นับตั้งแต่การเลือกตั้งใหญ่ 2544 เป็นต้นมา กลายเป็นเรื่องปกติที่การเลือกตั้งทุกครั้ง นโยบายหาเสียงจะถูกนำมาโฆษณา ชักชวนให้บรรดาผู้มีสิทธิเลือกตั้งเลือกพรรคตัวเอง เพื่อหวังจะเปลี่ยนชีวิตคนธรรมดาให้ดีขึ้น

ยิ่งใกล้เลือกตั้งเท่าไร สารพัดนโยบายก็ถูกเข็นมาประชันกัน ส่วนใหญ่แล้ว นโยบายก็หนีไม่พ้นนโยบายปากท้อง สวัสดิการรัฐ และการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ เพื่อจูงใจกลุ่มคนต่างๆ ให้เลือกให้จงได้

การเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 เป็นอีกครั้งที่นโยบายหลายอย่างผุดขึ้นมาท่ามกลางการแข่งขันอันดุเดือด แน่นอนว่าผลการเลือกตั้งจบลงด้วยการคิดค้นสูตรประหลาดว่าด้วยการ ‘ปัดเศษ’ ดันทุรัง เพื่อให้พรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลให้ได้ เพื่อส่ง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย 

แต่เมื่อเป็นรัฐบาลแล้ว สิ่งสำคัญกว่าก็คือนโยบายที่หาเสียงไว้ครั้งนั้น พรรคการเมืองต่างๆ ที่เป็นทั้งแกนนำ แกนตามรัฐบาล ได้ทำตามหรือไม่… การตรวจสอบของเราพบว่า นโยบายหลักหลายนโยบายจากพรรครัฐบาลหลัก ทั้งไม่ได้ทำตาม ทั้งไม่มีการพูดถึง ซ้ำยังลบโพสต์จนหายไปจากโซเชียลมีเดีย

The Momentum ชวนย้อนกลับไปดูนโยบายรัฐบาลที่พูดแล้วทำไมได้ และหายไปกับสายลม จาก 3 พรรครัฐบาลหลัก เพื่อเป็นอีกหนึ่งเสียงหลักในการทวงถามว่า นโยบายเหล่านี้… หายไปไหน

พลังประชารัฐ

จำนวน ส.ส. 116 คน คะแนนโหวต 8.4 ล้านเสียง

ตำแหน่งที่ได้รับ: นายกรัฐมนตรี/ รองนายกรัฐมนตรี/ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ/ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง/ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน/ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

1. มารดาประชารัฐ

ก่อนเลือกตั้ง หนึ่งในนโยบายที่ติดป้ายหาเสียงทั่วประเทศ ก็คือการให้สวัสดิการกับมารดาที่มีบุตรตั้งแต่ตั้งครรภ์จนถึงอายุ 6 ขวบ ระหว่างตั้งครรภ์รับ 3,000 บาทต่อเดือน เมื่อคลอดบุตรแล้วได้ 1 หมื่นบาทต่อเดือน ทั้งยังมีค่าดูแลเด็ก 2,000 บาทต่อเดือน ไปจนถึงอายุ 6 ขวบ

ในตอนแรกพรรคพลังประชารัฐยืนยันว่า จะเริ่มนโยบายนี้ได้ภายในต้นปี 2563 ทว่า ประเทศไทยกลับเผชิญความวุ่นวายจากการระบาดของโรคโควิด-19 และเมื่อโควิด-19 เริ่มซาลง ก็เกิดเหตุไม่คาดฝันจากความวุ่นวายในพรรคเอง เป็นเหตุให้มีการ ‘แซะ’ เก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของหัวหน้าพรรคอย่าง อุตตม สาวนายน ออกจากตำแหน่ง และให้อุตตมลาออกจากทุกตำแหน่งในพรรค

จากนั้น นโยบายนี้ก็หายไปกับสายลม โดยเฉพาะเมื่อพลเอกประยุทธ์ยึดตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้เป็นโควตาของตัวเอง และนั่งเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ล่าสุด สุชาติ ตันเจริญ ส.ส.ฉะเชิงเทราของพรรคพลังประชารัฐ ได้ย้ายข้ามมาพรรคเพื่อไทย และบริภาษเรื่องนี้กลางเวทีพร้อมกับบอกว่า พรรคพลังประชารัฐเป็นพรรคที่หาเสียงแล้วทำไม่ได้จริง

2. เด็กจบใหม่ยกเว้นภาษี 5 ปี

แน่นอนว่าเด็กจบใหม่ถือเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคการเมืองทุกพรรค ยิ่งในการเลือกตั้งปี 2562 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 8 ปี คนกลุ่มนี้ถือเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งกลุ่มใหญ่ที่จะลงคะแนนเสียงให้มากที่สุด การยกเว้นภาษีนอกจากทำให้เด็กจบใหม่ไม่ต้องยื่นแล้ว ยังได้คืนภาษีมากขึ้น

ในเอกสารหาเสียงของพรรคพลังประชารัฐ อุตตมบอกว่า เป็นการจัดการเพื่อให้เด็กจบใหม่สามารถตั้งตัวได้ แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีอะไรเป็นมรรคผลตามเคย

