ไม่ว่าจะอ่านตำราประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทยเล่มใด ย่อมไม่สามารถเลี่ยงที่จะเอ่ยถึง ‘คณะราษฎร’ ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่การปกครองแบบประชาธิปไตย และกำเนิดรัฐธรรมนูญไทยฉบับแรก (ชั่วคราว) ให้เกิดขึ้นได้ จนเป็นรากฐาน เป็นเมล็ดพันธ์ุประชาธิปไตยจนถึงปัจจุบัน

แม้ว่าการเดินทางของคณะราษฎรอาจไม่สวยงาม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงปี 2475-2500 เหล่าสมาชิกคณะราษฎรต่างผลัดกันเข้ามามีบทบาทในสนามการเมืองไทย บ้างเป็นนายกรัฐมนตรี บ้างเป็นผู้กระทำการรัฐประหาร บ้างเป็นนักธุรกิจ และจำนวนไม่น้อยก็ต้องหนีออกนอกประเทศ ทว่า ได้ทิ้ง ‘มรดก’ และ ‘ร่องรอย’ หลักฐานทางประวัติศาสตร์เอาไว้มากมาย โดยเฉพาะอาคารและสถาปัตยกรรม บางอย่างยังคงอยู่ และบางสถานที่ (ถูกทำให้) หายไป อาจเป็นเจตนาเพื่อลบเลือนประวัติศาสตร์ที่ไม่ต้องการให้มีใครจดจำ แต่ยิ่งลบก็ยิ่งจำ

ในห้วงเวลาครบรอบ 90 ปี อภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน 2475 The Momentum ชวนผู้อ่านตามรอยมรดกของคณะราษฎรที่ถูกรื้อถอน และมีความพยายามทำให้หายไป บางสิ่งจนทุกวันนี้ยังไม่สามารถหาคำตอบได้ว่าหายไปได้อย่างไรและไปตั้งอยู่ที่ใด หลักฐานบางแห่งแม้ว่าจะหายไป… แต่ก็ใช่ว่าจะตายไปจากความทรงจำของคนไทยทุกคน

หมุดคณะราษฎร (รื้อ)

ในอดีตหมุดคณะราษฎรฝังอยู่บนพื้นถนนข้างฐานพระบรมรูปทรงม้า ลานพระราชวังดุสิต การฝังหมุดคณะราษฎรเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2479 โดยหมุดดังกล่าวทำด้วยโลหะสัมฤทธิ์ พิธีฝังหมุดเป็นความต้องการของพระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎรสายทหารบก ผู้ร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครอง สร้างวัตถุเพื่อรำลึกถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่การปกครองแบบประชาธิปไตยจวบจนถึงปัจจุบัน
จุดที่ฝังเป็นจุดเดียวกับที่พระยาพหลพลพยุหเสนา อ่านประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 หลังจากนำกองกำลังเข้ายึดพระที่นั่งอนันตสมาคม โดยมีกำลังพลจากกรมทหารม้าที่ 1 ทหารเรือ ทหารปืนใหญ่ และทหารช่างเข้าร่วม

หมุดคณะราษฎรไม่ต่างจากสัญลักษณ์การต่อสู้ของคณะราษฎร จนในปัจจุบัน มักถูกนำมาเป็นสัญลักษณ์การต่อสู้กับระบอบเก่าในอีกหลายการต่อสู้ที่เกิดจากประชาชน และมีการรำลึกถึงเหตุการณ์เหล่านั้นในการเคลื่อนไหวทางการเมืองในทุกปี

จนกระทั่ง ปี 2560 หมุดคณะราษฎรซึ่งเดิมเขียนไว้ว่า

“ณ ที่นี้ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ”

