“เขาหายไปเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557”  

แม้พูดคุยในเรื่องอื่นอยู่ แต่หากถามถึงช่วงเวลาที่สามีหายตัวไป พิณนภา พฤกษาพรรณ หรือมึนอ ก็ตอบคำถามทันที แม้ว่าเหตุการณ์นี้จะผ่านไปนานกว่า 11 ปีแล้วก็ตาม

สามีของมึนอคือ พอละจี รักจงเจริญ หรือที่หลายคนรู้จักกันในชื่อ บิลลี่ ชายชาวปกาเกอะญอ นักต่อสู้เพื่อสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์ ผู้เป็นตัวตั้งตัวตีฟ้องหน่วยงานรัฐ หลังเจ้าหน้าที่อุทยานและกองทัพลุแก่อำนาจเผาทำลายยุ้งฉาง และบ้านเรือนของชาวบางกลอย-ใจแผ่นดิน นับ 20 ครอบครัวใน ‘ยุทธการตะนาวศรี’ ปี 2553-2554 เพียงเพราะต้องการขับไล่กลุ่มชาติพันธุ์ออกจากพื้นที่เดิมซึ่งอาศัยทำกินมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ 

บิลลี่หายตัวไปอย่างปริศนา เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 โดยมีหลักฐานว่า เขาถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแก่งกระจาน 4 คน นำโดย ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตรอักษร หัวหน้าอุทยานฯ แก่งกระจานในเวลานั้นควบคุมตัว ต่อมากรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ตรวจพบถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร 1 ถัง บริเวณใต้สะพานแขวนในเขื่อนแก่งกระจาน ไม่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งกระดูกของผู้เสียชีวิตตรงกับพันธุกรรมแม่ ‘บิลลี่’

จึงนำมาสู่การส่งฟ้องเจ้าหน้าที่อุทยานทั้ง 4 คน ในฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน แม้จะมีการพบชิ้นส่วนกระดูกที่เป็นหลักฐานสำคัญ แต่ปัจจุบันคดีความยังไม่ถึงที่สิ้นสุด และบทสรุปที่ว่า ‘ใครฆ่าบิลลี่’ ก็ยังไร้คำตอบ

เมื่อบิลลี่ไม่สามารถส่งเสียงได้ ครอบครัวจึงกลายเป็นตัวแทนที่ต้องเปล่งเสียงแทน The Momentum พูดคุยกับผู้หญิง 2 คน ซึ่งเป็นแม่และภรรยาของบิลลี่ว่า พวกเขาต่อสู้และใช้ชีวิตอย่างไรหลังจากที่บิลลี่หายไปนานกว่า 11 ปี 

“ฉันสู้เพื่อเขามาตลอด สู้มาตั้งแต่แรก จนตอนนี้ฉันกำลังเหนื่อยแล้ว” โพเราะจี รักจงเจริญ มารดาของบิลลี่ กล่าว

1

เมื่อถามว่ารู้สึกอย่างไรที่การต่อสู้คืนความยุติธรรมให้กับลูกชายเข้าสู่ปีที่ 11 โพเราะจี พูดคำว่า ‘เหนื่อย’ เป็นภาษาปะกาเกอะญออย่างเสียงดังฟังชัด 

ครอบครัวของบิลลี่ทราบข่าวว่า เขาถูกเจ้าหน้าที่จับกุมตัว 2 วันหลังจากที่เขาหายตัวไป ในวันนั้นโพเราะจีกำลังเดินทางออกจากบ้าน เพื่อไปทอผ้าในศูนย์ศิลปาชีพของหมู่บ้านบางกลอยล่าง สุดท้ายเธอจึงต้องเปลี่ยนแผน 

“ตอนเขาหายไปช่วงแรกฉันทำอะไรไม่ถูกเลยเดินกลับมาที่บ้าน หลังจากนั้นก็ออกตามหาเขา เดินลงจากหมู่บ้านไปยืนอยู่หน้าด่านเขามะเร็ว เพื่อขอร้องให้เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ปล่อยตัวบิลลี่ออกมา” โพเราะจีกล่าว

