เหลืออีกเพียงไม่ถึง 3 เดือน นโยบาย ‘เรือธง’ นโยบายแรกของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยกำลังจะเกิดขึ้นจริง นั่นคือนโยบายรถไฟฟ้าทุกสายทั่วกรุงเทพฯ จะอยู่ที่ราคาเพียง 20 บาทตลอดสาย ลดลงจากก่อนหน้านี้ที่บางสายคิดราคาแพงอย่างบ้าคลั่ง อาจสูงสุดถึง 62 บาท และหากต่อรถหลายสายราคาก็ต้องเริ่มคิดใหม่ ทำให้รถไฟฟ้าเป็นเพียงทางเลือกของชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มากกว่าจะเป็นระบบขนส่งมวลชนที่ใช้ได้จริง
กระนั้นเองสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจก็คือ ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ ยังไม่ใช่สิ่งที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยวางแผนและวาดหวังไว้เต็มระบบ เพราะเรื่องสำคัญคือพระราชบัญญัติอีก 3 ฉบับ ยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง นั่นคือ ร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง ร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม และร่างพระราชบัญญัติการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย
แล้วรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ที่จะเกิดขึ้นเฉพาะหน้ารอบนี้ มีที่มาที่ไปอย่างไร ใช้งบประมาณจากไหน และหากจะครบถ้วนสมบูรณ์แบบยังต้องทำอะไรอีกบ้าง The Momentum สรุปให้ฟัง
1. รถไฟฟ้าหลากสัมปทาน หลายสัญญาแบบฉบับ ‘เบี้ยหัวแตก’
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ระบบรถไฟฟ้าในประเทศไทย มีหลายระบบ หลากสัญญาสัมปทาน และมีผู้ดูแลจำนวนมาก เอาเฉพาะหน่วยงานรัฐยังมีตั้งแต่ กรุงเทพมหานคร (กทม.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ขณะที่บริษัทเอกชนยังมีผู้ที่เกี่ยวข้องอีกเป็นจำนวนมาก ทั้งบีทีเอส บริษัททางด่วน และรถไฟฟ้ากรุงเทพฯ (BEM) และในส่วนของสัญญาก็ยังแตกต่างกัน มีทั้งที่ให้สัมปทานขาดทั้งเดินรถและบริหารจัดการระบบ มีทั้งที่ให้เป็นผู้เดินรถอย่างเดียว และระบบ Public–Private Partnership เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน
นั่นจึงทำให้แต่ละระบบไม่เชื่อมโยงกัน ‘ตั๋วร่วม’ เป็นเรื่องที่อยู่ในความฝัน ทั้งราคาก็เกินรายได้ เกินค่าแรงขั้นต่ำ ฉะนั้นหากอยาก ‘ทุบ’ ราคา จนเหลือ 20 บาทตลอดสาย หลักการง่ายๆ ก็คือ 1. รัฐบาลปล่อยเอกชนดำเนินการ แล้วจ่ายชดเชยส่วนต่าง 2. รัฐบาลต้องมีอำนาจในการจัดการราคาทั้งหมดผ่านกฎหมายที่ออกใหม่ 3. ‘ซื้อคืน’ สัมปทาน ให้กลายเป็นของรัฐบาลให้หมด
2. รอบนี้ทำได้เพียง ‘ปะผุ’ จ่ายชดเชยเอกชน
