อดีตบึงน้ำขนาดใหญ่ริมถนนรัชดาภิเษกที่ถูกถมออกไป 53 ไร่ จาก 150 ไร่ เพื่อใช้เป็นสถานที่ก่อสร้างศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์เมื่อกว่า 27 ปีก่อน สำหรับการรองรับงานประชุมระดับโลกครั้งสำคัญที่ไทยเป็นเจ้าภาพ กระทั่งกลายมาเป็นสถานที่สำคัญในการจัดประชุมระดับนานาชาติ จัดแสดงงานต่างๆ ซึ่งน้อยวันที่ศูนย์การประชุมแห่งนี้จะไม่มีกิจกรรมที่จัดขึ้นภายใน
วันที่ 12 เมษายนนี้ เป็นวันสุดท้ายที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์จะเปิดให้บริการ เพราะหลังจากนี้ไปอีก 4 ปี สถานที่ซึ่งไม่เคยมีวันหยุดจะปิดตัวลงชั่วคราวสำหรับการปรับปรุงครั้งใหญ่ โอกาสนี้เราได้สนทนากับ ม.ร.ว.สวัสดิวุฒิ สวัสดิวัตน์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด ผู้บริหารของศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ถึงเรื่องราวของศูนย์การประชุมแห่งนี้ ไปจนถึงแผนการปรับปรุงศูนย์ใหม่ ที่แม้จะพลิกโฉมไป แต่ก็ยัง ‘ต้อง’ มีสิ่งซึ่งคงอัตลักษณ์ของคำว่า ‘ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์’ เอาไว้
เรื่องราวที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อกว่า 27 ปีก่อน มีอะไรที่น่าจดจำ อะไรที่ยังคงอยู่ อะไรที่จะเกิดขึ้นใหม่ ติดตามได้ในบทสรุปฉบับคัดย่อนี้
-
ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นสถานที่จัดประชุมเวิลด์แบงก์
ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2532 เพื่อใช้รองรับการประชุมสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ประจำปี พ.ศ. 2534 หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า ‘เวิลด์แบงก์’ ในวันที่ 15-17 ตุลาคม พ.ศ. 2534 จากขั้นแรกที่มีการคาดการณ์ว่าการประชุมนี้จะจัดขึ้นภายในศูนย์การประชุมของโรงแรมเอกชนแห่งหนึ่ง แต่เกิดข้อขัดข้องและอุปสรรคอันเป็นเงื่อนไขยุ่งยากต่อภาครัฐบาล จึงจำเป็นต้องหาแนวทางเพื่อให้มีสถานที่รองรับการประชุมแห่งใหม่
-
ใช้เวลาเพียง 20 เดือนในการก่อสร้าง
ด้วยเป็นงานจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องแล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนด ทั้งการก่อสร้างซึ่งเกิดขึ้นในยุคสมัยที่งานก่อสร้างกำลังเฟื่องฟูเป็นอย่างมาก ทำให้วงการธุรกิจประเภทนี้มีการแย่งชิงตัวช่างเทคนิคตามไปด้วย วัสดุก่อสร้างรวมไปถึงแรงงานก่อสร้างก็ขาดแคลน แต่ที่สุดแล้ว งานก่อสร้างศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ซึ่งมีระยะเวลาในการดำเนินการทั้งการออกแบบและก่อสร้างรวมทั้งสิ้น 20 เดือน นับตั้งแต่เริ่มทำการออกแบบสำรวจในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2532 ก็สามารถแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2534 และเปิดใช้งานได้ในเวลาที่กำหนด
