่อมมีไฟ และที่ใดมีโค้ชย่อมมีนักเรียนพร้อมทุ่มเททุกอย่างเพื่อติดมหาวิทยาลัยอันดับท็อปให้ได้ เพราะฉะนั้นแทนที่จะสำรวจว่า โค้ชสามารถช่วยนักเรียนไปตามความฝันได้อย่างไร เราควรเริ่มด้วยการตั้งคำถามว่า ทำไมนักเรียนไทยหลายคนถึงมีความฝันนี้ตั้งแต่แรก
สำหรับครูต่ายและครูจ๋อมแจ๋ม เหตุผลนั้นเป็นเพราะว่า มหาวิทยาลัยต่างประเทศขึ้นชื่อว่าครบเครื่อง มีทั้งหลักสูตรการเรียนการสอนที่ฝึกให้นักศึกษามีทักษะและเครือข่ายที่ดี เป็นการเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการเข้าสู่โลกแห่งการทำงาน
แต่คุณไซและลูกค้าให้เหตุผลว่า เป็นค่านิยมของสังคมไทยที่ให้คุณค่ามหาศาลกับใบปริญญา
‘แนน’ นักศึกษามหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย (University of California) เล่าว่า การโตมาในสังคมไทยทำให้เธอมองการเข้ามหาวิทยาลัยโด่งดังเป็นเป้าหมายอันดับหนึ่งสำหรับเธอ และความกังวลที่จะไม่บรรลุเป้าหมายนี้เป็นสิ่งที่บีบบังคับให้ตัดสินใจจ้างโค้ช
“ในสังคมไทย เราถูกสั่งสอนมาว่า ถ้าเราติดมหา’ลัยชื่อดัง เราก็จะได้มีงานที่ดี มีคนนับถือเยอะแล้วชีวิตก็จะสบาย ความคิดนี้เป็นแรงผลักดันให้นักเรียนไทยหลายคนทุ่มเทขนาดนี้เพื่อติดมหาวิทยาลัยดัง” แนนระบุ
ด้านมาร์คอธิบายว่า เพียงแค่ได้จดหมาย Acceptance Letter จากมหาวิทยาลัยชื่อดัง เขาก็กลายเป็นบุคคลที่น่านับถือในสายตาของคนรอบข้างทันที แม้บางคนที่ไม่เคยพูดคุยกับมาร์คมาก่อนยังเดินเข้ามาชมเขาว่า “มาร์คติดมหาวิทยาลัยไอวีลีก เก่งจังเลย”
“สังคมไทยไม่ส่งเสริมให้เด็กมีความใฝ่ฝันอย่างอื่น เช่น การเป็นศิลปินหรือนักร้อง มันทำให้เรารู้สึกว่าในชีวิตของตัวเอง ไม่มีอะไรสำคัญเท่าการเข้ามหาวิทยาลัยดัง จริงๆ ตัวตนเราไม่ได้เป็นอะไรนอกจากการเป็นนักศึกษา” แนนกล่าว
ส่วนคุณไซให้คำตอบด้วยการเล่าถึงประเพณีงานแต่งงานไทย ที่มีการประกาศต่อหน้าแขกรับเชิญว่า เจ้าบ่าวและเจ้าสาวต่างเรียนจบจากมหาวิทยาลัยไหนบ้าง ทำให้ชื่อมหาวิทยาลัยและใบปริญญากลายเป็นเครื่องมือประเมินมูลค่าของคนคนหนึ่งที่จะติดอยู่กับเขาตลอดชีวิต
“คุณถูกตัดสินโดยผู้อื่นจากความโด่งดังของมหา’ลัยที่คุณจบมา ทั้งที่ความเก่งและความสำเร็จไม่ได้อยู่ที่การเรียนมหาวิทยาลัยเสมอไป แต่มันมีแรงกดดันตลอดเวลา ไม่ว่าจะมาจากคนในครอบครัว เพื่อน ลูกค้า หรือนายจ้างก็ตาม
“ความกดดันเริ่มต้นจากสังคมและคุณค่าที่สังคมไทยให้กับมหาวิทยาลัย จริงๆ แล้วใบปริญญาจากมหาวิทยาลัยระดับท็อปเป็นเพียงตราประทับบนตัวคุณ เป็นแบรนด์ของคุณ เป็นเหมือนนามสกุลที่ 2 ที่ให้สังคมสามารถประเมินคุณได้”
เพราะฉะนั้น เราไม่อาจพิจารณาวงการโค้ช ระบบการเข้ามหาวิทยาลัย และความใฝ่ฝันของนักเรียนไทย โดยไม่คำนึงถึงบทบาทของสังคมไทยในการประดิษฐ์ความฝันนี้ขึ้นมาได้ อย่างที่แนนกล่าว ในเมื่อสังคมกำหนดเส้นทางให้แค่เส้นทางเดียว เด็กไทยจะทำอะไรได้นอกจากเดินตามทางนั้นให้ดีที่สุด
หรือว่าเราต้องเปลี่ยนแปลงค่านิยมที่ว่า มูลค่าของคนคนหนึ่งขึ้นอยู่กับชื่อ อันดับของมหาวิทยาลัยบนใบปริญญา หรือว่าสังคมควรปูเส้นทางที่หลากหลาย เพื่อให้เด็กไทยสามารถเลือกเดินด้วยตนเอง
อ้างอิง
– https://www.ox.ac.uk/admissions/undergraduate/fees-and-funding/course-fees
– https://www.undergraduate.study.cam.ac.uk/international-students/international-fees-and-costs
– https://www.usnews.com/best-colleges/harvard-university-2155/applying
Tags: Oxbridge, Feature, มหาวิทยาลัย, เรียนต่อ, โค้ช, เรียนต่างประเทศ, Ivy League