ก่อนหน้านี้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยเคยทำรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายมาแล้ว ใน ‘สายสีม่วง’ ซึ่ง รฟม. เป็นผู้ดูแล และสายสีแดงที่ รฟท. เป็นผู้ดูแล โดยวิธีการคือรัฐบาลจ่ายชดเชย ‘ส่วนต่าง’ ที่ทั้งสองสูญเสียรายได้ เมื่อลดราคาเหลือ 20 บาทตลอดสาย โดยวิธีคิดเชื่อว่า หากลดราคา จำนวนผู้โดยสารจะมากขึ้น จนทำให้สูญเสียรายได้น้อยลง โดย ณ ขณะนี้ ผู้โดยสารสายสีแดงเพิ่มขึ้นราว 26.93% ขณะที่สายสีม่วงเพิ่มขึ้น 18.37%
ถึงตรงนี้ รัฐบาลเตรียมใช้วิธีแบบเดิม ดึงงบประมาณจากรฟม. ‘โปะ’ ส่วนต่างที่ขาดหาย เพื่อชดเชยรายได้จริงของรถไฟฟ้าแต่ละสาย ลดราคารถไฟฟ้าแต่ละสายให้อยู่ที่ 20 บาท โดยในปีแรกตั้งงบประมาณชดเชยไว้ที่ 5,512 ล้านบาทครอบคลุมระยะเวลา 1 ปี ทว่าตัวเลขยังคลุมเครือ เพราะบางกระแสระบุว่า หากชดเชยสายสีเขียว ‘ไข่แดง’ ที่วิ่งผ่านสุขุมวิท สยาม สีลม และสาทร อาจต้องจ่ายชดเชยเกิน 1 หมื่นล้านบาท
แต่นี่คือตัวเลขใน 1 ปี ในระยะยาว (ซึ่งยังไม่แน่ว่ารัฐบาลยังเป็นชุดเดิมหรือไม่) จำต้องหาแหล่งรายได้อื่นมาโปะ ซึ่งแง้มๆ ไปว่า หลังกฎหมายตั๋วร่วมผ่าน ก็ต้องมีกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วมเพื่อให้ระบบอยู่คงทน ขณะเดียวกัน จะมีการซื้อสัมปทานคืน ด้วยอัตราสูงราว 2 แสนล้านบาท และการเก็บค่ารถเข้าเมือง (Congestion Charge) เพื่อให้ระบบยังสามารถเดินได้ต่อไป
แต่ความไม่แน่นอนก็คือ การซื้อสัมปทานคืนนั้นยังไม่ชัดเจนว่าต้องจ่ายเงินให้บรรดาเอกชนเท่าไร การเก็บค่าธรรมเนียมรถเข้าเมืองจะจัดแผนการอย่างไร ต้องเก็บเงินเท่าไรเพื่อให้ระบบอยู่ได้
ขณะเดียวกันความไม่แน่นอนอีกอย่างคือ ในสภาวะรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ และในสภาวะที่ทุกกฎหมายต้องผ่านการ ‘ต่อรอง’ การใช้งบประมาณมากกว่า 2 แสนล้านบาท จะได้รับความเห็นชอบมากพอหรือไม่ ยังเป็นสิ่งที่ต้องตั้งคำถาม
3. ขบวนรถยังไม่เพียงพอ
อีกหนึ่งเงื่อนไขที่รัฐบาลวางไว้คือ ภายในเดือนสิงหาคมนี้จะต้องมีการลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิค่าโดยสาร 20 บาท ผ่านแอปพลิเคชัน ‘ทางรัฐ’ เพื่อการันตีเฉพาะคนไทยที่มีเลขบัตรประชาชน 13 หลักเท่านั้น
คนไทยยังคง ‘หลอน’ ระบบลงทะเบียนไม่หาย จาก ‘เที่ยวไทยคนละครึ่ง’ ที่มีปัญหาทั้งผู้ประกอบการทั้งลูกค้า และจนถึงวันนี้