-
เทคโนโลยีใหม่สุดในขณะนั้น
หลังคา Space Frame ที่ผลิตสำเร็จจากประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นโครงข้อหมุนชนิดสามมิติสำหรับใช้ในส่วนหลังคาที่มีช่วงกว้าง ถูกนำมาใช้เพื่อให้สามารถทำการก่อสร้างได้อย่างรวดเร็ว น้ำหนักน้อย แต่แข็งแรง และทำให้เกิดแสงสว่างกึ่งเปิดโล่งแก่อาคาร ช่วยลดการใช้ไฟฟ้า และยังมีการนำเอาวิทยาการทันสมัยชิ้นแรกในประเทศไทยมาใช้คือ การยกโครงหลังคา 6,000 ตารางเมตร ขึ้นตั้งด้วยไฮดรอลิกส์ แจ็คเพียง 8 ตัว อัตราการยก 8 เมตรต่อชั่วโมง แต่เป็นการยกครั้งละ 2 เมตร ใช้การยก 5 ครั้งจึงจะถึงหัวเสา รวมเวลาการยก 3 วัน และด้วยการประกอบหลังคาวิธีนี้ ทำให้สามารถประหยัดเวลาติดตั้งได้ถึง 90 วัน
-
อาคารประหยัดพลังงานที่มาก่อนเทรนด์
นับย้อนไปกว่า 27 ปีก่อนหน้านี้ เรื่องการประหยัดพลังงานยังไม่ได้เป็นกระแสแพร่หลายเหมือนเช่นปัจจุบัน แต่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ก็นำแนวคิดประหยัดพลังงานเข้ามาใช้ อาทิ ระบบไฟฟ้าและแสงสว่างพิเศษ ที่เน้นชุดควบคุมระบบแสงสำหรับห้องประชุมด้วยคอมพิวเตอร์ นำม่านไฟฟ้าไฮเทคพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ เพื่อกำหนดให้แสงผ่านหลังคาได้บางส่วน เพิ่มความสว่างและความโปร่งของตัวอาคาร
-
สถาปัตยกรรม Thai-Tech
อาคารหลังนี้ถูกออกแบบขึ้นเพื่อแสดงลักษณะทางสถาปัตยกรรมไทยในยุคแห่งความก้าวหน้าทางวิทยาการ (Thai Hi-Tech) เป็นอาคารแห่งแรกที่ใช้การควบคุมอาคารด้วยระบบคอมพิวเตอร์ และนำลักษณะการวางผังหมู่อาคารเรือนไทยภาคกลางมาประยุกต์ จากเดิมที่เป็นหมู่เรือนหลายหลังตั้งอยู่บนยกพื้นเดียวกัน แบ่งเป็นซุ้มประตู ชานแล่นสู่หอกลาง เรือนนอน เรือนครัว ทั้งหมดเชื่อมต่อกันด้วยชานทางเดิน และแนวหลังคาที่เชื่อมต่อกัน
-
ศิลปินนับร้อยชีวิตร่วมกันทำงานในระยะเวลาที่จำกัด
ศิลปวัตถุที่ปรากฏทั่วบริเวณศูนย์การประชุมฯ คือผลงานของศิลปินและช่างฝีมือมากกว่า 100 คน ทั้งศิลปินแห่งชาติ ศาสตราจารย์ทางวิจิตรศิลป์ สถาปนิกทางสถาปัตยกรรมไทย ศิลปินหนุ่มสาว หรือแม้แต่ช่างศิลป์ผู้เติบโตมาจากตระกูลช่างโดยตรง ศิลปินทุกคนทำงานอยู่ภายใต้เวลาอันจำกัด อาทิ งานเล่าเรื่องด้วยไม้จำหลักขนาด 140 ตารางเมตร ใช้เวลาเพียง 140 วัน ศาลาไทยใช้เวลาเพียงครึ่งหนึ่งของการดำเนินการปกติ ลายรดน้ำ 16 บาน สร้างโดยยึดถือกระบวนการผลิตโบราณทุกประการ สามารถส่งมอบได้ภายใน 160 วัน ซึ่งท้ายที่สุดแล้วงานทุกชิ้นล้วนสัมฤทธิ์ผลภายใต้เงื่อนเวลาที่มี
-
อัตลักษณ์ของตัวอาคาร