3. จบปริญญาตรี เงินเดือน 2 หมื่นบาท

อันที่จริงเรื่อง ‘เงินเดือน’ ถือเป็นเรื่องสำคัญ จุดเริ่มต้นมาจากพรรคเพื่อไทยในการหาเสียงเมื่อปี 2554 ที่ตั้งเงินเดือนขั้นต่ำไว้ที่ 1.5 หมื่นบาท และขึ้นให้ข้าราชการทันทีหลังจากได้รับเลือกเป็นรัฐบาลเสียงข้างมาก

ในโปสเตอร์ แผ่นผับ และป้ายหาเสียงทุกชิ้นของพรรคพลังประชารัฐ เขียนไว้อย่างดิบดีว่า เด็กจบใหม่ควรต้องได้เงินเดือนขั้นต่ำ 2 หมื่นบาท แม้พรรคพลังประชารัฐได้คุมทั้งรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจและกระทรวงการคลัง ทว่านโยบายนี้ก็ไม่เคยมีความคืบหน้า

สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐในขณะนั้น ให้สัมภาษณ์เมื่อเดือนมีนาคม 2563 ว่า เป็นนโยบายที่ผลักดันยากเพราะภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง

ประชาธิปัตย์

จำนวน ส.ส. 53 คน คะแนนโหวต 3.9 ล้านเสียง

ตำแหน่งที่ได้รับ: รองนายกรัฐมนตรี/ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์/ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์/ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

1. เกิดปั๊ปรับเงินแสน

คล้ายกับพรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งก่อนการเลือกตั้งมี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นหัวหน้า ได้เสนอ ‘เบี้ยเด็กเข้มแข็ง’ สำหรับเด็กอายุ 0-8 ปี 1,000 บาทต่อเดือน โดยตั้งเป้าให้เด็กมีสุขภาพแข็งแรงตลอดปี นอกจากนี้ ประชาธิปัตย์ยังเสนอให้เงินช่วยค่าคลอด 5,000 บาท ซึ่งน้อยกว่าพรรคพลังประชารัฐ แต่ก็จูงใจมากพอในการทำให้ครอบครัวยอมมีบุตร ซึ่งสามารถช่วยทั้งในเรื่องสวัสดิการ และในเรื่องการเพิ่มจำนวนประชากร หลังอัตราเด็กเกิดใหม่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลกระทบกับจำนวนแรงงานและโครงสร้างประชากรในอนาคต

อย่างไรก็ตาม หลังการเลือกตั้ง อภิสิทธิ์ได้ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคและ ส.ส. จากนั้นก็ไม่ปรากฏอีกว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้นำนโยบายนี้ไปเสนอกับรัฐบาลอีกหรือไม่

2. ประกันรายได้ขั้นต่ำ 1.2 แสนบาทต่อปี

ด้วยนโยบายและรายได้ขั้นต่ำเท่านี้ เท่ากับช่วยให้ประชากรทุกคนในประเทศมีรายได้ 1 หมื่นบาทต่อเดือน และหากไม่ถึงก็แปลว่ารัฐจะช่วยสนับสนุนให้ คล้ายกับเป็นรัฐสวัสดิการรูปแบบหนึ่ง

แน่นอนว่าจะช่วยให้แรงงานทั้งหลายที่ ‘จดทะเบียน’ สามารถเข้าถึงสวัสดิการดังกล่าว และกระตุ้นแรงงานนอกระบบให้เข้าสู่ระบบมากขึ้น เพื่อรับสวัสดิการนี้

เรื่องนี้ อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เคยเสนอต่อรัฐสภาแล้ว แต่ยังไม่ปรากฏความเคลื่อนไหว

3. แก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย

เป็นที่รู้กันว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่เอาด้วยกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 และหัวหน้าพรรคในเวลานั้นอย่างอภิสิทธิ์ และหัวหน้าพรรคในเวลานี้อย่าง จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ต่างก็ไม่เอาด้วยกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เงื่อนไขในการเข้าร่วมรัฐบาลนั้นชัดเจนว่า จะร่วมรัฐบาลก็ต่อเมื่อรัฐบาลเสนอแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม หลายเรื่องที่พรรคประชาธิปัตย์เสนอ เช่น บทบาทของวุฒิสภา ก็ยังไม่ได้รับการตอบรับ หรือการ ‘ปลดล็อก’ เรื่องของการแก้รัฐธรรมนูญให้ง่ายขึ้น ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งเรื่องนี้จุรินทร์เป็นผู้ระบุเองว่าจะต้องแก้ เมื่อครั้งแถลงเข้าร่วมรัฐบาล

น่าสนใจก็ตรงที่ว่า เมื่อผ่านมานานกว่า 4 ปี เรื่องเดียวที่แก้ได้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ก็คือเรื่องของระบบการเลือกตั้งจากบัตรใบเดียวเป็นบัตร 2 ใบ ยกเลิกคะแนน ส.ส.พึงมี ไปจนถึงการเพิ่มจำนวนเขตเลือกตั้ง และลดจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งก็ไม่ใช่หลักประกันอยู่ดีว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวทำให้เกิดความเป็น ‘ประชาธิปไตย’ มากขึ้น