สูญหายไปอย่างไร้ร่องรอย

โดยมีการนำ ‘หมุดหน้าใส’ ซึ่งเขียนว่า “ขอให้ประเทศสยามจงเจริญยั่งยืนตลอดไป ประชาชนสุขสันต์หน้าใส เพื่อเป็นพลังของแผ่นดิน ความนับถือรักใคร่ในพระรัตนตรัยก็ดี ในรัฐของตนก็ดีในวงศ์ตระกูลของตนก็ดี มีจิตซื่อตรงในพระราชาของตนก็ดี ย่อมเป็นเครื่องคำให้รัฐของตนเจริญยิ่ง” มาใส่แทน
หากพิจารณาข้อความบนหมุดใหม่ บางส่วนนำมาจากคาถาสุภาษิตที่ปักอยู่บนตรา ‘ดาราจักรี’ ซึ่งเป็นเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ สร้างขึ้นเพื่อใช้ประดับฉลองพระองค์ครุยมหาจักรีบรมราชวงศ์ สำหรับฝ่ายหน้า โดยจะติดไว้ที่อกซ้ายของฉลองพระองค์ครุย จัดเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับบำเหน็จความชอบในราชการแผ่นดิน เรียกย่อว่า เครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาจักรีบรมราชวงศ์ มีชั้นเดียวทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายใน
หลังจากมีการรายงานข่าวเรื่องนี้ หลายฝ่ายได้เข้าร้องเรียนกับทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจและกับกรุงเทพมหานคร แต่ก็ไม่มีผู้ใดได้รับคำตอบที่ชัดเจนว่าหน่วยงานหรือบุคคลใดเป็นผู้รื้อถอนหมุดออกแล้วนำหมุดใหม่มาแทนที่ พร้อมทั้งกำชับว่ากล้องวงจรปิดในบริเวณดังกล่าวถูกถอดออกไปซ่อมบำรุง จึงไม่สามารถเปิดภาพย้อนหลังได้

กระนั้นเอง หมุดหน้าใสก็ตั้งอยู่ไม่นานนัก หลังจากนั้นก็มีรายงานว่า ‘หมุดหน้าใส’ ก็หายไปจากลานพระราชวังดุสิต กลายเป็นอีกหนึ่งหมุดที่ถูกลืม พื้นที่ลานพระราชวังดุสิตจากนั้น กลายเป็นพื้นที่หวงห้าม มีการกั้นรั้วไม่ให้รถยนต์เข้าออก และพลตำรวจโท สำราญ นวลมา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ได้ออกประกาศเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2565 ห้ามรถแล่นผ่านบริเวณถนนอู่ทองใน และลานพระราชวังดุสิตโดยเด็ดขาด ด้วยเหตุผลว่า “ถนนบางสายมีความหนาแน่นของการจราจรลดลงและมีความคล่องตัวมากขึ้น แต่มีผลทำให้รถที่สัญจรในทางใช้ความเร็วสูงและขาดความระมัดระวังในการขับขี่ ทำให้เกิดอุบัติเหตุในทางบ่อยครั้งต่อผู้ขับขี่ด้วยกันและผู้เดินเท้าในบริเวณนั้น ส่งผลต่อความปลอดภัยและความสะดวกในการจราจร”

ปัจจุบันหมุดคณะราษฎรยังคงหายสาบสูญ ไม่รู้ว่าเจตนาของผู้รื้อถอนว่าต้องการสิ่งใด แต่หลายฝ่ายคาดว่าผู้ถอนอาจต้องการลบวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ออกจากหน้าประวัติศาสตร์ไทยก็เป็นได้

อนุสาวรีย์พิทักษ์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ (รื้อ)

อนุสาวรีย์พิทักษ์พิทักษ์รัฐธรรมนูญสร้างขึ้นหลังเกิดเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับทหารของรัฐบาลที่แต่งตั้งโดยคณะราษฎรและกลุ่มกบฏบวรเดช หรือคณะกู้บ้านเมือง ที่พยายามทำการ ‘ปฏิวัติ’ ในปี 2476 นำโดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช หนึ่งปีให้หลังการอภิวัฒน์สยาม

กบฏบวรเดชเป็นความพยายามของ ‘ฝ่ายเจ้า’ ในการชิงอำนาจคืนจากคณะราษฎร อย่างไรก็ตาม ฝ่ายกบฏเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ พระองค์เจ้าบวรเดชต้องหลบหนีออกนอกประเทศ และเป็นสาเหตุสำคัญของการสละราชสมบัติของในหลวงรัชกาลที่ 7