เจ้าหน้าที่อุทยานฯ แก่งกระจาน 4 คน รวมทั้ง ชัยวัฒน์ หัวหน้าอุทยานฯ แก่งกระจานในเวลานั้น จับกุมบิลลี่ฐานครอบครองน้ำผึ้งป่า มีการเทียบปรับ แต่ไม่มีการลงบันทึกประจำวัน ก่อนจะนำตัวบิลลี่ขึ้นรถพร้อมของกลาง โดยมีหัวหน้าอุทยานฯ เป็นคนขับรถ

ในวันที่ 21 เมษายน 2557 ชัยวัฒน์ยอมรับว่า ควบคุมตัวบิลลี่จริง และระบุแบบไม่มีหลักฐานว่า ปล่อยตัวบิลลี่ไปแล้ว แต่จากคำบอกเล่าของนักศึกษาฝึกงานในอุทยาน 2 คน กล่าวสอดคล้องกันว่า ไม่เห็นการปล่อยตัวบิลลี่

“กรรมจะต้องตามสนองพวกเขาแน่ๆ ฉันไม่กลัวอะไรทั้งนั้น ความโมโหมันกลบความกลัวไปหมดแล้ว” โพเราะจีพูดด้วยน้ำตา

ความตั้งใจในการตามหาลูกชายของโพเราะจีทำให้เธอต้องเดินทางไกลจากหมู่บ้านมากขึ้นเรื่อยๆ ช่วงปี 2566 ในวันครบรอบ 9 ปีการหายตัวไปของบิลลี่ หญิงชราวัย 68 ปี (อายุในขณะนั้น) ต้องเดินทางจากหมู่บ้านโป่งลึก-บางกลอย เพื่อมาติดตามคดีในกรุงเทพฯ แม้ว่าเธอจะฟังภาษาไทยไม่ถนัดก็ตาม

ทว่าวันนี้ครบรอบ 11 ปีแล้วที่บิลลี่หายตัวไป โอกาสที่จะได้เจอหน้าลูกชายอีกครั้งกลับไม่เพิ่มขึ้นแม้แต่น้อย 

“พวกเราอยู่กันอย่างทุกข์ทรมาน พยายามดิ้นรนติดตามคดีของลูกชาย หากว่าสู้ไปแล้วได้ลูกชายคืน ฉันก็จะสู้ให้ถึงที่สุด วันนี้ฉันสู้จนร่างกายกำลังจะไม่ไหว แต่ไม่มีครั้งไหนที่ได้ลูกชายกลับมาเลย” 

2

“เขาเป็นคนชอบร้องเพลง เวลากลับมาบ้านก็จะมาร้องเพลงให้ลูกๆ ฟัง เวลาใช้เด็กไปซื้อของ เงินทอนเขาก็เอาให้เด็กหมด” 

ความใจดี เป็นมิตร มักเป็นคำอธิบายภาพจำบิลลี่ของใครหลายคนในหมู่บ้านโป่งลึก-บางกลอย รวมทั้งเป็นความทรงจำของมึนอ ภรรยาของบิลลี่ ขณะที่อีกบทบาทหนึ่งสามีของเธอคือ นักปกป้องสิทธิที่ดินให้กับชาวปกาเกอะญอ ใจแผ่นดินที่ถูกอุทยานฯ กล่าวหาว่า บุกรุกพื้นที่ร่วมกันกับ ‘ปู่คออี้’ ปู่ของเขาที่เป็นผู้นำจิตวิญญาณของชาวปกาเกอะญอบางกลอย 

บทบาทที่ว่านี้ทำให้บิลลี่สัมผัสถึงความไม่พอใจของหน่วยงานรัฐที่เขามีส่วนเกี่ยวข้อง จนครั้งหนึ่งบิลลี่บอกกับมึนอว่า “ถ้าวันใดวันหนึ่งพี่หายตัวไป ไม่ต้องเป็นห่วงพี่ ไม่ต้องคิดมาก ไม่ต้องตามหาพี่ ให้รู้ว่าพี่ถูกฆ่าไปนานแล้ว” 