ตัวอาคารหลังนี้ออกแบบให้มีชายคาแผ่กว้างและต่ำเกือบจรดพื้น มีระนาบหลังคาลาดชัน แบ่งระนาบหลังคาออกเป็นชั้นๆ สะท้อนลักษณะเด่นของหลังคาไทย เน้นทางเข้าหลักด้านหน้าด้วยมุข ทำเป็นหลังคารูปจั่วซ้อนสามชั้น ทั้งหมดล้วนแสดงถึงการประยุกต์รูปแบบของสถาปัตยกรรมไทยในอดีตแทบทั้งสิ้น
-
ทำหน้าที่เป็นทูตทางวัฒนธรรม
นอกจากกลุ่มอาคารที่เกาะเกี่ยวกันเช่นเดียวกับหมู่เรือนไทยโบราณ ยังมีการตกแต่งภายในที่สื่อถึงเอกลักษณ์ความเป็นไทยผ่านผลงานศิลปะกว่า 1,500 ชิ้น เพื่อให้งานศิลปะทำหน้าที่เป็นทูตทางวัฒนธรรมสำหรับผู้เข้าร่วมประชุมที่เดินทางมาจากหลายประเทศ จึงได้มีการรวบรวมศิลปวัฒนธรรมจากภาคต่างๆ มาจัดแสดงไว้ในอาคาร เพียงพอที่ผู้ใช้อาคารจะสามารถเรียนรู้ศิลปะและวัฒนธรรมของประเทศไทยในระยะเวลาอันสั้น
-
ศิลปะสี่ภาค สื่อถึงความเท่าเทียม
ศิลปวัฒนธรรมไทยจากสี่ภาค ซึ่งจัดวางไปตามแนวราบของศูนย์การประชุมฯ โดยไม่มีการลำดับความสำคัญนั้น เป็นการสื่อถึงเอกลักษณ์ที่เท่าเทียมกันของวัฒนธรรมไทยในทุกภาค
-
สัญลักษณ์แรกที่ทุกคนนึกถึง
‘โลกุตระ’ ผลงานของศาสตราจารย์ชลูด นิ่มเสมอ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรม) ประจำปี 2541 ซึ่ง ติดตั้งอยู่บริเวณหน้าอาคาร เป็นงานศิลปะร่วมสมัยที่สร้างขึ้นในสภาพแวดล้อมปัจจุบัน โดยแนวความคิดด้านพุทธธรรมมาเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทาง เพื่อมุ่งสู่จุดหมายปลายทางแห่งศิลปะ โลกุตระ เปรียบเสมือนเปลวรัศมีขององค์พระพุทธรูป เป็นสัญลักษณ์ของโลกุตระปัญญา คือ ปัญญาที่เหนือโลก หมายถึง ฝ่ายโลกุตระ ขณะที่แท่นหินแกรนิตสีดำ หมายถึง โลกหรือฝ่ายโลกิยะ เหนือแท่งหินสีดำขึ้นไปลักษณะคล้ายก้านดอกบัว 8 ก้าน ผนึกรวมเข้าด้วยกันเป็นก้านขนาดใหญ่ อันเป็นทางนำบุคคลจากโลกิยะไปสู่โลกุตระ ประติมากรรมชิ้นนี้คือกลายเป็นสัญลักษณ์และภาพจำของศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์มาตลอดระยะเวลาที่เปิดทำการ
-
มีเวลา 6 เดือนสำหรับงานจำหลักไม้ ศิลปวัตถุชิ้นใหญ่ที่สุดในศูนย์ฯ
ประติมากรรมไม้จำหลักนูนต่ำนูนสูงและกึ่งลอยตัว ‘พระราชพิธีอินทราภิเษก’ ขนาดกว้าง 22.80 เมตร สูง 4.50-6.35 เมตร ประดับบนผนังบริเวณทางขึ้นโถงต้อนรับ เป็นการจำหลักบนไม้ประดู่จำนวน 56 แผ่น เพลาะต่อกัน ทำผิวด้วยสีฝุ่นผสมสีน้ำมัน บันทึกเรื่องราวพระราชพิธีอินทราภิเษกซึ่งเป็นพิธีเฉลิมพระเกียรติยศและพระราชอำนาจของพระอินทร์ และเป็นการเทิดพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 9 จรูญ มาถนอม ศิลปินผู้รับผิดชอบงานชิ้นนี้มีเวลาทำงานทั้งหมดเพียง 6 เดือน โดยทยอยแกะไม้ด้วยเวลา 4 เดือน และอีก 2 เดือนสำหรับการอบเนื้อไม้ จากปกติที่ต้องใช้เวลาอบนับปี ด้วยธรรมชาติของเนื้อไม้ที่ยังมีความชื้น งานไม้จึงมีการหดตัวตามกาลเวลาอย่างเลี่ยงไม่ได้เช่นที่เห็นในปัจจุบัน