รัฐบาลคาดหวังว่าในเฟสแรก จะมีผู้ใช้รถไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 30% ซึ่งแก้ปัญหาทั้งฝุ่น ควัน มลพิษ และลดรายจ่ายให้กับประชาชน แต่สิ่งที่ยังไม่พร้อมแน่ๆ คือจำนวนขบวนรถ โดยเฉพาะสายที่วิ่งผ่ากลางเมืองอย่างสายสีเขียว สายสีน้ำเงิน และแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ที่มีปริมาณรถไม่เพียงพอ รองรับคนในชั่วโมงเร่งด่วน ถึงวันนี้ก็ชัดว่า ต่อให้วันที่ 1 ตุลาคม 2568 ก็ยังไม่สามารถเพิ่มขบวนรถได้ทัน
นั่นทำให้หลายคนประเมินว่า ถึงอย่างไรนี่ก็เป็นเรื่องการเมือง เพราะพรรคเพื่อไทยยังไม่มีนโยบายใหญ่ๆ ที่ประสบความสำเร็จ อีกทั้งปีหน้าก็ต้องเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและสมาชิกสภากรุงเทพฯ ขณะเดียวกัน การเลือกตั้งใหญ่ก็ใกล้เข้ามาทุกที
หากจะมีนโยบายไหนที่ทำให้เพื่อไทยได้สส. พื้นที่กลับคืนมา หลังจากที่เสียไปเกือบทั้งหมด ก็ต้องเป็นรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย
4. แล้วมีทางเลือกอื่นอีกไหม
พรรคฝ่ายค้านอย่างพรรคประชาชนเห็นว่า นโยบายนี้ไม่ได้เป็นไปตามที่หาเสียง ไม่ได้เป็นการเจรจาเพื่อลดราคา ทว่ากลับเป็นการล้วงกระเป๋ารายได้จากรฟม. มาใช้ไปก่อน ไม่ได้แตะโครงสร้างใหญ่ และเป็นการเอื้อให้ภาคเอกชน เจ้าของรถไฟฟ้ารวยขึ้นผ่านการเอาเงินภาษีมาอุดให้เอกชน ส่วนเรื่องในอนาคตค่อยไปว่ากันข้างหน้า
ข้อเสนอของพรรคประชาชนคือ แก้โครงสร้างทั้งระบบ โดยคิดค่าโดยสารในอัตรา 8-45 บาท เป็นขั้นบันได ไม่ว่าจะกี่สาย กี่ต่อ และราคานี้ไม่ได้เป็นเพียงราคารถไฟฟ้าท่อนเดียว แต่ทำทั้งระบบ ทั้งรถเมล์ รถสองแถว เรือ และรถไฟฟ้า ผ่าน ‘ตั๋วร่วม’ เพื่อให้ทั้งหมดเชื่อมต่อกัน มากกว่าการเสกตัวเลข 20 บาทตลอดสาย โดยไม่มีฐานคิดและการคำนวณต้นทุนว่าควรเป็นเท่าไร
แต่ความซับซ้อนก็คือ ทั้งรถเมล์ รถสองแถว เรือ และรถไฟฟ้า ต่างก็มีเจ้าภาพเป็นของตัวเอง หากต้องออกกฎหมายให้ครอบคลุมทั้งหมด อาจใช้ระยะเวลานานหลายปี
อย่างไรก็ตามความเห็นของพรรคประชาชน รวมถึง สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตสส. พรรคประชาธิปัตย์ คือ ควรคิดให้รอบ ตอบคำถามให้ได้ ก่อนที่จะคิดไว ทำไว โดยไม่มีมาตรการอื่นรองรับอย่างที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยทำ
ในทางการเมืองดูเหมือนนโยบายนี้จะไม่สามารถรอได้ และจำต้องใช้งบประมาณปะผุ อุดชั่วคราวไว้ก่อน
ส่วนอนาคตจะเป็นอย่างไร คงมีความชัดเจนมากขึ้นภายหลังชุดกฎหมายว่าด้วยรถไฟฟ้าผ่านสภาฯ ทั้งหมดอีกครั้ง
Tags: รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน, Feature, รัฐบาล, รถไฟฟ้า, เพื่อไทย, บีทีเอส, งบประมาณ, รถไฟฟ้าสายสีเขียว, รถไฟฟ้า 20 บาท