พรรคภูมิใจไทย

จำนวน ส.ส. 51 คน คะแนนโหวต 3.7 ล้านเสียง

ตำแหน่งที่ได้รับ: รองนายกรัฐมนตรี/ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข/ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม/ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

1. กัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจ สร้างความร่ำรวยให้กับคนไทย

เป็นความจริงว่า ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในวาระรัฐบาลนี้ของพรรคภูมิใจไทย คือการผลักดันให้ ‘กัญชา’ ถูกกฎหมาย ด้วยการปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติด แล้วออกกฎหมายควบคุมทีหลัง แต่ปัญหาก็คือ กัญชาไม่ได้กลายเป็นกัญชา ‘เพื่อการแพทย์’ อย่างที่พรรคภูมิใจไทยคาดหวัง หากแต่เป็นกัญชาเสรี เนื่องจากกฎหมายควบคุมนั้นมีปัญหา กลายเป็นช่องโหว่ให้เกิดร้านกัญชาทุกหัวระแหงทั่วบ้านทั่วเมือง และยิ่งเป็นช่องโหว่มากไปอีก เมื่อเด็กนักเรียนทั้งหลายก็เข้าถึงได้

ปัญหาอีกอย่างก็คือในตอนแรก พรรคภูมิใจไทยเคลมว่าจะจำกัดการปลูกให้อยู่ที่บ้านละ 6 ต้น ทุกต้นจะเสียภาษีให้รัฐต้นละ 30 บาท เพื่อควบคุมปริมาณกัญชา ปัญหาอีกอย่างก็คือ พรรคภูมิใจไทยเคลมว่าจะหาตลาดให้คนไทยส่งออกกัญชาด้วยมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท

จนถึงตอนนี้ วันที่กัญชาเสรีทั่วไทย ไม่ได้มีการพูดถึงจำนวนการปลูก ไม่ได้มีการพูดถึงมูลค่ารายได้รวมจากการส่งออก และเสียงของกัญชาเพื่อการแพทย์ก็ค่อยๆ แผ่วลงๆ เรื่อยๆ

เรื่องทั้งหมดนี้เกิดในขณะที่คนไทยไม่ได้ร่ำรวย มีแต่พ่อค้ากัญชาที่ร่ำรวยเท่านั้น

2. พักหนี้ กยศ. 5 ปี ไม่คิดดอกเบี้ย

เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ขึ้นป้ายทั่วประเทศก่อนการเลือกตั้ง 2562 ว่า พรรคภูมิใจไทยจะมุ่งเป้าไปที่การพักหนี้กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) 5 ปี และเป็นการให้กู้แบบไม่คิดดอกเบี้ย ทว่าจนถึงวันนี้ยังมีความคืบหน้าไม่มากนัก โดยทางพรรคระบุว่า อยู่ระหว่างการเจรจากับทางสำนักงาน กยศ.

อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ระบุว่า สิ่งที่พรรคทำไปแล้วคือการผลักดันจนผู้กู้ กยศ.ไม่ต้องมีคนค้ำประกัน และหลังจากนี้ สิ่งที่จะทำต่อคือผลักดันเรื่องการเปลี่ยน ‘ผู้กู้’ ให้กลายเป็น ‘ผู้ยืม’ ซึ่งจะทำให้ไม่เสียดอกเบี้ยอีกต่อไป

เป็นน้ำเสียงเดียวกับเมื่อปี 2562 ที่พรรคภูมิใจไทยเคยหาเสียงไว้

3. ทำงานที่ออฟฟิศสัปดาห์ละ 4 วัน

เรียกได้ว่าเป็นนโยบายที่บรรดาพนักงานออฟฟิศจับตากันมากที่สุด เพราะภูมิใจไทยจะเสนอร่างกฎหมาย เสนอพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน เพื่อให้พนักงานในตำแหน่งที่เหมาะสมของบริษัท ห้าง ร้าน สามารถทำงานที่บ้านได้ โดยวัตถุประสงค์เพื่อลดปัญหาการจราจรในเขตกรุงเทพฯ และเขตเมืองใหญ่

กระนั้นเอง ร่างกฎหมายดังกล่าวก็ไม่เคยเกิดขึ้นจริง ส่วนหนึ่งก็เพราะว่ามีการเสนอให้ Work from Home ช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 และอาจเป็นได้ว่า สภาพ ‘เปราะบาง’ ของสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ ได้ทำให้การเสนอกฎหมายและการผ่านกฎหมายล้วนเป็นไปอย่างยากลำบาก การทำงานออฟฟิศสัปดาห์ละ 4 วัน เลยยังไม่เกิดขึ้นจริง ต้องทำงานกันเต็มขีด หรือมีเฉพาะบางที่ที่ให้ Work from Home ก็เป็นไปตามนโยบายแต่ละบริษัทเท่านั้น ไม่ได้มีกฎหมายอย่างจริงจัง

Tags: , , , , , , ,