-
หนังใหญ่บนแผ่นอัลลอยของช่างฝีมือแห่งแดนใต้
‘หนังใหญ่เรื่องรามเกียรติ์’ เป็นการจำลองการฉลักหนังของภาคใต้ เล่าเรื่องการศึกครั้งสุดท้าย ระหว่างพระรามกับทศกัณฑ์ จากวรรณคดีไทยเรื่อง รามเกียรติ์ ผลงานของประพันธ์ สุวรรณ ช่างศิลป์ที่มีความชำนาญเรื่องการฉลักหนังตะลุง ความต้องการสร้างชิ้นงานขนาดใหญ่เพื่อแสดงเอกลักษณ์ของภาคใต้ ทำให้ไม่สามารถทำได้บนหนังวัวแบบปกติได้ เขาจึงตัดสินใจสร้างงานบนแผ่นอัลลอย เจาะลายตามแบบด้วยสว่าน ที่ต้องอาศัยความประณีตที่สุดเพื่อให้ลายเส้นมีความพลิ้วไหวคล้ายงานตอกมือบนแผ่นหนัง
-
ศิลปะบนเรือลำจริง
เรือกอและเป็นเรือประมงขนาดเล็กของชาวใต้ ซึ่งติดตั้งอยู่บนแท่นด้านหน้าหนังใหญ่ เป็นเรือขนาดใช้งานจริง ที่ใช้สำหรับหาปลาในลำคลองและชายฝั่งทะเล เขียนลวดลายด้วยสีน้ำมันข้างลำเรือ ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างลายไทยภาคกลางกับลายไทยพื้นบ้าน
-
ศาลาไทยที่รวมฝีมือของช่างเฉพาะทาง
ผลงานของ รศ.ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรม) ปี 2537 เป็นงานสถาปัตยกรรมไทยแบบประเพณีภาคกลางตามธรรมเนียมช่างหลวง ขนาดศาลายาวสามห้อง มีมุขลดหัว-ท้ายต่อยอดออกไปทั้งสองด้าน ตัวหลังคาเป็นมุขประเจิดวางอยู่บนหลังคากันสาด มุงด้วยกระเบื้องกาบกล้วยเคลือบสีเทาฟ้าเพื่อให้ได้ลักษณะสีหลังคาไทยเดิม ซึ่งเป็นสีดีบุกเหมือนการสร้างพระบรมมหาราชวังในสมัยกรุงศรีอยุธยา บิดปลายกระเบื้องด้วยกระจังลายดอกพุดตาน ตัวโครงสร้างหลังคาเป็นไม้ วางระบบเป็นขื่อแปแบบโบราณ ใต้เชิงกลอนประดับตกแต่งด้วยดาวตุ๊ดตู่ตลอดแนวชายคาล้อรับไปกับแนวกระจังด้านบน เสารับชุดหลังคาประดับปลายเสาด้วยบัวจงกล ขณะที่การตกแต่งในส่วนอื่นๆ อาทิ เสา ปั้นลม หน้าบัน คันทวย และพนักระเบียง ล้วนแล้วแต่เป็นไม้แกะสลักลงรักปิดทอง มีการนำลายดอกพุดตานมาใช้ออกแบบลายในทุกส่วนขององค์ประกอบ เพดานไม้แกะสลักลงรักปิดทองบนพื้นแดงชาด ท้องไม้โครงสร้างทั้งหมดตกแต่งลายฉลุปิดทองคำเปลวตามแบบแผนประเพณี ตกแต่งราวบันไดด้วยพนักพลสิงห์หัวเหราปูนปั้นลงรักปิดทองประดับกระจก เน้นตกแต่งด้วยโทนสีทองเพื่อให้เข้ากับหลังคาสีเหลืองของศูนย์ฯ ทั้งนี้ วัสดุก่อสร้างทุกอย่างล้วนผลิตในไทย โดยคัดเลือกช่างฝีมือที่มีความชำนาญในแต่ละด้านมาโดยเฉพาะมาร่วมงาน
-
บานไม้แบบโบราณที่ประตูเพลนนารีฮอลล์