หลังฝ่ายรัฐบาลสามารถปราบกบฏได้สำเร็จ ได้สร้างอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญขึ้นบริเวณ ‘ทุ่งบางเขน’ พื้นที่สู้รบระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายของพระองค์เจ้าบวรเดช ซึ่งยกทัพมาจากจังหวัดนครราชสีมา อนุสาวรีย์แห่งนี้มีชื่อเรียกอีกชื่อว่า ‘อนุสาวรีย์ปราบกบฏ’ เคียงคู่กับวัดพระศรีมหาธาตุ หรือ ‘วัดประชาธิปไตย’ ซึ่งสร้างขึ้นในเวลาต่อมา

ในอดีต อนุสาวรีย์แห่งนี้ตั้งอยู่ ณ วงเวียนหลักสี่ จุดตัดระหว่างถนนพหลโยธินกับถนนแจ้งวัฒนะและถนนรามอินทรา โดยสร้างขึ้นเพื่อเป็นเครื่องเตือนสติไม่ให้ไทยต้องแตกสามัคคี ขณะเดียวกัน ก็เป็นที่บรรจุอัฐิทหารและตำรวจที่เสียชีวิตทั้งหมด 17 นาย จากเหตุการณ์ปะทะกันที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 14-16 ตุลาคม 2476

อนุสาวรีย์แห่งนี้มีหลวงนฤมิตรเรขการ (เยื้อน บุณยะเสน) เป็นผู้ออกแบบ ลักษณะของอนุสาวรีย์มีรูปทรงคล้ายดอกบัวตูม ตั้งอยู่บนฐานรูปแปดเหลี่ยม และมีความสูง 14 เมตร แทนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 14 ตุลาคม 2476 ส่วนบนสุดประดิษฐานพานรัฐธรรมนูญ อันมีความหมายถึงสิ่งสูงสุด คือประชาธิปไตยที่ทหารหาญและตำรวจได้สละชีพเพื่อธำรงรักษาสิ่งสำคัญนี้เอาไว้

อย่างไรก็ตาม ในปี 2555-2559 กรมทางหลวงได้ดำเนินการก่อสร้างสะพานลอยข้ามแยกวงเวียนหลักสี่ จึงทำให้ต้องเคลื่อนย้ายตัวอนุสาวรีย์ออกไปจากบริเวณเดิม ซึ่งการกระทำดังกล่าวมีกลุ่มนักอนุรักษ์ นักโบราณคดี และกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ตลอดจนชาวบ้านได้รวมตัวกันคัดค้านการเคลื่อนย้าย แต่การคัดค้านไม่เป็นผลสำเร็จ อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญจึงถูกย้ายสถานที่ออกไปจากจุดที่กระทบต่อการก่อสร้าง

จนกระทั่งวันที่ 28 ธันวาคม 2561 ได้มีกลุ่มคนปริศนาออกมาย้ายอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ โดยมีการห้ามไม่ให้ผู้สื่อข่าวที่อยู่ในบริเวณดังกล่าวถ่ายภาพ ท่ามกลางคำกล่าวอ้างจากบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการย้ายว่า ได้ทำพิธีสักการะและยกไปที่ศูนย์การก่อสร้างบึงหนองบอนของกรุงเทพมหานครไว้ชั่วคราว จนกว่าจะก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวและรถไฟฟ้าสายสีชมพูเสร็จ

อย่างไรก็ตาม ศักดิ์ชัย บุญมา ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ในขณะนั้น ออกมาให้ปฏิเสธว่าไม่ได้นำไปไว้ที่ศูนย์ก่อสร้างหนองบอน และไม่ทราบว่าปัจจุบันตัวอนุสาวรีย์เก็บไว้ที่ใด ทำให้ปัจจุบัน อนุสาวรีย์พิทักษ์พิทักษ์รัฐธรรมนูญยังคงหายสาบสูญอย่างไร้ร่องรอย

ศาลฎีกา (รื้อ)

อาคารศาลฎีกาเดิม ตั้งอยู่บริเวณศาลหลักเมือง ถนนราชดำเนินใน ซึ่งเดิมทีทำหน้าที่เป็นทั้งศาลอุทธรณ์ ศาลอาญา และศาลฎีการ่วมกัน ได้รับการออกแบบโดย พระสาโรชรัตนนิมมานก์ (สาโรช ร. สุขยางค์) ผู้ออกแบบงานสถาปัตยกรรมสมัยใหม่และสไตล์อลังการศิลป์ (Art Deco) หลายแห่งในประเทศไทย เช่น อาคารที่ทำการกรมไปรษณีย์โทรเลข (อาคารไปรษณีย์กลาง บางรัก), วังวาริชเวสม์, หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรีฑาสถานแห่งชาติ (สนามศุภชลาศัย)