แล้วบิลลี่ก็ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานฯ แก่งกระจานจับกุมตัวและหายตัวไปอย่างสาบสูญ หลังจากต่อสู้ในคดียุทธการตะนาวศรีอยู่ในกระบวนการมาเกือบ 3 ปี จนศาลปกครองกลางเรียก ‘พยาน’ เข้าให้ข้อมูลในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนพฤษภาคม 2557 แต่เพียง 1 เดือนก่อนวันนัดหมายบิลลี่ก็หายตัวอย่างสาบสูญ

แม้จะถูกกำชับว่าไม่ให้ตามหา แต่มึนอไม่ทำตาม เธอเดินหน้ายื่นหนังสือร้องเรียนกับหน่วยงานที่คิดว่าพึ่งพาได้ตั้งแต่วันแรก ไม่ว่าจะเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด สถานีตำรวจภูธร กระทั่งศาลจังหวัดเพชรบุรี เพราะเชื่อว่าสามียังถูกเจ้าหน้าที่อุทยานฯ แก่งกระจานกักขัง รวมทั้งขอให้ดำเนินคดีกับชัยวัฒน์ ซึ่งเป็นหัวหน้าอุทยานฯ เวลานั้นในข้อหากักขังหน่วงเหนี่ยว

“แต่เขายกฟ้องหมดเลย บอกว่าหลักฐานไม่เพียงพอ” มึนอระบุ

มึนอจำได้ว่า หลังจากศาลฎีกายกคำร้องข้อกล่าวหาในวันที่ 2 กันยายน 2557 เธอยังคงเดินสายติดต่อองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนเข้ามาให้ความช่วยเหลือ และกลับมามีความหวังอีกครั้ง ในปี 2561 ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ ได้รับคดีบิลลี่สูญหายเป็น ‘คดีพิเศษ’ ซึ่งทำให้พบกระดูกของกะโหลกมนุษย์ที่มีดีเอ็นเอตรงกับแม่ของบิลลี่ ในถังน้ำมัน 200 ลิตรที่จมอยู่ใต้น้ำใกล้กับสะพานแขวนในอุทยานฯ ทำให้ชัยวัฒน์ หัวหน้าอุทยานฯ ขณะนั้น พร้อมพวกรวม 4 คน ถูกฟ้องในข้อหาฆ่าคนและกักขังหน่วงเหนี่ยว

แต่เรื่องราวก็กลับตาลปัตร เมื่อสำนักงานอัยการคดีพิเศษ 1 สั่งฟ้องผู้ต้องหา 4 คน แค่การละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ส่วนข้อหาร่วมกันฆ่า ใช้อาวุธข่มขืนใจ กักขังหน่วงเหนี่ยว และอำพรางคดี ถูกสั่งไม่ฟ้องทั้งหมด

“ในเมื่อคนสุดท้ายที่บิลลี่อยู่ด้วยคือคนของรัฐ ถ้าเขาเป็นลูกผู้ชายเขาก็คงออกมายอมรับในสิ่งที่ตัวเองทำ และรับโทษไปตามกฎหมายแล้ว หรือจะขอผ่อนให้โทษของตัวเองเบาลงก็ได้ เราไม่ว่าอะไร แต่อย่ามาอ้างได้ไหมว่าตัวเองไม่เกี่ยวข้อง เพราะมันไม่แฟร์กับครอบครัวและพี่น้องของเรา

“ความยุติธรรมในประเทศนี้กับคนจนมันไม่เคยมีหรอก ถ้าบิลลี่เขาเป็นผู้มีอำนาจ เรื่องราวมันคงไม่ลงเอยแบบนี้”

เข้าสู่ปีที่ 11 ที่มึนอทำทุกวิถีทางเพื่อหาความจริงและคืนความยุติธรรมให้สามี ขณะเดียวกันก็เป็น 11 ปีที่เธอต้องจัดการกับความรู้สึกของตัวเอง พยายามที่จะแข็งแกร่ง และปกป้องตัวเองจากความเศร้าหมอง 