บานลายรดน้ำรูปกัลปพฤกษ์ที่นำทางเข้าสู่ห้องประชุมใหญ่หรือเพลนนารีฮอลล์ จำลองแบบมาจากบานประตูรดน้ำ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ในพระราชวังบวรสถานมงคล พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ลายรดน้ำรูปต้นกัลปพฤกษ์จำนวน 16 บานเขียนสำเร็จแล้วนำมาติดตั้งกับบานประตูไม้อัดสักที่เตรียมพื้นด้วยรักบริสุทธิ์ รดน้ำปิดทองตามวิธีการโบราณ ติดยึดกับมือจับพญานาค มือจับบานประตูซึ่งจำลองแบบมาจากนาคสัมฤทธิ์ศิลปะเขมรแบบบายน เดิมใช้เป็นเครื่องประดับส่วนปลายของคานหามที่นั่งผู้สูงศักดิ์ ดัดแปลงให้เหมาะกับการใช้งานเป็นมือจับ ด้วยการปั้นหล่อสัมฤทธิ์รมดำ
-
ช้างแทนสัญลักษณ์
ช้างยังคงทำหน้าที่แทนความหมายของประเทศไทย โดยครั้งนี้ปรากฏเป็นประติมากรรมลอยตัว ‘เสาช้าง ลูกโลก’ ผลงานของอาจารย์ธานี กลิ่นขจร มีลักษณะเป็นช้างสี่เศียร ปั้นหล่อด้วยวัสดุสังเคราะห์ รองรับโครงลูกโลกโปร่ง มีเสาซึ่งเป็นโครงเหล็กปิดผิวด้วยแผ่นทองเหลืองรมดำ แสดงถึงการเป็นผู้ค้ำจุนโลก ช้างสี่เศียรเปรียบเสมือนทิศทั้งสี่ ส่วนลูกโลกที่อยู่ด้านบน คือตัวแทนของนานาอารยประเทศ แสดงความหมายถึงวาระที่ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนระหว่างประเทศที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของโลก
-
พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ของสองพระองค์กับความประณีตของศิลปิน
พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในเครื่องราชภูษิตาภรณ์ ประดิษฐานคู่กับพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ฉลองพระองค์ชุดไทยจักรี ผลงานจิตรกรรมภาพสีน้ำมันบนผ้าใบของสนิท ดิษฐพันธุ์ ประดิษฐานอยู่เหนือผนังโถง ทางเข้าสู่ห้องประชุมใหญ่ ซึ่งเป็นจุดที่เส้นทางภายในทั้งหมดมาบรรจบกัน เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติและแสดงถึงพระบรมเดชานุภาพแห่งสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่แผ่คลุมไปทั่วทุกพื้นที่
-
ทวารบาลผู้คุ้มครองรักษา
‘เทวรูปพระศิวะและพระนารายณ์’ ประติมากรรมลอยตัว ผลงานของจรูญ มาถนอม เป็นทวารบาลหรือเทพยดาที่ดูแลรักษาและคุ้มครองทรัพย์สินภายในซึ่งตั้งอยู่เหนือบันไดทางขึ้นโซนพลาซ่าทั้งฝั่งซ้ายและขวา จำหลักไม้ตามรูปแบบทวารบาลทางขึ้นลานประทักษิณ ที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช แกะสลักบนไม้แดงที่นำมาเพลาะประกอบเข้ากัน เผยให้เห็นเนื้อไม้และลวดลายจากการแกะสลัก เคลือบด้วยน้ำยารักษาไม้สีธรรมชาติ
-
ปราสาทธรรมมาสน์ขนาดเท่าของจริง