ศาลฎีกาได้สร้างเสร็จและทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2486 แน่นอนว่าเป็นความตั้งใจให้ตรงกับวันที่คณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครอง ตัวอาคารมีลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ ตัดลวดลายหรือความฟุ่มเฟือยต่างๆ ออก เน้นไปที่ความเรียบง่ายและประโยชน์การใช้งานโดยมีเอกลักษณ์สำคัญ คือเสาสูงใหญ่ 6 ต้นที่บริเวณทางเข้า ทำหน้าที่เป็นเสาค้ำยันอาคาร ซึ่งแสดงให้เห็นถึงสัญลักษณ์ตามหลัก 6 ประการของคณะราษฎร ประกอบด้วย เอกราช ความปลอดภัย เศรษฐกิจ สิทธิเสมอภาค เสรีภาพ และการศึกษา

ต่อมา ปี 2550 อาคารหลังนี้ได้ถูกรื้อถอนและสร้างทับใหม่ โดยศาลฎีกาให้เหตุผลว่าอาคารเหล่านี้กำลังเสื่อมสภาพ มีความแตกร้าว และไม่ปลอดภัยต่อผู้ที่ทำงาน หากยังใช้อาคารนี้อาจเกิดอันตรายเกิดขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม ชาตรี ประกิตนนทการ ผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านสถาปัตยกรรม และผู้เชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรมยุค ‘คณะราษฎร’ ได้ออกมาค้านว่า แม้ตัวอาคารจะเก่าก็สามารถบูรณะได้ ไม่ถึงกับต้องรื้อและสร้างใหม่ เนื่องจากตัวอาคารเป็นอาคารเสริมเหล็กคอนกรีตโครงสร้างภายในมีความแข็งแรงคงทนหากบูรณะก็สามารถอยู่อาศัยได้สบาย

นอกจากนี้ ชาตรียังตั้งคำถามว่าเหตุใด ศาลจึงเลือกเก็บบางอาคาร เช่น อาคารหลังพระรูป ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ซึ่งทรงเป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมเอาไว้ แต่เลือกที่ทำลายอาคารด้านถนนราชดำเนินและอาคารด้านริมคลองซึ่งเป็นอาคารที่มีความยึดโยงกับคณะราษฎร และเป็นที่ระลึกถึงเอกราชทางการศาลซึ่งเป็นเหมือนหอจดหมายเหตุที่สำคัญ

ปัจจุบัน อาคารศาลฎีกาทรงไทย ซึ่งสร้างใหม่แทนอาคารเดิม ตั้งตระหง่านอยู่ข้างสนามหลวง ซึ่งเดิมเป็นพื้นที่เปิด แต่ปัจจุบันเป็นพื้นที่ ‘หวงห้าม’ โดยอาคารศาลฎีกาใหม่เปิดทำการอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2562 ที่ผ่านมา

ศาลาเฉลิมไทย (รื้อ)

ศาลาเฉลิมไทยสร้างขึ้นเพื่อเป็นโรงละครแห่งชาติตามความประสงค์ของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม สร้างแล้วเสร็จในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2483 ต่อมาถูกปรับปรุงให้เป็นโรงภาพยนตร์ โดยตั้งอยู่ที่มุมถนนราชดำเนินกลางกับถนนมหาไชย แต่ด้วยผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่ 2 กว่าจะได้เปิดทำการเป็นครั้งแรกก็ล่วงเลยถึงปี 2492

การสร้างอาคารดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาพื้นที่บริเวณถนนราชดำเนินให้มีความศิวิไลซ์ทันสมัย ออกแบบโดย จิตรเสน อภัยวงศ์ สถาปนิกไทยที่จบการศึกษามาจากฝรั่งเศส โดยสร้างในรูปแบบของสถาปัตยกรรมยุคใหม่ (Modern Architecture)