“เราพยายามมากๆ ที่จะไม่ทำให้ตัวเองคิดมาก มองว่าปัญหาทุกอย่างมันมีทางแก้ ถ้าแม้การหายตัวไปของบิลลี่มันไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ตอนนี้เราแค่ติดตามคดีความของเขาไปให้ถึงที่สุด วันไหนที่เกิดเครียดขึ้นมาก็ฟังเพลง อ่านหนังสือธรรมะ ออกกำลัง แล้วก็เล่นกับลูกๆ ของเรา”

การหายไปของสามี ทำให้มึนอต้องแบกรับหน้าที่ในการดูแลครอบครัวทั้งแม่ และลูกๆ อีก 5 คน ที่ตอนนี้กำลังอยู่ในวัยเรียน มึนอจึงต้องพยายามหารายได้มาจุนเจือค่าใช้จ่ายเพียงลำพัง ซึ่งรวมไปถึงค่ารักษาพยาบาลของลูกแต่ละคน และแม่วัยชราอีกด้วย

“พอบิลลี่ไม่อยู่เราก็ต้องแข็งแกร่งขึ้น จะเจอเหตุการณ์อะไรก็ต้องเข้มแข็งไว้ก่อน อะไรที่เราไม่เคยทำหรือทำไม่ได้ เราก็ต้องทำให้ได้ ที่ที่ไม่เคยไปก็ต้องไป ต้องพยายามทำทุกอย่างทดแทนในสิ่งที่บิลลี่เขาเคยทำ

“มันเหมือนพระเจ้ากำลังทดสอบใจเราว่า เราอยู่ได้ไหม ทนได้หรือเปล่า แต่เราก็นึกในใจว่าทำไมชีวิตของเราต้องมาเจอเรื่องอะไรแบบนี้ พระเจ้านี่ก็ช่างทดสอบจิตใจจริงๆ แต่เราขอได้ไหมว่าให้เขาพอแค่นี้ ไม่ต้องมาทดสอบอะไรเราอีกแล้ว” 

ปัจจุบันคดีของบิลลี่ยังคงอยู่ในศาลอาญา หลังจากที่อัยการสูงสุดได้ยื่นฟ้อง อดีตหัวหน้าอุทยานฯ แก่งกระจาน และพวกรวม 4 คนอีกครั้ง ในปี 2565 ในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ส่วนคดีที่ครอบครัวของบิลลี่ยื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพราะคนของหน่วยงานละเลยต่อชีวิตของบิลลี่ในปี 2557 ถูกจำหน่ายคดีออกจากระบบชั่วคราว เพื่อรอคดีอาญาสิ้นสุดลงไปก่อน 

ยังคงอีกยาวไกลกว่าความจริงทั้งหมดจะกระจ่าง ถึงตอนนั้นลูกๆ ของมึนออาจโตพอที่จะรับรู้เรื่องราวที่เกิดขึ้นกับครอบครัวของตัวเอง อย่างไรก็ตามมึนอไม่ได้คาดหวังให้พวกเขาต้องเป็นนักต่อสู้ เพื่อคืนความยุติธรรมให้กับบิลลี่แบบที่เธอเป็น แต่ให้เป็น ‘ทางเลือก’ อิสระของลูกๆ 

“การจะให้เขาต้องมาสู้ต่อจากเรา มันขึ้นอยู่กับเขา เพราะคดีความมันอาจจะยังคงอีกยาวไกลกว่าจะจบ แต่สำหรับตัวเรา ถ้าความจริงยังไม่กระจ่าง เราก็จะติดตามต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะสิ้นสุดคดีความ เพราะสุดท้ายถ้าบิลลี่ได้รับความยุติธรรม เราก็หวังว่า ญาติพี่น้องทุกคนก็จะได้รับความยุติธรรมไปด้วย พวกเขาจะได้ไม่ต้องถูกรังแกเหมือนกับที่สามีของเราโดน” มึนอทิ้งท้าย

Tags: , , , , , , , ,