‘ปราสาทธรรมาสน์และประติมากรรมประดับ’ งานสถาปัตยกรรมพื้นบ้านแบบล้านนา ลักษณะเป็นปราสาททรงสูง มีฐานในตัว มียอดซ้อน 3 ชั้น ฉัตรโลหะประดับ พร้อมแท่นวางดอกไม้ ซึ่งเป็นไม้แกะสลักปิดทองบนพื้นแดง รายล้อมด้วยรูปสัตว์หิมพานต์แกะไม้ลอยตัวด้วยไม้เนื้ออ่อน ปิดทองประดับกระจก ส่วนตัวปราสาทเป็นไม้เนื้อแข็งย้อมสีแดง (รักหาง) ปิดทองเป็นลวดลายประดับ โดยรอบปราสาทธรรมมาสน์มีเครื่องประดับตามคติ ตามแนวเสาจัดวางศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านโดยเฉพาะ เครื่องแต่งกายของชาวเหนือและชาวเขา ตลอดจนเครื่องบูชาในการทำบุญพิธี
-
ศิลปะพื้นบ้าน สะท้อนวิถีวัฒนธรรม
‘นาคฮดสรง’ หรือรางสำหรับใช้ในการสรงน้ำแก่พระภิกษุผู้ใหญ่ที่ได้เลื่อนยศตามประเพณีของชาวอีสาน ผลของจรูญ มาถนอม จำลองจากต้นแบบในรูปถ่ายโบราณ จำหลักจากไม้จำปาและประกอบเป็นราง สร้างขึ้นสามขนาด ได้แก่ ตัวใหญ่ ตัวกลาง และตัวเล็ก เพื่อติดตั้งไว้ที่ผนังด้านทิศตะวันออกของโถงรับรอง
-
พญานาคจากศิลปะเขมร
ส่วนบันไดทางขึ้นโถงต้อนรับซึ่งมีประติมากรรมลอยตัวรูปพญานาคราชตั้งขนาบอยู่ข้างบันได เป็นผลงานของนิพนธ์ สมานมิตร ซึ่งนำแรงบันดาลใจจากนาคศิลปะเขมร ราวบันไดสะพานนาคราช ปราสาทหินพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ มาปั้นหล่อด้วยปูนซีเมนต์ ลงสีด้วยโทนขาวหม่น
-
เดินทางสู่การปรับปรุงครั้งใหญ่
ย้อนกลับไปเมื่อปีพ.ศ. 2534 ที่เปิดใช้งาน ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์เป็นศูนย์การประชุมแห่งแรกของไทย และมีพื้นที่จัดประชุมและแสดงงานใหญ่ที่สุดในเวลานั้น แต่เมื่อเทียบกับจำนวนและขนาดของงานต่างๆ ที่มีมากขึ้นและใหญ่โตขึ้นตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ทำให้พื้นที่ใช้สอยเดิมของศูนย์ฯ ไม่เพียงพอต่อการรองรับงานได้อย่างเดิม ประกอบกับมีพันธะสัญญากับกระทรวงการคลังอยู่แล้วว่าเมื่อถึงสัญญาระยะที่สาม จะต้องมีโครงการส่วนขยายเพื่อปรับปรุงศูนย์การประชุมแห่งนี้ เมื่อถึงเวลาอันเหมาะสม ศูนย์ฯ จึงประกาศปิดปรับปรุงครั้งใหญ่ การปรับปรุงครั้งนี้จะเปลี่ยนโฉมของอาคารศูนย์การประชุมแห่งนี้ไปโดยสิ้นเชิง
-
กว่า 2 หมื่นงาน ในกว่า 27 ปี
วันที่ 12 เมษายน 2562 จะเป็นวันสุดท้ายที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์เปิดให้บริการและใช้เป็นที่รองรับงานประชุมและจัดแสดงงาน เพราะหลังจากนี้ จะปิดศูนย์ฯ เพื่อเริ่มต้นงานปรับปรุงอย่างเต็มตัว โดยมีกำหนดการปรับปรุงเป็นระยะเวลา 4 ปี ซึ่งตลอดระยะเวลาที่เปิดดำเนินการนั้น ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ได้ทำหน้าที่รองรับการจัดงานการประชุม งานแสดงสินค้า นิทรรศการ ฯลฯ มากถึง 22,709 งาน
-
ความสูงระดับเดิม เพิ่มเติมคือพื้นที่ใช้สอย
ตัวอาคารที่เห็นทั้งหมดจะมีการออกแบบใหม่ เพื่อขยายพื้นที่รองรับการจัดงาน รวมถึงพื้นที่อื่นๆ เพื่อรองรับผู้มาใช้บริการภายในศูนย์ ไม่ว่าจะส่วนร้านอาหาร ร้านค้า พื้นที่จอดรถ โดยพื้นที่ทั้งหมดจะขยายขึ้นจากเดิม 5 เท่าตัว แต่สิ่งหนึ่งซึ่งต้องคงไว้คือการรักษาระดับอาคารไว้ที่ความสูง 23 เมตร ตามกฎข้อบังคับเดิมของอาคารที่อยู่ติดกับสวนสาธารณะ