การแสดงครั้งสุดท้ายที่จัดขึ้นที่ศาลาเฉลิมไทย คือการแสดงละครเวที พันท้ายนรสิงห์ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2532 ก่อนจะถูกรื้อถอนออกเพื่อสร้างเป็น ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ ในสมัยรัฐบาลพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ โดยมีการให้เหตุผลว่าอาคารศาลาเฉลิมไทยบดบังทัศนียภาพสง่างามของโลหะปราสาท วัดราชนัดดารามวรวิหาร จึงมีมติให้รื้อศาลาเฉลิมไทย แม้จะมีเสียงคัดค้านจากหลายฝ่ายก็ตาม

ทั้งนี้ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี และปัญญาชนแถวหน้าของฝ่ายอนุรักษนิยม เขียนถึงการรื้อศาลาเฉลิมไทย ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ลงวันที่ 17 มกราคม 2532 มีเนื้อหาว่า

“…การสร้างศาลาเฉลิมไทย ณ ที่นั้น เป็นการปิดบังวัดราชนัดดาโดยสิ้นเชิง แทนที่จะเห็นวัดราชนัดดาอันเป็นสิ่งสวยงามกลับแลเห็นโรงหนังเฉลิมไทยอันเป็นโรงมหรสพและมีสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ซึ่งต่ำทรามกว่าวัดราชนัดดาเป็นอย่างยิ่ง…

“คณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่รับผิดชอบในการสร้างถนนราชดำเนินกลางขึ้นนั้น มิได้มีใจรักศิลปะหรือวัฒนธรรมไทยแต่อย่างใดเลย และออกจะไม่เห็นว่าพระพุทธศาสนาเป็นของสำคัญ และจำเป็นอีกด้วย จึงสามารถทำกับวัดราชนัดดาได้ถึงเพียงนี้… เมื่อโรงหนังเฉลิมไทยถูกทุบทิ้งไปแล้ว ภาพของวัดราชนัดดาและโลหะปราสาทก็จะปรากฏแจ่มแจ้ง… เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่ควรยินดีและเป็นที่น่าภูมิใจของคนในกรุงเทพมหานครทั้งหมด…”

ค่ายพหลโยธิน (เปลี่ยนชื่อ)

ค่ายพหลโยธิน หรือศูนย์การทหารปืนใหญ่ ที่ตำบลเขาพระงาม จังหวัดลพบุรี ก่อนมีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 ให้เปลี่ยนชื่อเป็น ‘ค่ายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร’ และพระราชทานนามย่อว่า ‘ค่ายภูมิพล’

ข้อมูลจากนิตยสารศิลปวัฒนธรรมระบุว่า เดิมพื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่รกร้าง จนเมื่อปี 2457 พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช ผู้ช่วยเสนาบดีกระทรวงกลาโหม กรมจเรการปืนใหญ่ทหารบก และผู้บังคับบัญชาการโรงเรียนทหารปืนใหญ่ ในขณะนั้น ทรงกำหนดตำบลและเขตสนามยิงปืนขึ้น ณ บริเวณดังกล่าว พร้อมกันนั้นก็ได้สร้างสนามยิงปืน ในวันที่ 1 เมษายน 2460 ได้จัดตั้งและเปิดโรงเรียนนายสิบทหารปืนใหญ่ ซึ่งมีนักเรียนนายสิบจากกรมทหารปืนใหญ่ต่างๆ ที่ได้คัดเลือกเป็นพลทหารส่งไปศึกษาที่นั่น

ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในฐานะนายกรัฐมนตรี ได้ทำการปรับปรุงศูนย์การทหารปืนใหญ่ มีหน่วยทหารหลายหน่วยตั้งอยู่ภายใน โดยได้รับความร่วมมือจากสหรัฐอเมริกา ที่ช่วยปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนของทหารปืนใหญ่ รวมถึงปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ภายในค่ายให้ดีขึ้น ทั้งการก่อสร้างอาคารโรงเรือน ประปา ไฟฟ้า การกีฬา กิจการสโมสร และยานพาหนะรับส่งระหว่างค่ายกับตัวเมือง อยู่เคียงคู่กับจังหวัดลพบุรีมาช้านาน

อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายปี 2562 มีข่าวการรื้อถอน 2 อนุสาวรีย์ที่อยู่ในศูนย์การทหารปืนใหญ่เผยแพร่ในเว็บไซต์บีบีซีไทย หนึ่ง คืออนุสาวรีย์ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม และสอง คืออนุสาวรีย์ของพลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา โดยผู้ให้ข้อมูลคือ พันตรี พุทธินาถ พหลพลพยุหเสนา บุตรชายคนที่ 4 ของพระยาพหลพลพยุหเสนา ทว่า ไม่มีข้อมูลว่าอนุสาวรีย์ที่ย้ายออกจะถูกจัดเก็บไว้ยังสถานที่ใด เป็นการย้ายออกไปอย่างเงียบๆ เท่านั้น

หลังการเผยแพร่ราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 มีการรื้อถอนซุ้มประตูทางเข้าของค่ายและเปลี่ยนชื่อค่าย รวมถึงสถาปัตยกรรมใหม่ทั้งหมด จาก ‘ศูนย์กลางทหารปืนใหญ่ ค่ายพหลโยธิน’ เป็น ‘ค่ายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร’

ค่ายพิบูลสงคราม (เปลี่ยนชื่อ)

ค่ายพิบูลสงคราม หรือกองพลทหารปืนใหญ่ ตั้งอยู่ที่จังหวัดลพบุรี ก่อนมีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 ให้เปลี่ยนชื่อเป็น ‘ค่ายสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง’ และพระราชทานนามย่อว่า ‘ค่ายสิริกิติ์’

ย้อนกลับไปในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองประเทศไทย ในช่วงต้นทศวรรษ 2480 ได้เข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม มีนโยบายวางผังเมืองใหม่ทั่วราชอาณาจักร หนึ่งในแผนสำคัญคือ ริเริ่มความคิดในการย้ายเมืองหลวงออกจากกรุงเทพมหานคร โดยที่คิดไว้คือจังหวัดเพชรบูรณ์ ส่วนสถานที่ตั้งของกรมทหารขนาดใหญ่คือจังหวัดลพบุรี

ทั้งนี้ เหตุผลที่ทำให้จอมพล ป. มองว่า จังหวัดลพบุรีเหมาะสมกับการตั้งกรมกองทหารเนื่องจากประการแรก คือเหตุผลทางกายภาพของจังหวัด ที่น่าจะเป็นฐานที่มั่นที่เหมาะสมในการรับมือหากเกิดสงครามขึ้น ด้วยชัยภูมิที่เหมาะสมทางทะเล และมีภูเขาโอบล้อม ทำให้เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ทางทหารที่ดี และจังหวัดลพบุรีมีศูนย์การทหารปืนใหญ่ตั้งอยู่ก่อนแล้ว

ส่วนประการถัดมา คือตนเองเคยรับราชการที่จังหวัดลพบุรีมาก่อน และมีความสัมพันธ์กับสถานที่ ทำให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม ตั้งใจพัฒนาลพบุรีให้เป็นเมืองศูนย์กลางทหารขนาดใหญ่และทันสมัยในยุคคณะราษฎร จึงเกิดผังเมืองใหม่ของลพบุรีขึ้นมา ทำให้ภาพลักษณ์ของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในลพบุรี ไม่ต่างจากผู้สร้างความเจริญให้กับจังหวัด

อย่างไรก็ตามหลังการเผยแพร่ราชกิจจานุเบกษา บริเวณซุ้มประตูทางเข้าของค่าย ได้เปลี่ยนจาก ‘กองพลทหารปืนใหญ่ จอมพล ป.พิบูลสงคราม’ เป็น ‘ค่ายสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง’

อ้างอิง

https://prachatai.com/journal/2013/08/48121

https://www.bbc.com/thai/thailand-51519715

https://www.silpa-mag.com/history/article_48127

https://www.silpa-mag.com/quotes-in-history/article_44981

https://www.bloggang.com/m/viewdiary.php?id=lillustration…

https://elect.in.th/khanarat-legacy-map/

http://www.public-law.net/publaw/view.aspx?id=1348

https://www.voicetv.co.th/read/58884

https://www.bangkokbiznews.com/politics/898857

Tags: , , , , ,