-
ศิลปวัตถุคู่ศูนย์ยังคงอยู่
อัตลักษณ์ไทยยังคงเป็นจุดเด่นของศูนย์ประชุมแห่งนี้เช่นเดิมกับที่เคยเป็นมาตลอด ดังนั้นในการออกแบบครั้งใหม่ นอกจากศิลปวัตถุอันทรงคุณค่าที่เคยมีอยู่เดิม จะถูกนำกลับมาติดตั้งใหม่ โดยเน้นการติดตั้งให้มีความโดดเด่น ไม่มีอะไรมาบดบังเมื่อมีการใช้พื้นที่จัดงานดังที่เคยเป็นปัญหาในศูนย์เดิมแล้ว เรื่องราวของผ้าไทย ตลอดจนงานหัตถศิลป์อื่นๆ ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ได้ทรงส่งเสริมและทรงงานด้านนี้มาโดยตลอด จะเป็นส่วนหนึ่งซึ่งสะท้อนอยู่ในการออกแบบและตกแต่งศูนย์แห่งใหม่ด้วย
-
งานบูรณะศิลปวัตถุ
ระหว่างที่ศูนย์ฯ กำลังปรับปรุง งานศิลปกรรมและประติมากรรมภายในศูนย์ทั้งหมดจะเคลื่อนย้ายออกเพื่อนำไปบูรณะให้กลับมาสวยงามโดดเด่นโดยศิลปินผู้รังสรรค์ผลงานชิ้นนั้นๆ ยกเว้นบางชิ้นที่ศิลปินเสียชีวิตไปแล้ว ก็มีทายาทหรือทีมงานเข้ามาดูแลต่อ แต่โดยมากแล้ว ชิ้นงานทั้งหมดแทบไม่มีส่วนใดชำรุดเสียหาย เพราะตลอดเวลากว่า 27 ปีนั้นมีการดูแลมาโดยตลอด เว้นแต่งานจำหลักไม้พระราชพิธีอินทราภิเษก ที่เนื้อไม้หดตัวจนเกิดรอยแยกในชิ้นงาน ซึ่งอาจารย์จรูญ มาถนอม เจ้าของผลงานจะบูรณะด้วยตัวเอง
-
ป่ารักน้ำ พระราชปณิธานอันเป็นแนวทางในการออกแบบศูนย์ใหม่
โครงการป่ารักน้ำ อีกหนึ่งพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ คือแนวทางสำคัญในการออกแบบพื้นที่ของศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์หลังใหม่ เพื่อให้สอดรับกับสภาพแวดล้อมของสวนและทะเลสาบในสวนเบญจกิติ ซึ่งในอนาคตจะมีการปรับพื้นที่ของโรงงานยาสูบที่อยู่ติดกันให้เป็นสวนป่า รวมกันแล้วจะเกิดสวนสาธารณะแห่งขนาดใหญ่กลางกรุงอีกราว 400 ไร่ ซึ่งศูนย์ฯ ที่ปรับปรุงใหม่นี้จะสอดรับกับแนวทางของสวนอย่างกลมกลืนและเป็นหนึ่งเดียวกันกับธรรมชาติรอบด้าน
28. วางคอนเซ็ปต์ Eco-friendly & Smart City
การออกแบบพื้นที่ใช้สอยภายในอาคาร ยังคงเอกลักษณ์ของความเป็นกรีนคอนเซ็ปต์เช่นศูนย์เดิม ทั้งการเป็นอาคารที่เน้นใช้แสงธรรมชาติให้มากที่สุดเพื่อประหยัดพลังงานให้ได้มากที่สุด และอาจจะติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าในบางส่วน รวมถึงการปรับตัวให้สอดคล้องกับยุคสมัยโดยการนำคอนเซ็ปต์สมาร์ตซิตี้มาใช้เพื่อคงความทันสมัยที่สุดและยิ่งใหญ่ที่สุด ดังอัตลักษณ์ของศูนย์การประชุมแห่งนี้เมื่อแรกก่อตั้ง
ภาพ : ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
ภาพบุคคล : ขจรศิริ อุ่ยมานะชัย